CSR กับ PR

13 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 6897 ครั้ง


ซีเอสอาร์

ซีเอสอาร์คืออะไร

Corporate Social Responsibility หรือซีเอสอาร์ หรือบรรษัทบริบาล หมายถึง การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในองค์กรและในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร อันจะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

ลำดับชั้นของผู้มีส่วนได้เสียในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซีเอสอาร์


ในระดับของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกิจการ การไม่นำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารหรือกรรมการซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม เป็นต้น

ในระดับของผู้บริหารหรือกรรมการบริษัท ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการบริหารจัดการและการกำหนดค่าตอบแทนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลรายงานทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา รวมถึงการอุทิศเวลาและความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

ในระดับของพนักงาน ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การจ่ายค่าจ้างและผลตอบแทนที่เป็นธรรมและตรงต่อเวลา การจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น

ในระดับของลูกค้าและผู้บริโภค ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ ความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภค การให้บริการลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา การให้ข้อมูลขององค์กรและตัวผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอและอย่างถูกต้องเที่ยงตรง การปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค การยุติข้อโต้แย้งและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค เป็นต้น

ในระดับของคู่ค้า ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การยึดถือข้อปฏิบัติทางสัญญาที่เป็นธรรม การดำเนินงานในทางต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการกรรโชก และการรับหรือให้สินบนในทุกรูปแบบ การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ของคู่ค้า การไม่เอารัดเอาเปรียบต่อคู่ค้า การส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินความรับผิดชอบด้านสังคมร่วมกับองค์กร เป็นต้น

ในระดับของชุมชนและสภาพแวดล้อม ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การสงเคราะห์เกื้อกูลชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ การส่งเสริมแรงงานท้องถิ่นให้มีโอกาสในตำแหน่งงานต่างๆ ในองค์กร การสนับสนุนแนวทางการระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ และการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เป็นต้น

ในระดับของประชาสังคม ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มหรือเครือข่ายอื่นๆ ในการพัฒนาสังคม การตรวจตราดูแลมิให้กิจการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน การรับฟังข้อมูลหรือทำประชาพิจารณ์ต่อการดำเนินกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม และการทำหน้าที่ในการเสียภาษีอากรให้รัฐอย่างตรงไปตรงมา เป็นต้น

ในระดับของคู่แข่งขันทางธุรกิจ ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การดูแลกิจการมิให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันด้วยวิธีการทุ่มตลาด การกลั่นแกล้งหรือใช้อิทธิพลในการกีดกันเพื่อมิให้เกิดการแข่งขัน เป็นต้น

ประเภทของซีเอสอาร์

CSR-after-process หรือ กิจกรรมเพื่อสังคม คือ การดำเนินกิจกรรมของหน่วยงาน ซึ่งโดยมากเป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการนั้นมักแยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการและเกิดขึ้นภายหลัง เช่น การแก้ไขเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางมลพิษจากการประกอบการ การแจกจ่ายสิ่งของช่วยบรรเทาสาธารณภัย การเป็นอาสาสมัครช่วยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ซึ่งกิจกรรมเพื่อสังคมเหล่านี้มักเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือเวลาทำงานตามปกติ

CSR-in-process หรือ ธุรกิจเพื่อสังคม คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ หรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น การป้องกันหรือกำจัดมลพิษในกระบวนการผลิตเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามข้อกำหนดในฉลากผลิตภัณฑ์ การเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องครบถ้วนต่อผู้บริโภค การชดเชยความเสียหายให้แก่ลูกค้าที่เกิดจากความผิดพลาดและความบกพร่องของพนักงาน ซึ่งการดำเนินความรับผิดชอบเหล่านี้ถือเป็นกิจกรรมที่อยู่ในเวลาทำงานปกติของกิจการ

CSR-as-process หรือ กิจการเพื่อสังคม เพื่อให้แตกต่างจากสองจำพวกข้างต้นที่เป็นบทบาทขององค์กรธุรกิจโดยตรง กิจการในจำพวกที่สามนี้ มักเป็นองค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงหากำไรให้แก่ตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อยังประโยชน์ให้แก่สังคมในทุกกระบวนการของกิจการ ตัวอย่างของกิจการที่อาจจัดอยู่ในข่ายนี้ ได้แก่ มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรประชาชน และส่วนราชการต่างๆ

ชนิดของกิจกรรมซีเอสอาร์

ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น และแนนซี่ ลี อาจารย์สมทบแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยซีแอตเติ้ล ได้จำแนกซีเอสอาร์ไว้เป็น 7 ชนิด (type) กิจกรรม* ได้แก่

1. การส่งเสริมการรับรู้ประเด็นปัญหาทางสังคม (Cause Promotion) เป็นการจัดหาเงินทุน วัสดุสิ่งของ หรือทรัพยากรอื่นขององค์กร เพื่อขยายการรับรู้และความห่วงใยต่อประเด็นปัญหาทางสังคมนั้น ตลอดจนสนับสนุนการระดมทุน การมีส่วนร่วม หรือการเฟ้นหาอาสาสมัครเพื่อการดังกล่าว องค์กรธุรกิจอาจริเริ่มและบริหารงานส่งเสริมนั้นด้วยตนเอง หรือร่วมมือกับองค์กรหนึ่งองค์กรใด หรือกับหลายๆ องค์กรก็ได้

2. การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางสังคม (Cause-Related Marketing) เป็นการอุดหนุนหรือการบริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการขายผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือหรือร่วมแก้ไขประเด็นปัญหาทางสังคมจำเพาะหนึ่งๆ ซึ่งมักมีช่วงเวลาที่จำกัดแน่นอน หรือดำเนินการแบบจำเพาะผลิตภัณฑ์ หรือให้แก่การกุศลที่ระบุไว้เท่านั้น กิจกรรมซีเอสอาร์ชนิดนี้ องค์กรธุรกิจมักร่วมมือกับองค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไรเพื่อสร้างสัมพันธภาพในประโยชน์ร่วมกัน ด้วยวิธีการเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเงินรายได้ไปสนับสนุนกิจกรรมการกุศลนั้นๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือการกุศลผ่านทางการซื้อผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติม

3. การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม (Corporate Social Marketing) เป็นการสนับสนุนการพัฒนาหรือการทำให้เกิดผลจากการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาวะ ความแตกต่างสำคัญระหว่างการตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมกับการส่งเสริมการรับรู้ประเด็นปัญหาทางสังคม คือ การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมจะเน้นที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior Change) เป็นหลัก ในขณะที่การส่งเสริมการรับรู้ประเด็นปัญหาทางสังคมจะเน้นที่การสร้างความตระหนัก (Awareness) ตลอดจนการสนับสนุนทรัพยากรด้านทุนและอาสาสมัครเพื่อให้รับรู้ถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว

4. การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy) เป็นการช่วยเหลือไปที่ประเด็นปัญหาทางสังคมโดยตรง ในรูปของการบริจาคเงินหรือวัตถุสิ่งของ เป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ที่พบเห็นในแทบทุกองค์กรธุรกิจ และโดยมากมักจะเป็นไปตามกระแสความต้องการจากภายนอกหรือมีผู้เสนอให้ทำ มากกว่าจะเกิดจากการวางแผนหรือออกแบบกิจกรรมจากภายในองค์กรเอง ทำให้ไม่เกิดการเชื่อมโยงเข้ากับเป้าหมายหรือพันธกิจขององค์กรเท่าใดนัก

5. การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering) เป็นการสนับสนุนหรือจูงใจให้พนักงาน คู่ค้าร่วมสละเวลาและแรงงานในการทำงานให้แก่ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่และเพื่อตอบสนองต่อประเด็นปัญหาทางสังคมที่องค์กรให้ความสนใจหรือห่วงใย องค์กรธุรกิจอาจเป็นผู้ดำเนินการเองโดยลำพัง หรือร่วมมือกับองค์กรหนึ่งองค์กรใด และอาจเป็นผู้กำหนดกิจกรรมอาสาดังกล่าวนั้นเอง หรือให้พนักงานเป็นผู้คัดเลือกกิจกรรมแล้วนำเสนอต่อองค์กรเพื่อพิจารณาให้การสนับสนุน โดยที่พนักงานสามารถได้รับการชดเชยในรูปของวันหยุดหรือวันลาเพิ่มเติม

6. การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business Practices) เป็นการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างพินิจพิเคราะห์ทั้งในเชิงป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม หรือในเชิงร่วมกันแก้ไขด้วยการช่วยเหลือเยียวยาปัญหาทางสังคมนั้นๆ ด้วยกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อการยกระดับสุขภาวะของชุมชนและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่องค์กรธุรกิจสามารถที่จะดำเนินการเอง หรือเลือกที่จะร่วมมือกับพันธมิตรภายนอกก็ได้

7. การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก (Developing and Delivering Affordable Products and Services) เป็นการใช้กระบวนการทางธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการสู่ตลาดที่เรียกว่า The Bottom of the Pyramid (BoP) ในราคาที่ไม่แพง เหมาะกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับฐานราก ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมกันกับเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในการเข้าถึงตลาดปริมาณมหาศาล **

* Philip Kotler and Nancy Lee, Corporate Social Responsibility, (New Jersey, John Wiley & Sons, 2005), p.23.

** Philip Kotler and Nancy Lee, Up and Out of Poverty, (Wharton School Publishing, 2009), p.294.

พีอาร์

พีอาร์คืออะไร

การประชาสัมพันธ์ (Public Relations) หรือ พีอาร์ หมายถึงการจัดการด้านความสัมพันธ์ระหว่างองค์การกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินงานขององค์การ โดยมุ่งหวังให้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกันและเกิดความสัมพันธ์ระว่างกันในระยะยาว โดยพีอาร์มีความสำคัญดังต่อไปนี้

1.ทำให้ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเป้าหมายได้รู้จักองค์การ ตระหนักถึงชื่อเสียงเกียรติคุณ และมีความรู้ความเข้าใจในงานที่องค์การปฏิบัติ

2.สามารถชักจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้เห็นคุณค่าขององค์การซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ขององค์การ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ

3.เรียกร้องให้ประชาชนให้การสนับสนุนกับสิ่งที่องค์การดำเนินงานอยู่ อาทิ การรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

4.แก้ไขความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นกับองค์การเพื่อเรียกศรัทธาในองค์การกลับคืนมา เช่น แก้ไขความเข้าใจผิดเมื่อเกิดความลือว่าองค์การซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงลำคลองสาธารณะ

พีอาร์มีลักษณะที่สำคัญคือการจูงใจและโน้มน้าวท่าทีความรู้สึกเพื่อเปลี่ยนทัศนคติหรือความสนใจของประชาชน เพื่อให้ความร่วมมือกับสถาบันในการดำเนินการโดยตั้งอยู่บนรากฐานของความจริง พีอาร์เป็นการสื่อสัมพันธ์กับมวลชนซึ่งจะต้องเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน (on-going process) ดังนั้นต้องคอยตรวจสอบกระแสประชามติ ทัศนคติ และเหตุการณ์อื่นที่ดำเนินไปว่าราบรื่นหรือไม่ แม้ไม่มีเหตุการณ์ใดก็ต้องดำเนินการเผยแพร่สร้างเสริมชื่อเสียง เกียรติคุณ ความเชื่อถือ ศรัทธา เลื่อมใสของหน่วยงานต่อไปอีกเป็นประจำไม่ให้ขาดตอน หรือทำเมื่อเกิดปัญหาหรือเกิดความต้องการเท่านั้น

จรรยาบรรณของนักประชาสัมพันธ์

สมาคมการประชาสัมพันธ์แห่งสหรัฐอเมริกากำหนดจรรยาบรรณของนักประชาสัมพันธ์ ดังต่อไปนี้

1.นักประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ชอบธรรมต่อลูกค้าของตนและต่อนายจ้างไม่ว่าจะเป้นในอดีตหรือปัจจุบันก็ตาม อีกทั้งให้ความเป็นธรรมต่อเพื่อนสมาชิกและต่อมหาชนด้วย

2.นักประชาสัมพันธ์จะต้องดำเนินชีวิตในการประกอบวิชาชีพนี้เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนส่วนรวม

3.นักประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ยึดมั่นในมาตรฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวกับความละเอียดแม่นยำ การยึดมั่นในสัจจะ และมีศิลปะและรสนิยมอันดี

4.นักประชาสัมพันธ์จะต้องไม่ทำตนเป็นผู้ฝักใฝ่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีผลประโยชน์แข่งขันหรือไม่ลงรอบกันอยู่ โดยมิได้รับคำยินยอมจากคู่กรณีที่เกี่ยวข้องหลังจากได้รับทราบความตื้นลึกหนาบางของฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว นอกจากนี้ ยังไม่พึงนำตังเองเข้าไปอยู่ในฐานะหาประโยชน์ใส่ตน หรือใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการอันเป็นการขัดกับภาระและความรับผิดชอบที่มีอยู่กับลูกค้า นายจ้าง เพื่อนสมาชิก หรือมหาชน โดยมิได้ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหลายเกี่ยวกับผลประโยชน์ของตนให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

5.นักประชาสัมพันธ์จะต้องประพฤติและปฏิบัติแต่สิ่งที่จะสร้างหรือธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง มั่นใจ แก่ลูกค้าของตนทั้งในอดีตและปัจจุบัน และจะต้องไม่รับรางวัลสินจ้างหรือรับเป็นลูกจ้างทำงานซึ่งอาจมีผลให้ต้องเปิดเผยหรือนำเอาความลับข้างต้นมาเปิดเผยจนเป็นเหตุให้เป็นผลเสียหรือเกิดอคติแก่ลูกจ้างหรือจ้าง

6.นักประชาสัมพันธ์จะต้องไม่ปฏิบัติตนไปในทางที่จะนำไปสู่การแตกสลายของการรวมกลุ่มระหว่างผู้ที่ให้บริการทางด้านสาธารณูปโภค สื่อสาร คมนาคม ฯลฯ

7.นักประชาสัมพันธ์จะต้องไม่จงใจเผยแพร่ข้อสนเทศที่ผิดหรือที่อาจแนะไปให้เข้าใจผิด และสามาชิกจะต้องระมัดระวังในการหลีกเลี่ยงมิให้มีการเผยแพร่ข้อสนเทศที่ผิดความจริงหรือชวนให้เข้าใจผิด

8.นักประชาสัมพันธ์จะต้องพร้อมเสมอที่จะระบุให้มหาชนทราบถึงแหล่งที่มาของข่าวสารซึ่งสมาชิกเป็นผู้รับผิดชอบว่ามาจากที่ใด รวมทั้งชื่อของลูกค้าหรือนายจ้างที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดให้ข่าวสารนั้นๆ ด้วย

9.นักประชาสัมพันธ์จะไม่ใช่บุคคลหรือหน่วยงานที่ฝักใฝ่ปฏิบัติงานหรือเป็นตัวแทนในกิจการใดกิจการหนึ่งที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้เป้นการแน่นอนแล้ว หรือมุ่งที่จะดำเนินการเป็นอิสระหรือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่โดยแท้จริงเป็นหน่วยงานที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์อันไม่เปิดเผยของประชาชน ลูกค้าหรือนายจ้าง

10.นักประชาสัมพันธ์จะไม่กระทำการใดอันจงใจเพื่อให้ชื่อเสียงหรือการปฏิบัติงานของผู้ร่วมงานต้องมัวหมอง แต่ถ้าปรากฎว่าผู้ร่วมงานผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยจรรยาบรรณหรือกระทำการอันไม่ชอบ ซึ่งรวมทั้งการละเมิดจรรยาบรรณนี้ นักประชาสัมพันธ์นั้นมีหน้าที่ต้องดำเนินการอันควรตามที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับหรือกฎหมายที่มี

11.นักประชาสัมพันธ์จะต้องไม่ใช้วิธีการใดที่มีผลไปในทางก่อความเสียหายแก่ลูกค้าของสมาชิกอื่นๆ หรือนายจ้าง หรือแก่ผลิตภัณฑ์ สินค้า ธุรกิจ หรือบริการของลูกค้า

12.ในการจัดการบริการแก่ลูกค้า ประชาชน หรือนายจ้าง จะต้องไม่รับค่าตอบแทน ค่านายหน้า หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับบริการนั้นๆ จากบุคคลอื่นใด นอกจากลูกค้าของตนหรือนายจ้างโดยไม่ได้รับคำยินยอมจากลูกค้าหรือนายจ้างแล้วแต่กรณี ก่อนที่จจะได้เปิดเผยข้อเท้จจริงเกี่ยวกับบุคคลเหล่านั้นออกไป

13.นักประชาสัมพันธ์จะต้องไม่ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ที่จะมาเป้นลูกค้าหรือนายจ้างในทำนองที่ว่า ค่าตอบแทนหรือค่านายหน้าเหล่านั้นขึ้นอยุ่กับการนำมาวึ่งผลที่หวังบางประการ อีกทั้งจะไม่พึงเจรจาให้ลูกค้าหรือนายจ้างทำสัญญาจ่ายค่าตอบแทนแก่ตนในรูปนั้น

14.นักประชาสัมพันธ์จะต้องไม่แทรกแซงล่วงเกินการว่าจ้างงานของสมาชิกอื่นในกรณีที่มีงานสองแหล่งพร้อมๆ กัน งานทั้งสองนั้นจะต้องไม่ขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

15.นักประชาสัมพันธ์ จะต้องตัดขาดไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดๆ ทันทีเมื่อได้รับทราบ หรือควรทราบว่าการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างต่อไปจะยังผลให้สมาชิกผู้นั้นต้องฝ่าฝืนหลักการของจรรยาบรรณนี้

16.นักประชาสัมพันธ์ ผู้ได้รับเชิญให้มาเป็นสักขีพยานในการปฏิบัติให้เป็นไปตามจรรยาบรรณนี้จะต้องมาปรากฎตัวตามคำเชิญ ยกเว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยจึงจะอนุญาตให้ขาดจากการมาเป็นพยานได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิก หลุด!เอกสารฝ่ายPRธุรกิจยักษ์ใหญ่ จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ

**************************

ที่มา

เว็บไซต์ไทยซีเอสอาร์ ภายใต้สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ตำราเรียนวิชาหลักการประชาสัมพันธ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.oknation.net/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: