อะไรworkไม่workในการศึกษา (ตอนที่ 1)

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ 10 ส.ค. 2557


บทสรุป: 1.แม้ค่าเล่าเรียนจะฟรี แต่ยังมีค่าใช้จ่ายลับที่สามารถลดลงได้อีก 2.การแจกของจะเวิร์คก็ต่อเมื่อพฤติกรรมในห้องเรียนเปลี่ยน  3.ให้ข้อมูลการเลี้ยงลูกกับพ่อแม่มีผลเกินคาด 4.แจกคอมพ์อาจสิ้นเปลืองเปล่าๆ

จะแจก iPad หรือแจกแว่นตา? จะให้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนหรือที่บ้าน? จะให้รางวัลครูตามความสามารถหรือให้รางวัลตามการไม่โดดสอน?

คำถามเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์เวลาจะให้คำแนะนำที่ดีที่สุดกับรัฐบาลและผู้ประกอบการในโรงเรียนในประเทศที่กำลังพัฒนา

ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรและทรัพย์สินในจำนวนจำกัด อีกทั้งยังมีช่องทางอื่นๆ อีกมากมาย (นอกจากการศึกษา) ที่รัฐบาลสามารถกระจายเงินไปลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศและสังคมได้ ทางเดียวที่เราจะรู้ว่านโยบายเวิร์คไม่เวิร์คคือการทำวิจัยแบบ Impact Evaluation อย่างจริงจังเพื่อหาหลักฐานที่แท้จริงว่าโครงการหรือนโยบายเหล่านี้มีประโยชน์จริงแท้แค่ไหน

โพสนี้ผมสรุปผลวิจัยจากบทความสรุปรวมผลวิจัย (เป็นบทสรุปของบทสรุปอีกทีหนึ่ง) ที่ปรมาจารย์ Richard Murnane เขียนกับนักเรียนปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ดชื่อ Alejandro Gaminian ผู้ที่เคยเป็น Teaching Fellow ช่วยสอนผมในปีที่ผ่านมานี้ในวิชาที่ชื่อว่า Quantitative Methods for Improving Causal Inference in Educational Research  บทความของสองคนนี้เขาโฟกัสในบทเรียนที่ประเทศลาตินอเมริกาสามารถเรียนรู้ได้จากผลวิจัยที่เชื่อถือได้จากทั่วโลก โพสนี้ผมคัดเอาบางส่วนที่น่าจะเกี่ยวข่องกับเมืองไทยมาให้อ่านกันสั้นๆ และแบ่งเป็นหมวดต่างๆ กันไปครับ

****ปล. งานวิจัยที่คัดมาให้อ่านในโพสนี้นั้นมีคุณภาพสูงมาก มีความน่าเชื่อถือสูง ถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่มาจากการทำโครงการ/นโยบายจริง ไม่ได้มาจากตัวแปรอื่นๆ เช่นคุณลักษณะหรือฐานะของนักเรียนก่อนเริ่ม intervention  อย่างไรก็ตาม เราควรใช้วิจารณญาณในการนำผลเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับกรณีอื่นหรือประเทศอื่นครับ****

การลดค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียน

แม้ว่าค่าเล่าเรียนโรงเรียนรัฐบาลแทบจะฟรีกันหมดทั้งโลกแล้ว ยังมีค่าใช้จ่าย ‘ลับ’ ที่ผู้ที่วางแผนนโยบายอาจคาดไม่ถึงเช่น ค่าอาหารที่โรงเรียน หรือค่าชุดนักเรียนหรืออุปกรณ์การเรียนอื่นๆ

•สร้างโรงเรียนให้ใกล้บ้านขึ้น-Duflo (2004) พบว่า การเปิดโรงเรียนประถมกว่า 60,000 โรงเรียนในอินโดนีเซียในสมัยปีค.ศ.1973 ทำให้จำนวนปีของวุฒิการศึกษาในหมู่เด็กๆ ในย่านพวกนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.2 ปี  ส่วน Burde and Linden 2012 พบว่า การเปิดโรงเรียนในระดับหมู่บ้านในอัฟกานิสถานสามารถเพิ่มอัตราการลงทะเบียนเรียนได้ถึง 47%

•แจกจักรยานให้นักเรียนหญิง-Muralidharan and Prakash (2013) พบว่า การแจกจักรยานให้กับนักเรียนหญิงระดับมัธยมในประเทศอินเดียสามารถทำให้เพิ่มอัตราลงทะเบียนเรียนในนักเรียนหญิงถึง 30% และลดความต่างระหว่างอัตรานี้ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงถึง 40%

•แจกชุดนักเรียน-Evans et al. (2008) พบว่า การแจกชุดนักเรียนให้กับเด็กประถมในประเทศเคนย่านั้นสามารถลดการขาดเรียนโดยเฉลี่ยถึง 44% และลดลงได้ถึง 67% สำหรับนักเรียนที่ไม่มีชุดนักเรียนก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มขึ้น (แถมเพิ่มคะแนนสอบได้ประมาณ 0.25sd หนึ่งปีให้หลัง)

•แจกแว่นตา-Glewwe et al. (2012) พบว่า การแจกแว่นตาในเมืองจีนทำให้คะแนนดีขึ้นประมาณ 0.15 ถึง 0.22sd แถมมีผลมากขึ้นอีกสำหรับนักเรียนที่เรียนได้ไม่ค่อยดีก่อนแจกแว่น อันนี้ได้ลงใน Freakonomics ด้วยสนุกดีครับ ลองไปอ่าน/ฟัง podcast เขาดู (ผมกำลังจะเป็น advisee กับ Paul Glewwe ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้าครับ เคยสอบถามแล้วงานวิจัยนี้ใช้เวลากว่าสิบปีถึงจะทำได้สำเร็จสมบูรณ์ไร้ bias เพราะเด็กผู้หญิงไม่ชอบใส่ แถมเด็กผู้ชายบางทีแย่งกันใส่แว่นทั้งๆ ที่บางคนอยู่ใน control group)

•แจกยา-ผลการวิจัยจากหลายๆ งานขัดกันและยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีผลกับการเรียนรู้หรือไม่

การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนรู้

ในประเทศกำลังพัฒนา พ่อแม่เด็กที่มีฐานะทางการเงินไม่ค่อยดีมักไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไรให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้โอกาสของลูกๆ นั้นจำกัด  อันนี้ผมว่าน่าเป็นห่วงเพราะว่าปัญหานี้จะทำให้สังคมเหลื่อมล้ำและแบ่งแยกกันเข้าไปใหญ่สำหรับประเทศที่คนรวยได้เปรียบคนจนมากเกินไป งานวิจัยหลายงานพบว่า การให้ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นครับ

•ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพโรงเรียน-Andrabi et al. (2009) วัดผลจากโครงการที่ให้ข้อมูลคุณภาพโรงเรียนในปากีสถานแก่บรรดาพ่อแม่เด็ก ป.3 พบว่ามีผลทำให้โรงเรียนแข่งขันกันเพิ่มคุณภาพและลดค่าเล่าเรียนมากขึ้น คะแนนสอบดีขึ้น 0.1sd โรงเรียนเอกชนมีผลมากกว่าโรงเรียนรัฐบาล ในอีกโครงการหนึ่งในบราซิล Camargo et al. (2011) พบว่า มีผลต่อคะแนนสอบประมาณ 0.2-0.6sd ในโรงเรียนเอกชน แต่ไม่มีผลต่อคะแนนจากโรงเรียนรัฐบาล

•ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก-Gertler et al. (2013) วัดผลโครงการระยะยาวในประเทศจาไมก้าที่ให้คนจาก community health workers ไปเยี่ยมตามบ้านอาทิตย์ละชั่วโมงเป็นเวลาสองปีเพื่อสอน parenting skills ให้กับพ่อแม่ที่ยากจนและมีลูกที่อยู่ในสภาวะ ‘stunted growth’ เพื่อที่จะให้ลูกมีการเติบโตทาง cognitive และทางบุคลิกภาพมากขึ้น จากการติดตามโครงการนี้กว่า 20 ปีให้หลังพบว่า โครงการนี้สามารถเพิ่มรายได้ของเด็กที่อยู่ในโครงการนี้ได้ถึง 25% แถมรายได้ตามติดกลุ่มเด็กที่ไม่ได้มีสภาวะ ‘stunted growth’ เลยทีเดียว

•ให้ข้อมูลของผลตอบแทนจากการศึกษา-อันนี้ผมว่าบ้านเรามีวัฒนธรรมอัดการบ้านสั่งลูกให้ขยันอยู่แล้ว แต่ยังขาดการชี้ให้เห็นถึงคุณค่าที่วัดได้จริง แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวในชนบทที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกช่วยงานที่บ้านและไม่อยากส่งลูกไปเรียนทั้งๆ ที่รัฐบาลแจกทุกอย่างฟรี เราสันนิษฐานว่าพ่อแม่เหล่านี้อาจไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยในด้านนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ บางทีอาจไม่เห็นผลและอาจก่อให้เกิดผลที่ไม่ต้องการ เช่น ในกรณีที่ Loyalka กับเพื่อนนักวิจัยพบว่า การที่ให้ครูสอนเกี่ยวกับแนะแนวทางการศึกษาและแนะแนวทางการประกอบอาชีพในเมืองจีนบางเมืองกลับทำให้เด็กออกจากโรงเรียนเพิ่มขึ้น 0.14sd เขาคิดว่าผลมาจากรายได้ที่ค่อนข้างสูงในอาชีพแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labor)

การแจกคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์

มีหลายโครงการทั่วโลกที่ทำการแจกจ่ายคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ทว่ างานวิจัยหลายงานพบผลที่ไม่ตรงกัน ยังสรุปไม่ได้ว่ามีผลดีจริงหรือไม่

•ติดตั้ง refurbished คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน–Barrera-Osorio and Linden (2009) พบว่า การติดตั้งคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนและให้ครูสอนการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อช่วยการอ่านหนังสือนั้นไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้นกับคะแนนสอบ ไม่มีผลต่อคะแนนสอบซักวิชาเดียว สาเหตุเป็นเพราะว่าครูไม่ได้นำทั้งหมดนี้ไปผนวกกับการเรียนการสอนปกติ

•One laptop per child–Cristia et al. (2012) พบว่า การแจก laptop กับ e-book ที่เหมาะสมกับวัยในย่านที่ยากจนในประเทศเปรูนั้นเพิ่มความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ไม่มีผลต่อคะแนนเลขกับการอ่าน

•ให้เงินไปซื้อคอมพ์ของตนเอง-Malamud and Pop-Eleches (2011) พบว่า โครงการล๊อตเตอรรี่แจกเงินเด็กให้ไปซื้อคอมพิวเตอร์ในโรมาเนียมีผลทำให้เด็กๆ มีผลสอบการใช้คอมพิวเตอร์ดีขึ้นมาก แต่ผลสอบวิชาหลักๆ กลับแย่ลง  สาเหตุก็ไม่ใช่อะไรครับ เด็กๆ ไม่ได้เอาคอมพ์ไปใช้เกี่ยวกับการเรียน แต่เอาไปเล่นเกมกันซะมากกว่า ทำให้ไม่มีเวลาว่างพอไปอ่านหนังสือทบทวนวิชาหลักๆ ที่แย่กว่านั้นคือทักษะคอมพิวเตอร์ที่เด็กได้รับนั้นอาจไม่ส่งผลพลอยได้ต่อทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ชนิดอื่นๆ นอกจากชนิดที่แจก Beuermann et al. (2013) พบว่า โครงการที่แจก OLPC laptop ในเปรูนั้นแม้ว่าจะทำให้เด็กๆ สอบทักษะการใช้ OLPC laptop ได้ดีขึ้น แต่กลับไม่ทำให้ทักษะในการใช้ Windows หรือการใช้อินเตอร์เน็ตคล่องขึ้นแต่อย่างใด!

การแจกอุปกรณ์การเรียนการสอน

แม้ว่าการแจกอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนการสอนจะเป็นที่นิยมกันอย่างมาก แต่งานวิจัยพบว่าโครงการเหล่านี้มีผลที่ไม่แน่ไม่นอน แล่ะจะช่วยการเรียนรู้ก็ต่อเมื่อสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในห้องเรียนเท่านั้น

•แจกหนังสือเรียน-Glewwe et al. (2009) วิจัยผลการแจกหนังสือเรียนในประเทศเคนย่า ไม่พบผลใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับเด็กนักเรียนปกติ จะไปมีผลดีก็สำหรับนักเรียนที่เรียนเก่งอยู่แล้วเท่านั้น สาเหตุคือนักเรียนส่วนมากอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ซึ่งเป็นภาษาหลักของประเทศ แต่ไม่ใช่ภาษาแรกเกิดของเด็กเหล่านี้ น่าสนใจมากๆ ครับ

•เปิดห้องสมุดและบริการส่งบรรณารักษ์เยี่ยมเยือน-Borkum et al. (2012) พบว่า การเปิดห้องสมุดเพิ่มขึ้นและให้บรรณารักษ์เพิ่ม session การอ่านหนังสือมากขึ้นในโรงเรียนในอินเดียทำให้นักเรียนไปใช้งานห้องสมุด แต่ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ ต่อทักษะทางภาษาของนักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ เขาเจออีกว่าการส่งบรรณารักษ์ไปเยี่ยมเยือนนั้นทำให้คะแนนแย่ลงเพราะว่าต้องสละเวลาการเรียนการสอนวิชาการอ่านเพื่อให้มาพบกับบรรณารักษ์ เป็นการไปรบกวนการเรียนการสอนซะงั้น

•แจก flipcharts (แผ่นพลิก)–Glewwe et al. (2004) วิเคราะห์ผลจากโครงการแจกแผ่นพลิกในประเทศเคนย่า โดยแผ่นพลิกพวกนี้เกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์ คู้มือครูสอนวิทยาศาสตร์ คณิตย์ศาสตร์ และแผนที่แอฟริกาตะวันออกแปะผนัง  พบว่า นักเรียนในห้องที่ได้แผ่นพลิกไม่ได้ทำคะแนนได้ดีไปกว่านักเรียนห้องที่ไม่ได้รับแผ่นพลิกเลย ทั้งๆ ที่ครูเกือบทุกคนในโครงการทราบว่า มีแผ่นพลิก ใช้แผ่นพลิก บอกว่าแผ่นพลิกพวกนี้มีประโยชน์ และใช้ช่วยสอนกว่าร้อยละ 10-20 ของเวลาทั้งหมด จากการสอบถาม คาดว่าสาเหตุคือครูเหล่านี้อาจไม่มีความรู้ว่าจะนำอุปกรณ์เหล่านี้มาพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างไร

สรุปตอนที่ 1

เราจะเห็นได้ว่าการพัฒนาการศึกษานั้นไม่ง่ายเลย ไม่สามารถลองผิดลองถูกหรือใช้สัญชาติญาณอย่างเดียวได้ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการวัดผลโครงการอย่างมีคุณภาพและไม่ลำเอียง จะได้รู้กันให้ทั่วว่าโครงการแบบไหนเสียเวลาเสียเงินเปล่าและโครงการแบบไหนดีจริงและน่าสนับสนุนต่อไป โพสหน้าผมจะมานำเสนอผลวิจัยที่เกี่ยวกับครูในประเทศกำลังพัฒนาบ้างครับ

ที่มา: www.settakid.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: