ดีเอสไอคืนกระดูกบรรพบุรุษชาวราไวย์สอบคดีถูกนายทุนฟ้องบุกรุก

5 ก.ค. 2557


เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ที่ชุมชนราไวย์  จังหวัดภูเก็ต พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พร้อมด้วยคณะ ได้นำกระดูกชาวเลที่ขุดพบในชุมชนหาดราไวย์ส่งมอบคืนให้ชาวบ้าน หลังจากนำไปพิสูจน์ดีเอ็นเอจนเสร็จสิ้นกระบวนการ  ซึ่งได้มีการทำพิธีกรรมตามความเชื่อท้องถิ่นต้อนรับ โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนมูลนิธิชุมชนไท รวมถึงชาวบ้านกว่า 200 คนเข้าร่วม

นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงานว่า ปัญหาชาวเลในจังหวัดภูเก็ตมีอย่างน้อย 6 เรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญคือเกี่ยวกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ขณะนี้มีชุมชนชาวเลมีปัญหา 5 ชุมชน แต่ที่มีปัญหาคล้ายชุมชนราไวย์คือที่แหลมตุ๊กแก ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของชาวเลคือเรื่องอาชีพเพราะคนเหล่านี้อยู่กับกุ้งหอยปูปลามาทั้งชีวิต แต่ขณะนี้ถูกแย่งชิงทั้งโดยรัฐและเอกชน นั่นคือการประกาศพื้นที่คุ้มครองทั้งหลายซึ่งได้มีการจับกุมชาวบ้านที่ออกไปทำประมงอยู่บ่อยครั้ง โดยมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวว่า ตนได้รับมอบงานในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอตั้งแต่เมื่อวานนี้ เปลี่ยนจากตำรวจมาเป็นข้าราชการพลเรือนเหมือนกับข้าราชการทั่วไป และการเดินทางมาครั้งนี้ไม่ได้มาฉวยโอกาส แต่เป็นงานในหน้าที่ของกรมสืบสวนคดีพิเศษ ซึ่งชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังกระทรวงยุติธรรมว่า อยู่กันดีๆ ก็ถูกฟ้องขับไล่ ซึ่งหลังจากดีเอสไอได้เข้ามาสืบสวนสอบสวน และได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศิลปากร มูลนิธิชุมชนไท ที่สำคัญคือคือความร่วมมือจากชาวบ้าน และนำไปสู่การได้ข้อมูลที่จะนำไปเป็นหลักฐานที่ใช้ต่อสู้ในศาล

          “เราทราบดีว่าชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกฎหมายและไม่เคยคิดไปมีปัญหากับใคร แต่เมื่อมีคนมาใช้สิทธิหาว่าเขาอยู่ไม่ถูกต้องด้วยการฟ้องร้อง เมื่อเราเข้ามาและพบว่าชาวเลอยู่กันมานานก่อนที่จะมีโฉนด โดยต้องใช้ความรู้ในการสืบสวนสอบสวนจนได้พยานหลักฐานยืนยันทางวิชาการว่าเขาอยู่กันมานาน โดยอาศัยกระดูกเป็นตัวเชื่อมโยงกับคนที่ยังอยู่” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าว และว่าค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ดีเอ็นเอครั้งนี้เป็นเงินนับล้านบาทจึงถือว่ากระทรวงยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

ด้านนายหงิม ดำรงเกษตร ผู้แทนชาวเลในชุมชนราไวย์กล่าวว่า รู้สึกชื่นใจที่เห็นอธิบดีดีเอสไอลงมาดูคดีนี้ด้วยตัวเอง ทำให้เชื่อมั่นว่ามีคนเช้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาเมื่อชาวบ้านถูกฟ้องต่างก็เดือดร้อนกันเป็นอย่างมาก บางคนถูกตัดสินให้แพ้คดีในศาลชั้นต้นไปแล้ว ดังนั้น การที่ผลพิสูจน์ดีเอ็นเอออกมาในครั้งนี้ได้สร้างความหวังให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

          “พวกเราอยู่ที่นี่กันมานานนับร้อยปี แต่เขาเอาที่ดินไปออกโฉนดเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีใครติดต่อหรือประสานงานมาเลย เรามารู้อีกทีว่าที่ดินไปเป็นของคนอื่นก็ต่อเมื่อมีหมายศาลมาถึง ทำให้พวกเราแทบทำอะไรไม่ถูก” นายหงิม กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังจาก พล.ต.อ.ชัชวาลย์ได้ส่งมอบกระดูกให้กับโต๊ะหมอ ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเลแล้ว ได้มีการทำพิธีกรรมเชิญผีบรรพบุรุษให้กลับบ้าน และได้มีการผูกข้อมือให้กับ พล.ต.อ.ชัชวาลย์และผู้ที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ชาวบ้านยังร่วมกันแสดงร็องแง็งด้วย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้กล่าวถึงการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอกระดูกบรรพบุรุษชาวเลที่ขุดพบบริเวณชุมชนชาวเลที่หาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำไปเป็นหลักฐานยืนยันความยาวนานของชุมชนชาวเลหาดราไวย์ว่า เนื่องจากกรณีพิพาทระหว่างชาวเลกับนายทุนผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่สามารถหาหลักฐานอย่างอื่นหรือวัถตุพยานที่เชื่อถือได้มายืนยันการดำรงอยู่ของชุมชน จึงจำเป็นต้องอาศัยหลักฐานการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ เบี้องต้นในทางนิติวิทยาศาสตร์ พบว่า ชิ้นส่วนกระดูกที่พบมีจำนวน 2 ศพ  เมื่อนำดีเอ็นเอจากกระดูกที่พบไปเปรียบเทียบกับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ผลออกมาว่ามีดีเอ็นเอที่สัมพันธ์กับคนเฒ่าคนแก่กลุ่มหนึ่งในชุมชน ซึ่งย่อมมีความสัมพันธ์กับลูกหลานชาวเลอีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนการพิสูจน์หลักฐานทางโบราณคดี พบว่า ชิ้นส่วนกระดูกมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี นอกจากนี้ ได้พบหลักฐานเครื่องเซ่นไว้ตามพิธีกรรมของชาวเล เช่น เปลือกหอยสวยงาม ซี่งปกติไม่ได้พบหอยเหล่านี้ในบริเวณนี้ ทั้งสอดคล้องกับพิธีกรรมฝังศพของชาวเลที่มักนำเปลือกหอยฝังรวมกับศพ ด้วยความเชื่อว่าดวงวิญาณของบรรพบุรุษชาวเลมีความผูกพันธ์หรือมีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับท้องทะเล โดยหลักฐานสำคัญที่ดีเอสไอค้นพบขณะนี้มีอย่างน้อย 4 ชิ้น มีทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคล และผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ซึ่งบ่งชี้ว่าชาวเลได้อาศัยอยู่ในบริเวณหาดราไวย์มานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า ในเรื่องการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ทางผู้ที่ฟ้องชาวบ้านได้อ้างหลักฐานเอกสารสิทธิ์ที่ดิน สค.1 ที่ออกในปี พ.ศ.2498 และต่อมามีการนำไปออกโฉนดในปี พ.ศ.2508 เพราะฉะนั้นต้องหาหลักฐานและพิสูจน์ให้ได้ว่าชาวเลได้อาศัยอยู่ที่บริเวณหาดราไวย์ก่อนปี 2498 ซึ่งในอดีตชาวบ้านมักจะใช้คำบอกเล่าหรือคำพูดของคนเฒ่าคนแก่ในการยืนยันการมีอยู่ของชุมชน แต่นั่นไม่ได้เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ดีเอสไอจึงมองว่าหลักฐานใหม่ที่พบก็น่าจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ชาวบ้านสามารถต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรม

          “แม้ขั้นตอนการพิจารณาจะขึ้นอยู่ที่มุมมองของผู้พิพากษา แต่เมื่อเรามองไปที่หลักฐานก็น่าจะวิเคราะห์ได้ ถ้าคุณเป็นเจ้าของที่ดิน ทำไมถึงปล่อยให้ชาวเลเอาศพมาฝังในที่ของคุณ แค่นี้การเจอศพก็เป็นพยานหลักฐานสำคัญแล้ว และประกอบกับผลการตรวจดีเอ็นเอของกระดูกที่พบว่าเป็นศพของชาวเลและเป็นบรรพบุรุษของคนที่อาศัพยอยู่ในปัจจุบันแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ศาลจะวินิจฉัย” พ.ต.ท.ประวุธ กล่าว

ขณะที่นายสนิท แซ่ซัว ชาวเลที่หาดราไวย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านมักขุดเจอชิ้นส่วนกระดูกบรรพบุรุษในบริเวณชุมชนอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เคยคิดว่ากระดูกที่พบจะเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันการดำรงอยู่ของชุมชนชาวเล จึงมักจะนำกระดูกที่พบไปทำพิธีลอยทะเลหรือย้ายไปฝังในพื้นที่ว่างใกล้บ้าน ทำให้ไม่มีใครเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้ แต่เมื่อดีเอสไอต้องการนำกระดูกไปตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ จึงถามกับชาวบ้านว่ามั่นใจแค่ไหนว่าขุดลงไปจะพบชิ้นส่วนกระดูก เพราะต้องของบประมาณและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาทำการขุดสำรวจ เมื่อได้ปรึกษากับผู้เฒ่าผู้แก่และโต๊ะหมอ ทุกคนมั่นใจว่า ถ้าขุดลงไปในผืนดินของชุมชนต้องพบชิ้นส่วนกระดูกบรรพบุรุษอย่างแน่นอน เพราะตามความเชื่อของชาวเล เมื่อมีคนตายก็จะนำศพฝังอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งเมื่อขุดลงไปก็พบชิ้นส่วนกระดูกประมาณ 3 ศพ และได้มอบให้กับดีเอสไอนำไปดำเนินการต่อ

นายสนิทกล่าวถึงความคืบหน้าคดีว่า ชาวบ้านถูกฟ้องเพิ่มอีกกว่า 30 ราย รวมทั้งสิ้นถูกฟ้องข้อหาละเมิดบุกรุกทั้งหมด 101 ราย โดยคดีอยู่ในศาลชั้นต้น 92 ราย อยู่ในศาลอุธรณ์ 14 ราย และอีก 2 รายแพ้คดีในชั้นศาลอุธรณ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบผลการตรวจอีเอ็นเออย่างละเอียด จึงไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อคดีที่ชาวบ้านถูกนายทุนผู้อ้างสิทธิ์ในที่ดินฟ้อง แต่ที่ผ่านมาเราก็ทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่า ชาวเลอาศัยอยู่ที่หาดราไวย์มานานนับร้อยปี มีวัฒนธรรม มีภาษาเป็นของตัวเอง และมีชีวิตอยู่กับทะเลอย่างเรียบง่าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: