พณ.ลักไก่เสนอร่างกม.เครื่องหมายการค้าให้จดทะเบียนกลิ่น-เสียงได้

TCIJ 11 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 993 ครั้ง

 

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤศจิกายน พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลลิยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ร่าง พรบ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.... (ในส่วนที่เกี่ยวกับการขยายขอบเขตความคุ้มครอง การปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และระยะเวลาการจดทะเบียน การปรับปรุงค่าธรรมเนียม) โดยอ้างว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎณแล้วก่อนการยุบสภาเมื่อปี 2556 ซึ่งร่าง พรบ.นี้ จะขยายขอบเขตการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในระดับสากล มีสาระกำหนดเพิ่มลักษณะบ่งเฉพาะ และเครื่องหมายการค้าประเภทใหม่ๆ เช่น กลิ่นและเสียง โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ทริปส์) และนำหลักสากลมาปรับใช้

หวั่นไทยเสียอำนาจต่อรอง

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาฯ กล่าวแสดงความกังวลว่า เรื่องนี้จะกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างหนักและอาจกระทบต่อระบบสุขภาพ เพราะ ร่าง พ.ร.บ.นี้เคยถูกคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภาท้วงติงอย่างมากก่อนการยุบสภา อีกทั้งเป็นการแก้กฎหมายล่วงหน้าก่อนทำเอฟทีเอ และความตกลงมาดริด ซึ่งจะทำให้ไทยเสียอำนาจต่อรอง เพราะยอมไปทั้งหมดแล้ว

“ในเอกสารที่เข้าสู่ ครม. เกรงว่า กระทรวงพาณิชย์อาจพูดความจริงครึ่งเดียวอีกเหมือนที่ทำมาแล้วในการให้ข้อมูล ครม.และ 2 สภา โดยพูดว่า สอดคล้องความตกลงทริปส์ ทั้งที่ความเป็นจริงความตกลงทริปส์ไม่ได้บังคับให้ต้องรับจดทะเบียนกลิ่นเสียง เรื่องนี้ไม่ใช่หลักสากล จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต

และกระทรวงพาณิชย์ยังให้ความจริงเพียงครึ่งเดียวว่า ร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาแล้ว เพราะอันที่จริงกฎหมายผ่านสภาชุดที่แล้วแบบเงียบกริบ จนกระทั่งไปถึงการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญในวุฒิสภา จึงมีการเชิญตัวแทนนักวิชาการ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้ผลิตยาชื่อสามัญ และ เครื่องสำอาง ไปให้ความเห็น ครั้งนั้น น่าตกใจมากที่ไม่มีภาคส่วนใดทราบเรื่องนี้มาก่อน และในการประชุมกรรมาธิการก็ตั้งข้อสังเกตมากถึง การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีความพร้อมทั้ง เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ และตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงแก้กฎหมายก่อนทำเอฟทีเอและความตกลงต่างๆ จึงมีมติให้เลื่อนออกไป 2 ปี”

นักวิจัยจาก กพย. ยังระบุว่า การจดทะเบียนให้กับกลิ่นจะมีผลร้ายมากกว่าการให้สิทธิบัตร ไม่ควรที่กระทรวงพาณิชย์จะมาหลอก ครม. ให้พิจารณารวบรัดเช่นนี้

“เพราะในสิทธิบัตรถ้านำกลิ่นธรรมชาติ อาทิ น้ำมันที่สกัดจากพืชมาผสมกันต้องเกิดผลพิเศษที่ไม่ได้แปลว่ามีกลิ่นใหม่ขึ้นมาเท่านั้น ต้องมีผลบางประการที่พิสูจน์ได้ ต้องมีความใหม่ มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ไม่ใช่ทักษะสามัญ จึงรับจดสิทธิบัตร แต่เครื่องหมายการค้าเท่ากับว่า นำเอาวัตถุธรรมชาติมาผสมกันแล้วได้รับจด ต่อไปบุคคลอื่นก็นำเอาวัตถุเหล่านั้นมาผสมกันไม่ได้เลย ทั้งที่เป็นสมบัติสาธารณะ จึงเป็นการละเมิดสิทธิสาธารณะ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีควรตีกลับให้กระทรวงพาณิชย์ไปทำรายงานวิจัยผลกระทบอย่างเจาะลึกทุกภาคส่วน และจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน อย่าใช้การลักไก่เสนอแก้กฎหมายในภาวะไม่ปกติเช่นนี้อีก"

กระทบหนักอุตสาหกรรมสุขภาพ

ในเอกสารที่ ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ นักวิชาการอิสระที่ได้รับเชิญจาก กมธ.วุฒิสภาไปให้ข้อมูลเมื่อต้นปี 2556 ระบุว่า เครื่องหมายการค้าในเรื่อง กลิ่น น่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ อันประกอบด้วย ยา เครื่องมือแพทย์ (เช่น ถุงยางอนามัย) วัตถุอันตรายที่ใช้ในทางสาธารณสุข เช่น ผลิตภัณฑ์ทากันยุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องสำอาง

“ในผลิตภัณฑ์ยานั้นสารแต่งกลิ่น รส (Flavor) ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพัฒนาตำรับยา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าหากมีการให้เครื่องหมายการค้า กลิ่น อาจเกิดกรณีของการละเมิดเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ผลิตยาภายในประเทศโดยไม่ได้เจตนา ก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่มั่นใจในการพัฒนาสูตรตำรับยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะต้องระวังในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรยาแล้วยังต้องระวังในประเด็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่นอีกด้วย

ส่วนในเรื่องเครื่องมือแพทย์บางชนิด เช่น ถุงยางอนามัย ก็มีการแต่งกลิ่นของผลิตภัณฑ์เพื่อให้น่าสนใจ หากมีการให้เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่น ก็อาจมีผลกระทบเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยา วัตถุอันตรายที่ใช้ในทางสาธารณสุข เช่น ผลิตภัณฑ์ทากันยุงก็เป็นประเด็นเดียวกัน

 ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่น่าจะมีผลกระทบมากที่สุดคือ เครื่องสำอาง เนื่องจากกลิ่นนั้นถือเป็นส่วนสำคัญของตัวผลิตภัณฑ์ และในประเทศไทยนั้นการผลิตเครื่องสำอางนั้นมีแพร่หลายในทุกระดับ ทั้งในระดับโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก จนถึงระดับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ซึ่งมีอยู่ในแทบทุกชุมชน หากมีการให้เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีอยู่มากมายทั่วประเทศจะมีกลิ่นที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกับเครื่องสำอางของโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ หรือเหมือนกับกลิ่นที่มีผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว กลายเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ก่อให้เกิดการฟ้องร้องมากมาย ปัญหานี้ยังไม่นับรวมกับความพร้อมของบุคลากรและเครื่องมือของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะใช้ในการตรวจสอบหากมีการฟ้องร้องการละเมิดเครื่องหมายการค้า”

อ่านประกอบเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=1233&utm_source=twitterfeed&utm_medium=twitter

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: