เกาะติดเรือด่วนโดยสารคลอง'แสนแสบ' ชีวิตคนกรุงฯกับความเสี่ยงที่ไร้ทางเลือก

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ศูนย์ข่าว TCIJ 10 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 9755 ครั้ง

ทางเลือกของชาวกรุงเทพฯ

‘เรือ’ เป็นการคมนาคมทางน้ำอีกทางเลือกหนึ่ง ของคนกรุงเทพฯ ที่มีที่พักอาศัยหรือที่ทำงานใกล้เคียงกับแม่น้ำลำคลอง หรือสามารถไปเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมอื่นๆ ได้สะดวก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำหนดระยะเวลาในการเดินทางได้ง่าย กว่าการใช้รถประจำทาง ที่เอาแน่เอานอนกับสภาพการจราจร ในแต่ละวันไม่ได้ ตัวเลขของคนกรุงเทพฯ ที่ใช้บริการเรือโดยสารในแต่ละวันที่กระทรวงคมนาคมสำรวจไว้ คือราวเที่ยวละ 167,000 คน (นับจำนวนเที่ยว ไปและกลับแยกกัน) โดยเป็นจำนวนผู้โดยสารเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีท่าเรือจำนวน 39 ท่า เที่ยวละประมาณ 70,000 คน และผู้โดยสารเรือด่วนในคลองแสนแสบ ที่มีท่าเรือทั้งสิ้น 27 ท่า เป็นจำนวนถึงเที่ยวละ 97,000 คน

อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ต้องการโดยสารเรือในคลองแสนแสบ ตั้งแต่ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง ซอยรามคำแหง 107 เขตบางกะปิ ไปจนถึงท่าเรือสะพานผ่านฟ้า เขตพระนคร ระยะทาง 18 กิโลเมตร มีเป็นจำนวนมาก ขณะที่ความสามารถในการให้บริการมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของคลอง ที่มีความกว้างไม่มาก สองฝากฝั่งล้วนเป็นชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้การบริการเต็มไปด้วยปัญหา ตั้งแต่ความแออัดยัดเยียดทั้งของการจราจรของเรือ ของจำนวนผู้โดยสาร ปัญหามลพิษ และความปลอดภัย ส่วนค่าโดยสารเก็บตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 10 บาท สูงสุด 20 บาท ความสะดวกอีกประการของเรือโดยสารคลองแสนแสบคือ มีจุดเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้า BTS รถไฟใต้ดิน MRT รวมถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ อีกด้วย

ผู้โดยสารบ่นอุบ บริการแย่ บรรทุกเกิน เสี่ยงชีวิต จำใจใช้บริการ

ในปัจจุบันนี้ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการเดินเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ต่อจาก หจก. ครอบครัวขนส่ง ซึ่งความจริงก็คือ เป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ยุคที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจนิติบุคคลจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นบริษัทจำกัด โดยกรรมการผู้จัดการคนปัจจุบัน ก็คือหุ้นส่วนผู้จัดการคนเก่า จนถึงปัจจุบันเท่ากับว่า ผู้ประกอบการรายเดียวนี้ ได้ประกอบธุรกิจนี้มากว่า 23 ปีแล้ว จึงนับได้ว่ามีประสบการณ์มากพอสมควร

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว TCIJ ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้โดยสารที่ใช้บริการ ทั้งหมดตอบเกือบเป็นเสียงเดียวกันว่า จำใจต้องใช้บริการเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ยอมรับว่าสะดวกกว่ารถโดยสารประจำทาง ในแง่ของการบริหารเวลาเท่านั้น แต่ต้องทนกับการให้บริการของพนักงานของบริษัทฯที่ไม่สุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน ผู้โดยสารมักถูกพนักงานประจำเรือตะคอก และร้องขอให้อัดเบียดกันจนแน่นลำเรือเป็นประจำทุกวัน ทั้งที่ข้างเรือโดยสารระบุว่า จำนวนบรรทุกได้เพียง 80 คนเท่านั้น

ข้างเรือระบุว่าบรรทุกได้ครั้งละ 80 คน แต่ความเป็นจริงบรรทุกมากกว่านั้น โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น

จากรายงานความหนาแน่นของผู้โดยสารเรือคลองแสนแสบ ที่สำรวจโดย กรมเจ้าท่า ระหว่างวันที่ 23-29 มกราคม 2556 พบว่า ในช่วงวันทำงาน จันทร์-ศุกร์ นั้น มีผู้โดยสาร 285,292 คน จำนวนเที่ยวเรือ 2,080 เที่ยว คิดเป็นจำนวนผู้โดยสาร 137 คนต่อเที่ยว แม้ค่าเฉลี่ยจะถูกทำให้น้อยลงจากจำนวนผู้โดยสารที่เบาบางตอนช่วงกลางวัน ตัวเลขนี้ก็ยังสูงกว่าตัวเลขบรรทุกสูงสุด 80 คน อยู่มาก โดยเฉพาะในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงเวลาเร่งด่วน ผู้โดยสารบนเรือมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 250-300 คนเลยทีเดียว

นอกจากนี้จำนวนคนที่ยืนรอเรือโดยสารอยู่บนท่าเทียบเรือก็มีปริมาณหนาแน่น แม้จะมีป้ายแสดงจำนวนผู้โดยสารที่ท่าเรือรับได้ติดอยู่ชัดเจน ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว TCIJ ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของบริษัท ครอบครัวขนส่ง ที่ประจำอยู่ที่ท่าเรือ ได้รับการชี้แจงว่า ท่าเรือทั้งหมดดำเนินการก็สร้างโดยบริษัทฯ มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักผู้โดยสารได้หลายร้อยคน เนื่องจากมีการตอกเสาเข็มรองรับโครงสร้าง ไม่ได้เป็นโป๊ะลอยน้ำดังเช่นในอดีต อย่างไรก็ดี ป้ายเตือนดังกล่าว ทางกทม.นำมาติดไว้ในช่วงวันลอยกระทงที่ผ่านมา ตนไม่ทราบว่า กทม.มีมาตรการตรวจสอบอย่างไร และไม่ทราบว่ามาตรวจสอบเมื่อใด เพราะบางท่ามีขนาดใหญ่และแข็งแรงกลับติดป้ายรับน้ำหนักได้ 30 คน ขณะที่ท่าที่มีขนาดเล็กกว่ากลับติดป้ายว่ารับน้ำหนักได้ 40 คน เมื่อสอบถามถึงความสามารถในการบรรทุกของเรือ ที่ระบุว่ารับน้ำหนักได้ 80 คน เจ้าหน้าที่รายเดิมให้ข้อมูลว่า กรมเจ้าท่าเป็นผู้ประเมินตัวเลขดังกล่าว แต่ตนมั่นใจว่าเรือมีความปลอดภัยสูงและสามารถบรรทุกได้ 250-300 คนโดยไม่มีปัญหา

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ จำนวนของอุปกรณ์ชูชีพ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นโฟม หุ้มด้วยผ้าสะท้อนแสงสีส้ม มีจำนวนไม่เพียงพอต่อผู้โดยสารในเรือ ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว TCIJ ทำการสำรวจโดยสุ่มนับบนเรือโดยสารหลายลำพบว่า มีอุปกรณ์อยู่บนเรือเพียงลำละประมาณ 30 ชิ้นเท่านั้น

อุบัติเหตุตกเรือ เจ็บ-ตาย ไฟไหม้เครื่อง ก่อมลพิษ เสียง-ควันดำ

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าแปลกใจว่า ไม่มีหน่วยงานใดที่ทำสถิติอุบัติเหตุที่เกิดจากเรือโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือบริษัทที่ได้รับสิทธิ์เดินเรือ จากการสอบถาม บริษัทฯ อ้างว่าเป็นผู้ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยผู้โดยสารต้องสำรองจ่ายไปก่อนและนำใบเสร็จมาเบิก โดยในแต่ละเดือนมีผู้โดยสารนำใบเสร็จค่ารักษามาเบิกประมาณ 10 ราย อย่างไรก็ดี จากกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2535) กำหนดให้เจ้าของเรือผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารรับจ้าง ที่รับจ้างบรรทุกผู้โดยสารเกินสิบสองคนเพื่อแสวงกำไร ต้องจัดให้มีการประกันภัยอุบัติเหตุที่มีผลคุ้มครองผู้โดยสาร กรณีของเรือโดยสารทุกลำจึงอยู่ในข่ายที่ต้องทำประกันอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่า บริษัทฯ ทำหน้าที่เคลมค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันแทนผู้โดยสาร

สำหรับการเกิดอุบัติเหตุเท่าที่สามารถหาได้จากข่าวที่สื่อกระแสหลัก รายงานไว้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีดังนี้

วันที่ 17 พ.ค.2553 พระภิกษุอภิรักษ์ ตกจากเรือบริเวณใกล้ท่าเรือเดอะมอลล์รามคำแหง จมน้ำเสียชีวิต

วันที่ 25 พ.ค.2555 เกิดเหตุไฟไหม้เรือ จากบริเวณห้องเครื่องกลางลำ ลุกลามติดผ้าใบที่เป็นหลังคา บริเวณท่าเรือทองหล่อ

วันที่ 24 ธ.ค.2555 น.ส.กมลรัตน์ พนักงานเก็บค่าโดยสาร พลัดตกคลองศีรษะฟาดหมดสติขณะเดินบนกราบเรือ เป็นเหตุให้จมน้ำเสียชีวิต

วันที่ 4 ม.ค.2556 ผู้โดยสารชายพลัดตกคลองขณะกำลังก้าวลงเรือบริเวณท่าประตูน้ำ เสียชีวิต

วันที่ 5 เม.ย.2556 เรือโดยสารขับด้วยความเร็วสูง คลื่นจากคลองพัดเข้าสู่ท่าทำให้ผู้โดยสารบนท่าอิตัลไทย ลื่นล้มได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้มีการคลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิด แพร่หลายในโลกออนไลน์ รู้จักในนาม “สึนามิคลองแสนแสบ”

วันที่ 17 ต.ค.2556 เรือโดยสารชนท่าที่บริเวณท่าวัดเทพลีลา ทำให้เรือเสียหายและจม ผู้โดยสารกว่าร้อยคนตะเกียกตะกายหนีขึ้นฝั่ง ไม่มีผู้เสียชีวิต

เรือโดยสารชนท่าที่ท่าวัดเทพลีลา

 

 คลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิด แพร่หลายในโลกออนไลน์ รู้จักในนาม “สึนามิคลองแสนแสบ”

ทางด้านผลการตรวจสอบมลพิษทางอากาศและเสียง โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่า มลพิษทางเสียงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น พบเรือที่มีมลพิษทางเสียงเกินอัตราที่กำหนดเพียง 4 เปอร์เซนต์ อย่างไรก็ดี การวัดดังกล่าวถือเอาเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 100 เดซิเบล (dBa) ในระยะ 0.5 เมตรจากตัวเรือ ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำการวัดจากปลายท่อไอเสีย ไม่ได้วัดจากห้องเครื่องที่อยู่กลางในลำเรือ ศูนย์ข่าว TCIJ ทำการตรวจสอบเบื้องต้นโดย ดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่นวัดระดับเสียงด้วยโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งแม้จะไม่มีความแม่นยำในระดับเดียวกับเครื่องมือวัดระดับเสียงโดยตรง แต่ก็พอที่จะตรวจสอบคร่าวๆ พบว่าระดับเสียงบริเวณห้องเครื่องกลางลำเรือ สูงกว่า 100 เดซิเบล (dB)

การวัดระดับความดังของเสียงโดยผู้สื่อข่าว TCIJ

ระดับเสียงของเรือ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา บริษัทฯได้เริ่มเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิง จากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลล้วน มาเป็นเชื้อเพลิงผสมระหว่างดีเซลและก๊าซธรรมชาติเหลว LNG (Liquefied Natural Gas) เนื่องจากต้นทุนน้ำมันดีเซลมีราคาสูงขึ้น จากการตรวจมลพิษทางอากาศ โดยกรมควบคุมมลพิษพบว่า เชื้อเพลิงผสมดังกล่าวก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณที่มากขึ้น อย่างไรก็ดีค่ามลพิษทางอากาศยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ปริมาณความทึบแสงของควันที่ตรวจวัดโดยเรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลกับดีเซล+ก๊าซแอลพี่จี

ปริมาณคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่ตรวจวัดโดยเรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลกับดีเซล+ก๊าซแอลพี่จี

กรมเจ้าท่าเซ็งผู้โดยสารไม่สนคำเตือน

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลการเดินเรือของเรือโดยสารประจำทาง ทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ ในปัจจุบัน กรมเจ้าท่าได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ท่าเรือทุกแห่ง เพื่อทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร และทำหน้าที่ควบคุมเรือและพนักงานเรืออย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังติดกล้อง CCTV และระบบอินเตอร์คอม โดยผู้โดยสารสามารถกดปุ่มเรียก และสนทนากับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ได้ตลอดเวลา รวมทั้งมีบริการสายด่วนเจ้าท่า รับเรื่องร้องเรียน ผู้โดยสารสามารถโทรศัพท์แจ้งได้ที่หมายเลข 1199

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว TCIJ สอบถามเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า ที่ประจำอยู่ที่ท่าเทียบเรือ ถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่พบว่า ตั้งแต่มีเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือ อัตราการเกิดอุบัติเหตุน้อยลง เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมทำให้พนักงานขับเรือเข้าเทียบท่าสนิท และรอจนผู้โดยสาร ขึ้น-ลง เรียบร้อยจึงออกเรือ ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีอุบัติเหตุระหว่างก้าวขึ้น-ลง บ่อยครั้ง เมื่อสอบถามถึงการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน เจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่า มีการตักเตือนโดยตลอด ทั้งกับพนักงานเรือและผู้โดยสาร แต่ส่วนมากผู้โดยสารจะไม่ค่อยเชื่อฟัง เนื่องจากต้องรีบที่จะไปทำงานให้ทัน นับเป็นปัญหาที่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะตักเตือนแล้ว แต่ผู้โดยสารก็ยังฝ่าฝืน ก็คงต้องแบกรับความเสี่ยงกันเองด้วย

เมื่อถามถึงการร้องเรียน เจ้าหน้าที่คนเดิมเล่าว่า โดยมากจะเป็นเรื่องขับเรือเร็วและเรื่องน้ำที่กระเด็น ทางกรมเจ้าท่าก็จะแจ้งเตือนไปยังบริษัทฯ โดยมากผู้ที่โทรเข้ามายังสายด่วน เพื่อร้องเรียนมักจะเป็นผู้โดยสารหน้าใหม่ที่ยังไม่คุ้นชิน เพราะผู้ใช้บริการเป็นประจำจะทราบดีว่า น้ำอาจจะกระเด็นบ้างเมื่อเรือแล่นสวนกันเพราะคลองแสนแสบมีความกว้างไม่มากนัก

ธุรกิจผูกขาด ? ไม่เสียค่าสัมปทาน พิรุธรายงานผลประกอบการต่ำกว่าจริง

โครงการริเริ่มกลับมาเดินเรือโดยสารในคลองแสนแสบ เกิดขึ้นในยุคที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯกทม. ดังที่ได้อธิบายในตอนต้น และเนื่องจากพล.ต.จำลองมองโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ประกอบการต้องมีความเสียสละรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เป็นผู้ลงทุนจัดหาเรือ จ้างพนักงานและสร้างท่าเรือเองทั้งหมด อีกทั้งกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในเรื่องของการคมนาคม โครงการนี้จึงไม่มีการเก็บค่าสัมปทาน ส่วนแบ่งค่าโดยสารหรือค่าผลประโยชน์ใด ๆ จากผู้ประกอบการทั้งสิ้น ผู้ประกอบการจึงมีภาระที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผลกำไรเท่านั้น

บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด มี นายเชาวลิต เมธยะประภาส เป็นกรรมการผู้จัดการ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมเรือไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ชุดปัจจุบัน โดยมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2551-2553

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด มีรายได้จากการประกอบกิจการโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 73-77 ล้านบาท กิจการพอมีกำไร และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกปี อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตัวเลขประมาณการผู้โดยสารของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พบว่า ในปีพ.ศ. 2554 มีผู้โดยสารเรือคลองแสนแสบทั้งปี เป็นจำนวน 37,918,644 คน ซึ่งหากคำนวณรายได้ของบริษัทฯจากการเก็บค่าโดยสาร โดยใช้อัตราค่าโดยสารที่ต่ำที่สุดคือ 10 บาท บริษัทฯ ควรจะมีรายได้ขั้นต่ำ ประมาณ 380 ล้านบาท

แม้ว่าเหตุผลทางด้านความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ประชาชนในสังคมเมืองหลวงใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกวิธีในการเดินทาง จนละเลยความปลอดภัย ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณาถึงเป็นอันดับแรก สังคมไทยเคยชินกับการปล่อยให้วัวหายแล้วค่อยล้อมคอก ต่อเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นเสียก่อน จึงค่อยตื่นตัวคิดหาวิธีป้องกันในฐานะผู้บริโภค เรามีสิทธิ์ที่จะช่วยกันเรียกร้อง ตรวจสอบ และสร้างความตระหนักรู้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมเสียก่อน เสียงของเราจะดังพอที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ก้มหน้านิ่งเฉยปล่อยสรรพสิ่งไปตามเวรตามกรรม

คลิ๊ก อ่านข้อมูลธุรกิจเรือด่วนแสนแสบ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ได้ที่นี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: