ขม

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 17 ก.ย. 2557


 

คนรอบข้างผมมักนึกภาพผมนั่งจิบกาแฟในร้านนางเงือกเขียวไม่ค่อยออก เพราะผมเองมิใช่ผู้นิยมชมชอบรสและกลิ่นของกาแฟ เข้าไม่ถึงและไร้อารมณ์ลึกซึ้งโดยสิ้นเชิงกับเครื่องดื่มชนิดนี้ เพียงแต่อาศัยสถานที่สำหรับอ่านหนังสือ และผมตอบได้แบบไม่ขัดเขินว่า การที่ต้องนั่งอ่านหนังสือกับกาแฟแพงระยับที่ไร้ความหมายต่อลิ้นของตนเอง...มันคือความดัดจริตล้วนๆ

หาได้มีเหตุผลสวยงามประดิษฐ์ประดอยใดๆ ทั้งสิ้น ผมจะเลือกกาแฟชนิดที่ราคาถูกที่สุด นั่งแช่สัก 2 ชั่วโมง มันเป็นการลงทุนที่ต่ำมากเพื่อแลกกับภาพลักษณ์และการยกระดับตนเองเป็น Urbanista ที่รู้จักใฝ่หาความรื่นรมย์จากความเป็นเมือง

มากกว่าการนั่งดัดจริตอ่านหนังสือ คือการนั่งมองชีวิตที่เคลื่อนไหวของผู้คนในร้านกาแฟนางเงือกเขียว

โตมากับตลาดสด ร้านกาแฟที่คุ้นเคย ถ้าไม่ใช่ร้านห้องแถวก็เป็นแผงในตลาด คนที่นั่งจิบกาแฟ นั่งแช่ มักอยู่ในวัยที่ปลดเปลื้องภาระจากชีวิตไปแล้ว คนตลาดสด ‘กิน’ กาแฟเพราะความเคยชินกับแก้ง่วง บทสนทนา มี แต่ไม่เน้นความลุ่มลึก แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเล็กๆ น้อยๆ ความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ นินทาคนในชุมชน …ภาพของร้านกาแฟระดับพรีเมี่ยมจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผม

……..

พูดกันว่า พลังของเทคโนโลยีโซเชียล มิเดีย ได้สลายเส้นแบ่งของเวลาและพื้นที่ให้เลอะเลือนและเกิดอาการซ้อนทับกันอย่างหลากหลาย คุณนั่งอยู่ในร้านกาแฟนางเงือกเขียว แต่สามารถคุยกับเพื่อนที่อยู่เกาะหลีเป๊ะ ติดตามข่าวสารความขัดแย้งในอิรัก หรือปิดต้นฉบับงานเขียนไปพร้อมๆ กัน

ในพื้นที่จำเพาะอย่างร้านกาแฟ คนแต่ละคนที่นั่งอยู่ภายในกลับบรรจุเวลาและสถานที่นับไม่ถ้วน ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องอัศจรรย์

.........

เวลาทานอาหารหรือกินกาแฟตามร้านห้องแถว ในตลาดหรือริมทางเท้า มักจะมีพ่อค้า แม่ค้า เดินถือแผงล็อตเตอรี่มาเสนอขายให้ถึงโต๊ะ บางครั้งก็มีวัยรุ่นแต่งชุดนักเรียนมาเดินขายปากกา ไม่ก็ผู้พิการ ผู้ (ที่บอกว่าตนเอง) ป่วย กระทั่งแม่ที่กำลังหาเงินค่านมลูกมาเดินถือป้ายแผ่นเล็กๆ ขอความเห็นใจ หลายต่อหลายครั้งที่ผมปฏิเสธ ในกรณีที่เป็นการขอเศษน้ำใจ ผมมักเกิดอาการผะอืดผะอม ไม่แน่ใจว่าการปฏิเสธนั้นคือความใจไม้ไส้ระกำของมนุษย์ผู้เห็นแก่ตัวหรือเปล่า เพราะเราก็ไม่มีวันรู้วัตถุประสงค์อันแน่ชัดของผู้ขอได้

อย่างไรก็ตาม ผมว่าทั้งลูกค้าและเจ้าของร้านไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่ของตน มันก็แค่วิถีการดำรงชีวิตและเรื่องราวปกติที่ดำรงอยู่ทั่วไปในสังคม ร้านค้าทำนองนี้ก็มีอาการเหลื่อมๆ ซ้อนๆ ในแบบของมันเอง เป็นการแบ่งกันใช้พื้นที่

...........

ครั้งหรือสองครั้งที่ผมเฝ้ามองหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง แต่งตัวปอนๆ เดินเข้ามาภายในร้านกาแฟนางเงือกเขียวพร้อมป้ายกระดาษแผ่นเล็กๆ แวะเวียนไปตามโต๊ะต่างๆ เนื้อความในป้ายบอกเล่าว่าเธอกำลังเจ็บป่วยจากโรคร้าย ต้องการเงินเพื่อไปเยียวยาร่างกาย เธอเดินยังไม่ทันครบโต๊ะ พนักงานก็มาเชิญเธอออกไป

เปล่า, ผมไม่ได้มองว่าพนักงานร้านกาแฟนางเงือกเขียวใจร้ายใจดำแต่อย่างใด เพราะถ้าไม่ทำ ตัวพนักงานนั่นแหละที่อาจจะถูกเชิญออกจากร้าน

ในพื้นที่บางพื้นที่ มันเหมือนกับยืนยันกับเรากลายๆ ว่า จะช่วยกันความวุ่นวาย แร้นแค้น และเรื่องไม่น่าพิสมัยจากภายนอกมิให้กล้ำกรายเรา และดูเหมือนมันได้สร้างกฎกติกาบางประการขึ้นโดยตัวมันเองว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ใครเข้ามาได้และใครเข้ามาไม่ได้ เรื่องนี้จึงไม่ใช่ความผิดของใคร (ถ้าจะมีใครผิดก็คงเป็นรัฐกระมังที่ไม่สามารถสร้างระบบสวัสดิการที่เข้าถึงประชาชนได้จริง)

คงจะประหลาดอยู่เหมือนกันถ้าในร้านกาแฟนางเงือกเขียวมีคนไปเดินขายล็อตเตอรี่ ขายปากกา แจกซองผ้าป่า หรือขอรับบริจาค คำถามคือสิ่งเหล่านี้ประหลาดโดยตัวมันเองหรือมันประหลาดเพราะกฎกติกาของพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างหลัง

แต่มันจะไม่ประหลาดเลยนะครับ ถ้าเป็นการเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจ ติวข้อสอบ หรือหว่านล้อมให้ใครสักคนสมัครเข้าเครือข่ายธุรกิจขายตรง

.............

สำหรับผม ชีวิตมันก็ขมๆ หวานๆ แบบนี้แหละ บางคราก็อยากตัดตัวเองออกจากความจริงอันเจ็บปวดรอบตัว บางครั้งก็อยากพุ่งชนเสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่ไม่ว่าใครจะมีโทรศัพท์และอุปกรณ์ฉลาดที่พาตนเองล่องลอยไปยังเวลาและพื้นที่อันไกลโพ้นสุดขอบจักรวาล สุดท้าย เราก็ต้องนั่งอยู่ตรงนี้ มีเรื่องราวล้านแปดหมุนวนอยู่รอบตัว

อย่างที่บอก ผมไม่เข้าใจความขมอันกลมกล่อมของกาแฟ แต่ถ้าไม่ชิมลิ้มลองขมนอกแก้วเสียเลย ก็คงบอกยากว่าขมในแก้วกลมกล่อมแค่ไหน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: