14 มีนาวันหยุดเขื่อนโลก

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน 14 มี.ค. 2557


เสียงสะท้อนจากพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน

เขื่อน (DAM) ตามความเข้าใจในพจนานุกรมราชบัญฑิตยสถาน  พ.ศ.2542 หมายถึง เครื่องป้องกันไม่ให้ตลิ่งพัง  สิ่งก่อสร้างขวางกั้นลำน้ำ เพื่อกักกันน้ำไว้ใช้ในทางชลประทาน เป็นต้น

แต่ถ้ากล่าวถึงเขื่อนมันเป็นภาพความจริงที่ทำลายชุมชน  ทำลายวัฒนธรรม ทำลายสิ่งแวดล้อม 

เพราะทุกครั้งที่สร้างเขื่อน  ก็คือการปิดแม่น้ำขนาดใหญ่ ไปจนถึงการปิดลำคลองขนาดเล็กเพื่อให้เกิดน้ำท่วมบริเวณที่ปิดแม่น้ำเหล่านั้น  และบริเวณที่น้ำท่วมก็เป็นที่ตั้งของชุมชน วัด โรงเรียน ซึ่งจะต้องมีการรื้อย้าย อพยพและนี่คือผลกระทบ

เขื่อนกับการพัฒนา มักเป็น 2 คำ ที่ถูกเขียนไว้คู่กันเสมอมา ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน สังคมไทยเพิ่งจะตั้งคำถามกับ “เขื่อน” แต่สำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อนแล้ว  คำถามจำนวนมากได้ถูกตั้งขึ้นมานานแล้ว

เขื่อนปากมูน จ.อุบลราชธานี (ภาพจากไทยรัฐ)

เขื่อนถูกสร้างขึ้นบนความรู้เพียงด้านเดียวคือ ด้านวิศวกรรม แต่นับจากเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดต่างๆ  ถูกทยอยสร้างขึ้นมากมายบนโลก ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากเขื่อน จึงปรากฏชัดเจนขึ้น  ทั้งด้านสังคมวิทยา วัฒนธรรมชุมชน จริยธรรม นิเวศวิทยา เศรษฐศาสตร์ การเมือง  ฯลฯ

เมื่อก่อนเรามีความรู้อย่างผิวเผินว่า  เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและให้น้ำเพื่อชลประทาน และประโยชน์ด้านต่างๆ อย่างอเนกประสงค์ แต่ความจริงที่เราค้นพบก็คือ เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ต้องแลกมาเช่น กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งเราค้นพบข้อมูลมากมาย จากงานวิจัยของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี งานวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจนว่า เขื่อนไม่สามารถให้ชลประทานได้คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องการกักเก็บ เพราะข้อจำกัดจำนวนมากเช่น ด้านงบประมาณ ด้านภูมิศาสตร์ การมีแหล่งเกลือมหาศาลอยู่ใต้ดิน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อันมีผลต่อการวางแผนการผลิต ดังตัวอย่างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนของกรมชลประทานจำนวนมากทั่วประเทศ

เราเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จากวัฏจักรของธรรมชาติ เราเรียนรู้ทางเลือกใหม่ๆ ในการพัฒนาและหนทางการพึ่งตัวเอง เราเรียนรู้ประชาธิปไตยกับเผด็จการ จากการกำหนดนโยบายเรื่องเขื่อนของนักการเมือง เราเข้าใจวิกฤตการของธรรมชาติและสังคม จากตัณหาของนักสร้างเขื่อน

เราได้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้คนบางกลุ่ม  ที่กล่าวกับเราว่า โลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ล้มสลายลงแล้วนับตั้งแต่เขื่อนได้ถูกก่อสร้างขึ้นบนดินแดนของพวกเขา การดิ้นรนขัดขืน  ความขมขื่น  ความเจ็บปวดจำนวนมากได้ถูกจารึกไว้ ณ ที่ต่างๆ เป็นคำบอกเล่า ตำนาน หรือความทรงจำ

เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

ในภาคอีสาน มีโครงการโขง-ชี-มูน  สร้างเขื่อนกั้นทั้งลำน้ำมูลและลำน้ำชี ด้วยเขื่อนในจังหวัดต่างๆ กัน  รวมแล้วแม่น้ำละ 7-8 เขื่อน และเพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมมากกว่าที่กำหนด ก็สร้างพนังกั้นน้ำไว้ ปรากฏในยามฤดูฝนน้ำหลากพนังกั้นน้ำนี้แทนที่ป้องกันไม่ให้น้ำออกจากบริเวณน้ำที่จะท่วมกลับขวางทางน้ำไม่ให้น้ำไหลลงแม่น้ำในยามปกติ เกิดน้ำท่วมหนักในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธรและศรีษะเกษ ทั้งหมดนี้มาจากการสร้างถนนเกือบจะทั้งสิ้น  แทนที่เมื่อเกิดน้ำท่วมต้องไปรื้อถนนให้น้ำไหลได้สะดวก เราพบว่าในลำน้ำนั้นยังไม่ได้สร้างเขื่อน นักวิจัยหลายคนบอกว่ามาจากถนนที่ขวางทางน้ำ หน่วยงานที่สร้างเขื่อนยาวที่สุด คือกรมทางหลวงไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไรเลย หรือทบทวนการสร้างพนังกั้นน้ำโดยการขยายของโครงการโขง  ชี  มูน

วัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ  ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตรงตามข้อกำหนดของคณะกรรมการเขื่อนโลก (The World Commission on Dams, WCD) กล่าวว่า ถ้าจะสร้างเขื่อนเพื่อเอนกประสงค์ต้องมีอย่างน้อย 6 ข้อดังนี้ 1.เพื่อการผลิตไฟฟ้า 2.เพื่อการป้องกันน้ำท่วม 3.เพื่อการชลประทาน  หรือการเกษตร 4.เพื่อการประมง 5.เพื่อนการท่องเที่ยว 6.เพื่อการคมนาคมทางน้ำ

ลองมาทบทวนว่าเขื่อนเหล่านี้ได้สนองต่อวัตถุประสงค์นั้นหรือไม่

ความคุ้มทุนของการสร้างเขื่อน นับวันงบประมาณที่มีการสร้างเขื่อนทวีขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ราคาก่อสร้างเขื่อนจะแพงอย่างไร นักคำนวณตัวเลข  คิดความคุ้มทางเศรษฐกิจก็มองว่าคุ้มอยู่ดี คิดแต่ตัวเลขได้ ไม่ได้คิดตัวเลขที่ได้จริงและไม่หักลบด้วยผลกระทบที่ทดแทนไม่ได้  เช่น ผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  มีข้อกำหนดว่าจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  พบว่าคณะผู้ชำนาญการจะต้องสั่งให้มีการศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอเพราะข้อมูลไม่ครบ ซึ่งแตกต่างกว่าอดีตที่คิดจะสร้างเขื่อนก็สร้างได้เลย

เขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

จากบทเรียนที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนที่อยู่ภายใต้โครงการโขง ชี มูล ที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และในอีกหลายโครงการที่รัฐบาลกำลังจะเดินหน้าสร้างอย่างโครงการ ๓.๕ แสนล้าน ทำให้เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสานมีความเป็นห่วงต่อโครงการที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาภัยแล้งปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างจิงจัง ซ้ำยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมต่อพื้นที่ที่เกิดปัญหา ในขณะที่การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมายังเป็นไปในรูปแบบการรวมศูนย์อำนาจโดยรัฐเป็นคนจัดการ และกำหนดนโยบายจากบนลงล่างทำให้ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากคนที่อยู่ในพื้นที่  และการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเสียถือว่าโครงการเหล่านี้ได้ริดรอนสิทธิของชุมชนและระบบนิเวศที่ชาวบ้านได้อาศัยห่วงโซ่เหล่านี้ในการดำเนินวิถีชีวิต

นอกจากนี้ยังมีสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐหลังจากทยอยสร้างแล้วเสร็จก็จะมีการกักเก็บน้ำ แทนที่ผลลัพธ์จะเป็นไปดังคำกล่าวอ้าง ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน มีน้ำใช้ตลอดฤดูกาล ไม่ต้องอพยพโยกย้ายแรงงาน  ตรงข้ามโครงการเหล่านี้กลับทำลายแหล่งทำมาหากินของชุมชนที่ได้พึ่งพามาช้านาน คือสูญเสียพรรณพืชและสมุนไพรในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามทุกลุ่มน้ำ สูญเสียข้าวเพราะถูกน้ำท่วมขังผิดปกติ สูญเสียวิถีการประมง สูญเสียพันธุ์สัตว์น้ำ สูญเสียที่ดินทำกิน ยังก่อให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

นายอาทิตย์ กตะศิลา ชาวบ้านโนนเวียงคำ ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านลุ่มน้ำมูลที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา ได้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ เมื่อปี พ.ศ.2541 เล่าว่า “เห็นชาวบ้านหลายคนมีความวิตกกังวลในเรื่องของระดับน้ำ กลัวจะเหมือนพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล พื้นที่ของพี่น้องบางคนได้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำไป บางคนถึงกับไม่มีที่ดินทำกิน ต้องอพยพกันไปทำมาหากินที่อื่น ซึ่งเรื่องระดับน้ำเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก ซึ่งเท่ากับว่า การหาอยู่หากินของพี่น้อง ขึ้นอยู่กับการปิดเปิดเขื่อนของกรมชลประทานหรือ ทว่ารัฐไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ชาวบ้านทราบ”

หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ระหว่างการชุมนุมคัดค้านเขื่อนปากมูน เมื่อปี 2534 (ภาพมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

ตลอดระยะเวลา 16 ปี ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาได้ก่อเกิดและรวมตัวกันจนมาถึงปัจจุบันนี้ นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอสมควร ผู้เฒ่าผู้แก่หลายชีวิตได้ล้มหายตายจากไป นายอาทิตย์ เล่าว่า ... บทเรียนที่ผ่านมา ที่ตอกย้ำอยู่ในหัวใจมาตลอด คือ การทำงานของระบบราชการที่ไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้อง เพราะการปักขอบเขตอ่างที่เป็นปัญหายืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ มันมีคำถามในใจเรื่อยมา ว่ารัฐ “คุณ” คือ ผู้มอบสวัสดิการด้านต่างๆให้กับเรา ไม่ใช่ตัดแขนตัดขาเรา ให้เราทำมาหากินไม่ได้

สุดท้ายแล้วนโยบายการยกระดับชีวิตประชาชนของรัฐบาล เป็นการช่วยชาวบ้านหรือกระหน่ำซ้ำเติมชาวบ้านกันแน่!!

ด้านนายประดิษฐ์ โกศล รองนายกสมาคมคนทามลุ่มน้ำมูล เล่าว่าในช่วงแรกของการดำเนินการสร้างเขื่อนชาวบ้านยังมีความเข้าใจโดยทาบแต่เพียงว่าจะเป็นการสร้างฝายยางขนาดเล็กแต่เมื่อดำเนินการสร้างเสร็จกลายเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 7 บานประตูและสร้างโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการสร้างเขื่อนเสร็จเมื่อปี 2535 และเริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี 2536 ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงคือเกิดน้ำท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้านและท่วมป่าบุ่งป่าทามซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านลุ่มน้ำมูล อาชีพเลี้ยงวัวควายซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเริ่มลดลงมากเนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่เลี้ยง รวมทั้งอาชีพเกษตรกรรมเช่นการทำนาทามก็ลดลงด้วยเช่นกันนอกจากนี้ยังส่งผลให้จำนวนปลาในแม่น้ำมูลลดลง นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้วการสร้างเขื่อนยังส่งผลกระทบด้านสังคมทำให้ชาวบ้านเกิดความขัดแย้งในพื้นที่อีกด้วย ในสถานการณ์ปัจจุบันชุมชนลุ่มน้ำมูลตอนกลางได้เกิดการปรับตัวปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเน้นการใช้วิถีการพึ่งตนเองมากขึ้น

ด้านแม่อมรรัตน์  วิเศษหวาน ชาวบ้านดอนแก้ว ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร ลุ่มน้ำชี เล่าว่า เขื่อน คือสัญลักษณ์ของการทำลายชีวิตของชาวนาลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด  สร้างความเดือนร้อนให้กับชาวบ้าน เขื่อนเป็นสาเหตุของน้ำท่วมขังนาน  3-4 เดือน ชาวนาต้องสูญเสียข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลักที่จะจุ่นเจือครอบครัวเป็นเวลามากกว่า 10 ปี เพราะมันคืออาชีพ มันคือวิถีชีวิตของชาวนาลุ่มน้ำชี เราไม่มีเขื่อน เราก็ไม่เดือดร้อน

พ่อมนัส พันโท ชาวบ้านวังทอง ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพรลุ่มน้ำชี เล่าว่า สมัยก่อนน้ำท่วม 10-15 วัน ชาวบ้านเรียกน้ำแก่ง แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพรกั้นแม่น้ำชี ทำให้น้ำท่วมขังนาน 3-4 เดือน ระบบนิเวศ พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน พันธุ์ปลาพืชผัก สมุนไพรเสียหายบางชนิดก็สูญพันธุ์  ไม่มีเขื่อนน้ำชีก็ไม่เคยแห้ง ยังหล่อเลี้ยงชาวบ้านลุ่มน้ำชีให้มีวิถีชีวิตอยู่ได้ ไม่อยากให้มีเขื่อนเพราะผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนมากเกินที่ชาวบ้านจะแบกรับได้อีกแล้ว

ด้านนายนิมิต หาระพันธ์  ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนธาตุน้อยลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2543 ที่เขื่อนสร้างเสร็จแล้วมีการทดลองกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ 3-4 เดือน ทำให้เกิดความเสียหายทุกอย่าง ข้าวที่เป็นผลผลิตหลักของชาวบ้านถูกน้ำท่วมไม่สามารถที่จะเก็บเกี่ยวได้นานกว่า 10 ปีติดต่อกัน  ชาวบ้านไม่มีข้าว ไม่มีเงิน นอกจากนั้นยังต้องกู้หนียืมสินมาลงทุนทำนาปีแล้วปีเล่าน้ำก็ท่วมทุกปี เขื่อนทำให้ชาวบ้านเป็นทุกข์ เพราะทำลายทุกอย่าง ทั้งทรัพยากร สังคมและวัฒนธรรม

เสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภายใต้โครงการโขง ชี มูล คงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลควรรับฟังว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมาเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าอย่างโครงการโขง ชี มูล ที่ไม่สามารถคิดอยู่ในระบบการคำนวณใดได้ และยิ่งซ้ำเติมปัญหาเดิม ๆ ของคนอีสานให้หนักขึ้นไปอีก จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อต้าน หรือเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย ค่าสูญเสียโอกาส จากการก่อสร้างเขื่อน 14 ตัวในลุ่มน้ำมูล น้ำชี และลุ่มน้ำสาขา เช่น เขื่อนหนองหานกุมภวาปี เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย และที่อื้อฉาวที่สุดก็คือสองเขื่อนในลุ่มน้ำมูล คือเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา ที่ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แต่การตามแก้ไขปัญหาผลกระทบใช้เวลา 20 ปีแล้ว ยังแก้ไขไม่เสร็จและมีแนวโน้มจะบานปลายไปเรื่อย ๆ

ดังนั้นทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกดังนี้

1.ให้ศึกษาถึงความไม่คุ้มค่า คุ้มทุนจากการสร้างเขื่อนในประเทศไทย

 2.ให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนที่มีการศึกษาแล้วว่าไม่คุ้มค่า มีผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ

แม่น้ำต้องไหลอิสระ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: