เภสัชกรเตือนสมุนไพรพิษผสมไวอะกร้า อ้างบำรุงกำลัง-ซื้อกินไม่เลือกถึงตายได้

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 50211 ครั้ง

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนกรณีได้รับการร้องเรียนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้บริโภคให้ตรวจสอบยาสมุนไพรแผนโบราณ 5 รายการซึ่งจำหน่ายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยติดฉลากบอกสรรพคุณรักษาโรคสารพัดชนิดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ขณะที่ยาบางรายการไม่มีการปิดฉลากเป็นภาษาไทย ที่เกรงว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคยาดังกล่าว

อย.เตือนห้ามซื้อยาแผนโบราณ 5 ชนิด

ดร.นพ.ปฐมเปิดเผยว่า หลังจากได้รับการร้องเรียน อย.จึงดำเนินการตรวจสอบยาสมุนไพรทั้ง 5 รายการ ได้แก่ 1.ยาสมุนไพร ZIA TU WAN (เซีย ทู หวัน) 2.ผลิตภัณฑ์ พญาดงชุดชะลอความแก่ 3.ผลิตภัณฑ์ตายสิบปี ดีเหมือนเดิม 4.ผลิตภัณฑ์ฮับบาตุส เซาดาห์ “786” เนื่องจากฉลากแสดงข้อความโอ้อวดสรรพคุณรักษาสารพัดโรค อาทิ แก้หัด อีสุกอีใส ป้องกันและรักษานิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ต่อมลูกหมากโต มะเร็ง บำรุงกำหนัด บำรุงหัวใจ รักษาโรคเกาต์ อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน เป็นต้น และ 5.ยาสมุนไพร JIE DU DAN ชนิดแคปซูล ระบุเลขทะเบียนตำรับยา สรรพคุณไม่ระบุข้อความภาษาไทย

โดยพบว่า ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทั้ง 5 รายการ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ขณะที่ยาสมุนไพร ชื่อ JIE DU DAN ได้นำเลขทะเบียนยาผลิตภัณฑ์อื่นมาใส่บนฉลากอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อและซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด เนื่องจากมักพบว่าผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริงมักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป และการผลิตผลิตภัณฑ์มักไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน ดังนั้นขอฝากเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อยาสมุนไพรแผนโบราณใดๆ ที่แสดงสรรพคุณเกินจริง ว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากจะเสียเงินทองโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง มิหนำซ้ำยังอาจเสียโอกาสในการรักษาโรคอย่างถูกต้องอีกด้วย

ภาคอีสานพบยาผสมสารพิษ

ข่าวการประกาศเตือนภัยของ อย.ครั้งล่าสุด นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ปัจจุบันยาสมุนไพรที่ขายกันในท้องตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงมีการกระทำผิดกฎหมาย กันอย่างแพร่หลาย โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเชื่อว่ายาที่นำมาขายเหล่านั้นสามารถรักษาโรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่ทางการแพทย์ปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ จนทำให้ประชาชนหลงเชื่อซื้อหามารับประทานด้วยหวังว่าจะรักษาโรคได้ตามการโฆษณาสรรพคุณดังกล่าว

นอกจากการออกมาเตือนภัยอันตรายของอย. กับการขายยาแผนโบราณในพื้นที่ภาคใต้แล้ว จากการสำรวจของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ก็พบข้อมูลเช่นเดียวกันว่า ยาสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริงเหล่านี้ กำลังระบาดแพร่หลายในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัดด้วยเช่นกัน โดยพบว่ายาสมุนไพรที่ผลิตอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน และจำหน่ายไปยังพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน มียาสมุนไพรหลายตัวที่มีการนำวัตถุอันตราย หรือสารพิษ เข้าไปผสมอยู่ด้วย เช่น สารไดคลอโรมีเทน (Dichloromethane) ที่มีฤทธิ์ให้เกิดความเย็นซ่า และมีรสหวาน มีผลระยะยาวต่อระบบเลือกและทางเดินหัวใจ หรือ ตัวยาในกลุ่มไวอกร้า ที่มีผลต่อระบบหัวใจ และความดันโลหิต ที่อาจจะทำให้เส้นเลือดเปราะหรือแตกได้

ภ.ก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวในรายการ Headline สื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี ว่า ปัจจุบันมียาแผนโบราณหลายชนิดที่ผลิตขึ้นมา โดยระบุว่าเป็นยาบำรุง แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยาที่วางขายหลายยี่ห้อ มีการเติมส่วนผสมของสารอันตรายต่าง ๆ ลงไปในตัวยาด้วย เพื่อเพิ่มคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ทำให้เกิดความเย็นซ่า ทำให้มีรสหวาน เป็นต้น แต่หากรับประทานอย่างต่อเนื่อง สารอันตรายเหล่านี้จะส่งผลโดยตรงต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบหัวใจ และ ตับ เป็นต้น โดยยาสมุนไพรเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ช่องทางการโฆษณา ว่าเป็นสินค้าโอท็อป ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางกฎหมาย มีเลขทะเบียนการค้า หรือเลขที่ผลิตภัณฑ์ชุมชน เลขมาตรฐานอุตสาหกรรมติดอยู่ที่ฉลาก ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกปลอดภัย โดยไม่รู้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม เพราะตรวจสอบด้วยตัวเองยาก ต้องให้สาธารณสุขช่วยดูหรือตรวจสอบให้

น้ำหมักโอทอปอาจทำหัวใจวายได้

ทั้งนี้จากการตรวจสอบ พบยาสมุนไพรที่เป็นอันตรายหลายชนิด เช่น “น้ำหมักพืชแท้ เต็มพลัง ตราผู้ใหญ่สุพรรณ” ระบุสรรพคุณว่า เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาเย็น ช่วยเจริญอาหาร ผลิตโดยกลุ่มน้ำสมุนไพรหมัก เลขที่ 131 หมู่ 8 ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา พร้อมระบุทะเบียนการค้า และทะเบียนตัวเลขมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีการใส่วัตถุอันตราย หรือสารพิษ ชื่อว่า สารไดคลอโรมีเทน (Dichloromethane) ซึ่งเป็นสารตัวทำละลายในอุตสาหกรรม เมื่อใส่ลงไปในตัวยาจะทำให้เกิดความเย็นซ่าและมีรสหวาน แต่เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการง่วง ซึม กระหายน้ำ รสชาติเสีย แต่ถ้าได้รับแบบสะสมในระยะยาว อาจส่งผลต่อระบบเลือด ระบบทางเดินหัวใจทำให้เกิดภาวะล้มเหลวได้

            “สารตัวนี้อาจจะทำให้เมาได้ เพราะมีผลต่อระบบสมอง จากการวิเคราะห์พบว่า เกินระดับความปลอดภัยถึง 300 เท่า ซึ่งพิษของมันจะทำลายอวัยวะ อย่างตับ ไต ซึ่งถ้ากินเกิน 1 ขวด จะทำให้ตับพัง แต่เวลาโฆษณาจะบอกว่าเป็นยาบำรุง เป็นยาเย็น ถ้ากินข้าวไม่ได้ก็ซื้อมากิน เพื่อช่วยเจริญอาหาร โดยผู้ผลิตได้ใส่ยาช่วยเจริญอาหารเข้าไป เมื่อกินแล้วจะทำให้ทานอาหารอร่อยขึ้น หลับสบายขึ้น เพราะมันไปมีฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลาง ถ้ากินเป็นประจำก็จะเกิดปัญหาด้านลบ” ภ.ก.วรวิทย์ ระบุ

แค่ขวดเดียวทำตับพัง

สำหรับระยะเวลาที่จะทำให้เกิดอันตรายนั้น ภ.ก.วรวิทย์เปิดเผยว่า ในการคำนวณสารพิษพบว่าเพียงการรับประทานขวดเดียวก็จะทำให้ค่าเอ็นไซน์ระบุได้ว่าตับเริ่มมีปัญหา โดยอาการเริ่มแรกจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย แม้ว่าในช่วงแรกจะทำให้รู้สึกเมา แต่เมื่อได้รับสารบ่อยมากขึ้น หากตรวจในห้องทดลองจะเห็นว่ามีผลแล้ว แม้ว่าตาและตัวจะยังไม่เหลือง แต่หากได้รับในปริมาณที่มากตาและตัวจะเหลืองขึ้น และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ตับไม่ทำงาน

            “ตั้งแต่เราพบได้มีการประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัด นครราชสีมา เขาก็ไปช่วยจัดการให้ แต่สถานการณ์ในพื้นที่มีอยู่เยอะมาก เราก็เลยเกรงว่าจะมีการลักลอบผลิตในที่ต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ไม่เห็น และมีพี่น้องประชาชนที่ไม่เข้าใจไปซื้อมารับประทาน ซึ่งการตรวจตับพบว่าไม่ดีมาก ๆ เราก็เกรงว่าถ้าพี่น้องประชาชนยังไม่ทราบ ไปหลงซื้อมาก็เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ป่วย”

ปัจจุบันมีข้อมูลว่า มีผู้ป่วย 2-3 ราย ที่ต้องเดินทางไปรักษาอาการจากการรับประทานยาสมุนไพรดังกล่าวแล้ว เพราะส่วนหนึ่งหันไปใช้แทนการรับประทานแอลกอฮอล์ในช่วง งดเหล้าเข้าพรรษา เพราะทำให้รู้สึกเมาได้เหมือนกัน เพราะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ในขณะที่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบราคาจากร้านที่นำยาสมุนไพรชนิดดังกล่าวมาขาย ระบุว่า ขายที่ราคาขวดละ 9 บาท แต่หากคำนวนจากส่วนประกอบต้นทุนจริงจะพบว่า ราคาต้นทุนอยู่ที่เพียงขวดละ 3-5 บาท ขณะที่ร้านค้านำไปขายในราคาขายปลีกที่ 25 บาท ซึ่งก็ยังถือว่าราคาถูก ชาวบ้านซื้อหามารับประทานได้ หากเชื่อว่าเป็นยาที่บำรุงกำลัง ทำให้หายเหนื่อย เจริญอาหาร รับประทานแล้วดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

ยาจีนชื่อดังผสมยากลุ่มไวอะกร้า ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง

นอกจากนี้หากพิจารณาจากชนิดยาบำรุง กำลังที่โฆษณาขายอย่างแพร่หลายในระดับประเทศ ก็ดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากยาสมุนไพรพื้นที่บ้าน ที่วางขายเฉพาะบางพื้นที่ เพราะยามีชื่อหลายยี่ห้อก็พบว่ามีส่วนผสมของยา หรือ สารอันตรายอยู่ด้วยทั้งสิ้น เช่น ยาบำรุงร่างกาย เกร็กคู ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ โดยจากการตรวจสอบ ภ.ก.วรวิทย์กล่าวว่า พบตัวยา ชื่อ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil)  และ (Tadalafil)  ในกลุ่มไวอะกร้า เป็นยาเฉพาะที่จะต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น เนื่องจากมีผลต่อการสูบฉีดโลหิต แต่ในส่วนผสมที่แจ้งไว้ระบุว่า เป็นสมุนไพรจีนทั้งหมด ดังนั้นหากรับประทานยาเข้าไปจะทำให้ หัวใจสูบฉีดโลหิตเร็วขึ้น มีความดันโลหิตสูงขึ้น คนที่เป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้เส้นเลือดฝอยเปราะและแตกง่าย ทั้งนี้อาจจะทำให้เกิดอาการหัวใจวาย โดยที่ไม่ได้เจตนา เพราะไม่ได้ต้องการกระตุ้นทางเพศ แต่ผู้บริโภคอาจจะเข้าใจว่า เป็นการบำรุงร่างกาย และมีราคาแพง

นอกจากนี้ยังมียาประเภทเดียวกัน ชื่อยี่ห้อ แคปบ้า (cappra) และจิ๋วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง ที่ตรวจพบสารทาดาลาฟิล (Tadalafil) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของไวอะกร้าเช่นเดียวกัน โดยยาทั้งสองชนิดมีการโฆษณาทางสื่อขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นยาบำรุงร่างกาย ทั้งที่เป็นยาที่ต้องควบคุม

ยาผงจินดามณี (ยาผีบอก) สรรพคุณ แก้ปวดหลัง ปวดเอว แก้โรคเกาท์ รูมาตอยด์ โรคกระดูกทับเส้นประสาท แก้ปวดประจำเดือน ภูมิแพ้ ขับสารพิษออกจากร่างกายฯ รับประทานครั้งละ 1 ซองกับน้ำร้อน สุราขาว หรือน้ำมะนาว และยาชื่อ ผาผสมปู่ครูยา นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ทั้งสองชนิดมีตัวเลขจดทะเบียนถูกต้อง แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีการผสมสารสเตียรอยด์ ที่จะส่งผลให้กระเพาะทะลุ กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันลดลง มีผลต่อไต และลามไปในทุกระบบของร่างกาย แม้ว่าในการรับประทานแรก ๆ จะทำให้หายปวดโดยเร็ว แต่จะส่งผลระยาวต่อสุขภาพ

ภ.ก.วรวิทย์กล่าวว่า สำหรับยาต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีการแจ้งไปยังสาธาณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ  รวมทั้งอย.เพื่อขอให้เพิกถอนใบทะเบียนตำรับยาแล้ว แต่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ก็เกรงว่าจะไม่ทัน ทั้งนี้ประชาชนควรจะระมัดระวังเพราะเป็นอันตราย ในขณะที่ผู้ขายเองหากนำมาขายก็จะถูกยึดสินค้าและถูกดำเนินคดีด้วย

อย.เตือนอ่านฉลากให้ชัดถ้าสงสัยแจ้ง 1556

ขณะที่ ดร.น.พ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ยาใด ๆ ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาและอ่านฉลากให้ถ้วนถี่เสียก่อน โดยยาแผนโบราณ ฉลากต้องระบุ ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G 888/50 ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตยา และแสดงคำว่า “ยาแผนโบราณ” ให้เห็นได้ชัด รวมทั้งแสดงคำว่า “ยาใช้ภายนอก” “ยาใช้เฉพาะที่” ด้วยตัวอักษรสีแดงเห็นได้ชัดเจน แล้วแต่กรณี หรือแสดงคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” กรณีเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือแสดงคำว่า “ยาสำหรับสัตว์” กรณีเป็นยาสำหรับสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ผ่านการขออนุญาตจาก อย.หรือโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย.โทร.1556 หรืออีเมล : 1556 @fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่ ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเองพร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย.อาคาร 1 ชั้น 1 ได้ทุกวันในเวลาราชการ เพื่อ อย.จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

อ่านข่าวออนไลน์จากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ ได้ทุกวัน

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: