เพลงรักเก่ากับหนังผีใหม่

นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล 8 ต.ค. 2557


ผมคิดว่าคงไม่ได้มีแค่ผมที่เห็นกระแสหนังผีไทยปัจจุบันที่มักเอาเพลงเก่ากลับมาทำใหม่ เท่าที่นึกๆ ออกและถ้าจำไม่ผิด ผมคิดว่าต้นกระแสนี้ น่าจะเป็นเพลง “คิดถึงเธอทุกที (ที่อยู่คนเดียว)” (ต้นฉบับ คุณเจนนิเฟอร์ คิ้มร้องคลอเสียงแซกโซโฟนของคุณโก้ Mr.Saxman) ซึ่งถูกนำมาร้องใหม่โดยคุณแพท สุธาสินี พุทธินันท์ จากอารมณ์เพลงที่เหมือนนั่งสบายๆ จิบกาแฟริมหน้าต่าง ฝนตกปรอยๆ กลายเป็นเพลงที่ดูเหงาขึ้น ว้าเหว่ขึ้น โหยหาขึ้น โดยส่วนตัวผมว่าเวอร์ชั่นใหม่นี้สะท้อนอารมณ์ของ Body ศพ#19 ได้ดีครับ

หลังจากนั้นก็มีอีกหลายๆ เพลงอย่าง

-“กลัว” (ต้นฉบับ คุณปาล์มมี่) + “คนที่ฆ่าฉัน” (ต้นฉบับ Silly Fools) ร้องใหม่โดยคุณโดม ปกรณ์ ลัม (4แพร่ง/5แพร่ง)

-“พิษรัก” ร้องใหม่โดยวงพริกไทย (แฟนเก่า) และ “หลอกใช้” (ต้นฉบับ คุณหรั่ง ร็อกเคสตร้า) ร้องใหม่โดยวง Am Fine (แฟนใหม่)

-“...อาจเป็น เพราะเรา คู่กัน มาแต่ชาติไหน...จะรัก รักเธอตลอดไป เป็นลมหายใจของกันและกัน” ประโยคคุ้นๆ หูในงานแต่งงาน ร้องโดยคุณเบน ชราทิศ (ตายโหง)

-“รักเธอจริงๆ” (ต้นฉบับ คุณสุกัญญา มิเกล) ร้องใหม่โดย คุณสาวิกา อัยรารัตน์ ร้อง (ตายโหงตายเฮี้ยน)

-“ข้าน้อยสมควรตาย” (ต้นฉบับ วง Big Ass) ที่ถูกถ่ายทอดผ่านวง Cocktail (ตีสามคืนสาม 3D)

-“ล่า” (ต้นฉบับ คุณแอม เสาวลักษณ์) ร้องใหม่โดย คุณปราโมทย์ ปาทาน (ฮาชิมะ โปรเจกต์)

-“รักเธอ” ของคุณฟอร์ด สบชัย ไกรยูเสน ที่เจ้าตัวนำมาร้องใหม่อีกครั้ง (The Rooms: ห้อง/หลอก/หลอน)

-“ฝากไว้” (ต้นฉบับ คุณเบิร์ด ธงไชย) ก็ฟื้นคืนชีพผ่านเสียงของน้องวิโอเลต วอเทียร์ (ฝากไว้...ในกายเธอ)

-และคงมองข้าม “อยากหยุดเวลา” (ต้นฉบับ คุณศรัญย่า ส่งเสริมสวัสดิ์) ที่ถูกนำมาร้องใหม่โดยคุณปาล์มมี่เพื่อประกอบหนังผีตลก พี่มาก...พระโขนง ไปไม่ได้ 

ล่าสุด คุณพละ ธนพลที่นำเพลงของคุณหรั่ง ร็อกเคสตร้า ที่ใครหลายคน “คิดถึง” กลับมาใหม่ เพื่อประกอบ The Eyes Diary และ “หยุด” (ต้นฉบับ วง Groove Riders) ถูกนำมาขับร้องใหม่โดย คุณปุ๊ อัญชลีย์  เพื่อประกอบหนังเรื่อง The Couple: รัก ลวง หลอน

การยกประเด็นนี้ขึ้นมา ผมไม่ได้มีเจตนาจะ “บ่น” เกี่ยวกับความเฟ้อของกระแสนี้หรอกครับ ส่วนตัวผมชอบนะครับที่มีโอกาสได้ยินเพลงเก่าๆ ถูกนำมาร้องผ่านดนตรีใหม่ อารมณ์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะคนชอบหนังผี เมื่อเพลงเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านบรรยากาศของหนังผีด้วยแล้ว ผมก็อยากที่จะรอดูเรื่อยๆ ว่าในอนาคตจะมี “เพลงรักเก่าในหนังผีใหม่” อีกบ้างไหม ประเด็นจริงๆ ของการยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผมสนใจมากกว่าว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้สององค์ประกอบนี้ลงตัว

ถ้ามองในเชิงการตลาด ผมเดาว่าการนำเพลงเก่ามาร้องใหม่ มีนัยยะของ nostalgia หรือการหวนนึกถึงความทรงจำในอดีต ซึ่ง nostalgia เหมือนจะกลายเป็นความนิยมในหมู่ผู้บริโภคสื่อบางส่วนมาสักพักหนึ่ง การย้อนกลับไปรำลึกถึงเรื่องเดิมๆ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นความเชย ความล้าหลังเสมอไป บ่อยครั้งมันสะท้อนให้เห็นถึงความลึกซึ้งทางรสนิยม การมีประวัติศาสตร์ มีความทรงจำ ที่สวนทางกับการวิ่งตามกระแสรับแต่ของใหม่ๆ อย่างไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งโดยส่วนตัวผมสังเกตว่าในช่วง 4-5 ปีนี้ ธุรกิจวงการบันเทิงพยายามตอบสนองการรำลึกถึงวันวานเก่าๆ มากขึ้น ผ่านการจัดคอนเสิร์ตรวมตัวนักร้องวัยรุ่นที่มีชื่อเสียงในอดีต หรือแม้แต่รายการประกวดร้องเพลงอย่าง The Voice ก็สามารถตอบสนองกระแสความชอบนี้ได้ดี ผ่านการนำเพลงในอดีตมาปัดฝุ่นและนำเสนอใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์

เมื่อผสมผสานกระแสนี้กับ “หนังผี” ผมคิดว่ามันลงตัวกันได้อย่างดี เพราะผมเชื่อว่าในมุมมองของคนไทย “ผี” เป็นตัวแทนของ “โลกในอดีต” การนำเพลงเก่าที่ค่อนข้างมีความเหนือกว่าทางภาษา การใช้คำสวยๆ อารมณ์ซึ้งๆ ย่อมเป็นตัวแทนของ “ความขลัง” ได้ดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อถูกนำมา mix ใหม่ cover ใหม่ ผ่านเสียงแผ่วๆ ด้วยวิธีการร้องแบบศิลปินนอกกระแส ดนตรีลอยๆ เคว้งๆ โหวงๆ หรือเสียงเปียโนเศร้าๆ ไวโอลินเศร้าๆ ก็สามารถผลิกอารมณ์ของเพลงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักและจำได้ในฐานะเพลงหวาน เพลงที่เคยถูกใช้ในงานแต่งงาน มานำเสนอจากมุมอีกมุมว่า ความรักอาจไม่ได้หวานและสดใสเสมอไป บางครั้งความรักอาจน่ากลัวกว่าที่คิด

ที่น่าสนใจคือ ผมคิดว่าหนังผีไทยวางอยู่บนพื้นฐาน “ความใกล้ชิด” ซึ่งมักเล่นอยู่กับประเด็นความรัก ความผูกพัน ความคุ้นเคย เสียมาก การหักหลัง การผิดสัญญา จึงมักกลายเป็นต้นกำเนิดของโศกนาฎกรรม เลยง่ายที่จะนำเพลงรักมาประดับให้กับหนังผีไทย ในขณะที่หนังสยองขวัญของฝรั่งมักถูกนำเสนอในแบบผีตุ้งแช่ ผีแหวะ ซาตาน ปีศาจ สัตว์ประหลาด หรือในกรณีของผีญี่ปุ่นเองแม้จะมีพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับผีที่ตายด้วยความอาฆาตคล้ายๆ กับหนังผีไทย แต่โครงเรื่องส่วนมากให้ความสนใจไปที่ “คำสาป” (โนะโรย-Noroi) ที่ครอบงำเหยื่อทีละคนๆ จนท้ายที่สุดทั่วเกาะญี่ปุ่นหรือทั่วโลกอยู่ภายใต้คำสาปนี้ ซึ่งผมคิดว่าโครงเรื่องและการนำเสนอแบบนี้ค่อนข้างขัดกับความคุ้นเคยของคนไทยพอสมควร ถ้าให้เปรียบเทียบในฐานะที่ผมเป็นคนไทย ผมคิดว่าหนังผีไทยจึงดู “สมจริง” และ “เป็นไปได้” (สำหรับคนไทย) มากกว่า ซึ่งการพยายามนำเสนอรูปแบบโครงเรื่องใหม่ๆ อาจจะเป็นความคิดสร้างสรรค์แต่ก็อาจเสี่ยงต่อการสูญเสีย “ความสมจริง” (บนพื้นฐานความเชื่อแบบไทยๆ) ไป

ผมจำได้ว่า ผมน่าจะกล่าวถึงประเด็นนี้ไปแล้วในบทความเก่าๆ ผมเชื่อว่าสำหรับสื่อไทย “ผี” (แม้จะมีจริงหรือไม่ก็ตาม) ถูกนำเสนอในฐานะ “เครื่องเตือนใจไม่ให้ทำผิด” ผมว่าเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในมุมมองของคนไทยนั้น ความเชื่อผีมาพร้อมกับความเชื่ออื่นที่เกี่ยวโยงกับพุทธศาสนา และเมื่อการนำเสนอหนังผีไทยมีจุดยืนที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น การนำเสนอประเด็นเรื่องความรัก ผมจึงเข้าใจว่า การนำเสนอเรื่องเหล่านี้กำลังตอกย้ำว่า “ผี” คือบทลงโทษของผู้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอกใจ การหลอกลวง และการผิดสัญญา ซึ่งบ่อยครั้งจะเห็นได้ว่า ตัวละครเหล่านั้นต้องชดใช้ ผ่านการโดนผีหลอก โดนผีตาม หรือโดนผีนำไปอยู่ด้วย ในขณะเดียวกัน การทำแท้ง การฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่สนับสนุนก็ถูกนำเสนอว่าเป็นจุดกำเนิดของวิญญาณอาฆาตเหล่านี้

การนำเสนอเรื่องผีที่เกี่ยวโยงกับความรักอาจเป็นมาตรการควบคุมทางสังคมแบบหนึ่งที่พยายามจัดระเบียบสังคมสมัยใหม่ ที่ “ศีลธรรมหละหลวม” ในสายตาของผู้ใหญ่ชาวไทยหลายคนก็อาจจะเหมือนตอนที่พวกเราเด็กๆ ซึ่งหลายคนโตมากับการสอนที่ว่า “รีบไปนอน เดี๋ยวก็โดนผีหลอกหรอก” ดังนั้น การที่ได้ดูหนังผีจนจบเรื่อง โดยเห็น ผู้กระทำผิดโดนลงโทษ จึงเป็นบทสรุปที่ใครหลายคนคิดคาดหวังไว้และทำให้การดูหนังเรื่องนั้น “อิ่ม” ดังนั้น “ผี” ในฐานะเครื่องมือควบคุมทางสังคมจึงควรน่ากลัวพอที่คนไทยจะเข้าถึงได้ จับต้องได้ ซึ่งอาจจะต่างจากชาวตะวันตกหรือชาวญี่ปุ่นที่อาจมีความเข้าใจเกี่ยวกับผีแยกออกจากเรื่องของกรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

ทำไม “เพลงรักเก่า” จึงอยู่ใน “หนังผีใหม่” หรือครับ? ท้ายที่สุดมันคงไม่มีคำตอบตายตัวหรอกครับ ผมเชื่อว่าความเข้าใจ เหตุผล อารมณ์ ของคนที่เลือกเสพสื่อนั้นมีหลากหลาย การเลือกของเดียวกันอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันสุดขั้วเลยก็ได้ ดังนั้น “ความคิดเห็น” ของผมย่อมเป็นแค่ความคิดเห็นครับ หาใช่สัจจะแห่งจักรวาลไม่ เพราะท้ายที่สุดมีสิ่งหนึ่งที่ผมเองก็ยังไม่เข้าใจ คือ ทำไม “ความรักชั่วนิรันดร์” ในเนื้อหาของเพลงเก่าเหล่านี้ สามารถถูกนำมาถ่ายทอดให้ “สยอง” ขึ้นได้ ผมไม่แน่ใจหรอกครับว่า มันสยองขึ้นเพียงเพราะมันเกี่ยวข้องกับคนที่ตายไปแล้ว หรือจริงๆ แล้วคำพูดที่ว่า “ฉันจะรักเธอตลอดไป” “ฉันจะคิดถึงเธอทุกเวลา” “ฉันจะไม่มีวันจากเธอไปไหน” เป็นสิ่งที่มนุษย์กลัวมากกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ผี”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: