บทวิเคราะห์: การท้าทายของคนรุ่นใหม่ ต่อระเบียบการเมืองจากคนรุ่นเก่า

กานต์ ยืนยง 10 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2118 ครั้ง

ในเมื่อจีนเองกำลังมีข้อพิพาทในเรื่องเกาะเตียวหยู/เซ็นกากุ กับญี่ปุ่น, มีกรณีที่จะรวมไต้หวันกลับสู่มาตุภูมิ และกรณีความขัดแย้งกับหลายประเทศในเขตทะเลจีนใต้ อาทิ เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น หากมีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงจนเกิดเหตุการณ์บานปลาย ก็จะทำให้ข้อกล่าวหาของประเทศที่กำลังมีข้อพิพาทกับจีนเหล่านี้มีน้ำหนักขึ้นมา อำนาจการต่อรองของจีนในเวทีสากลอาจเกิดความเสียหาย

          ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง ก็น่าจะเป็นเพราะสถานการณ์ภายในประเทศจีนเอง ที่มีกรณีเขตปกครองพิเศษ ซินเจียง หรือทิเบต ที่มีปัญหาเรื่องอัตลักษณ์และมีความเคลื่อนไหวที่จะแยกตนเองออกจากจีน หรือแม้แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการเติบโตและความมั่งคั่งสูงในเขตชายฝั่งตะวันออกของประเทศประชาชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้มีฐานะมั่งคั่งมีชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นจำนวนมากและต้องการแสวงหาอำนาจทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยธรรมชาติ ในกรณีที่จัดการสถานการณ์ในฮ่องกงไม่แยบยลพอ เหตุการณ์อาจบานปลายนำไปสู่การปะทะจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายแล้วกระเพื่อมหกลงสู่พื้นที่อ่อนไหวเหล่านี้ได้ ทางการจีนจึงน่าจะใช้กลยุทธ์การรอแล้วทำให้กำลังทางฝั่งผู้ประท้วงอ่อนแรงลง ทั้งจากความยืดเยื้อของการชุมนุม และการสะท้อนกลับของเศรษฐกิจที่เริ่มถดถอยของฮ่องกงเองจากการปิดกั้นการจราจรและการเข้ายึดครองพื้นที่ของผู้ชุมนุมประท้วง (ข้อมูลจนถึงปัจจุบันก็พบว่าตัวเลขผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกงก็ลดน้อยลงจริง) แล้วจึงค่อยหาทางเจรจาหรือผ่อนคลายสถานการณ์ลงไป

          ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง สถานการณ์ในมาเลเซียก็มีความเปลี่ยนแปลงอันสำคัญ เพียงแต่อาจไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในประเทศไทยเท่ากรณีของการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงมากนัก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ได้ปะทุออกมาเป็นสถานการณ์ใหญ่เหมือนเช่นในฮ่องกง เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความขัดแย้งในการแต่งตั้งมุขมนตรีแห่งรัฐ (Menteri Besar) ประจำรัฐสลังงอร์ ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งของเมืองหลวงกรุงกัวลาลัมเปอร์และเขตบริหารราชการปุตราจายา (เฉพาะเขตกัวลาลัมเปอร์และปุตราจายาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลาง) เหตุการณ์ความขัดแย้งในรัฐสลังงอร์นี้ในมาเลเซียเรียกกันว่า “ความเคลื่อนไหวคะจัง” (Kajang Move หรือในภาษาบาฮาซาร์ Langkah Kajang) ซึ่งเป็นการกุศโลบายทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในรัฐสลังงอร์ (พรรคบีเอ็นฝ่ายรัฐบาลเล็งไว้นานแล้วที่จะโค่นฝ่ายค้านลงจากการได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐนี้ให้ได้ แต่ล้มเหลวเนื่องจากรัฐสลังงอร์เป็นรัฐที่มีประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางฐานะดีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นรัฐที่มั่งคั่งที่สุดในมาเลเซียทั้งยังมีจำนวนประชากรสูงที่สุดอีกด้วย ประชาชนเหล่านี้เห็นว่าการครอบงำของพรรครัฐบาลมาเป็นเวลานานสร้างปัญหาให้กับประเทศ จึงต้องการทดลองทางเลือกใหม่กับพรรคฝ่ายค้าน) พรรคฝ่ายค้านพยายามปลด ตันศรี อับดุล คาลิด อิบราฮิม มุขมนตรีคนเก่าซึ่งฝ่ายตนเคยเป็นผู้เสนอชื่อเอง ให้ออกจากตำแหน่ง (เราจะพูดถึงเหตุผลสำคัญของเรื่องนี้ต่อไปข้างหน้า) แล้วพยายามตั้ง ดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิม ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน PKR และเป็นหัวหน้าแนวร่วมฝ่ายค้าน PR ขึ้นดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐแทนที่

          กุศโลบายนี้เริ่มจากฝ่ายค้านโจมตีความด้อยประสิทธิภาพของมุขมนตรีคนเก่าอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้ผู้นำฝ่ายค้าน นายอันวาร์เข้าเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมที่เขตคะจัง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2557 เพื่อที่ว่าเมื่อได้ดำรงตำแหน่งในสมาชิกสภาของรัฐสลังงอร์แล้ว เขาจะมีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นมุขมนตรีคนถัดไปได้ หากแต่มีการเล่นงานนายอันวาร์ด้วยการฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการรักร่วมเพศ (ซึ่งถือเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมมุสลิม) การฟ้องร้องนี้มีการตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเล่นงานนายอันวาร์จากทางฝ่ายรัฐบาล ทางพรรค PKR จึงตัดสินใจส่ง ดาตุ๊ก เสรี ดอกเตอร์ วัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล ซึ่งเป็นภริยาของนายอันวาร์ลงในการเลือกตั้งซ่อมแทนที่ ซึ่งนาง วัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล ก็ได้รับเลือกตั้ง และเธอก็ได้รับการเสนอชื่อให้ชิงตำแหน่ง มุขมนตรี ควบคู่กับที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล (แต่เป็นฝ่ายค้านในรัฐสลังงอร์) เสนอชื่อ ฉิวเหม่ยฟั่น รองหัวหน้าพรรค MCA ซึ่งเป็นพรรคร่วมในแนวร่วมรัฐบาล BN เข้าชิงตำแหน่งควบคู่ไปด้วย มุขมนตรีคนเก่าหมดสภาพจากตำแหน่งเนื่องจากถูกปลดออกจากความเป็นสมาชิกภาพของพรรค PKR ด้วยข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่น

สุลต่านรัฐสลังงอร์

www.malaysia-today.net/wp-content/uploads/2014/09/sultan-selangor.jpg

            เรื่องมาถึงตรงนี้เราจะได้เห็นการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองอันเข้มข้นระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล แต่สถานการณ์กลับซับซ้อนไปยิ่งขึ้นเมื่อ เรื่องราวเกี่ยวพันไปถึงบทบาทของสุลต่านชาราฟุดดิน ไอดริส ชาห์ (Sharafuddin Idris Shah) ผู้ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐสลังงอร์

            ระบบการเมืองของมาเลเซียนั้นเป็นสหพันธรัฐ และผู้เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีหรือประมุขสูงสุดของมาเลเซีย (หรือในภาษาบาฮาร์ซาคือ ยังดี เปอร์ตวน อากง หรือYang di-Pertuan Agong) จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างสุลต่านของรัฐต่าง ๆ ทั้งเก้ารัฐในมาเลเซีย โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีกับรัฐสภาในระบอบการปกครองแบบพันธรัฐของมาเลเซียก็นับว่าเป็นไปตามแบบอย่างระบอบประชาธิปไตยแบบเวสต์มินสเตอร์ของอังกฤษผู้เคยเป็นเจ้าอาณานิคมกลุ่มรัฐมลายามาก่อน คือสมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชอำนาจโดยจำกัดตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ แม้จะถือได้ว่าในเวลาปกติรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีจะเป็นตัวแสดงแทนที่แสดงอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ขึ้นมาอย่างโดดเด่น (นี่นับเป็นมรดกตกทอดด้านดีที่สำคัญชิ้นหนึ่งของการเป็นดินแดนในอาณานิคมของอังกฤษ) แต่ในห้วงเวลาอันวิกฤตนั้นเมื่อรัฐมาเลเซียจำต้องแสดงเหตุผลแห่งรัฐ (Raison d’être) เราจะเห็นการประสานงานอันเข้มแข็งระหว่าง สถาบันกษัตริย์และระบบราชการของมาเลเซียเพื่อใช้อำนาจอันล้นพ้นของรัฐ (Leviathan) เพื่อธำรงรักษาระเบียบทางการเมือง ซึ่งผูกพันอย่างแน่นหนากับอัตลักษณ์แห่งรัฐมาเลเซียเอาไว้

            ในการขับเคี่ยวการแต่งตั้งตำแหน่งมุขมนตรีรัฐสลังงอร์นั้น พรรค PKR และพรรค DAP ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญในแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน PR ได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่จะนำเสนอชื่อผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งมุขมนตรีเพียงชื่อเดียวต่อสุลต่านซาราฟุดดิน นั่นคือนาง วัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล ผู้ซึ่งเป็นภริยาของนายอันวาร์เอง การ์ณกลับปรากฎว่าการเสนอรายชื่อผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียงชื่อเดียว กลับทำให้สุลต่านซาราฟุดดินเกิดความผิดหวังและพระองค์ถึงกับกล่าวว่า การเสนอชื่อนั้นถือเป็นการ “ทรยศ” ทั้งพรรค PKR และพรรค DAP จึงต้องทำการขอพระราชทานอภัยโทษต่อสุลต่านซาราฟุดดิน หากแต่การขอพระราชทานอภัยโทษของทั้งสองพรรคนั้นก็ถูกถือว่าเป็นมารยาทอันหยาบคาย ทั้งนี้เพราะสารคำขอพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นการกระทำผ่านสื่อมวลชนอันเป็นพื้นที่สาธารณะแทนที่จะทำผ่านช่องทางอันไม่ใช่สาธารณะแล้วส่งตรงถึงสุลต่านซาราฟุดดินประการหนึ่ง นอกจากนี้สารนั้นยังใช้คำว่า “หากการเสนอรายชื่อเพียงหนึ่งเดียว เป็นการกระทำอันขุ่นเคืองต่อสุลต่าน...” (อันแสดงว่าทั้งสองพรรคนั้นหาได้มีความสำนึกผิดแต่ประการใดไม่) อีกประการหนึ่ง เหตุการณ์นี้จึงทำให้ ตันศรี มูฮัมหมัด มูฮัมหมัด ตายิบ ซึ่งเป็นมุขมนตรีคนก่อนหน้าและ เคยเป็นทั้งสมาชิกของทั้งพรรค PAS อันเป็นพรรคร่วมในแนวร่วมฝ่ายค้าน และพรรค UMNO อันเป็นพรรคแกนหลักในพรรคร่วมรัฐบาล BN ออกมากดดันให้ทั้งสองพรรคฝ่ายค้านนั้นนำเสนอชื่อผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งมุขมนตรีมากกว่าหนึ่งรายชื่อตามธรรมเนียม ด้วยเหตุนี้พรรค PAS จึงส่งรายชื่อผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งมุขมนตรีถึงสุลต่านจำนวนสามรายชื่อ ก็เท่ากับว่าขณะนั้นมีรายชื่อผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแล้วถึงสี่คน คือ นาง วัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล จากการเสนอชื่อของพรรค PKR และ DAP และอีกสามรายชื่อจากพรรค PAS โดยสองรายชื่อเป็นสมาชิกของพรรค PAS เอง ในขณะที่อีกหนึ่งรายชื่อคือ นายอัสมิน อาลี ผู้ซึ่งเป็นรองประธานพรรค PKR เอง และเป็นนาย อัสมิน อาลี ผู้นี้นี่เองที่ในที่สุดได้รับเลือกจากสุลต่านซาราฟุดดินให้ดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐสลังงอร์ในที่สุด

          นี่จึงเป็นการส่งสัญญาณอันชัดเจน ของสุลต่านซาราฟุดดินต่อทั้งพรรค PKR และพรรค DAP ว่าอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ที่แท้จริงอยู่ที่ใครกันแน่ ทั้งยังแสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดด้วยอีกว่ามุขมนตรีคนใหม่จะต้องจงรักภักดีต่อสุลต่านและประชาชน หาใช่จงรักภักดีต่อพรรคการเมืองและนายอันวาร์ไม่ โดยในช่วงพิธีสาบานตนในตำแหน่งมุขมนตรีของนายอัสมิน มีรายงานข่าวว่าสุลต่านได้ตรัสว่า “นักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่สุลต่านต้องอยู่ทำงานเพื่อประชาชนไปจนตลอดชีวิต” แต่หากจะว่าไปแล้ว อันที่จริงนี่เป็น “ดีล” ที่ลงตัวที่สุดในกระบวนยุทธ์ “การเคลื่อนไหวกระจัง” ซึ่งว่ากันว่าเป็นผลงานจากมันสมองของ นายราฟิซี รามลี รองประธานพรรค PKR และเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์ของพรรคมาก่อน การเคลื่อนไหวนี้กระทำเพื่อขับนาย คาลิด มุขมนตรีคนเก่าออกจากตำแหน่งได้สำเร็จแล้ว จริงอยู่แม้นาย คาลิดจะเคยใกล้ชิดกับพรรค PKR และนายอันวาร์มาก่อน แต่เมื่อเขาขึ้นดำรงตำแหน่งมุขมนตรีเขาก็แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ (นั่นก็หมายความว่าปลีกตนออกจากพรรค PKR และนายอันวาร์เช่นกัน) เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้งทิศทางนโยบายและการเสริมสร้างฐานเสียงในรัฐที่มั่งคั่งที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในมาเลเซียอันเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรค PKR และแนวร่วมพรรค PR จึงสั่นคลอนไปด้วย นายอันวาร์จึงต้องเคลื่อนไหวเพื่อ “ยึดฐานที่มั่น” กลับคืน เมื่อเขาประสบทางตันในการผลักดันตนเองขึ้นสู่ตำแหน่งมุขมนตรี เขาจึงส่งคนที่ไว้ใจได้ที่สุดเข้าสู่ตำแหน่งแทนซึ่งนั่นก็คือ นาง วัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล ผู้ภริยา แต่เมื่อแนวทางนี้ถูกสกัดกั้นอีก ทางเลือกของนาย อัสมิน ก็เป็นทางเลือกที่ “แย่น้อยที่สุด” เพราะอย่างน้อยนายอัสมิน ก็เป็นเคยมือขวาของนายอันวาร์ และยังรักษาความสัมพันธ์อยู่ แต่นายอัสมิน ผู้นี้ (ซึ่งก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนว่า มีความทะเยอทะยานทางการเมืองตามแบบฉบับของนักการเมืองในพรรค UMNO ซึ่งทั้งนายอันวาร์และนายอัสมินเคยเป็นสมาชิกอยู่ด้วยกันทั้งคู่) นายอัสมินสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งของตนขึ้นในพรรค PKR ในช่วงที่นายอันวาร์ถูกข้อหาการรักร่วมเพศจนถูกจำคุกและต้องให้นาง วัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนนั้น นายอัสมินก็แสดงบทบาทสำคัญในการดูแลพรรคด้วย แต่เขาก็เคยมีการวิวาทะกับ นาง วัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล ในเรื่องทิศทางของพรรคอยู่บ่อยครั้ง การที่นายอันวาร์จะกำจัดนายอัสมินออกจากพรรค PKR จึงเป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสีย เพราะนั่นเท่ากับจะทำให้พรรค PKR สูญเสียนักการเมืองสำคัญไปหลายคน และเป็นไปได้ว่าอาจจะไปเพิ่มกำลังให้กับพรรค UMNO ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญก็ได้ ในขณะที่พรรค PAS ซึ่งมีแนวทางแบบเน้นศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้นก็ถูกมองว่ากำลังจะทรยศและปลีกตัวออกจากพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านแล้วเข้าร่วมกับพรรครัฐบาล นายอัสมินจึงทางออกที่ประนีประนอมที่สุด และเขาก็กลับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในขณะนี้ที่จะเป็นผู้ประสานระหว่าง ทั้งพรรค PKR, DAP กับพรรค PAS และพรรค UMNO (ซึ่งพรรคเหล่านี้มีตัวแทนอยู่ในสภาผู้แทนแห่งรัฐสลังงอร์ทั้งหมด) รวมไปถึงการประสานกับสุลต่านราซาฟุดดิน สมดุลทางการเมืองชั่วคราวภายหลังการโค่นนายคาลิดจึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

          บทเรียนที่น่าสนใจสำหรับสถานการณ์นี้ในที่สุด เราจะเห็นว่าแท้จริงแล้วเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคการเมืองและนักการเมืองในฝ่ายต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงอำนาจ แต่เมื่อกระบวนการขับเคลื่อนนี้กระเซ็นไปถึงพื้นที่แห่งพระราชอำนาจโดยสุลต่านราซาฟุดดิน ในขณะที่สุลต่านราซาฟุดดินพยายามขีดเส้นขอบเขตพระราชอำนาจให้เห็นชัดว่าเส้นใดเป็นเส้นแบ่งระหว่าง อำนาจนักการเมืองและพระราชอำนาจ ในขณะเดียวกันนั้นพระองค์ก็ทรงถูกใช้จากนักการเมืองในเกมแย่งชิงอำนาจไปด้วย ความขัดแย้งที่เริ่มจากนักการเมืองด้วยกันเองนั้นหวิดจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่าง อำนาจรัฐสภาและอำนาจสถาบันกษัตริย์ไปโดยไม่รู้ตัว น่าคิดเหมือนกันว่าหากเกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจทั้งสองขึ้นจริงแล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

          ในปี 1969 เกิดเหตุจราจลใหญ่ในมาเลเซียขึ้น (เหตุการณ์นี้ต่อมาถูกเรียกว่า “เหตุการณ์ 13 พฤษภาคม”) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่พรรคฝ่ายค้านในเวลานั้น (อันประกอบไปด้วยพรรค PAS, Gerakan และพรรค DAP)ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งของรัฐสลังงอร์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 1969 ทำให้พรรคฝ่ายค้านซึ่งนำโดยพรรค Gerakan อันเป็นพรรคที่มีสมาชิกเป็นคนเชื้อชาติจีนอยู่มาก ทำการฉลองชัยชนะโดยการเดินขบวนไปตามท้องถนน การเดินขบวนนี้ต่อมานำไปสู่เหตุการปะทะกันและนำไปสู่การจราจลในที่สุด มีรายงานที่ไม่เป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 600 คน และในที่สุดสถานการณ์นี้ก็นำไปสู่การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” และมาตรการเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ และต่อมา สมเด็จพระราชาธิบดีของมาเลเซีย หรือ ยังดี เปอร์ตวน อากง ก็ได้ประกาศจัดตั้ง “สภาปฏิบัติการแห่งชาติ” (National Operations Council หรือ NOC) ทั้งยังประกาศให้สภาผู้แทนราษฏรแห่งมาเลเซียยุติลง สภาปฏิบัติการแห่งชาติ หรือถ้าเรียกแบบไทย ๆ ก็คงเรียกได้ว่า สปช นี้ ก็ได้กลายมาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐมาเลเซีย ภายหลังเมื่อ สปช ควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการ อาทิเช่น การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economic Policy (NEP) นโยบายนี้เองทำให้อภิสิทธิ์ของชาวมาเลเซียพื้นถิ่นมีสูงขึ้น (อาทิ ได้โควต้าพิเศษในการเข้าศึกษา เข้าทำงานในราชการ และได้ส่วนลดในการซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นต้น) ภายใต้สมมติฐานที่ว่า คนมาเลเซียมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้าน้อยกว่าคนจีน ดังนั้นจึงควรได้รับอภิสิทธิ์พิเศษเหนือคนจีน

          เหตุการณ์นี้ยังไปสู่การขับนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมหมัด ออกจากพรรค UMNO จึงสร้างแรงบันดาลใจให้เขาเขียนหนังสือชื่อ The Malay Dilemma หนังสือเล่มนี้อ้างอิงหลักการวิวัฒนาการแบบดาร์วินและให้เหตุผลว่าเหตุใดมาเลเซียจึงควรจะใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบเอื้อประโยชน์ให้กับคนมาเลเซียพื้นถิ่น สถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าจะผลักดันให้มหาธีร์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย ซึ่งเขาจะดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 12 ปี และจะยังมีอิทธิพลกับการเมืองมาเลเซียจนถึงปัจจุบัน และเป็นนายมหาธีร์ผู้นี้เองที่ได้เป็นคนเลือกนายอันวาร์ดาวรุ่งจากปีกเยาวชนของพรรค UMNO ขึ้นมาเป็นมือขวากับมือ นายอันวาร์ไ้ด้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งยังถูกคาดหมายว่าเขาจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไปจากมหาธีร์ หากว่าเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทยจะไม่แพร่ระบาดไปทั่วเอเชีย และส่งผลต่อเศรษฐกิจของมาเลเซีย ด้วยเหตุที่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้สามารถโค่นนายพลซูฮาร์โตลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียได้ นายอันวาร์จึงใช้วิกฤตเศรษฐกิจนี้ขับเคลื่อนการก่อขบวนโค่นมหาธีร์จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายมหาธีร์จึงใช้กำลังทางการเมืองของเขาทั้งหมดสู้กลับเพื่อขับไล่นายอันวาร์ออกจากพรรค และปฏิเสธการกอบกู้เศรษฐกิจตามแนวทางของไอเอ็มเอฟ ที่นายอันวาร์พยายามชูธงว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ในที่สุดแล้วนายบัดดาวีก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนที่นายมหาธีร์ แล้วนายบัดดาวีเองก็ถูกกลุ่มของนายมหาธีร์นั่นแหละโค่นลงจากอำนาจในเวลาต่อมา แล้วจึงชูนายนาจิปนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันขึ้นแทนที่ จนนำไปสู่สถานการณ์สามผู้ยิ่งใหญ่ (The Triumvirate) ในพรรค UMNO ในปัจจุบัน คือเครือข่ายของนายมหาธีร์ เครือข่ายของนายบัดดาวี และเครือข่ายของนายนาจิป ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้ต่างก็เตรียมแย่งชิงอำนาจกันอยู่

         ดูเสมือนหนึ่งว่าสถาบันกษัตริย์ในมาเลเซียจะเอนเอียงไปอยู่ทางพรรค UMNO แต่เอาเข้าจริงในช่วงที่นายมหาธีร์ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงหลังซึ่งภาวะผู้นำของมหาธีร์มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมากนั้น นายมหาธีร์เองก็เคยมีเรื่องบาดหมางกับสุลต่านอิสกันดาร์แห่งรัฐยะโฮร์มาก่อน เมื่อปี 1992 ขณะที่ราชโอรสของสุลต่านอิสกันดาร์ถูกห้ามเข้าแข่งขันร่วมกับทีมจ๊อคกี้ และรัฐยะโฮร์ได้ตอบโต้โดยการถอนตัวออกจากการแข่งขันฮอคกี้ประจำชาติ ทำให้โค้ชทีมรัฐยะโฮร์วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าวของสุลต่านอิสกันดาร์ โค้ชทีมรัฐยะโฮร์จึงถูกเรียกไปพบและถูกสุลต่านทุบตี ผลที่เกิดขึ้นคือรัฐสภาได้ทำการตำหนิสุลต่านอิสกันดาร์ มหาธีร์ใช้โอกาสนั้นเองในการยกเลิกกฎหมายหมิ่นกษัตริย์และถอนการสนับสนุนงบประมาณของรัฐให้กับครอบครัวสุลต่าน ซึ่งในขณะนั้นสื่อมวลชนมาเลเซียให้การสนับสนุนการตัดสินใจทางการเมืองกับนายมหาธีร์ เมื่อการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ผ่านสภาในปี 1994 พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในมาเลเซียจึงลดลงอย่างมาก

         การเมืองจึงเป็นความขัดแย้งการแย่งชิงอำนาจระหว่างนักการเมืองในฝักฝ่ายต่าง ๆ แก่นแท้ของความขัดแย้งอยู่ที่ผลประโยชน์ในแง่การสั่งสม อำนาจ เครือข่าย และทุน ของค่ายการเมืองต่าง ๆ แต่การจะขับเคลื่อนเพื่อโค่นฝ่ายตรงข้ามลงนั้น จะอาศัย “บาดแผล” อันเป็นผลจากการก่อตัวของอัตลักษณ์ประจำชาติ วิกฤตทางเศรษฐกิจจะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ความขัดแย้งนั้นบานปลายยิ่งขึ้น แต่เบื้องหน้านั้น นักการเมืองจะให้เหตุผลในการขับเคลื่อนทางการเมืองของตนว่า เพื่อประโยชน์ประชาชนและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่การแย่งชิงอำนาจนี้จะทำให้อำนาจรัฐอ่อนแอลง จนทำให้บางครั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจถูกขับเคลื่อนจากนักการเมืองหน้าใหม่ที่ปราศจากผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์น้อย การขับเคลื่อนเป็นไปเพื่อเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ การต่อรองทางการเมืองจะเกิดขึ้นยาก การขับเคลื่อนนั้นจะส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างถึงรากถึงโคน

การเปลี่ยนแปลงอย่างการปฏิวัติซินไฮ่ในปี 1911 ซึ่งเป็นการโค่นล้มราชวงศ์ชิงลงจากอำนาจถือเป็นตัวอย่างนี้

ขอบคุณภาพจาก

http://thai.cri.cn/mmsource/images/2011/10/06/e2b0395d253643348f9934c59b14999d.jpg

            สัญลักษณ์ที่อยู่ในรูปธงของการปฏิวัติ รูปข้างบนนี้ เป็นสัญลักษณ์ต้นแบบของดวงอาทิตย์สิบสองแฉก (ธงตะวันฉาย ฟ้าใส) ของพรรคก๊กมินตั๋ง เราจะเห็นธงนี้เป็นส่วนหนึ่งบนสัญลักษณ์ของธงชาติมาเลเซียด้วย ซึ่งแสดงให้นเห็นถึงจุดกำเนิดของอัตลักษณ์แห่งชาติมาเลเซีย ที่มีมาตั้งแต่การก่อตั้งชาติภายหลังได้รับเอกราช ซึ่งพยายามรวมชนชาติมลายูพื้นถิ่นที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติและคนเชื้อชาติจีนเข้าด้วยกัน พรรค MCA ซึ่งเป็นพรรคประจำคนจีนในมาเลเซีย (ซึ่งมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพรรคก๊กมินตั๋ง) จึงถูกรวมอยู่ในแนวร่วมรัฐบาล BN ด้วย (รวมกับพรรคคนอินเดีย MIC)

อัตลักษณ์แบบเก่าของมาเลเซียนี้ (ซึ่งเน้นค่านิยมแบบครอบครัว / ส่วนรวม) กำลังถูกท้าทายจากสถาปัตยกรรมการเมืองแบบใหม่ของแนวร่วมฝ่ายค้าน PR ซึ่งมีจุดร่วมที่ค่านิยมปัจเจกชนและสิทธิมนุษยชน ในทำนองเดียวกับการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงฮ่องกงซึ่งกำลังท้าทายอัตลักษณ์เดิมของการปกครองแบบพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน

ความท้าทายนี้กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระเบียบทางการเมืองของประเทศในเอเชียที่มีมาตั้งแต่การดิ้นรนหลุดพ้นสงครามกลางเมือง และพ้นจากการเป็นประเทศใต้อาณานิคม เป็นประเทศเอกราชเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: