“Indie” อย่างกระแสหลัก อนุรักษ์อย่าง “Liberal”

นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล 6 พ.ย. 2557


ตอนที่1: “อินดี้กระแสหลัก”

ก่อนอื่นผมขอโทษล่วงหน้านะครับ ถ้าการแสดงความคิดเห็นของผมไปกระทบกระทั่งวิถีชีวิตของใครบางคน จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการบอกหรอกครับว่าวิธีการใช้ชีวิตแบบใดถูก แบบใดผิด สิ่งที่ผมเชื่อคือมนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกว่าตัวเองจะใช้ชีวิตอย่างไรที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ถึงแม้จะเป็นการทำตามใคร แต่มันก็เป็นสิทธิที่จะเลือกตามครับ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นของผมจึงเป็นแค่การตั้งข้อสังเกต มากกว่าจะเป็นการชักจูงแกมบังคับให้ใครคิดแบบผม

“อินดี้” (indie) ย่อมาจากคำว่า “independence” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า “ความเป็นอิสระจากอิทธิพลของผู้อื่น”  อินดี้กลายเป็นศิลปะสาขาหนึ่งที่ผมคิดว่าได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ในฐานะเด็กที่เกิดในช่วงปี 1980s ปลาย ซึ่งจริงๆ (ผมถือว่าผมเป็นเด็กยุค 1990s มากกว่า) ผมโตมากับเพลงกระแสหลักเสียมาก เปิดวิทยุคลื่นไหนก็จะเจอแต่เพลงป็อปกระแสหลัก บอยแบนด์อเมริกัน บอยแบนด์อังกฤษ ร้องเพลงเนื้อหารักหวานเลี่ยน เต้นโยกๆ ในชุดขาวเปียกน้ำ ฯลฯ ผมดีใจครับที่ได้อยู่มาจนถึงช่วงที่วงการศิลปะเปิดโอกาสให้ศิลปินอินดี้ได้แสดงความสามารถมากขึ้น ถือเป็นการเปิดทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เสพศิลปะหลากหลายแขนงมากขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นสิ่งดีครับ ในวงการดนตรีไทยสมัยก่อนเอง ส่วนใหญ่ค่ายดนตรีหลักจะมีอำนาจในการทำการตลาดดีกว่า เพลงที่เปิดตามโทรทัศน์ วิทยุ จึงมักมีแต่นักร้องกลุ่มเดิมๆ หน้าเดิมๆ เปิดวนไปวนมา อยู่ในชาร์ท 5-6 สัปดาห์ให้คนฟังเอียนกันไปข้างนึง ตอนนี้การมีสื่อออนไลน์จึงทำให้ผู้บริโภคสามารถหาฟังเพลงของนักร้องมือสมัครเล่นได้มากขึ้น มีโอกาสฟังรูปแบบเพลงที่หลากหลายขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีสำหรับวงการศิลปะที่ให้พื้นที่ “ความเป็นอินดี้” มากขึ้น

แล้วอะไรคือ “อินดี้อย่างกระแสหลัก” ล่ะ?

ไม่ยากครับ วลีนี้เป็นวลีที่กึ่งๆ ขัดแย้งในตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตีความคำว่า “อินดี้” ยังไง ถ้าคุณตีความว่า “อินดี้” หมายถึง รูปแบบของการใส่หมวกสานแบบคุณโน๊ต อุดม เสื้อเชิร์ตสีขาวเรียบๆ บ่งบอกว่าลึกซึ้งในรสนิยมการเลือกเสื้อผ้าแบบ minimalism (ง่ายๆ น้อยๆ แต่ดูดี) การใส่กางเกงเป้ายานๆ หลวมๆ หรือกางเกงเข้ารูปพอดีตัว (มาก) ใส่แว่นกรอบดำหนา (geekๆ nerdๆ) ถ้าเป็นผู้ชายอาจตัดผมทรง undercut (ไถผมด้านข้างออกเหลือเฉพาะผมยาวๆ ข้างบน) บ้างก็มัดจุก เจาะหูด้วยตุ้มหูสีดำเรียบๆ ข้างนึงหรือเจาะรูแบบใหญ่มาก

ถ้าเป็นผู้หญิงอาจไว้ผมสบายๆ ฟูๆ หรืออาจจะย้อมผมแบบ dipped คือการย้อมแบบจุ่มเฉพาะปลายผมด้วยสีแสบๆ หรือย้อมทั้งหัวด้วยสีที่คนปกติไม่ค่อยทำ สะพายกระเป๋าไม่มียี่ห้อ ดื่มกาแฟตามร้านกาแฟชิคๆ น่ารักๆ ถ่ายภาพโดยใส่เอฟเฟคแบบวินเทจ (Vintage Effect) ให้ดูเก่า ดูคลาสสิค ใส่คำประกอบภาพที่ “เรียบง่าย แต่ลึก” นิยมการใช้จักรยานบ่งบอกความรักธรรมชาติ ใส่ใจสภาพแวดล้อม กลับไปสู่วิถีชีวิตง่ายๆ (back to basic) ในเพลย์ลิสต์ (play list) จะมีเพลงจากค่ายนอกกระแส หรือเพลงกระแสหลักที่ถูก cover ด้วยศิลปินนอกกระแสหรือศิลปินสมัครเล่น และอีกส่วนจะเป็นเพลงเก่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ได้รับความนิยม เพื่อไว้เปลี่ยนอารมณ์เวลาบางช่วงหวนนึกถึงวันเก่าๆ (nostalgia) เพื่อให้รู้ว่าเป็นคนมีประวัติศาสตร์ มีความลึกซึ้ง ฯลฯ

อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งของขึ้นนะครับ เพราะผมเองก็มีอะไรหลายๆ อย่างตามที่บอกมานี้ ผมเป็นแฟนตัวยงของศิลปะแนว minimalism ครับ ใส่เสื้อผ้าสีเรียบๆ ใส่แว่นกรอบหนาสีน้ำตาล ไอ้หมวกอย่างที่บอกข้างต้นผมก็มี ถ่ายภาพและแต่งภาพด้วยแอฟเฟควินเทจเกือบทุกรูป ในเพลย์ลิสต์ก็มีแต่เพลง cover เยอะอยู่ครับ เพลงนอกกระแสมีเยอะพอสมควร แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้พอเห็น “ความเป็นกระแสหลัก” ในความเป็นอินดี้มั้ยครับ?

จริงๆ ถ้าให้นั่งทบทวนดีๆ “อินดี้” ไม่ควรมีรูปแบบ ไม่ควรมีลักษณะเด่นชัดลงตัวที่คนจับจุดได้ “อินดี้” คือ “ความเป็นอิสระที่อยู่เหนืออิทธิพลของผู้อื่น” การที่ศิลปะกระแสอินดี้ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงทำให้สิ่งที่อยู่นอกกระแสถูกดึงให้เข้ามาอยู่ในความสนใจมากขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเป็นรูปแบบถูกหล่อหลอมให้มีรูปแบบชัดเจนขึ้น ชัดเจนจนทำตามและเป็นกระแสหลักขึ้นมาได้ โดยส่วนตัวผมมองว่า “อินดี้” จึงสูญเสียความหมายของตัวเองไป สูญเสีย “อิสรภาพที่อยู่เหนืออิทธิพลคนอื่น”  เหลือไว้แต่สัญลักษณ์ เหลือไว้แต่รูปแบบ ที่คนจำนวนหนึ่งทำตามกัน อาจทำจนเกลื่อน จนบางทีเยอะกว่าศิลปะกระแสหลักหลายประเภทเสียอีก ผมเลยเรียกสิ่งนี้ว่า “อินดี้กระแสหลัก” กลายเป็นว่า “อินดี้” ไม่ใช่อิสรภาพครับ มันกลายเป็นกระแสหลักอีกกระแสหนึ่งที่ผู้คนที่เลือกเดินในเส้นทางนี้เชื่อว่า มันเป็นเส้นทางของผู้ที่ปฏิเสธการถูกบังคับด้วยสื่อธุรกิจที่ยัดเยียดศิลปะตลาดๆ ให้กับพวกเขา มันคือเส้นทางที่เชื่อว่าตัวเองอยู่เหนือกระแส นอกกระแส ลึกกว่ากระแสหลัก พวกเขาคิดเองได้ เลือกเองได้ ไม่ต้องตามใคร แต่ท้ายที่สุดมันเป็นเพียงการเดินออกจากกระแสหลักหนึ่ง เพื่อเข้าไปสู่อีกกระแสหลักหนึ่งที่ติดป้ายว่า “นอกกระแส” หรือเปล่า?

ที่อันตรายไปกว่านั้น คือ การเป็น “อินดี้” ทำให้คนหลายคนเชื่อว่าตัวเองมีรสนิยมที่ดีกว่าคนอื่น เหนือกว่าคนอื่น มีสมอง ไม่เหมือนพวก “ติ่งเกาหลีโง่ๆ ที่คอยกรี๊ดบอยแบนด์หล่อศัลยกรรม ไร้สติ ไม่มีรสนิยมในการฟังเพลง วันๆ เอาแต่ดูหน้านักร้อง ดูท่าเต้น เพลงก็ห่วย สื่อก็สนับสนุนอยู่ได้น่ารำคาญ” ซึ่งส่วนมากเราอาจจะเชื่อว่า “คนในกระแส” มักจะตื้นเขิน ตัดสินคนด้วยมาตรฐานตัวเอง มองว่าคนที่ไม่อยู่ในกระแสเหมือนพวกเขา เชย บ้านนอก ล้าหลัง ไร้รสนิยม แต่เอาเข้าจริงๆ ผมเห็น “คนนอกกระแส” หลายคนที่มีมาตรฐานการตัดสินคนไม่ต่างจากคนในกระแสมาบ้าง ซึ่งผมคิดว่าเมื่อ “อินดี้” ได้กลายเป็นกระแสอีกกระแสที่มีรูปแบบชัดเจนจนคนทำตามได้ มันก็ยากที่จะบอกว่า “อินดี้” เป็นอะไรที่อยู่นอกกระแสอย่างแท้จริง ในทางตรงกันข้ามผมเคยเจอ “คนในกระแส” หลายคนที่นิสัยน่ารักและเคารพรสนิยมของคนอื่นนะครับ มันก็เหมารวมไม่ได้หรอกว่าคนในกระแสจะตื้นเขินกันทุกคน

ผมเชื่อว่า “การอยู่นอกกระแส” มันอาจจะเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจริงลำบาก ไม่ว่ายังไงก็ตาม เราคงต้องเลือกที่จะตามกระแสใด กระแสหนึ่งอยู่ดี “อินดี้” คงไม่ใช่อิสระอย่างแท้จริง แต่กลายเป็นสัญลักษณ์ที่คนบางส่วนใช้เพื่อบอกคนอื่นว่า “เรามีอิสระ” “เราแตกต่าง” และคนหลายส่วนใช้สัญลักษณนี้เพื่อดูถูกคนอื่นที่ไม่เหมือนตัวเอง บ่งบอกความเหนือกว่าทางรสนิยม มากกว่าเป็นแค่ “ความชอบทางศิลปะ” ซึ่งไม่ต่างอะไรจาก “คนในกระแส” บางส่วนที่ดูถูกคนตามกระแสไม่ทันว่าไม่มีรสนิยม

ท้ายที่สุด ผมคิดว่าไม่ว่าคุณจะมองว่าตัวเองอยู่ “ใน” หรือ “นอก” กระแส คุณเลือกที่จะ “ตาม” หรือ “ไม่ตาม” กระแส ทั้งหมดมันก็เป็น “อิสรภาพ” ส่วนบุคคลไม่ใช่หรือครับ? ถ้าหากคุณเรียกตัวเองว่า “อินดี้” จริงๆ มองตัวเองว่าเป็นผู้ที่เชิดชูอิสระในการเลือกที่จะเสพศิลป์ ลึกซึ้งพอที่จะมองข้าม “รูปแบบ” และไม่ใส่ใจที่จะแตกต่างและไม่เหมือนใคร แล้วทำไมคุณถึงใส่ใจถ้าหากใครจะไม่เหมือนคุณ? ทำไมถึงให้น้ำหนักของรูปแบบรสนิยมของผู้อื่นถ้ามันไม่ได้สำคัญมากจริงๆ? ทำไมถึงคิดว่าผู้อื่นไม่ควรมีสิทธิที่จะใช้อิสระในการเลือกเสพศิลป์ แม้ศิลปะนั้นมันจะอยู่ใน “กระแสหลัก”? แต่ก็อีกละครับ “อินดี้” มันอาจจะมีหลายความหมาย คนหลายคนอาจจะอินดี้ด้วยหัวใจ คนอีกหลายๆ คนอาจจะอินดี้ด้วยรูปแบบ คนอีกจำนวนมากอาจเป็น “อินดี้กระแสหลัก”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: