จี้ไทยถอนตัวถกเอฟทีเอ หวั่นต่างชาติฟ้อง-สูญเงิน

15 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1428 ครั้ง

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พับบลิค ซิติเซ่น องค์กรวิชาการของสหรัฐอเมริกา ที่เกาะติดพฤติกรรมของบรรษัทข้ามชาติ จัดอันดับประเทศที่ถูกบรรษัทข้ามชาติใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ไปฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 24 จาก 100 ประเทศ จากการถูกฟ้องคดีโทลเวย์ 1 คดี ซึ่งไทยแพ้ต่อบริษัท วอเตอร์บาวน์ สัญชาติเยอรมนี ถูกสั่งจ่ายกว่า 41ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ประเทศที่ติดอันดับถูกเอกชนฟ้องรัฐ ภายใต้กลไกดังกล่าวสูงสุดคือ ประเทศอาร์เจนติน่า ถูกฟ้องมากถึง 53 คดี แพ้ไปแล้ว 15 คดี รองลงมาคือ ประเทศเอกวาดอร์ ถูกฟ้อง 22 คดี แพ้แล้ว 5 คดี ในอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย ถูกฟ้อง 5 คดียังไม่แพ้ ประเทศฟิลิปปินส์ถูกฟ้อง 4 คดียังไม่แพ้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากวงเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่ต้องจ่ายให้กับบรรษัทข้ามชาติแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 13 แพ้คดีโทลเวย์ ถูกอนุญาโตตุลาการสั่งจ่ายให้กับวอเตอร์บาวน์มากถึง 41.145 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาท

ส่วนประเทศที่แพ้คดีต้องจ่ายให้บรรษัทข้ามชาติมากที่สุด คือ

·       ประเทศเอกวาดอร์ 1,928 ล้านดอลลาร์

·       ประเทศอาร์เจนตินา 1,140 ล้านดอลลาร์

·       ประเทศลิเบีย 947 ล้านดอลลาร์

·       ประเทศสโลวาเกีย 896 ล้านดอลลาร์

·       ประเทศคาซัคสถาน 637 ล้านดอลลาร์

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า ใน 20 อันดับแรก ของประเทศที่ต้องนำเงินงบประมาณแผ่นดิน ไปจ่ายให้กับบรรษัทข้ามชาติตามกลไก ISDS นี้ แล้วจะพบว่า มีแต่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งกลไกนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มอำนาจให้กับนักลงทุนต่างชาติ ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน หรือล้มนโยบายที่ขัดขวางการทำกำไรสูงสุด โดยมีความพยายามใส่กลไกนี้เข้ามาในการเจรจาเอฟทีเอ และความตกลงด้านการลงทุนต่าง ๆ

             “ขณะนี้มีกระแสที่ให้มีการทบทวนกลไกดังกล่าวในหลายประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ถูกบริษัททำเหมืองเชอร์ชิลฟ้อง ที่ไปเพิกถอนสัมปทาน ทั้งที่สัมปทานดังกล่าวบริษัท เชอร์ชิลได้มาอย่างผิดกฎหมาย ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจตั้งคณะกรรมการขึ้นมา พิจารณาทบทวนความตกลงด้านการลงทุนและเอฟทีเอ ต่าง ๆ ที่มีกลไกเช่นนี้ เช่นเดียวกับอินเดียก็กำลังเดินหน้าทบทวนเช่นกัน ส่วนเอกวาดอร์ได้ทำการทบทวนและถอนตัวออกจากการกลไกดังกล่าวแล้ว คงต้องตั้งคำถามถึงกระทรวงต่างประเทศของไทย ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ในการไปเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่าง ๆ”

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ระบุว่า ขณะนี้ในการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ทางอียูพยายามกดดันไทยให้ยอมรับกลไกดังกล่าว โดยอ้างว่ามีการปรับปรุงเนื้อหา เพื่อให้การฟ้องร้องต่อนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ประเทศจะไม่เป็นฝ่ายแพ้คดีง่าย ๆ

               “ประเด็นสำคัญคือ เนื้อหาที่อียูปรับปรุง ยังยอมให้นักลงทุนฟ้องรัฐได้ ในนโยบายสาธารณะ หรือแม้แต่กฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชน โดยปลอบใจว่า รัฐจะไม่แพ้คดีง่าย ๆ แต่ค่าสู้คดีในอนุญาโตตุลาการสูงมาก แค่ในคดีวอเตอร์บาวน์ เราแพ้คดีสูญเงินภาษีไปเป็นเงินไทย 1,400 ล้านบาท ค่าสู้คดีอีกไม่ต่ำกว่า 140 ล้านบาท ดังนั้นนักเจรจาฝ่ายไทย จึงต้องไม่ยอมรับกลไกดังกล่าว”

สำหรับ ISDS หรือ Investor-State Dispute Settlement คือกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องล้มนโยบาย เรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล (ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน) ได้ กลไก ISDS นี้ส่วนใหญ่จะซ่อนตัวอยู่ในความตกลงด้านการลงทุน และเอฟทีเอต่าง ๆ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: