ชี้หมดยุค‘สื่อเป็นกลาง’ขอแค่ให้เป็นธรรม จี้ปฏิรูปทั้งเนื้อหา-วิธีทำงาน-ค่าตอบแทน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2758 ครั้ง

ท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมไทย ที่กำลังรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สื่อมวลชน” เป็นอีก “จำเลย” หนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความแตกต่าง ในทิศทางการนำเสนอที่หลากหลาย โดยเฉพาะจุดยืนของสื่อหลายแห่งหลายองค์กร หลากแขนง ที่ถูกมองว่ามีการเลือกข้างทางการเมืองไปแล้วอย่างชัดเจน จนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายมากขึ้น

คำถามที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสื่อในขณะนี้ คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะรื้อเรื่อง “การปฏิรูปสื่อ” ขึ้นมาพูดคุยอีกครั้งหนึ่ง หรือมีแนวทางใดที่จะทำให้การทำงานของสื่อ สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ไปได้

ในการเสวนาเรื่อง “ปีใหม่ ปฏิรูปสื่อรอบใหม่ : สื่อไทยกับการสร้างต้นทุนใหม่ในการก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง” จัดโดย ฝ่ายวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรในแวดวงสื่อสารมวลชนร่วมแสดงความคิดเห็น  ได้แก่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษากองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์ และที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายสมโภชน์ โตรักษา ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 นายบูรพา เล็กล้วนงาม บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท นายเถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์บลูสกาย และนายฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไป และที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ

ยอมรับสื่อมวลชนไทยมีปัญหาต้องปฏิรูป

ประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งคำถามในการเสวนาคือ สื่อมวลชนควรมีบทบาทอย่างไรในการทำงานในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ และการปฏิรูปสื่อควรถูกนำกลับมาดำเนินการอีกหรือไม่ โดยในประเด็นการปฏิรูปสื่อ ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยยอมรับว่า องค์กรสื่อในปัจจุบันมีปัญหา ดังนั้นสื่อมวลชนยังจะต้องมีการปฏิรูป สังคมเองก็คาดหวังว่า ควรจะมีการปฏิรูปสื่อเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามอาจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วสิ่งที่จะต้องปฏิรูปไปพร้อมกัน และสำคัญกว่าคือการปฏิรูปสังคมไทย ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีการศึกษาข้อมูลข่าวสารอย่างละเอียด ไม่ลงลึกถึงประเด็นสำคัญ แต่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองเห็นและชอบเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ปฏิรูปสังคมไทยไปด้วย ก็คงไม่สามารถที่จะปฏิรูปสื่อไปได้

            “ตอนนี้มีการใช้ ‘โทษาวาษ’ หรือ hate speed ในสังคมไทยมากขึ้น จากการมีจุดยืนความเชื่อที่แตกต่างกัน จนกลายเป็นการทะเลาะกันด้วยถ้อยคำผรุสวาท หยาบคาย ซึ่งดูแตกต่างกับในอดีต เช่น หลังยุค 2475 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างมาก สื่อในสมัยนั้นมีค่าย มีจุดยืนไม่เหมือนกัน แต่วิธีการนำเสนอของสื่อสมัยนั้นเป็นปัญญาชนกว่าสื่อสมัยนี้เยอะ มีการใช้ถ้อยคำที่ใช้เจ็บแสบ บาดลึก พอ ๆ กัน แต่แหลมคม และแนบเนียน ไม่เหมือนปัจจุบันที่ขึ้นคำหยาบคาย มึงกู คำด่ารุนแรง ซึ่งการใช้คำเหล่านี้เมื่อมีการแชร์ เผยแพร่ออกไปก็ทำให้ความบาดหมางรุนแรงหนักยิ่งขึ้น” นายฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไป และที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ กล่าว

ชี้สื่อหลักทำข่าวขาดการตรวจสอบ ต้นเหตุความเกลียดชัง

นายบูรพา เล็กล้วนงาม บก.ข่าว สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท กล่าวว่า ตนเห็นด้วยหากจะมีการปฏิรูปสื่ออีกครั้ง ปัจจุบันจะได้เห็นได้ว่าสื่อหลัก ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบหรือให้ข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องกับสังคม ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และกลายเป็นการจุดประเด็นให้เกิดความเกลียดชัง และความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น เช่น กรณีการนำเสนอข่าวการขายหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าไม่เสียภาษี โดยไม่ได้ให้ข้อมูลต่อว่า การขายหุ้นดังกล่าวเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว หรือกรณีข่าวการขอนายกฯ พระราชทานที่หากพิจารณาในข้อกฎหมายแล้วก็ไม่สามารถทำได้ แต่สื่อหลักกลับนำเสนอข่าวไป ทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจที่ผิดเพื้ยนของสังคม ดังนั้นการปฏิรูปสื่อ จึงน่าจะให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระ และการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องที่มีคุณภาพ มากกว่าการรายงานข่าวเพียงแค่เพียงทำไปตามหน้าที่เท่านั้น

จี้เพิ่มเงินเดือนนักข่าวสร้างแรงจูงใจให้ทำงานคุณภาพ

           “ผมเห็นว่าหากจะปฏิรูปสื่อจริงๆ ที่สำคัญเลยคือ ต้องปฏิรูปที่ตัวนักข่าวด้วย นักข่าวเองจะต้องมีความรู้ในประเด็นที่ตัวเองจะรายงานข่าว ไม่ใช่เพียงแค่การเอาไมค์ไปจ่อปากแหล่งข่าว แล้วเอาไปนำเสนอโดยไม่ศึกษาว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ถูกต้องหรือไม่ และที่สำคัญผมคิดว่า ควรจะต้องเพิ่มรายได้ให้กับนักข่าว เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ กำลังใจในการทำข่าว ลดการเขียนข่าวให้น้อยลง เพื่อให้มีเวลาในการศึกษาข้อมูลเข้าใจการทำข้อมูลให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และนักข่าวอาวุโสควรจะสามารถทำงานในสนามข่าวได้ เพราะจะมีความรู้ มากกว่าการเข้าไปนั่งทำงานในกองบรรณาธิการ ขณะที่บก.ข่าวจะต้องร่วมกำหนดทิศทาง ประเด็นการนำเสนอข่าวกับผู้สื่อข่าวด้วย เพราะการนำเสนอข่าวที่นักข่าวไม่มีพื้นฐาน ความรู้เลย ทำให้ข้อมูลที่ออกสู่สั่งคมผิดเพี้ยน เป็นต้นตอของการสร้างความขัดแย้งได้มากขึ้น” บูรพากล่าว

ขณะที่นายเถกิง สมทรัพย์ ผอ.สถานีโทรทัศน์บลูสกาย เห็นว่า บทบาทของสื่อมวลชนในขณะนี้ ต้องเข้าใจว่า ประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาวะที่แสวงหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถหาได้ในสื่อกระแสหลัก นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำไมสถานีโทรทัศน์บลูสกายจึงได้รับความนิยมมาก อย่างไรก็ตามหากจะให้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสื่อ เชื่อว่าเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ คงไม่จำเป็นต้องไปปฏิรูปแล้ว แต่เรื่องของเนื้อหาสาระต่างหากที่จำเป็นจะต้องปฏิรูปต่อไป

สื่อด้วยกันเองยังคิดไม่เหมือนกัน

สำหรับประเด็นเรื่องบทบาทการทำงานสื่อมวลชน โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น ผู้เสวนามีความคิดเห็นในเชิงการทำงานตามแนวคิดและนโยบายองค์กร ที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทุกคนเหมือนกันคือการรายงานข่าวที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานจริยธรรมของวิชาชีพสื่อสารมวลชน  โดยเฉพาะการรายงานข่าวที่ถูกต้องและเป็นธรรม

ด้านนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แสดงความคิดเห็นต่อบทบาทของสื่อมวลชน โดยเฉพาะในสื่อโทรทัศน์ว่า หากพิจารณาจะพบว่า ที่ผ่านมาโทรทัศน์เกือบทุกสื่อ ล้วนมีโครงสร้างที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นเป็นธรรมชาติที่จะต้องเกิดความเกรงใจ ไม่กล้าตัดสินใจในการนำเสนอข่าวสารบางอย่าง แต่หากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาแต่ละยุคก็ไม่ต่างกัน ซึ่งสื่อเองก็ไม่สามารถก้าวข้ามความอิสระเหล่านี้ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่หากจะพูดถึงอิสระในการทำงานตามจริยธรรมของสื่อ

สื่อมวลชนทุกสื่อย่อมจะต้องนำเสนอข่าวทุกข่าวอยู่แล้ว แต่การทำงานในสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบันสื่อย่อมเหนื่อยมากอยู่แล้ว เช่นกรณีการที่ม็อบบุกทุกสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง บางมุมถูกมองว่าคุกคามสื่อ บางคนบอกว่าเมื่อสื่อเสนอข่าวบิดเบี้ยวก็ต้องมา ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เมื่อได้มาประชุมพูดคุยกันต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป จะเห็นได้ว่าหลังเกิดเหตุผู้ชุมนุมบุกสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ แถลงการณ์ของสมาคมฯ ออกมาช้ามาก สาเหตุเพราะที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันว่า บทบาทของสื่อมวลชนอยู่แค่ไหน จะเป็นแค่ผู้รายงานข่าวหรือควรจะมีความคิดเห็น เสนอแนะ หรือฟันธงไปเลย แม้จะไม่มีข้อสรุปเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่สุดท้ายข้อสรุปเบื้องต้นคือ ในฐานะของสื่อมวลชนจะต้องทำงานรายงานข่าวอย่างเต็มที่ การรายงานข้อเท็จจริง ต้องไม่หยุดทำตามหน้าที่สื่อ และแม้ว่าจะไม่ควรไปตัดสิน สถานการณ์ แต่สื่อเองต้องส่งสัญญาณเตือนเหมือนกัน หากเห็นว่าจะทำให้สังคมเกิดปัญหา ในแง่ขององค์กรสื่อ ยืนยันหลักการว่า สื่อมวลชนต้องมีพื้นที่การทำงานของตัวเอง ไม่ว่าในกลุ่มไหน จะต้องมีพื้นที่ให้กับสื่อได้ทำงาน ไม่ควรจะทำร้าย หรือ กีดกันไม่ให้ทำหน้าที่

             “เมื่อก่อนผมไม่เคยคิดว่านักข่าวจะต้องใส่หมวกกันน็อก นักข่าวจะต้องใส่เสื้อกันกระสุน แต่ตอนนี้มันเกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อ เมื่อก่อนมีคนบอกว่าต้องทำ ผมยังบอกว่า บ้าหรือเปล่า แต่ตอนนี้ก็ต้องทำอย่างนั้น นักข่าวส่วนใหญ่ต้องทำงานอยู่ภายใต้ภาวะการกดดัน บางคนต้องรายงานข่าวทั้งที่ไม่ชอบ แต่สิ่งที่ตอกย้ำอยู่คือเรื่อง “ความรับผิดชอบ” ก็ทำให้งานออกมาได้”

ชี้หมดหวังให้สื่อเป็นกลางแต่ขอให้เลือกข้างอย่างสร้างสรร

เช่นเดียวกับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เห็นว่า แม้ว่าตอนนี้การปฏิรูปสื่อ ที่มองว่าสื่อที่มีความเป็นกลางจะถูกมองข้ามไปแล้ว เพราะสื่อเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็ว และสื่อตอนนี้ก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากเดินเข้าสื่อการเลือกข้างไปจริง ๆ แล้ว จึงต้องยอมรับ แต่จะทำอย่างไรที่การเลือกข้างของสื่อ จะต้องเป็นการเลือกให้เป็น เพื่อดำรงหลักการทำงานของสื่ออย่างมืออาชีพ และมีความเป็นธรรม โดยเห็นว่าสามสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ข้อเท็จจริง ที่จะต้องถูกต้อง แม้จะไม่ได้ 100 เปอร์เซนต์ แต่ก็ต้องให้ผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะประชาชนคาดหวัง สองคือจะต้องไม่ใช้สื่อมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และสุดท้าย สื่อจะต้องนำเสนอข่าวด้วยความเป็นธรรม แม้ว่าจะเป็นสื่อที่เลือกข้างก็จะต้องนำเสนอข่าวที่ไม่ออกมาในแนวเยาะเย้ย เสียดสี เพราะเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสื่อ เพราะตอนนี้คงไม่สามารถที่จะไม่เรียกร้องความเป็นกลางร้อยเปอร์เซนต์ อีกต่อไปแล้ว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: