เปิดรายงานสรุปข้อเสนอแนะยกร่าง รธน. ของ สปช. 18 คณะ

16 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1169 ครั้ง

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา สำนักกรรมาธิการ 2 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติเผยแพร่รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่องสรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ 18 คณะ

ดาวน์โหลดรายงานฉบับนี้ได้ที่ http://goo.gl/4nyeJK

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมาการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ ต่อแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิก สปช.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง พร้อมเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เสนอข้อสรุปที่ทำการรวบรวมมาเป็นคณะแรกว่า เห็นควรให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการคุ้มครองตนเองโดยรัฐให้การสนับสนุน และมีองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อทำงานร่วมกับภาครัฐในการกำหนดกติกาและนโยบายร่วมกัน กำหนดตั้งศาลคดีผู้บริโภคในศาลยุติธรรมเพื่อดูแลและพิจารณาคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมทางการเมือง และต้องการให้คณะรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ จัดทำกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 1 ปี นับจากวันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวขอบคุณคณะกรรมาธิการที่ได้ศึกษารายละเอียดที่น่าสนใจ พร้อมรับข้อสังเกตไปพิจารณาประกอบการจัดทำรัฐธรรมนูญต่อไป และเสนอให้กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถนำเสนอความเห็นเพื่อออกเป็นกฎหมายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ

สำหรับในส่วนของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้เสนอให้ประชาชนมีสิทธิพื้นฐานในการเข้าสู่ข้อมูลและตรวจสอบการดำเนินการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ พร้อมมีบทลงโทษผู้ที่ซื้อสิทธิขายเสียงและผู้ที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น อาทิ การเปิดเผยข้อมูลและผลการดำเนินการโครงการต่างๆต่อสาธารณชน

ขณะที่ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการกีฬา เสนอให้ประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงการบริการด้านกีฬาจากรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เข่นเดียวกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา โดยภาครัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้มีจำนวนเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ส่วนคณะกรรมาธิการสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสนอให้รัฐสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างครอบคลุมทุกด้าน โดยไม่เลือกปฏิบัติ เช่นเดียวคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เน้นเสรีภาพของสื่อมวลชนต้องมีความรับผิดชอบ โดยได้เสนอเงื่อนไขการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น พูด เขียน พิมพ์โฆษณาที่ไม่กระทบกับสิทธิส่วนบุคคล ความมั่นคงของรัฐ ศีลธรรมอันดี เพื่อระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ สุขภาพของประชาชน ส่วนการคุ้มครองสื่อมวลชนให้พ้นจากกลุ่มอิทธิพลของรัฐและนายทุนยังคงกำหนดไว้อย่างเข้มแข็ง โดยมีข้อเสนอให้อนาคตต้องออกกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพเพื่อส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้วย

โดยในวันนี้ (16 ธ.ค.) ที่ประชุมประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดทำสรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประจำสภา 18 คณะ ซึ่ง กมธ.พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ได้เริ่มพิจารณาอีก 7 คณะ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง (16 ธ.ค. 57) แล้ว เมื่อเวลา 09.30 น. โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมาธิการค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา สปช. ได้เสนอว่า หลักสำคัญในการปฏิรูปในด้านนี้  คือ การปฏิรูปคนให้มีคุณภาพ โดยมีศาสนาเป็นหลักคิด จริยธรรมเป็นหลักปฏิบัติ ขณะที่วัฒนธรรมคือการสะท้อนถึงวิถีชีวิต โดยเห็นว่าภาครัฐต้องใช้ศาสนาสร้างการปกครองที่เป็นธรรม ขจัดความทุจริต สนับสนุนและเผยแพร่การประยุกต์ศิลปะ วัฒนธรรม ส่งเสริมประชาชนในชาติให้มีค่านิยมที่พึงประสงค์ รวมถึงจัดตั้งองค์การสมัชชาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ภายใต้การมีส่วนร่วมและการจัดการของภาคประชาชน เพื่อสร้างดุลยภาพการจัดการด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยรัฐต้องจัดให้มีแผนแม่บทระดับชาติว่าด้วยศิลปะ วัฒนธรรม และจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมศิลปะ วัฒนธรรม เป็นกองทุนภาคประชาสังคม เพื่อไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐ พร้อมขอให้รัฐสนับสนุนการเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ให้ประชาชนได้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่สมาชิก สปช. สนับสนุนข้อเสนอให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมฟื้นฟูค่านิยม จริยธรรม ศาสนา และปลูกฝังให้ประชาชนยึดหลักธรรมในการปฏิบัติ เพราะทั้งหมดถือเป็นสิ่งดีงาม และเห็นควรให้จัดตั้งกองทุนศิลปะ วัฒนธรรมเพื่อดูแลศิลปินโดยตรง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ไม่แตกต่างจากภาคการท่องเที่ยว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 
 
 
 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: