วิเคราะห์การเมืองอินเดีย ประชาธิปไตยไม่มีทางลัด

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 17 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 5260 ครั้ง

ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ วิเคราะห์สังคม วิธีการเลือกตั้ง และการเมืองอินเดียก่อนและการขึ้นมาของนายนเรทรา โมดี หัวหน้าพรรคภารติยะชนตะ พรรคการเมืองแนวทางชาตินิยมฮินดู และเหตุใดการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกจึงผ่านไปอย่างราบรื่น

หากเปรียบเทียบระหว่างไทยกับอินเดีย ทั้งในแง่ขนาดพื้นที่ ประชากร ขนาดเศรษฐกิจ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ชาติพันธุ์ อินเดียใหญ่โต หลากหลาย และซับซ้อนกว่าไทยในทุกด้าน แต่การเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยประชากรกว่า 1,200 ล้านคน ถึงจะต้องใช้เวลายาวนานเดือนเศษ แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

พรรคคองเกรสซึ่งครองอำนาจอย่างยาวนานใต้ร่มเงาของตระกูลคานธี ต้องพ่ายแพ้หมดรูปให้แก่พรรคภารติยะชนตะ หรือ บีเจพี โดยการนำของนายนเรนทรา โมดี ทำให้การ์ตูนนิสต์ชาวไทยบางคน ถึงกับนำมาเขียนเสียดสีการเมืองไทยว่า ประชาธิปไตยไม่มีทางลัด

หันกลับมามองประเทศไทย ดินแดนที่การรัฐประหารครั้งที่ 13 เพิ่งผ่านพ้น ก่อนหน้านั้น เถียงเอาเป็นเอาตายว่าจะเลือกตั้งก่อนปฏิรูปหรือจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ชวนให้เปรียบเทียบอยู่ไม่น้อยว่า เหตุใดประเทศประชาธิปไตยที่เล็กกว่าอินเดียมาก ๆ อย่างไทยจึงมิอาจขับเคลื่อนระบอบอันเลวร้ายน้อยที่สุดนี้ได้

รู้จักอินเดียผ่าน ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โลกสภาและราชยสภา

การทำความเข้าใจระบบการเลือกตั้งของอินเดีย จำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร เพราะเมื่ออังกฤษยอมถอนตัวออกจากอินเดียในปี 2490 อินเดียมีปัญหาความวุ่นวายภายในเนื่องจากการวางรูปแบบการปกครองและการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ แต่เยาวหราล เนห์รู ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ระหว่างนี้เกิดการถกเถียงกันในกลุ่มผู้นำประเทศ จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า อินเดียจะมีรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข แต่ไม่มีอำนาจด้านการบริหาร ซึ่งจะอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี และสภาจะมีสองสภาคือโลกสภาและราชยสภา เปรียบได้กับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของไทย

โดยราชยะสภาจะมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ของไทย ผศ.สุรัตน์กล่าวว่า ราชยะสภาแม้จะมีอำนาจเหมือนวุฒิสภาคือคอยกลั่นกรองกฎหมายเหมือนไทย แต่ความเข้มข้นกลับไม่เท่ากัน อำนาจส่วนใหญ่จึงอยู่ที่โลกสภาเป็นหลัก

            “พอรัฐธรรมนูญอินเดียร่างเสร็จวันที่ 26 มกราคม 2493 วันนี้ก็ถูกประกาศให้เป็นวันชาติอินเดีย หลังจากรัฐธรรมนูญใช้ ก็มีการเลือกตั้ง เนรูห์จึงได้เป็นนายกฯ ที่ชอบธรรมตั้งแต่ 2493 จนเสียชีวิตในปี 2507”

วางแผนเลือกตั้งอย่างรัดกุม

อินเดียมีพื้นที่ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศหลากหลาย บางพื้นที่อยู่ห่างไกลเต็มไปด้วยโตรกผา การเดินทางไปเลือกตั้งของประชาชนในบางแห่งต้องเดินเท้าถึง 22 กิโลเมตร ไหนจะปัญหาจากกลุ่มก่อการร้าย ทำให้การจัดการเลือกตั้งของอินเดียเต็มไปด้วยความยุ่งยากและต้องมีการจัดการอย่างรอบคอบรัดกุม

ผศ.สุรัตน์กล่าวว่า คณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ของอินเดีย จะวางแผนการเลือกตั้งอย่างรอบคอบ ใช้บุคลากร 11 ล้านคน เครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์โหวตอีก 1.9 ล้านเครื่อง กับเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเกื้อหนุนให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสยุติธรรมที่สุด บวกกับความช่วยเหลือจากกองทัพในการป้องกันการก่อการร้ายและควบคุมหีบบัตร

            “บางคนถามว่า ทำไมรัฐที่เลือกตั้งไปแล้ว จึงวนกลับมาเลือกอีก แล้วถ้าผู้ก่อการร้ายโจมตีล่ะ อย่างน้อยเราก็เสียไปไม่กี่หีบ ยังมีคะแนนเสียงของรัฐนั้นอยู่ จึงไม่เลือกตั้งพร้อมกันหมดทีเดียว แต่ใช้วิธีข้ามไปมา คือสับขาหลอก พอเลือกตั้งวันสุดท้ายเสร็จ กกต. ก็ยังมีเวลาอีก 4 วันให้นับคะแนน และคนก็เคารพ ถามว่ามีปัญหามั้ย ตอบได้ว่า มี มีการซื้อเสียงเพิ่มขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดเขาไม่มีทางอื่น เขามีแค่ทางประชาธิปไตย”

ฆราวาสนิยมและกันทหารออกจากอำนาจ

คำถามที่น่าสนใจคือ ท่ามกลางความหลากหลายอันซับซ้อนของอินเดีย อะไรทำให้คนอินเดียเชื่อในการเลือกตั้ง ผศ.สุรัตน์ตอบว่า เพราะอินเดียไม่เคยหยุดสอนประวัติศาสตร์ของคานธี ที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการปลดแอกและการสร้างชาติของอินเดีย ขณะที่เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ก็นำหลักฆราวาสนิยมมาใช้ โดยแยกเรื่องศาสนาและความเชื่อออกจากสังคมการเมืองของอินเดีย

            “นักบวชทุกศาสนาในอินเดียจึงมีสิทธิเลือกตั้งเหมือนกันหมด เพราะเขาถือว่าศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล การเลือกตั้งไม่มีเรื่องศาสนาให้คุณกา คุณต้องเอาประชาธิปไตยที่ไม่เอาเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่คือเหตุผลที่บอลลี่ วู้ดสตาร์ ออกมาบอกว่า จะเลือกอะไรคิดดี ๆ อย่าลืมหลักฆราวาส พูดง่าย ๆ คืออย่าเลือกโมดี” ผศ.สุรัตน์กล่าว

นอกจากการยึดหลักการฆราวาสนิยมแล้ว การกันทหารออกจากการเมือง ก็เป็นสิ่งที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศว่า ทหารต้องไม่มีอำนาจมากเกินไป ด้วยการจำกัดงบประมาณด้านทหารให้เหลือเท่าที่จำเป็น ทหารจึงไม่มีอำนาจมาตั้งแต่เริ่มแรก และไม่มีความเชี่ยวชาญทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ผศ.สุรัตน์กล่าวว่า วิธีการนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะทำให้ศักยภาพกองทัพของอินเดียลดต่ำ ภายหลังการพ่ายแพ้แก่จีน ในปี 2505 อินเดียจึงเพิ่มงบประมาณทางทหารเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กองทัพ

ดาลิต ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก

ถึงกระนั้น มิได้หมายความว่าอินเดียไม่มีปัญหา แม้ว่ารัฐธรรมนูญอินเดียจะเขียนโดย ดร.อัมเบดการ์ (Dr.B.R.Ambedkar) ผู้มาจากวรรณะจัณฑาลหรือดาลิต ซึ่งถือเป็นคนนอกวรรณะซึ่งเป็นที่รังเกียจ แต่นั่นก็ทำให้รัฐธรรมนูญที่ ดร.อัมเบดการ์ เขียนคำนึงถึงความเท่าเทียมของผู้คนและการไม่เลือกปฏิบัติ แต่ในสังคมอินเดียที่แนวคิดเรื่องวรรณะของศาสนาฮินดูยังมีอิทธิพลสูง ความเป็นจริงทางสังคม กฎหมายในส่วนนี้จึงบังคับใช้ไม่ได้

ผศ.สุรัตน์กล่าวว่า กลุ่มคนที่เป็นดาลิตในสังคมอินเดียยังเผชิญปัญหามากมาย บางคนไม่มีแม้แต่บัตรประชาชน ทำให้เลือกตั้งไม่ได้และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับ ซึ่งดาลิตกลุ่มนี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

            “ส่วนดาลิตที่มีบัตรและรวมตัวกันได้ เขาก็มีพรรคการเมือง ถ้าคุณเปิดปากวิจารณ์ สิ่งแรกที่เขาจะถามคือคุณวรรณะไหน ถ้าวรรณะสูง อย่ามายุ่ง ซึ่งอันนี้ก็ยุ่งมากและไม่ดี เพราะท้ายที่สุดมันกลายเป็นการเมืองเรื่องโควต้า ผู้นำของพวกนี้บางครั้งไม่ดี ไปรังแกเขา ใช้ประโยชน์จากเขา ระบบที่หาพรรคพวกบนฐานของวรรณะจึงควรต้องแตกสลายให้หมด”

เมื่อภารติยชนตะกุมบังเหียนอินเดีย

ส่วนการเมืองอินเดียต่อจากนี้ ผศ.สุรัตน์ กล่าวว่า ค่อนข้างวิตก เนื่องจากอุดมการณ์ความคิดของพรรคบีเจพีมีแนวทางชาตินิยมฮินดู และพรรคนี้ก็เคยก่อปัญหาความรุนแรงอย่างการเผามัสยิดในอดีต จึงต้องจับตาว่าจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและฮินดูในอินเดียเกิดคุกรุ่นขึ้นมาอีกหรือไม่

            “พรรคคองเกรสเป็นพรรคของเนห์รูและคานธี ที่ยังเชื่อในแนวคิดแบบฆราวาสนิยม ผมคิดว่าระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยต้องเป็นฆราวาสนิยม เนห์รูพูดว่า Diversity in Unity, Unity in Diversity ต้องอยู่ด้วยกัน เคารพกัน ทุกคนเอาศาสนาเก็บไว้บ้าน สิ่งที่เนห์รูสร้างมาคือทุกคนมีพื้นที่”

มีความคาดหวังว่า นายโมดีอาจทำให้เศรษฐกิจอินเดียกลับมาเติบโตด้วยอัตราที่น่าพอใจอีกครั้ง จากผลงานอันโดดเด่น ที่เขาทำให้แก่รัฐคุชราต เพราะค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณร้อยกว่าล้านคนของอินเดียเทคะแนนให้นายโมดี เนื่องจากคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้คิดว่าไม่สมเหตุสมผลที่อินเดียจะอยู่ในสภาพเช่นที่เป็นอยู่ ทั้งที่อินเดียมีศักยภาพที่จะเป็นมหาอำนาจ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่ก่อนหน้าอัตราการเติบโตของอินเดียสูงถึงร้อยละ 9 แต่ระยะหลังกลับลดเหลือร้อยละ 5

อย่างไรก็ตาม ผศ.สุรัตน์ กลับเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐคุชราตในช่วงที่นายโมดีเป็นผู้ว่าการรัฐนั้นเป็นการมองเพียงด้านเดียว โดยหลงลืมปัญหาความเหลื่อมล้ำในคุชราตที่มีสูงมาก อีกทั้งการใช้โมเดลอุตสาหกรรมแบบคุชราต ก็มิได้หมายความว่านายโมดีจะสามารถขับเคลื่อนอินเดียทั้งประเทศได้

ประชาธิปไตยไม่มีทางลัด

ถามว่า อินเดียเคยไม่ยอมรับการเลือกตั้งหรือไม่ ผศ.สุรัตน์ ตอบว่า มี ครั้งเดียว เมื่อครั้งที่นางอินทิรา คานธี จัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้กฎอัยการศึก คนอินเดียจึงไม่ยอมรับและศาลรัฐธรรมนูญของอินเดียก็ได้ตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งจะต้องดำเนินไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม นอกจากเหตุการณ์นี้แล้ว คนอินเดียยอมรับการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง เพราะประชาชนเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวที่จะตัดสินใจได้ว่าประเทศจะยุติปัญหาอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้นำประเทศอินเดียวางรากฐานไว้ตั้งแต่ครั้งก่อตั้งประเทศ

            “คนอินเดียไม่เอาทางลัด เป้าหมายกำหนดวิธีการไม่มี เป้าหมายและวิธีการต้องไปด้วยกัน” ผศ.สุรัตน์ กล่าว

ฟังแบบนี้แล้วอาจรู้สึกว่า ระบอบประชาธิปไตยและการเมืองของไทยด้อยกว่าอินเดีย ผศ.สุรัตน์แสดงทัศนะว่า การมองเช่นนั้นก็ไม่ถูก เพราะการเปรียบเทียบประเทศกับประเทศเป็นเรื่องยาก อีกทั้งรูปแบบการเลือกตั้งบางอย่างอินเดียก็ตามหลังไทย

ผศ.สุรัตน์จึงมองการเมืองไทยว่า เป็นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า ถือเป็นความขัดแย้งที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ข้อเสนอหนึ่งของ ผศ.สุรัตน์ คือการทำให้พรรคการเมืองต้องฟังเสียงประชาชนตั้งแต่การคัดเลือกคนเข้าพรรค ประชาชนต้องมีสิทธิบอกว่า ใครควรอยู่ในพรรคการเมืองนี้

หลายสิ่งหลายอย่างจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง แต่ท้ายที่สุดต้องไม่ใช่การลดความเป็นประชาธิปไตยลง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: