ธปท.ชี้หนี้ภาคครัวเรือน เหนือ-อีสานน่าเป็นห่วง

TCIJ 14 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1528 ครั้ง

งานวิจัย ธปท. ระบุระดับหนี้ครัวเรือนภาคเหนือและอีสานน่าห่วง ทั้งภาคเกษตรกรและนอกภาคเกษตรกร ขณะที่ภาคใต้มีความเสี่ยงในอนาคตจากราคาพืชผลตกต่ำ แนะให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชน ทำบัญชีครัวเรือน

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานจากงานสัมนาวิชาการเรื่อง ‘ปัญหาและทางออกหนี้ครัวเรือนไทย’จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการนำเสนอผลการศึกษาของ ธปท. ทั้ง 3 สำนักงานภาคคือสำนักงานภาคเหนือ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานภาคใต้ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี

งานศึกษาดังกล่าว พบว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มีความหนักเบาแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยครัวเรือนภาคใต้มีภาระหนี้ต่ำที่สุดและยังไม่น่ากังวล ขณะที่ครัวเรือนภาคอีสานและภาคเหนือมีภาระหนี้ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มที่น่าห่วงมากขึ้น

โดยกลุ่มอาชีพนอกภาคเกษตรมีหนี้สูงอันเป็นผลจากกระแสการบริโภคนิยม ขณะที่ครัวเรือนภาคเกษตรมีหนี้สูงจากรายได้ต่ำ เพราะการผลิตพึ่งพาสภาพดิน ฟ้า อากาศที่มีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ครัวเรือนเกษตรของภาคใต้มีโอกาสเกิดความเสี่ยงมากขึ้นในอีกระยะ 4-5 ปีข้างหน้า จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา หรือปาล์มน้ำมันอาจมีแนวโน้มลดลง

ทางออกของปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเกษตร ได้แก่ 1) เพิ่มรายได้ โดยการลดความเสี่ยงจากการผลิตพืชหลายๆ อย่าง การนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงผลิตภาพการผลิต การจับกระแสสังคมของผู้บริโภค รวมถึงการผสมผสานระหว่างการขยายพื้นที่เพาะปลูก การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการลดต้นทุน 2) ลดรายจ่าย โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้อดออมมากขึ้น และ 3) ทั้งเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายโดยการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของชุมชน

ส่วนการแก้ปัญหาครัวเรือนนอกภาคเกษตร ได้แก่ 1) เพิ่มรายได้ โดยอาศัยความรู้และช่องทางการตลาด 2) ลดรายจ่าย โดยเปลี่ยนจากหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ ถึงแม้ว่าความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเหมือนกันคือครัวเรือนต้องมีการวางแผนทางการเงินบนฐานของความรู้ทางการเงิน และเครื่องมือที่สำคัญคือการบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน

ผลการศึกษายังมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ได้แก่ การยกระดับรายได้โดยการปรับเปลี่ยนการผลิตให้มีความหลากหลาย การปรับปรุงวิธีการผลิตอย่างผสมผสาน และการหาช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย การส่งเสริมวินัยในการออม ไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น และการลดกระแสการบริโภคนิยม โดยอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ในส่วนของมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ งานศึกษาเห็นว่าควรมีการดำเนินการอย่างเหมาะสม มุ่งเน้นให้มีการปรับตัว มีวินัย มีความรู้ อดออม และลงทุนอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะปลูกฝังการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อสร้างวินัยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: