เครือข่ายลุ่มน้ำจัดถก บริหารน้ำภาคกลาง ยื่นหนังสือถึงคสช. ค้านผุดเขื่อนแม่วงก์

11 ก.ย. 2557


เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่โรงแรมวรบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารทรัพยากรน้ำได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการรับฟังสภาพปัญหาของลุ่มน้ำและแนวทางการแก้ไข เพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นการรับฟังปัญหาของ 4 กลุ่มลุ่มน้ำ ได้แก่ สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน และเจ้าพระยา โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาเกษตรกร องค์กรผู้ใช้น้ำ เครือข่ายภาคประชาชน และหน่วยงานราชการในจังหวัดพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 200 คน เข้าร่วม

ทั้งนี้ในช่วงเช้า เริ่มต้นด้วยการนำเสนอภาพรวมการดำเนินการและชี้แจงวัตถุประสงค์ว่า คณะอนุกรรมการได้กำหนดให้มีประชุมรับฟังปัญหาน้ำในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสาเหตุและแนวทางการแก้ไขการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลเข้าสู่การวิเคราะห์และพิจารณายกร่างแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำของประเทศภายในเดือนตุลาคม 2557

ขณะเดียวกันมีตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำต่างๆ ร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ส่งต่อไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และเรียกร้องให้มีการกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการโดยเน้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เมื่อรับฟังปัญหาแล้วจะนำข้อมูลมาสรุปว่ามีปัญหาเรื่องน้ำประเด็นใดบ้าง มีความรุนแรงจนเกิดความเสียหายขนาดไหนและมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขหรือไม่ จากนั้นจึงนำไปวิเคราะห์เพื่อนำไปกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ซึ่งจะแบ่งเป็นมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้างหรือบางปัญหาอาจใช้ทั้งสองมาตรการร่วมกัน

        “พื้นที่ที่จะมีความมั่นคงน้ำคือพื้นที่ชลประทาน เพราะมีการจัดการที่เป็นระบบซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่เพียงร้อยละ 22 ของพื้นที่ประเทศ พื้นที่ที่เหลือต้องอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนอาจจะมีปริมาณน้ำเหลือไม่มากพอใช้ในช่วงฤดูแล้งของประเทศไทยที่ยาวนานถึง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เมษายน จึงจำเป็นต้องมีการแผนแม่บทเพื่อควบคุมบริหารการใช้ทรัพยากรน้ำ และป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา” นายเลิศวิโรจน์กล่าว

นายพงศ์พาณิช ตนุพันธ์ เครือข่ายลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ปัญหาร่วมของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือในฤดูแล้งจะไม่มีน้ำมากพอในการทำการเกษตรและมีน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคทั้งภาคเกษตรและครัวเรือน ขณะที่ฤดูฝนน้ำเหนือ ก็ไม่สามารถระบายลงสู่อ่าวไทยได้ทัน ซึ่งเครือข่ายฯเห็นตรงกันว่า ปัญหาเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพและขาดกติการ่วมในลุ่มน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงอ่าวตัวกอ ซึ่งเป็นพื้นที่มั่นคงทางทรัพยากรในทะเล แม้ที่ผ่านมากรมชลประทานจะมีโครงการมากมายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ไม่เคยมีการลงไปศึกษาผลกระทบร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนซึ่งเข้าใจในปัญหาและเป็นคนลุ่มน้ำตัวจริง ทำให้ไม่เกิดการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

         “ยังไม่มีความมั่นใจเพราะเวทีวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วม เกรงว่าแผนแม่บทการจัดการน้ำปี 2555 ที่ชาวบ้านร่วมกันคัดค้านมาโดยตลอดจะกลับเข้ามาสู่แผนยุทธศาสตร์ที่กำลังจัดทำ เนื่องจากกรมชลประทานเคยบอกว่าหลายพื้นที่ เช่น บางบาล บางไทร ยังไงก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการทำฟลัดเวย์ แต่กลับไม่เคยหยิบข้อเสนอของชาวบ้านขึ้นมาดู สิ่งที่ควรแก้กลับไม่แก้ อาจเป็นเพราะอยากได้โครงการเพื่อเอางบประมาณมาดำเนินการ ส่วนนักวิชาการของภาครัฐหลายคนไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงเพราะไม่เคยลงพื้นที่ มุ่งแต่จะสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาซึ่งเป็นก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงและเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนในลุ่มน้ำ” นายพงศ์พาณิชกล่าว

นางทิศา เข็มใหญ่ เครือข่ายลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี กล่าวว่า ผลกระทบจากโครงการภาครัฐในอดีตไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนเพราะถูกหลอกมาหลายครั้ง ในเครือข่ายฯจึงตั้งคำถามเหมือนกันว่าภาคประชาชนกำลังจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐหรือไม่ และยุทธศาสตร์ที่ออกมาจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดแค่ไหน ทำให้ไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการรับฟังปัญหานี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นรูปแบบการสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เร็วเกินไป ดังนั้นต้องการให้มีนำแผนยุทธศาสตร์กลับมาคุยร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนซึ่งทำงานร่วมกันมาโดยตลอดรับทราบว่าจะมีขั้นตอนดำเนินงานอย่างไรหรือมีโครงการอะไรบ้างที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นโอกาสได้ช่วยกันคิดปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพ

         “แม้จะเป็นคนท้ายน้ำ แต่ยืนยันว่าไม่ต้องการแก้ปัญหาโดยใช้เขื่อนขนาดใหญ่ ทำไมรัฐไม่เลือกวิธีการเก็บต้นน้ำไว้แล้วหาทางเลือกอื่น เช่น การทำลำรางผันน้ำจากพื้นที่ที่น้ำมากไปช่วยลุ่มที่มีน้ำน้อย หรือวางระบบจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดการแทรกแซงการจัดการทรัพยากรน้ำไม่ว่าจากหน่วยงานรัฐด้วยกันหรือผู้ที่ได้ประโยชน์ เพราะหากเราเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำยิ่งจะทำให้ระบบนิเวศมีปัญหารุนแรงกระทบทั้งลุ่มน้ำและจะไม่สามารถจัดการผลกระทบได้” นางทิศา กล่าว

นายสำรอง เยี่ยงยงค์ เครือข่ายลุ่มน้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ อุทัยธานีทั้งหมดเป็นแอ่งลาดลงต่ำทำให้ฤดูฝนน้ำจะท่วมแทบทุกพื้นที่ พอถึงยามแล้งน้ำจะไหลไปเร็วมากเพียง 3 เดือน น้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำก็แห้งหมด เนื่องจากเขื่อนทั้ง 3 เขื่อนในพื้นที่ไม่มีต้นน้ำขนาดใหญ่ที่จะลงสู่พื้นที่กักเก็บ ต้องอาศัยน้ำฝนและน้ำจากลำน้ำสายย่อย ขณะที่ลำน้ำแม่วงศ์ถือเป็นลำน้ำสายหลักมีปริมาณน้ำมาก จึงจำเป็นต้องมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อกักเก็บน้ำซึ่งจะช่วยให้สามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดปีและช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีได้ทั้งหมด

         “แม้องค์กรท้องถิ่นจะมีความพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่น เช่น ใช้งบประมาณขุดสร้างน้ำขนาดเล็กกว่าหนึ่งหมื่นสระ แต่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้เพียงสองล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ เราอยู่ในพื้นที่ซึ่งประชาชนต้องการน้ำ รัฐต้องเลือกเอาระหว่างป่ากับน้ำ เพราะน้ำก็คือชีวิต เมื่อทุกชีวิตมีน้ำหล่อเลี้ยงมันจะสร้างสมดุลของในตัวเอง จึงอยากฝากไว้กับคสช. แต่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่นำเสนอไปจะได้รับการนำไปปฎิบัติหรือไม่” นายสำรอง กล่าว

น.ส.เด่นศิริ ทองนพคุณ เลขาธิการชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า แม่น้ำท่าจีนกำลังตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมอย่างหนักเนื่องจากเป็นลุ่มน้ำที่ผ่านเมืองใหญ่เต็มไปด้วยบ้านเรือน ร้านอาหาร รีสอร์ท โรงงาน ทำให้ประสบปัญหารุกล้ำแม่น้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ผักตบชวาหนาแน่น น้ำเน่าเสีย ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะตื้นเขินในแม่น้ำสายหลัก และลำคลองสายย่อย ไม่สามารถเก็บกักน้ำในช่วงแล้งได้ และฤดูฝนน้ำไหลลงทะเลไม่สะดวกประกอบกับพื้นที่ท้องกระทะจึงท่วมขังนาน จึงเสนอให้ระยะเร่งด่วนต้องจัดการแก้ปัญหาผักตบชวา ขุดคลอกแม่น้ำคูคลองเพื่อให้น้ำไหลสะดวกและช่วยเป็นแก้มลิง

น.ส.เด่นศิริกล่าวว่าควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในแต่ละชุมชนและจังหวัดจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันร่างข้อกำหนดเกี่ยวกับการดูแลแม่น้ำ มีข้อกำหนดร่วมกันและนำไปบังคับในการแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ก่อเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยทั้งหมดนี้เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มแม่น้ำท่าจีนเคยสรุปเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาแม่น้ำท่าจีนและมอบให้กับคสช.ไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

        “ต้องร่างยุทธศาสตร์ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผน และประชาชนสามารถประเมินผลการทำงานของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ เพราะพวกเรายังไม่ไว้ใจกระบวนการจัดเวทีครั้งนี้ เกรงว่าอาจจะเอาประชาชนไปเป็นเครื่องมือ อยากให้ลงไปจัดเวทีแบบนี้ในพื้นที่ในระดับจังหวัดไม่ใช่จัดแบบสุกเอาเผากิน ชาวบ้านที่เข้าใจปัญหามีอีกเยอะที่ไม่มีโอกาสมานำเสนอปัญหาในวันนี้ ไม่อยากให้รีบสรุปเป็นยุทธศาสตร์ เพราะกระบวนการวันนี้ถือว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมที่ควรทำเท่านั้น” น.ส.เด่นศิริกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: