บทวิเคราะห์: วิพากษ์ภาษีทรัพย์สิน แน่ใจหรือว่าลดเหลื่อมล้ำ?

ดร.ชยงการ ภมรมาศ 13 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3262 ครั้ง

นอกจากความพยายามผลักดันภาษีทั้งสองประเภทแล้วกระทรวงการคลังยังได้ศึกษาถึงมาตรการทางการคลังประเภทอื่นที่สามารถนำมาใช้ลดความเหลื่อมล้ำได้อีก เช่น มาตรการภาษีเงินได้ติดลบ (Negative Income Tax) หรือการให้เงินช่วยเหลือแก่คนยากจน โดยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่รัฐบาลกำหนด นอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้แล้ว ยังจะได้รับเงินจากรัฐบาลแทนอีกด้วย ชุดนโยบายและมาตรการที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจจริงที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกมายาวนานในสังคมไทยให้เห็นเป็นรูปธรรม

ประจักษ์พยานของ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ระหว่างคนรวยและคนจนในสังคมไทยมีให้เห็นทั้งในรูปของรายได้และในรูปของทรัพย์สินที่ถือครอง หากพิจารณาในด้านของรายได้กลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 10 มีรายได้สูงกว่ากลุ่มคนจนที่สุดร้อยละ 10 ถึง 25 เท่า โดยคนรวยที่สุดร้อยละ 10 มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 39.3 ของรายได้ทั้งหมดขณะที่คนจนที่สุดร้อยละ 10 มีสัดส่วนรายได้เพียงร้อยละ 1.6 ของรายได้ทั้งหมด และในส่วนของทรัพย์สินที่ถือครองเช่นที่ดินนั้น กลุ่มผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดร้อยละ 20 มีสัดส่วนการถือครองที่ดินถึงร้อยละ 79.9 ขณะที่กลุ่มผู้ถือครองที่ดินจำนวนน้อยที่สุดร้อยละ 20 มีสัดส่วนการถือครองที่ดินเพียงร้อยละ 0.3 ตัวเลขความไม่เท่าเทียมทั้งในรูปของรายได้และทรัพย์สินระหว่างกลุ่มคนรวยและกลุ่มคนจนในสังคมไทยสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำครั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้เป็นวาระเร่งด่วนของชาติโดยแท้จริง

โดยหลักการแล้ว ผู้มีทรัพย์สินมากจะต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมรดกและภาษีที่ดินมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินน้อย ดังนั้น ภาษีทั้งสองประเภทนี้จึงน่าจะใช้ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้ เพราะเป็นการถ่ายโอนทรัพยากรจากคนที่มีมากกว่าไปยังคนที่มีน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม หากจะนำภาษีมรดกและภาษีที่ดินมาใช้จริงนั้น ยังคงมีข้อสังเกตที่สมควรจะต้องพิจารณาอีกหลายประการ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง ผู้เสียภาษีจำนวนมากอาจไม่ใช่คนร่ำรวยที่เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ เพราะการเก็บภาษีทั้งสองนี้มีหลักการคือผู้มีทรัพย์สินมากคือผู้ที่เป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำและสมควรที่จะต้องจ่ายภาษีมาก สมมติฐานที่ว่าผู้มีทรัพย์สินมากคือคนรวยและเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำนั้นดูจะไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด ในทางปฏิบัติผู้มีทรัพย์สินมากไม่จำเป็นต้องเป็นคนรวยเสมอไป หากจะยกหลักทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาเทียบเคียงกับกรณีนี้ได้ก็คือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียกว่าความมั่งคั่ง (Wealth) และรายได้ (Income) ความมั่งคั่งคือทรัพย์สินทุกกอย่างที่มี เช่น บ้าน รถยนต์ ที่ดิน เงินฝาก ในขณะที่รายได้คือเงินที่เราหาได้ในแต่ละช่วงเวลา เช่น เงินเดือน ผลตอบแทน โบนัส จริงอยู่แม้ว่าผู้มีรายได้สูงก็น่าจะมีความมั่งคั่งสูงตามไปด้วย แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่ผู้มีทรัพย์สินมากอาจมีรายได้ต่ำก็เป็นได้ เช่น ผู้อยู่อาศัยในบ้านที่ได้ซื้อไว้นานแล้ว แม้ว่าในภายหลังที่ดินจะมีราคาสูงขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าที่ดินจะมีมูลค่าสูงขึ้น แต่เจ้าของที่ดินก็ยังคงไม่สามารถรับรู้ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของตนได้จริงจนกว่าจะขายที่ดินออกไปหรือนำไปให้ผู้อื่นเช่า

และเมื่อสมมติฐานที่ว่า ผู้มีทรัพย์สินมากคือคนรวยหรือต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ถูกต้องเสียแล้ว การเก็บภาษีที่มีฐานจากทรัพย์สินนี้อาจถูกต่อต้านจากประชาชนจำนวนมากที่ต้องเสียภาษีโดยที่ตนเองไม่รู้สึกว่าเป็นผู้มีโอกาสสูงกว่าคนอื่นในสังคมหรือเป็นคนรวยแต่อย่างใดยกตัวอย่างเช่น ตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บ้านที่ใช้เป็นที่พักอาศัยก็จะต้องเสียภาษีด้วย (ปัจจุบันบ้านที่อยู่อาศัยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี) โดยหากบ้านและที่ดินมีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.1 ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว บ้านแทบทุกหลังในประเทศไทยก็คงจะโดนเก็บภาษีชนิดนี้ด้วย คำถามที่ผู้เสียภาษีเหล่านี้จะถามกลับมาที่รัฐบาลก็คือ แล้วสำหรับคนที่มีบ้านมูลค่า 2-3 ล้านบาทในยุคนี้ จะสามารถเรียกว่าเป็นคนรวยและเป็นหนึ่งในสาเหตุของความเหลื่อมล้ำได้ด้วยหรือ?

ดังนั้น ก่อนจะออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินนี้ เราจำเป็นที่จะต้องสร้างความชัดเจนให้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก่อนว่า “ความเหลื่อมล้ำที่เรากำลังจะแก้นั้นมีที่มาจากอะไร”

สาเหตุที่กลุ่มคนรวยที่สุดในสังคมไทยสามารถผูกขาดความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้ หากพิจารณาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันแล้วเราจะพบว่ากลุ่มคนรวยที่สุดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘โอกาส’ มากกว่าคนทั่วไปในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างของกลุ่ม ‘เจ้าภาษีนายอากร’ ที่ผูกขาดการเก็บภาษีจากส่วนกลางในยุคต้นรัตนโกสินทร์จนกระทั่งมาถึงยุค ‘กลุ่มทุนผูกขาด’ ในแทบทุกธุรกิจ เช่น ธนาคาร สุรา สื่อสาร และค้าปลีกค้าส่ง ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การพัฒนาที่มากขึ้นของระบบตลาดเงินตลาดทุนอันสลับซับซ้อนในยุคการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ กลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้จะยิ่งสามารถเข้าถึงการระดมทุนจากสถาบันการเงินและตลาดทุนทั้งในและนอกประเทศได้อย่างมากและจะนำไปสู่การผูกขาดโอกาสมากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประจักษ์พยานที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่ว่าได้ดีที่สุดก็คือการควบรวมหรือการเข้าซื้อกิจการของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่มีการขยายตัวอย่างมากโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกเอสแอนด์พี (S&P) ระบุว่าภาคธุรกิจไทยมีมูลค่าการควบรวมกิจการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาสูงถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน การควบรวมกิจการเหล่านี้จะยิ่งทำให้ความสามารถในการครอบงำตลาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นว่านี้จึงมองไม่เห็นทางเลยว่าความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยจะบรรเทาเบาบางลงได้อย่างไร

เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการจะได้มาซึ่งโอกาสที่กล่าวมานั้น กลุ่มทุนต่างๆ ย่อมต้องมีความใกล้ชิดกับ ‘อำนาจ’ ที่จะจัดสรร ‘โอกาส’ ให้กับตน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่แม้ว่านักวิชาการหรือภาคประชาชนจะรับทราบกันเป็นอย่างดีถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทว่า ในทางปฏิบัติแล้วการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาจึงแทบจะไม่ก้าวหน้าเลย

ดังนั้น หากต้องการให้การเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ผลตรงจุด เราก็ควรจะมีมาตรการทางภาษีที่มุ่งเป้าชัดเจนไปยังกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้ ทั้งในรูปแบบของภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และภาษีชนิดอื่นๆ ที่อาจออกตามมาเพื่อถ่ายโอนความมั่งคั่งของกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้คืนแก่สังคม

นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว ยังควรมีมาตรการเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อ ‘ส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม’ หากพิจารณาจากตัวบทกฏหมายที่มีอยู่แล้ว รัฐบาลมีเครื่องมือสำคัญที่สามารถใช้งานได้ทันทีนั่นคือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ทว่า ในทางปฏิบัติแล้วกฎหมายฉบับนี้กลับมีสถานะเป็นเพียงเสือกระดาษที่แทบไม่เคยถูกใช้เพื่อสร้างการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมเลย ดังนั้น หากต้องการทำให้การลดความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติโดยแท้จริงแล้ว คงถึงเวลาที่จะปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้าให้ทันสมัยและบังคับใช้ได้จริง อันจะส่งผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ผูกขาดในกิจการแทบทุกประเภทกับผู้ประกอบการรายเล็กในขณะนี้ รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตด้วย

ประการที่สอง คนรวย (จริงๆ) นั้นมี ‘โอกาส’ และ ‘ความสามารถ’ ในการหลีกเลี่ยงภาษีสูงมาก หากมีการเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินจริง คนกลุ่มนี้อาจเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนของตน เช่น อาจหันไปลงทุนนอกประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษีชนิดนี้ หรืออาจไปลงทุนในทรัพย์สินที่ไม่มีการขึ้นทะเบียน เช่น ทองคำ เพชร ในส่วนของที่ดินก็แปลงที่ดินให้อยู่ในรูปของที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรืออาจใช้นอมินีสวมชื่อแทน ดังนั้น ผู้ที่จะรับภาระภาษีส่วนใหญ่จริงๆแล้วอาจเป็นเพียงชนชั้นกลางที่ไม่สามารถหาวิธีหลีกเลี่ยงภาษีได้

ประการที่สาม เงินที่ได้จากการเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินจะมีหลักประกันอะไรว่าเงินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดประโยชน์แก่คนยากจนผู้ด้อยโอกาสได้อย่างแท้จริง เงินที่ได้จากการเก็บภาษีเหล่านี้ในอนาคตอาจเป็นเพียงแหล่งรายได้เพิ่มเติมเพื่อให้รัฐบาลในภายภาคหน้าได้มีเงินงบประมาณใช้เพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง

ประการที่สี่ การเก็บภาษีที่ดินจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการออมของชนชั้นกลาง เพราะชนชั้นกลางที่เป็นเจ้าของที่ดินทั้งในรูปแบบของที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการพาณิชย์ เช่น ตึกแถว หอพัก จะต้องรับภาระภาษีที่ดินซึ่งต้องจ่ายประจำทุกปี ยิ่งไปกว่านั้น หากราคาประเมินของที่ดินปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ภาษีที่ต้องเสียก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามไปอีก รายจ่ายภาษีที่ต้องเสียทุกปีย่อมส่งผลกระทบต่อการออม และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการออมเป็นพื้นฐานสำคัญของ ‘ทุน’ หากการออมของชนชั้นกลางลดลงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสะสมทุนเพื่อการยกระดับตนเองของชนชั้นกลาง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการลดความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การเก็บภาษีที่ดินยังส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจในการออม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ชนชั้นกลางจำนวนมากต้องแสวงหาการลงทุนวิธีอื่นที่ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ แต่ก็มีชนชั้นกลางอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ไม่กล้าแบกรับความเสี่ยงผ่านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือกองทุนก็เลือกที่จะทำการเก็บออมโดยการซื้อทรัพย์สินเพื่อลงทุนในระยะยาวในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ การเก็บภาษีจากมรดกและที่ดินย่อมส่งผลกระทบทำให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์น่าสนใจน้อยลง และอาจมีชนชั้นกลางจำนวนมากที่จะเลือกการบริโภคในวันนี้แทนการเก็บออมสำหรับอนาคต

ผลกระทบที่มีต่อการออมของประชาชนในยุคที่เรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคนชราโดยสมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องคิดคำนึงอย่างรอบคอบ ทั้งนี้เพราะระดับการออมของภาคครัวเรือนเพื่อรองรับสังคมคนชราของไทยถือว่าค่อนข้างต่ำดังเห็นได้จากระดับการออมผ่านการประกัน ซึ่งถือเป็นการออมระยะยาวเพื่อการปลดเกษียณของไทยต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก อัตราส่วนเบี้ยประกันต่อ GDP (Insurance Penetration Rate) ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ในขณะที่อัตราส่วนดังกล่าวของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 12 เกาหลีใต้ร้อยละ 13.7 อังกฤษร้อยละ 13.4 และสหรัฐอเมริการ้อยละ 11.6 ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าภาระหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยสูงอยู่ในลำดับต้นๆ ของเอเซียโดยอัตราส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในปัจจุบันมีระดับสูงถึงประมาณร้อยละ 83ของ GDP ในสภาวการณ์ที่ภาคครัวเรือนของไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนชราในสภาพที่ ‘เงินออมน้อยแต่หนี้มาก’ การจะเก็บภาษีประเภทใดก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อการออมของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังยิ่ง เพราะอาจทำให้ชนชั้นกลางในวันนี้ที่กำลังจะเป็นคนชราในเวลาอีกไม่นานกลายเป็น ‘ผู้สูงอายุด้อยโอกาส’ ที่จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลงกว่าเดิม

ประการสุดท้าย การเก็บภาษีมรดกจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ไทย ทั้งในและต่างประเทศ ภาษีมรดกจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสะสมทุนจากรุ่นพ่อไปยังรุ่นลูกเพื่อขยายกิจการของ SMEและเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศที่มีความสามารถในการเลี่ยงการจัดเก็บภาษีมรดกได้ดีกว่าแล้ว โอกาสที่ SME จะสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จะยิ่งน้อยลงหรืออาจต้องใช้เวลานานขึ้นไปอีก ซึ่งคงไม่เป็นผลดีต่อความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล

ส่วนมิติของการแข่งขันกับต่างประเทศก็จะประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันเพราะในทวีปเอเซียมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่เก็บภาษีมรดกคือ ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ กระบวนการสะสมทุนของผู้ประกอบการไทยก็จะเสียเปรียบผู้ประกอบการในประเทศคู่แข่งของไทยที่ไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประกอบการ SME ที่ไม่อยากเสียภาษีมรดกอาจมีรูปแบบการนำผลกำไรไปลงทุนในทรัพย์สินที่ไม่มีการจดทะเบียน เช่น อัญมณี พระเครื่อง ทองคำ นาฬิกา และภาพเขียน ซึ่งเป็นทรัพย์สินประเภท Non-Productive Asset ที่ไม่มีประโยชน์อันใดเลยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

แม้ว่าจะมีข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับประสิทธิผลในการลดความเหลื่อมล้ำของการเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดิน แต่มิได้หมายความว่าภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินจะเป็นของไม่ดี เพียงแต่การออกแบบการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้โดยแท้จริงนั้น เราจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างใครกับใคร? ข้าราชการบำนาญที่มีบ้านเป็นของตัวเองสมควรหรือไม่ที่จะต้องถูกเก็บภาษี? อัตราภาษีที่จัดเก็บทั้งในภาษีมรดกและภาษีที่ดินสมควรที่จะจัดเก็บในอัตราคงที่ เช่น ร้อยละ 0.1 สำหรับที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านราคา 2 ล้านบาทหรือ 100 ล้านบาท หรือเราควรเก็บในอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดโดยอาจเริ่มต้นในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 0.1 สำหรับบ้านมูลค่าไม่สูงและเกินกว่าร้อยละ 0.1 สำหรับบ้านที่มีราคาสูงมาก? และควรมีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีมรดกและภาษีที่ดินหรือไม่? เพราะระบบภาษีที่ดีไม่ควรจะเป็นระบบที่ซับซ้อนยากต่อการปฏิบัติและจูงใจให้ผู้เสียภาษีพยายามหลีกเลี่ยง

การจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่ฝ่ายนิติบัญญัติมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รัฐบาลควรที่จะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้เสียภาษีเพื่อออกแบบภาษีทั้งสองประเภทนี้ร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดเหมือนกับวลีที่ว่า ‘No Taxation without Representation’หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ไม่จ่ายภาษี หากไม่มีผู้แทน’ ซี่งเป็นวลีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษเมื่อกว่า 200 ปีก่อน โดยรัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายที่เรียกเก็บภาษีจากชาวอาณานิคมหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติแสตมป์ (Stamp Act ค.ศ.1765) ที่เก็บภาษีจากกระดาษทุกประเภท ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ ไปจนถึงไพ่ และพระราชบัญญัติใบชา (Tea Act ค.ศ.1773) ที่มีผลให้บริษัท East India Company กลายเป็นผู้ผูกขาดการขายใบชาในสหรัฐอเมริกา เหตุผลที่ชาวอเมริกันคัดค้านกฎหมายการเก็บภาษีดังกล่าว เนื่องจากภาษีเหล่านี้ออกโดยรัฐสภาอังกฤษที่ไม่มีผู้แทนราษฎรอเมริกัน ความคิดเห็นของคนอเมริกันจึงไม่ได้ถูกรับฟังก่อนที่ภาษีเหล่านี้จะออกมาบังคับใช้กับตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือชาวอเมริกันเห็นว่าการเก็บภาษีจากราษฎรย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้แทนราษฎรหรืออย่างน้อยก็ต้องรับฟังความคิดเห็นจากราษฎรเสียก่อน ผลจากความรู้สึกของคนอเมริกันที่มีต่อการปกครองของรัฐบาลอังกฤษที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของตนนำไปสู่การประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากอังกฤษในที่สุด

ความพยายามของรัฐบาลชุดนี้จะประสบความสำเร็จได้ หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลหยิบยกเอาประเด็นการเก็บภาษีไปขยายผลให้เป็นประเด็นทางการเมือง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: