เปิดตัว‘พรรคคนธรรมดา’ ชูจุดยืน‘เท่าเทียมทั่วไทย’

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 20 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2712 ครั้ง

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ พรรคคนธรรมดา จัดกิจกรรมเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการ นำโดย นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรค เสนอนโยบายปฏิรูปโครงสร้างประเทศ อาทิ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปฏิรูปกองทัพด้วยระบบกำลังสำรอง นอกจากนี้ภายในงานมีการปฐกถานำโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ และการเสวนาพรรคการเมืองกับนโยบายปฏิรูปโดยนักวิชาการจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดา กล่าวว่า พรรคคนธรรมดาจะเป็น ‘Voice of the Voiceless’ หรือเสียงของคนที่ไม่มีเสียง เพราะเห็นว่าเสียงของคนที่มีเสียงในสังคมมีคนสนใจมากแล้ว เหตุนี้การรณรงค์ของพรรคจึงใช้คำว่า ‘เท่าเทียมทั่วไทย’

นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดา

“เพราะหากสังคมไหนยังมีคนไม่มีเสียงอยู่ แปลว่าสังคมนั้นยังไม่เท่าเทียม” นายธนพรกล่าว

สำหรับนโยบายของพรรคคนธรรมดาที่เสนอในครั้งนี้แบ่งเป็น 6 ด้านหลัก คือ ด้านการเมือง โดยจะมุ่งไปที่ 3 เรื่องหลัก คือการแก้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อเป็นการปกป้องสถาบันอย่างยั่งยืน, การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกฝ่าย ที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่รวมถึงผู้สั่งการและแกนนำ และการลงประชามติให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อลบล้างผลพวงของรัฐประหาร

ด้านการบริหาร มุ่งการกระจายอำนาจเป็นหลัก อย่างการจัดตั้งเขตบริหารพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ด้านความมั่นคง นายธนพรกล่าวว่า จะลดการประจำการ เลิกการเกณฑ์ทหาร และเน้นกำลังสำรอง ด้วยการปฏิรูปกองทัพโดยปรับลดขนาด และสร้างกำลังสำรองพร้อมรบขึ้นแทน รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร ซึ่งจะเป็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหารนั่นเอง

ด้านเศรษฐกิจ จะปฏิรูประบบภาษี โดยเฉพาะภาษีเงินได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ และภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ปฏิรูปการบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างความเป็นธรรม และการช่วยเหลือเกษตรกร ด้านสิทธิเสรีภาพด้วยสโลแกนว่า “หยุดการตีตรา แสวงหาความเท่าเทียม” นโยบายที่ได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วม เช่น การยกเลิกคำนำหน้านาม การอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการสมรสสามารถสมรสกันได้ โดยไม่ถูกจำกัดจากความเป็นชายหญิง และการผลักดัน พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เป็นต้น

และสุดท้าย ด้านสิ่งแวดล้อม นายธนพรกล่าวชัดเจนว่า นโยบายของพรรคคนธรรมดาคือการปฏิเสธโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปฏิรูประบบการจัดทำและตรวจติดตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ โดยต้องไม่ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จ้างบริษัทที่ปรึกษา เป็นผู้จัดทำอีไอเอเหมือนที่ผ่านมา และการกระจายอำนาจการจัดการน้ำสู่ท้องถิ่น โดยส่วนกลางทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนับสนุน

รัฐธรรมนูญปี 2540 จุดเปลี่ยนการเมือง

ขณะที่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงพัฒนาการของพรรคการเมืองว่า ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคการเมืองประกอบด้วยคนที่มีเครือข่ายทางการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีศักยภาพดึงงบประมาณจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของถนนเข้าหมู่บ้าน น้ำประปา หรือหลังคาโบสถ์ เป็นเหตุให้พรรคการเมืองไทยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่าง ๆ แต่กลับมุ่งเน้นการสะสมผู้สนับสนุน ซึ่งก็คือผู้มีเครือข่ายในท้องถิ่นไว้ให้ได้มากที่สุด

ทว่า การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 และพรรคไทยรักไทย ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนไปสู่เรื่องนโยบายมากขึ้น มุ่งตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าของคนชนบทที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบายเรียนฟรี ซึ่งนโยบายเหล่านี้สร้างความตื่นตระหนกพอสมควรแก่ชนชั้นนำและชนชั้นกลาง ที่มักเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายของพรรคไทยรักไทย ณ เวลานั้นก็มิได้มุ่งขยายฐานรายได้ของรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นก็มิได้คิดที่จะปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ตรงกันข้าม กลับหลีกเลี่ยงที่จะทำ เพราะนั่นหมายความว่า ต้องแตะต้องกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิม

ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ชูพรรคคนธรรมดา เปลี่ยนโครงสร้าง ยกเลิกภูมิภาคดันนโยบายต่อรองพรรคร่วม

ศ.ดร.นิธิกล่าวว่า ดังนั้นการเกิดขึ้นของพรรคคนธรรมดาและแนวนโยบายที่มุ่งการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เช่น การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค การปรับแก้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เป็นต้น ทั้งยังจะเป็นการสร้างความหวังให้แก่ชนชั้นนำว่าประเทศจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ และจะมีผลสำคัญต่อการลดความบาดหมางที่ดำรงอยู่

            “ถ้าพรรคคนธรรมดาได้รับเลือกมากพอที่จะทำให้พรรคใหญ่ขอให้เข้าร่วมรัฐบาล พรรคต้องกำหนดแต่ต้นว่า มีนโยบายบางอย่างที่รัฐบาลจะต้องรับ และแถลงต่อรัฐสภา เช่น จะแก้มาตรา 112 พรรครัฐบาลจะรับหรือไม่ ต้องมีนโยบายใช้ต่อรองในการร่วมรัฐบาล ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็จะผลักดันนโยบายอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพรรคคนธรรมดาสามารถยืนยันนโยบายของตน ก็จะใช้เป็นเครื่องต่อรองได้ ทำให้มีเสียงดังขึ้นในสังคมไทย แม้จะไม่ได้รับเลือก แต่จะเป็นปรากฏการทางการเมือง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แค่นี้ก็เป็นประโยชน์ต่อการเมืองไทยมากแล้ว เพราะเป็นการเสนอนโยบายเชิงโครงสร้าง”

ยกเลิก 112 หนุนประชาธิปไตย เร่งกระจายอำนาจเพิ่มฐานภาษีสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ด้านวงเสวนาหัวข้อ “พรรคการเมืองกับนโยบายปฏิรูป” ประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายสิโรฒม์ แวปาโอะ เครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ดร.ชยงกร ภมรมาศ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร นายชัชวาลย์ พิศดำขำ มูลนิห้วยขาแข้งและมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และน.ส.วิภา ดาวมณี มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยไทย

ทั้งนี้ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นว่า ประเด็นที่พรรคการเมืองควรนำไปปฎิรูปได้แก่ การยกเลิกประมวลกฎหมายมาตรา 112  เชื่อมโยงพรรคการเมืองกับภาคประชาชน เร่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพิ่มการเก็บภาษีอาทิ ภาษีที่ดิน อุดหนุนสวัสดิหนุนคุณภาพชีวิตรวมถึงสร้างความเท่าเทียมทางเพศทั้งชายหญิงและเพศทางเลือก

ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ดร.สุธาชัยกล่าวว่า จำเป็นต้องสร้างบรรยากาศการถกเถียงที่เป็นประชาธิปไตย ผ่านการลดอุปสรรคสำคัญอาทิ การยกเลิกประมวลกฎหมายมาตรา 112 ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบทบัญัติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และส่วนเกี่ยวข้อง เช่น องคมนตรี เพราะที่ผ่านมาขอบเขตอำนาจที่มากเกินของสถาบันดังกล่าวสร้างความกลัวต่อการวิพากษ์วิจารณ์

ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ด้านดร.ประภาสกล่าวถึงความจำเป็นของพรรคการเมืองในการเชื่อมโยงประเด็นปัญหาเข้ากับการเมืองภาคประชาชนว่า ที่ผ่านมาไม่ปรากฏพรรคการเมืองใด ที่ทำงานเชื่อมต่อกับภาคประชาชนในเชิงนโยบาย ภาพที่เกิดขึ้นกลับเป็นประชาชนที่ยื่นมือขอความช่วยเหลือ รวมถึงการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะหมายรวมถึงการกระจายอำนาจในการทรัพยากร ซึ่งพรรคคนธรรมดาควรไปให้ไกลกว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมในด้านนี้

สอดคล้องกับ นายสิโรฒม์กล่าวว่า ในหลายทศวรรษการกระจายทรัพยากรยังกระจุกตัวอยู่เพียงเมืองหลวง ความเดือดร้อนของคนชนบทไม่เคยถูกนำเสนอเป็นประเด็นหลักทางสังคม

นายสิโรฒม์ แวปาโอะ

ดร.ชยงกรกล่าวถึงประเด็นปฏิรูปด้านภาษีว่า พรรคคนธรรมดาจำเป็นต้องคิดถึงการสร้างโอกาสในการมีชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม การขึ้นภาษีเป็นเรื่องที่ยังไม่ปรากฏในทางปฏิบัติไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดก็ตามเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรค การขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีผลได้จากการขายหุ้นในตลาดแล้วนำเงินมาอุดหนุนสวัสดิการและคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

นายชัชวาลย์ พิศดำขำ

ขณะที่ นายชัชวาลย์กล่าวถึงมิติเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า สิ่งแวดล้อมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอมา ครั้งหลังสุดอย่างโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงค์ เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่า บริเวณก่อสร้างเขื่อนเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไม่กี่แห่งในประเทศ ในขณะที่ประชนโดยรอบกลับต้องการเขื่อน เพราะเขาถูกทำให้เชื่อว่าเขื่อนเป็นทางออกสุดท้ายและดีที่สุด ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง สวนทางกับงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่าไม่น้ำที่ได้ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับพื้นป่าที่ต้องเสียไป

น.ส.วิภา ดาวมณี

ด้าน น.ส.วิภากล่าวทิ้งท้ายในประเด็นเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศชายหญิงและเพศทางเลือกอื่น ๆ ว่า ในขณะที่ต่างประเทศนักการเมืองเพศที่สามได้รับการยอมรับในสังคม แต่ในเมืองไทยกลับถูกมองว่า เป็นสิ่งผิดปกติ กระทั่งการรักแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ผิด มากไปกว่านั้นเรื่องการทำแท้ง ไม่เพียงแค่กฎหมายที่ไม่รองรับ ทัศนคติขอคนในสังคมยังมองว่าเป็นเรื่องที่ผิด ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องของสิทธิเหนือร่างกายของผู้หญิง จึงอยากฝากพรรคคนธรรมดาให้สร้างความก้าวหน้าในประเด็นความเท่าเทียมกันระหว่างเพศด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: