ภาคประชาชนห่วง กรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือภาคธุรกิจ หากออกนอกระบบ

20 พ.ย. 2557


จากกรณีตามที่ขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งแผนงานรองรับและแก้กฎหมายเพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกจากระบบราชการไปเป็น "องค์กรมหาชน" ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ โดยอ้างว่า เพื่อเพิ่มบุคลากรและความคล่องตัวจะได้สนองนโยบาย คสช.ที่ให้กรมเร่งออกสิทธิบัตรนั้น

ล่าสุด ภาคประชาสังคมและกลุ่มนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีดังกล่าว โดยนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า รู้สึกกังวลอย่างมากเพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการอย่างเงียบๆเพื่อแก้กฎหมายให้กรมฯออกจากระบบโดยอ้างว่า คสช.สนับสนุน

“เราทราบมาว่า นี่เป็นแนวความคิดที่ผู้บริหารกรมฯบางส่วนร่วมกับบริษัทตัวแทนสิทธิบัตรพยายามผลักดัน แล้วอ้างกับ คสช.ว่า นี่จะทำให้เร่งออกสิทธิบัตรได้อย่างรวดเร็วและสร้างการยอมรับจากประเทศตะวันตกได้ ซึ่งหากรัฐบาล คสช.หลงเชื่อตาม ก็เท่ากับ ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นหน่วยราชการไทยไปเป็นแขนขาหนึ่งของธุรกิจเอกชนเท่านั้น เพราะพันธกิจของกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้านหนึ่งคือ รับจดทรัพย์สินทางปัญญา ต่างๆ ทั้งสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆให้เป็นแรงสำคัญในนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความสมดุลย์โดยตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น จะต้องมีคุณภาพจริงๆจึงจะได้สิทธิผูกขาดไปและจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน”

เจ้าหน้าที่รณรงค์มูลนิธิเข้าถึงเอดส์เห็นว่า ที่ผ่านมาจะพบว่า แม้จะเป็นหน่วยราชการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังทำหน้าที่การสร้างความสมดุลย์นี้ไม่ดีนัก ถ้าหากเป็นองค์กรมหาชนจะยิ่งหลุดพ้นการตรวจสอบจากสาธารณชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เรื่องนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงไม่ควรดำเนินการอย่างลับๆ แต่ควรสนับสนุนให้มีการทำงานวิชาการเพื่อศึกษาผลกระทบอย่างจริงจังและรอบด้าน

“ทุกวันนี้ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐฯ ได้ส่งอุปทูตด้านทรัพย์สินทางปัญญามาประจำสถานทูตสหรัฐฯประเทศไทย โดยมีภารกิจชัดเจนคือมาแก้กฎหมายไทยให้เป็นไปตามผลประโยชน์สหรัฐฯ แทบทุกการประชุมกรมทรัพย์สินจะเชิญตัวคนเหล่านี้เข้ามา ทั้งที่ในหลายการประชุมไม่มีการเชิญตัวแทนภาคประชาสังคม หรือภาควิชาการเลย จึงไม่ต้องแปลกใจที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องเน้นที่การพิทักษ์ประโยชน์ผู้ทรงสิทธิอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากคดีพนักงานเก็บขยะที่บทลงโทษสูงมาก ผู้พิพากษาก็จำเป็นต้องตัดสินโทษตามที่เขียนในกฎหมาย ซึ่งจริงๆแล้ว นักวิชาการจำนวนมากเรียกกฎหมายเหล่านี้ว่า กฎหมายที่สหรัฐฯจับมือเขียน

ดังนั้น ก่อนจะคิดเรื่องออกนอกระบบ กรมทรัพย์สินทางปัญญาและผู้ที่เกี่ยวข้องควรตั้งต้นจากการเริ่มหัดคิดและทำให้เป็นอิสระจากผลประโยชน์เสียก่อนจึงค่อยคิดเรื่องการเป็นองค์กรมหาชนที่อาจดีแค่เรื่องการ จัดการแต่อาจส่งผลเสียหายในระยะยาว และกระทรวงพาณิชย์ควรทำเรื่องนี้อย่างเปิดเผยโปร่งใสมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ไม่ใช่มุบมิบโดยอ้างว่า คสช.หนุนแล้ว เช่นนี้”

ขอบคุณภาพจาก www.hfocus.org 

ทางด้าน ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ นักวิจัยในโครงการพัฒนาคุณภาพระบบสิทธิบัตรยา เห็นว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องแก้ให้ถูกจุด-ถูกสาเหตุที่แท้จริง ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่าจะแก้โดยการออกนอกระบบเพียงอย่างเดียว เพราะการออกนอกระบบคือการที่รัฐมอบสิทธิผูกขาดที่อาจกระทบสาธารณชนและเป็นสิทธิของรัฐให้แก่เอกชนเพื่อพิจารณาส่งต่อให้เอกชนอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะทำให้สูญเสียความเป็นกลางในการพิจารณาและอาจไม่สนองต่อนโยบายรัฐที่ต้องการให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศได้ ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์จึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

“การดำเนินการโดยเอกชนนั้นไม่มีระบบการควบคุมตรวจสอบซึ่งแตกต่างจากการที่ยังเป็นการดำเนินการโดยภาครัฐที่ยังมีระบบการควบคุม เช่น วินัยทางราชการ ความรับผิดทางปกครอง ซึ่งหากราชการดำเนินการโดยมิชอบอาจถูกฟ้องร้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ และยิ่งไปกว่านั้น หากตั้งเป้าว่า ต้องเร่งรัดการออกสิทธิบัตรเพื่อหารายได้หรือเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ เช่น กรณีศึกษาของคำขอรับสิทธิบัตรฉบับหนึ่งในวิธีการทำมันสำปะหลัง GMO ชนิดที่ให้แป้งข้าวเหนียวออกมา แล้วมีการ claim ถึง naïve คือตัวมันสำปะหลังตามธรรมชาติไปด้วย ซึ่งพบว่า อเมริกาอนุมัติสิทธิบัตรดังกล่าว หากผู้ตรวจสอบมุ่งแต่จะออกสิทธิบัตรอย่างเดียว โดยยึดว่าได้รับสิทธิบัตรในต่างประเทศมาแล้วก็จะเกิดปัญหาต่อสาธารณะอย่างใหญ่หลวง”

นักวิจัยในโครงการพัฒนาคุณภาพระบบสิทธิบัตรยา ยังชี้ว่า นอกเหนือจากปัญหาขาดแคลนบุคลากรในหน่วยงานแล้ว การดำเนินงานที่ผ่านมาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานในแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน ทำให้เกิดช่องว่างทั้งต่อการดำเนินงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง และทั้งต่อตัวผู้ขอรับสิทธิบัตร

“การแก้ปัญหาของระบบการอนุมัติสิทธิบัตรไม่ใช่การเร่งรัดให้มีการออกสิทธิบัตรอย่างรีบด่วน แต่ต้องเป็นการอนุมัติสิทธิบัตรที่สมควรได้รับสิทธิบัตรในระยะเวลาที่เหมาะสม จากผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรด้านยากว่าร้อยละ 70 ยื่นขอให้มีการตรวจสอบรายละเอียดการประดิษฐ์ในปีที่ 4 นับตั้งแต่ที่คำขอรับสิทธิบัตรมีการประกาศโฆษณา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความล่าช้าในการอนุมัติสิทธิบัตรเช่นกัน นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น ระบบขอรับสิทธิบัตรแบบออนไลน์ ที่เริ่มมีการดำเนินการแต่ยังมีปัญหาในการทำงานก็ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานได้ จึงควรมุ่งแก้ไขกรอบระยะเวลาในการทำงานให้ชัดเจนเป็นสากลมากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ติดตามการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญามาอย่างต่อเนื่อง จะได้มีการประชุมหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญานำเสนอต่อ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศ (จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล) ที่สหรัฐฯ ได้ส่งอุปทูตด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Attache’) ไปประจำตามสถานทูตในประเทศนั้นๆ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: