บทวิเคราะห์ : ชูเลือกตั้งเลี่ยงแตกหัก

ใบตองแห้ง 18 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1734 ครั้ง

อย่าถามเหตุผล ว่าศาลถอดถอนนายกฯ ได้ไง ในเมื่อนายกฯ มีอำนาจย้ายข้าราชการ แม้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าย้ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่บอกว่าไม่มีอำนาจย้าย

อย่าถามเรื่องอำนาจ ว่าศาลถอดถอนนายกฯ ได้ไง ในเมื่อนายกฯ พ้นตำแหน่งไปแล้ว เป็นแค่นายกฯ รักษาการ ยิ่งถ้าจะถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็เท่ากับศาลขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 เสียเอง

ก็ศาลรัฐธรรมนูญเสียอย่าง พิพากษาให้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญครึ่งฉบับ ยังทำมาแล้ว พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาตอนแรกไม่ผิด พอมีคนขัดขวางเลือกตั้ง กลับกลายเป็นพระราชกฤษฎีกาผิด

ก็ศาลรัฐธรรมนูญเสียอย่าง พิพากษาก่อน ค่อยออกคำวินิจฉัยทีหลัง ป่านนี้ คำวินิจฉัยกลางล้มเงินกู้ 2 ล้านล้าน ยังไม่คลอดเลย

ถามว่ายังเหลืออะไรในประเทศนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่ได้ ไม่ว่าใครยื่นคำร้องเหลวไหลอย่างไร ถ้าศาลอยากรับ ก็รับได้ ถ้าศาลจะตัดสิน ก็ตัดสินได้ ยกเว้นเรื่องเดียว คำร้องว่า กปปส.ผิดมาตรา 68

นี่คือการใช้อำนาจตุลาการอย่างสุดโต่ง พอ ๆ กับม็อบ กปปส.ที่โก่งหน้าไม้จนสุดล้า

จากการใช้อำนาจไม่ชอบธรรมของพรรคเพื่อไทย ในกรณีนิรโทษสุดซอย หกเดือนผ่านไป ฝ่ายโค่นล้มประชาธิปไตยก็ใช้พลังอำนาจสุดซอยจนหมดความชอบธรรมเช่นกัน

พวกเขายังมีพลัง เพราะรัฐบาลยังไม่ล้ม แต่วันไหนรัฐบาลล้ม ก็เหมือนนักมวยที่ชกกันจนหมดแรง กอดปล้ำ แล้วก็คว่ำไปทั้งคู่

แต่ประชาธิปไตย (ซึ่งไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเพื่อไทย) ล้มแล้วยังลุกได้ พลังจารีตนิยมสิ ล้มแล้วจะไม่ฟื้นอีกเลย

นี่คือวาระสุดท้ายของพลังจารีต ถ้ามองข้ามช็อตไป เมื่อใดที่พวกเขา “ชนะ” ได้อำนาจ ไม่ว่าในรูปแบบนายกฯ คนกลาง หรือรูปแบบอื่นใด พวกเขาจะล้มเหลว ปกครองประเทศไม่ได้ จัดการปัญหาต่าง ๆ  ไม่ได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้แต่ “ปฏิรูป” ก็ยังไม่รู้จะปฏิรูปอะไร และจะแบ่งเป็นฝักฝ่ายขัดแย้งกันเอง

พรรคประชาธิปัตย์และ กปปส.จะตกต่ำ เสื่อมทรามถึงขีดสุด ไม่ต่างจากพันธมิตรฯ หลังปิดสนามบิน คนชั้นกลางชาวกรุง ผู้สนับสนุนจะผิดหวัง ไม่ต่างกับที่เคยผิดหวังรัฐบาลขิงแก่ ผิดหวังรัฐบาลประชาธิปัตย์ แล้วก็เคว้งคว้าง คลุ้มคลั่ง สติแตก กันอีกรอบ

ขณะที่พลังประชาธิปไตยจะมีแนวร่วมกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสามารถปรับขบวนลดอำนาจนำของพรรคเพื่อไทย ให้มวลชนผู้รักประชาธิปไตยมีอำนาจตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น

ปัญหาสำคัญคือ พลังประชาธิปไตยจะประคองตัวผ่านช่วงของการเปลี่ยนขั้วอำนาจไปได้อย่างไร โดยไม่เกิดการสูญเสีย โดยมีอำนาจต่อรอง โดยสามารถป้องกันตัว รักษามวลชน ไว้เพื่อตีโต้กลับ

จำเป็นต้องลุกฮือ?

ถ้ามองข้ามช็อตว่า นายกฯ คนกลาง หรือใคร ในรูปแบบใดก็ตาม ที่จะมาปกครองประเทศโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ต้องล้มเหลวพังพินาศในที่สุด ถ้าอย่างนั้นเมื่อเกิดการถอดถอนนายกฯ ถอดถอนรัฐบาล สร้างสุญญากาศอำนาจ มวลชนผู้รักประชาธิปไตยจำเป็นต้องลุกฮือคัดค้านหรือไม่

จำเป็นสิครับ จะอยู่เฉยได้ไง เพียงต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ วางเข็มมุ่งให้ชัดเจน

ถ้ามวลชนลุกฮือ สมมติเช่น นปช.ระดมมา 5 แสน ปิดกรุงเทพฯ ภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ก่อม็อบทุกจังหวัด ต้องเข้าใจว่าเมื่อรัฐบาลหมดอำนาจ ฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีทั้งศาล ทหาร และการ์ดติดอาวุธ ย่อมมีกำลังเหนือกว่า และสามารถใช้ข้ออ้าง “ไม่เคารพกฎหมาย” “ไม่เชื่อฟังคำสั่งศาล” ประกาศกฎอัยการศึก สมใจนึกแก้วสรร ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนได้

ฉะนั้นการลุกฮือนี้ไม่มีทางชนะ ไม่สามารถเอาชนะ

แต่ถามว่าถ้าอย่างนั้นจะงอมืองอเท้าให้ถอดถอนนายกฯ ตั้งนายกฯ คนกลาง โดยไม่แสดงพลังคัดค้านหรือ โดยธรรมชาติก็เป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องระดมมวลชน ก็จะมีคนลุกฮือขึ้นมาเอง และโดยยุทธศาสตร์ก็จำเป็นต้องลุกฮือ เพื่อสร้าง “อำนาจต่อรอง” สร้างพลังที่จะปกป้องตนเอง ปกป้องประชาธิปไตย ยืนซดกับอำนาจที่ไม่มาจากการเลือกตั้งตั้งแต่ยกแรก บีบให้ “นายกฯ คนกลาง” ต้องยอมรับสิทธิเสียงของคนอีกเกินครึ่งประเทศ สิทธิเสียงประชาชนฝ่ายต่างๆ ไม่เฉพาะเสื้อแดง ที่ไม่ยินยอมให้พวก กปปส.ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจ ได้อำนาจ ได้ชัยชนะแล้วเหิมเกริม

พูดง่าย ๆ คือเมื่อคุณล้มรัฐบาลแล้วต้องไม่ใช่ กปปส.ได้อำนาจ ถ้าคุณจะอ้างว่าเป็น “คนกลาง” ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับมวลชนอีกฝ่าย และต้องดำเนินคดี กปปส.ที่กระทำผิดกฎหมายด้วย

ตราบใดที่ยังไมมีการถอดถอนนายกฯ การต่อสู้จะต้องชูประเด็นว่า ศาลไม่สามารถถอดถอนรัฐบาลรักษาการเพื่อให้เกิดสุญญากาศอำนาจ ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ต่อให้คุณถอดถอนนายกฯ คณะรัฐมนตรีก็ต้องรักษาการอยู่ ต่อให้อ้างว่าคณะรัฐมนตรีผิด ที่มีมติย้ายถวิล เปลี่ยนศรี คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่ไม่อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดนั้นก็มีหลายคน ที่สามารถรักษาการนายกฯ จัดการเลือกตั้งต่อไปได้

แต่วันใดที่มีการถอดถอนนายกฯ ข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเปลี่ยนไป “ก้าวข้ามยิ่งลักษณ์” นั่นคือชูประเด็นเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เดินหน้าสู่เลือกตั้ง “เลือกตั้งใน 60 วัน” ไม่เปิดช่องให้มีนายกฯ คนกลางหรือสุญญากาศอำนาจ

พูดให้เห็นภาพ ถ้า นปช.นำมวลชนลุกฮือ ปิดกรุงเทพฯ แสดงความโกรธแค้นที่นายกฯ ถูกถอดถอน ก็จะถูกปราบปรามได้ง่าย โทษฐาน “ไม่เคารพกฎหมาย” แต่ถ้านำมวลชนลุกฮือ เรียกร้อง กกต. เรียกร้องกองทัพ เรียกร้องใครก็ตามที่จะรักษาการ รวมทั้งกดดัน กปปส.ให้ร่วมกันให้สัตยาบัน “เลือกตั้งใน 60 วัน” ไม่มีสัตยาบันเราไม่เลิก จะม็อบอยู่อย่างนี้ ถามว่าความชอบธรรมอยู่ข้างใคร

ถอดถอนนายกฯ เมื่อไหร่ ก่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องสัตยาบัน “เลือกตั้งใน 60 วัน” จะไม่ใช่มีแค่พลัง นปช.แต่ยังสามารถสร้างแนวร่วมกับคนตรงกลาง จุดเทียน ใส่เสื้อขาว ก่อการเคลื่อนไหวหลากหลาย สร้างแนวร่วมกับต่างประเทศ สหประชาชาติ สหรัฐ ยุโรป ฯลฯ

นี่คือพลังและข้อเรียกร้องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ทหารจะปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องให้เลือกตั้ง? ทีพวกขัดขวางเลือกตั้งยังไปตั้งบังเกอร์รักษาความปลอดภัยให้ ศาลจะสั่งว่าเรียกร้องเลือกตั้งผิดมาตรา 68? ก็เอาสิครับ

เมื่อใดที่เกิดสุญญากาศอำนาจ แทนที่จะนำไปสู่นายกฯ คนกลางดังที่พวกเขามุ่งหวัง ต้องพลิกกระแสให้ไปสู่การเรียกร้องเลือกตั้ง ให้เร็วที่สุด 45-60 วัน ถามว่าพวกเขาจะรับมืออย่างไร ในเมื่อไม่ใช่การปกป้องรัฐบาล ไม่ใช่การปกป้องยิ่งลักษณ์ ถ้าศาลถอดถอน ประเด็นยิ่งลักษณ์ก็จบไปแล้ว แน่นอน ต้องวิพากษ์ศาล แต่ตั้งข้อเรียกร้องไปข้างหน้า คือต้องมีรัฐบาลจากเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

ซึ่งก็ไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อพรรคเพื่อไทย เลือกตั้งแล้วใครจะชนะ คุณจะรู้ได้อย่างไร ในเมื่อยิ่งลักษณ์ไม่ได้ลงสมัคร ในเมื่อเพื่อไทยจะถูกตัดสิทธิตัดตอนอีกจำนวนมาก

ข้อเรียกร้องนี้จะปิดช่องนายกฯ คนกลาง แต่ถ้าดึงดันจะเอาให้ได้ ก็ต้องเจรจาต่อรอง

เวลาอยู่ข้างเรา

ยุทธศาสตร์หลักที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ “เวลาอยู่ข้างเรา” ยิ่งนานวัน พลังจารีตยิ่งอ่อนแรง นี่คือการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายแล้ว ฉะนั้นการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอ สามารถดึง ยื้อ รอเวลา หลีกเลี่ยงการปะทะ การใช้กำลัง การนองเลือด ไม่จำเป็นต้องแตกหัก

ฝ่ายประชาธิปไตยไม่กลัวรัฐประหาร ดีเสียอีก ถ้ารัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 หรือถ้าจะรัฐประหารแบบงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ก็เป็นเรื่องตลกขบขัน ที่มีศาลรัฐธรรมนูญอยู่คู่คณะรัฐประหาร

ฝ่ายประชาธิปไตยไม่กลัวนายกฯ คนกลาง นายกฯ คนกลางจะเป็นความหวังสุดท้ายของคนชั้นกลางชาวกรุงฝ่ายอนุรักษ์ และจะทำลายความหวังนั้น ด้วยความล้มเหลวทุกด้าน ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเห็นนายกฯ คนกลางด้วยซ้ำ เพราะจะได้เห็นกันว่าทำอะไรไม่ได้

คุณจะปฏิรูปประเทศอย่างไร ปฏิรูปต้องแก้กฎหมาย ต้องแก้รัฐธรรมนูญ จะแก้ด้วยวุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง ลากตั้งครึ่งหนึ่ง อย่างนั้นหรือ แล้วมีความชอบธรรมตรงไหน ถ้าจะให้ลงประชามติ คิดว่าจะง่ายอย่างปี 50 หรือ

คุณจะปฏิรูปอะไร จะแก้รัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.สาขาอาชีพ 120 คน ตามแนวคิดบรรเจิด อย่างนั้นหรือ ยิ่งเข้ารกเข้าพง ประชาธิปไตยถอยหลัง แล้วเวลาพูดมันง่าย เวลาทำมันยาก ใครอยู่อาชีพอะไร จัดสรรอย่างไรให้เป็นธรรม

พวกที่ขายฝัน ทวงคืน ปตท. ประเทศไทยเป็นเศรษฐีน้ำมัน จะลดราคาเบนซินลิตรละ 5 บาท พวก NGOsเพ้อเจ้อ อยากให้เก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า อยากให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ เอาเข้าจริงก็เป็นได้แค่พวกอกหักตลอดกาล

เอาแค่แย่งกันเป็นรัฐมนตรีใน “นายกฯ คนกลาง” ก็สนุกสนานแล้ว ยกตัวอย่าง รัฐมนตรีสาธารณสุข ได้แย่งกันอุตลุดระหว่างหมอชูชัย ศุภวงศ์ กับปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์

นายกฯ คนกลางจะทำอย่างไรกับโครงการบริหารจัดการน้ำ นายกฯ คนกลางจะทำอย่างไรกับโครงการรถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ ไม่ต้องพูดถึงรถไฟความเร็วสูง ที่รอบบ้านเขาสร้างกันหมด นายกฯ คนกลางจะยกเลิกจำนำข้าว แล้วจะประกันราคาไหม นายกฯ คนกลางจะเจรจา FTA ต่ออย่างไร ฯลฯ

ในอีกด้านหนึ่ง พลังประชาธิปไตยไม่กลัวการที่รัฐบาลล้ม เพราะพรรคเพื่อไทยคือจุดอ่อนของขบวนประชาธิปไตย ตั้งแต่ก่อตัวรอบใหม่หลังรัฐประหาร 2549 นักการเมืองคือแผลเป็น คือรอยด่าง ทั้งทุจริต ฉ้อฉล อ่อนแอ ไม่กล้าต่อสู้ แน่นอนว่าการมีรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เอื้อให้ความคิดเสรีประชาธิปไตยเติบโต ปกป้องคุ้มครองไม่ให้พลังประชาธิปไตยถูกปราบ ถูกเล่นงาน แต่อีกด้าน พรรคเพื่อไทยก็พาพังเพราะนิรโทษ พรรคเพื่อไทยไม่เคยกล้ายืนหยัดสู้ในวิถี ถึงคราวต้องสู้ ก็หลบเลี่ยงทุกที

เมื่อรัฐบาลล้ม นักการเมืองหมดอำนาจ ประชาชนก็จะขึ้นมาแถวหน้า ประชาชนไม่มีจุดอ่อน ซ้ำยังจะเกิดปัจเจกชนที่กล้าชี้หน้าวิพากษ์ฝ่ายจารีตและแมลงสาบอย่างหลากหลาย อย่างที่เกิดมาแล้ว เช่น จิตรา คชเดช ในรัฐบาล “ดีแต่พูด” หรือเอก อัตถากร Respect My Vote รอบหน้ารับรองเราจะมึคนกล้าอีกมากมาย

นี่คือวัฏจักร รัฐบาลทักษิณไม่ชอบธรรม แต่รัฐประหารก็ทำให้ประชาธิปไตยเติบโต รัฐบาลสมัครล้มไป แมลงสาบก็ถูกตีโต้แตกพ่าย เพียงแต่ต้องสรุปบทเรียน รอบหน้า ประชาชนต้องไม่ยอมให้พรรคเพื่อไทยใช้อำนาจตามใจชอบ

ถ้าเข้าใจยุทธศาสตร์ “เรารอได้” ถ้าเชื่อมั่นว่าประเทศนี้ใครที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ล้วนล้มเหลว ไม่สามารถบริหารได้ การต่อสู้ก็สามารถยืดหยุ่น ปรับไปตามสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องแลกหมัด ไม่จำเป็นต้องแตกหัก เพียงแต่ต้องแสดงพลังมวลชนเพื่อต่อต้าน เพื่อต่อรอง เพื่อปกป้องหลักการ

ถ้าศาลถอดถอนนายกฯ เมื่อไหร่ นปช.และผู้รักประชาธิปไตยจำเป็นต้องแสดงพลัง ต้องเรียกร้องให้ไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด กดดันฝ่ายตรงข้าม ให้ต้องเจรจา ต้องหาทางออกร่วมกัน แต่หลีกเลี่ยงการปะทะ การสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ ปรับการเจรจาไปตามสถานการณ์ ถ้าสามารถปิดช่องนายกฯ คนกลาง ก็เป็นวิถีทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าพลังจารีตยืนยันจะไปสู่จุดนั้น ก็ต้องต่อรองเพื่อรักษากำลัง รอสร้างแนวร่วมโต้กลับ

ก็วัดใจกันละครับ เพราะพวกเขาก็รู้ และจะต้องพยายามหาช่องปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ ไม่ให้มีพลังตีโต้

พวกเขารู้แก่ใจว่ามีโอกาสมากที่จะพลาดและพินาศยกยวง เพียงแต่เดิมพันสูงจึงต้องเสี่ยง ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยงด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: