เผยต้นทุนสูงปมหนี้ชาวนา แนะปรับโครงสร้างลดหนี้

19 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1997 ครั้ง

กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน หรือ โลโคลแอค เปิดเผยผลการศึกษา ภาวะหนี้สินที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของชาวนาภาคกลาง พบว่า ในพื้นที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี ชาวนา อายุเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 65 ปี ในชุมชนมีภาวะสุ่มเสี่ยง ขาดการสืบทอดอาชีพชาวนา ระบบเกษตรกรรมกำลังเผชิญกับความถดถอยที่ลูกหลานเกษตรกรปรับเข้าสู่ระบบแรงงานรับจ้าง มากกว่าสร้างการผลิตของตนเอง ปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวนามีหนี้สินมากขึ้น เกิดจากแรงกดดันจากการถือครองที่ดิน ปัญหาหนี้สินชาวนากลายมาเป็นนโยบายหาเสียงของรัฐบาล แต่จากการศึกษาพบว่า ชาวนามีข้อสรุปว่า โครงการช่วยเหลือของรัฐไม่สามารถนำสู่การแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะปัญหาจากสถาบันการเงิน แหล่งเงินกู้ของเกษตรกร

น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผอ.กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของภาวะหนี้สินคือแรงกดดันจากการถือครองที่ดินของเกษตรกรและต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะเกษตรกร 45-85 เปอร์เซนต์ ต้องเช่าพื้นที่ทำนาและต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึงไร่ละ1,500-2,500 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20-25 เปอร์เซนต์ ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ขณะที่ต้นทุนการผลิตรวมทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 30-45เปอร์เซนต์ ของต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ของนายทุนในพื้นที่ภาคกลาง ทำให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดิน และมีชาวนาไร้ที่ดินเพิ่มมากขึ้น

จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีพ.ศ.2554 พบว่า มีเกษตรกรที่เช่าที่ดินผู้อื่นเป็นพื้นที่ร้อยละ 19.6 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด 149.25 ล้านไร่ ซึ่งพบในภาคกลางสูงที่สุดประมาณร้อยละ 36 ถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ และพบสูงที่สุดที่จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีการเช่าที่ดินมากถึงร้อยละ 72 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ที่พบว่า มีเกษตรกรนาเช่าในจ.พระนครศรีอยุธยาในปี 2555 สูงถึง 85 เปอร์เซนต์

นอกจากปัญหาการสูญเสียที่ดินแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่ยังมีสัดส่วนหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น รายได้จากการทำนาไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต โดยสถานะหนี้สินชาวนาปัจจุบัน จากข้อมูลตัวเลขหนี้สินของเกษตรกร (รวมถึงชาวนา) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2554/55 ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนภาคการเกษตรทั้งหมดมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจาก 204,117 ล้านบาท ในปี 2542 เป็น 456,339 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของกลุ่มโลโคลแอค ที่พบว่า ชาวนาในจ.พระนครศรีอยุธยา มีหนี้สินเฉลี่ยถึง 401,679 บาทต่อครอบครัว และชาวนาในจ.เพชรบุรี มีหนี้สินเฉลี่ยถึง 371,091 บาทต่อครอบครัว

ด้านนางบุญชู มณีวงษ์ อายุ 56 ปี ชาวนา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เล่าถึงสาเหตุที่ต้องเป็นหนี้  เนื่องจากตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารกสิกรไทย 600,000 บาท เมื่อปี 2539 เพื่อนำเงินมาลงทุนทำนา ส่งลูกเรียนและทำอู่ซ่อมรถ ถูกธนาคารยื่นฟ้องให้ชดใช้หนี้เมื่อปี 2545 ก่อนหน้านั้นได้แบ่งขายที่นาไป 5 ไร่ ได้เงินมา 500,000 บาท เอาไปชำระหนี้ให้ธนาคาร แต่พบว่าเป็นเงินต้นเพียง 100,000 กว่าบาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 18 ไม่นับรวมค่าปรับ สุดท้ายต้องขายที่นาส่วนที่เหลืออีก 5 ไร่ และต้องเช่าที่นาตัวเองทำนาแทน สาเหตุที่ทำให้สูญเสียที่นา เพราะภาระหนี้ที่แบกรับไม่ไหว รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่สูง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการศึกษาของลูก และเงินลงทุนทำนา

นายทรงชัย วิสุทธิวินิกานนท์ กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรว่า ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือลดต้นทุนการผลิต ด้วยการสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตเอง การควบคุมโรคและแมลงด้วยวิธีธรรมชาติ หรือการเข้าถึงแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ การทำนาแบบลดต้นทุนการผลิตควรอยู่บนพื้นฐานการพึ่งตนเอง และเพิ่มความหลากหลายของพืชและอาหารในแปลงนาเป็นสำคัญ และคิดว่านโยบายประกันราคาผลผลิตเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องการเพราะรัฐก็ยังสามารถขายข้าวได้ตามกลไกราคาตลาด ส่วนปีใดหากเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ เกษตรกรยังได้รับการคุ้มครองผลกระทบภัยพิบัติจากราคาประกัน สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ต้องมีกองทุนซื้อที่ดินในราคาที่เป็นธรรมและให้เกษตรกรทำสัญญาเช่า-ซื้อระยะยาวผ่อนชำระได้ตามความสามารถโดยที่ดินนี้ต้องไม่ให้ขายแต่สืบทอดในการทำกินได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: