ชี้ไทยตกอันดับ'ค้ามนุษย์' สหรัฐฯจัดรุนแรงเท่ามาเลย์

21 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1324 ครั้ง

คมชัดลึกออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการค้ามนุษย์ 2014 ที่ระบุว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย มาเลเซีย เวเนซุเอลา และแกมเบีย มีความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วย อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย ซึ่งอยู่ในระดับ 3 หรือระดับที่เลวร้ายที่สุดในสถานการณ์การค้ามนุษย์ ตามการจัดอันดับของสหรัฐอเมริกา โดยประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้อาจเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เลวร้าย และเป็นเรื่องสามัญยิ่งเช่นนี้ให้เป็นเรื่องที่ถือว่าไม่ปกติ และถือเป็นเรื่องเลวร้ายอย่างที่สุด โดยการขยายตัวของการค้ามนุษย์นั้น เชื่อมโยงกับความพยายามในการขยายขอบเขตในการใช้กฎหมายและวิกฤติของการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อีกต่อไป หรือกำลังจะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ขอบเขตของการขยายตัวของการค้ามนุษย์นั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ตัวเลขจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประเมินว่า ในแต่ละปีมีการสร้างรายได้จากการค้ามนุษย์ราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมทางเพศราว 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการค้ามนุษย์ราว 20-27 ล้านคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของสหรัฐฯ ระบุว่า การค้ามนุษย์ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวจากชีวิตประจำวัน มีการใช้แรงงานทาสในยุคใหม่ในภาคการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และในอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด และระบุว่า เหยื่อการค้ามนุษย์อยู่ในประเทศไทยหลายหมื่นคน โดยเข้ามาในประเทศไทยในรูปแบบของผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน และเหยื่อการค้ามนุษย์เหล่านี้จะถูกบังคับ ล่อลวง หรือ หลอกลวงไปใช้แรงงานในภาคการผลิต หรือ การค้าทางเพศ โดยรายงานการค้ามนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยจัดทำขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลในช่วงก่อนการเกิดรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม

นอกจากนี้ ในรายงานยังกล่าวถึงประเทศไทยอีกว่า มีเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมากที่ถูกใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการประมง สิ่งทอ หรือแม่บ้านตามบ้านเรือนต่าง ๆ ซึ่งต่อกรณีเช่นนี้แสดงถึงการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์นั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็มีการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ ที่ทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่มีความศักดิ์สิทธิ์

สหรัฐอเมริกายังจัดอันดับให้มาเลเซียอยู่ในกลุ่มประเทศระดับ 3 หรือระดับที่มีความเลวร้ายของสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับสูงสุด เช่นเดียวกับไทย หลังจากสหรัฐฯ เตือนมาเลเซียให้จัดทำนโยบายเกี่ยวกับการป้องปรามการค้ามนุษย์อย่างน้อยก็ให้อยู่ในระดับมาตรฐานต่ำสุดในการปราบปรามการค้ามนุษย์ มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยอธิบายว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในมาเลเซียมีความเลวร้ายมาก บริษัทจัดหาแรงงานในประเทศจะนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศที่มีหนี้สินจำนวนมหาศาลกับนายหน้าจัดหาแรงงานในการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายเหล่านั้นเข้ามายังมาเลเซีย ซึ่งเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในมาเลเซียจะถูกบังคับให้ใช้แรงงานในภาคการเกษตร เรือประมง หรือ กลายเป็นโสเภณี

รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า มีการลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีการค้ามนุษย์ทั่วโลกเมื่อปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 9,460 คดี จากสถิติ 7,705 คดี เมื่อปี 2555 และมีประเทศที่ถูกจัดอันดับลดลง 15 ประเทศ และมีการปรับเพิ่มอันดับ 15 ประเทศ จากการจัดอันดับใน 188 ประเทศ โดยชิลี และสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มประเทศระดับ 1 เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องของ TCIJ : ไทยเสี่ยงติดแบล็กลิสต์แก้ค้ามนุษย์เหลว ถูกจับตามาแล้ว2ปี-สหรัฐฯแฉข้อมูลเพียบ ระบุเป็นช่องทางค้ากาม-แรงงาน-ขอทาน (นำเสนอมาแล้วเมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2555)

http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=745

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: