คอนแทรกฟาร์มมิ่ง ‘สหฟาร์ม’ สัญญารัดคอ เกษตรกรจำยอมถูกเอาเปรียบ

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 11 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 7906 ครั้ง

เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่ธุรกิจผลิตไก่เนื้อเข้ามามีบทบาทต่อภาคเกษตร จากข้อมูลสถิติการเกษตร พบว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีการผลิตไก่เนื้อในรูปแบบพันธะสัญญา หรือคอนแทรกซ์ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming)  มากถึง 235,595,019 ตัว

รองจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทสหฟาร์มคือผู้ผลิตและส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่อันดับ 2 ของไทย ทว่า นับจากบริษัทสหฟาร์มประกาศปิดกิจการโรงงานชำแหละไก่ 2 แห่งที่อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2556 จากปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและหนี้สินกว่า 11,700 ล้านบาท ที่ติดค้างกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง ไม่นับรวมหนี้สินที่ติดค้างกับเกษตรกร อีกกว่า 385 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เกษตรกรจำนวนหนึ่งยังคงทำการเกษตรในระบบพันธสัญญาต่อไป

คำถามที่ตามมาก็คือ เหตุใดเกษตรกรเหล่านั้นยังคงเชื่อมั่นในระบบเกษตรพันธสัญญาที่งานศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่า หากสายป่านไม่ยาวพออาจกลายเป็นบ่วงรัดคอเกษตรเองจนสิ้นเนื้อประดาตัว

เกษตรกรเผย ไม่เห็นสัญาก่อนเซ็น

ย้อนกลับไปก่อนวันทำสัญญา นายอิน (นามสมมติ) หนึ่งในเกษตรกรผู้เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท สหฟาร์ม ที่ยังไม่ได้รับเงินค่าไก่เป็นจำนวนกว่า 4 ล้านบาท เล่าว่า หากเป็นไปได้ตนจะไม่เซ็นสัญญากับสหฟาร์ม แต่เพราะไม่มีเกษตรกรรายใดได้เห็นสัญญาก่อนเข้าร่วมธุรกิจ มีเพียงสัญญาปากเปล่าและการตระเวนพาไปดูงานตามฟาร์มเลี้ยงไก่ของเกษตรกรที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ เท่านั้น

ด้วยความเชื่อมั่นในระบบการเลี้ยงที่ได้ไปเห็น และคาดหวังถึงผลกำไรที่บริษัทให้คำมั่นว่าจะคืนทุนภายใน 3 ปี เงินจำนวนหลายล้านบาทจึงถูกกู้ยืมมาเพื่อสร้างโรงเรือนรอเลี้ยงไก่ ผ่านธนาคารที่ทำข้อตกลงกับบริษัทไว้ว่า หากเป็นเกษตรกรในระบบพันธสัญญาของบริษัทสหฟาร์มสามารถอนุมัติสินเชื่อในวงเงินนั้นๆ ได้ จนกระทั่งวันที่โรงเรือนแล้วเสร็จ นายอินจึงได้เห็นสัญญา เมื่อได้อ่านแล้วจึงรู้ว่าตนเป็นฝ่ายเสียเปรียบแต่จะถอยก็ไม่ได้เพราะได้ลงทุนไปทั้งหมดแล้ว

เปิดสัญญาทาส บ่วงรัดคอเกษตรกร

TCIJ ขอดูคู่สัญญาจากนายอิน พบว่า รายละเอีดต่างๆ ในสัญญากำหนดให้บริษัทสามารถผูกขาดการผลิต โดยการเป็นผู้กำหนดวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตแต่ผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ลูกไก่ อาหาร ยา วัคซีน รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้เลี้ยงไก่ ซึ่งบริษัทจะกำหนดทั้งชนิดและปริมาณของวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตนั้น

แม้สัญญาจะระบุว่า บริษัทจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตในอนาคต ทว่า การที่บริษัทเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขปัจจัยการผลิตต่างๆ โดยปราศจากหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐเข้าตรวจสอบคุณภาพหรือปริมาณที่บรรจุ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าวัตถุดิบเหล่านั้นไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในที่สุด

นายอินและเกษตรอีกสองสามรายกล่าวว่า ในช่วงแรกสหฟาร์มจะให้วัตถุดิบและพันธุ์ลูกไก่ที่มีคุณภาพดี แต่หลังจากนั้นสองสามครั้ง คุณภาพของวัตถุดิบและพันธุ์ลูกไก่ที่ได้รับจะต่ำลง เช่น อาหารสำหรับลูกไก่ที่ไม่ทำให้ไก่โตเร็วเท่าอาหารในงวดก่อนๆ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น นายอินยังเล่าว่า บริษัทมักใช้วิธีเลื่อนวันจับไก่ให้ช้ากว่าเดิม โดยอ้างเหตุผลว่าเกินความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าอาหารเพื่อเลี้ยงไก่ต่อ เมื่อถึงวันที่บริษัทมารับไก่ แทนที่เกษตรจะได้ราคาสูงขึ้นตามน้ำหนัก บริษัทกลับอ้างมาตรฐานที่ระบุไว้ตามสัญญา ตัดราคาไก่จนต่ำกว่าท้องตลาด

          “ถึงบริษัทจะบอกว่าซื้อไก่เราจริงตามราคาที่ตกลงกันไว้ แต่พอถึงเวลาจับไก่ เขาจะมีลูกเล่นต่างๆ กับเรา เช่น มาจับช้า อ้างว่าตอนนี้จับไก่ขายไม่ได้เพราะยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ไก่ของเราน้ำหนักมันตรงตามเกณฑ์ที่เขียนในสัญญาแล้ว พอถึงเวลาเขามาจับอีกครั้งไก่มันก็โตขึ้น แทนที่ไก่เราจะได้ราคาสูงขึ้นตามน้ำหนักตัว กลับถูกตัดราคาให้เหลือเท่าเดิม อ้างว่าไก่ตัวโตเกินไป จะเอาไปขายที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะถ้าบริษัทจับได้เราจะถูกบอกเลิกสัญญาทันที” นายอินกล่าว

สัญญามัดมือชก เกษตรกรรู้ว่าถูกเอาเปรียบ แต่บอกเลิกไม่ได้

เมื่อถามว่า ทั้งที่รู้ว่าถูกบริษัทเอาเปรียบซึ่งหน้า เหตุใดจึงไม่ทำการบอกเลิกสัญญา นายอินให้เหตุผลว่า หากบอกเลิกต้องชำระเงินที่ค้างจ่ายบริษัททั้งหมดทันที ทั้งค่าอาหาร ลูกไก่ และปัจจัยการผลิตต่างๆ อีกทั้งความยุ่งยากทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นหากบริษัทฟ้องเกษตรกร

และเมื่อดูจากข้อสัญญาจะพบว่า เป็นไปตามคำบอกเล่าของนายอิน  เพราะสัญญาระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้สิทธิบริษัทในการเลิกสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียว หากว่าเกษตรกรกระทำผิดสัญญาไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว ในทางกลับกัน หากเกษตรกรต้องการเลิกสัญญาจะต้องชำระหนี้สินต่างๆ ที่ค้างบริษัทและความเสียหายอื่นๆ ที่บริษัทกำหนด

แต่ในกรณีที่บริษัทไม่ชำระค่าตอบแทนให้เกษตรกรภายในเวลาที่กำหนด กลับไม่มีสัญญาใดๆ กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการชำระค่าตอบแทนแก่เกษตรกรล่าช้าหรือไม่คิดดอกเบี้ยแก่การชำระหนี้ล่าช้า แต่กลับกำหนดหน้าที่เหล่านี้ให้เกษตรกรชำระหนี้ที่ค้างบริษัทภายใน 15 วัน หากราคาไก่ที่ขายคืนบริษัทไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับหนี้ที่ค้างบริษัท เช่น ค่าลูกไก่และปัจจัยการผลิตต่างๆ

วิจัยชี้คอนแทรกฟาร์มมิ่ง เอาเปรียบ-ผลักภาระให้เกษตรกร

งานวิจัยเรื่อง ‘สัญญาที่ไม่เป็นธรรมในคอนแทรกฟาร์มมิ่ง: ศึกษากรณีการเลี้ยงไก่เนื้อ’ ของ ศรีภูพาน สุพรรณไชยมาตย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุข้อค้นพบจากการศึกษาว่า สัญญาเลี้ยงไก่เนื้อมีสองรูปแบบ ได้แก่ แบบรับจ้างเลี้ยงและแบบประกันราคา ซึ่งต่างมีลักษณะทางกฏหมายเฉพาะและมีนิติสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนมากกว่าเอกเทศสัญญา จึงถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุประสงค์แบบผสม ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีชื่อประเภทหนึ่งที่ต้องบังคับตามหลักทั่วไปเรื่องหนี้และนิติกรรมสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

รูปแบบสัญญาของบริษัทสหฟาร์มที่นำมาใช้นั้นเป็น ‘สัญญาสำเร็จรูป’ ที่ฝ่ายบริษัทกำหนดสัญญาไว้เป็นการล่วงหน้า โดยที่เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองเพื่อขอแก้ไขสัญญา ลักษณะดังกล่าวถือว่าขัดกับ ‘หลักเสรีภาพในการทำสัญญา’ ที่ระบุให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีสิทธิเลือกทั้งรูปแบบและวัตถุประสงค์ของสัญญาก่อนการทำสัญญา

และหากพิจาราณาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 พบว่าข้อสัญญาบางข้อมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบหรือผลักภาระมากเกินสมควร เช่น ให้สิทธิบริษัทเลิกสัญญาฝ่ายเดียว เกษตรกรมีหน้าที่รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด เกษตรกรไม่มีสิทธิรู้วิธีการคำนวนราคา เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว สัญญาทางธุรกิจที่นำมาใช้ระหว่างคู่สัญญาที่มีอำนาจต่อรองไม่เท่าเทียมกัน ฝ่ายที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่ามักเป็นฝ่ายกำหนดข้อสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงมีโอกาสอยู่มากที่บริษัทจะกำหนดสัญญาหรือเนื้อหาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน หรือกำหนดหน้าที่ของตนน้อยมาก บางครั้งแทบจะไม่มี เมื่อเทียบกับหน้าที่ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณากับตัวอย่างสัญญาเลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคาของเกษตรกรในระบบพันธสัญญาของบริษัทสหฟาร์ม พบว่า มีข้อสัญญาบางข้อกำหนดขึ้นเพื่อทำประโยชน์แก่บริษัทเพียงฝ่ายเดียวและมีบางข้อเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกรเกินสมควร

ยังเชื่อ ‘ผลิตมากได้มาก’ หากสัญญาไม่เอาเปรียบ

แม้จะรู้ว่าถูกเอาเปรียบจากบริษัททั้งจากสัญญาและในทางปฎิบัติ ทว่า นายอินกลับยังเชื่อมั่นในระบบที่ตนเสียเปรียบ โดยให้เหตุผลว่า ‘ยิ่งผลิตมาก ยิ่งได้เงินมาก’ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและการไม่ยอมจ่ายเงินเท่านั้น หากตนเลือกทำสัญญากับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือและไม่เอาเปรียบเกษตรกรปัญหาต่างๆ อาจไม่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับเกษตรกรอีกหลายรายที่เป็นลูกหนี้สหฟาร์ม ยังคงทำการเกษตรแบบเดิมต่อไปต่างเพียงบริษัทที่เข้าร่วม คือหันไปเลี้ยงไก่กับบริษัท ฉวีวรรณ จำกัด และ บริษัท ซันฟูดส์ จำกัด ซึ่งล้วนแต่เป็นระบบเกษตรพันธสัญญาทั้งสิ้น

เหตุใดเกษตรกรหลายรายจึงยอมเป็นผู้เล่นในเกมที่ตนไม่มีทางชนะ หรืออาจเป็นเพราะความชอบธรรมและภาพลักษณ์ทางการตลาดของระบบเกษตรพันธสัญญาเข้าครอบงำความคิดจิตใจของเกษตรกรอย่างอยู่หมัด

5 อุตสาหกรรมเลี้ยงไก่เนื้อรายใหญ่ของไทย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อของไทยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 รายที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ได้แก่

1.เครือเจริญโภคภัณฑ์

     -บริษัท ซี.พี.เอฟ. ผลิตอาหาร จำกัด

     -บริษัท กรุงเทพโปรดิวส์ จำกัด (มหาชน)

     -บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

2.เครือสหฟาร์ม

     -บริษัท สหฟาร์ม จำกัด

     -บริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด

3.เครือเบทราโกร

     -บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด

     -บริษัท บีฟู้ตส์ โปรดักส์ จำกัด

4.บริษัทซันแวลเล่ย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือคาร์กิล(Cargill) ประเทศสหรัฐอเมริกา

5.บริษัท จีเอฟพีที (มหาชน) จำกัด

เกษตรพันธสัญญาคืออะไร

เกษตรพันธสัญญาหรือคอนแทรกฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) เป็นระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีสัญญาผูกพันและมีการจัดการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (Vertical Integration) กับผู้ผลิตที่เป็นเกษตรรายย่อย โดยตกลงกันทำสัญญากำหนดว่า ผู้ประกอบการจะเป็นผู้สนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ส่วนเกษตรกรจะเป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้ข้อตกลงเรื่องปริมาณ คุณภาพ ลักษณะผลผลิต ราคารับซื้อ ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดข้อตกลงนั้นผู้ประกอบการมักจะเป็นฝ่ายกำหนด

สำหรับลักษณะสัญญาการเลี้ยงไก่เนื้อโดยทำคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ในประเทศไทยจำแนกได้ 2 ประเภท คือ

                (1) สัญญาเลี้ยงไก่เนื้อแบบรับจ้างเลี้ยง การเลี้ยงในรูปแบบนี้ บริษัทเป็นเจ้าของกรรรมสิทธิ์ในพันธุ์ลูกไก่และปัจจัยการผลิตทั้งหมด โดยมีเจ้าหน้าที่จัดหาและจัดส่งลูกไก่ อาหาร ยาและวัคซีนมาให้แก่เกษตรกรเพื่อเลี้ยงให้เป็นไก่กระทง (ไก่ใหญ่) ตามขั้นตอนและกรรมวิธีที่บริษัทกำหนด เมื่อเลี้ยงไก่ได้ตามขนาดและน้ำหนักที่ต้องการ บริษัทจะเป็นผู้กำหนดวันเวลาเพื่อนำเข้าโรงชำแหละ ค่าตอบแทนคิดเป็น ‘ค่าจ้าง’ ขึ้นอยู่กับอัตราการเลี้ยงรอดและอัตราการแลกเนื้อเป็นสำคัญ หากไก่ที่เลี้ยงมีจำนวนรอดมากและใช้อาหารน้อยก็จะได้ค่าจ้างสูง

                (2) สัญญาเลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคา การเลี้ยงรูปแบบนี้ผู้เลี้ยงเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยซื้อพันธุ์ลูกไก่ อาหาร และวัคซันที่บริษัทขายให้ เพียงแต่ไม่ต้องชำระราคาในขณะที่ส่งมอบ แต่บริษัทจะนำราคาดังกล่าวไปหักกับราคาที่ขายไก่กระทงตามน้ำหนักที่ชั่งได้หน้าโรงงานชำแหละของบริษัทเพื่อคำนวนหาราคารับซื้อ ซึ่งคิดตามน้ำหนักของไก่คูณด้วยราคาประกัน เฉพาะไก่ที่มีสภาพสมบูรณ์ หักด้วยหนี้ค่าพันธ์ลูกไก่ ค่าอาหารสัตว์ ค่าวัคซีน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆหากเกษตรกรเลี้ยงไก่ไม่ได้ขนาดตามข้อตกลงหรือเกิดความเสียหายจนทำให้ราคาขายไก่ไม่เพียงพอกับหนี้ที่ค้างบริษัท ผู้เลี้ยงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ครบถ้วน โดยบริษัทจะหักจากเงินประกันหรือราคาขายไก่ในคราวต่อไป

อ่าน 'จับตา': สหฟาร์มติดหนี้เกษตรกรเท่าไหร่

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4548

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: