เทียบศักยภาพผลิตข้าวไทย-เวียดนาม

20 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 6779 ครั้ง


เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่สูง

ในช่วงปี 2551/52-2553/54 เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 848.0 กก.ต่อไร่ ในปี 2551/52 เป็น 862.4 กก.ต่อไร่ ในปี 2553/54 เฉลี่ย 3 ปี เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่ประมาณ 853.0 กก.ต่อไร่ซึ่งเป็นผลผลิตต่อไร่ที่สูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่ไทยผลิตได้ 447.0 กก.ต่อไร่ เป็นอันดับที่ 13 ของเอเชียและอันดับที่ 7 ของอาเซียนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่สูง เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวของเวียดนามส่วนใหญ่ร้อยละ 54.0 อยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) และอีกร้อยละ 17 อยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง (Red River Delta) ซึ่งแหล่งปลูกข้าวทั้งสองแหล่งมีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพพื้นดินและความพร้อมของระบบชลประทานอย่างมาก สำหรับจังหวัดที่สำคัญในการผลิตข้าวของเวียดนาม คือ จังหวัดเกิ่นเทอ อันยาง ดงทัป บักเลียว ก่าเมา ซึ่งทั้งหมดอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและในบางปีจังหวัดเหล่านี้สามารถผลิตข้าวได้ถึง 1.2 ตันต่อไร่

ชาวนาเวียดนามมีต้นทุนในการผลิตข้าวต่ำและได้กำไรสูงกว่าชาวนาไทย

หากเปรียบเทียบต้นทุนในการผลิตข้าวของเวียดนามกับของไทยจะเห็นว่าต้นทุนในการผลิตข้าวของเวียดนามต่ำกว่าไทยโดยในตารางที่ 2 จะเป็นการเปรียบเทียบต้นทุนในการผลิตข้าวของจังหวัดเกิ่นเทอของเวียดนาม และจังหวัดอยุธยาของไทย ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดถือว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศ เมื่อพิจารณารายละเอียดของค่าใช้จ่ายพบว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเมล็ดพันธุ์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ค่าแรง ค่าจ้าง เครื่องจักร) ของจังหวัดเกิ่นเทอน้อยกว่าจังหวัดอยุธยา ส่วนค่าปุ๋ย และค่ายาฆ่าแมลง จังหวัดเกิ่นเทอมีค่าใช้จ่ายมากกว่าจังหวัดอยุธยา เมื่อรวมต้นทุนทั้งหมดแล้วจังหวัดอยุธยามีต้นทุนต่อไร่ 5,800.0 บาท สูงกว่าจังหวัดเกิ่นเทอ 821.1 บาท ต่อไร่ แต่จังหวัดเกิ่นเทอมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าจังหวัดอยุธยา 99 กก.ต่อไร่

เวียดนามให้ชาวนาทำตามนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม

การทำนาของเวียดนามในปัจจุบันนอกจากการทำนาตามปกติเหมือนที่เคยทำมาตั้งแต่ในอดีตรัฐบาลของเวียดนามยังมีนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม โดย 3 ลด คือลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช ส่วน 3 เพิ่ม คือเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มกำไร ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวทำให้ชาวนาเวียดนามมีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% และมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5%

ไทยสูญเสียตลาดข้าวในอาเซียนให้กับเวียดนาม

ไทยเริ่มเสียตลาดข้าวในอาเซียนให้กับเวียดนามตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งการส่งออกข้าวของเวียดนามในตลาดอาเซียนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50.0 เป็นการส่งออกข้าวไปประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและสิงคโปร์ยังมีการนำเข้าข้าวจากไทยมากกว่าเวียดนาม แต่ในปี 2552-2553 (ม.ค.-ก.ค.) มาเลเซียเริ่มมีการนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 0.5 ล้านตันในปี 2551 เป็น 0.9 ล้านตันในปี 2552 ในขณะที่นำเข้าข้าวจากไทยลดลงจาก 0.5 ล้านตันในปี 2551 เหลือ 0.2 ล้านตันในปี 2552

เวียดนามมีราคาส่งออกข้าวถูกกว่าไทย

สำหรับราคาส่งออกข้าวของไทยและเวียดนามในตลาดอาเซียนและตลาดโลกซึ่งในตลาดอาเซียนราคาส่งออกข้าวถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการตัดสินใจสั่งซื้อข้าว โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก และในสภาวะเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็เริ่มหันมาบริโภคข้าวที่มีราคาถูกมากขึ้น

หากพิจารณาเปรียบเทียบราคาส่งออกข้าวสาร 5% และ 25% ของไทยกับเวียดนามที่เป็นผู้ส่งออกหลักในช่วงปี 2544-2552 พบว่า ราคาส่งออกข้าวสาร 5% ของไทยในปี 2544-2552 สูงกว่าเวียดนามมาตลอด ซึ่งจากปี 2548 ราคาส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าเวียดนามตันละ 30 เหรียญสหรัฐฯ แต่ในปี 2552 ราคาส่งออกข้าวสาร 5% ของไทยสูงกว่าเวียดนามถึงตันละ 123เหรียญสหรัฐฯ

ส่วนข้าว 25% ราคาส่งออกข้าวของไทยกับเวียดนามในปี 2544-2550 ไม่แตกต่างกันมาก ราคาส่งออกข้าวของไทยจะสูงกว่าเวียดนามประมาณ 5-11 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน แต่ปี 2551-2552 ราคาส่งออกข้าวของไทยขยับสูงขึ้นห่างจากราคาส่งออกข้าวของเวียดนามมากถึง 50-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

การทำตลาดข้าวของเวียดนามแบบ “ทีมเดียวและรุกตลาดข้าวคุณภาพ

การทำการตลาดของเวียดนามจะทำไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ คือ รัฐบาล ผู้ส่งออก และเกษตรกร โดยรัฐบาลเป็นผู้นำในการทำตลาดกับต่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดยผ่านทางสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) ที่มีสมาชิกประมาณ 205 บริษัท ส่วนบริษัทผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามที่มีขนาดใหญ่มี 2 บริษัทคือ Vinafood 1 และ Vinafood 2 ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีสัดส่วนในการส่งออกข้าวมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนามส่วนที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นของผู้ส่งออกอื่นๆ

สำหรับในปี 2552 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2553 เวียดนามมีปริมาณการส่งออกข้าวไปประเทศที่บริโภคข้าวคุณภาพสูงได้มากขึ้น เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลียและไต้หวัน โดยเฉพาะตลาดฮ่องกงในปี 2552 เวียดนามส่งออกข้าวไปฮ่องกง 21,037.0 ตัน แต่ในปี 2553 เพียงแค่ครึ่งปีเวียดนามมีปริมาณส่งออกข้าวไปฮ่องกง 23,164.0 ตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามไปฮ่องกงในปี 2552 ทั้งปี นอกจากตลาดฮ่องกงที่เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้นตลาดออสเตรเลียก็มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในขณะเดียวกันการส่งออกข้าวของไทยไปยังทั้ง 3 ประเทศกลับมีอัตราการขยายตัวในการส่งออกลดลง ในปี 2551 การส่งออกข้าวของไทยมีอัตราการขยายตัวลดลงในตลาดฮ่องกงร้อยละ 10 แต่ในตลาดออสเตรเลียกับไต้หวันยังมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และ 1.2 แต่ในปี 2553 ในครึ่งปีแรกการส่งออกข้าวของไทยไปไต้หวัน ฮ่องกงและออสเตรเลีย มีอัตราการขยายตัวลดลงทั้ง 3 ประเทศร้อยละ 30.9 19.6 และ 2.3 ตามลำดับ

มาตรการลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนาเวียดนาม

กระทรวงการคลังเวียดนามกำลังร่างโครงการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดข้าวในประเทศ โดยจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรหลายด้าน เช่น ให้การอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อวัตถุดิบ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิต เสนอให้รัฐบาลยกเว้นลดภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นการช่วยเหลือบางส่วนในการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตสำหรับการผลิตสินค้าเกษตร และเสนอให้มีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตและส่งออกข้าวซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมีเสถียรภาพด้านราคาข้าวในระยะยาวเป็นต้น

นโยบาย 30% เพื่อชาวนาเวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายช่วยให้เกษตรกรได้มีกำไรอย่างน้อย 30% ของต้นทุนการผลิตโดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 นาย Nguyen Tan Dung นายกรัฐมนตรีของเวียดนามได้ประกาศขอให้ส่วนกลางและคณะกรรมการประชาชนจังหวัดต่างๆ กำหนดราคาข้าวเปลือกที่จะขายให้กับพ่อค้าคนกลางเพื่อให้เกษตรกรได้กำไรอย่างน้อย 30% โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทในการประกาศระเบียบและแนวทางการคำนวณต้นทุนการผลิตเพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดราคาข้าวเปลือก นอกจากนั้นบริษัทผู้ส่งออกข้าวต้องมีแผนในการเชื่อมโยงกับพ่อค้าคนกลางเพื่อรับซื้อข้าวจากเกษตรกรตามราคาที่กำหนด นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามยังมีเป้าหมายให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-3 เท่าของต้นทุน

รัฐบาลเวียดนามมีการจัดตั้งตลาดค้าข้าวและคลังสินค้าในต่างประเทศ

ปัญหาในการส่งออกข้าวของเวียดนามนอกจากปัญหาด้านคุณภาพของข้าว การตาก และการอบข้าวเปลือกขาดคุณภาพแล้ว สภาพอากาศมีความชื้นสูงทำให้ข้าวเปลือกเสียง่ายและมีสัดส่วนของข้าวหักสูงเมื่อนำมาสีเป็นข้าวสารแล้ว ซึ่งเวียดนามยังขาดแคลนคลังและไซโลจัดเก็บข้าวอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในปัจจุบันคลังและไซโลทั้งประเทศสามารถเก็บข้าวเปลือกได้เพียง 2 ล้านตัน ในขณะที่เวียดนามมีผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยทั้งประเทศในช่วงปี 2543-2552 ประมาณ 35.5 ล้านตันต่อปี

แต่ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามส่วนใหญ่เกือบ 200 ราย ไม่มีโกดังเก็บข้าวเปลือกและโรงสีเป็นของตนเอง ดังนั้น ผู้ส่งออกจะทำการรับซื้อข้าวเพื่อทำการส่งออกหลังจากเซ็นสัญญากับผู้นำเข้าและเมื่อถึงเวลาส่งมอบ ทั้งนี้เพื่อที่ผู้ส่งออกจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าคลังและไซโลเก็บข้าว

จากปัญหาการขาดแคลนคลังและไซโลเก็บข้าวของเวียดนามรัฐบาลเวียดนามได้มีการจัดตั้งตลาดค้าข้าวที่จังหวัดโฮวซางและสร้างคลังสินค้าบนพื้นที่ 100 ไร่ที่จังหวัดหวิ่นล่อง นอกจากนี้ เวียดนามยังมีการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการตั้งคลังสินค้าในต่างประเทศ เช่นที่ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย กานา แอฟริกาใต้ และพม่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิก ‘นิพนธ์’แนะทบทวน‘นโยบายจำนำข้าว’ สิ่งที่เราสูญเสีย-สิ่งที่รัฐบาลหน้าต้องทำ

********************************

ที่มา

การเปรียบเทียบศักยภาพการผลิตและการค้าข้าวไทยและเวียดนามในตลาดอาเซียน, ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช,  วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีที่ 31 ฉบับที่ 2 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2554

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.manager.co.th/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: