สะพานไทย-ลาวแห่งที่4 นักท่องเที่ยวเชียงของหาย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 4 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3021 ครั้ง

นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ซบเซา ภายหลังจากที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เปิดใช้ว่า สะพานแห่งใหม่มีทั้งด้านดีและด้านลบ โดยภาพรวมข้อดีของการเปิดสะพานมาประมาณ 2 เดือน คือ การขนส่งทางบกเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศเร็วขึ้น ภาคการขนส่งทางบกสามารถลดต้นทุน ส่วนด้านลบ ก็คือ เมื่อการขนส่งทางบกง่าย เร็ว สะดวกหมายความว่านักท่องเที่ยวที่สามารถเอารถข้ามมาได้ เช่น กลุ่มจีน ก็ใช้รถส่วนตัวเข้ามาเฉลี่ยตอนนี้ประมาณเดือนละ 2,000 คน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนพบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนนั้นนำรถมาใช้เองและแวะมาซื้อของร้านเล็ก ๆ บ้าง แต่ไม่มีการใช้จ่ายในประเทศไทย ทั้งเรื่องที่พัก เรือ ทำให้ภาคท่องเที่ยวกระทบมากที่สุด

              “เดิมทีฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น หรือไทยที่เป็นพวกแบคแพค จะใช้เวลาในการแวะพักที่เชียงของประมาณวันละ 250 คน ตอนนี้เหลือราว 100 คน โดยกลุ่มแบคแพคจะใช้เวลาเดินเที่ยว แวะพักแล้วใช้บริการรถ เรือในท้องถิ่นไปส่งที่ท่าเรือเก่า ซึ่งตอนนี้ไม่เปิดบริการสำหรับผู้ถือพาสปอร์ต ดังนั้นกลุ่มแบคแพคที่ส่วนมากเป็นชาติตะวันตกก็ลดความสนใจลง กลับไปใช้บริการทางบกแล้วพักที่ลาว เพื่อเดินทางไปต่อยังเมืองใหญ่ ทั้งหลวงพระบาง วังเวียง ขณะเดียวกันก็เริ่มสื่อสารข้อมูลส่วนนี้ไปทั่วโลก ทำให้คนท้องถิ่นกังวลว่า ค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวพึงจ่ายในเชียงของลดลง แต่ยังไม่รุนแรง เมื่อใดที่การค้าย่อยฝั่งท่าเรือเก่าของลาวเริ่มเคลื่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวไปที่สะพานใหม่ ก็อาจจะแย่กว่านี้” นายสงวนกล่าว

รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายกล่าวต่อว่า ความจริงแล้วการปิดท่าเรือเก่า โดยไม่ประทับตราหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตและวีซ่า แล้วรับเฉพาะกลุ่มใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวนั้น ไม่มีใครรู้ชัดว่าใครผิดใครถูก แล้วใครควรรับผิดชอบ ตอนนี้เชียงของอยู่ในขั้นสุญญากาศ เพราะทางสภาหอการค้าฯ เคยคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แล้วทราบว่า เจ้าหน้าที่ฝั่งลาวเลือกจะปิดบริการสำหรับผู้ถือพาสปอร์ตและผู้ถือวีซ่า แล้วย้ายทุกอย่างไปที่ฝั่งสะพานทำให้เรือที่จอดรอรับคนข้ามฝั่งดูเงียบเหงา และผลกระทบอีกด้านคือ คนไทยที่ขับรถฝั่งรับส่งนักท่องเที่ยวในตัวเมืองชั้นใน คือ เมืองเดิมเชียงของก็ใช้วิธีการปรับราคาค่ารถขึ้น เช่นส่งนักท่องเที่ยวรอบละ 80-100 บาท ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีน้อยอยู่เริ่มรู้สึกว่าของแพงซึ่งเป็นสาเหตุให้คนมาเที่ยวเชียงของเลือกจะข้ามฝั่งลาวทันที ซึ่งเคยคุยกับลาวหลายครั้งแต่เรื่องยังเงียบ แต่อย่างไรก็ตามหากยังเป็นสุญญากาศขนาดนี้ คนเชียงของคงต้องคุยกันเพื่อวางระบบท่องเที่ยวใหม่ หาจุดเด่นของเมืองให้ได้

ด้านน.ส.สาริสา นวลใส กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขต จ.เชียงราย (เขตพื้นที่อ.เชียงของ) และอดีตประธานชมรมท่องเที่ยวเชียงของ กล่าวว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศการเปลี่ยนแปลงเรื่องสถานที่ตรวจพาสปอร์ตนั้น ต้องแจ้งล่วงหน้า 6 เดือนเพื่อให้นักท่องเที่ยวเตรียมตัวในการเดินทางและให้คนท้องถิ่นปรับตัว แต่กรณีเชียงของไม่มีการแจ้งก่อน โดยตั้งแต่เปิดสะพานมา พบว่าเจ้าหน้าที่ลาวเป็นผู้ประกาศยกเลิกการตรวจพาสปอร์ตในท่าเรือบั๊ก ซึ่งส่วนนี้คนที่รู้เรื่องน่าจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย และฝ่ายงานของกระทรวงต่างประเทศ ขณะที่คนเชียงของยังอยู่ในช่วงปรับตัว แต่สิ่งที่สะเทือนชัดเจนนอกจากคนขับเรือเล็กแล้ว คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบแบกแพ็คที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

                “ส่วนมากพวกขาจร ไม่ได้ทำธุรกิจอะไร มักจะมาเชียงของโดยวางแผนล่วงหน้าและบางคนเลือกเดินจากท่ารถในตลาดเชียงของเข้ามายังเมืองเก่า เพื่อหาที่พัก ขณะที่บางคนจ่ายค่าโดยสารประมาณ 30-40 บาท ค้างคืนในเกสต์เฮาส์ราคาที่ตนพอใจ เริ่มต้นราว 250 บาทต่อคืน พอรุ่งเช้าก็เดินเท้าไปที่ท่าเรือเสียค่าเรือข้ามฟากได้แบบประหยัดเงิน ซึ่งในหลักความเป็นจริง หลังเปิดสะพานเขาน่าจะมีตัวเลือกว่าจะข้ามไปลาวฝั่งใด จะไปทางสะพานหรือท่าเรือ แต่ปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะการข้ามลาวโดยใช้ขนส่งทางบกที่สะพานใหม่เป็นภาวะจำยอม หากใครถือพาสปอร์ตข้ามแดน แล้วอยากแวะชมเมืองเชียงของเก่า ก็ต้องจ่ายเพิ่มกว่าเดิมประมาณ 3 เท่า เช่น จากเดิมจ่าย 40 บาท ก็กลายเป็นจ่ายค่ารถไปสะพานราว 120-150 มันไม่คุ้ม ทีนี้นักท่องเที่ยวเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ก็เกิดการกระจายข่าวสาร ส่งผลให้นักท่องเที่ยวแบคแพ็คลดลงทุกที” น.ส.สาริสากล่าว

น.ส.สาริสากล่าวต่อว่า กรณีเชียงของเห็นผลกระทบตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ฤดูกาลที่มีนักท่องเที่ยวมาก (High Season) ยังพบว่ามีจำนวนน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมากว่า 50 เปอร์เซนต์ ร้านค้าที่เปิดบริการกลางคืนก็เงียบเหงา กลุ่มใดที่เช่าพื้นที่ทำธุรกิจก็ต้องขาดทุน ดังนั้นช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งมีนักท่องเที่ยวน้อย หรือ Low Season แน่นอนว่าสถานการณ์เมืองเชียงของจะเงียบกว่าเดิมแน่ ๆ ดังนั้นสิ่งที่คนเชียงของทำได้ คือการเอาตัวรอดจากภาวะสุญญากาศของรัฐบาล ซึ่งไม่รู้ว่ามีเงื่อนงำใดระหว่างลาวกับไทย แต่คนลาวก็มักจะเกรงกลัวอำนาจรัฐและปิดข่าวเงียบ ส่วนคนไทยก็ต้องวางแผนใหม่ซึ่งขณะนี้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มร่วมมือกับเทศบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวกลับมา หลังจากสะพานใหม่เปิดใช้ โดยอาจจะเปิดถนนคนเดินริมโขง ขึ้นมาเพื่อจูงใจให้คนมาเยี่ยมเมืองเชียงของต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: