สนช.เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พร้อมความเคลื่อนไหวรอบสัปดาห์

21 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1469 ครั้ง

ที่ประชุม สนช. เห็นชอบรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บรายได้สำหรับนำไปใช้พัฒนาประเทศ ขณะก่อนการพิจารณา ประธาน สนช. แจ้งให้ทราบถึงมติ ป.ป.ช. ที่ยกคำร้องถอดถอน นายกิติรัตน์ ณ ระนอง และจำหน่ายคำร้อง อดีต ส.ส. 310 คน ที่ลงมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม  สปช.- สนช. ส่งมอบความเห็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ หลังครบกำหนด 60 วัน

 สำหรับผลการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์นี้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่วาระเรื่องด่วนในการพิจารณากฎหมาย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แจ้งต่อที่ประชุมถึงมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ยกคำร้องขอถอดถอน นายกิติรัตน์ ณ ระนอง กรณีส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 50 เนื่องจากพิจารณาแล้วไม่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย นอกจากนี้ ป.ป.ช.มีมติจำหน่ายคำร้องที่ขอถอดถอน ส.ส. จำนวน 310 คน ผู้ร่วมลงคะแนนเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระ 3 จากฐานความผิดส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วจึงไม่สามารถนำมาพิจารณาได้

จากนั้น ที่ประชุม สนช. เข้าสู่วาระการพิจารณากฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... โดย นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเหตุผลสำคัญในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ว่าที่ผ่านมาการถ่ายโอนทรัพย์สินโดยทางมรดกจะได้รับการยกเว้นภาษีไม่ว่าจำนวนทรัพย์สินจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใด รัฐจึงเห็นควรที่จะจัดเก็บภาษีการรับมรดกที่มีมูลค่ามากเกินกว่า 50 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม  และนำรายได้ไปใช้พัฒนาประเทศยกระดับการดำรงชีวิตประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น ส่วนการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร นั้นก็เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายการจัดเก็บภาษีมรดกด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังเสนอด้วยเสียง 160 ต่อ 16 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 186 คน และรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ด้วยเสียง 172 ต่อ 8 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 187 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จำนวน 25 คน เสนอแปรญัตติได้ภายใน 15 วัน กำหนดกรอบเวลาการทำงาน 90 วัน โดยมติดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสมาชิก สนช. อภิปรายอย่างกว้างขวางพร้อมตั้งข้อสังเกตให้พิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อย่างรอบคอบ อาทิ นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าประโยชน์ที่ได้จะไม่คุ้มค่า อาจเกิดการโยกย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ พร้อมเสนอแนะหากต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีควรเพิ่มภาษีเหล้า บุหรี่ หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ราคาแพง ขณะที่ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย และ นายสมชาย แสวงการ ที่เห็นด้วยหากจะมีกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ แต่ควรยกเว้นกรณีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หรือที่ดินเพื่อการเกษตร พร้อมเสนอการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได   

ความเคลื่อนไหว สนช.-สปช. รอบสัปดาห์ (13 - 19 ธ.ค.)

13 ธ.ค. 57

รองประธาน สนช. คนที่ 1 กล่าวระหว่างเปิดงานสัมมนา “การทำนุบำรุงส่งเสริมศาสนา” ระบุ ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคมมนุษย์และมนุษย์ไม่อาจอยู่ร่วมกันโดยปราศจากศาสนาได้

15 ธ.ค. 57

สปช.เริ่มพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เบื้องต้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญรับข้อเสนอทั้งหมดของ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ที่อภิปรายเป็นคณะแรก โดยเสนอตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน

โฆษกคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า เสนอให้ประชาชนหันมาใช้ ทีโอยูมิเตอร์ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และลดการสร้างโรงงานไฟฟ้าที่มีแต่กระแสต่อต้านจากประชาชน

กมธ. ปฏิรูปสื่อ รับหนังสือจากชมรมโครงข่ายผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียม วอนยกเลิกประกาศ กสทช. ที่จะเรียงช่องทีวีดิจิตอลใหม่  ชี้ส่งผลกระทบประชาชน ขณะที่ผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ขอแยกเคเบิ้ลท้องถิ่นออกจากการกำกับของ กสทช.

สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ค้านการยกเลิกอำนาจบริหารระบบราชการส่วนภูมิภาค ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุการกระจายอำนาจต้องมีการตรวจสอบจากภาคประชาชน ขณะที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญย้ำ กรรมาธิการทำงานด้วยความยุติธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

เครือข่ายส่งเสริมและเติมเต็มพุทธบริษัทสี่ ยื่นหนังสือถึง กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรมฯ คัดค้านคำสั่งมหาเถรสมาคมห้ามบวชภิกษุณี

รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ รับหนังสือจากตัวแทน สรส. แนะรัฐธรรมนูญใหม่กำหนด 3 ประเด็นหลักไว้ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมย้ำต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ

16 ธ.ค. 57

ที่ประชุม สปช.พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ ประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อเป็นวันที่สองแล้ว  โดย กมธ.ค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนาอภิปรายเป็นคณะแรก เสนอจัดทำแผนแม่บทระดับชาติว่าด้วยศิลปะ วัฒนธรรม พร้อมตั้งกองทุนภาคประชาสังคมเสริมสร้างศิลปะ วัฒนธรรม หวังสร้างดุลยภาพการจัดการด้านศิลปะและวัฒนธรรม

17 ธ.ค. 57

ที่ประชุม สปช. พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 3 คณะสุดท้าย ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นอภิปรายเป็นคณะแรก เสนอกระจายอำนาจสู่ประชาชนและท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมตั้งสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ หวังสร้างดุลยภาพอำนาจหน้าที่ให้สมดุลกัน

ประธาน สปช. รับหนังสือจากเครือข่ายประชาชน เรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหาผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่า พร้อมแนะบรรจุเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ขณะที่ประธาน สปช. ระบุ จะดำเนินการให้เร็วที่สุด

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นัดประชุมพิจารณาร่างกฎหมายภาษีการรับมรดกและร่างกฎหมายสำคัญอื่นรวม 12 ฉบับ วันที่ 18-19 ธ.ค. นี้

18 ธ.ค. 57

ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติเสียงข้างมาก 212 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ให้ความเห็นชอบข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฏิรูปของ สปช.ทั้ง 18 คณะ และการอภิปรายให้ความเห็นของสมาชิก สปช.  ส่งต่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ   โดยสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติหลายคน  ไม่เห็นด้วยเรื่องเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เชื่อไม่ลดการซื้อเสียง หวั่นมีอำนาจและเสถียรภาพมากเกินไป    ด้านกรรมาธิการยกร่างฯมองแนวทางดังกล่าวไม่มีหลักประกันจะป้องกันการทุจริตได้

ที่ประชุม สนช. เห็นชอบรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บรายได้สำหรับนำไปใช้พัฒนาประเทศ ขณะก่อนการพิจารณา ประธาน สนช. แจ้งให้ทราบถึงมติ ป.ป.ช. ที่ยกคำร้องถอดถอน นายกิติรัตน์ ณ ระนอง และจำหน่ายคำร้อง อดีต ส.ส. 310 คน ที่ลงมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ...วาระ 1 ด้วยคะแนนเสียง 172 : 1 เสียง หวังปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสภาพปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันไม่ได้ปิดกั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อเสีย พร้อมระบุ 12 ม.ค. 58 เริ่มต้นพิจารณารายมาตรา

ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับหนังสือจากประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ที่เรียกร้องให้บัญญัติเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันไม่มีความขัดแย้งกับประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กรณีข้อเสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง

ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รับข้อเสนอจากอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เสนอนำทะเลอันดามันไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้านอดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร ยื่นเสนอตั้งคณะบุคคล เพื่อทำหน้าที่สรุปรายงานการอภิปรายในสภา

19 ธ.ค. 57

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ยื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับแรงงานมากขึ้น ขณะที่นายวีระกานต์ มุกสิกพงศ์ พร้อมตัวแทน นปช. เข้าให้ข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง เตรียมลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนรับฟังแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ คาด มกราคม 2558 เริ่มประเดิมเวทีแรก

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่) พ.ศ... ด้วยคะแนนเสียง 181:0 หวังปรับปรุงกฎหมายให้มีความสอดคล้องต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกองทัพให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

อดีตประธาน นปช. เปิดเผยต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุไม่เห็นด้วยกับการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ชี้ถ้าจะให้ประชาชนยอมรับต้องทำประชามติรัฐธรรมนูญ ขณะที่โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ เผย หลังปีใหม่ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะลงรายเอียดรายมาตรา

ประธาน สปช. และประธาน สนช. ร่วมกันส่งมอบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ต่อประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ หลังครบกำหนด 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ สปช. และ สนช. ต้องส่งมอบความเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ

ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติเผยแนวคิดตั้งองค์กร สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดและกำกับมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม  นักการเมือง หวังยับยั้งพฤติกรรมก่อทุจริตตั้งแต่เริ่มต้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: