ปฏิบัติการแย่งชิงมวล (เยาว) ชน สามจังหวัดชายแดนใต้

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ TCIJ 20 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4947 ครั้ง

ในสถานการณ์การต่อสู้ ไม่ว่าจะเชิงอาวุธหรือความคิด การแย่งชิงมวลชนให้เป็นฝ่ายตนนับเป็นยุทธวิธีที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่จะไม่เพียงเป็นฐานสนับสนุนในปัจจุบัน แต่ยังหมายถึงในอนาคตด้วย คงเพราะเหตุนี้ พื้นที่ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ นักการเมือง หรือตัวเยาวชนเอง ที่พยายามสร้างกลุ่มก้อนทางความคิดผ่านกิจกรรมหลากรูปแบบ เพื่อดึงมวล (เยาว) ชนมาร่วมแก้ปัญหาในแบบของตน

หากนับเหตุการณ์การปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เป็นจุดเริ่มต้นรอบใหม่ นับเป็นเวลาสิบปีเต็มแล้วที่เหตุการณ์ความรุนแรงระลอกล่าสุดได้ถือกำเนิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำมาซึ่งความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นจำนวนมาก ความรุนแรงที่ว่านี้เกิดขึ้นกับประชาชนและปรากฏผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกระดับ ทุกชนชั้น กลุ่มเยาวชน ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสุ่มเสี่ยงต่อการถูกชักนำก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นกัน

จากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) พบว่า ระหว่างปี 2547-2556 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต 62 คน บาดเจ็บ 387 คน และต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าถึงกว่า 5,000 คน เยาวชนจำนวนหนึ่ง เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งในลักษณะที่เป็นผู้ก่อเหตุหรือตกเป็นผู้ถูกกระทำทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและขบวนการ

นอกจากนี้ ยังพบว่าเยาวชนเหล่านี้ถูกละเมิด ถูกซ้อมทรมาน และได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม แม้รัฐจะมีมาตรการในการเยียวยาแต่ก็เป็นลักษณะของการให้เงิน โดยไม่พบว่ามีมาตรการในการเยียวยาทางจิตใจใดๆ ที่เป็นรูปธรรมสภาวการณ์เช่นนี้ ถูกตั้งคำถามว่าอาจเป็นการ ‘ผลัก’ เยาวชนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ให้ห่างไกลจากความเข้าใจในความพยายามของรัฐที่จะรักษาและนำมาซึ่งสันติภาพไปสู่ความเห็นอกเห็นใจฝากขบวนการฯ ที่พยายามสื่อสารกับมวลชนว่า รัฐไทยไม่เคยเข้าใจความต้องการของคนในพื้นที่และมีความพยายามที่จะกลืนกินความมีตัวตนและอัตตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐได้ริเริ่มที่จะทำงานมวลชนในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานเชิงพัฒนาในระดับเยาวชน ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่มีความสร้างสรรค์ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่าความพยายามของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐในครั้งนี้ ได้สร้างคุณูปการต่อกระบวนการสันติภาพเป็นอย่างมาก ในขณะที่เยาวชนบางกลุ่ม แม้จะจัดกิจกรรมเพื่อสันติภาพและต่อต้านการใช้ความรุนแรง แต่กลับถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ข้อกล่าวหาดังกล่าวนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อสื่อกระแสหลักจนถึงกรุงเทพฯ มาแล้ว

เป็นที่น่าเสียดายที่การเมืองจากส่วนกลางส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่อยู่เสมอ ล่าสุดการเจรจาระหว่างรัฐและกลุ่มผู้เห็นต่างต้องหยุดชะงักลง ทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองก็จะเกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการโยกย้ายข้าราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานอยู่บ่อยครั้ง ในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนขั้วอำนาจแล้วหลายครั้ง หากนับเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี จาก พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้นถึง 7 คน  แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองรอบล่าสุด ก็ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มเยาวชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวภาคเยาวชน

การเริ่มต้นกิจกรรมของเยาวชนที่มีอยู่อย่างมากมายในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยการริเริ่มของเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในส่วนกลาง เยาวชนกลุ่มนี้คือกลุ่มนักศึกษา PNYS (P=ปัตตานี N=นราธิวาส Y=ยะลา S=นักเรียน) ร่วมทำกิจกรรมภายหลังจากกรณีคนร้ายที่แต่งตัวคล้ายทหารพรานก่อคดีฆ่าข่มขืนและเผาอำพรางคดีผู้หญิงมลายูมุสลิม เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของหญิงเคราะห์ร้ายอีก 3 ศพ โดยที่มารดาของเธอรอดชีวิตจากกองเพลิงมาได้อย่างหวุดหวิดโดยการช่วยเหลือของเพื่อนบ้าน แม้จะเป็นคดีสะเทือนขวัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน คดีนี้กลับไม่มีความคืบหน้าทางการสืบสวนสอบสวน

กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ที่มีนักศึกษา PNYS จากส่วนกลาง อาทิ ตูแวดานียา ตูแวแมแง และอาเต็ฟ โซ๊ะโก เป็นแกนนำ ได้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 31 พฤษภาคม ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2550 โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่ไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก

อาเต็ฟ โซ๊ะโก หนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ร่วมชุมนุมในครั้งนั้น พูดถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า การที่มีผู้เข้าร่วมมากมายนั้นเป็นเรื่องบังเอิญ แต่เดิมตนมุ่งหวังเพียงจะชวนเยาวชนและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงมาแบ่งปันประสบการณ์ มีการจัดนิทรรศการที่มัสยิดกลาง โดยพวกตนไม่คาดคิดมาก่อนว่า หลังการเชิญชวนคนให้มาร่วมโดยการแจกใบปลิวของเพื่อนๆ เยาวชนในพื้นที่ จะมีการบอกกล่าวชักชวนต่อๆ กันปากต่อปากทำให้มีคนมาร่วมมากมาย จนเจ้าหน้าที่รัฐต่างพากันหวาดระแวง ข่าวที่ออกไปว่าพวกตนเป็นมวลชนจัดตั้งที่ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และที่ว่าพวกตนต้องการย้อนรอยประวัติศาสตร์การชุมนุมที่มัสยิดกลางเมื่อ ปี 2518 นั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ภายหลังการการชุมนุมยุติลง แกนนำนักศึกษาจำนวน 7 คน ได้มีโอกาสได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในวันที่ 22 มิถุนายน เพื่อหารือถึงบทบาทนักศึกษา ประเด็นข้อเรียกร้องและมูลเหตุของการชุมนุม แม้จะไม่มีความแน่ชัดว่าข้อเรียกร้องของเยาวชนได้รับการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมากน้อยเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ได้ถือกำเนิดขึ้นก็คือความตื่นตัวและความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมต่อปัญหาความไม่สงบของเหล่าเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) กับข้อกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มเยาวชนจัดตั้งของ BRN

การจัดตั้งกลุ่มของเยาวชนเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เริ่มมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นภายหลังการชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อ 31 พฤษภาคม 2550 กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นกลุ่มแรกๆ ไม่น่าเชื่อว่าการเมืองสีเสื้อในส่วนกลางจะส่งผลให้อาเต็ฟ โซ๊ะโก ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลางจากการเมืองเสื้อสี เพราะมีภูมิลำเนาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ อาเต็ฟ จึงใช้ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมในนามของ สนนท. รวมกลุ่มเยาวชนในนามสหพันธ์นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งมีโครงสร้างที่คล้ายกับ สนนท. เป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรมของนักศึกษาแต่ละจังหวัดของชายแดนภาคใต้ ต่อมาได้มีการพัฒนามาเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS

อาเต็ฟ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับ PerMAS เล่าว่า PerMAS ทำหน้าที่เป็นองค์กรร่มที่มีองค์กรฐานทั้งสิ้น37องค์กร ทั้งองค์กรที่เป็นอิสระและองค์กรที่เป็นสโมสรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งใครก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ ไม่ได้จำกัดสิทธิ์ว่าต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ต้องเป็นปาตานี (‘ปาตานี’ เป็นคำที่คนในพื้นที่ 3 จังหวัดกับ 4 อำเภอของสงขลาใช้เรียกตัวเอง ซึ่งต่างจากส่วนกลางที่จะใช้คำว่า ปัตตานี) โครงสร้างใหญ่ๆ มีประธาน 1 คน มีรองประธาน 4 คน ดูแลงานด้านต่างๆ ได้แก่ 1.ฝ่ายจัดขบวนนักเรียน มุ่งไปที่นักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 2.ฝ่ายจัดขบวนนิสิตนักศึกษา มุ่งไปที่คนเรียนระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 3.ฝ่ายจัดขบวนเยาวชน มุ่งไปที่คนอายุ 16-25 ปี แม้จะไม่ได้เข้าสู่การเรียนในระบบก็ตาม และ 4.ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์นอกปาตานี มีหน้าที่ประสานจัดขบวนทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในปาตานี พร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายต่างประเทศไปด้วย

กิจกรรมหลักของ PerMAS คือการจัดเวทีที่เรียกว่า ‘เสวนาปาตานี’ ให้กับคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มที่ไม่สามารถแสดงตัวตนในเวทีอื่นได้ ซึ่งอาเต็ฟระบุว่า นี่คือความพิเศษของ PerMAS ที่ผ่านมามีการจัดไปแล้ว 62 ครั้ง ทุกเวทีมีคนมาร่วมเกินหนึ่งพันคนขึ้นไป เฉพาะที่ปัตตานีมีคนมาร่วมกว่าหมื่นคน จุดยืนของเราชัดเจนในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในทุกกรณี ที่ผ่านมาเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของ PerMAS มาจากการบริจาคของประชาชน โดยปฏิเสธการรับเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐหรือภาคประชาสังคมใดๆ ในทุกกรณี เนื่องจากไม่ต้องการให้สังคมมองว่าเป็นการจัดกิจกรรมโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม PerMAS ถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องกับขบวนการฯ เนื่องจากพี่ชายของอาเต็ฟถูกออกหมายจับคดีความมั่นคง และที่ผ่านมา ในกรณีกลุ่มติดอาวุธบุกโจมตีฐานปฏิบัติการของนาวิกโยธินที่ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 13 กุมภาพันธุ์ 2556 และถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม 16 ราย พบว่า 1 ใน 16 ศพที่บาเจาะ มีความสัมพันธ์กับ PerMAS เพราะเป็นนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่

กรณีนี้ อาเต็ฟ กล่าวว่า ตนไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ตนสนับสนุนแนวทางทางการเมือง ไม่ได้สนับสนุนการใช้อาวุธ หากใครใช้อาวุธก็ใช้พื้นที่ของ PerMAS ไม่ได้ ถ้าตนรู้ว่าใครใช้ความรุนแรงก็จะให้อยู่ข้างนอก PerMAS เพราะอุดมการณ์ไปกันคนละทาง นอกจากนี้ TPBS เคยนำเสนอข่าวในช่วงข่าวเด่นประเด็นใต้ โดยเนื้อหาของรายการดังกล่าวมีการพาดพิงสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ขณะนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี) หรือ PerMAS ว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี หรือ BRN-Coordinate ซึ่งเป็นการรายงานข่าวที่ไม่ระบุแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนทำให้กลุ่ม PerMAS ออกแถลงการณ์ตอบโต้และมีการชุมนุมบริเวณด้านหน้าสถานี เพื่อประณามการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีความบกพร่อง ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่กลุ่ม

ปัจจุบันแกนนำผู้ก่อตั้ง PerMAS รุ่นแรก คือ อาเต๊ฟ โซ๊ะโก และ ตูแวดานียา ตูแวแมแง ยังคงทำงานในภาคประชาสังคมในนามสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ปรึกษาให้กับ PerMASแล้วยังจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ดรีมเซาท์อนาคตชายแดนใต้กำหนดได้ด้วยเยาวชน

ดัลย้าล อับดุลเลาะ แกนนำกลุ่มเยาวชนดรีมเซาท์ เล่าถึงที่มาของกลุ่มดรีมเซาท์ ว่า ถือกำเนิดขึ้นโดยการสนับสนุนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภายใต้ความรับผิดชอบของเลขาธิการ ศอ.บต. คนก่อน-พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้เป็นองค์กรที่รวมกลุ่มเยาวชนกลุ่มต่างๆ ที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม โดยการสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐเป็นภาคีสมาชิก เยาวชนกลุ่มต่างๆ มีอิสระที่จะดำเนินกิจกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวก

ในช่วงเริ่มต้นนี้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะยาวได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์แผนการพัฒนาเยาวชน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้เกิดจากการระดมความคิดร่วมกันของเยาวชนกลุ่มต่างๆ ถึง 65 กลุ่ม จากการประชุมเชิงปฏิบัติการหลายครั้งเมื่อพิจารณาถึงกิจกรรมของเยาวชนที่ผ่านมา จะพบว่า ล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ หลายกิจกรรมช่วยสร้างบรรยากาศในการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความร่วมมือในกระบวนการสันติภาพของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี อาทิ โครงการเสียงรากหญ้า ซึ่งเยาวชนจะจัดเวทีพูดคุยกันเองระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ที่มักไม่ค่อยมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเวทีพูดคุยโดยมากจะจำกัดอยู่ในแวดวงนักกิจกรรมหรือนักวิชาการ โครงการเสียงรากหญ้าจัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ โดยตรงก่อนที่จะสรุปข้อเสนอแนะเหล่านั้นมานำเสนอให้หน่วยงานของรัฐต่อไป โครงการร้านน้ำชาสัญจร มุ่งเปิดพื้นที่ในการพูดคุยในเรื่องที่มีความแตกต่างทางความคิด โดยเฉพาะประเด็นสุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถพูดคุยกันในพื้นที่สาธารณะได้ หรือกิจกรรมของกลุ่มลูกเหรียงซึ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรง ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดค่ายศิลปะเพื่อการเยียวยาเยาวชน กิจกรรมเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก ศอ.บต. เป็นหลัก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นหน่วยงานสายตรงของรัฐบาล ที่มุ่งทำงานในยุทธศาสตร์เชิงพัฒนา

แม้จะถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐ แต่กิจกรรมหลักของเยาวชนกลุ่มนี้เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มุ่งเน้นการพัฒนาและเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ มีการประเมินและสรุปผลกิจกรรม พร้อมทั้งมีการนำเสนอข้อเสนอของเยาวชนที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ที่เกิดจากการทำกิจกรรมของเยาวชนทุกกลุ่มร่วมกันที่กรุงเทพฯ ในงาน ‘เสียงเรียกจากเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ผ่านทางพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอกรองนายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงโดยตรง ซึ่งรองนายกฯ ได้ยืนยันที่จะพิจารณาข้อเสนอแนะของเยาวชน และรับปากจะพยายามผลักดันข้อเสนอที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ให้เป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อไป

แต่ภายหลังการทำรัฐประหาร ของ คสช. มีการโยกย้ายตัวเลขาธิการ ศอ.บต. คนเดิมออกจากพื้นที่ กิจกรรมของกลุ่มเยาวชนที่ได้รับการวางแผนล่วงหน้าเอาไว้จึงได้รับผลกระทบ จากเดิมที่มีการวางแผนทำกิจกรรมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาจำนวน 7 โครงการ ปรากฏว่าถูกตัดทอนเหลือเพียงโครงการเดียวเท่านั้น นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ความพยายามในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสันติภาพของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต้องมาสะดุดลง เพราะการเมืองจากส่วนกลางอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เยาวชนบางกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของกองทัพ ซึ่งก็คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค4 สน.) ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากพิษการเมือง

กองทัพและนักการเมืองกับการสนับสนุนเยาวชน

หลังจากที่กระแสการทำกิจกรรมของเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้ถูกปลุกขึ้นโดยนักศึกษาที่เดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เยาวชนในพื้นที่ก็ได้มีการรับเอาแนวคิดและความตื่นตัวทางการเมืองดังกล่าว บังเกิดเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมอย่างกว้างขวาง มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกมองว่ามีความใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพ (กอ.รมน. ภาค4 สน.) และนักการเมือง กลุ่มเยาวชนดังกล่าวคือสมาพันธ์เครือข่ายนักศึกษารักสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนสต.)

แม้จะไม่มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนและผู้นำของกลุ่มเยาวชนจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งโดยกองทัพ แต่ที่มาที่ไป รูปแบบการจัดกิจกรรม รวมไปถึงกิจกรรมที่จัดร่วมกันกับหน่วยเฉพาะกิจสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ล้วนมีความเชื่อมโยงกับกองทัพและนักการเมือง ซึ่งที่มาของ สนสต. นั้น เริ่มจากการจัดตั้งเป็นชมรมเล็กๆ ภายในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ในปี 2551 โดยมี ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี คณะรัฐศาสตร์ เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นที่น่าสังเกตว่า ผศ.ชิดชนก เป็นภรรยา ของ ผศ.ดร.พีรยศ ราฮิมมูลา อดีตอาจารย์ มอ.ปัตตานี ซึ่งหันเหเข้าสู่แวดวงการการเมืองและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2550 และยังเป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2554 อีกด้วย

สมาพันธ์เครือข่ายนักศึกษารักสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการขยายเครือข่ายจากฐานความสัมพันธ์ส่วนตัวของสุไลมาน เจ๊ะแล อดีตประธานชมรม โดยการชักชวนเพื่อนๆ จากต่างสถาบันให้จัดตั้งเป็นชมรมภายใต้ชื่อชมรมเดียวกันในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยฟาฏอนี) ซึ่งภายหลังชมรมนักศึกษารักสันติจากจากสถาบันเหล่านี้และชุมนุมสิงห์สันติภาพจาก มอ.ปัตตานี ได้รวมตัวกันเป็นสมาพันธ์นักศึกษารักสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ กิจกรรมหลักของ สนสต. ได้แก่การจัดค่าย ‘วินัยกับอิสรภาพทางความคิด’ ซึ่งจัดมาแล้วถึง 7 รุ่น และกิจกรรมแนะแนวซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลุ่ม สนสต. เป็นผู้ดำเนินการโดยร่วมมือกับทหารหน่วยเฉพาะกิจสันติสุขชายแดนใต้ในการแนะนำแนวทางในการศึกษาต่อให้กับเยาวชนในโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

บ่อยครั้งที่กิจกรรมแนะแนวดังกล่าว จัดขึ้นในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด สำหรับงบประมาณในการจัดกิจกรรมนั้น ประธาน สนสต. ยืนยันว่าเป็นงบประมาณที่แต่ละชมรมได้รับมาจากสถานศึกษาต้นสังกัดเป็นหลัก โดยได้รับการสนับสนุนบางส่วนจาก กอ.รมน.ภาค 4 สน., ศอ.บต. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวอื่นให้ข้อมูลว่า สนสต. ได้รับการสนับสนุนจาก กอ.รมน. ภาค 4 สน. เป็นหลัก งบประมาณที่ได้รับในปีที่แล้วสูงถึง 17 ล้านบาท ความใกล้ชิดกับกองทัพสะท้อนออกมาจากรูปแบบของกิจกรรม แม้กระทั่งชื่อของกิจกรรมก็มีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับความมี ‘วินัย’ นอกจากนี้ กิจกรรมเสวนาที่ สนสต. จัดขึ้น ก็มีความน่าสนใจ สามารถเชิญนักวิชาการอย่าง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล และเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม2556 ที่ผ่านมา ก็ได้เชิญ ดร.วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานกลุ่มเบอร์ซาตู  สะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนกลุ่มนี้มี ‘คอนเน็คชั่น’ ที่ไม่ธรรมดา

ปัจจุบันนี้ แม้แกนนำกลุ่ม สนสต. จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว แต่ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องโดยมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทสมาคม โดยใช้ชื่อว่า สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เพื่อดำเนินกิจกรรมภาคประชาสังคมควบคู่ไปกับ สนสต. ที่ยังคงทำกิจกรรมในระดับนิสิตนักศึกษาต่อไป

สันติภาพ’ ที่แตกต่าง

เมื่อถอยหลังกลับมามองภาพรวมของกิจกรรมของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่า แม้เยาวชนกลุ่มต่างๆ จะมีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน คือการได้มาซึ่งสันติภาพโดยปราศจากความรุนแรง แต่ก็ดูเหมือนว่าเยาวชนกลุ่มต่างๆ ล้วนมีคำจำกัดความของ ‘สันติภาพ’ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งล้วนสะท้อนออกมาจากกิจกรรมหลากหลายประเภทที่เยาวชนกลุ่มต่างๆ ได้จัดขึ้น

ภาพของเยาวชนยังได้สะท้อนภาพของคู่ขัดแย้งซึ่งก็คือรัฐไทยกับขบวนการฯ ที่ต่างก็ต้องการสันติภาพ แต่ก็มีคำจำกัดความและภาพฝันในสันติภาพนั้นต่างกันออกไป ภาพการทำกิจกรรมของเยาวชนกลุ่มต่างๆ เปรียบเสมือนภาพที่ย่นย่อของความพยายามในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ของภาคส่วนต่างในสังคมที่กำลังดำเนินอยู่ ความขัดแย้งเชิงนโยบายและวิธีคิดที่แตกต่างกันของกองทัพและรัฐบาล การขาดเอกภาพและการบูรณาการ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งปัจจัยทางการเมือง เรื่องของการจัดสรรงบประมาณ  การทุจริตและการแสวงประโยชน์โดยใช้เรื่องอื่นบังหน้า

การรวมตัวเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองของเยาวชนในสามจังหวัด ซึ่งมีความคึกคัก ตื่นตัว และมีความก้าวหน้ามากกว่าพื้นที่ใดๆ ในประเทศอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะภายใต้สถานการณ์ที่บีบบังคับและความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกที่ไม่อาจยุติได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่หน่วยงานภาครัฐจะปรับเปลี่ยนนโยบาย หันมาให้ความสำคัญที่ตัวเยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต หากมองทางออกของเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้เป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งก็คือการสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายรัฐเหนือกว่าฝ่ายขบวนการแล้ว สิ่งที่รัฐต้องทำให้สำเร็จโดยไม่มีทางเลือกก็คือ ต้อง ‘ชนะ’ ให้ได้ในปฏิบัติการแย่งชิงมวลเยาวชน เพราะหากรัฐพ่ายแพ้ในสงครามนี้ คำตอบสุดท้ายของปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เรื้อรังสะสมมายาวนานอาจไม่ใช่คำตอบที่รัฐต้องการ

เยาวชนเหล่านี้จะเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ เพราะมีโอกาสได้สัมผัสปัญหาจากมุมมองของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือจะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับแนวทางแก้ปัญหาเดิมๆแต่มีทักษะชั้น 'เซียน' เพราะได้รับการฝึกฝนและจดจำแนวทางไว้แล้วตั้งแต่เยาว์วัย ยังเป็นคำถามที่ต้องเฝ้ารอคอยคำตอบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: