การใช้และสถิติคดีมาตรา 112

14 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2522 ครั้ง


ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา"  ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 โดยเพิ่มโทษเป็นโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ไม่เกิน 15 ปี (กำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้ด้วย)

ในประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สเปน จอร์แดน เดนมาร์ก ล้วนมีมาตราที่ระบุให้กษัตริย์อยู่ในสถานะที่ละเมิดหรือกล่าวโทษไม่ได้ แต่ความแตกต่างของกฎหมายของไทยกับประเทศเหล่านั้นส่วนหนึ่งอยู่ที่อัตราโทษและความถี่ในการฟ้องร้องคดี กล่าวคือในขณะที่ ในศตวรรษที่ 21 กฎหมายหมิ่นฯ ของประเทศไทยมีบทลงโทษที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านั้น โดยอัตราโทษที่ต่ำที่สุดของไทย (3 ปี) เท่ากับอัตราโทษที่สูงที่สุดของจอร์แดน และโทษขั้นสูงที่สุดของไทยมากกว่าประเทศส่วนมากในภูมิภาคยุโรปถึงสามเท่า ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสเปนจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี นอร์เวย์ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำและโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี  เนเธอร์แลนด์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และมีโทษปรับ  สวีเดนจำคุกไม่เกิน 6 ปี  ในขณะที่ความถี่ในการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯในประเทศเยอรมนีเคยมีมากเป็นอันดับหนึ่งในศตวรรษที่ 19 - 20  หรือสเปนและญี่ปุ่นเมื่อ 70-80 ปีที่แล้วมีการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯจำนวนมากเมื่อเทียบกับไทยในสมัยเดียวกัน แต่จำนวนคดีหมิ่นฯ ในปัจจุบันของไทยกลับแซงหน้าเป็นอันดับที่หนึ่ง

ตัวเลขผู้ที่ถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในระยะเวลาที่ผ่านมา  ในระหว่างปี 2535 – 2547 ตัวเลขของคดีหมิ่นฯ ที่มีการฟ้องร้องกันในศาลเฉลี่ยแล้วมีน้อยกว่า 10 คดี ดังนั้นผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวจึงยังจำกัดอยู่ในวงแคบ แต่ระหว่างปี 2548 – 2552 ตัวเลขของคดีหมิ่นฯ มีมากถึง 547 คดี ที่ถูกนำไปพิจารณาคดีทั้งในระดับศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เฉลี่ยแล้วปีละ 109 คดี และมีที่ศาลมีคำตัดสินว่าเป็นการหมิ่นฯ แล้วจำนวน 247 คดี  ในปี 2552 เพียงปีเดียวมีการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯในระดับศาลชั้นต้นมากถึง 164 คดี

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาหมิ่นฯ ควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 15 และ 16  จากสถิติการระงับการเผยแพร่เนื้อหาหรือการปิดเว็บไซต์ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ระหว่างปี 2550 – 2556 ผ่านคำสั่งศาลจำนวน 380 ฉบับ จำนวนทั้งสิ้น 107,830 ยูอาร์แอล โดยเนื้อหาและภาพดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท คือเนื้อหาที่ถูกปิดกั้นเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีคำสั่งศาล จำนวน 267 ฉบับ ให้ระงับการเข้าถึง 82,418 ยูอาร์แอล หรือคิดเป็นร้อยละ 76.4 ของจำนวนยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นทั้งหมด กฎหมายหมิ่นฯ ถูกนำมาใช้มากในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง

โครงการมาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯ ชี้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาหลายประการ ได้แก่

1.การตีความ คำว่า "ดูหมิ่น" เป็นคำที่ไม่มีนิยามชัดเจนในกฎหมาย จึงขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายที่มีโทษอาญาที่ควรจะตีความให้แคบ ส่งผลให้กฎหมายมาตรานี้ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ประชาชนไม่สามารถทราบได้เลยว่า การกระทำใดของตนที่ทำไปแล้วจะเป็นความผิดบ้าง

2. อัตราโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุกขั้นต่ำ 3-15 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สิทธิและเสรีภาพของบุคคลมีความสำคัญ

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ไม่มีข้อยกเว้นความผิด กล่าวคือ ผู้ที่แม้แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลโดยสุจริตใจ ไม่สามารถอ้างเหตุใดๆ เพื่อไม่ต้องรับผิดได้ อีกทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้กล่าววิพากษ์วิจารณ์พิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนกล่าวนั้นเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเพื่อขอให้ยกเว้นโทษ

4. กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้ใครก็ได้กล่าวหาใครก็ได้ว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปที่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่จะดำเนินการฟ้องร้องได้ จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่าย

5. แนวทางการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นมาตรฐานและไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาออกหมายจับแทนหมายเรียก การห้ามประกันตัว ซึ่งเป็นไปตามแรงกดดันทางสังคม ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

6. กระบวนการพิจารณาคดีทางกฎหมายมักเป็นไปโดยลับและรวบรัดขัดต่อหลักกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยคดีดังกล่าวถูกมองว่าส่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งสื่อมวลชนไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาของข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยละเอียดได้ จึงปิดโอกาสที่ให้สังคมมีส่วนร่วมในการวินิจฉัย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิก เปิดผลงาน 'ศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายพิทักษ์สถาบัน' กมธ.วิสามัญ วุฒิสภา หลังขอต่ออายุ 180 วัน

******************************

ที่มา

โครงการมาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯ

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม (iLaw)

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.bangkokbiznews.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: