‘ดร.เสรี’ชี้อย่ากลัวสึนามิ แต่ต้องมีแผนอพยพรับมือ

17 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1165 ครั้ง

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ดร.เสรี ศุภราทิตย์ อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ หลังเกิดเหตุคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าชายฝั่ง ทำให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่ จนมีข่าวลือว่าจะเกิดเหตุสึนามิขึ้นอีกครั้งบริเวณชายฝั่งทะเลในภาคใต้ สร้างความหวาดกลัวของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ว่า คลื่นสึนามิจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น จากแนวรอยเลื่อนในทะเล หรือมหาสมุทร ซึ่งในเชิงวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบหรือคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ หรือเกิดที่ไหน ดังนั้นจึงอยากไม่อยากให้ประชาชนไปให้ความสนใจว่า จะเกิดสึนามิหรือไม่ และเกิดเมื่อไหร่เพราะไม่มีใครตอบได้ แต่อยากให้สนใจเรื่องของแผนเตรียมการรับมือมากกว่า ว่าหากเกิดขึ้นแล้วจะมีแผนรับมืออย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

            “ผมว่าสิ่งที่ทุกคนต้องรู้และเข้าใจคือ สึนามิจะเกิดเมื่อไหร่ไม่สำคัญเท่าการเตรียมแผนรับมือของคนในพื้นที่ ว่ามีแผนหนึ่งสอง สามอย่างไร มีศูนย์อพยพอยู่ตรงไหนที่ปลอดภัย การหลบหนี แผนผังพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการเตือนภัยที่มีระบบ ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจมากกว่า ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนเหล่านี้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า มันจะเกิดหรือไม่เกิด” ดร.เสรีกล่าว

ขอบคุณภาพจาก Voice TV

ผอ.ศูนย์อำนวยการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลังเกิดเหตุสึนามิครั้งก่อน ตนและทีมงานได้เคยลงไปจัดทำแบบจำลองแผนการอพยพหนีภัยสึนามิว่า ในการอพยพประชาชนขึ้นบนที่ปลอดภัยนั้น จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งในกรณีของ แผนดินไหวที่เกาะสุมาตราครั้งที่แล้ว กว่าคลื่นจะมาถึงชายฝั่งประเทศไทยมีเวลาในการอพยพประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที เพราะมีเกาะแก่ง ช่วยลดระดับความรุนแรงไว้แล้ว ซึ่งหากมีการเตรียมแผนว่าประชาชนจะต้องใช้เวลาในการเดินทางหนีภัยเท่าไหร่เพื่อให้ปลอดภัย  ซึ่งหากสามารถทำตามแผนได้ก็จะสามารถลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินได้ ซึ่งแผนเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องจัดทำไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะการจำลองเหตุการณ์การเกิดคลื่นสึนามิที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวในรอยเลื่อนต่าง ๆ ในพื้นที่เหล่านี้เพราะรอยเลื่อนระบุชัดอยู่แล้วว่าอยู่ในแนวไหน  ดังนั้นจึงต้องเตรียมการณ์ไว้หลายกรณี  หลายรูปแบบด้วย เช่น หากเหตุแผ่นดินไหวเกิดตามแนวรอยเลื่อนในจุดที่ไม่มีเกาะแก่งลดความแรงของคลื่นแล้ว จะต้องใช้เวลาในการอพยพเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชนสามารถหลบหนีได้ทัน หลังการเตือนภัย และจุดอพยพอยู่พื้นที่ไหน อย่างไร แม้ในทางปฏิบัติอาจจะทำได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่การเตรียมพร้อมรับมือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

            “ตอนนี้จึงไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่นเรื่องจะเกิดสึนามิหรือไม่ แต่ควรเตรียมแผนของตัวเองไว้ว่าหากเกิดสึนามิขึ้นจริงแล้วจะมีแผนอพยพกันอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โลกร้อนขึ้น ในเชิงวิทยาศาสตร์ก็สามารถอธิบายได้ว่ามันจะทำให้ภัยพิบัติ เกิดมากขึ้น รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวด้วยที่น่าจะเกิดถี่กว่าในอดีต จึงอยากให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับแผนการรับมือ ที่ต้องเข้มข้นขึ้นด้วย เพราะจะทำให้คนไม่ต้องตระหนก หรือตื่นกลัวว่าภัยพิบัติจะเกิดหรือไม่” ดร.เสรีกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: