ฐิติญานันท์ หนักป้อ: สาวประเภทสอง ชีวิตชั้นสอง?

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 16 ก.ย. 2557


พัทยาเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก เมืองที่งานบริการหรือ Sex Work คือหัวใจหลักประการหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาจเรียกได้ว่าที่นี่มีตอบสนองทุกรสนิยมทางเพศ

Sex Worker หรือพนักงานบริการในพัทยา ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และกะเทย คือผู้ที่ขับเคลื่อนให้เมืองแห่งนี้ไม่เคยเงียบเหงา ถึงกระนั้น พวกเขาก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะกะเทยหรือสาวประเภทสองที่มักถูกตีตราและเหมารวม TCIJ เดินทางสู่พัทยา พูดคุยกับ ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการศูนย์ ซิสเตอร์ ศูนย์สาวประภทสอง ศูนย์ที่คอยให้ความรู้พนักงานบริการสาวประเภทสองในพัทยาเกี่ยวกับด้านสุขภาพและการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

‘เธอ’ คือกะเทยที่ทำงานคลุกคลีกับพนักงานบริการสาวประเภทสองในพัทยา เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมในเชิงความเชื่อและอคติที่มีต่อกะเทย ซึ่งบีบให้กะเทยจำนวนหนึ่งต้องเลือกเส้นทางชีวิตแบบที่เป็นอยู่ในพัทยา เปล่า, เธอไม่ได้คิดว่าอาชีพพนักงานบริการเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หากใครต้องการเลือกย่อมไม่ใช่สิ่งผิดบาป แต่ประเด็นอยู่ที่สังคมกำลังใช้อคติตัดทางเลือกของกะเทยหรือเปล่า การทำงานแบบคลุกวงในทำให้เธอมีมุมมองที่น่าสนใจต่อประเด็นนี้

TCIJ: คุณทำงานด้านนี้มาพอสมควร คุณคิดว่าในช่วงหลายปีมานี้เห็นการยอมรับสาวประเภทสองหรือกะเทยมากขึ้นหรือเปล่า

ฐิติญานันท์: ถ้าเทียบกับสมัยก่อน ใช่ ยอมรับมากขึ้นในด้านการเปิดเผยตัวตนของสาวประเภทสอง โดยในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ แต่พื้นที่ที่เป็นทางการคือพื้นที่ของรัฐ เช่น สถาบันต่างๆ ที่ล้อมรอบตัวเรา สื่อ ครู ศาสนา ที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างทางสังคมที่รัฐค่อนข้างแข็งแรงก็ไม่ค่อยยอมรับ

คือถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ เช่น เราสามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้โดยที่ไม่มีใครมาทำร้ายเรา เราสามารถทำงานคาบาเร่ต์โชว์ เป็นช่างแต่งหน้า เป็นสไตลิสต์ งานด้านความสวยความงามเราทำได้เต็มที่ แต่พอเป็นงานที่ต้องใส่ยูนิฟอร์มอย่างครู แพทย์ ยังไม่ยอมรับแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าจะมีบทบาทแบบนั้นได้คุณต้องโมดิฟายตัวเองให้เป็นชายหรือหญิง ถึงคุณจะสวยเป็นหญิง แต่ถ้ายื่นเอกสารอะไรที่บ่งบอกว่าคุณเป็นนาย มันก็จะดร็อปลงทันที เพราะฉะนั้นดอยคิดว่าการยอมรับมีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ยอมรับให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเมือง ถ้าเป็นสาวประเภทสอง แต่ถ้าเป็นลุคของเกย์ เขาอาจจะอยู่ในบริบทแบบนั้นได้ แต่งชาย พูดครับ ดูเท่ ดูหล่อ

แต่กะเทยหรือสาวประเภทสองที่ส่วนใหญ่แต่งหญิง ผมยาว ทำหน้าอก แปลงเพศ จะค่อนข้างมีพื้นที่ที่จำกัดมากในด้านการยอมรับของสังคม ส่วนเรื่องครอบครัว พ่อแม่เริ่มเรียนรู้จากสื่อที่ได้เห็น จากวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มยอมรับได้ในระดับหนึ่ง มีการพูดคุยเรื่องกะเทย สาวประเภทสองมากขึ้นในวงของครอบครัว ชุมชน ญาติพี่น้อง แต่พอเป็นเรื่องการเปิดใจยอมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ยังมีการเลือกปฏิบัติเรื่องการสมัครงาน ยังมีพื้นที่ที่จำกัดสำหรับพวกเราอยู่ ภาพของพวกเรายังเป็นภาพเชิงลบมากกว่าเชิงบวก

TCIJ: แต่ก็พูดโดยรวมๆ ได้ว่า คุณภาพชีวิตของสาวประเภทสองดีขึ้น?

ฐิติญานันท์: ดีขึ้น โซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นประตูบานหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่และมีข้อมูลของเราเยอะ ถ้าพิมพ์คำว่ากะเทย จะเด้งขึ้นมาเยอะมา สื่อหลายๆ สำนักให้ความสำคัญมากขึ้น เช่น บางรายการก็นำเสนอเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะฉะนั้นคิดว่าเรื่องราวของพวกเราถูกพูดมากขึ้น จากแต่ก่อนที่หลบๆ ซ่อนๆ ไม่กล้าบอกใคร

TCIJ: ภาพของสาวประเภทสอง กะเทย ในอดีตถูกจับผูกกับเรื่องเซ็กส์ การค้าประเวณี ความเชื่อนี้ยังหลงเหลือมากน้อยแค่ไหน

ฐิติญานันท์: หลงเหลืออยู่มาก สังเกตสื่อหรือภาพยนตร์ต่างๆ ที่นำเสนอออกมาหรือเพลง ส่วนใหญ่เป็นภาพของกะเทยที่เห็นผู้ชายแล้วกรี๊ด แต่งตัวโป๊ เสียงดัง บ้าผู้ชาย มั่วไปทางเรื่องเซ็กส์ และรู้สึกว่าภาพเหล่านี้ยังคงติดตาคนทั่วไป มีน้อยมากที่จะเป็นสื่อเชิงบวก เอาง่ายๆ เลย อคติของคนในสังคมไทยยังมีความเชื่อว่า กะเทยก็เป็นได้แค่นี้แหละ กรี๊ดกร๊าดอย่างนี้แหละ ไปดูคอมเม้นต์ต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตก็ยังมองเราด้อยค่าอยู่ดี ไปอ่านแล้วก็รู้สึกแย่นะ อย่างกระทู้ของปอย ตรีชฎา ขนาดสวยมากขนาดนั้นยังถูกเอาประเด็นเรื่องของปลอม เรื่องศัลยกรรมที่หมดเป็นล้าน แล้วคนอ่านอย่างเรารู้สึกแย่ ต่อหน้าชื่นชม แต่ลับหลังก็ตั้งแง่ คืออคติเหล่านี้ถูกฝังเข้าไปลึกมากว่ายังมีเพศที่ผิดปกติอยู่

TCIJ: ใครเป็นคนผลิตผู้ผลิตความเชื่อเหล่านี้

ฐิติญานันท์: ก็ทั้งสังคมแหละค่ะเป็นตัวผลิต ทุกสถาบัน ช่วงหลังสถาบันสื่อเป็นสถาบันที่ทำงานด้วยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่คิดดูว่าเวลาสื่อออกไปเรื่องหนึ่ง เขาก็ใส่ทัศนคติของเขาลงไป มันถึงคนดูเร็ว ซึมเข้าไปในหัว ฝังราก ฝังลึก

สถาบันทางการแพทย์ก็ยังยืนยันทุกวันนี้ว่า กะเทยเป็นโรคจิตวิปริต คำว่า Transgender ยังเป็นคนที่ผิดปกติทางจิต มันทำให้กระทรวงกลาโหมนำมาอ้างใช้ในใบ สด.43 ที่ว่ากะเทยเป็นโรคจิตวิปริต เราไปเคลื่อนจนเกิดความเปลี่ยนแปลง

ครูก็สอนนักเรียนแบบนั้น พ่อแม่บ่มสอนเด็กว่าอย่าเป็นกะเทยนะ มันไม่ดี เพศที่ถูกต้องคือชายและหญิง เวลาสอนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ก็สอนแค่เรื่องจู๋จิ๋ม องค์ความรู้เหล่านี้ถูกผลิตซ้ำผ่านทุกสถาบัน ศาสนายังบอกว่าเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม ตอกย้ำเข้าไปอีก ทุกสถาบันที่อยู่รอบข้างกระหน่ำกะเทยทุกทาง

TCIJ: เป็นไปได้หรือเปล่าว่า ภาพลบเช่นนี้ในอดีตกะเทยเองก็มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น?

ฐิติญานันท์: มันมีคนอยู่สองกลุ่มที่มองเราในด้านไลฟ์สไตล์ ซึ่งดอยคิดว่ามีความหลากหลาย เราจะบอกว่ากะเทยเป็นคนผลิตภาพนี้อย่างเดียวไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าความตลก ความโปกฮา ใครๆ ก็ผลิตได้ แต่เหมือนกะเทยเป็นภาพที่ถูกเหมารวมเป็นวงกว้างมากกว่าชายหญิง ภาพของตัวตลกในสังคมผ่านสื่อ ภาพของกะเทยที่จิตวิปริตมันใหญ่มากกว่า แล้วการ Stereotype หรือเหมารวมภาพทั้งหมดมันเป็นเรื่องสำคัญ

มีพี่คนหนึ่งบอกว่า ความจริงแล้วอาจต้องเข้าใจด้วยว่า กะเทยเองก็เป็นผู้ที่ผลิตสิ่งเหล่านี้ แต่พอกลับไปดูเบื้องหลังว่าทำไมกะเทยจึงทำตัวแบบนี้ เพราะกะเทยก็มีชุดความเชื่อแบบนี้ที่ถูกสอนฝังหัวมา ทำไมกะเทยต้องตีตราตัวเองว่าไม่มีวันเจอรักแท้หรอก เพราะถูกสอนจากศาสนา ถูกสอนจากเรื่องเวรกรรม มันบ่มจนเขาคิดแบบนั้นไปเลยนะ

นี่พูดในนามของคนที่หลุดออกมาจากวงแล้วนะ แต่ก่อนดอยก็คิดแบบนั้น ผิดปกติ เป็นเวรเป็นกรรม บวชก็ไม่ได้ พอมาถึงวันหนึ่งที่เราทำกระบวนการเรื่องเพศมากขึ้น ทบทวนกับตัวเองว่ามันไม่ใช่ จะบอกว่ามันเป็นไลฟ์สไตล์ก็ใช้ บางครั้ง อย่างรายการเทยเที่ยวไทย นั่นคือจริตของกะเทยหรือเปล่า นี่เป็นคำถามใหญ่ๆ นะ ป๋อมแป๋มเป็นคนที่สนุกตลอดเวลา แต่ต้องมองอีกมุมหนึ่งว่ากะเทยที่นิ่งๆ เงียบๆ ก็มี แต่มุมที่ถูกนำเสนอเป็นมุมนั้นมากกว่า มันทำให้คนเชื่อว่ากะเทยนั่นแหละเป็นคนผลิต

TCIJ: สังคมยัดเยียดภาพลักษณ์ให้กะเทยต้องสวย ไม่ก็ต้องตลก ไม่อย่างนั้นจะไม่มีที่อยู่ที่ยืนในสังคม?

ฐิติญานันท์: ใช่ค่ะ เพราะการแสวงหาโอกาสต่างๆ จะยาก ถ้าคุณสวย คุณก็มีโอกาสมากกว่าอยู่แล้ว ผู้หญิงก็เหมือนกัน นี่คือเรื่องจริง โอกาสทางสังคมไทยมันเป็นเรื่องค่านิยมเรื่องความสวย ถูกมั้ยคะ ดังนั้น ความสวยคือสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญกับชีวิตของคน

แล้วกะเทยล่ะ กะเทยก็ถูกคาดหวังว่า ถ้าไม่สวยก็เป็นกะเทยควาย เกิดมาทำไม เป็นนักมวยเหรอ ไม่อายเหรอ เหมือนกันนะคะ ดอยกับน้องๆ ที่นี่ถูกกดดัน แม่ดอยนี่ตัวกดดันเลย แต่ก่อนเป็นนางงามนะ เดี๋ยวนี้ดูหุ่นซิ ไปไหนก็อายเขา ใส่เสื้อผ้าไหนก็ไม่สวย อายเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องมาแล้ว หนูผิวพรรณสวยมาก หน้าสวย แต่อ้วนไปน่ะ ทำไงดีล่ะ ซึ่งประโยคนี้อาจจะมาจากชุมชนคนทั่วไปในหมู่บ้าน แต่ประเด็นคือถูกคาดหวังแล้วไง ว่าเป็นกะเทยต้องสวยตั้งแต่เกิดจนตายหรือเปล่า คงเหมือนคนที่มีลูกสาว กลัวลูกสาวขายไม่ออก ความสวยคงถูกผลิตซ้ำกับทุกเพศนั่นแหละ แต่พอผู้ชายไม่หล่อน้ำหนักเหมือนจะน้อยกว่ากะเทยที่จะต้องสวย

เราสวยเพราะเราแสวงหาโอกาส เพราะงานที่เราทำเกี่ยวกับความสวยความงาม ส่วนใหญ่กะเทยแปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นช่างแต่งหน้า เป็นนางโชว์ ขายบริการ ความสวยคืออาวุธ ถ้าฉันเป็นครู ฉันไม่ต้องสวยแบบนี้ก็ได้มั้ง ถ้าฉันเป็นหมอ ฉันอาจไม่ต้องแต่งหน้าทุกวันหรือเปล่า นี่แหละค่ะ มันเกี่ยวโยงกันอยู่ระดับหนึ่งว่า ถ้าคุณสวยคุณจะได้รับเลือกให้มีงานทำเรารู้ว่าเราเข้าถึงงานได้ยากกว่าชายหญิงอยู่แล้ว ดังนั้น ความสวยของเราจะไปเป็นตัวปะทะกับบัตรประชาชนที่ยังเป็นนายหรือกับคำถามมากมาย แต่มันดร็อปเรื่องอื่นหมดเลย

แต่ถ้าไม่สวย สมัครงานไหนก็ไม่มีใครรับ ขายบริการก็ขายเฉพาะเทสต์บางเทสต์ที่ขายไม่ออกบ้าง ชีวิตหนูก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา ชีวิตจึงต้องดิ้นรนสู่ความสวย หรือไม่ก็เอาพรสวรรค์ออกมาสิ เป็นตัวตลก คนทั่วไปบอกว่ากะเทยคือเอ็กซ์เมน (มนุษย์กลายพันธุ์) เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษติดตัวตั้งแต่เกิด ไม่ ทุกเพศไม่ได้มีพรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด มันเป็นพรแสวงจากในชีวิตทั้งนั้น ดอยเชื่อแบบนี้

TCIJ: คุณพบเห็นอคติอะไรบ้างที่แปรออกมาเป็นรูปธรรมจากการทำงานกับสาวประเภทสองในพื้นที่พัทยา

ฐิติญานันท์: ก็เรื่องการเหมารวมนี่แหละค่ะ แล้วส่งผลต่อการจับปรับโดยไร้สาเหตุ กลายเป็นว่าภาพของกะเทยพัทยาที่ชัดที่สุดคือขายตัว น้อยคนนักที่จะคิดถึงนางโชว์ เรื่องแรกคือกะเทยขายบริการ กะเทยร้าย กะเทยแรง กะเทยโหด ไปดูในยูทูบ เสิร์ชคำว่ากะเทยจะเจอแต่กะเทยร้าย กะเทยก่ออาชญากรรม กะเทยตีการ์ดหัวแบะ

กลายเป็นว่าคนทั้งพัทยา ทั้งประเทศ ทั้งนักท่องเที่ยว ค่อนข้างที่จะเฝ้าระวังพวกเราโดยไร้สาเหตุ เช่น ดอยอาจจะไม่ได้ขายบริการ แต่เดินออกไปข้างนอกปุ๊บจะมีคนตั้งคำถามแล้วว่า มายืนอะไรตรงนี้ เซลแขกหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ฉันมาจากกรุงเทพฯ มาเที่ยวทะเล แต่ถูกมองไปแล้ว กรณีแบบนี้เกิดขึ้นกับคนทำงานคนหนึ่งของคณะทำงานเครือข่ายเพื่อกะเทยไทยนะคะ ที่ไปยืนหน้าเซเว่นแล้วโดนตั้งคำถามและเกือบโดนจับ ซึ่งงงมาก ภาพที่เห็นชัดคือการเหมารวมว่าพวกเราเป็นแบบนั้นๆ พัทยาต้องเป็นแบบนี้แหละ เหมือนดอยบอกเพื่อนๆ ว่ามาทำงานอยู่พัทยา ทุกคนถามว่าทำงานอะไร แต่ตอนไปอยู่เชียงใหม่ไม่มีใครถาม ถ้าฉันอยู่กาฬสินธุ์คงไม่มีใครถาม พัทยาจึงถูกมองเป็นเมืองแห่งเซ็กส์

TCIJ: ซึ่งนำไปสู่การละเมิด

ฐิติญานันท์: ใช่ เมื่อมองว่ากะเทยพัทยาแรง ซึ่งไม่ทุกคนนะคะ ก็มีอยู่บางส่วน เหมือนในทุกพื้นที่ ดังนั้น การป้องปรามต่างๆ ของเจ้าหน้าที่จะเพ่งเล็งมาที่กะเทยเป็นส่วนใหญ่ เรื่องยา เรื่องฉกชิงวิ่งราว กะเทยคือถูกมองเป็นอาชญากรไปแล้ว

TCIJ: การทำงานในพัทยาคุณจับประเด็นอะไรเป็นหลัก

ฐิติญานันท์: ประเด็นเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องเอดส์ เราเห็นว่าสถิติการติดเชื้อเอชไอวียังสูง สิบกว่าเปอร์เซ็นต์นะคะ พอๆ กับเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผู้หญิงอยู่แค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมกะเทยถึงมีอัตรการติดเชื้อและอัตราการตายสูง ดังนั้น เรื่องเอดส์จึงเป็นปัญหาสำคัญ และซิสเตอร์อยู่ได้จากเงินที่ทำงานเรื่องนี้ เพราะแหล่งทุนของเรามาจากอเมริกาผ่านมูลนิธิพีเอสไอที่กรุงเทพฯ นี่คืองานหลักของเรา งานป้องกัน งานส่งเสริมสุขภาพ การเข้าถึงการตรวจเลือด การเข้าถึงยา

อีกเรื่องคือเรื่องสิทธิ์ ต้องพ่วงสองขา สองเรื่องนี้ถ้าทำสำเร็จจะตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิต ถ้าสิทธิ์ในการเข้าทำงานดีขึ้น คุณก็จะมีเงิน คุณภาพชีวิตคุณก็จะดีขึ้น สอง-ถ้าคุณอยู่กับเอดส์ได้อย่างมีความสุข เข้าถึงยาต้านได้ตลอดชีวิต ถ้าคุณอยู่ได้ คุณก็ส่งเงินให้พ่อแม่ได้ตามปกติ แล้วคุณก็ต้องเซฟเซ็กส์ต่อเนื่อง เห็นชัดเลยว่าถ้าเรื่องเอดส์และเรื่องสิทธิ์ไปด้วยกัน คุณภาพชีวิตของกะเทยจะดีขึ้น

TCIJ: คุณและซิสเตอร์ก็มีส่วนร่วมในการผลักดันร่างกฎหมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต คำนำหน้าชื่อ และการขจัดการเลือกปฏิบัติ ถ้ากฎหมายทั้งสามฉบับผ่านออกมาได้จะช่วยให้ชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศดีขึ้นอย่างไร

ฐิติญานันท์: ดีขึ้นสิคะ ที่ไปติดอยู่ตอนนี้คือตรงไหนรู้มั้ยคะ ตรงคำนำหน้านาม จดทะเบียนสมรสไม่ได้เพราะคำนำหน้านี่แหละ ใครไม่รู้กำหนดต้องเป็นชาย-หญิงแต่งงานกันเท่านั้น เวลายื่นเอกสารบัตรประชาชนเป็นนาย ยื่นพาสสปอร์ตเป็นมิสเตอร์ ทุกอย่างมาจากคำนำหน้านามหมดเลย ดังนั้น สิ่งที่กีดขวางใหญ่มากคือคำนำหน้านาม ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นนางสาวนะคะ บางคนอาจจะอยากเปลี่ยน แต่ไม่รู้จะอยากได้ของผู้หญิงไปทำไม นางสาวแล้วทำไม ทุกวันนี้นางสาวก็ไม่เท่านายอยู่ดี

แต่ประเด็นของเราอยากเปลี่ยนเป็นคำอื่น เช่น ถ้าทำได้ทั้งระบบก็เปลี่ยนเป็นคุณไปเลยหรือคำไหนก็ได้ ถ้าเป็นเอกสารราชการทำยังไง ก็ไปดูที่ใบเกิดสิว่าเพศกำเนิดฉันเป็นอะไร แต่ตอนนี้ฉันเป็นคุณหรือชื่อเหมือนกันหมด มันก็จะไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย

คณะรัฐมนตรีไม่ให้ผ่านหลายเรื่องมาก มันสืบเนื่องจากคำนำหน้านามนี่แหละค่ะ เคยไปประชุมมีคนพูดว่า ถ้าเปลี่ยนได้คุณจะไปหลอกฝรั่ง พี่โง่เหรอคะ ดอยพูดอย่างนี้เลยนะคะ หลอกแต่งงาน ผู้หญิงก็หลอก ผู้ชายก็หลอก หลอกหมดทุกเพศแหละค่ะ อย่าไปบอกว่ากะเทยต้องหลอกฝรั่งแต่งงาน ฝรั่งตาถั่วมาก ดูไม่ออก แล้วไงล่ะ กลายเป็นเห็นกะเทยเป็นอาชญากรอีกแล้ว

มีป้าคนหนึ่งบอกว่า ถ้าไปเปลี่ยนคำนำหน้านาม กะเทยไทยดูไม่ออก สวยขนาดนี้ คนก็แต่งงานกันไปเรื่อย ไม่รู้ใครเป็นผู้หญิง ผู้ชาย แล้วไงคะคุณแม่ ก็เงียบนะ คือแล้วไงล่ะ อีกคนบอกว่าเขามีข้อกฎหมาย นโยบาย ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง มีกฎหมายพ่วงอีกตั้งเยอะแยะ จะไปแก้ไขยังไงได้หมด

TCIJ: แต่ใช่ว่ากฎหมายจะล้างอคติหรือความเชื่อได้

ฐิติญานันท์: แต่กฎหมายจะต้องบังคับ หมายถึงว่าต้องทำงานทั้งสองฝ่าย ข้างล่างต้องดันประเด็นของตนขึ้นไปให้คนรู้สิทธิ์ของตนเองว่าคืออะไร ข้างบนก็ต้องทำลงมาให้เห็นว่ามีช่องทางที่เราจะเดินได้ ทุกวันนี้เหมือนข้างล่างดันขึ้นไป ต่อตัวขึ้นไปสูงมาก แล้วไปตกตรงคณะรัฐมนตรี เพราะคะแนนโหวตจริงๆ แล้วก็เป็นชายหญิงเป็นส่วนใหญ่ ส.ส. ไม่มีกะเทยอยู่ในนั้น ไม่มีใครเป็นหลักที่จะไฟต์ให้เราในนั้น คือมีนะคะ แต่เขาแค่เสียงเดียว สู้หลายเสียงไม่ได้หรอก ส.ส. กฎหมายของพวกเธอเป็นเรื่องยิบย่อย ไว้ก่อน ไม่ได้สำคัญอะไร เขาก็จะมองเป็นเรื่องรอง แล้วเขาไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยจากเรื่องนี้

เราเข้าใจว่ามีปัญหาหลายเรื่องในประเทศไทย แต่ถ้ามีกฎหมายก็จะเป็นหลักให้เรายึด เช่น นายอำเภอคะทำไมไม่จดทะเบียนแต่งงานให้หนูคะ นี่ค่ะ พ.ร.บ.ชีวิตคู่ ที่ประกาศใช้แล้ว ถ้าพี่ไม่ทำให้หนูเท่ากับพี่ทำผิดกฎนะคะ ดังนั้น ถ้าคำนำหน้านามเปลี่ยนได้ ส่งผลถึง พ.ร.บ.ชีวิตคู่แน่นอน

แนวโน้มตอนนี้คือเราทำกับกฎหมายใหญ่ไม่ได้ เพราะประชาพิจารณ์คนจะรุมกระหน่ำกะเทยมากว่ากะเทยเรียกร้องเยอะ แต่สิ่งที่เราจะทำได้คือสร้างกฎหมายตัวใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวคู่ขนานกับกฎหมายชายหญิง ไม่ต้องไปล้มล้างของเดิม เขาแต่งงานกันมากี่ล้านคู่แล้ว เราห้ามแตะ ไปแตะเดี๋ยวจะลุกมาประท้วงกะเทยอีก กฎหมายเดิมยังคงอยู่ เพียงแต่เพิ่มกฎหมายของหนูเข้าไป หนูก็ควรได้สิทธิเหมือนกัน เราจะไม่ไปแก้ว่าทุกคู่สามารถแต่งงานกันได้ในกฎหมายใหญ่ ยุ่งเลยนะคะ เพราะต้องไปแก้กฎหมายและเอกสารอีกเยอะมาก

TCIJ: ในส่วนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติไปถึงไหนแล้ว

ฐิติญานันท์: ยังไม่ไปถึงไหน ที่เห็นชัดมากอย่างเรื่องการเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน เพราะฉะนั้นมันมีช่องทางหรือเปล่า อย่างตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 มีมาตรา 30 ที่บอกว่าห้ามเลือกปฏิบัติ แต่ขยายคำว่าเพศเป็นความหลากหลายทางเพศด้วย ดึงคำว่าเพศออกมา แล้วย่อยลงไปว่าเพศนั้นหมายถึงอะไร ต้องรวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชายหญิงด้วย

แล้วยังไง ก็ทำอะไรไม่ได้ ถูกมั้ยคะ แต่ถ้าวันนี้ หนูไปสมัครงานกับพี่ พี่บอกว่าผมไม่รับน้องเข้าทำงานเพราะคิดว่าตำแหน่งนี้ไม่เหมาะสมกับน้อง โอเคค่ะ เพราะนายจ้างมีสิทธิ์เลือกนายจ้างเข้าทำงาน แต่ถ้าพี่บอกว่าผมไม่เลือกคุณเข้าทำงานเพราะคุณมีเพศสภาพเป็นกะเทย ซึ่งอาจจะส่งผลเสียกับภาพลักษณ์ต่อบริษัทผม พี่คะ ช่วยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรได้มั้ยคะว่าพี่ไม่เลือกหนูเพราะหนูเป็นกะเทย แล้วหนูเอาใบนี้ไปยื่นจัดการนายจ้างคนนี้ได้ว่า เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ต้องให้เห็นชัดแบบนี้ แล้วยังไงต่อ มาตรา 30 ทำอะไรไม่ได้ เพราะบังคับใช้ลำบาก เพราะฉะนั้นแล้วต้องบอกว่า ถ้าเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศจะต้องจำคุกไม่เกินกี่ปี จ่ายค่าสินไหมเท่าไหร่ ต้องเป็นแบบนี้ถึงจะบังคับใช้ได้ทั้งประเทศ ต่างประเทศเข้มมากกับเรื่องนี้ และถ้าโวยวายขึ้นมาปุ๊บจะมีองค์กรที่เกี่ยวกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศสนับสนุนยิ่งกว่าเดินขบวนตามถนน และการเดินขบวนก็มีผู้ชาย ผู้หญิงเข้าร่วม ทำให้มีพลังมากกว่า

TCIJ: ฟังจากที่คุณพูดมาทำให้เห็นวงจรบางอย่าง อคติ การไม่ยอมรับ ทำให้ขาดโอกาส ซึ่งผลักดันให้กะเทยต้องเข้าไปสู่งานบริการ

ฐิติญานันท์: ถูกต้องค่ะ ต้องดิ้นรน

TCIJ: จะทำลายวงจรนี้ได้อย่างไร

ฐิติญานันท์: มองเรื่องนโยบายเลยค่ะ ถ้าบอกว่าส่งเสริมให้เด็กเรียนฟรี มีให้กู้ เรียนจบแล้วยังไง ตกงานเป็นแสนกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ เท่ากับศูนย์ ดังนั้น ต้องไปโต้แย้งกับทางนโยบายว่า ถ้าเรียนจบก็ต้องหางานรองรับด้วยหรือไม่มีการเลือกปฏิบัติ อันนี้เป็นการทำงานทางความคิดในอนาคต ชาย-หญิงก็ตกงานกันเยอะ

คงไม่ใช่ทำให้มันหายไปเลยหรอก มันคงยังมีอยู่ ความคิดของตัวเองนะ จะทำลายทำไม เป็นทางเลือก สมมติว่าถ้าระบบเปิดโอกาสให้กะเทยเต็มที่ เป็นข้าราชการ เป็นแพทย์ได้ แต่คนส่วนหนึ่งไม่เอาก็จะไม่เอาอยู่ดี แต่เป็นการเปิดโอกาส เปิดพื้นที่มากกว่า ส่วนงานบริการทำให้ถูกกฎหมายและเป็นมืออาชีพได้ก็จะดีนะ พนักงานบริการทุกคนอาจจะต้องมีประกาศนียบัตรหนึ่งใบ เฮ้ย ฉันเช็คสุขภาพตัวเองตลอดเลย ฉันตรวจเลือดหนึ่ง สอง สาม สี่ ซึ่งใช่ มันอาจเป็นการตีตราคนที่ติดเชื้อ แต่หมายถึงว่าต้องทำให้คนอาชีพขายบริการเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย คนสามารถเลือกที่จะทำงานบริการได้

ไม่ได้บอกว่างานบริการมันด้อยค่านะ งานบริการมันมีมานานแล้ว ยังไงก็ไม่หายไปจากโลกนี้ ขณะที่ยังมีอุปสงค์หรือความต้องการซื้ออยู่เยอะ อุปทานก็สนองตามนั้น เพียงแต่รูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ทีนี้ ทำยังไงก็ได้ให้ระบบสนับสนุนคนเหล่านี้ด้วย

ประเด็นคือทุกวันนี้กะเทย สาวประเภทสอง ไม่มีทางที่จะเข้าไปในระบบราชการได้เลย เราถูกบีบ ถูกต้อนให้มาทางนี้ น้องที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จบเกียรตินิยม จบปริญญาโท แล้วยังไงล่ะ ส่วนมากไปขายบริการต่างประเทศหมดเลยนะ เหมือนกับว่าโอกาสมีไม่เยอะ ไม่ใช่ว่ากะเทยทุกคนรักสบาย งานง่าย ได้เงินดี มันมีหลายเหตุผล บางคนถูกบีบ ไม่มีงานก็ต้องมาขายตัว บางคนก็ภูมิใจกับงานที่ทำ ไม่ได้เดือดร้อน บ้านรวย แต่อยากขายบริการ แล้วมีสิทธิ์อะไรมาว่าฉัน ในเมื่อมันเป็นเนื้อตัวร่างกายของเขา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: