พัฒนาเคลือบนาโน ฟื้นผลิตร่มบ่อสร้าง เอกลักษณ์ของล้านนา

22 ส.ค. 2557


ร่มบ่อสร้าง  เอกลักษณ์คู่จังหวัดเชียงใหม่มาช้านาน ตั้งแต่สมัยล้านนานับร้อยๆ ปี ที่ชาวล้านนา ในอดีตใช้ร่มบ่อสร้างทั้งกันแดดกันฝน แต่เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กระทั่งเมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้ ร่มพลาสติกเริ่มเป็นที่นิยม ด้วยขนาดกระทัดรัดน้ำหนักเบา ทำให้ร่มบ่อสร้าง กลับกลายมาเป็นของฝากเชิงเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ที่ปัจจุบันลูกค้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ คือชาวต่างชาติ

แต่ในอีกไม่ช้านี้  ร่มบ่อสร้างจะกลับมาโดดเด่นในชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง และจะไม่ได้เป็นเพียงร่มประดับอาคารเพื่อความสวยงามอย่างเดียวเท่านั้น เพราะ “ร่มบ่อสร้าง” กำลังนำเทคโนโลยีนาโน มาประยุกต์ใช้ ในการเคลือบผ้าไหม(เทียม) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำร่ม ให้มีคุณสมับัติกันฝน ป้องกันยูวี ยับยั้งแบคทีเรีย และยืดอายุของเนื้อผ้าให้ใช้งานได้นานขึ้นแต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาเอาไว้

น.ส.กัณณิกา บัวจีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์ทำร่ม จำกัด ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผย ระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ไปเยี่ยมชมการทำร่มบ่อสร้าง ว่า หลังจากได้เข้าร่วมอบรมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ ทีซีดีซี(ภาคเหนือ) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ภาค เหนือ) ก็ตอบโจทย์ตัวเองได้ทันทีว่าจะนำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี มาช่วยให้ร่มบ่อสร้าง กลับมาเป็นที่นิยม ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันและในสังคมไทยได้อย่างไร เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่าหากนำร่มบ่อสร้าง กับ ร่มบ่อสร้างนาโน มาเทียบน้ำหนักกัน จะพบว่าร่มบ่อสร้างนาโน มีน้ำหนักเบากว่า ร่มบ่อสร้างธรรมดาอย่างเห็นชัด ซึ่งน้ำหนักที่หายไปของร่มนาโนนั้น ก็เพราะว่าไม่ต้องใช้สีน้ำมันที่ และยางตะโกในการเคลือบกันน้ำเหมือนที่ใช้ในกระบวนการผลิตร่มบ่อสร้าง อีกทั้งเนื้อผ้าที่ทำร่มก็ไม่ต้องใช้ผ้าที่หนามาก แต่เน้นที่สีสันลวดลายของผ้าไทยที่มีเอกลักษณ์ และนำมาเคลือบน้ำยานาโนกันน้ำ ใช้บริมาณน้ำยาเคลือบนาโนไม่มากนักแต่ประสิทธิภาพในการกันน้ำดีขึ้นมาก ที่สำคัญความน่าใช้ของร่มนาโนมีความน่าใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า ที่ผลิตส่งขายต่างประเทศอยู่ในปัจจุบัน

“ถ้าเทียบน้ำหนักกันระหว่าร่มบ่อสร้างนาโน กับร่มบ่อสร้างธรรมดา ในปริมาณ 50 คันเท่าๆ กันจะพบว่าร่มบ่อสร้างนาโนน้ำหนักเบากว่าประมาณ 10 กิโลกรัม มั่นใจว่าเมื่อเราผลิตและส่งออกไป จะสามารถสู้กับต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องกลัวเรื่องความปลอดภัยแล้ว เพราะอนุภาคนาโนที่ใช้ในการเคลือบผ้าก็มีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เมื่อเทียบกับกลิ่นของยางตะโกและสีน้ำมันที่ใช้ในกระบวนการผลิตแบบเดิม ซึ่งกลิ่นเหล่านี้ยังเป็นจุดอ่อนที่ต่างชาติยังถามถึงสารตกค้างของสารตะกั่วที่เคลือบบนร่มเสมอมา” กัณณิกา ระบุ

น.ส.กัณณิกา ให้ข้อมูลว่า หลังจากนี้สนใจที่จะเปิดตลาดร่มบ่อสร้างนาโน ซึ่งขณะนี้ต้องดูเรื่องต้นทุนการเคลือบนาโนก่อน เพราะอุตสาหกรรมร่มบ่อสร้างมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยช่วงแรกอาจจะเคลือบ 300-500 หลา เพื่อทดลองผลิตภัณฑ์ โดยจะส่งผ้าไปเคลือบเป็นผ้านาโนเพื่อผลิตร่มนาโน โดยส่งไปที่โรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ภาคเหนือ จ.แพร่ ซึ่งเป็นศูนย์เคลือบผ้าแห่งแรกของ ศูนย์นาโนเทค ในภาคเหนือ คาดว่าเทคโนโลยีนาโน จะเป็นที่ต้องการของผู้ประอบการในภาคเหนือที่ส่งออกผ้าอย่างมาก โดยเฉพาะการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับร่มบ่อสร้าง ก็สามารถปรับขนาดร่มให้เหมาะกับการใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นร่มบ่อสร้างที่มีความเป็นล้านนาอยู่ด้วย

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์ทำร่มฯ กล่าวด้วยว่า การใช้งานร่มนาโนได้มีการทดลองแล้ว ถือว่าดีมากๆ แต่การผลิตจำนวนมากๆ อาจจะต้องขอให้ผู้ประกอบการที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ในการับผ้าไปเคลือบให้ เพื่อพัฒนาชิ้นงานขณะนี้ยังไม่ได้นำออกมาขายและอยู่ในขั้นทดลองตลาดร่มนาโน ซึ่งหากมีการเคลือบเป็นร่มนาโนแล้ว จะช่วยลดกลิ่นสีน้ำมันและกลิ่นยางตะโกได้ด้วย ตรงนี้ถือเป็นการเพิ่มจุดแข็งที่ทำให้เสริมศักยภาพในการแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านได้สบาย

          “สำหรับราคาร่มบ่อสร้างนาโน หากเปิดตลาดราคาอาจจะไม่สูงขึ้นมากนัก เนื่องจากค่าแรงคนที่ใช้ในการเคลือบยางตะโกจะหายไป และเราได้เทคโนโลยีนาโนขึ้นมาแทนซึ่งไม่ต้องพึ่งกระบวนการตากแห้งร่มเหมือนกับการเคลือบยางกะโต ที่สำคัญการผลิตร่มบ่อสร้างด้วยการเคลือบน้ำยานาโน นั้นใช้เวลาไม่นานแต่ได้ร่มจำนวนมากขึ้น เพราะไม่ต้องพึ่งสภาพอากาศในการตากแห้งร่ม” น.ส.กัณณิกา กล่าว และว่า

ทั้งนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ นาโนเทคและสวทช.ภาคเหนือ เห็นความสำคัญในการยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นบ้านด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะภาคเหนือถือว่ายังมีสินค้าด้านหัตถอุตสาหกรรมพื้นบ้านอยู่มาก จะเป็นการสร้างมูลค่าของการท่องเที่ยวได้มากขึ้นให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือนถึงแหล่งผลิตและจะได้เห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ยันปลายน้ำ และชุมชนก็จะเกิดความภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิด ตลอดจนเห็นคุณค่าของเอกลักษณ์วัฒนธรรมของตัวเองและทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดมูลค่าเพิ่มในตัวเองด้วย

นายศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการ ด้านสนับสนุนการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ภาคเหนือ ที่ จ.แพร่ สามารถเคลือบผ้าได้เลย ส่วนเรื่องต้นทุนอยู่ที่ประมาณหลาละประมาณ 60 บาท ดังนั้นในปลายเดือยสิงหาคมนี้ คาดว่าจะเปิดบริการรับเคลือบผ้าได้เต็มรูปแบบ รองรับจำนวนผ้าหัตถอุตสาหกรรมพื้นบ้าน ทางภาคเหนือ ที่จะส่งผ้ามาเคลือบคุณสมบัติต่างๆ ทั้ง กันน้ำจึงเปื้อนยากขึ้น ยับยั้งแบคทีเรีย ป้องกันสีซีดจาง ผิวสัมผัสนุ่มลื่น และมีกลิ่นหอม เพื่อผลิตเป็นชิ้นงานนาโนเพิ่มเติมมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอพื้นบ้านได้ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: