‘สังคมลอบสังหาร’ การเมือง อำนาจ ความตาย

ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 4 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 7752 ครั้ง

‘การลอบสังหาร’ (Assassination) เพื่อหวังผลทางการเมืองมีให้เห็นควบคู่กับสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย โดยสาเหตุหลักของการลอบสังหารทางการเมืองก็คือการแย่งชิงให้ได้มาซึ่งอำนาจจากความตายของฝ่ายกุมอำนาจเดิม เป็นการลดทอนกำลังของฝ่ายมีอำนาจนั้นลงเสีย เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายใหม่ได้ก้าวขึ้นไปมีอำนาจแทน หรือใช้เป็นการสกัดการก้าวสู่อำนาจและการลุกฮือของผู้ถูกปกครอง รวมเป็นเครื่องมือโต้ตอบของฝ่ายที่ถูกปกครองและถูกกระทำโดยอำนาจรัฐด้วย รวมทั้งใช้ปราบ-ปรามและข่มขู่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือขัดผลประโยชน์

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือกรณีการลอบสังหารพิธาน ทองพนัง อายุ 45 ปี แกนนำต่อต้านเหมืองแร่ในพื้นที่ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยอาวุธปืนลูกซอง ซึ่งนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนที่ขับเคี่ยวกับทุนมักถูกกระทำเสมอในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของภาคประชาชน

แต่การลอบสังหารก็มีทั้งวิธีการที่เรียบง่ายไปจนถึงสลับซับซ้อนและรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายให้ถึงแก่ความตายซึ่งหน้าอย่างกรณีพิธาน ไปจนถึงการลักพาตัวไปสังหารหรือการอุ้ม การซุ่มยิง การวางระเบิด ใช้ระเบิดเวลา ใช้ระเบิดพลีชีพ วางระเบิดรถยนต์ วางระเบิดเครื่องบิน ซึ่งนอกจะหวังผลเอาชีวิตนักการเมืองหรือตัวแทนกลุ่มการเมืองต่างๆ แล้ว การลอบสังหารยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวให้กับคนหมู่มากเพื่อหวังผลในการ ‘ควบคุม’

โดยเฉพาะสังคมปิด สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากกฎระเบียบอันเข้มงวดของฝ่ายปกครองยังไม่สามารถปกครองประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีการต่อต้านลุกฮือ การลอบสังหารก็มักจะถูกนำมาใช้กับประชาชนผู้เห็นต่างอยู่เนืองๆ

นอกจากนี้ สังคมที่มีการปะทะกันระหว่างความเห็นต่างหรือสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุด ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความไม่แน่นอน ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน การลอบสังหารก็มักจะถูกนำมาเป็นอาวุธของฝ่ายตนในการตอบโต้หรือสร้างสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องการหวังผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งสิ้น

ความรุนแรงโดยรัฐ-เผด็จการ

รัฐเองใช้ความรุนแรงในการปกครองประชาชนมาทุกยุคทุกสมัย ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่โดยเฉพาะรัฐที่เป็นเผด็จการ รวมทั้งอิทธิพลจากการส่งออกแนวความคิดต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกาในยุคสงคามเย็น การลอบสังหารเป็นกลวิธีหนึ่งที่รัฐมักใช้กระทำกับผู้ฝักใฝ่ฝ่ายซ้ายในแต่ละภูมิภาคของโลก

อย่างในอดีตก็มีตัวอย่างมากมาย เช่น กรณีประเทศอาร์เจนติน่าระหว่างช่วงปี 2519-2525 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร การทำสงครามสกปรก (Dirty War) กับประชาชนโดยรัฐ มีการลอบสังหารประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ประมาณการกันว่ามีประชาชนเสียชีวิตกว่า 30,000 คน

ในกรณีอินโดนีเซีย เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดระหว่างยุคสงครามเย็นที่เริ่มจากนายพล 6 คนถูกลอบสังหาร มีการโหมกระพือข่าวว่าเป็นฝีมือของคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะทำรัฐประหารยึดอำนาจ ได้ปูทางไปสู่การล่าจับกุมและลอบสังหารประชาชนอย่างกว้างขวางด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ มีการประเมินตัวเลขการตายของคนอินโดนีเซียไว้ประมาณ 5 แสนถึง 2 ล้านคน 

และแม้ในยุคปัจจุบันที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นวาระที่ชาติต่างๆ หยิบยกขึ้นมาใส่ใจมากขึ้น แต่ก็ยังมีข่าวคราวว่าผู้มีอำนาจรัฐทั้งในระดับชาติหรือท้องถิ่นก็ยังใช้วิธีลอบสังหารกับประชาชนของตนเอง เช่น การสังหารหมู่ชาวฟิลิปปินส์  57 ราย (เป็นนักข่าว 32 ราย) เมื่อปี 2552 กรณีการอุ้มฆ่าหมู่นักศึกษาเม็กซิโก 43 ราย ในปี 2557 นี้เอง ซึ่งทั้งสองกรณีมีการตั้งข้อสงสัยต่ออำนาจรัฐท้องถิ่นว่าเป็นผู้บงการ เป็นต้น

สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ก็เคยเป็นเหยื่อของการลอบสังหาร ภาพจาก www.oknation.net

การลอบสังหารโดยกลุ่มอุดมการณ์หัวรุนแรง

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการลอบสังหารนอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ผู้ปกครองใช้ในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามแล้ว ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาพบว่าการลอบสังหารยังถูกนำไปใช้โดยฝ่ายต่อต้านรัฐ เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิอนาธิปไตย เป็นต้น เพื่อตอบโต้รัฐบาลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกับตน รวมทั้งใช้เป็นอาวุธตอบโต้ความรุนแรงจากรัฐตามแบบแนวทางตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ตัวอย่างเช่น ในอิตาลี ‘กองพลน้อยแดง’ (Red Brigades) เป็นกลุ่มนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแยกประเทศอิตาลีออกจากการเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตก ก่อตั้งเมื่อปี 2513 ได้ปฏิบัติการสะเทือนขวัญครั้งสำคัญคือการลักพาตัวอัลโด โมโร อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลีไปสังหารเมื่อปี 2521 ส่วนในเยอรมัน ‘กองกำลังแดง’ (Red Army Faction: RAF) หรือ ‘Baader-Meinhof’ ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายสายที่เน้นความรุนแรง ก็เคยลอบสังการนายเจอเกน ปอนโต ประธานธนาคาร Dresdener Bank ของเยอรมัน เมื่อปี 2520

กลุ่มอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่มีชื่อเสียงอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยใช้วิธีการลอบสังหารคือ ‘กองทัพกู้ชาติไอร์แลนด์’ (Irish Republican Army: IRA) ที่เคยปฏิบัติการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2527 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งช่วงหลังกลุ่มอุดมการณ์ที่ใช้วิธีการรุนแรงเหล่านี้มักจะยุบตัวไป หรือประกาศต่อสู้ด้วยวิธีการทางการเมืองแทนความรุนแรง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสังคมปฎิเสธและรังเกียจความรุนแรงเหล่านั้น

แต่การลอบสังหารโดยกลุ่มอุดมการณ์ยังไม่ได้หายไปเลยทีเดียวในยุคนี้ เพราะปัจจุบันการลอบสังหารยังถูกนำมาเป็นยุทธวิธีสำคัญของ ‘การก่อการร้าย’ ในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มอุดมการณ์หัวรุนแรงที่ยังคงใช้วิธีการลอบสังหารและการก่อการร้ายอยู่ก็คือกลุ่มคลั่งศาสนาสุดโต่ง เช่น กลุ่มอัลกออิดะฮ์ เป็นต้น

การลอบสังหารในการเมืองไทยสมัยใหม่

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการลอบสังหารเพื่อหวังผลทางการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ เช่น กรณีการลอบสังหารอดีตรัฐมนตรี 4 คน ในสายของนายปรีดี พนมยงค์ ได้แก่ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง เมื่อเดือนมีนาคม 2492 การลอบสังหารนายเตียง ศิริขันธ์ ในสมัยรัฐบาลคณะรัฐประหาร เมื่อเดือนธันวาคม 2495 และกรณีการทำให้หายตัวไปอย่างการอุ้มฆ่านายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้นำและปัญญาชนของชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2498 เป็นต้น

จนมาถึงช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานในระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงก่อน 6 ตุลาคม 2519 นั้น ก็มีการลอบสังหารผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษาหลายสิบคน อาทิ นายอินถา ศรีบุญเรือง ปัญญาชนชาวนาจากภาคเหนือ รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ถูกสังหารในเดือนกรกฎาคม 2517 ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ด็อกเตอร์ฝ่ายซ้ายจบนอกและเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยม ถูกลอบสังหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 และเหตุการณ์ที่ปิดฉากการเคลื่อนไหวของประชาชนในเมืองยุคนั้นก็คือการสังหารหมู่ในมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม 2519

"ประชาชนมีความสามารถในการเลี่ยงความรุนแรงด้วยการเลือกตั้ง

โดยมีตัวอย่างประเทศที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ซึ่งสุดท้ายประเทศเหล่านี้

ต้องมาจบด้วยการเลือกตั้งไม่มีประชาธิปไตยที่ใดในโลกที่จะปฏิเสธการเลือกตั้ง"

พอก้าวสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจนถึงก่อนยุควิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 2520-2540 สังคมไทยได้โฟกัสไปที่ความรุนแรงของ ‘กลุ่มผู้มีอิทธิพล’ การห้ำหั่นกันของเจ้าพ่อทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองของภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกที่มีการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ ได้เข้ามาแทนที่ภาพข่าวความรุนแรงจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง โดยในยุคนี้ข่าวคราวการลอบสังหารคนดังๆ ก็มี เช่น

การลอบสังหาร เสี่ยจิว หรือ นายจุมพล สุขภารังษี ผู้มีอิทธิพลในภาคตะวันออก ถูกถล่มด้วยอาวุธสงครามเมื่อเดือนมิถุนายน 2524 การลอบสังหาร เต็งโก้ สะพานเหลือง อดีตผู้มีอิทธิพลจากกรุงเทพ ก่อนย้ายฐานไปยังจังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนมิถุนายน 2526 การลอบสังหาร เสี่ยฮวด หรือ นายพิพัฒน์ โรจน์วานิชชากร ผู้มีอิทธิพลในภาคตะวันออก เมื่อเดือนเมษายน 2532 กรณีของแคล้ว ธนิกุล ผู้มีอิทธิพลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าพ่อนครบาล’ ถูกถล่มด้วยอาวุธสงครามเมื่อเมษายน 2534  ในยุคที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจและมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล การลอบสังหาร ชัยขาว หรือ นายสุชัย ธนาวรรณ ผู้มีอิทธิพลในภาคตะวันออก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2535 การลอบสังหาร เสี่ยเก๊า หรือ นายกำพล คุปตวานิชเจริญ ผู้มีอิทธพลในภาคตะวันออก ซึ่งคนสนิทของ ‘กำนันเป๊าะ’ สมชาย คุณปลื้ม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2536 และการลอบสังหารแดง โคกปีบ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ภาคตะวันออก เมื่อเดือนกันยายน 2539 เป็นต้น

และหลังจากภาพความรุนแรงของการปะทะกันทางอุดมการณ์และความรุนแรงในการช่วงชิงผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลจางหายไป สังคมก็กลับมาให้ความสนใจกลุ่มคนกลุ่มใหม่นั่นก็คือ นักการเมืองท้องถิ่น

พระสุพจน์ สุวโจ ภาคประชาชนที่เป็นเหยื่อการลอบสังหาร ภาพจาก www.dailynews.co.th

มายาคติของสื่อ กับความรุนแรงในการลอบสังหาร

‘นักการเมืองท้องถิ่น’ กลายเป็นตัวละครใหม่ที่สื่อชี้นำให้สังคมสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความรุนแรงกับกลุ่มคนเหล่านี้ โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ในช่วงที่การเมืองท้องถิ่นมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงระหว่างปี 2543 จนถึงปี 2552 มีคดีลอบสังหารเกิดขึ้น 459 ครั้ง มุ่งสังหารนักการเมืองระดับประเทศ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งตำแหน่งปลัดต่างๆ รวม 481 ราย โดยจาก 481 รายนี้ต้องจบชีวิตลง 362 ราย หรือร้อยละ 75.3 มีผู้รอดชีวิตแต่บาดเจ็บสาหัส 101 ราย หรือร้อยละ 21 และมีผู้รอดชีวิตที่ปลอดภัยเพียง 18 ราย หรือร้อยละ 3.7 เท่านั้น ส่วนตำแหน่งที่ตกเป็นเป้าหมายมากที่สุดอันดับแรก คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 206 ราย หรือร้อยละ 42.8 โดยจังหวัดที่มีการลอบสังหารนักการเมืองมากที่สุด 3 อันดับ คือ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 34 ราย จังหวัดปัตตานี จำนวน 31 ราย และ จังหวัดพัทลุง จำนวน 30 ราย

ประเด็นพิจารณาที่น่าสนใจสำหรับเรื่องลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นคือ การโหมกระพือข่าวเรื่องการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นแทนภาพข่าวความรุนแรงที่จางหายไปจากยุคยุคหลังการปะทะกันทางอุดมการณ์ (2475-ยุค 2520) และยุคผู้มีอิทธิพลในสังคมไทย (ยุค 2520-2540)

ซึ่งจากงานวิจัย การลอบสังหาร ในการเมืองท้องถิ่นไทย: บทสำรวจ 'ตัวเลข' ขั้นต้นในรอบทศวรรษ (พ.ศ.2543-พ.ศ.2552) โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ระบุว่า ผลสำรวจสถิติการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นนับว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เมื่อคิดแล้วยังไม่ถึงร้อยละ 1 เมื่อนำไปเทียบเคียงกับจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมดทุกประเภทกับค่าเฉลี่ยของคดีฆ่าคนตายที่เกิดขึ้นแต่ละปี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสื่อสารมวลชนมีการนำเสนอเป็นข่าวใหญ่เสมอ จึงทำให้การรับรู้ของประชาชนโดยทั่วไปออกมาสวนทางกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

รวมทั้งการคาดการณ์หาสาเหตุเบื้องหลังการกระทำจริงๆ แล้ว ไม่ใช่มาจากความขัดแย้งเรื่องการเมืองในเชิงอำนาจ อย่างที่เข้าใจมาตลอด แต่การลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นกลับมีความหลายหลากและซับซ้อนกว่านั้น ทั้งสืบเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์หรือไม่ก็เป็นเรื่องส่วนตัวต่างๆ นานา หลายกรณีก็ผสมปนเปกันจนยากชี้ชัดให้เด็ดขาดลงไปได้ว่าเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองล้วนๆ

สังคมเปลี่ยนผ่าน แนวโน้มมีความรุนแรง ท้ายสุด การเลือกตั้ง คือคำตอบ

ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ทำวิจัยเรื่อง 'การลอบสังหาร' ในการเมืองท้องถิ่นไทย: บทสำรวจ 'ตัวเลข' ขั้นต้นในรอบทศวรรษ (พ.ศ.2543-พ.ศ.2552) และ การลอบสังหาร ในประวัติศาสตร์การเมืองโลก:สู่ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วย สาเหตุ ของการลอบสังหารทางการเมือง ได้ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ ต่อคำถามที่ว่า ปัจจัยอะไรจะทำให้ไทยเข้าสู่สังคมลอบสังหารทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นแกนนำทางการเมืองและนักการเมืองระดับชาติอีกครั้ง จากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาสังคมนั้นต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง ณัฐกรมองว่า ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นในสังคมที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะไปทิศทางไหน ความรุนแรงจะมีมากตามมา รวมทั้งความขัดแย้งที่ห่างจากศูนย์กลางการใช้อำนาจรัฐ เช่น ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น

"การลอบสังหารจะเยอะในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน สังคมที่ยังไม่รู้ว่าจะก้าวไปสู่อะไรกันแน่ มันไม่นิ่ง ความรุนแรงมันจะเยอะ รวมทั้งพวกไกลปืนเที่ยงแบบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำนาจรัฐคุมไปไม่ถึง ความรุนแรงก็จะเยอะ" ณัฐกรระบุ

ส่วนการเมืองในระดับท้องถิ่น ณัฐกรระบุว่าในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้กลับพบว่าความรุนแรงมีระดับลดลง เนื่องจากมีกลไกควบคุมและตรวจสอบการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมากขึ้น

"ความรุนแรงลดลง ช่วง 4 -5 ปีนี้ เพราะกลไกอื่นมีมากขึ้น เลือกตั้งแพ้ก็ไปฟ้อง กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) คือเดิมหนทางพวกนี้มันไม่มี อันนี้เราพูดระดับท้องถิ่น" ณัฐกรกล่าว

เมื่อถามว่าโอกาสของกลุ่มการเมืองไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองหรือกลุ่มเสื้อแดงจะใช้การลอบสังหารเป็นอาวุธทางการเมืองได้หรือไม่ ณัฐกรระบุว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะหลังการรัฐประหารครั้งนี้จะเห็นว่ากลุ่มการเมืองต่างๆ ถูกควบคุมและหลบหนี ไม่มีการตอบโต้ด้วยความรุนแรงใดๆ หากจะมีความรุนแรงก็น่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีอาวุธอยู่แล้วมากกว่า

ทั้งนี้ณัฐกรได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการเลือกตั้ง โดยเคยระบุไว้แล้วตั้งแต่ช่วงการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตั้งแต่ต้นปี 2557 ที่ผ่านมาว่า ประชาชนมีความสามารถในการเลี่ยงความรุนแรงด้วยการเลือกตั้ง โดยมีตัวอย่างประเทศที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง มีการใช้การลอบสังหารฝ่ายตรงข้าม เกิดการล้มตายเป็นจำนวนมาก เช่น เกาหลีใต้ รวันดา ไอร์แลนด์เหนือ โบลีเวีย ฯลฯ ซึ่งสุดท้ายประเทศเหล่านี้ต้องมาจบด้วยการเลือกตั้ง ไม่มีประชาธิปไตยที่ใดในโลกที่จะปฏิเสธการเลือกตั้ง

"ถ้าเชื่อว่าคนเขามีความสามารถในการเลือก เขาจะรู้ว่าจะเลือกแบบใดให้หนีจากความรุนแรง ให้มันเป็นไปตามระบบ" ณัฐกรกล่าวไว้ในระหว่างที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ก่อนการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

อ่าน 'จับตา: สังคมไทย สังคมลอบสังหาร?'

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5160

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: