งานวิจัยเผยครูไทยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประเมินผลงาน

18 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2690 ครั้ง

ผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู ระบุ ครูใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะวันธรรมดาถึง 84 วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ส่วนใหญ่หมดไปกับการประเมินจากหน่วยงานต้นสังกัด และการเข้ารับอบรม

เมื่อเร็วๆนี้สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดงาน “คลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี  เสียงสะท้อนจากครูที่นักปฏิรูปต้องฟัง”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท นักวิชาการด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. เปิดเผยผลสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู โดยสำรวจครูผู้ได้รับรางวัลครูสอนดีจาก สสค. ซึ่งมีอายุเฉลี่ยและวิทยฐานะสูงกว่าครูทั่วไป กระจายตัวครอบคลุมโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 427 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 กันยายน -15 ตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า ใน 1 ปี มีจำนวนวันเปิดเรียนทั้งหมด 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะวันธรรมดาถึง 84 วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 42

ผลสำรวจพบว่า กิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ

อันดับ 1 คือ การประเมินของหน่วยงานภายนอกเฉลี่ยรวม 43 วัน ทั้งการประเมินโรงเรียน ประเมินครู และประเมินนักเรียน โดยครูใช้เวลาไปกับการประเมินของหน่วยงานต้นสังกัดในโครงการต่างๆ 18 วัน การประเมินของสถาบันทดสอบ 16 วัน   และการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) 9 วัน

อันดับ 2 คือ การแข่งขันทางวิชาการ 29 วัน

อันดับ 3 คือ การอบรมจากหน่วยงานภายนอก 10 วัน

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอเสียงสะท้อนของครูว่า จากผลสำรวจครูในประเทศของเรายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระดับที่ดี คือ ใช้เวลากับการสอนในชั้นเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่ครูกำลังถูกกดดันและเริ่มไม่มีความสุขเพราะภาระงานนอกห้องเรียนที่ดึงเวลาครูออกไปถึงร้อยละ 42 ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องให้ความสนใจว่าเหตุใดคุณภาพการศึกษาถึงไม่ดีขึ้น

จากงานวิจัยขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ในปี 2555 ศึกษาเวลาของครูที่ใช้ในห้องเรียนของ 5 ประเทศได้แก่ เอธิโอเปีย สาธารณรัฐกัวเตมาลา ฮอนดูรัส โมซัมบิก และเนปาล พบว่า เมื่อครูถูกดึงออกนอกห้องเรียนที่ไม่เกี่ยวกับการสอนไปร้อยละ 20-30 จะมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก โดยมีผลกระทบต่อโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก สมาธิของเด็กต่อเนื้อหาและผลคะแนนของเด็กลดลงอย่างเห็นได้ชัด

     “กิจกรรมการประเมินภายนอกทั้งครู โรงเรียนและนักเรียนกว่า 20 โครงการที่ครูต้องใช้เวลาถึง 43 วันต่อปี และยังมีเสียงสะท้อนจากครูว่ามีการเรียกรับสินบนจากการประเมิน นอกจากนี้ยังมีภาระการทำเอกสาร การอบรม และงานสัมมนา ทำให้งานสอนมีแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น รัฐบาล กระทรวงศึกษา และเขตพื้นที่จึงไม่ควรสร้างภาระงานที่กระทบต่อการสอน ต้องทบทวนว่ากิจกรรมเหล่านี้เกิดประโยชน์ไปถึงตัวเด็กหรือไม่ ผลการประเมินเหล่านี้ถูกนำกลับไปใช้พัฒนาการสอนของครูให้ดีขึ้นหรือไม่” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว   

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: