จี้รัฐยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่หลังพบสารพิษตกค้างอื้อ

19 มิ.ย. 2557


เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ที่เมืองทองธานี ได้มีการจัดงานสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 6 โดยช่วงหนึ่งของงานได้มีการเปิดตัวหนังสือและหนังสือภาพชุด เล่าเรื่องเหมืองแร่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งจัดพิมพ์เพื่อส่งเสริมความรู้และอภินันทนาการแก่องค์กรต่างๆ จำนวน 3,000 เล่ม โดย น.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ นักเขียนอิสระและภาพโดยเริงฤทธิ์ คงเมือง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานสมัชชาสุขภาพ (สช.) พร้อมกันนั้นได้มีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนการผลักดันนโยบายสาธารณะของการให้สัมปทานเหมืองแร่ทั่วประเทศที่เข้าใจบริบทชมุชน

 

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช.กล่าวว่า หนังสือชุดดังกล่าวได้รับการเขียนคำนิยม โดยนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งระบุถึงความสำคัญของการกระจายความเป็นธรรมสู่สังคม หนังสือชุดเล่าเรื่องเหมืองแร่เป็นงานเขียนที่สะท้อนปัญหาสังคมในแง่ของการใช้ทุนที่ไม่ยุติธรรมต่อท้องถิ่น เฉพาะกรณีเหมืองแร่ได้ชัดเจนและเชื่อว่าสามารถสร้างปัญญาได้ โดยส่วนตัวมองว่าปัญหาเหมืองแร่ทั่วประเทศนั้น เป็นทุนที่อยู่ประเทศไทยมานาน อย่างไรก็ตามสถานการณ์เหมืองแร่ในประเทศไทยนั้น นับเป็นประเด็นที่ล่อแหลมและยากต่อการจัดการปัญหา แต่ในมุมมองสุขภาพ เหมืองแร่คือ จุดเริ่มต้นที่สร้างสารพิษมหาศาลแก่คนในชุมชนหลายพื้นที่ ซึ่งหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สังคมรับรู้ชุมชนใดมีมูลค่าทางการสัมปทาน ชาวบ้านตรงนั้นก็ต้องรับชะตากรรมทางสุขภาพอย่างไม่จบสิ้น

 

น.ส.บำเพ็ญ กล่าวว่า หนังสือชุดนี้มี 2 เล่มเป็น เล่มหนึ่ง คือ เรื่องเมฆปริศนา เป็นการอธิบายประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยใน 11 พื้นที่ ที่มีการดำเนินธุรกิจทั้ง แร่ดีบุก โพแตส ทองคำ สังกะสี ตะกั่วฯลฯ หลายเรื่องสะท้อนปัญหาความเจ็บปวดของชุมชน และการต่อสู้ที่ไม่เคยได้รับชัยชนะ ชีวิตที่ดำเนินไปบนรอบทุกข์ บางเรื่องใชเวลาในการศึกษาและเดินทางไปหลายครั้ง เช่น กรณีแม่ตาว จ.ตาก อยากไปเยี่ยมไปเจอชาวบ้านป่วยเพราะสารพิษ และต้องมาเสียดอยผาแดงแหล่งต้นน้ำธรรมชาติไปโดยไม่อาจกู้คืน เป็นความทรงจำที่โหดร้าย ความเจ็บช้ำและทรมาน ณ จุดนี้ คือสิ่งที่สังคมต้องรับรู้ และผู้ที่ดูแลนโยบายประเทศต้องเข้าใจว่า การทำประโยชน์เพื่อคนกลุ่มหนึ่งเพื่อธุรกิจอย่างหนึ่ง ยังมีชุมชนที่บอบช้ำมามาก หรืออย่างกรณีเหมืองคลิตี้ จ.กาญจนบุรี เป็นกรณีที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก คนที่มีอาชีพเกษตรกรรม กลับต้องมาหมดสภาพลง ทั้งที่ๆ เคยแข็งแรงเคยทำงานหนักได้ก็กลายว่าเป็นคนป่วย เด็กมีสารตะกั่วทั่วร่างกาย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นปี

“ในการเขียนเราพยายามหลีกเลี่ยงการปรักปรำ การใส่ร้าย และการกล่าวย้ำความทุกข์ แต่มุ่งร้อยเรียงเรื่องการตั้งคำถามกับสังคม ที่เป็นปริศนามานานว่าทำไม ชุมชนหลายพื้นที่ต้องเจอกับสภาพอย่างนั้น ใครกันคุมเกมเหมืองแร่” บำเพญ กล่าว

 

ด้านน.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากจะกล่าวถึงสถานการณ์เหมืองแร่ในประเทศไทย ตอนนี้จ.เลย คือพื้นที่ที่สามารถอธิบายได้ว่า ความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นอย่างไร โดยเหตุการณ์ล่าสุดที่สะเทือนสังคมและผู้เขียนพร้อมผู้ถ่ายภาพได้ถ่ายทอดเอาไว้ คือการปิดกั้นประชาชนในพื้นที่เข้าฟังความคิดเห็นกรณีการขอสัมปทานภูเขาทำเหมืองทองคำ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มนักศึกษาร่วมต่อสู้ ดังนั้นภาพและเรื่องในหนังสือ จุดมุ่งหมายหลักไม่ใช่แค่ส่งเสริมความรู้ในวงนักอ่าน หรือสะท้อนปัญหาสังคม แต่อยากผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ ที่เห็นใจประชาชนมากขึ้น เพราะค่าภาคหลวงต่อการทำเหมืองในประเทศไทยนั้น จริงๆแล้วไม่มีการจัดระบบเศรษฐศาสตร์ที่ดี ไม่มีการประเมินเลยว่า คุ้ทุนหรือไม่ ปัจจุบันแม้รัฐบาจะอ้างว่าได้ค่าภาคหลวงจากการสัมปทาน แต่รัฐบาลต้องมาแบกรับค่ารักษาสุขภาพให้ประชาชนที่ป่วยด้วยสารพิษ ทั้งที่คลิตี้ เลย ตากฯลฯ ทุกอย่างไม่ใช่ทางออกของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ข้อเสนอคือกรณีเหมืองแร่ควรมีการรื้อนโยบายใหม่เพื่อให้สิทธิชุมชนตัดสินใจมากขึ้น

 

ขณะที่นายเริงฤทธิ์ กล่าวว่า ตัวอย่างการลงพื้นที่ จ.ตากและ จ.เลย คือชุมชนที่พบว่ามีปัญหาถูกคุกคามมากที่สุด เพราะอิทธิพลของทุนสร้างข้อจำกัดมากมายในการเก็บข้อมูลและบันทึกภาพ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความเจ็บปวดและการอยู่อย่างหวาดระแวงของชาวบ้านเป็นอย่างไร เราเป็นคนนอกอาจจะเจอแค่การคุกคาม เจอรถขับสะกดรอย บ้างเจอขู่ แต่คนในชุมชนเจอทั้งสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เจอทั้งอาหารในธรรมชาติสูญหาย เจอทั้งภูเขาทั้งลูกพังทลายลง เจอทั้งปืนขู่ ทุกอย่างคือความเจ็บปวดที่จำเป็นต้องตีแผ่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: