ตุลย์ ปิ่นแก้ว: คู่หู ‘Sidekick’ รวมกันเราเปลี่ยน...โลก

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 21 ต.ค. 2557


ไม่มีใครปฏิเสธว่าสังคมไทยมีหลายเรื่องที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ยุคก่อนหัวหอกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเอ็นจีโอในรูปลักษณ์อันมีเอกลักษณ์ แต่ยุคนี้ประชาชนกลับมีบทบาทเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากกว่าในอดีตผ่านเครื่องมือโซเชียล มิเดีย

สังคมจึงเห็นการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ Change ในประเทศไทย ผู้ทำหน้าที่ส่งต่อเรื่องราวและรวบรวมเสียงของคนเมืองในประเด็นต่างๆ เพื่อส่งต่อไปยังผู้มีอำนาจและสร้างความเปลี่ยนแปลง ตุลย์ ปิ่นแก้ว อดีตผู้อำนวยการด้านงานรณรงค์ ประเทศไทยของ Change มองเห็นพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของคนเมือง และคิดว่าเขาและเพื่อนๆ สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เคยทำ

วันนี้ เขาปลีกตัวมาเป็นผู้ประกอบทางสังคมด้วยตัวเองกับภารกิจ ‘Sidekick’ หรือคู่หูผู้ช่วยพระเอก ที่จะเสริมพลังให้แก่องค์กรหรือประชาชนที่ต้องการสื่อสารกับคนเมืองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการรณรงค์รูปแบบใหม่ๆ  เพราะเขาเชื่อในเรื่องการสื่อสารและต้องการทลายกำแพงอคติที่มีต่อคนเมือง

TCIJ: จากเชนจ์สู่ไซด์คิก

ตุลย์: เชนจ์เป็นแพทฟอร์มที่ประชาชนสามารถเข้ามาลงชื่อเพื่อร่วมรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ระหว่างที่ทำเชนจ์อยู่ เราก็ช่วยคนคิดและทำแคมเปญที่น่าสนใจ พอเขามาสร้างเรื่องแล้ว เราก็ช่วยเขาคิด ช่วยเขาเขียน อาจจะมานั่งแก้ด้วย ในระดับองค์กรที่เข้ามาสร้างแคมเปญใหญ่ๆ เราก็เห็นว่าเราสามารถช่วยให้เขาเห็นถึงศักยภาพของการรณรงค์ คือองค์กรใหญ่ๆ ที่ผ่านมาจะไม่ค่อยทำงานกับคนชั้นกลางหรือคนเมืองเท่าไหร่นัก ระหว่างที่เราทำเชนจ์ เราสามารถทำแคมเปญที่เชื่อมคนเมืองกับประเด็นเชิงนโยบายและเปิดประเด็นใหญ่ๆ ได้

เมื่อเราเห็นสิ่งเหล่านี้ พร้อมกับอยู่เบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เรารู้สึกว่าแต่ละแคมเปญที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะเราช่วยเขาคิด ช่วยเขาโค้ช ช่วยให้เขามาเจอกัน เราจึงคิดว่าฮาร์ดแวร์คือเชนจ์กับซอฟต์แวร์คือตัวเราน่าจะช่วยให้ทำอะไรได้มากขึ้น คือเราออกมาทำเป็นไซด์คิกเพื่อทำหน้าที่โดยเฉพาะ คือหน้าที่ให้คำปรึกษา คอยช่วยวางแผน คิดแคมเปญ ช่วยทำให้กลุ่มต่างๆ เจอกัน ช่วยให้แคมเปญประสบความสำเร็จด้วยการเอาคนมาเจอกับองค์กร ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ขาดไป และการฝึกให้คนที่เป็นประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องการรณรงค์จะสามารถทำแคมเปญของตัวเองได้ มีทักษะ มีเครื่องมือ และรู้วิธีใช้เพื่อสร้างแคมเปญเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคง เกิดเป็นไซด์คิกขึ้นมา

คำนี้เรานั่งคิดกันอยู่นานว่าอะไรที่เราต้องการเป็น คือเราต้องการเป็นไซด์คิก อาจจะเคยดูพวกการ์ตูนหรือหนังต่างๆ ของฝรั่งที่พระเอกจะมีคู่หูหรือตัวไซด์คิก เราก็มองตัวเองเป็นไซด์คิดหรือคู่หูให้กับพระเอกต่างๆ ซึ่งก็คือองค์กรและประชาชนทั่วไป เราจะอยู่เบื้องหลังคอยฝึก ช่วยคิด และวางแผนแคมเปญให้

TCIJ: จากเชนจ์มาถึงไซด์คิก มีบทเรียนอะไรบ้างที่ทำให้เห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของวิธีการรณรงค์แบบนี้ จนนำมันมาสร้างไซด์คิก

ตุลย์: ผมทำงานเริ่มจากการเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อมอยู่สี่ห้าปี จากจุดนั้นเราเห็นปัญหา ก็อยากเข้ามาช่วยแก้ไข ทำงานกับองค์กรภาคประชาชน องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ทำงานอยู่หลายประเทศ เราเห็นปัญหาต่างๆ และวิธีการแก้ไขที่เรามองแล้วว่าควรจะเกิดการแก้ไขในภาพใหญ่ ภาพรวม เป็นการรณรงค์ที่ทำยังไงจึงจะเข้าถึงประชาชนได้

หลายๆ ครั้งอาจจะมองว่าคนเมืองหรือชนชั้นกลางไม่สนใจประเด็นทางสังคม การที่ได้มาทำงานกับเชนจ์ เราได้นำทฤษฎีที่เราคิดมาพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ จนทำให้เห็นว่าการรณรงค์กับคนธรรมดานั้นมีพลัง เราสามารถดึงพลังของคนกลุ่มนี้มาสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งประเด็นเล็ก ประเด็นใหญ่ ประเด็นในชนบทหรือในเมืองได้ เชนจ์จึงเป็นส่วนที่สำคัญที่นอกจากตัวเราเองสามารถทำตรงนี้สำเร็จได้ เรายังสามารถช่วยให้คนอื่นๆ สร้างกลุ่มก้อนใหม่ๆ ที่เป็นคนเมืองในการรณรงค์ใหม่ๆ และทำให้องค์กรต่างๆ เห็นด้วยว่า จริงๆ แล้ว คนเมืองมีคุณค่าในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ตรงนี้เป็นบทเรียนที่ดี แล้วก็ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ กับตัวเราและคนอื่นๆ จำนวนมาก นี่คือข้อดี

ข้อด้อยอาจจะเป็นตัวแพล็ตฟอร์มเอง มันเป็นแพล็ตฟอร์มเปิดที่ให้ประชาชนมาสร้างแคมเปญ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่แค่ช่วยนิดหน่อย ไม่ได้มีหน้าที่หลัก เรารู้สึกว่าถ้าเราสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นหรือสามารถช่วยให้คนสร้างกลุ่มใหม่ๆ สร้างทักษะ โดยมุ่งไปที่จุดนั้นเลย มันจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น จุดอ่อนก็คือจุดแข็งของเขาเอง การรณรงค์จึงอาจจบลงที่เว็บ แต่เราคิดว่ามันไปได้มากกว่านั้น มันให้บริการแก่คนได้มากกว่านั้น

TCIJ: หมายความว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งรูปแบบของเชนจ์อาจยังไม่ตอบโจทย์บางอย่างในใจของคุณ จึงมาทำไซด์คิก

ตุลย์: เชนจ์เป็นเครื่องมือที่มีพลัง ถูกออกแบบมาอย่างดีสำหรับให้ประชาชนสร้างแคมเปญและนำไปใช้ แต่เรามองว่าประเทศไทยอาจจะใหม่สำหรับเรื่องแบบนี้ เจ้าหน้าที่ของเชนจ์จะเป็นคนช่วยคิด ช่วยวางแผน ช่วยเกลาให้น่าสนใจขึ้น เราจึงคิดว่าตรงนี้แหละคือทักษะของเรา เราจึงออกมาและช่วยเต็มๆ ในส่วนนี้โดยเฉพาะเลยดีกว่า

TCIJ: การกดรับหรือตอบสนองแคมเปญต่างๆ บนโซเชียล มิเดีย ไม่ได้หมายความว่าคนกดมีความเป็น Active Citizen คุณคิดว่ามีความแตกต่างหรือเปล่าระหว่าง Active Citizen กับนักเลงคีย์บอร์ด แล้วมันมีผลต่อการรณรงค์หรือเปล่า

ตุลย์: ถ้าดูจากสถิติการรณรงค์ที่เก็บมาหลายปี แคมเปญต่างๆ สมมติว่ามีร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นแคมเปญที่คนที่สนใจ 60 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ต่อและจะสนใจเรื่องอื่นๆ แคมเปญอื่นๆ ต่อไป อยากแชร์ต่อ จาก 60 เปอร์เซ็นต์นี้จะเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ที่จะกลายเป็นคนที่ลงมาทำจริง อยากรู้ อยากทำภาคสนาม อยากทำอย่างอื่นมากกว่านั้น อยากเขียนบล็อกของตัวเอง อยากจะบริจาคเงิน เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการรณรงค์ เราอาจจะดึงคนด้วยประเด็นที่เขาสนใจ จริงๆ แล้วเราต้องการสัก 60 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านั้นให้เขาฉุกคิดว่ามีเรื่องอื่นหรือเปล่า

เสร็จแล้วเราก็จะได้ 10 เปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เพราะฉะนั้นจากนักเลงคีย์บอร์ดสามารถเปลี่ยนเป็นแอ็คทีฟ ซิติเซ่นก็ได้ มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเขา อันนี้เป็นสถิติที่ตัวผมเองและทั่วโลกก็เก็บ ถ้าดูจากแคมเปญระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการวัดผลเป็นล้านๆ สถิติก็จะออกมาในแนวนี้ เราต้องสื่อสารให้เข้าถึง จนเขากลายเป็นแอ็คทีฟ ซิติเซ่น

TCIJ: ใครคือคนที่จะเข้ามาใช้บริการไซด์คิก

ตุลย์: พอเราเปิดไซด์คิกปุ๊บ เรามี 2 จุดประสงค์ ข้อแรกคือการทำงานกับองค์กรที่อยากจะเปิดกว้างกับแนวคิดใหม่ๆ ที่ต้องการทำงานรณรงค์กับคนเมือง เราก็อยากช่วยทำให้สำเร็จเพื่อให้เขาเจอกัน เรื่องเล็กจะได้เป็นเรื่องใหญ่ได้ ในส่วนของประชาชน เรากำลังเตรียมเรื่องการสอน การจัดอบรม เทรนนิ่งให้แก่คน เปิดเป็นคอร์สให้คนได้เรียนรู้วิธีการใช้โซเชียลมิเดียในการทำแคมเปญของตนเองได้ หรือว่าถ้าเขาเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วก็สามารถทำงานร่วมกับเราเพื่อช่วยกันในการวางแผนแคมเปญ

TCIJ: พอออกมาเป็นไซด์คิกแบบนี้ การทำงานยังเชื่อมกับทางเชนจ์หรือเปล่า

ตุลย์: เชนจ์ก็เป็นเครื่องมือเราสามารถกลับไปใช้ได้ มันเป็นเว็บสำหรับล่ารายชื่อ มันก็มีประโยชน์สำหรับบางแคมเปญที่เราจะใช้แนวทางแบบนั้น

แต่พอมาทำแบบนี้มันก็มีหลายๆ เครื่องมือ ผมมองว่าเชนจ์ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่เราสามารถใช้หลายๆ เครื่องมือได้ ทั้งโซเชียลมิเดียต่างๆ สื่อ การจัดอีเวนท์ การทำแบบนี้จะช่วยให้เราวางแผนการรณรงค์ระยะยาวได้ จะไม่ใช่แคมเปญสั้นๆ เร็วๆ ในมิติของเชนจ์ที่อาจเป็นแคมเปญสั้นๆ สองอาทิตย์ หนึ่งเดือน แต่การที่เรามาทำแบบนี้เราช่วยเขาตั้งแต่การเริ่มคิด วางยุทธศาสตร์ ว่าถ้าจะรณรงค์แนวใหม่กับคนเมืองแบบนี้ต้องทำอย่างไร เรียกว่าเริ่มจากกระบวนการคิด การสร้างเครือข่าย จนกระทั่งเกิดแคมเปญใหญ่ขึ้นมา

TCIJ: ไซด์คิกมีกระบวนการทำงานอย่างไร

ตุลย์: สิ่งแรกคือเราจะดูที่ตัวองค์กรก่อนว่าเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ทำเรื่องอะไรมาก่อน แล้วก็ดูตัวประเด็นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้แก่สังคม เป็นแคมเปญที่คนเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ประการต่อไปคือตัวองค์กรเองต้องการที่จะทำแคมเปญแบบนี้หรือเปล่า แคมเปญที่ใช้สื่อ สื่อสารกับคนเมือง เป็นแคมเปญที่อาจจะไม่เคยมีคนทำมาก่อน เช่น จัดคอนเสิร์ต มีอีเว้นท์ เป็นต้น เพื่อจะสร้างความสนใจในภาพใหญ่จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ ถ้าเขาสนใจอยากจะทำแบบนี้จริงๆ เราก็จะสามารถร่วมงานกันได้ บางองค์กรอาจจะทำระยะสั้นเพราะว่ายังไม่เคย แค่สามเดือนหกเดือน เป็นการทดลองว่าจะใช้ได้จริงหรือเปล่า บางองค์กรก็อาจทำงานเป็นปี เพื่อจะสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ส่วนใหญ่กระบวนการจะเป็นแบบนี้ แล้วเราต้องดูด้วยว่าตัวเราเองจะทำไหวหรือไม่ ทีมงานเรามีทักษะในเรื่องนั้นๆ หรือเปล่า สามารถทำได้แค่ไหน ถ้าเราไม่มีทักษะส่วนนั้น เราจะสามารถทำร่วมกับคนอื่นได้หรือเปล่าที่สามารถช่วยเราได้

เวลาทำงานในทีมจึงเถียงกันเยอะ กับลูกค้าหรือองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการอธิบายให้เขาเข้าใจมากกว่าและแสดงให้เขาเห็นผลว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร องค์กรเองก็ต้องไว้ใจระดับหนึ่ง เพราะตัวเขาเองก็ไม่เคยทำ เพราะฉะนั้นแนวคิดที่เรานำเสนอเป็นแนวคิดทางการตลาด เพื่อนำมาปรับใช้กับประเด็นทางสังคม มันเป็นอะไรที่หลายๆ ที่อาจจะไม่เคย แต่อยากลองทำ จึงเป็นเรื่องของการอธิบายและกระบวนการทำให้เขาเข้าใจ สร้างความสำเร็จทีละนิดให้เขาเห็น แล้วค่อยๆ ขยายความสำเร็จ

จุดประสงค์ของเราคือถ้าเราสามารถร่วมงานกับองค์กรที่สนใจจะทำ และสามารถทำให้แนวคิดขยายออกไป จะทำให้องค์กรอื่นๆ ที่กำลังคิดอยู่สนใจแนวคิดแบบนี้มากขึ้น

TCIJ: จากที่คุณเล่ามา คุณเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนเมือง?

ตุลย์: ปัญหามีอยู่ทั่วประเทศใช่มั้ยครับ คนที่อยู่ใกล้ปัญหาที่สุดอาจจะเป็นชาวนาหรือคนที่อยู่ในชนบท เขาเห็นปัญหาของเขาอยู่แล้ว เขาเดือดร้อนกับปัญหานั้นอยู่แล้ว แต่คนที่เป็นประชาชนทั่วไปหรือจะเรียกว่าเป็นคนเมือง เราจะทำยังไงให้เขาเห็นถึงปัญหาตรงนี้ด้วย เพราะเสียงของคนเมืองจะเป็นเมืองโทรโข่งช่วยกระจายให้ปัญหาไปถึงหูของผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่เราถนัด นั่นคือการทำยังไงให้ปัญหาทางสังคมทั้งเล็กและใหญ่ที่ยังไม่ได้รับความสนใจ ให้อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป คนเมืองหรือคนที่เข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ตสามารถสนใจปัญหาและถูกระจายออกในวงกว้าง

เราอยากทำตรงนี้ คนมักคิดว่าคนเมืองเป็นกลุ่มที่ไม่สนใจปัญหาสังคม แต่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุดและเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ที่สุดที่กำลังรอคอยการสื่อสารถึงเขาในสิ่งที่เขาอยากฟัง หมายถึงจะสื่อสารอย่างไรให้เขารู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับเขานะ ปัญหานี้ก็เกี่ยวข้องกับเขา ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลตัวอย่างที่คิด จริงๆ แล้วเขาสามารถเปลี่ยนได้

TCIJ: ในแง่ธุรกิจ ตลาดของผู้ประกอบการทางสังคมเป็นอย่างไร มีแนวโน้มดีหรือเปล่า

ตุลย์: ในต่างประเทศค่อนข้างจะมีความชัดเจน อย่างในอังกฤษมีตลาดหุ้นเปิดสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะด้วยซ้ำ ผู้ประกอบการทางสังคมจึงค่อนข้างเติบโตและเข้มแข็งในต่างประเทศ ในอเมริกามีการจดทะเบียนเป็นธุรกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะ ซึ่งบ้านเรายังไม่มี มันเป็นการประกาศตัวเราเองมากกว่า ในต่างประเทศจึงค่อนข้างชัดเจน คนจะเห็นพัฒนาการของธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น มีสัดส่วนธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นด้วย เกิดความหลากหลาย เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้น ในบ้านเรากำลังเริ่มแล้ว มีหลายองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่เน้นการโค้ชชิ่ง การเทรนนิ่ง แบบไซด์คิกยังไม่เยอะ ส่วนใหญ่เน้นการทำแคมเปญและการคิดกิจกรรมเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมมากกว่า แต่การจะโค้ชและฝึกระยะยาวหรือเข้าไปทำงานกับองค์กรเพื่อปรับหรือช่วยเขาคิด เปลี่ยนแนวคิดต่างๆ ในการรณรงค์ ในเมืองไทยยังไม่เห็น มันก็เป็นจุดแข็งของเราด้วยที่จะทำ เพราะเรามีประสบการณ์  ในต่างประเทศเองก็ยังไม่เยอะ เห็นบ้าง ที่อังกฤษมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นในเชิงเว็บออนไลน์ เป็นแพล็ตฟอร์ม หรือธุรกิจในเชิงเกษตร หรือเน้นการออกแบบ กราฟฟิก แต่ที่เน้นไปในแนวโค้ชชิ่ง วางแผน ยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่

TCIJ: กล่าวได้ว่าขนาดตลาดของธุรกิจนี้ยังมีความต้องอยู่มาก?

ตุลย์: ที่เราลงมาทำก็เพราะเรารู้สึกว่ามันมีความต้องการ เราเห็นว่าหลายๆ องค์กรกำลังเข้าสู่ยุคออนไลน์ดิจิตัลและต้องการปรับตัว ต้องการรณรงค์แบบใหม่ เราสามารถทำให้คนเห็นว่าจากการใช้สื่อออนไลน์สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง องค์กรต่างๆ จึงสนใจและมีตลาดสำหรับธุรกิจนี้

ในส่วนประชาชนเอง ชนชั้นกลางมีความสนใจเรื่องแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อยากจะเข้ามาร่วม อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง อยากสร้างกลุ่มของตัวเอง โอกาสการเติบโตมันมีเยอะ เราเปิดมาแค่ไม่ถึงปีก็ได้รับความสนใจมากจากหลายๆ องค์กร รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อยากให้เราร่วมทำงาน วางแผนรณรงค์ หรือที่ถามเข้ามาว่าจะเปิดเทรนนิ่งเมื่อไหร่ ตอนนี้เราก็ต้องดูว่าเราทำได้แค่ไหนและต้องรีบขยายทีมเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

TCIJ: มีการคัดกรองประเด็นและลูกค้าที่จะทำงานด้วยหรือเปล่า?

ตุลย์: เราสนใจประเด็นที่เราถนัดในด้านการเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น สิ่งแวดล้อม การศึกษา ประเด็นที่เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ซึ่งเราถนัดและมองดูแล้วว่าเราสามารถทำร่วมกับประชาชนคนเมืองได้ ตรงนี้เป็นเบื้องต้นที่เราวางเอาไว้ ในเรื่องขององค์กรเราก็อยากทำงานกับองค์กรที่อยากลองเปลี่ยนแนวคิด อยากทดลองจริงๆ ว่าทำงานรณรงค์แบบนี้เป็นอย่างไร นี่จะเป็นปัจจัยสำคัญ

TCIJ: หลายองค์กรธุรกิจต้องการทำแคมเปญซีเอสอาร์ แต่หลายครั้งไม่ใช่ซีเอสอาร์จริงๆ ถ้าเจอแบบนี้ จะคัดกรองอย่างไร เพื่อแยกให้ชัดระหว่างซีเอสอาร์กับส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร

ตุลย์: เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคิดอยู่ตลอดว่า อะไรที่เราจะเข้าไปช่วย นอกจากองค์กรนั้นจะต้องสนใจสร้างการเปลี่ยนแปลงและทดลองอะไรใหม่ๆ จริงๆ ถ้าเป็นองค์กรเอกชนเขาจะต้องอยากทำแคมเปญที่เป็นการลงทุนระยะยาวจริงๆ ไม่ใช่ระยะสั้นเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ เราต้องการสร้างองค์กรที่อยากทำตรงนี้เพื่อที่จะเห็นผลที่ชัดเจนต่อสังคมในระยะยาว ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรานำมาใช้พิจารณา เราคุยกับเขา เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร หมายความว่าเราอาจจะไม่ได้ทำตามความต้องการของลูกค้าอย่างเดียว แต่เราอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลเป็นรูปธรรมจริงๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาว

ถ้าเป็นองค์กรภาคประชาชน ส่วนใหญ่จะเป็นการมองให้ออกว่าต้องการสื่อสารอะไร ต้องย่อยข้อมูลอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าใจและเข้าถึงได้ และต้องเข้าใจว่าการรณรงค์แบบนี้จะแตกต่างจากที่เคยทำนะ เพราะฉะนั้นเราจะเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบใหม่ กลุ่มตลาด กลุ่มคนแบบใหม่ สำหรับองค์กรภาคประชาชนจะเป็นการปรับแนวคิดหรือวิธีการทำงาน และถ้าเขาพร้อมที่จะทำ เราก็ทำด้วยกันได้ จะได้สนุก ถ้าเราไปบังคับให้เขาทำสิ่งที่ไม่ถนัดหรือไม่พร้อมก็จะไม่ประสบความสำเร็จและไม่ดีสำหรับเรา

TCIJ: ปัจจุบัน สังคมมีความคิดเห็นต่อเรื่องหนึ่งๆ ที่หลากหลายมาก จนยากที่จะสร้างความเห็นพ้อง นี่จะเป็นความยากประการหนึ่งของไซด์คิกหรือเปล่า

ตุลย์: อย่างที่กล่าวครับ ความถนัดของเราอยู่ตรงไหน เราก็จะพยายามทำตรงนั้นให้ดีที่สุด อย่างเรื่องการเมืองหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดและสร้างความขัดแย้งสูง แต่เราจะทำการรณรงค์ที่คนส่วนใหญ่สามารถมีส่วนร่วมได้ ทุกฝ่ายสามารถร่วมและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือแคมเปญที่เราจะทำ เพราะฉะนั้นเราไม่ถนัดที่จะทำแคมเปญที่จะสร้างการโต้เถียง แล้วสร้างความขัดแย้ง เราพยายามจะทำเรื่องที่เราถนัดและจับประเด็นที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง

TCIJ: ขอยกตัวอย่างเรื่องเขื่อนแม่วงก์ที่สร้างข้อถกเถียงมาก แต่ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเรื่องนี้ก็ถูกดึงไปเกี่ยวกับการเมือง แบบนี้ไซด์คิกทำอย่างไร

ตุลย์: เราต้องมองว่า จริงๆ แล้ว องค์กรที่ทำเป็นใคร ต้องการอะไร ต้องการสื่อสารกับใคร และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแบบไหนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการมองไปที่คนที่จะทำจึงเป็นสิ่งสำคัญว่าเราจะรับหรือไม่รับ และคงต้องวิเคราะห์ว่าเมื่อทำแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกกับสังคมจริงๆ

เรามองว่าแคมเปญต่างๆ ไม่ควรจะเป็นแคมเปญที่ทำให้คนทะเลาะกัน แต่ควรเกิดวิน-วิน โซลูชั่น หรือเกิดการตกลงทั้งสองฝ่ายจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างแคมเปญที่ทีมงานเชนจ์เข้าไปช่วยจะเป็นแคมเปญที่ทั้งสองฝ่ายตกลงคุยกันได้ เราไม่ได้ต้องการทำแคมเปญที่ทำให้คนทะเลาะกัน ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ

TCIJ: ความขัดแย้งทางการเมืองก่อให้เกิดอคติระหว่างกัน ชนชั้นกลางหรือคนเมืองซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของไซด์คิกมักถูกมองว่า ไม่ได้เข้าใจสภาพปัญหาหรือบริบทจริงๆ ของคนกลุ่มอื่น เป็นแค่มุมมองแบบชนชั้นกลางเท่านั้น คุณคิดอย่างไรก็คำพูดประมาณนี้

ตุลย์: มันเป็นสิ่งที่พูดมานานแล้ว ผมว่ามันเป็นการสร้างกำแพงให้กับการเปลี่ยนแปลงมากกว่า มันทำให้เราตัดสินอะไรบางอย่าง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่การสื่อสารของเราเองว่าเราจะสื่อสารให้เขาเข้าใจได้หรือเปล่า อย่างที่บอกเรื่อง 10 เปอร์เซ็นต์ 60 เปอร์เซ็นต์ มันก็สะท้อนตรงนี้เหมือนกันว่า เสร็จแล้วเราสามารถดึงเขาได้มั้ย เขาเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า คุณมีศักยภาพเพียงพอที่จะสื่อสารให้เขาเข้าใจหรือเปล่า ผู้ที่เป็นผู้ส่งสารมีทัศนคติที่แท้จริงอย่างไรกับคนเมือง และพร้อมที่จะอธิบายปัญหาจริงๆ หรือเปล่า ผมว่าตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ

อย่าสร้างกำแพงให้กับความเปลี่ยนแปลงว่าต้องเฉพาะคนนี้ๆ เท่านั้น ปัญหาอยู่ตรงนี้ คนนี้ไม่เข้าใจหรอก จริงๆ แล้ว เขารอพร้อมที่จะเข้าใจ คุณอธิบายให้เขาเข้าใจได้หรือเปล่า แต่ก็ธรรมดาที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจ อยู่ที่เราจะสามารถดึงให้คนเข้าใจได้หรือเปล่า ทำให้เขากลายเป็นคนที่จะขยายต่อ กระจายต่อ ให้เกิดความเข้าใจได้

TCIJ: มองในอนาคตระยะสั้นๆ คุณคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะกระทบต่องานรณรงค์หรือเปล่า

ตุลย์: มันมีผล ถ้าเราต้องการให้มีผล แต่จะไม่มีผล ถ้าเราสื่อสารปัญหาจริงๆ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงอยู่แล้ว ใครๆ ก็รู้ แต่เราจะสามารถสื่อสารให้คนเห็นถึงความไม่เท่าเทียม ให้คนเห็นว่ามันเป็นปัญหาของเขาด้วยได้อย่างไร เราอยากให้คนที่ได้รับผลกระทบอยู่เห็นถึงปัญหาของเขาและเขาจะเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ตรงจุดนั้น เราสามารถสื่อสารให้เกิดการรวมกันเพื่อการแก้ปัญหา แทนที่จะสื่อสารเพื่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่งไม่ได้ส่งผลบวกอะไรกับสังคม ดังนั้น มันจึงอยู่ที่การสื่อสารว่าเราจะสื่อสารให้เห็นปัญหาร่วมกันอย่างไร แม้ว่าเราจะอยู่ต่างสถานะกัน คือผมเชื่อมากเรื่องการพูด การสื่อสารกัน วิธีการสื่อสาร จะสื่อสารให้บวกหรือจะสื่อสารให้ลบ หน้าที่ของเราคือสื่อสารให้บวก ให้คนคิดร่วมกันและเห็นทางออกร่วมกัน

ร่วมเป็นแฟนคลับ TCIJ เฟซบุ๊คออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: