‘น้องนิค’นร.เชียงรายไร้รัฐ ได้ไปสอบที่มอ.สงขลาแล้ว

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 7 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2402 ครั้ง

จากกรณีนายนิวัฒน์ จันทร์คำ หรือน้องนิค อดีตเด็กไร้รัฐซึ่งเติบโตและเรียนหนังสือในประเทศไทย  สามารถสอบผ่านการคัดเลือกรอบแรกในการเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) จ.สงขลา แต่ยังไม่สามารถเดินทางไปสอบสัมภาษณ์ได้เพราะติดขัดในข้อกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครองให้เดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ต้องออกมาร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการเดินทางไปสอบสัมภาษณ์ดังกล่าว กระทั่งนายสุรชาติ สะอาดเอี่ยม ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ลงนามในหนังสืออนุญาต ให้นายนิวัฒน์ เดินทางออกนอกพื้นที่จ.เชียงราย เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างวันที่ 4-10 ตุลาคม ที่ผ่านมา เรียบร้อยแล้ว โดยนายนิวัฒน์ ได้เดินทางไปสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าเรียนเรียบร้อยแล้ว

‘น้องนิค’ได้ไปสอบสัมภาษณ์ที่มอ.

ล่าสุดนายนิวัฒน์ หรือ “น้องนิค” ให้สัมภาษณ์ TCIJ หลังออกจากห้องสอบสัมภาษณ์ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ทำให้สามารถเดินทางมาสอบสัมภาษณ์เมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา แม้จะรู้สึกกังวลใจอยู่บ้าง เพราะนอกจากจะต้องสอบสัมภาษณ์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีการทดสอบเป็นข้อเขียนเล็กน้อยด้วย ที่ผ่านมาตนไปเน้นเรื่องของเรียงความต่าง ๆ มากกว่า ตอนนี้จึงเผื่อใจไว้ว่าอาจจะสอบติดหรือไม่ติดอยู่ที่ 50-50 แต่ก็ถือว่าทุกอย่างผ่านไปด้วยดี หลังจากนี้จะเดินทางไปพักอยู่กับญาติ ก่อนจะเดินทางกลับจังหวัดเชียงราย ในวันที่ 11 ตุลาคมนี้

นายนิวัฒน์กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วชอบวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และทำคะแนนได้ดีในวิชานี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้สิ่งที่อยากจะทำก็คืออยากจะช่วยเหลือรุ่นน้องที่ตกอยู่ในสถานะเช่นเดียวกับตน ที่ไม่มีเอกสารอะไรเลย แต่ขณะนี้คงไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แต่คิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับน่าจะเป็นประโยชน์ กับอีกหลายคนที่ยังมีปัญหา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ปัญหานี้

         “ผมอยากจะขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยเหลือ ที่ทำให้ผมมีโอกาสได้มาสอบสัมภาษณ์ และอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยเหลือปัญหานี้ด้วย เพราะว่าตอนนี้ยังมีน้องๆ เพื่อนๆ อีกหลายคนที่ประสบปัญหาไม่มีเอกสาร บัตรประชาชน ทั้งที่เกิดและเติบโตที่ประเทศไทย ก็อยากให้ทุกคนช่วยด้วยครับ” นายนิวัฒน์กล่าว

นักวิชาการชี้ปัญหานี้ทดสอบกลไกรัฐไทยกับการเข้าประชาคมอาเซียน

ขณะที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า กรณีของน้องนิคเป็นเหมือนสัญญาณเตือนไปยังคนสัญชาติพม่าในประเทศไทย ที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย โดยพ่อแม่ของน้องนิคเป็นแรงงานจากประเทศพม่า แต่น้องนิคอยู่ในความดูแลของเอกชนไทย ทำให้เกิดมิตรภาพสำหรับคนในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน เพราะหากปล่อยให้น้องนิคพ่ายแพ้หรือทำร้ายน้องนิค จะเหมือนกับสัญญาณเตือนภัยให้คนอีกนับหมื่นที่ชี้ว่ากลไกของประเทศไทยยังไม่พร้อมหรือไม่เอื้อต่อการเปิดประชาคมอาเซียน และเป็นการไม่ให้ความสำคัญต่อปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2555

นอกจากนี้กรณีของน้องนิคจะเป็นตัวบ่งบอกด้วยว่า ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อประชาคมอาเซียนเป็นอย่างไร ขณะที่กลไกในจ.เชียงราย จะเป็นตัวอย่างให้เรียนรู้ว่า หากเกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับน้องนิคในจังหวัดอื่น ๆ จะมีระบบหรือกลไกใดเข้ามาจัดการหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของอาเซียน

            “การเชื่อมโยงความรู้ด้านการศึกษาระหว่างกัน จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีความเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น เช่น กรณีของน้องนิค หากเขาเรียนจบและกลับไปอยู่บ้านที่ท่าขี้เหล็กฝั่งพม่า เขาก็จะไม่หนีหายไปไหน เขายังผูกพันอยู่กับสังคมไทย ใช้สินค้าไทย เป็นมิตรภาพตลอดกาลกับสังคมไทย เหมือนกับครั้งหนึ่งที่ประเทศตะวันตก มาให้ทุนนักเรียนไทยไปเรียนต่อ ความรู้สึกกับประเทศเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ต่อไปเราอาจมีสมาคมนักเรียนเก่าไทยในพม่าก็ได้ เราต้องคิดกลับด้านให้ได้ เชื่อว่ามีเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับน้องนิคหรือมีปัญหาใกล้เคียงกันอยู่ในสังคมไทยอีกนับแสนคน เช่น กลุ่มที่ติดตามแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มบัตรเลขศูนย์ กลุ่มในค่ายอพยพเป็นต้น ดังนั้นจำเป็นต้องร่วมกันหาทางออก” ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว

สืบประวัติ ‘น้องนิค’ เกิดในเมียนมาร์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ เคยเผยแพร่ข้อมูลการวิจัยเรื่อง กรณีศึกษา “น้องนิค” นายนิวัฒน์ จันทร์คำ: ความเป็น“คนไร้รัฐ” หรือ “บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” ระบุว่า

กรณีศึกษา“น้องนิค” นายนิวัฒน์ จันทร์คำ เป็นกรณีศึกษาที่มูลนิธิกระจกเงา เสนอให้ศึกษาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2556 ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิถุนายน พ.ศ.2555 – พฤษภาคม พ.ศ.2559” โดยการสอบปากคำเบื้องต้นน้องนิคทราบจากป้าจันทร์ซึ่งเลี้ยงเขามาว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2538 โดยไม่ทราบสถานที่เกิดที่ชัดเจน ทราบเพียงว่า เกิดในประเทศเมียนมาร์ เขาอาศัยอยู่กับป้าจันทร์มาตลอด เพราะบิดาและมารดาแยกทางกันและฝากน้องนิคให้อยู่ในความดูแลของป้ามาตั้งแต่เขาจำความได้

เขาไม่เคยมีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆเมื่อเขามีอายุ 15 ปี เขาเคยไปร้องขอทำบัตรประชาชนกับอำเภอ แต่ด้วยเขาไม่มีเอกสารใด ๆ ของรัฐ เพื่อรับรองการเกิดของเขา เจ้าหน้าที่อำเภอจึงปฏิเสธที่จะทำบัตรประชาชนให้แก่เขา

ย้ายมาไทยกับพ่อแม่ก่อนถูกส่งไปอยู่กับป้าที่ตรัง

ในส่วนที่เกี่ยวกับบุพการีของน้องนิค น้องนิคเล่าว่า บิดาของเขามีชื่อว่า นายหนุ่ม เป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อ ส่วนมารดาชื่อว่า นางจริง จันทร์คำ เป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อเช่นกัน ในขณะที่น้องนิคเกิดบิดาและมารดายังไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย แต่ต่อมามารดาได้ไปร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และเจ้าหน้าที่ของงานทะเบียนราษฎรเมียนมาร์ก็ยอมรับว่า เธอมีสัญชาติเมียนมาร์จึงยอมรับบันทึกชื่อของนางจริง ในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และออกบัตรประชาชนตามกฎหมายเมียนมาร์ให้นางจริงถือ เพื่อแสดงความเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ ปัจจุบันนางจริงมารดาของน้องนิคก็ยังอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์

น้องนิคเล่าว่า เขาน่าจะเกิดในประเทศเมียนมาร์ และเดินทางตามบิดาและมารดาเข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.2542 เมื่อมีอายุประมาณ 3-4 ปี (ในเวลานั้น) ทั้งบิดาและมารดา ตลอดจนตัวน้องนิคไม่น่าจะมีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐใดเลย มารดาพาน้องนิคมาฝากเลี้ยงไว้กับพี่สาวคนหนึ่งซึ่งน้องนิกเรียกว่า “ป้าจันทร์” ซึ่งอาศัยอยู่ที่จ.ตรัง เมื่อบิดาและมารดาแยกทางกันเขาและน้องสาวจึงอาศัยอยู่กับป้าจันทร์ ณ จ.ตรัง

งานวิจัยระบุต่อว่า ในช่วงที่น้องนิคเรียนหนังสือที่โรงเรียนสิเกาประชาผดุงวิทย์ อ.สิเกา จ.ตรัง เขาเคยกรอกข้อมูลในแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ 89) เพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร ซึ่งสำรวจโดยโรงเรียน และข้อมูลที่กรอกถูกส่งไปที่ที่ว่าการอำเภอสิเกา จ.ตรัง แต่อ.สิเกาก็ไม่ได้บันทึกชื่อของน้องนิคในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทย ว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในที่สุด

ในปีพ.ศ.2555 น้องนิคจึงตัดสินใจย้ายมาอาศัยพี่สาวของแม่ที่จ.เชียงราย ซึ่งน้องนิคเรียกว่า “ป้าเอื้อยคำ” ด้วยความหวังที่จะได้รับการสำรวจ เพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

ที่เชียงราย น้องนิคสมัครเรียนที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย น้องนิคเคยติดต่อคุณครูประจำการเรื่องการสำรวจและบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรพร้อมกับทำบัตรประจำตัว แต่คุณครูแจ้งว่าบัตรประจำตัวลักษณะนี้เปิดทำเป็นช่วงเวลาเท่านั้น

แนะพิสูจน์สัญญาตที่เมียนมาร์แล้วกลับมาเรียนต่อ

หลังจากการสอบปากคำของน้องนิคตลอดจนป้าเอื้อยคำ คณะนักวิจัยฯ ได้แนะนำให้น้องนิคพยายามติดต่อนางจริงผู้เป็นมารดา และเพื่อที่น้องนิคจะมีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้องคณะนักวิจัยจึงแนะนำให้น้องนิคหารือกับนางจริง มารดา เพื่อดำเนินการ 3 ลักษณะดังต่อไปนี้

1.นำน้องนิคไปพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์กับทางราชการเมียนมาร์ อันจะทำให้น้องนิคได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และได้รับบัตรประชาชนที่แสดงความเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์

2.นำน้องนิคไปทำหนังสือเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ และ 3.นำน้องนิคไปร้องขอวีซ่านักเรียนจากสถานกงสุลไทย ประจำเมียนมาร์ เพื่อเดินทางกลับมาเรียนหนังสือต่อไปในประเทศไทยดังที่น้องนิคตั้งความหวัง

ต่อมาน้องนิคแจ้งให้คณะนักวิจัยฯทราบว่า เขาหาตัวนางจริงมารดาพบแล้ว และพยายามติดต่อทางราชการเมียนมาร์ เพื่อดำเนินการตามคำแนะนำของคณะนักวิจัยฯ ทำให้น้องนิคได้การบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์แล้ว ในราวเดือนเมษายนพ.ศ.2557 และได้รับบัตรประชาชนตามกฎหมายเมียนมาร์ และในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ทางราชการเมียนมาร์ก็ได้ออกหนังสือเดินทางเพื่อรับรองสถานะคนสัญชาติเมียนมาร์ให้แก่น้องนิคอีกด้วย

ปัจจุบันยังอาศัยอยู่ ณ ศูนย์ทางเลือกการเรียนรู้สู่การพัฒนาและป้องกันชีวิตเด็ก “บ้านนานา” มูลนิธิพันธกิจเด็กและชุมชน บ้านป่ายาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย และเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: