แจ้งตร.ล่ามือฉกศิลาจารึก โบราณวัตถุ'เพชรบูรณ์'

10 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2122 ครั้ง

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ให้สัมภาษณ์ TCIJ ถึงกรณีหลักศิลาจารึกหินทราย ที่ชาวบ้านขุดพบและนำไปไว้ที่บ้านดงคล้อ หมู่ 6 ต.วังกลาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ จากนั้นหายไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านระบุว่า มีพระสงฆ์จากวัดหนองแปลง ต.ศรีฐาน จ.เลย ราว 5 รูป มาวนเวียนหลายครั้ง กระทั่งชาวบ้านพบว่าหลักศิลาจารึกหายไป นายจารึกกล่าวว่า เบื้องต้นสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ได้แจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.น้ำหนาว ตามคำสั่งของอธิบดีกรมศิลปากรแล้ว หลังจากนี้คงต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการติดตามสืบค้นว่า ใครเป็นผู้ขโมยโบราณวัตถุไป

ขอบคุณภาพจาก: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์

สำหรับหลักจารึกทั้ง 3 หลัก ถูกค้นพบเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2552 ได้ค้นพบมาแล้ว 2 หลัก โดยกรมศิลปากรได้เข้าตรวจสอบ พร้อมทั้งจดทะเบียนจารึกทั้งสองหลักไว้แล้ว คือ จารึกบ้านดงคล้อ 1พช.17 และ จารึกบ้านดงคล้อ 2 พช.18 แต่สำหรับจารึกทั้ง 3 หลักที่ค้นพบใหม่นี้ ทางอำเภอกับชาวบ้านดงคล้อ ไม่ต้องการให้กรมศิลปากรนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แต่ต้องการเก็บรักษาไว้เองที่วัดป่าดงคล้อ จึงมีหนังสือมาขออนุญาตกับกรมศิลปากร

            “นายอำเภอได้แนบหนังสือของชาวบ้านผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มา ผมจึงรายงานอธิบดีเพื่อพิจารณา ซึ่งการขอเก็บรักษานั้น ท้องที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมศิลปากร ว่าด้วยการนำโบราณวัตถุไปเก็บไว้สถานที่อื่นใดเป็นการชั่วคราว ซึ่งระบุอยู่ใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขปรับปรุงพ.ศ.2535 ที่สำคัญจะต้องทำกรมธรรม์ประกันภัยโบราณวัตถุจัดส่งมายังกรมศิลปากรด้วย พร้อมกันนี้กรมศิลปากรจะต้องลงพื้นที่ตรวจสถานที่จัดเก็บโบราณวัตถุด้วยว่า เหมาะสมและปลอดภัยตามระเบียบของกรมศิลปากรหรือไม่ ซึ่งวันที่รู้ว่าโบราณวัตถุหายไปนั้น เป็นวันที่นักโบราณคดี กรมศิลปากร และนักภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้เดินทางไปจัดทำสำเนาลอกอักษร เพื่อให้เชี่ยวชาญตรวจสอบเท่านั้น อธิบดีกรมศิลปากรยังไม่ได้อนุมัติแต่อย่างใด” ผอ.สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กล่าว

นายจารึกกล่าวต่อว่า ล่าสุดสภ.น้ำหนาว มีหนังสือแจ้งมายังสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ให้เดินทางไปรับจารึกหินทรายที่เหลืออีก 2 หลัก มาเก็บรักษาไว้ เพราะไม่ต้องการให้สูญหายอีก จึงทำบันทึกด่วนรายงานให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบ เพื่ออนุมัติให้สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี เร่งไปรับมาจัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี จ.ชัยนาท ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ทันทีหลังจากได้รับอนุมัติ

ขอบคุณภาพจาก: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์

ด้านนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สำหรับโบราณวัตถุที่ค้นพบนั้น ตามกฎหมายแล้วจะต้องส่งมอบให้กรมศิลปากรดูแลรักษา เนื่องจากเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งหากดำเนินการแจ้งตามขั้นตอนนี้จนกระทั่งกรมศิลปากรไปรับมาดูแลแล้ว เมื่อสูญหายกรมศิลปากรจะต้องรับผิดชอบ แต่สำหรับหลักจารึกทั้ง 3 หลักนี้ ทางชุมชน อำเภอ ได้ทำหนังสือผ่าน ผวจ.เพชรบูรณ์ มาถึงกรมศิลปากรเพื่อขออนุญาตเก็บรักษาไว้เอง ดังนั้นถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในเวลานี้จะยังไม่แล้วเสร็จ แต่เมื่อเกิดการสูญหายแล้วท้องที่ที่เก็บรักษาโบราณวัตถุต้องรับผิดชอบ ซึ่งกรมศิลปากรทำได้เพียงแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกค้นหาเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความผิดของการขโมยโบราณวัตถุนั้น ใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 31 ทวิ ระบุว่า ผู้ใดซ่อนเร้น จำหน่าย เอาไปเสีย หรือรับซื้อรับจำนำ หรือรับ ไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุอันได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 ถ้าการกระทำผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำไปเพื่อการค้า ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่มาตรา 33 ระบุว่า ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ หรือทำให้สูญหายซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขอบคุณภาพจาก: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์

สำหรับใบเสมาหินทรายเป็นศิลปะสมัยทวารวดี เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2555 เจ้าหน้าที่จากกองหอสมุดแห่งชาติได้ศึกษาวิเคราะห์และได้ให้ฐานข้อมูล เสมาหิน ดังนี้ จารึกบ้านดงคล้อ 1 วัตถุจารึกหินทรายสีแดง ลักษณะวัตถุใบเสมา ขนาดกว้าง 53 เซนติเมตร สูง 46 เซนติเมตร หนา 15 เซนติเมตร จารึกอักษรหลังปัลลวะ (มอญโบราณ) ภาษาสันสกฤต สันนิษฐานว่า มีอายุมากกว่า 1,100 ปี เป็นโบราณวัตถุที่แสดงถึงความเป็นชุมชนสมัยทวารวดี และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอำเภอน้ำหนาว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: