ธนบูรณ์ สมบูรณ์: Infographic can Change the World

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 19 ส.ค. 2557


ปัจจุบันนี้ การสื่อสารกับผู้บริโภคหรือผู้เสพสื่อไม่ง่ายเหมือนอดีต ยิ่งอิทธิพลของโซเชียล มิเดีย ที่ทำให้ความสนใจของคนสั้นลงเรื่อยๆ ด้วยแล้ว ต่อให้เนื้อหาดีแค่ไหน แต่ถ้าปล่อยออกมาในรูปตัวหนังสือเรียงกันเป็นตับก็ยากจะได้รับความสนใจ องค์กรต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ ไปจนถึงเอ็นจีโอ จึงต้องขบคิดให้หนักกับวิธีการนำเสนอ

อินโฟกราฟฟิกคือรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอเนื้อหาที่กำลังได้รับความนิยม มันคือการผสมผสานระหว่างเนื้อหาและรูปที่เหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว...ยาก ยากที่จะทำออกมาให้ดูดี มีสไตล์ และป้อนข้อมูลได้ตรงเป้า

อินโฟกราฟฟิก มูฟ กลุ่มคนผลิตอินโฟกราฟฟิกที่ตอบโจทย์ข้างต้นได้ ดูจากการแชร์อินโฟกราฟฟิกหลายชิ้นผ่านโซเชียล มิเดียอย่างถล่มทลาย แต่กว่าจะได้อินโฟกราฟฟิกขนาดเท่ากระดาษเอสี่ไม่ง่ายดายและสวยงามเหมือนรูปที่เห็น ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Creative Move และ Infographic Move จะมาบอกเล่ากระบวนการผลิตอินโฟกราฟฟิกแต่ละชิ้นว่ายากเย็นเพียงใด

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ความเชื่อที่ค้ำจุนการสร้างอินโฟกราฟฟิกของอินโฟกราฟฟิก มูฟ มันช่างใหญ่โตจนวัดขนาดไม่ได้ แต่ก็ท้าทาย น่าทดลอง และชวนลุ่มหลมมิใช่น้อย ธนบูรณ์เชื่อว่าอินโฟกราฟฟิกจะเปลี่ยนโลกได้

TCIJ: ก่อนที่คุณจะมากุมบังเหียนอินโฟกราฟฟิก มูฟ คุณทำอะไรมาก่อน

ธนบูรณ์: ผมเป็นช่างภาพแฟชั่นโฆษณา แล้วผันตัวเองมาเป็นครีเอทีฟ พอดีมาเปิดเว็บไซต์ชื่อ portfolio.net มันเป็นชุมชนครีเอทีฟที่ปัจจุบันมีครีเอทีฟประมาณ 24,000 คน รวมถึงเฟซบุ๊คสำหรับคนครีเอทีฟในเมืองไทย ทำให้เราเริ่มคลุกคลีกับดีไซเนอร์ ครีเอทีฟ และศิลปินหลายๆ คน เริ่มซึมซับจากสายการถ่ายภาพมาอินกับด้านครีเอทีฟอาร์ตและดีไซน์มากขึ้น

อีกอย่างผมเป็นคนที่ทำงานด้านอาสาสมัครด้วย ได้เข้าไปทำงานอาสาสมัคร ช่วยในด้านการสื่อสารในการทำงานอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารออนไลน์ การคิดรูปแบบแคมเปญหรือการทำดีไซน์ต่างๆ ให้ รู้สึกว่าเราสามารถใช้ทักษะตัวเองสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน

วันหนึ่งก็เลยมาเปิดครีเอทีฟ มูฟ โดยหวังว่าจะดึงคนในสายครีเอทีฟที่มีความคิดสร้างสรรค์เยอะมาช่วยงานภาคสังคมให้มากขึ้น มีเพจอาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทยอยู่ เป็นเพจที่มีอาสาสมัครประมาณ 160,000 คนและผมก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง แล้วก็มีชุมชนของครีเอทีฟอยู่ 24,000 คน วันหนึ่งเราก็รู้สึกว่าจะทำยังไงที่จะเชื่อมสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน มีเป้าหมายที่จะพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้คนสายครีเอทีฟลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคม

TCIJ: ก่อนหน้านั้นคนสายครีเอทีฟค่อนข้างนิ่งเฉยกับการทำงานด้านสังคมหรือ?

ธนบูรณ์: คิดว่าไม่ใช่สายครีเอทีฟอย่างเดียว ผมว่าทุกสาย คนไทยมีวัฒนธรรมการให้มาแต่โบราณ แต่หลังๆ อาจจะเริ่มห่างไกลกันมากขึ้น ปากกัดตีนถีบมากขึ้น จนรู้สึกว่าไม่มีเวลาใส่ใจกับคนอื่น

TCIJ: อินโฟกราฟฟิก มูฟ ก็คือส่วนหนึ่งของครีเอทีฟ มูฟ

ธนบูรณ์: จริงๆ เป็นโปรเจกต์ของเรา ของครีเอทีฟ มูฟ ที่อยากจะใช้อินโฟกราฟฟิกเพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ พูดถึงปัญหา 5 ประเด็น คือปัญหาสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และสุขภาพ

TCIJ: ทำไมจึงเลือก 5 ประเด็นนี้

ธนบูรณ์: มันมีประเด็นปัญหาเยอะ แต่เราสนใจใน 5 ประเด็นนี้เป็นพิเศษ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาค่อนข้างกว้างเหมือนกัน มันมีประเด็นปัญหาหลายอย่างที่คนไม่เข้าใจ แต่คนอาจไม่รู้ว่าปัญหาเหล่านี้มันสะเทือนเขาอย่างไรบ้าง เช่น เราบอกว่าอาร์กติกกำลังละลาย น้ำจะท่วมโลก แล้วมันยังไงล่ะ อาร์กติกอยู่ตั้งไกล แล้วจะกระทบอะไรกับเราบ้าง เราก็ต้องทำอินโฟกราฟฟิกขึ้นมาเพื่อบอกว่า อาร์กติกมีความสำคัญอย่างไรกับโลก และถ้าอาร์กติกเป็นอะไรไป เราจะกระเทือนอย่างไรบ้าง แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้อาร์กติกละลายได้บ้าง พอคนรู้ว่าถ้าอาร์กติกละลายจะส่งผลกระทบแบบนี้นะ คนก็จะเริ่มตระหนักมากขึ้น รู้ว่าก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อนส่งผลต่ออาร์กติกอย่างไร เริ่มระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น

TCIJ: ไม่สนใจประเด็นการเมือง?

ธนบูรณ์: เราพยายามสื่อสารในแง่ Positive Way เรารู้สึกว่าในโลกปัจจุบัน สื่อไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือหนังสือพิมพ์ก็พูดเรื่องพวกนี้หนักอยู่แล้ว เห็นสถานการณ์แล้วก็เป็นไปในทาง Negative แต่เราอยากมีเนื้อหาที่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจคนในการลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ มากกว่าการพูดให้คนมาตบตีกัน (หัวเราะ) เราจึงพยายามเลี่ยงการเมืองเพราะรู้สึกว่ามันเป็นประเด็นละเอียดอ่อน และไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครถูก ใครผิด ซึ่งจริงๆ อาจจะผิดทั้งคู่ แต่ไม่รู้จะพูดยังไงให้มันถูก

TCIJ: อินโฟกราฟฟิกเกิดขึ้นบนโลกนานแค่ไหนแล้ว

ธนบูรณ์: มันเกิดขึ้นมาในยุควิกตอเรียนที่คนพยายามใช้อินโฟกราฟฟิกในการสื่อ จริงๆ มันคือการใช้ภาพในการอธิบายข้อมูล ภาพเขียนถ้ำหรืออักษรภาพในอิยิปต์ก็กึ่งๆ อินโฟฯ อย่างหนึ่งนะ เป็นการใช้ภาพเล่าเรื่อง ส่วนในไทย ผมว่าตอนที่มากระตุ้นแรกๆ น่าจะเป็นช่วงน้ำท่วมปี 2554 คำว่า อินโฟกราฟฟิกคุ้นหูคนไทยมากขึ้นก็ตอนมีคลิปปลาวาฬของกลุ่มรู้ สู้ ฟลัด ทำคลิปออกมาเล่าให้คนฟัง ทำให้คนเข้าใจมากขึ้น สักพักก็มีการเริ่มทำอินโฟกราฟฟิกวิธีหนีออกจากบ้าน วิธีป้องกันน้ำท่วม วิธีนั่น วิธีนี่ออกมา

TCIJ: ถ้าพูดอย่างรวบรัดแล้ว อินโฟกราฟฟิกก็คือการอธิบายข้อมูลผ่านรูปภาพ

ธนบูรณ์: ใช่ อธิบายข้อมูลผ่านรูปภาพในเชิงปริมาณ ในเชิงคุณภาพ ในเชิงขนาด คือเห็นแล้วรู้ว่าขนาดเท่านี้ ปริมาณเท่านี้ ถ้าเป็นในเชิงคุณภาพอาจจะเล่าด้วยสีว่า พื้นที่สองพื้นที่นี้พื้นที่ไหนมีป่าเยอะเป็นสีเขียว ป่าน้อยเป็นสีแดง

TCIJ: อินโฟกราฟฟิก มูฟ เหมือนเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องจากครีเอทีฟ มูฟ

ธนบูรณ์: คือเว็บครีเอทีฟ มูฟของเราจะผลิตเนื้อหาประมาณ 600 ชิ้นต่อปี มีเป้าหมายในการทำให้คนเห็นว่า คนทั่วโลกใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนสังคมได้อย่างบ้าง มีสถาปนิกที่ออกแบบอะไรออกมาเพื่อสังคม พูดถึงเรื่องนวัตกรรมทางสังคม ผู้ประกอบการทางสังคม หรือคนทำธุรกิจที่มุ่งเน้นช่วยให้สังคมดีขึ้นอย่างไรบ้าง สร้างแรงบันดาลใจให้เห็นว่า ในฐานะครีเอทีฟคนหนึ่ง คุณจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างไรบ้าง ปัจจุบันมีเนื้อหาพันกว่าชิ้นที่ทำให้เห็นว่า คนเราสามารถเปลี่ยนสังคมได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์

อินโฟกราฟฟิก มูฟ เปิดขึ้นมาหลังจากเปิดครีเอทีฟ มูฟ ได้ปีหนึ่ง เมื่อทำให้คนเห็นว่าเขาเปลี่ยนอะไรได้บ้างแล้ว เราสร้างแรงบันดาลใจให้คนเห็นศักยภาพตนเองแล้ว เราก็ชี้เป้าให้คนเห็นว่าปัญหาอะไรที่รอการแก้ไข ปัจจุบัน เราทำอินโฟกราฟฟิกไป 70 ชิ้นใน 1 ปี ก็ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอ องค์กรภาคสังคมต่างๆ กรีนพีซ มูลนิธกระจกเงา โลกสีเขียว ช่วยให้คนเห็นว่าองค์กรเหล่านี้กำลังผลักดันเรื่องอะไร องค์กรเหล่านี้มีแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจอยู่แล้ว

บางทีปัญหาของเอ็นจีโอหลายๆ เจ้าคือเอะอะก็มีแฟ้มมา 1 เล่ม 200 หน้า บอกว่าฉันไม่เห็นด้วยกับปัญหาเรื่องนี้ แต่คนข้างนอกไม่รู้ว่าคุณไม่เห็นด้วยเรื่องอะไร เราก็เลยย่อยทุกอย่างออกมา กรีนพีซทำเรื่องอาร์กติก แต่คนไม่เข้าใจ จะทำยังไงให้คนเมืองรู้ว่าการละลายของอาร์กติกมันสำคัญ มันส่งผลกระทบต่อทุกคน

TCIJ: ผู้ประกอบการทางสังคมอย่างอินโฟกราฟฟิก มูฟ มีช่องทางรายได้าจากไหน

ธนบูรณ์: เราเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบแคมเปญด้านสังคม เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบซีเอสอาร์ เรามีความเชื่อว่า Creativity Art and Design can Change the World เราเรียกตัวเองว่าองค์กรนวัตกรรมสังคม มีหน้าที่ทำให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมจากความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ และศิลปะเกิดขึ้นในเมืองไทย ภาระกิจแรกคือการสร้างแรงบันดาลใจคนว่าคนทั่วโลกเขาทำอะไรบ้างจากความคิดสร้างสรรค์ สอง ทำให้คนเห็นว่าปัญหาอะไรที่รอการแก้ไข ถ้าคนเริ่มสนใจที่จะเข้ามา เราจะเริ่มมีการทำเวิร์คช็อป มีการสัมนาเพื่อให้การศึกษาแก่ผู้คน ถ้าเขาอยากทำให้อะไรมากขึ้นเราจะป้อนข้อมูลเข้าไป และสุดท้ายชวนเขาลุกขึ้นมาทำ

รายได้มาจากไหน รายได้คือเมื่อเขาลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมอันหนึ่ง แล้วเราไปดึงโจทย์สังคมเข้ามาและหาแหล่งเงินทุนมาให้ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนที่ทำซีเอสอาร์อยู่ แล้วเขารู้สึกว่าแทนที่จะสนับสนุนการปลูกป่าชายเลนด้วยเงิน 6 ล้าน เขาอยากจะสนับสนุนนวัตกรรมทางสังคมที่สร้างสรรค์และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ด้วยเงินแค่ 1 ล้านบาทหรือเปล่า หรือบางทีลูกค้าเราจะมีตั้งแต่บริษัทที่กำลังทำซีเอสอาร์อยู่ และต้องการซีเอสอาร์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ใช่ซีเอสอาร์ที่สร้างภาพ ลูกค้าเราอาจจะเป็นองค์กรภาครัฐที่ต้องการสื่อสารกับคนภายนอกด้วยภาษาหรือคำพูดที่เข้าใจง่ายมากขึ้น ด้วยอินโฟกราฟฟิก อนิเมชั่น บางทีเราก็ทำสารคดี หนังสือ ตัวเว็บไซต์ สื่อโซเชียล มิเดีย

TCIJ: ช่วยเล่ากระบวนการทำงานเพื่อผลิตอินโฟกราฟฟิกสักชิ้นหนึ่งว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

ธนบูรณ์: ส่วนใหญ่เราจะเลือกหัวข้อก่อนจาก 5 ข้อที่เราตั้งไว้ สมมติวันนี้เราอยากทำเรื่องปัญหาสังคมหรือเรื่องการศึกษา เราก็นั่งลิสต์ว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง อาจจะมีการค้นหา หลักๆ ก็คือค้นหาจากอินเตอร์เน็ต จากองค์กรที่เชื่อถือได้ เราจะไม่เอาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เขียนข้อมูลโดยไม่มีแหล่งที่มา เราจะเอาข้อมูลจากองค์กร เป็นต้นว่าทำเรื่องการศึกษา มีศูนย์วิจัยไหนทำข้อมูลไว้หรือไม่ หรือเรื่องเด็กหาย เราก็โทรเข้าไปคุยกับมูลนิธิกระจกเงาว่ามีข้อมูลหรือเปล่า พอเขาส่งข้อมูลให้ เราก็เริ่มนำมาย่อย

หรืออาจจะดูว่าตอนนี้สังคมสนใจเรื่องอะไรอยู่ เป็นต้นว่าเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ทางมูลนิธิสืบฯ เห็นว่ามันไม่มีประโยชน์ เราก็จะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราจะทำอินโฟกราฟฟิกชิ้นหนึ่งว่าเขื่อนแม่วงก์คุ้มหรือไม่ ติดต่อทางมูลนิธิสืบฯ ว่า ข้อมูลที่คุณมี มีอะไรบ้าง เราก็นั่งดู เขาบอกว่าถ้าทำเขื่อนแม่วงก์จะสูญเสียอะไรบ้าง แล้วสิ่งที่ได้จากเขื่อนแม่วงก์ ผลิตไฟฟ้าได้เท่าไหร่ คนที่ได้ผลประโยชน์จากไฟฟ้ามีสักเท่าไหร่ เราตั้งคำถามว่าเขื่อนแม่วงก์คุ้มมั้ย พอคนดูเสร็จ รู้สึกว่ามันไม่คุ้ม เราใช้ข้อเท็จจริงและบอกแหล่งที่มาข้อมูล เราจะไม่ใช่คนที่เต้าข่าว ตั้งข้อสังเกตเองเพื่อที่จะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

TCIJ: การแปลงข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือให้ออกมาเป็นภาพ เป็นตัวเลข ทำอย่างไร

ธนบูรณ์: การทำอินโฟกราฟฟิกจะต่างจากการทำภาพประกอบในนิตยสาร ที่คนเขียนบทความเสร็จแล้วก็ไปหาภาพอะไรที่เกี่ยวเนื่องมาหรือจ้างคนมาวาดภาพแปะขึ้นไป แต่อินโฟกราฟฟิกคือการทำให้ภาพที่มีอยู่สามารถเล่าเรื่องราวว่าข้อมูลที่เราเขียนเป็นตัวหนังสือให้มันเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ต้องทำให้คนเห็นหรือนึกภาพได้ มันคือการเล่าเรื่องด้วยภาพ

พอเรามีโจทย์แล้ว ก็จะมีคนที่รวบรวมข้อมูล มีคนที่ย่อยข้อมูล ส่งต่อให้ทีมดีไซเนอร์ ออกแบบเสร็จปุ๊บ เราจะมานั่งดูกันว่าแบบนี้โอเคมั้ย ควรจะเพิ่มอะไรบ้าง จะมีฝ่ายครีเอทีฟช่วยคิด

TCIJ: เวลามีงานวิจัยหนาๆ เล่มหนึ่งอยู่ตรงหน้า ต้องอ่านทั้งเล่มหรือเปล่า แล้วเวลาต้องเลือกเก็บหรือทิ้งข้อมูลตัดสินใจจากอะไร

ธนบูรณ์: สแกนมากกว่า แล้วก็ดูว่าข้อมูลชุดไหนน่าสนใจ แต่บางทีข้อมูลก็อาจจะไม่ละเอียดทุกชิ้น ย่อยข้อมูลเสร็จแล้วเราต้องมานั่งดูว่า จะใช้ภาพสื่อสารอย่างไรให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น อย่างเรื่องกินเค็ม อันตรายของความเค็มคืออะไร เราก็ใช้รูปหยดเกลือในการสื่อ ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องสุขภาพ เราจะบอกว่าคุณจะเจออะไรถ้าคุณเป็นโรคนี้ โรคนี้เกิดจากอะไร จะระวังมันได้อย่างไรบ้าง ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะบอกว่าคุณกำลังเจออะไรอยู่

ผมยกตัวอย่าง ข้อมูลชิ้นหนึ่งเราได้มาจากสามแหล่ง ประเด็นคือต้องการชี้ให้เห็นว่าปริมาณต้นไม้ในกรุงเทพฯ น้อยลงอย่างน่าใจหาย เล่นประเด็นเดียวเลยจากงานวิจัยนี้ ตัวเลขน่ากลัวมาก พื้นที่สีเขียวสำหรับคนกรุงเทพฯ ต่อคนเท่ากัน 3.3 เกือบจะรั้งท้ายเลย เราเอาตรงนี้มาเล่น น้อยแล้วยังไง ผลกระทบคืออะไร แล้ววิธีการที่จะทำให้มันดีขึ้นคืออะไร งานวิจัยนี้มันสองสามร้อยหน้า แต่เราไม่ได้เล่นข้อมูลทั้งหมด มันเป็นข้อมูลที่ควรจะถูกกระจายออกไปให้คนรู้ ให้รู้ว่ามันน้อย เราไม่ควรปล่อยให้ภาครัฐตัดต้นไม้อีก เราควรออกกฎหมายมาคุ้มครองหรือเปล่า

หรือทำยังไงจะให้คนบริจาคเลือดเยอะขึ้น เราก็เทียบให้เห็นว่าคนเรามีเลือดอยู่ในตัวตั้ง 16 แก้ว บริจาคทีสองสามแก้วถือว่าน้อยมาก แล้วบริจาคแล้วได้อะไร เราก็ทำให้เห็นคุณค่าของการบริจาค บางทีเราแค่เปลี่ยนวิธีพูดใหม่ เช่น การบอกว่าเรามีเลือดอยู่ในตัวห้าพันซีซี บริจาคแค่สองพันซีซี แบบนี้นึกไม่ออก มาบริจาคเลือดกันเถอะ ต้องทำให้คนเห็นว่าบริจาคเลือดแล้วมันจะดีอย่างไรบ้าง คนที่บริจาคก็ถือว่าได้ตรวจโรค ตรวจสุขภาพไปด้วย และได้ให้ชีวิตกับคนอื่นด้วยนะ เนื่องจากพื้นที่นำเสนออินโฟกราฟฟิกของเราจะเท่ากับกระดาษเอสี่ เราจะไม่เล่าข้อมูลยาก

สิ่งที่เราเห็นคือ ถ้าคนไม่รู้ว่าปัญหานั้นใกล้ตัว คนก็จะไม่สนใจ เพราะเราเชื่อว่าอินโฟกราฟฟิกสามารถเปลี่ยนโลกได้ ดังนั้น อินโฟกราฟฟิกทุกชิ้นที่ออกไปจากเราอย่างน้อยต้องสามารถให้ความรู้คน ทำให้คนรู้สึกว่าฉันอยากเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน พฤติกรรมการทิ้งขยะ หรือการใช้พลาสติก ฉันไม่รู้เรื่องเขื่อนเลย ฉันจะไปต้านหรือสนับสนุนดี อย่างน้อยทำให้คนมีตัวเลือกเกิดขึ้นว่า ถ้าต้องการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เขาควรจะทำแบบไหน หรือบางอย่างคนรู้อยู่แล้ว แต่เราทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่ามันเป็นเรื่องน่ากลัวนะ ต้องทำอะไรสักอย่าง เราต้องหาอะไรที่จะสะกิดคนขึ้นมาได้

แต่ต้องไม่ลืมว่า อินโฟกราฟฟิกที่ประสบความสำเร็จคือการสื่อสารที่ทำให้คนเข้าใจง่าย งานวิชาการดีมาก แต่ไม่มีคนอ่าน อินโฟกราฟฟิกสวยมาก แต่ไม่มีสาระ ก็สื่อสารไม่ได้ จบ มันจึงต้องไปด้วยกัน อินโฟกราฟฟิกคือรูปแบบการรวมกันระหว่างคีย์ วิชวลกับข้อมูลที่น่าสนใจและนำมาสื่อสาร

TCIJ: เหมือนการพาดหัวข่าว

ธนบูรณ์: ใช่ เหมือนพาดหัวข่าว แต่เราพาดด้วยข้อเท็จจริงๆ แล้วหาวิธีดึงมันขึ้นมา

TCIJ: พอเห็นอินโฟกราฟฟิกของอินโฟกราฟฟิก มูฟ จะรับรู้ได้ถึงสไตล์ที่บ่งบอกความเป็นอินโฟกราฟฟิก มูฟ เรื่องของสไตล์พัฒนามาอย่างไร

ธนบูรณ์: เราค่อยๆ พัฒนาสไตล์ของเราขึ้นมาในช่วง 1 ปี คนดูเริ่มรู้แล้วว่าเป็นสไลต์เรา ถ้าดูทั้งหมดจะเห็นลายเซ็นต์ของเราอยู่ ไม่ใช่แค่ตรงมุมล่างขวาเท่านั้นที่บอกว่าเป็นอินโฟกราฟฟิก มูฟนะ แต่ยังมีสิ่งที่...เรื่องของตัวสี ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนรุ่นคน เปลี่ยนทีมทำ มันก็ยังมีกลิ่นของเราอยู่ อาจจะเป็นเรื่องวิธีย่อยข้อมูล การวางโครงสร้างต่างๆ อินโฟกราฟฟิกแต่ละชิ้นจะมีประเด็นปัญหา ขยายปัญหา ลงรายละเอียดการแก้ปัญหา ความสำคัญของปัญหา ต้นเหตุ มีการสรุป

TCIJ: สรุปว่าการจะทำอินโฟกราฟฟิกให้ออกมาดีจะต้อง...

ธนบูรณ์: เรื่องของการย่อยข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ งานอินโฟกราฟฟิกทุกชิ้นที่ออกจากห้องทีมของเราไป เป้าหมายของเราคือสร้างการเปลี่ยนแปลง เราจะถามว่าอินโฟกราฟฟิกชิ้นนั้นๆ ได้ให้อะไรกับคนดูหรือเปล่า เรากำลังจะบอกอะไรเขา และได้ให้ทางเลือกคนดูหรือเปล่าว่า ถ้าเขาเห็นปัญหาแล้วอยากจะทำอะไรกับมัน

หลักการออกแบบมีประมาณ 10 ขั้น เช่น เตรียมข้อมูล อ่านข้อมูลทั้งหมดเพื่อย่อย หาวิธีเล่าเรื่อง แล้วก็ระบุปัญหาและความต้องการว่าเราอยากจะเล่าอะไรเป็นคีย์ของเรื่อง แล้วก็จัดอันดับโครงสร้างข้อมูลว่าจะเล่ายังไง เช่น เริ่มจากปัญหา ผลกระทบ วิธีแก้ สรุป ซึ่งก็มักจะมีสรุปบรรทัดสุดท้ายหรือบางทีก็สรุปเป็นรูปภาพว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง การเลือกรูปแบบอินโฟกราฟฟิกที่จะนำเสนอว่าจะนำเสนอแบบไหนบ้าง อธิบายเล่าเรื่องแบบไทม์ไลน์หรือจะเป็นรูปชาร์ต นำเสนอภาพให้ตรงกับหัวข้อ ภาพควรจะเล่าเรื่องไปด้วย ไม่ใช่เป็นแค่ภาพประกอบ และใช้ภาพที่เข้าใจง่าย

มีการตรวจสอบข้อมูลว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ บางทีเราจะให้คนในทีมที่ไม่ได้ทำอินโฟกราฟฟิกชิ้นนั้นเป็นคนดูข้อมูล เพราะบางทีเรานั่งจมอยู่กับข้อมูล 1 อาทิตย์ เราอาจจะมองข้ามตัวที่สะกดผิดไป หรือบางคำที่เราอยู่กับมันอาจจะรู้สึกว่าเราเข้าใจ แต่คนอื่นอ่านไม่เข้าใจ จึงต้องให้คนอื่นมานั่งดูด้วย และสุดท้ายคือการแชร์ในอินเตอร์เน็ต เราจะมีเครือข่ายของเราอยู่ในเฟซบุ๊คประมาณ 5 แสนราย แล้วก็มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ประมาณ 1 แสนราย หลังจากนั้น เราจะมานั่งดูฟีดแบ็คและนำผลมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการทำอินโฟกราฟฟิกครั้งต่อไป บางคนก็บอกว่าข้อมูลกำกวม ไม่ชัด หรือข้อมูลผิดก็มี จาก 70 ชิ้น มีสัก 3 ชิ้นที่ปล่อยออกไปแล้วประมาณ 5 นาทีมีคนบอกว่าข้อมูลผิด เราต้องลบออก แล้วนำไปแก้ แล้วปล่อยใหม่

ข้อมูลจึงต้องเป๊ะมาก ปัจจุบันถ้าผิดนิดเดียวคนก็ด่าก่อนเลย (หัวเราะ) เราก็ต้องระวังตัวเอง เมื่อเราทำตรงนี้แล้ว เราก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง กฎข้อแรกเลยคือข้อมูลต้องมาจากแหล่งที่พิสูจน์ได้และแหล่งข้อมูลนี้ต้องอยู่ที่มุมล่างซ้ายของอินโฟกราฟฟิกในแต่ละชิ้น เพื่อนำไปตรวจสอบได้ ถ้ามีคนแย้งว่าข้อมูลนี้ไม่จริง เราก็จะกลับไปตรวจสอบ เราจึงไม่เอาข้อมูลจากหนังสือหรือนิตยสารที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง

TCIJ: อินโฟกราฟฟิกแต่ละชิ้นใช้เวลานานแค่ไหน

ธนบูรณ์: ประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าข้อมูลครบอยู่แล้ว

TCIJ: คุณเชื่อว่างานสร้างสรรค์สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ตั้งแต่ทำอินโฟกราฟฟิก มูฟ มีงานชิ้นไหนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้าง

ธนบูรณ์: เราดูการเปลี่ยนแปลงจากคอมเม็นต์ที่เกิดขึ้นจากอินโฟกราฟฟิก อย่างบางชิ้น เช่น ตอนน้ำมันรั่ว เราก็ไม่ไปจิ้มว่าใครถูก ใครผิด เพราะไม่รู้ แต่สิ่งที่รู้คือมีคนอยากลงไปช่วยเยอะ เราก็ทำออกมาใช้เวลา 2 ชั่วโมงให้คนรู้ว่าต้องระวังอะไร

TCIJ: ชิ้นไหนที่มีคนแชร์มากที่สุด

ธนบูรณ์: เรื่องเขื่อนนี่ก็มีคนแชร์ไปเยอะเหมือนกัน มีคนขอไปทำกราฟฟิกแจกเยอะ อาจเป็นเพราะอยู่ในกระแสพอดี อย่างเรื่องสถานการณ์การศึกษาที่เราพยายามชี้ให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทยและกระตุ้นจิตสำนึก พร้อมกับทิ้งสารไว้ว่า สถิติตัวนี้เราควรจะทำอะไรหรือเปล่า มีการคอมเม้นต์ในเฟซบุ๊คว่าตอนนี้ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาแล้วล่ะ ควรจะทำอะไรสักอย่าง อย่างน้อยเสียงตรงนี้มันกระตุ้นคนว่า ที่ไอคิวเด็กไทยแย่ๆ เนื่องจากปัญหาพวกนี้

TCIJ: มีข้อสังเกตเกี่ยวกับอินโฟกราฟฟิกสองประเด็น หนึ่ง-การทำอินโฟกราฟฟิกต้องเลือกข้อมูลที่จะนำเสนอ และต้องตัดอะไรบางอย่างทิ้ง ซึ่งสิ่งที่ตัดไปอาจเป็นข้อเท็จจริงประกอบที่จำเป็นต่อเรื่องนั้นๆ พอเสนอออกไปอาจทำให้ผู้รับสารได้รับเฉพาะแง่มุมนั้นๆ แต่ส่วนประกอบหรือบริบทที่เกี่ยวข้องหายไป คุณเคยนึกถึงช่องโหว่ตรงนี้หรือเปล่า

ธนบูรณ์: ประเด็นที่มีผลตรงๆ ไม่มี ไม่เชิงว่าจะเรานำเสนอแง่มุมเดียว แต่เราจะนำเสนอข้อมูลที่ไม่ซับซ้อนมาก ต้นไม้น้อย น้อยเพราะอะไร มีผลอะไร คือมันเป็นเรื่องคอมมอนเซ้นส์ เราโฟกัสด้วยว่าจะทำในขนาดพื้นที่กระดาษเอสี่อย่างเดียว พื้นที่ไม่เยอะ ตัวหนังสือจะเล็กมากไม่ได้ เพราะมันต้องแสดงในเฟซบุ๊ค ในมือถือ ถ้าเล็กไปคนก็อ่านไม่ออก เมื่อมีพื้นที่จำกัด เราก็ต้องทำยังไงที่จะให้ข้อมูลที่สำคัญที่สุดได้ ขณะเดียวกันผมจะย้ำเสมอว่า กฎข้อที่ 1 ข้อมูลต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ จะไม่เอาจากหนังสือพิมพ์

TCIJ: ข้อสังเกตข้อที่ 2 อินโฟกราฟฟิกช่วยกระตุ้นให้คนเห็นและสนใจปัญหา แต่ปัญหาหลายๆ อย่างที่อยู่ในสังคมมีความเป็นมาที่สลับซับซ้อนมาก ในด้านหนึ่ง อินโฟกราฟฟิกอาจกำลังลดทอนความซับซ้อนของปัญหาให้คนเห็นเฉพาะที่อยากให้เห็น คุณคิดอย่างไรกับข้อสังเกตนี้

ธนบูรณ์: ผมคิดว่าเราเป็นแค่ผู้ชี้นำให้คนเห็นว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรอยู่ ถามว่าก่อนหน้านั้น ถ้าเอางานวิชาการสองร้อยหน้าที่บอกว่าต้นไม้ประเทศไทยหายไปไหน นโยบายมีอะไรบ้าง กับเอาอินโฟกราฟฟิกที่บอกว่าตอนนี้ประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องต้นไม้ ผมว่าคนในโซเชียล มิเดีย หรือเฟสบุ๊คที่มีคนไทยใช้อยู่สิบยี่สิบล้านคนจะไม่มีใครอ่านงานวิจัย คนจะอ่านอินโฟกราฟฟิก อย่างน้อยผมเป็นคนให้แรงบันดาลใจ เป็นตัวล่อเป้าให้คนเห็นว่า คุณกำลังเจอปัญหาอะไร ใครที่อยากรู้จริง คุณไปหาข้อมูลเพิ่มสิ ผมเป็นแค่คนชี้ประเด็นมากกว่า เราไม่ใช่นักวิชาการ เราอยากให้คนเห็นประเด็นมากกว่าที่จะลงลึก

TCIJ: การที่อินโฟกราฟฟิกกำลังบูม คุณคิดว่ามันเป็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่างหรือเปล่า

ธนบูรณ์: คือคนต้องการอะไรที่มันเร็วขึ้น ตัวหนังสือเยอะๆ ไม่อ่านแล้ว จึงต้องมีรูปประกอบ รูปประกอบไม่พอแล้ว คนอยากอ่านที่เห็นรูป โซเชียล มิเดีย ทำให้คนสมาธิสั้นลงที่จะดูอะไรนานๆ ถ้ารูปสวย ประเด็นน่าสนใจ ก็จะบอกต่อ

TCIJ: ที่สุดแล้วคุณคิดว่าอินโฟกราฟฟิกมีข้อเสียหรือไม่

ธนบูรณ์: ข้อเสียของมันคือถ้ามันถูกนำไปใช้กับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือทำเพื่อต้องการเบี่ยงประเด็น มันก็จะสามารถทำให้คนดูได้ข้อมูลที่ผิดได้ มีช่วงหนึ่งเหมือนกันที่ภาคการเมืองใช้อินโฟกราฟฟิกในการเบี่ยงประเด็น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: