บทวิเคราะห์ : ปมการเลือกตั้งอินเดีย สะท้อนอนาคตทางสังคมการเมืองไทย และการปฏิวัติเมจิของญี่ปุ่น

กานต์ ยืนยง 7 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4133 ครั้ง

ผลการสำรวจโดยเบื้องต้น http://en.wikipedia.org/wiki/Opinion_polling_for_the_Indian_general_election,_2014 บ่งชี้ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งใช้ชื่อว่า “พันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ” (National Democratic Alliance หรือ NDA) ซึ่งนำโดยพรรค “ภารติยะชนตะ” (Bharatiya Janata Party หรือ BNP) และชูนาย นเรนทรา โมดิ เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น่าจะได้รับชัยชนะเหนือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่ใช้ชื่อว่า "พันธมิตรแนวร่วมก้าวหน้า" (United Progressive Alliance หรือ UPA) ซึ่งนำโดยพรรค “สภาอินเดียแห่งชาติ” หรือพรรคคองเกรส (Indian National Congress หรือ INC) ที่มีข่าวว่าชูนายราหุล คานธี ผู้ซึ่งเป็นหลานของนายเยาวหราล เนรู อดีตนายกรัฐมนตรีชื่อดังของอินเดีย มาเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทนนายมันโมฮัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ผลประเมินจำนวนที่นั่งสำนักโพลบางสำนักคาดการณ์ว่า แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านจะได้ที่นั่งใน “โลกสภา” หรือสภาล่างของอินเดียถึง 230-260 ที่นั่ง จากทั้งหมด 545 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลจะเหลือที่นั่งเพียง 110-130 ที่นั่งเท่านั้น

นเรนทรา โมดิ หัวหน้าพรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี)

เมื่อเห็นแนวโน้มเช่นนี้ หนังสือพิมพ์ ดิ อีโคโนมิสต์ ออกโรงโจมตี นายนเรนทรา โมดิ อย่างรุนแรง http://www.economist.com/news/leaders/21600106-he-will-probably-become-indias-next-prime-minister-does-not-mean-he-should-be-can-anyone ซึ่งแม้ ดิ อีโคโนมิสต์ จะยอมรับว่าอินเดียในช่วงหลังสงครามเย็นจะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจไปจากแนวทางของอดีตนายกรัฐมนตรีเนรูที่เน้นหนักแนวทางสังคมนิยม มาเป็นแนวทางการสนับสนุนกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมากขึ้น แต่นายมันโมฮัน สิงห์ และพรรคคองเกรสซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลเดิมก็ยังทำได้ไม่เพียงพอ เศรษฐกิจอินเดียเมื่อวัดจากตัวเลข GDP เจริญเติบโตในอัตราเฉลี่ยเพียง 5 % ต่อปี ซึ่งถือว่าเติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับการเติบโตจากฐานที่ต่ำและการที่มีแรงงานที่มีค่าแรงถูกจำนวนมากเมื่อเทียบกับจีนซึ่งสามารถทำให้ GDP เติบโตได้ในอัตราสองหลักเป็นระยะเวลายาวนาน

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มี GDP ขยายตัว 5 % ต่อปี ของอินเดียนี้ไม่เพียงพอต่อการสร้างงานให้ ประชาชนอินเดียวัยเริ่มต้นทำงาน ในขณะที่ค่าครองชีพจากภาวะเงินเฟ้อมีอัตราสูงเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่การเมืองอินเดียก็มีอัตราการคอร์รัปชั่นสูงมาก ประชาชนชาวอินเดียที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงเริ่มไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีและพรรคคองเกรส และต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ นายนเรนทรา โมดิ จึงกลายมาเป็นจุดสนใจเมื่อเขาสามารถผลักดันเศรษฐกิจของรัฐกุจราชที่เขานั่งในตำแหน่งผู้ว่าการรัฐให้เติบโตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เมื่อเทียบกับนายราหุล คานธี ซึ่งมีลักษณะเป็น “ผู้น้ำผู้ดีชนชั้นสูง” และดูเหมือนอาศัยความเป็นสมาชิกของคนในวงศ์ตระกูลผลักดันตนเองขึ้นมาแล้ว นายนเรนทรา โมดิ จึงดูมีภาษีกว่าเมื่อเขาสามารถผลักดันตนเองขึ้นมาจากการที่เคยเป็นเจ้าของแผงขายชาจนเป็นผู้ว่าการรัฐด้วยฝีมือล้วน ๆ นายนเรนทรา โมดิ ยังมีความมุ่งมั่นขึ้นไปสู่เก้าอี้ผู้นำมากกว่านายราหุล คานธี ที่ยังดูไม่แน่ชัดกับอนาคตทางการเมืองของตนเองมากนัก

ราหุล คานธี

กระนั้นจากการที่ นายนเรนทรา โมดิ มีประวัติที่ดูเป็นปัญหาจากการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีการจราจลในรัฐคุชราชเมื่อปี 2545 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,000 คน ในขณะที่ชาวมุสลิมตอบโต้กลับด้วยการเผารถไฟในรัฐนี้จนทำให้มีคนฮินดูเสียชีวิต 59 คน เขายังเคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับองค์กรที่เดินขบวนในกรณีพิพาท “อโยธยา” ในช่วงปี 2533 จนทำให้สองปีต่อมานำไปสู่การปะทะกันระหว่างชาวมุสลิมและชาวฮินดูจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน ด้วยประวัติเช่นนี้ทำให้ ดิ อีโคโนมิสต์ไม่เชื่อว่าเมื่อขึ้นสู่อำนาจแล้ว นายนเรนทรา โมดิ จะดำเนินนโยบายประนีประนอมระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม ตรงข้ามหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าเขายังดำเนินนโยบายแข็งกร้าวและไม่ยอมประณามกรณีการจราจลในรัฐอุตรประเทศซึ่งผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม น่าเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วชาวอินเดียจะลงคะแนนเสียงเลือก นายนเรนทรา โมดิ และพรรค “ภารติยะชนตะ” มากกว่า นายราหุล คานธี และพรรคคองเกรส เพราะดิ อีโคโนมิสต์ ชี้ว่าเมื่อเศรษฐกิจอินเดียเจริญเติบโตขึ้นส่งผลให้พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของชาวอินเดียสะท้อนผลงานทางเศรษฐกิจมากขึ้น นี่ยังไม่นับว่านายนเรนทรา โมดิ เน้นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งให้เจาะฐานเสียงคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เคยมีส่วนร่วมการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงปี 1991 มาก่อน และคนกลุ่มที่ว่าเมื่อนับประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 26 ปีนี้มีจำนวนถึงกึ่งหนึ่งของประชากรอินเดียจำนวน 1.2 พันล้านคน ดิ อีโคโนมิสต์จึงสรุปว่าการเลือกตั้งอินเดียครั้งนี้ คนอินเดียจะเลือกผู้นำคนใหม่ของเขา ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจมากกว่าเหตุผลทางอัตลักษณ์ ที่นายนเรนทรา โมดิ ยังมีปัญหาอยู่

หากผลการเลือกตั้งครั้งใหม่ของอินเดียเป็นเช่นนั้นจริง นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียใต้ อันมีอินเดียเป็นประเทศหลักนั้นวุ่นวายอยู่กับความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณี อินเดีย-ปากีสถาน ซึ่งสะท้อนความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม หรือความขัดแย้งระหว่างศูนย์อำนาจที่กรุงเดลลี และแคว้นทมิฬทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งในกรณีนี้ยังพัวพันไปถึงสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬในประเทศศรีลังกา จนกระทั่งนำไปสู่การลอบสังหารจากมือระเบิดสังหารพลีชีพ ซึ่งเป็นสตรีชาวศรีลังกาสมาชิกของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม ต่ออดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ขณะกำลังตระเวณหาเสียงที่เมืองเจนไน ในแคว้นทมิฬนาดูเมื่อปี 2534

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ดูเสมือนหนึ่งว่า ประวัติศาสตร์อินเดียกำลังย้ายจากการเมืองที่เน้นความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์อันไม่อาจประนีประนอมได้ เข้ามาสู่การเมืองที่มีลักษณะสัมฤทธิผลนิยมและเน้นผลลัพธ์การเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังเป็นเรื่องที่มองโลกในแง่ดีอยู่มากหากจะคิดว่านับแต่นี้ต่อไป การเมืองความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์จะปลาสนาการไปจากสังคมอินเดียอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อเปรียบเทียบการเมืองไทยนับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา ดูเหมือนการเมืองไทยจะหมุนย้ายจากการเมืองที่เคยมีลักษณะการประนีประนอมและเน้นผลลัพธ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กลายมาเป็นการเมืองที่เน้นความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ซึ่งไม่สามารถประนีประนอมได้อีกต่อไป

มันโมฮัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย คนปัจจุบัน

การประกาศ “ปฏิวัติประชาชน” ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะชุมนุมยืดเยื้อขั้นต่ำเป็นเวลา 15 วัน ในจังหวะที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีเอาผิด นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่ก็กรณีที่ ป.ป.ช. จะชี้มูลความผิดต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ในกรณีโครงการรับจำนำข้าว เพื่อนำไปสู่การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยผ่านมาตรา 3 และมาตรา 7 ซึ่งนายสุเทพพยายามอธิบายว่าไม่ใช่ “นายกฯ พระราชทาน” นั้น มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ต่อไปข้างหน้าเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อสำรวจดูแล้วก็ต้องบอกว่ามีข้อสงสัยต่อข้ออ้างของ กปปส. ที่พยายามบอกว่า ต้องการ “ปฏิรูป” ก่อน “เลือกตั้ง” นั้นยังฟังไม่ขึ้น เพราะหาก กปปส. คงเส้นคงวาต่อเหตุผลของตนจริง เหตุใด กปปส. จึงไม่ยอมขัดขวางการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมาด้วย จึงน่าสงสัยว่าเหตุผลของ กปปส. เรื่องการปฏิรูปการเลือกตั้ง เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลปัจจุบันลงเท่านั้น น่าสงสัยว่าความหมายของ “การปฏิรูป” ที่แท้จริงของ กปปส. นอกเหนือจากต้องการรัฐที่มีประสิทธิภาพ (จะเป็นประชาธิปไตยเพียงใดไม่ใช่เรื่องสำคัญ) ก็ยังหมายถึงการธำรงลำดับชั้นอำนาจทางการเมือง “แบบไทย ๆ”เอาไว้ด้วย ทั้งหมดนี้ กปปส. โทษต้นเหตุของปัญหาไปที่ “นักการเมือง” อันมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และ “ระบอบทักษิณ” เป็นสาเหตุของความเลวร้ายทางการเมืองทั้งหมดเป็นสำคัญ

การเมืองที่มีลักษณะการยอมแลกเอาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จากความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ ต่อการหักโค่นเอาชนะทางการเมืองกันนั้น แถมยังมีลักษณะขัดแย้งยืดเยื้อยาวนาน และดูเหมือนว่าจะยังไม่ยุติลงง่าย ๆ (หากนับจากช่วงรัฐประหารเป็นต้นมาก็ยาวนานกว่า 8 ปี เข้าไปแล้วนั้น) ทำให้ผมมองว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ (ซึ่งมักจะยุติในระยะเวลาอันสั้น) หรือความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง (ซึ่งมักได้รับการสนับสนุนทางการเงินและทรัพยากรจากต่างชาติ) แต่ดูเหมือนเมืองไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ แต่เป็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงภายในของสังคมไทยเอง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหลายประเทศในอดีต

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่จำเป็นจะต้องสร้าง “รัฐที่ผุดบังเกิดขึ้นมาใหม่” ให้เป็นรัฐที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย หรือรัฐที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนสากล แต่อย่างใด แต่อาจจะกลายเป็นรัฐที่มีความเข้มแข็งในอัตลักษณ์ของตนเอง ที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากรัฐเสรีประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ลองดูการปาฐกถาของ Eric X. Li นักธุรกิจและนักรัฐศาสตร์ชาวจีน ที่พยายามปกป้องความชอบธรรมของระบอบการปกครองของรัฐบาลจีนที่มีความแตกต่างไปจาก มาตรฐานรัฐบาลของประเทศในโลกตะวันตก ทั้งนี้เขาอาศัยข้ออ้างเรื่อง พหุวัฒนธรรม ของตะวันตกนั่นเองขึ้นมาค้ำยันความชอบธรรมของปักกิ่ง http://www.ted.com/talks/eric_x_li_a_tale_of_two_political_systems

Eric X. Li นักธุรกิจและนักรัฐศาสตร์ชาวจีน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ดูจะสำทับความเห็นในลักษณะเดียวกันนี้อีกครั้ง ในการปาฐกถาของเขาที่เบลเยี่ยม http://www.reuters.com/article/2014/04/02/us-china-politics-xi-idUSBREA3107S20140402

อันที่จริง หากสำรวจย้อนหลังลงไปแล้ว “การฟื้นฟูเมจิ” (Meiji Restoration) ของญี่ปุ่นที่โค่นรัฐบาลบากุฟุของโตกุกาว่าลงไป และเชิดชูจักรพรรดิขึ้นแทนที่ ก็มีลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องกำชัยชนะเด็ดขาดและไม่สามารถประนีประนอมได้เช่นกัน ในการปฏิวัติครั้งดังกล่าวมีลักษณะที่มีมวลชนเข้าร่วมมากกว่า และแตกหักเสียเลือดเนื้อมากกว่าเมื่อเทียบกับการอภิวัฒน์ 2475 ของไทย นอกจากนี้ยังมีปัญญาชนชั้นแนวหน้าสำคัญของญี่ปุ่นหลายคนเป็นแกนนำในการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็น ซาคุมา โชซัง,  คัตสุ ไคชู, โยชิดะ โชอิน, โอคุโบ โทะชิมิ, ไซโก ทากาโมริ, และ ซาคาโมโต เรียวมา เป็นต้น แม้ว่าจะมีเป้าหมายในการทำลายระบอบศักดินาและมีการปฏิรูปที่ดินซึ่งถือเป็นด้านที่ก้าวหน้าแล้ว ญี่ปุ่นยังมีการปฏิรูปทางการทหารและอุตสาหกรรม ซึ่งสองประการหลังนี้นำญี่ปุ่นไปสู่ประเทศที่เป็นจักรวรรดินิยมจนนำไปสู่การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองกับเยอรมนีและอิตาลีในที่สุด ต้องรอจนกว่าญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นสหรัฐอเมริกาที่เคยนำเรือดำมาบังคับเปิดประเทศในอดีตนั่นเอง ที่เข้ามา “จัดระเบียบ” สลายขั้วอำนาจทางการเมืองของญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นนับตั้งแต่การฟื้นฟูเมจิลงนั่นเอง ระบอบการปกครองของญี่ปุ่นจึงค่อยมีลักษณะเป็นเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น

การเมืองไทยจะสามารถชะงักม้าที่ริมผา หันเหจากความแตกหักรุนแรงและย้อนกลับสู่การเจรจาเพื่อนำไปสู่ความสันติและการเมืองที่ประนีประนอมกันได้นั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เหลือจะจินตนาการ ดูท่าว่าความสูญเสียครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนผ่านของสังคมนั้น จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของโลกในอดีตที่ผ่านมา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: