เปิดใจ‘วันชัย-สฤณี’กรณีถูกพาดพิง ใน‘เอกสารหลุด’ธุรกิจใหญ่จ่ายเงินสื่อ

18 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1583 ครั้ง

ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่สื่อหลายสำนักนำมาเป็นข่าว และในสื่อสังคมออนไลน์ก็มีการแชร์ การโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้องค์กรธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่งออกแถลงการณ์ชี้แจงและองค์กรวิชาชีพสื่อประกาศจะสอบสวนเรื่องนี้ รวมไปถึงปฏิกิริยาเกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ในเอกสารภายในจำนวนมากของบริษัทแห่งนั้น มีรายชื่อบุคคลที่เขียนบทความและทวีตข้อความแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาหมอกควันในภาคเหนือโดยพาดพิงชื่อบริษัท ทำให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทแห่งนั้นขอเข้าพบ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และคุณสฤณี อาชวานันทกุล  นักวิชาการอิสระ กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

นอกจากนี้เอกสารภายในยังมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสื่อแต่ละสำนัก และนักข่าวเป็นรายบุคคลครบทุกสำนัก  ซึ่ง TCIJ นำมาประกอบเป็นหลักฐานไว้เพียง 2 ภาพ คือ กรุงเทพธุรกิจ และ ASTV ผู้จัดการ โดยในเอกสารดังกล่าว ปรากฏชื่อนักข่าว 3 ท่านอยู่ด้วย อันเนื่องจากการ copy & paste จากต้นฉบับจริง

ซึ่งการพิจารณาว่า รายชื่อใดควรปิดด้วยแถบสีดำหรือรายชื่อใดควรเปิดเผย TCIJ ยึดหลัก “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” ดังนั้นชื่อบุคคลที่เปิดเผยไว้ในเอกสารประกอบ จึงมาจากหลักคิดที่ว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ผู้เสียหาย และถือเป็นพยานบุคคลได้ว่า เอกสารหลุดเหล่านี้เป็น “ของจริง”

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกินคาดคิดคือ เมื่อข่าวนี้ถูกแพร่กระจายและถูกอ่านแต่เพียงพาดหัวข่าว หรืออ่านผ่านๆ  แล้วถูกนำไปโพสต์แสดงความคิดเห็นทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนสับสน ทำให้ผู้ที่มีรายชื่อที่ถูกเปิดเผยได้รับผลกระทบในทางลบ ถูกเพื่อนร่วมงานและองค์กรต้นสังกัดเข้าใจผิด TCIJ จึงขอสัมภาษณ์ผู้ถูกพาดพิง 2 ท่านคือ คุณวันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์ และคุณสฤณี อาชวานันทกุล เพื่อให้ความเห็นถึงกรณีที่เกิดขึ้น รวมทั้งต้นตอของปัญหาอันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรธุรกิจกับสื่อ

ในส่วนของสื่อมวลชน 3 ท่าน คือ คุณวรนุช เจียมรจนานนท์ คุณชนิตา ภมรทัต และคุณพรเทพ เฮ็ง  เนื่องจากทั้งสามท่านไม่สะดวกรับนัดสัมภาษณ์ นอกจากการสนทนาทางโทรศัพท์ TCIJ จึงขอยืนยันว่าสื่อมวลชนทั้งสามท่าน ไม่ใช่บุคคลที่มีรายชื่อเป็นผู้รับเงินสนับสนุนจากธุรกิจแห่งนั้นแต่อย่างใด

สฤณี อาชวานันทกุล

ขอบคุณภาพ http://www.greenworld.or.th/sites/default/files/s2.jpg?1297943357

คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ให้สัมภาษณ์ TCIJ ดังนี้

TCIJ: หลังจากมีข่าวปรากฎขึ้นมา มีความเห็นของคนส่วนหนึ่งมองว่า วิธีการทำงานประชาสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นข่าวนี้ เป็นวิธีที่องค์กรธุรกิจทั่วไปก็ทำกันแบบนี้ มีความเห็นอย่างไร หรือวิธีการที่ถูกต้ององค์กรธุรกิจควรทำอย่างไร

สฤณี: ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องประชาสัมพันธ์ แต่พอจะมีความรู้เรื่อง CSR อยู่บ้าง ตอนนี้ในสังคมไทยต้องยอมรับว่า กำลังมีปัญหาทั้งสองวงการ ทั้งวงการธุรกิจและวงการสื่อ วงการสื่อเองก็มีปัญหาในเรื่องของจรรยาบรรณ หรือที่เรียกว่าเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพ ก็เกิดคำถามว่าสิ่งเหล่านี้มันมีมากน้อยแค่ไหน และแม้แต่สมาคมวิชาชีพของสื่อเองก็ถูกตั้งคำถามหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการเมือง ไปถึงเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างเช่น ที่เราเห็นข่าวที่ผ่านมา มีคนร้องเรียนเรื่อง

สื่อที่ขาดจรรยาบรรณ อย่างมากที่สุดคนที่เป็นข่าวหรือค่ายที่เขาเป็นข่าว เขาก็ลาออกจากการเป็นสมาชิก ทำให้ดูเหมือนกับว่าวงการสื่อเอง ไม่มีหรือสูญเสียการรวมตัวที่มีความหมาย จึงคิดว่าเป็นความตกต่ำเองของสื่อ

ขณะที่วงการธุรกิจ แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของเขาก็คือ อยากให้ภาพลักษณ์ของเขาดูดีในสายตาของใครก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นถามว่าเป็นเรื่องปกติไหมที่ทุกองค์กรจะติดตาม มอนิเตอร์เนื้อหาต่างๆ ที่ปรากฎ พูดถึงเขาอย่างไร คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกองค์กรก็ทำ ตอนนี้ซอฟแวร์ที่ใช้ในโซเชียลมีเดียมันก็ไปไกลพอสมควร เช่น มีซอฟแวร์ที่ประมวลว่า คนในโซเชียลมีเดีย พูดถึงบริษัทนี้มากน้อยแค่ไหน และมีการใช้คำเพื่อคัดกรองให้ได้ด้วยว่าพูดถึงในแง่ไหน พูดได้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน คิดว่าในแง่นั้นเป็นเรื่องปกติที่จะเรียกว่ามีการติดตาม เมื่อติดตามและพบว่าแล้วว่าภาพลักษณ์ของเขาติดลบ ทีนี้ก็อยู่ที่นโยบายของแต่ละบริษัทแล้วว่า จะมีการการจัดการอย่างไร แต่คิดว่าในมุมของฝั่งธุรกิจยังไงเขาก็ต้องจัดการ ไม่ว่าจะด้วยการชี้แจง ด้วยการพยายามทำความเข้าใจหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ที่เรียกว่าสิ่งที่ไม่ปกติหรือว่าข้ามเส้นอย่างมาก ก็คือการจ้าง นั่นเรียกว่าการแทรกแซงทางการทำงานของสื่ออย่างชัดเจน ตรงนี้เรียกว่า ไม่ปกติ แต่ต้องบอกว่าธุรกิจไหนที่ใช้วิธีนี้ แล้วปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่รู้ ถ้าจะบอกว่าไม่รู้ว่าทำแบบนี้แล้วมันไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนก็ต้องเปิดเผยในรายงานประจำปีแล้วว่า เขาให้เงินใครเท่าไหร่

            “การใช้เงินตอบแทนกันอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสื่อจะเขียนในแง่ดีของเขา และทุกอย่างที่เขาต้องการ อันนี้เป็นเรื่องที่คิดว่าทั้งจรรยาบรรณสื่อ และความไม่รับผิดชอบของธุรกิจเองด้วย” สฤณีกล่าวและว่า เมื่อพูดถึงซีเอสอาร์ สาระที่แท้จริงคือการดูแล ความกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นนัยยะที่ซ่อนอยู่ในนั้นก็คือ ถามว่าถ้าพูดถึงสังคมส่วนรวมธุรกิจมีความรับผิดชอบอะไร ธุรกิจก็ควรมีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงไม่อยากจะให้ธุรกิจไปติดสินบนภาครัฐ ยกตัวอย่าง เรามีการรณรงค์เยอะมาก ในหลายปีที่ผ่านมาว่า ธุรกิจควรจะแยกตัวออกมาจากการคอร์รัปชั่น ไม่ไปเป็นส่วนหนึ่งของคอร์รัปชั่น อันนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ กัน การที่ธุรกิจใช้เงินซื้อสื่อ ในบางกรณีไปไกลกว่าการซื้อพื้นที่ด้วยซ้ำ แต่เป็นการให้ค่าตอบแทนนักข่าวเลย เสมือนหนึ่งเป็นพนักงาน ตรงนี้ก็ถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่สื่อ ก็คล้าย ๆ กับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับสินบนก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้

มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่พอ ๆ กับเรื่องคอร์รัปชั่นเลย ไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องที่ธุรกิจควรจะยอมรับหรือสื่อควรจะยอมรับ แต่ถ้าถามว่าใครที่เราจะต้องโทษมากกว่ากัน ก็จะเป็นสื่อเองนั่นแหละ เพราะว่า สื่อควรจะเป็นคนที่ตอบสังคม และตอบทุกคนได้ว่าหน้าที่อยู่ตรงไหน แล้วเส้นอยู่ตรงไหน และที่ผ่านมาก็ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เช่นหลายองค์กรก็เขียน Code of conduct (มาตรฐานทางจริยธรรม) เช่น ถ้ารับของขวัญต้องมีมูลค่าไม่เกินเท่านี้ ถ้าเกินเท่านี้ต้องคืน ทั้งหมดนี้ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า มีบริษัทที่ไปให้ค่าตอบแทน โดยเฉพาะให้เป็นงวดๆ อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นคำถามต่อตัวธุรกิจเอง แต่ที่ใหญ่กว่านั้นคือ เป็นคำถามต่อตัวสื่อเอง หมายถึงตัวบุคคลที่รับค่าตอบแทนนั้นมา และต้องตั้งคำถามต่อไปถึงค่ายที่สื่อคนนั้นสังกัดด้วยว่า ค่ายมีประสิทธิภาพในการ enforce (บังคับ) กฎเกณฑ์ของตัวเองมากน้อยแค่ไหน เพราะเชื่อว่าเรื่องแบบนี้ละเมิดหลัก แนวปฏิบัติขององค์กรสื่ออยู่แล้ว

TCIJ: บางกรณีธุรกิจก็ให้สินบนกับตัวนักข่าวที่ไปทำรายการวิทยุ-ทีวี ที่ไม่เกี่ยวกับค่าย และเมื่อถูกกล่าวหา ก็จะไม่ยอมรับ คิดว่านักข่าวต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้เท่าทันกับธุรกิจ

สฤณี: หลังจากที่ได้มีส่วนร่วมทำงานกับนักข่าว คิดว่าทำให้ตัวเองได้เข้าใจความท้าทายของนักข่าวมากขึ้น ถ้าถามคำถามนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จะบอกว่า นักข่าวทำแบบนี้ไม่ได้เลย คุณจะต้องดำรงตนบริสุทธิ์ เป็นอิสระอย่างชัดเจน แต่เมื่อมาคลุกคลีจึงเข้าใจว่ามีความท้าทาย เพราะสิ่งที่สำคัญของนักข่าวคือแหล่งข่าว การที่จะปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างเลย มันก็ตัดโอกาสในการที่จะเข้าถึงแหล่งข่าว หรือจะมีผลเสียต่อความสัมพันธ์ แต่เรียกว่าเส้นมันบางมากว่า ระหว่างการอะลุ่มอะล่วย เช่นเขาเชิญไปกินข้าว เขาพาไปดูงานหรืออะไรก็แล้วแต่ เราไปแล้วเรายังสามารถดำรงความเป็นอิสระ ในขณะที่ความสัมพันธ์ก็ไม่เสีย คิดว่าเป็นทักษะส่วนบุคคลหรือเปล่า พูดง่ายๆ นักข่าวที่เรียกว่า ดูเป็นคนที่แหล่งข่าวไว้ใจ เขาไม่ได้รังเกียจว่าเป็นศัตรู แต่ในขณะเดียวกันแหล่งข่าวก็เคารพในความเป็นอิสระ คิดว่าคงไม่ได้มีเยอะ และคงจะหายากขึ้น คิดว่าพยายามใจนักข่าวมากขึ้น คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาเส้นนี้ โจทย์คือทำอย่างไรที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวเอาไว้ ไม่ให้เขาเกลียดเรา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า เขาสั่งเราได้ เพราะถ้าข้ามเส้นไปถึงจุดที่เขาสั่งเราได้แล้ว ตัวแหล่งข่าวเองเขาก็จะหมดความน่าเชื่อถือเรา เราก็ต้องตั้งคำถามกับตัวนักข่าวว่า แล้วอย่างนี้คุณมีศักดิ์ศรีอะไรในวิชาชีพ เสมือนหนึ่งเป็นพนักงานของเขา ย้ายฝ่ายไปเป็นประชาสัมพันธ์ไปเลยไม่ดีกว่าหรือจะได้ง่ายๆ จะได้รับเงินตรงไปตรงมาเลย ซึ่งนักข่าวในวงการด้วยกันเองควรจะพูดว่า มันไม่ได้แล้ว ถ้าเลยตรงจุดนี้ไปมันไม่มีทางเป็นอิสระได้

TCIJ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์จำเป็นจะต้องมีข้อมูลส่วนตัวของนักข่าวละเอียดหรือลึกขนาดนั้นหรือไม่

สฤณี: เป้าหมายของการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ว่า ทำยังไงให้คนเสนอข่าวดีของเราตลอดเวลา นี่ไม่ใช่วิชาประชาสัมพันธ์แล้ว แต่ปัญหาที่ปรากฎคือว่า เกิดจากการที่พอตัววงการสื่อมวลชนเอง ในทางธุรกิจเริ่มลำบาก นักข่าวเองคุณภาพก็ลดลง การทำการบ้านก็ไม่แม่นเหมือนเมื่อก่อน ถ้ามองในมุมของบริษัทเอง ถ้าเขาคาดหวังเช่น เขาไปทำกิจกรรมอะไร และคาดหวังว่าจะให้นักข่าวเข้าใจและเขียนให้เขาอาจจะยากที่จะคาดหวัง เพราะอาจผิดประเด็น เขาก็เลยเขียนข่าวส่งให้เองดีกว่า แล้วใครจะเป็นคนเข้าใจและเขียนได้ดีเท่านักข่าว มันก็จึงเกิดเป็นแฟร์ชั่นย่อม ๆ ของการจ้างนักข่าวเข้ามาในองค์กร มาทำงานเป็นฝ่ายพีอาร์ ซึ่งตรงนี้ก็ตอบโจทย์เศรษฐกิจของนักข่าวเอง เพราะในภาวะที่สื่อก็มีปัญหา ก็เข้าใจ เข้าใจนักข่าวที่ข้ามฟาก ก็ยิ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจกับนักข่าวบางลงไปอีก เพราะตอนนี้พีอาร์คือใคร ก็คือเพื่อนนักข่าวด้วยกันเองนั่นแหละ ก็เพิ่มความเสี่ยงในการที่จะมีการข้ามเส้นมันเกิดขึ้น เรียกว่าอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าวงการสื่อเองมีหลักจริยธรรมที่ชัดเจน มีกฎเกณฑ์ในวงการที่มีความศักดิ์สิทธิ์ระดับหนึ่ง เรื่องแบบนี้ก็จะมีโอกาสเกิดน้อยลง เพราะธุรกิจเองก็ต้องระวังมากขึ้น แต่ในเมื่อนักข่าวเองก็สนอง หรือมีบางคนเป็นคนเสนอเองว่าทำไมไม่ทำแบบนี้ละ สะดวกกับทั้งสองฝ่าย ถ้าไปเสนอกับธุรกิจแบบนี้เขาก็เอาอยู่แล้ว ในมุมของความรับผิดชอบต่อสังคมก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้วที่ธุรกิจจะไปก้าวล่วงการทำหน้าที่สื่อ แต่ถามว่า จะโทษใครมากกว่ากันก็ต้องโทษสื่อ เพราะคุณไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง

TCIJ: แต่ปัจจุบันสื่อก็กลายเป็นธุรกิจไปแล้วเหมือนกัน

สฤณี: แต่ไหนแต่ไรมาสื่อก็ต้องอยู่รอด ต่อให้เป็นเอ็นจีโอก็ต้องมีวิธีหาเงิน แต่ไหนแต่ไรมาสื่อก็เป็นธุรกิจมานานแล้ว เพียงแต่ว่าการแข่งขันวันนี้มันรุนแรงกว่าเดิม และประสบปัญหาอื่น ๆ อีกเช่น อินเตอร์เน็ตแย่งคนอ่าน อะไรต่อมิอะไร ซึ่งประเด็นธุรกิจสื่อมีมานานแล้ว แต่ถามว่าสื่อปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของตัวเองได้ดีแค่ไหนต่างหาก เมื่อเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างเช่น ที่อเมริกา หรือทุกประเทศก็เจอปัยหาเหมือนกับเรา ไม่ใช่เราคนเดียวที่เจอ แต่ถามว่าทำไมสื่ออเมริกาที่เรานับถือว่าเขาเป็นมืออาชีพ เขายังรักษาความเป็นมืออาชีพของเขาได้ เมื่อปีที่แล้วมีดูงานที่อเมริกาก็พบกับหลายคนที่มีปัญหานี้ เขาก็บอกว่ามีปัญหาเรื่องธุรกิจ แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าจะทิ้งเรื่องจรรยาบรรณ หรือทำลายกำแพงระหว่างเซลกับนักข่าว ที่ไปคุยมาไม่มีใครตอบด้วยวิธีนั้นเลย เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะพิเศษกว่าที่อื่นไหน เราแย่กว่าคนอื่นตรงไหน แสดงว่าถ้าเราไม่ทำลายกำแพงระหว่างธุรกิจกับกองบรรณาธิการ เราจะอยู่ไม่ได้ เราจะตายกันหมดเลยใช่มั้ย นี่จึงไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นการเลี่ยงปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่แท้จริงคือว่า เรายังไม่ได้ศึกษาหรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่มันตามทันโลกมากกว่า ความเป็นมืออาชีพยังไงก็ต้องรักษา

TCIJ: คุณสฤณีเคยบอกว่าสื่อประเทศเราวิกฤตมานานแล้ว จะแก้ปัญหานี้อย่างไร หรืออาจจะเรียกว่าต้องปฏิรูปหรือเปล่า

สฤณี: ในส่วนของสื่อเอง สื่อต้องมองเห็นความสำคัญของการรักษามาตรฐานวิชาชีพ ของการรักษาจรรยาบรรณ และสื่อต้องมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าความตกต่ำของมาตรฐานกับความสูญเสียรายได้หรือปัญหาทางการเงิน ต้องบอกว่ามันเกี่ยวพันกัน ยิ่งสื่อไม่มองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งมีข้ออ้างแบบนี้ว่าเราต้องทำธุรกิจ ธุรกิจคุณจะยิ่งแย่ เพราะว่าคำถามที่ว่าถ้าคุณไม่รักษาจรรยาบรรณเอาไว้ ความแตกต่างระหว่างสื่อมืออาชีพกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สื่อมืออาชีพคืออะไร มันยิ่งไม่มี และอะไรที่สื่อเคยไปว่าคนอื่น ไปว่าคนในอินเตอร์เน็ต ในโซเชียลมีเดียว่าเต็มไปด้วยข่าวลือ ไม่กรองไม่อะไร แล้วคุณดีกว่าเขาแค่ไหน ฉะนั้นการยึดในวิชาชีพและมาตรฐาน จรรยาบรรณ เรียกว่ามันเป็น Value มันมี Business Value มันเป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าคุณรักษาตรงนี้ไว้แล้ว อาจจะต้องไปดูโมเดลของการทำธุรกิจว่า มีโมเดลอะไรบ้างที่จะสามารถที่จะรักษามาตรฐานวิชาชีพเอาไว้ได้ จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้รู้สึกว่า มันแก้ยาก คือสมมุติว่าสื่อทุกค่าย ก็ออก MOU มาฉบับหนึ่งว่านี่คือการทำงานของสื่อ นี่คือสิ่งที่เป็นข้อห้าม ที่เรียกว่าธุรกิจห้ามทำ แล้วก็ไปคุยกับบริษัทใหญ่ๆ ทุกรายเลยว่าให้เซ็น ไปคุยกับสมาคมโฆษณาฯ แต่ถ้าค่ายใดค่ายหนึ่งทำมันก็ไม่ได้ เพราะจะรู้สึกเสียเปรียบ ก็คุยกัน ทำไมเรื่องแบบนี้ไม่คุยกัน อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นแบบว่า มันจะแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าการออกแถลงการณ์ หรือการไปแก้ Code of conduct (มาตรฐานทางจริยธรรม) เพราะว่า Code of conduct ของสมาคมสื่อมันไม่เป็นจริง มันเป็นกระดาษ

คำถามคือว่าทำให้ Code of conduct  บังคับใช้ได้ ทำให้ฝั่งผู้ซื้อหรือฝั่งที่ต้องให้เงินคุณนั่นแหละมายอมรับตรงนี้ แล้วจุดขายที่จะไปบอกภาคธุรกิจให้ยอมรับตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า การเคารพในการทำหน้าที่ของสื่อก็คือส่วนสำคัญของ CSR ธุรกิจจะคาดหวังให้ในระยะยาวสังคมจะไว้ใช้ธุรกิจได้อย่างไร หากธุรกิจแทรกแซงสื่อไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกบริษัทก็ต้องอยากได้ภาพลักษณ์ที่ดี แต่ถ้าบอกว่าการอยากได้ภาพลักษณ์ที่ดีด้วยการแทรกแซงสื่อไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งความจริงมันก็ปรากฎ และก็รักษาไว้ไม่ได้อยู่ดี

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ขอบคุณภาพ http://men.mthai.com/work/wp-content/uploads/2011/01/wanchai_sarakadee3.jpg

ขณะที่ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ให้สัมภาษณ์ TCIJ ดังนี้

TCIJ: คนส่วนหนึ่งกำลังมองว่าสิ่งที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธุรกิจแห่งหนึ่งทำกับสื่อเป็นวิธีการขององค์กรธุรกิจทั่วไป

วันชัย: คงไปบอกไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจทั่วไปปฏิบัติกับสื่อ เพราะว่าเราก็ไม่รู้จักองค์กรธุรกิจอื่นๆ จึงไม่รู้ว่าเขาปฏิบัติอย่างไร แต่อยากจะบอกว่าธุรกิจดำรงอยู่ในสังคมได้ เพราะว่าประชาชน เพราะสังคม สื่อมีหน้าที่ในการสะท้อนธุรกิจในการกระทำต่อสังคม และกระทำต่อประชาชน สื่อก็ทำหน้าที่แค่สะท้อนว่าธุรกิจของคุณมีข้อดีหรือข้ออ่อนอะไรต่อสังคมบ้าง หรือมีปัญหาอะไรกับสังคมบ้าง ซึ่งในการทำงานของธุรกิจทั่วไป หรือธุรกิจสื่อเองก็ตาม ต้องยอมรับว่าไม่มีธุรกิจอะไรที่สมบูรณ์ ฉะนั้นการรับฟังสิ่งที่สื่อสะท้อน จริงหรือไม่จริง ประการแรกต้องฟังก่อน ต้องตั้งใจฟังก่อนว่าสิ่งที่สื่อสะท้อนคืออะไร ต้องยอมรับว่าทุกองค์กรมีจุดอ่อนทั้งนั้น ถ้าสิ่งที่สื่อสะท้อนหรือที่พาดพิงมาไม่จริง ธุรกิจเองก็มีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อให้ข้อเท็จจริงแล้ว สื่อนั้นจะต้องปฏิบัติตาม อันนั้นคือความเป็นมืออาชีพของสื่อ วิชาชีพของสื่อ ว่าเขาจะเสนอข่าวอย่างรอบด้านหรือไม่ หรือสื่อนั้นมีธงในใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ธุรกิจคงไม่สามารถไปล่วงเกิน ไปบอกสื่อว่า สื่อต้องเสนอข่าวอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าคนละหน้าที่กัน

ในทางตรงกันข้ามถ้าสื่อนั้น โจมตีธุรกิจคุณอย่างไม่โปร่งใสอย่างไม่มีเหตุผล ธุรกิจนั้นมีสิทธิจะฟ้องหมิ่นประมาทได้ คิดว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่อย่าก้าวล้ำพรมแดน ไปชี้บอกว่าสื่อต้องเสนอข่าวอย่างนี้ ไม่เสนอข่าวอย่างนี้ เพราะว่าไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรธุรกิจเลย

TCIJ: อย่างกรณีที่ธุรกิจบางแห่งเคยไปพบเพื่อชี้แจงกับคุณวันชัยด้วยใช่หรือไม่

วันชัย: คือโดยหน้าที่ของสื่อมวลชน ผมต้องเปิดรับความเห็นของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร พ่อค้า นักธุรกิจ เราเป็นสื่อเราต้องฟังรอบด้าน การฟังรอบด้านทำให้เราได้ข้อมูลที่ดีที่สุด อย่างวันหนึ่งผมเขียนข่าวเรื่องหมอกควันพิษ แล้วไปพาดพิงกับกลุ่มธุรกิจแห่งหนึ่ง เขาก็ติดต่อมาเพื่อขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเราก็ยินดี อันนี้เป็นมารยาทอยู่แล้ว เราทำงานสื่อก็ต้องให้โอกาสเขาชี้แจงว่าสิ่งที่เราเขียนคลาดเคลื่อนยังไง ซึ่งในวันนั้นจำได้ว่า เขาให้ข้อมูลของเขา เราก็เขียนตามข้อมูลจากที่เราได้มีโอกาสลงพื้นที่ เรามีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งข้อมูลของเขาอาจจะไม่รอบด้าน และแน่นอนในมุมที่เราเขียนอาจจะไม่ได้มองในมุมของเขา แต่สุดท้ายนั่นคือการให้ข้อมูลของอีกฝ่ายก็เท่านั้น

TCIJ: มองว่าธุรกิจพยายามตอบโต้ทุกประเด็นที่พาดพิงองค์กรมากเกินไปหรือไม่

วันชัย: คิดว่าองค์กรยิ่งใหญ่ ภาพลักษณ์จะต้องเป๊ะทุกเรื่อง ก็อาจจะกดดันให้ระดับล่างต้องไปใช้วิธีการคือตอบโต้ทุกอย่าง แต่โดยส่วนตัวคิดว่าไม่มีองค์กรไหนหรอกที่ไม่ถูกตรวจสอบ ตรวจสอบในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ดีนะ แต่การตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่า ภาพของเขาที่ทำ ในมุมของคนอื่นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นองค์กรที่ฉลาดเขาต้องเรียนรู้ว่าที่สื่อมองมันคืออะไร แต่ถ้าไม่คิดว่าสิ่งที่สื่อสะท้อนเป็นผลดีกับเขา เขาไม่ลงมือทำวิจัย ไม่ต้องไปจ้างอาจารย์มาทำอะไรก็ตามในการเก็บสถิติคือสิ่งที่สะท้อนขึ้นมา

            “ผมคิดว่าถ้าเป็นองค์กรที่ฉลาดเขาต้องรับฟัง และมองว่าจะไปปรับปรุงอย่างไร แน่นอนว่าบางเรื่อง สื่ออาจจะมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ผมเห็นด้วยว่า องค์กรเหล่านั้นมีหน้าที่ไปชี้แจง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ แต่อย่าไปก้าวล่วงกับมาตรฐานวิชาชีพของสื่อ ผมคิดว่ามันมีเส้นแบ่ง อย่าไปคิดว่าจะใช้ความสนิทสนมส่วนตัว หรืออะไรก็ตามเพื่อที่จะไปทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเอง ผมคิดว่าเป็นข้อผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะแต่ละวิชาชีพเขาก็มีมาตรฐานวิชาชีพของเขา ไม่เหมือนกัน อย่าเอาวิธีคิดของเราไปบอกสื่ออย่างนั้น ผมคิดว่านี่เป็นข้อผิดพลาดอย่างแรงเลยนะ”

            “เวลาที่บริษัทหรือองค์กรมีข่าวว่า มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือมีปัญหากับผู้บริโภค การแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ให้ทีมพีอาร์ขององค์กรออกมาปฏิเสธทุกเรื่อง สร้างความสนิทสนมกับนักข่าว จัดทริปตีกอล์ฟกับผู้บริหารข่าว หรือพยายามเอาใจนักข่าวสารพัด แต่การแก้ปัญหาคือรับฟังสิ่งที่เป็นข่าวอย่างเข้าใจ เอาข้อเท็จจริงมาชี้แจง และสุดท้ายคือการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น หากผิดพลาดจริงต้องกล้าเผชิญหน้ากับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่คิดแต่ว่าองค์กรใหญ่ ไม่เคยทำอะไรผิด ผู้บริหารไม่เคยผิด เพราะที่ผ่านมา องค์กรใหญ่ ๆ ล้วนประมาทและเชื่อมั่นตัวเองสูงเกินไป จนลืมไปว่า องค์กรยิ่งขยายธุรกิจออกไป ยิ่งมีโอกาสจะก่อให้เกิดความเสียหายกับสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ

            อีกด้านหนึ่ง นักข่าวก็ต้องใจกว้าง พร้อมฟังความเห็น ข้อมูลและข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ไม่ใช่มีธงในใจไว้ก่อนแล้วว่า งานนี้ใครเป็นพระเอก ใครเป็นผู้ร้าย” วันชัยกล่าว

TCIJ: แต่ปัจจุบันสื่อมีมากขึ้น และแข่งขันทางธุรกิจกันมาก บางครั้งสื่อก็เข้าหาขอความสนับสนุนจากธุรกิจ

วันชัย: ถามว่าสุดท้ายสื่อคืออะไรที่คนจะใช้ คนจะบริโภค มันมีคำสั้นๆคำเดียวคือ ความน่าเชื่อถือ เท่านั้นเอง ยิ่งคุณเข้าไปใกล้ภาคธุรกิจมาก ในแง่ของสปอนด์เซอร์ในแง่ของโฆษณาก็ตาม ซึ่งก็รับได้ว่าเป็นการอยู่รอดของธุรกิจ คิดว่าสื่อที่ยืนยาว ๆ ด้านหนึ่งต้องพึ่งพาโฆษณา แต่ด้านหนึ่งต้องพึ่งพาความน่าเชื่อถือของตัวเองด้วย คุณจะรักษาสมดุลย์ของสองสิ่งนี้ได้อย่างไร เชื่อว่าทำได้และหลายครั้งเราก็ต้องมีระยะกับองค์กรธุรกิจ หลายเรื่องอาจจะใกล้ชิดบ้าง หลายเรื่องต้องห่าง แล้วแต่สถานการณ์ แต่ที่สุดแล้วต่างคนต่างทำหน้าที่ ต่างคนต่างก็ต้องมีระยะ มีความสัมพันธ์กันในระดับหนึ่งได้ ใกล้กันมากอาจจะไม่ดี เพราะอาจจะมีผลกับความน่าเชื่อถือ ซึ่งสื่อแต่ละสื่อต้องหาวิธีเพื่อรักษาความสมดุลย์เอง

            “ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าโฆษณาไม่จำเป็น เพราะทุกวันนี้โฆษณามีบทบาทมากในการที่ทำให้สื่ออยู่รอดหรือไม่ แต่ยิ่งกว่านั้นมันคือความน่าเชื่อถือ”

TCIJ: คุณสฤณีมองว่าปัจจุบันสื่อกำลังวิกฤตควรจะมีการปรับ คุณวันชัยในฐานะเป็นผู้บริหารองค์กรสื่อขนาดใหญ่ มองว่าจะต้องปรับอย่างไร เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างธุรกิจ จริยธรรม และไม่ถูกคุกคามด้วยทุน

วันชัย: เราต้องรักษาสมดุลย์ให้ได้ ทุกวันนี้เราเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ มาซื้อกิจการของสื่อ อันนี้เห็นชัดว่าในสื่อบางแห่งที่เจ้าของเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ไปแล้ว กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เขาก็เห็นความสำคัญในการยึดสื่อเป็นเครื่องมือบางอย่างในการรักษาธุรกิจของเขาให้อยู่รอดได้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีสื่ออีกหลายๆฉบับที่ คนก่อตั้งหรือผู้ถือหุ้นก็ยังเป็นคนในวงการสื่อ ซึ่งก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะธุรกิจสื่อทุกวันนี้มาจากทุน และทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในการทำสื่อก็สูง อย่างทีวีดิจิตัลก็หมดไปหลายพันล้านเฉพาะแค่ใบอนุญาตเท่านั้น ก็ต้องเข้าใจว่าโฆษณาก็จำเป็น แต่ถึงอย่างไรแล้วสุดท้าย ก็ต้องพยายามรักษาสมดุลย์ตรงนี้ให้ได้ สื่ออาจรับโฆษณาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนั้นจะมาแทรกแซง จะมาชี้นิ้วบอกขอแก้คำนั้นคำนี้ ถ้าเป็นโฆษณาหน้าพิเศษก็ต้องบอกว่าหน้าพิเศษ แต่ถ้าจะมากำกับนักข่าว ผมว่าอันนั้นมันล้ำไปแล้ว

TCIJ: กรณีที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์พยายามรู้ข้อมูลส่วนตัวของนักข่าวมากเกินไป จนหลายคนมองว่าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

วันชัย: ต้องถามว่าอยากรู้ไปเพื่ออะไร แน่นอนว่าต้องมีเป้าหมาย สมมุติว่านักข่าวคนนี้ชอบเที่ยวรีสอร์ต อาจจะมีอะไรพิเศษให้กับนักข่าวคนนั้นหรือเปล่า หรือว่านักข่าวคนนี้ชอบตีกอล์ฟ ก็อาจจะมีอะไรให้พิเศษหรือไม่

            “คิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ถามว่าถ้านักข่าวไปรู้ว่าผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทนี้มีรสนิยมยังไง ชอบโน่นชอบนี่ เขาจะรู้สึกพอใจมั้ย คิดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว ผมคิดว่าควรมีความสัมพันธ์กันในระดับการทำงาน การที่ล้ำไปในเรื่องส่วนตัว คิดว่าละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นการฉวยโอกาสในความสัมพันธ์ในหน้าที่การงาน แล้วไปเอาเรื่องส่วนตัวของเขามาเป็นเป้าหมายในการทำงานของคุณ คิดว่าเสียมารยาทอย่างแรงเลยนะ เช่นคิดว่าคนนี้ชอบเตะฟุตบอล ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปซื้อลูกฟุตบอลมาให้ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าฝ่ายธุรกิจไปคิดตรงนั้นเพื่อเอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมารับใช้เป้าประสงค์ของงานพีอาร์ ผมว่ามันไม่เป็นมืออาชีพนะ และคิดว่างานพีอาร์เขาคงไม่สอนให้ทำอย่างนี้”

ขอบคุณภาพคุณสฤณี

http://libertyschool.in.th/wp-content/uploads/2013/10/Screen-Shot-2556-10-30-at-22.54.30.png

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง หลุด!เอกสารฝ่ายPRธุรกิจยักษ์ใหญ่  จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4559

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: