คดีดังที่กูเกิลถูกฟ้องฐานไปสแกนหนังสือ กว่า 200 ล้านเล่ม

พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ 6 มี.ค. 2557


 

เรื่องการถ่ายก๊อบปี้หนังสือ ตำราเรียนต่างๆ เป็นเรื่องที่คนไทยชอบทำกันมาก โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา แล้วก็มักจะมีปัญหาเสมอว่าทำได้หรือไม่ ขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ จะถูกจับหรือไม่ องค์กรที่มีหน้าที่คอยตามไล่จับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็กล่าวหาว่าคนไทยชอบละเมิดลิขสิทธิ์ตำราเรียนของต่างประเทศ และเมื่อสหรัฐจับประเทศไทยใส่ไว้ในรายชื่อประเทศที่ต้องเฝ้าจับตา หรือ PWL (Priority Watch List) เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือและสิ่งพิมพ์ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สหรัฐถือเป็นข้อสนับสนุนที่จะจัดไทยไว้ใน PWL ดังกล่าว โดยที่ผู้กล่าวหาไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องการนำมาใช้อย่างเป็นธรรม หรือที่เรียกว่า "Fair Use" ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากในกฎหมายลิขสิทธิ์ ที่เท่ากับให้ความยืดหยุ่นแก่ผู้นำไปใช้ได้บ้าง ไม่ใช่จะเข้าข้างแต่กับเจ้าของลิขสิทธิ์

คดีที่ศาลสหรัฐตัดสินเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี้จึงเป็นคดีที่น่าสนใจ และการได้ติดตามรับทราบน่าเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านอย่างมากจนผู้เขียนอดที่จะนำมาเล่าให้กันฟังไม่ได้ ที่จริงคดีนี้เป็นคดีที่ดังมาก เนื่องจากผู้ที่ตกเป็นจำเลยคือ "กูเกิล" ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี แต่อาจเป็นเพราะการฟ้องร้องใช้เวลากว่า 8 ปี ผู้คนจึงอาจลืมๆ กันไปบ้าง เรื่องของเรื่องก็คือว่ากูเกิล(Google) ไปเอาหนังสือ ตำรับตำรา รวมถึงแมกกาซีน จากห้องสมุดและที่ต่างๆ กว่า 20 ล้านเล่ม มาสแกนแล้วก็ทำบทคัดย่อหนังสือต่างๆ ดังกล่าว ให้ผู้คนที่สนใจสืบค้น (Search) ได้ โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้พิมพ์ และ/หรือผู้แต่งหนังสือเหล่านั้น ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือแม้แต่เสนอให้ค่าตอบแทน

Google ก็เลยถูกถล่มฟ้องทั้งจากนักเขียนผู้พิมพ์ ช่างภาพ และ Graphic Artists ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งฟังๆ ดูคุ้นๆ เพราะชักจะเข้าเค้ากับพฤติกรรมของคนไทย

ความคิดของ Google นี้ เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2004 เมื่อได้ตกลงกับห้องสมุดหลายแห่งเช่นห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดออกซฟอร์ด สแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย มิชิแกน และห้องสมุดนิวยอร์กพับบลิค (New York Public Library) เป็นต้น เพื่อสแกนหนังสือในปัจจุบันและงานที่เลิกพิมพ์ไปแล้วและทำเป็นรูปดิจิตอล พอทำไปได้ปีหนึ่งใน ปี ค.ศ.2005 Google ก็เลยถูกฟ้องดังกล่าวข้างต้นโดยมีการเรียกค่าชดเชย 750 เหรียญสหรัฐต่อหนังสือที่สแกนแต่ละครั้ง ซึ่ง Google เคยประเมินว่าหากต้องทำเช่นนั้นจะตกประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าประเด็นหนึ่งที่ Google ชนะคดีนั้น เนื่องจากว่าไม่ได้เปิดให้เข้าดูหนังสือทั้งหมด 20 ล้านกว่าเล่มทาง Google ได้อย่างเสรี คือถ้าเป็นหนังสือที่ยังมีลิขสิทธิ์อยู่ เมื่อผู้อ่านตรวจค้น (Search) สิ่งที่จะได้ก็คือบทคัดย่อ ซึ่งจะประกอบด้วยประโยคหรือคำที่ต้องการค้นหา หน้าของหนังสือ และรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ ซึ่งคล้ายๆ กับ "Card Catalogue" ยกเว้นว่าจะเป็นหนังสืออายุการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ครบกำหนดแล้ว ซึ่งกรณีนี้ผู้อ่านจะอ่านได้ทั้งหมด หรือแม้แต่ Download ได้ หรือหนังสือที่ยังมีลิขสิทธิ์ แต่ผู้แต่งหรือผู้พิมพ์เป็นหุ้นส่วนกับ Google ในโครงการนี้ผู้อ่านก็สามารถจะซื้อได้

ความเห็นของผู้พิพากษาที่ตัดสินให้ศาลชนะคดีนี้มีประเด็นสำคัญคือ "Fair Use" ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ ซึ่งที่จริงไม่ใช่เฉพาะกฎหมายสหรัฐ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของไทยก็กำหนดไว้ทั้งในมาตรา 32, 33 และ 34 โดยทั้งจากข่าวรอยเตอร์สและ CNN ระบุว่า การคัดย่อย (Snippets) มาจากหนังสือถือเป็น "Fair Use" ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ ทั้งนี้ ผู้พิพากษาได้ให้เหตุผลว่า การสแกน ทำให้นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์และนักวิจัย ตลอดจนสาธารณชน สามารถหาหนังสือได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน Google ก็ไม่ได้นำเนื้อหาสาระในหนังสือทั้งหมดออกไปเผยแพร่ จึงไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธินชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรนอกจากนี้ ยังแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นด้วย (การที่ Google ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือไว้ในบทคัดย่อ)

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้พิพากษามองก็คือการนำหนังสือ หรือ Text  มาทำเป็นดิจิตอลนั้น ถือว่ามีการเปลี่ยนรูปแบบที่เพียงพอ "Transformative" หรือพูดให้ฟังง่ายๆ คือ ทำให้หนังสือดูมีวัตถุประสงค์หรือมีลักษณะ (Character) ใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้ผู้เขียน หรือผู้พิมพ์สามารถขายหนังสือได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่จะทำให้ขายได้ลดลงจนไปกระทบสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ไม่ใช่ว่าท่านผู้อ่านเห็นตรงนี้ก็ไปสแกนหนังสือกันใหญ่ เพราะถือว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบจาก Text มาเป็นดิจิตอลแล้วถือว่า "Transformative" เพราะที่จริงต้องมีอีกหลายๆ ประเด็นมาประกอบกัน ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องบทคัดย่อแถมบทคัดย่อบางส่วนก็ไม่ได้ลงไว้ให้สืบค้นได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาก็ยังมองว่า การกระทำของ Google นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างสำคัญ แน่นอนว่าโจทก์แสดงความผิดหวังต่อคำตัดสิน และแถลงว่าจะต้องอุทธรณ์ต่อไป โดยมองว่า Google ทำการพิมพ์แบบดิจิตอล (Digital Edition) โดยไม่ได้รับอนุญาตกับหนังสือที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองเกือบทั่วโลก และได้กำไรมหาศาลจากการให้สืบค้นซึ่งการกระทำดังกล่าวเกินกว่าขอบเขตของ "Fair Use" อย่างมาก

ที่จริงคดีนี้ได้เคยมีความพยายามจะยุติข้อพิพาทกัน แต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ คงจะต้องตามดูกันต่อไปว่าเมื่อโจทย์อุทธรณ์แล้วศาลจะรับหรือไม่ และถ้ารับจะตัดสินอย่างไร ให้ชนะหรือแพ้หากแพ้อีกก็นับได้ว่าคดีนี้จะสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญในเรื่องการนำหนังสือไปทำเป็นรูปแบบของดิจิตอล และ Fair Use ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับวงการหนังสือบ้านเรา ก็เลยขอกลับมาเขียนเรื่องวิชาการเสียหน่อยหลังจากที่ห่างๆไปพอสมควร

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 5 มีนาคม 2557

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: