บทวิเคราะห์ : ไม่เอาแต่เอาหมด?

ใบตองแห้ง 15 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1192 ครั้ง

เพราะมีคำถามทันทีว่า แล้ว อ.อัมมาร สยามวาลา, อ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการ NGOs คนอื่น ๆ เห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้งหรือเปล่า ถ้าเห็นด้วย ก็แปลว่าเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา ล่มแล้ว เหลือแต่สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และบางคนบางองค์กรที่แสดงจุดยืนชัดเจนอย่าง อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, อ.จอน อึ๊งภากรณ์, สมัชชาคนจน, พีมูฟ

คำว่า “เอาเลือกตั้ง” แม้ไม่กำหนดวันที่ แต่ภายใต้องค์ประกอบทั้งหมด “เอาเลือกตั้ง เอาปฏิรูป ไม่เอาความรุนแรง ไม่เอารัฐประหาร” ก็คือเอาเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นั่นเอง เพราะไม่เช่นนั้นจะต่างกับ กปปส.ตรงไหน ในเมื่อ กปปส.ก็แถกไถว่า พวกเขาเอาเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ยิ่งคุณหมอสมศักดิ์ พูดว่าไม่ได้ขัดแย้งกับชมรมแพทย์ชนบท (ที่เป็นกรรมการ กปปส.ไปแล้ว) ยิ่งทำให้สงสัยว่าท่านขึ้นเวทีมาประกาศเจตนารมณ์หาพระแสงอันใด

“เลื่อนเลือกตั้ง” กับ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ในทางกฎหมายไม่ต่างกัน เพราะไม่มีช่องให้ทำได้ อย่าพูดสวยหรูว่า กฎหมายไม่สำคัญ ควรหันหน้าเข้าหากันแก้ปัญหา เพราะมันไม่ใช่หันหน้าเข้าหากัน ข้อเสนอ “เลื่อนเลือกตั้ง” ของ กกต.เป็น “เกมการเมือง” ผลักภาระ สร้างแรงกดดันรัฐบาล ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าทำไม่ได้ แต่จะปลุกกระแสไร้สติให้โทษรัฐบาลว่าไม่ยอมเลื่อนเลือกตั้ง

“เลื่อนเลือกตั้ง” กับ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เป็น step ต่อเนื่องกัน ในเกมการเมือง 2 ขา ที่ด้านหนึ่งใช้ม็อบกดดัน “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” จับสังคมเป็นตัวประกัน แล้วอีกด้านหนึ่งก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนเลือกตั้ง เพื่อให้ “ตัวประกัน” โทษรัฐบาล

ถามว่าถ้าเลื่อนได้ ถ้ายอมเลื่อน แล้วไง ม็อบจะยอมให้รัฐบาลรักษาการต่อไปหรือ พรรคประชาธิปัตย์จะยอมลงเลือกตั้งหรือ อ.สมเกียรติ คุณหมอสมศักดิ์ สามารถเจรจาให้ประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งหรือ

ไม่ใช่หรอกครับ step ถัดไปจาก “เลื่อนเลือกตั้ง” ก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เรียกร้องนายกฯ คนกลาง นี่ต่างหากเป้าหมายที่แท้จริง แต่ที่ผ่านมาพวกเขาสร้าง “เป้าลวง” ม็อบประกาศไล่รัฐบาลแล้วจะตั้งรัฐบาลเอง จะตั้งสภาเถื่อน ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่การตั้งเป้าสุดโต่งเช่นนี้ ก็เพื่อสร้างข้อต่อรองกับสังคม โดยสร้างภาพว่าทางหนึ่งคือ ถ้าม็อบชนะ ถ้าสุเทพชนะ เสื้อแดงก็ต่อต้าน อีกทางหนึ่ง ถ้ามีเลือกตั้ง แล้วเพื่อไทยชนะ ม็อบก็ไม่เลิกเสียที ฉะนั้น “พบกันครึ่งทางดีกว่า” ตัวประกันคือสังคมไทยที่มักหยวนยอมง่ายอยู่แล้ว ก็จะคล้อยตาม

ถามว่าเกมแบบนี้ อ.สมเกียรติ คุณหมอสมศักดิ์ อ่านไม่ออกหรือครับ ถึงได้กลายเป็นเครื่องมือไปด้วย

การเรียกร้อง “เลื่อนเลือกตั้ง” หรือ “นายกฯ คนกลาง” ไม่ทำให้สังคมพ้นความรุนแรง เพราะเมื่อขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลทำไม่ได้ ไม่สามารถแถตามนักวิชาการใต้เวทีม็อบ พวกเขาก็ปลุกกระแสไร้สติกดดัน เช่นสื่อจะประโคม “อีปูดื้อ” “หวงอำนาจ” ม็อบจะยิ่งคลั่ง (นี่ดีว่ารัฐบาลไหวทัน ไม่ปฏิเสธทันที เชิญทุกฝ่ายไปหารือว่าเลื่อนเลือกตั้งได้จริงหรือ)

หรือต่อให้บีบจนรัฐบาลต้องออก และมีนายกฯ คนกลาง อ.สมเกียรติ คุณหมอสมศักดิ์ คิดว่ากลางจริงหรือครับ แล้วจะแก้ปัญหาได้หรือครับ สังคมไทยยังเหลือ “คนกลาง” ที่ไหนอยู่หรือ แล้ว “คนกลาง” ที่มาจากการข่มขู่บังคับจับสังคมเป็นตัวประกัน โค่นล้มอำนาจจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาอย่างสะอาดบริสุทธิ์ จะเป็นกลางจริงหรือ

สุดท้ายก็หนีไม่พ้นฆ่าฟันกันอยู่ดี และวิถีทางนี้ก็คือ “รัฐประหารเงียบ” นั่นเอง

ถามว่า อ.สมเกียรติ คุณหมอสมศักดิ์ ไม่เอารัฐประหาร แต่เอารัฐประหารเงียบไหม ถ้าบอกแต่ว่าไม่เอารัฐประหารรถถัง ไม่อยากเห็นคนตาย “2 ไม่เอา” แล้วที่เหลือเอาทุกอย่าง เอาปฏิรูป เอาเลือกตั้ง (เมื่อไหร่ก็ได้) เอาเลื่อนเลือกตั้ง เอานายกฯ ไม่มาจากเลือกตั้ง เอาหมด 2 ไม่เอานั้นก็ไม่มีความหมายหรอกครับ

เสียดาย ‘สลายขั้ว’

เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา แม้ปั่นป่วนเรรวน แต่อย่างน้อย คำแถลงเมื่อวันศุกร์ ก็แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นกลุ่มคนและองค์กรที่ไม่เห็นด้วยการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของ กปปส.

เพียงแต่เสียดายที่อาจไปไม่ถึงเป้า นั่นคือร่วมกันสร้างพลังที่สาม สร้างทางเลือกที่ควรจะเป็น สามัคคีพลังรักสงบในสังคม ตรึงม็อบไว้ให้ไม่เกิดการแตกหัก ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ทำให้เกิดการเลือกตั้ง พร้อมกับเรียกร้องรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปจากทุกฝ่าย (ซึ่งผมเห็นว่าโมเดลที่ อ.สมเกียรติเสนอคือ 30 คน จาก กปปส.และ ปชป.10 คน รัฐบาล+เสื้อแดง 10 คน และคนกลาง 10 คน เป็น “ตุ๊กตา” ที่เข้าท่าที่สุด) พร้อมกับให้สัตยาบันว่าจะยุบสภาไม่เกิน 1 ปี และจะไม่ใช้อำนาจ ไม่ดำเนินนโยบายที่สังคมยังขัดแย้ง

นั่นต่างหากที่ควรจะเป็นการ “พบกันครึ่งทาง” ตามหลักการ ซึ่งถ้าปราศจากพลังที่สาม ทั้งสองขั้วก็ไม่มีทางยอม

แต่พอเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอาปั่นป่วนเรรวนอย่างนี้ ก็เข้าทางผู้ที่ปรามาสว่า “นักวิชาการโลกสวย” เอาเข้าจริงทำอะไรไม่ได้เลย (ส่วน “ไอ้ลิ้นสองแฉก” ขอมอบให้ผู้กล่าว ซึ่งเคยแอบอ้างสร้างชื่อเป็นนักประชาธิปไตย ประณาม 6 ตุลา โหน อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์)

ที่จริงผมสะดุ้งมาตั้งแต่ตอนอัดเทป อ.สมเกียรติ ในรายการ Intelligence แต่ไม่ก้าวก่ายความคิดเห็น เพียงสงสัยอยู่ว่าตอนเจรจากัน ได้ตกลงไว้อย่างไร ถ้า “เอาเลือกตั้ง” ทำไมเห็นด้วยกับ “เลื่อนเลือกตั้ง”

ยอมรับว่าผิดหวัง แต่ไม่ใช่หวังจะให้เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอามาต้าน กปปส.ผมมองยาวกว่านั้น คืออยากให้เกิดการ Reposition อย่างที่ อ.เกษียร เตชะพีระ เสนอ และ TDRI เองก็พยายาม Repo แต่จะมาตกม้าตายครั้งนี้เอง

ทำไมต้อง Reposition ก็เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา การตรวจสอบรัฐบาลไม่สามารถทำได้ เพราะสื่อ นักวิชาการ ทำลายตัวเองจากการร่วมมือกับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ TDRI (ซึ่งอดีตประธานไปเป็นรัฐมนตรีขิงแก่) เสนอเรื่องใดก็ถูกมวลชนประชาธิปไตยแอนตี้ ติดภาพยี้ ทั้งที่หลายเรื่อง TDRI เสนอมีประโยชน์ เช่นจำนำข้าว แม้ข้อวิจารณ์ของบางท่านแฝงอคติ แต่ก็มีด้านที่ควรฟัง ถ้าแยกขั้วกันต่อไปไม่สลายขั้ว ก็ไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตย

ที่ผ่านมา ในการทำรายการ Intelligence ทาง Voice TV ผมก็พยายามสลายขั้ว ผมเชิญ อ.สมเกียรติมาคุยเรื่อง กสทช.คุยเรื่องปฏิรูปการศึกษา เชิญ NGO กลุ่ม FTA Watch ซึ่งเป็นขาประจำไม่เฉพาะรายการผม ตอนทำซีรีส์ 14 ตุลา ก็เชิญหมอวิชัย โชควิวัฒน, หมอพลเดช ปื่นประทีป, ธัญญา ชุนชฎาธาร เชิญหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ มาคุยเรื่อง 112 และพฤษภา 53

ยกเว้นไม่เชิญรสนา โตสิตระกูล เพราะกลัวคนดูที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางเสื้อแดงต้องซื้อทีวีใหม่ (ฮา)

กระแสตอบรับไม่ดีนักหรอก แต่ต้องใช้เวลา จนมาเกิด “มวลมหาประชาชน” ที่หลายๆ คนกลับไปสุดขั้วสุดโต่งอีก (พี่หมอนิรันดร์ก็ตกม้าตายตอนรายงานพฤษภา 53 ของกรรมการสิทธิ)

กระนั้นผมก็โล่งอก ที่ไม่เห็น TDRI ไปอยู่ข้างเวทีม็อบ ไม่เห็น TDRI ช่วยโหมไฟให้ม็อบ เมื่อประกาศเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา ผมก็ยังชูประเด็นว่าเห็นไหม TDRI เพิ่งวิจารณ์จำนำข้าวแหม็บๆ แต่ไม่เอากับ กปปส. (ฉะนั้น ก็ควรฟังคำวิจารณ์ของ TDRI บ้าง)

วันก่อตั้ง 2 เอา 2 ไม่เอา ผมพยายามชักชวนแฟนคลับให้กด like แต่กลับไม่มากเท่าสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ที่วันเดียวพรวดไปเป็นแสนๆ หลายคนกังขา นี่มา “ฟอกตัว” หรือเปล่า เอ๊ะ บางคนน่าจะอยู่บนเวที กปปส.ไม่ใช่หรือ ฯลฯ แต่แน่นอนต้องใช้เวลากว่าคนจะยอมรับ ต้องใช้เวลากว่าจะสร้างความเชื่อมั่นว่านี่คือกลุ่มคนที่ไม่มีอคติ ถ้าเขาวิจารณ์รัฐบาลบ้างก็ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงใจ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

แต่พอ อ.สมเกียรติพูดอย่างนี้ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ คุณหมอสมศักดิ์ก็เช่นกัน ผมยังแอบหวังว่าจะเหลือ “เครือข่ายหมอประเวศ” ที่เสื้อแดงฟังซักคน เพราะชมรมแพทย์ชนบทกลายเป็นศัตรูมวลชนเสื้อแดงไปแล้ว ต่อไปจะมาอ้างการต่อสู้เพื่อ 30 บาท เสื้อแดงคงรับได้ยาก ในเมื่อพวกแพทย์ขนกันมาเป่านกหวีด โดยบางแห่งอ้างว่ามาตั้งโรงพยาบาลสนามอาสา เบิกงบหลวง ได้เบี้ยเลี้ยง ไม่ต้องลางานด้วย

สำหรับผม ชมรมแพทย์ชนบท นอกจากไม่เข้าใจบทบาทตัวเองที่ต้องทำงานกับประชาชนทั้งสองฝ่าย กระโดดไปเป็นแกนนำ กปปส.ยังกลายเป็น “นักการเมืองน้ำเน่า” เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าปลัดกระทรวงรับใช้รัฐมนตรี เป็นไม้เบื่อไม้เมา รบรากัน เห็นเป็นตัวร้ายมาตลอด (ตอนแต่งตั้งโยกย้ายก็ถูกวิจารณ์ว่า “เชียงใหม่คอนเนคชั่น”) กองเชียร์ปลัดก็พวกแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ที่ต่อสู้กันจะเป็นจะตายเรื่อง P4P เบี้ยเหมาจ่าย แต่แหม พอปลัดทำตัวเป็นจิ้งจกเปลี่ยนสี ชมรมแพทย์ชนบทที่ไม่กี่วันก่อนยังชูป้ายไล่ปลัด กับหมออำพล จินดาวัฒนะ ก็เผอิดเผสินเยินยอราวเทพจุติ

ทำแบบนี้คือนักการเมืองน้ำเน่า ทำทุกอย่างเพื่อเป้าหมายโดยไม่เลือกวิธีการ ต่อไปพวก “หมอกระทรวง” กลับมาเล่นงาน ก็อย่าร้องเอ๋งๆ นะครับ

ที่ผ่านมาผมก็ไม่เห็นด้วยกับ P4P เห็นว่าไม่ควรยกเลิกเบี้ยเหมาจ่าย แต่มาสะดุดกึกเสียความรู้สึกตอนรู้ว่าชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องเฉพาะผลประโยชน์ตัว ไม่ต่อสู้ให้พยาบาล หรือวิชาชีพอื่น ที่ได้เบี้ยเหมาจ่ายต่ำติดดิน

เลื่อนเลือกตั้งไม่ได้

ขอย้ำว่าข้อเสนอของ กกต.ที่ให้เลื่อนเลือกตั้งเป็นการ “เล่นเล่ห์”

วันเลือกตั้งกำหนดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 “การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”

ถ้าเลือกได้ไม่ครบ จึงใช้มาตรา 93 “ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงห้าร้อยคน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่”

ฉะนั้นที่ กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร อ้างว่าเลื่อนได้ภายใน 180 วัน ไปเลือกวันที่ 4 พ.ค.จึง “มั่วตาใส” แค่เอาตำแหน่งหน้าที่มาใช้มั่วตัวบทกฎหมายที่แม้แต่เด็กนิติศาสตร์ปี 1 ก็เข้าใจ

กกต.ซึ่ง 3 ใน 5 คนมาจากผู้พิพากษารู้ดี ว่าเลื่อนไม่ได้ ในจดหมายเป็นทางการถึงนายกฯ จึงไม่บอกให้เลื่อนไปวันที 4 พ.ค.อย่างที่สมชัยพูด แต่เขียนอ้างเหตุผลโน่นนี่ที่ควรเลื่อนยาวเหยียด ลงท้ายไม่บอกว่าจะใช้กฎหมายข้อไหน แต่ผลักภาระไปให้รัฐบาลตัดสินใจเลื่อนเลือกตั้ง

รู้ว่าทำไม่ได้ แต่ยังเสนอให้ทำ มีเจตนาอะไร

ข้ออ้างของ กกต.มีเหตุทางกฎหมายข้อเดียว คืออ้างว่าเมื่อศาลฎีกาไม่รับผู้สมัคร 28 เขต หากจัดให้มีการเลือกตั้งก็เท่ากับขัดมาตรา 108 “วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร” ที่อย่างนี้ไม่อ้างมาตรา 93 วันเลือกตั้งกำหนดเป็นวันเดียวกัน แต่ที่ไหนเลือกไม่ได้ ก็เลือกตามหลังได้สิครับ ขออ้างแบบมีชัย ฤชุพันธุ์ สมมติวันเลือกตั้งมีหิมะตกที่เชียงใหม่ มีสึนามิถล่มภาคใต้ ต้องเลื่อนไป 7 วัน ถามว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะไหม

แต่การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้อย่างน้อยท่านก็สามารถจัดการเลือกตั้งระบบปาร์ตี้ลิสต์วันเดียวกันทั่วประเทศอยู่ดี ส่วนที่อ้างว่าจัดไม่ได้ไม่มีกรรมการหน่วยไม่มีความร่วมมือ ฯลฯ อำนาจ กกต.มีล้นฟ้าครับ ท่านจะดัดแปลงอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำทื่อๆ ตาใสๆ แบบรับสมัครที่สนามไทยญี่ปุ่นดินแดงทั้งที่รู้ว่าม็อบจะบุก

ขอเรียนความจริง 2 ข้อ โต้ข้อเสนอเลื่อนเลือกตั้งว่า อันที่จริง การเลือกตั้งเริ่มขึ้นแล้วครับ เหลือแต่วันลงคะแนนเท่านั้น การเลือกตั้งในต่างประเทศเริ่มต้นไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.มีคนลงทะเบียนนับแสนคน การเลือกตั้งเริ่มต้นไปแล้ว ตั้งแต่วันรับสมัคร ให้เบอร์ ผู้สมัครก็ทำป้ายไปแล้ว กกต.พิมพ์บัตร จัดซื้อจัดเตรียมอุปกรณ์ไปแล้ว กกต.สมชัยก็รู้ดี

ฉะนั้นข้อสอง ที่ สตง.อ้างว่าเงิน 3,800 ล้านสูญเปล่า ความจริงใช้เงินไปแล้วพันกว่าล้าน ถ้าเลื่อนก็สูญเปล่า เงินค่าจัดการรับสมัคร พิมพ์บัตร จัดอุปกรณ์ การตรวจความพร้อม เช่นค่าเดินทางค่าที่พัก กกต.สมชัยลงไปถ่ายภาพเท่ๆ กับกองกำลัง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ใช้ไปแล้ว

เงินที่ต้องใช้อีก 2 พันกว่าล้านบาทไม่ได้สูญเปล่า เพราะใช้เพื่อยืนหยัดในหลักกติกาประชาธิปไตย แต่ทำไม สตง.คิดแค่ประหยัดเงินเพื่อยอมแพ้อนาธิปไตย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: