บทวิเคราะห์: GDPไทยและความไม่สมดุลที่ซุกซ่อน(2): ร่างงบปี58ตอบโจทย์หรือไม่?

ดร.ชยงการ ภมรมาศ 10 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4681 ครั้ง

ในตอนที่แล้ว (บทวิเคราะห์: GDPไทยและความไม่สมดุลที่ซุกซ่อน http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4726)

ผมได้กล่าวถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยซึ่งมีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก โดยการส่งออกสินค้าและบริการมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 70 ของ GDP การที่ภาคต่างประเทศมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยนำไปสู่ความกังวลของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลก  ทำให้เริ่มได้ยินเสียงเรียกร้องให้ปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศโดยลดการพึ่งพิงภาคต่างประเทศลง

อิทธิพลของภาคต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 ใน พ.ศ.2539 ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งเพียงหนึ่งปี การส่งออกสินค้าและบริการ (X) มีสัดส่วนใน GDP เพียงประมาณร้อยละ 40 ในขณะที่การใช้จ่ายของครัวเรือน (C) และการลงทุนภาคธุรกิจ (I) มีสัดส่วนใน GDP ร้อยละ 54 และ ร้อยละ 42 ตามลำดับ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตะกร้าเงินเป็นระบบการลอยตัวแบบมีการจัดการในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2540 แล้ว การอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทส่งผลให้การส่งออกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและมีสัดส่วนต่อ GDP มากกว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนนับตั้งแต่ พ.ศ.2541เป็นต้นมา ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีจาก พ.ศ.2539–พ.ศ.2541 การส่งออกสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.8 ล้านล้านบาทต่อปีเป็นประมาณ 2.7 ล้านล้านบาทต่อปีหรือมีการเพิ่มขึ้นมากกว่า 900,000 ล้านบาทในขณะที่การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีการปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.48 ล้านล้านบาทต่อปีเป็นประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทต่อปีหรือมีการเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ในส่วนการลงทุนของภาคเอกชนนั้นก็ได้มีการปรับลดลงอย่างรุนแรงภายหลังจากวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง โดยการลงุทนของภาคเอกชนปรับลดลงจากประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทใน พ.ศ.2539 เหลือเพียงประมาณ 950,000 ล้านบาทใน พ.ศ. 2541 หรือมีการปรับลดลงเกือบ 1 ล้านล้านบาท

กล่าวโดยสรุปก็คือจากประสบการณ์ใน พ.ศ.2540 การส่งออกเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการอ่อนค่าลงของเงินบาทและการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน ดังนั้น หากเราต้องการปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศให้ลดการพึ่งพิงภาคต่างประเทศลง เราจะสามารถทำได้โดย หนึ่ง, ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและมูลค่าการส่งออกลดลง และ/หรือ สอง, เน้นความสำคัญไปที่กำลังซื้อในประเทศ นั่นก็คือการหันกลับมาให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายของครัวเรือน (Consumption: C) การลงทุนภาคธุรกิจ (Investment: I) และการใช้จ่ายของภาครัฐบาล (Government Expenditure: G)

หลังจากประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งมาได้ประมาณหนึ่งทศวรรษ ประเทศตะวันตกกลับต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญอันได้แก่วิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและวิกฤติการณ์ทางการเงินในสหภาพยุโรป ผลกระทบจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ทำให้ภาคส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงของประเทศตะวันตกและการแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากของค่าเงินบาท นับแต่นั้นเป็นต้นมารัฐบาลทุกรัฐบาลจึงเริ่มพยายามปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ โดยการเพิ่มการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายของภาครัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศในช่วงปลาย พ.ศ.2554 เห็นได้จากแนวนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนผ่านโครงการประชานิยม ตลอดจนความพยายามลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหลายโครงการ คำถามที่สำคัญคือแล้วนโยบายการขยาย C และ G ที่ผ่านมานั้นสามารถทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพิงการส่งออกได้จริงหรือไม่?

หากเรามองย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นปีที่วิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาเริ่มขยายตัวจนถึงปัจจุบันนั้น มีเพียง พ.ศ.2552 ปีเดียวที่สัดส่วนของภาคส่งออกลดลงต่ำกว่าร้อยละ 70 ของ GDP หลังจากนั้นสัดส่วนของภาคส่งออกก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 74 ของ GDP ในขณะที่สัดส่วนของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย

ทำไมการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจจึงไม่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่นโยบายประชานิยมไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก น่าจะส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายของรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การปรับสมดุลเศรษฐกิจไม่อาจกระทำได้อย่างรวดเร็ว เป็นเพราะสัดส่วนของภาคต่างประเทศมีขนาดใหญ่มาก จนทำให้แม้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นก็ไม่สามารถลดทอนความสำคัญของภาคต่างประเทศลงได้มากนัก อีกทั้งผลของการพยายามปรับสมดุลโดยเร่งการใช้จ่ายภาคครัวเรือนกลับนำไปสู่ความเสี่ยงประการใหม่ก็คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้สินภาคครัวเรือน โดยหนี้สินภาคครัวเรือนปรับเพิ่มจากระดับประมาณ 5 ล้านล้านบาทใน พ.ศ.2551 เป็น ประมาณเกือน 10 ล้านล้านบาท ใน พ.ศ.2556 หรือมีการเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในระยะเวลาเพียง 6 ปี และหนี้สินของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนี้ก็เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ ทำให้อัตราส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 56 ใน พ.ศ.2551 เป็นร้อยละ 83 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 เครื่องชี้ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่สำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือเงินให้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลหรือก็คือหนี้จากการซื้อบ้านซึ่งเป็นหนี้ระยะยาวก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกันโดยปรับเพิ่มจากระดับประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทใน พ.ศ.2551 เป็นประมาณ 2.6 ล้านล้านบาทใน พ.ศ.2557 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านล้านบาท การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากนักในอนาคต

การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึงนั้นจะยิ่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดอาเซียน ในสถานการณ์ปัจจุบันจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศจะทะยอยปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศใน พ.ศ.2557 ลง อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจโลก เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ลดลงในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้

คำถามที่สำคัญจากนี้คือเมื่อเราจำเป็นต้องอยู่กับระบบเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลเพราะยังต้องพึ่งพิงการส่งออกในสัดส่วนค่อนข้างสูงเช่นนี้แล้ว แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศต่อไปจะเป็นอย่างไร?

ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าภาคส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าของไทยคงจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วนัก เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งและเศรษฐกิจในระดับโลก ทั้งในฝั่งยุโรป จีน และญี่ปุ่น มิหนำซ้ำการส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ในระยะยาวอีกเรื่องหนึ่งก็คือ สินค้าออกของไทยเริ่มล้าสมัยและไม่สามารถปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดโลกได้ เห็นได้จากการหดตัวของตัวเลขส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ.2553 ทั้งที่เคยเป็นอุตสาหกรรมส่งออกซึ่งทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่งมาต่อเนื่องยาวนาน โดยมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในช่วง 7 เดือนแรกของ พ.ศ.2557 ปรับลดลงถึงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ พ.ศ.2556

จากเหตุผลข้างต้น หลายภาคส่วนจึงเริ่มตั้งความหวังไว้กับภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 2 และ 3 ว่าจะสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่สูงได้ ทว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนก็คงไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก เนื่องจากปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในอัตราที่สูงมากย่อมมีผลกระทบกับความสามารถในการบริโภคของภาคครัวเรือน นอกจากนี้ รายได้ของเกษตรกรยังคงอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นข้าว ยาง และลำไย ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่าน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากจากการคลี่คลายของปัญหาทางการเมืองและความชัดเจนมากขึ้นของนโยบายส่งเสริมการลงทุน แต่ก็ยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้แนวโน้มการลงทุนใหม่ในหลายอุตสาหกรรมยังคงไม่ชัดเจนนัก

ดังนั้น การใช้จ่ายของรัฐบาลแม้ว่าจะมีสัดส่วนที่เล็กที่สุดใน GDP แต่กลับเป็นความหวังสำคัญที่สุดของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยใน พ.ศ.2558 เห็นได้จากเสียงตอบรับของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟรางคู่ ตลอดจนการเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการใช้จ่ายของรัฐบาลดูเหมือนจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจปัจจัยเดียวที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ในยุคปัจจุบัน

ณ เวลานี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2558 กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ งบประมาณของรัฐบาล พ.ศ.2558 นี้เป็นแบบขาดดุล ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเพราะรัฐบาลดึงเอาเงินออกจากระบบเศรษฐกิจน้อยกว่าที่รัฐบาลจ่ายกลับเข้าไป โดยระดับการขาดดุลงบประมาณ พ.ศ.2558 อยู่ที่ 250,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เป็นอันตรายต่อวินัยการคลังของประเทศ และหากพิจารณารายละเอียดภาพรวมของงบประมาณแล้วก็พบพัฒนาการที่สำคัญคือสัดส่วนของรายจ่ายประจำในงบประมาณลดลงเป็นปีแรกนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ขณะที่สัดส่วนของรายจ่ายลงทุนก็ไม่ได้ปรับลดลงจากปีงบประมาณ 2557

ตารางที่ 1: รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนระหว่างปีงบประมาณ 2554 – 2558

ปีงบประมาณ

รายจ่ายประจำ

 (ล้านบาท)

สัดส่วนต่องบประมาณ

รายจ่ายลงทุน

 (ล้านบาท)

สัดส่วนต่องบประมาณ

2554

1,667,440

76.8%

355,485

16.4%

2555

1,840,673

77.4%

438,555

18.4%

2556

1,900,477

79.2%

450,374

18.7%

2557

2,017,626

79.9%

441,129

17.5%

2558*

2,027,176

78.7%

450,159

17.5%

ที่มา: สำนักงบประมาณ   *ยังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจเพื่อลดความสำคัญของภาคการส่งออกยังมิอาจกระทำได้ ทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้งบประมาณของประเทศในการสร้างความพร้อมทางเศรษฐกิจของไทยเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในอนาคตหลังการเปิด AEC อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การปฏิรูปอุตสาหกรรมของประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ไทยมีความพร้อม ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้

แล้วงบประมาณ พ.ศ.2558 สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด?

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการตั้งงบประมาณสำหรับแต่ละยุทธศาสตร์ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ก็พบว่า รายจ่ายในยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน ซึ่งสอดคล้องกับรายจ่ายที่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ยกเว้นงบประมาณสำหรับยุทธศาสตร์หลัก 2 ยุทธศาสตร์ที่มีการปรับลดลง ได้แก่ ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมซึ่งมีการปรับลดลจากปีงบประมาณที่แล้วถึงประมาณ 180,000 ล้านบาท และยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งมีการปรับลดลงจากปีงบประมาณที่แล้วถึงประมาณ 3,200 ล้านบาท

ตารางที่ 2 : เปรียบเทียบงบประมาณสำหรับแผนงานในยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมระหว่างปีงบประมาณ 2557 และ 2558

แผนงาน

2557

(ล้านบาท)

2558*

(ล้านบาท)

เปลี่ยนแปลง

(ล้านบาท)

บริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความยั่งยืน

28,442

25,142

-3,300

ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าภาคการเกษตร และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบ

32,743

22,880

-9,863

ส่งเสริมสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร

84,286

-

- 84,286

ยกระดับรายได้และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน

44,328

-

- 44,328

ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน

15,972

-

- 15,972

ส่งเสริมสินค้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

7,302

5,641

-1,661

ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

4,283

3,587

-696

พัฒนาและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ

16,080

13,359

-2,721

เพิ่มประสิทธิภาพภาคการตลาด การค้า และการลงทุน

9,614

8,093

-1,521

พัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก

-

9,947

9,947

ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬา

11,646

-

- 11,646

ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

1,792

1,771

-21

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์

102,790

123,851

21,061

พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

1,587

1,996

409

พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

8,023

6,416

-1,607

ที่มา: สำนักงบประมาณ   *ยังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในปีงบประมาณ 2557

แผนงานส่งเสริมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารอยู่ในยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน  ในปีงบประมาณ 2557 แผนงานเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการอยู่ในยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ในปีงบประมาณ 2557 แผนงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ในยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปีงบประมาณ 2557 รวมงบประมาณในแผนงานขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคตในยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งรัดวางรากฐานที่ดีของประเทศ

สาเหตุส่วนหนึ่งของการปรับลดงบประมาณในส่วนของยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มาจากการตัดแผนงานเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร แผนงานยกระดับรายได้และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน และแผนงานส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงแหล่งทุนซึ่งมีงบประมาณใน พ.ศ.2557 รวมกันทั้งสิ้น 144,586 ล้านบาท ซึ่งแผนงานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับนโยบายประชานิยมหลักๆ ของรัฐบาลที่แล้วหลายโครงการ เช่น นโยบายจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก และกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นการปรับลดงบประมาณในแผนงานต่างๆ เหล่านี้และนำไปเพิ่มให้กับยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่าจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาแผนงานต่างๆ ที่เหลือในยุททธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมก็พบว่ามีการปรับลดงบประมาณในหลายแผนงานโดยที่น่าสนใจ ได้แก่

แผนงานส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าภาคการเกษตร และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบ ปรับลดลง 9,863 ล้านบาท

แผนงานส่งเสริมสินค้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ปรับลดลง 1,661 ล้านบาท

แผนงานยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ปรับลดลง 696 ล้านบาท

แผนงานพัฒนาและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ ปรับลดลง 2,721 ล้านบาท

แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพภาคการตลาด การค้า และการลงทุน ปรับลดลง 1,521 ล้านบาท

ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปรับลดลง 21 ล้านบาท

แผนงานทั้ง 6 ที่มีการปรับลดงบประมาณดังกล่าว เป็นแผนงานที่มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของประเทศ เพราะล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ในสภาวะที่ไทยมิอาจปฏิเสธความไม่สมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจของเราเองได้ เราก็จำเป็นที่จะต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือ SME ให้สามารถอยู่รอดต่อไปในอนาคตได้

แม้ว่าจะมีการปรับลดงบประมาณในบางแผนงานที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ร่างงบประมาณ พ.ศ.2558 ก็ได้เพิ่มงบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การวางรถไฟระบบรางคู่ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2558 ยังคงอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ในขั้นแปรญัตติก็อาจมีการปรับเพิ่มงบประมาณให้แก่แผนงานที่กล่าวถึงเหล่านี้ หรือรัฐบาลอาจสามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นนอกจากงบประมาณแผ่นดินมาใช้ผลักดันแผนงานต่างๆ ที่กล่าวมา และยังอาจเป็นไปได้ว่าแม้เม็ดเงินจะน้อยลง แต่หากมีการเลือกโครงการที่ดีตรงกับเป้าประสงค์ของแผนงาน และไม่มีการรั่วไหลก็อาจได้ผลสัมฤทธิ์มากกว่าการตั้งงบประมาณที่สูงก็เป็นได้ และท้ายที่สุดอาจเป็นไปได้ว่ามีการย้ายโครงการหรือแผนงานจากยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไปอยู่ในยุทธศาสตร์อื่นๆ

แต่หากการจัดสรรงบประมาณไปยังแผนงานต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยของเราคงต้องเผชิญกับความไม่สมดุลในสองมิติ ได้แก่ ความไม่สมดุลภายนอกซึ่งได้แก่การพึ่งพิงการส่งออกในอัตราที่สูง และความไม่สมดุลภายในที่เกิดจากการบริหารจัดการภายในของเราเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: