แฉถนนเมืองกาญจน์ ไม่จ่ายชดเชยไปทวาย กระเหรี่ยงร่วมกันต่อสู้

10 ก.พ. 2557


ที่ชุมชนทันทาบินวี ( Htan Ta Bin kwee) เมืองทวาย เขตตะนาวศรี สหภาพเมียนมาร์ ชาวบ้านกระเหรี่ยงจาก 20 หมู่บ้าน กว่า 300 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนเชื่อมต่อประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ( Road link) ระยะทาง 132 กิโลเมตร รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเหมืองแร่ตะกั่วพงษ์พิพัฒน์ ร่วมกิจกรรมบวชวังสงวนเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ริมแม่น้ำคะมอทเวย์ (Kamoethway) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรักษาทรัพยากรน้ำและป่าไม้แบบดั้งเดิม และสร้างความตระหนักถึงการอนุรักษ์แก่ชาติพันธุ์ ที่อาศัยแม่น้ำคะมอทเวย์ หล่อเลี้ยงชีพ และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของแม่น้ำและป่าไม้

ทั้งนี้บรรยากาศในช่วงเช้าเป็นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อแสดงความเคารพต่อเจ้าป่าเจ้าเขา และขอพรจากทุกศาสดา ให้มีการปกปักษ์รักษาป่าลุ่มน้ำคะมอทเวย์ โดยในการประกอบพิธีกรรมครั้งนี้ มีการกล่าวคำปฏิญาณต่อสาธารณะด้วย มีเนื้อหาบางส่วนว่า ทุกชาติพันธุ์ต้องไม่ตัดไม้ ทำลายป่า และไม่ทำลายเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำเด็ดขาด ห้ามปล่อยน้ำเสีย ทิ้งสารเคมีอันตราย หรือทิ้งขยะบริเวณเขตอนุรักษ์เด็ดขาด ห้ามจับปลาโดยอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เชิงอุตสาหกรรมและการวางยาเบื่ออันเป็นมลภาวะในพื้นที่โดยเด็ดขาด

นายซอ แฟรงกี้ นักพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า การปฏิญาณตนในพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้มีการออกกฎและการปรับเป็นเงินหรืออย่างใด แต่ใช้หลักศาสนาเพื่อแสดงพลังในการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน โดยชุมชนเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเผชิญจากภัยคุกคามภายนอกมามาก โดยเฉพาะช่วงเปิดประเทศและการเจรจาหยุดยิง พบว่าทุนต่างชาติเข้ามาด้วยหวังผลทางความเจริญ แต่แล้วก็กลายเป็นเครื่องมืออันตรายที่ทำลายทรัพยากรชุมชน การแสดงออกวันนี้จึงเป็นการสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ของทุกชาติพันธุซึ่งดำเนินการเป็นครั้งแรก สะท้อนว่าชุมชนในพม่าเริ่มลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรและปกป้องสิทธิ์ของตนเองด้วยพลังอหิงสามากขึ้น หลังจากที่เครือข่ายบางกลุ่มผ่านการประท้วงและต่อต้านกิจการจากทุนใหญ่มาหลายหน

นายอาไบ ชาวบ้าน โตโลโล ชาวเมืองทวาย กล่าวว่า หมู่บ้านของตนนั้นมีคนอาศัยอยู่ราว 150 หลังคาเรือน เป็นมุสลิมประมาณ 70 เปอร์เซนต์ มีอาชีพหลักในการทำนา ทำสวนหมากและประมงพื้นบ้าน แต่พอมีเหมืองถ่านหิน มีการสร้างถนนเชื่อมต่อไทยพบว่า สวนหมากของชาวบ้านบางแห่งก็โดนถนนตัดผ่านโดยไม่มีค่าชดเชยเลย พอหันมามองแม่น้ำคะมอทเวย์ อันเป็นแหล่งพันธุ์ปลาที่มีปลาเฉพาะถิ่นในแม่น้ำเกือบ 80 ชนิดก็พบว่า สถานการณ์น้ำเริ่มเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ชาวบ้านสงสัยว่าเกิดจากการวางระบบท่อและการปล่อยสารพิษจากเหมืองถ่านหิน

“เราทำอะไรไม่ได้เลยนะ บางหมู่บ้านเดือดร้อนกว่าเรา เจอพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นการสู้รบระหว่างทหารเคเอ็นยูและทหารพม่า เจรจาเอาค่าชดเชยก็ยาก อย่างบ้านยองดง ก็ได้ข่าวว่าเขาแย่กว่าเราเยอะ เราได้แค่นั่งฟังนึกสงสารแต่ทำอะไรไม่ได้ บางคนก็เข้าเมืองไปหารายได้ในไทยชั่วคราว กลับมาก็มาเจอปัญหาสารพัด โดยคิดว่า หากปัญหามีเพิ่มมากขึ้น คงต้องกลับไปรับจ้างทำไร่แถวชายแดนกาญจนบุรีเหมือนเดิม หลังจากไม่ได้กลับไปมาราว 3 ปีแล้ว” นายอาไบกล่าว

นายซอโค สมาชิก CSLD บ้านยองดง (Nyang Done) กล่าวว่าชุมชน บางชอง (Bang Chaung) ที่อาศัยแม่น้ำคะมอทเวย์ เป็นชุมชนเก่าที่มีอายุกว่า 200 ปี มีปัญหาความขัดแย้งการต่อสู้ระหว่างกองทัพเคเอ็นยูและรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี 1945 โดยหลังจากที่สงครามยุติลงชาวกะเหรี่ยงที่อพยพไปยังประเทศไทยกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรมที่พม่าเช่นเดิม และมีการทำประมงพื้นบ้านในแม่น้ำคะมอทเวย์และแม่น้ำตะนาวศรีแต่พอพม่าเปิดประเทศและมีการเจรจาหยุดยิงกับกองทัพเคเอ็นยู สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ การหลั่งไหลของทุนนิยม ที่มีโครงการใหญ่ที่สุดเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่คนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด คือ รัฐบาลพม่าและนายทุน ส่วนชุมชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวกว่า 30,000 ชีวิต นั้นไม่ได้รับสิทธิใด ๆ เลย เช่น ค่าเวนคืนที่ดิน ที่ทำกินอย่างเหมาะสม อีกทั้งการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างชายแดนไทย (ด่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี) เข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจนั้นก็มีเพียงกลุ่มนักลงทุนได้รับความสะดวก ส่วนชาวบ้านที่ถูกถนนตัดผ่านไร่นา ก็ไม่ได้รับเงินชดเชยหรือสิทธิอันชอบธรรมใด ๆ ชาวบ้านได้แต่ต่อสู้อย่างลำพัง และตั้งคำถามว่า ตกลงการเจรจาสันติภาพของทั้ง 2 ฝ่ายนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อันใด

“ในความเป็นจริงแล้วเรื่องภัยคุกคามจากทุนต่างชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการเจรจาหยุดยิงระหว่างเคเอ็นยูและรัฐบาลพม่า โดยรัฐบาลพม่าพยายามสร้างภาพว่า เป็นการสร้างสันติภาพในประเทศ ต่อสายตาชาวโลกแต่สันติภาพในชุมชน ในท้องถิ่นไม่เคยเกิดขึ้นจริง” นายซอโคกล่าว

ทั้งนี้ช่วงบ่ายมีการก่อสร้างก้อนหินอธิษฐาน โดยเขียนข้อความขอพรพร้อมอธิษฐาน แล้วเอาไปกองรวมกัน พร้อมเล่นกีฬากระชับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน อาทิ มวยทะเล ว่ายน้ำ ดำน้ำ ทั้งนี้ในตอนท้ายมีสารส่งตรงจากนายซอ บีเลอร์ (Pa Doh Saw Bee Ler) ประธานเคเอ็นยูในพื้นที่มะริด-ทวาย ซึ่งแสดงเจตนาบางตอนระบุว่า การรักษาทรัพยากรเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของทุกชาติพันธุ์ ดังนั้นทาง เคเอ็นยูพื้นที่ทวายขอสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรน้ำอย่างเต็มที่

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: