รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ แนวทางการทำให้เกิดการเสนอข่าวเชิงสืบสวน ( Investigative Report ) ในสื่อหนังสือพิมพ์

7 เม.ย. 2557


โดย   สุชาดา จักรพิสุทธิ์    

ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.)   สัญญาที่  RDG49H0007

(ระยะเวลาวิจัย มีนาคม 2549- มีนาคม 25550)
 

สารบัญ                                                                                                      

1.  ภูมิหลังของปัญหา

      1.1   สถานการณ์สื่อมวลชนไทย                                                                                      

      1.2   ปรากฏการณ์สื่อใหม่ ( New Media)                                                                          

      1.3   ความสำคัญของข่าวสืบสวน                                                                                  

2.  งานสำรวจวรรณกรรม

      2.1   ขอบเขตการศึกษา                                                                                                

      2.2   นิยามศัพท์                                                                                                           

      2.3   ทฤษฎี / องค์ความรู้ในเชิงวิชาการและวิชาชีพ                                                         

3.  ประเด็นปัญหาและข้อวิเคราะห์  : จากงานสัมภาษณ์เชิงลึก ( In-dept Interview)

     3.1   ประเด็นปัญหาตามโจทย์วิจัย ( What is the problems ?)                                        

     3.2   ข้อวิเคราะห์ต่อทางออกของปัญหา  ( How to solve the problems ? )                     

4.   บทเรียนจากกรณีศึกษา

      4.1   บทเรียนต่างประเทศ  :  กรณีศูนย์ข่าวเจาะแห่งชาติฟิลิปปินส์                                     

                                            ( Philippine Center for Investigative Journalism – PCIJ.)

       4.2    บทเรียนในประเทศ   :  กรณีศูนย์ข่าวอิศรา  ในสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ                     

5.   ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหา

       5.1   แนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น                                                                               

       5.2   ข้อเสนอเชิงนโยบาย  :  แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว                                           

6.   บรรณานุกรม                                                                                      

**************************************************************************************************************

1.   ภูมิหลังของปัญหา

       1.1   สถานการณ์สื่อมวลชนไทย

          เหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งของสำนึกต่อบทบาทของสื่อมวลชนไทย เนื่องในครั้งนั้น การปฏิวัติรัฐประหารซึ่งมีการสั่งปิดสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ และตรวจสอบเซนเซอร์หนังสือพิมพ์  แม้สถานีวิทยุ-โทรทัศน์จะสามารถออกอากาศได้ภายในครึ่งวันหลัง จากนั้น แต่การเสนอข่าวสารเพียงด้านเดียว ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ความรุนแรง ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมบนท้องถนน และตระหนักถึงความเลวร้ายของการปิดกั้นระบบสื่อสารมวลชน ในครั้งนั้น หนังสือพิมพ์เองได้รู้ซึ้งถึงบทบาทหน้าที่อันสำคัญยิ่งยวดของตนที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมือง หลายฉบับลุกขึ้นเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงอย่างกล้าหาญ  ภายหลังเหตุการณ์  จึงนำมาซึ่งกระแสสังคมในการเรียกร้อง ”สื่อเสรี” และสถานีโทรทัศน์ที่เป็นอิสระเป็นปากเสียงของประชาชน  ต่อเนื่องมาถึงความพยายามในการปฏิรูปสื่อ  ซึ่งปรากฏเป็นสาระสำคัญในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2540
            ในความเป็นจริง การใช้อำนาจรัฐและอำนาจการเมือง ทั้งที่เปิดเผยและเป็นการลับต่อการคุกคามควบคุมสื่อมวลชน  มีมาช้านานแล้วก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาคม 2535   หากแต่โลกของข่าวสารไร้พรมแดน ที่ส่งผ่านความรับรู้และความต้องการการเมืองที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ทำให้พลเมืองในรัฐสมัยใหม่  ไม่อยากสยบยอมต่อการปิดกั้นข่าวสารอีกต่อไป  สวนทางกับกระแสของอำนาจที่ยิ่งต้องการควบคุมเบ็ดเสร็จ ด้วยการสร้างความรับรู้และความเห็นพ้องผ่านระบบสื่อสารมวลชน  ที่เป็น medium หรือตัวกลาง  หรือ ”พื้นที่สาธารณะ”   ซึ่งยิ่งรุนแรงมากขึ้น  ในห้วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  ที่อำนาจการเมืองและอำนาจธุรกิจผนวกรวมกันเป็นหนึ่งเดียว  อย่างที่ ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวาณิชย์  จาก TDRI เรียกยุคนี้ว่า”รัฐบาลที่จัดการกับสื่อได้ดีที่สุด” โดยคำว่าจัดการนั้นหมายถึง การชี้นำทิศทางข่าว  การจัดวาระการนำเสนอข่าวสารที่เป็นด้านดีของภาครัฐให้ปรากฏเป็นข่าวมากที่สุด  และหลีกเลี่ยง  หรือกดดันห้ามปรามการเสนอข่าวเชิงลบให้น้อยที่สุด 
            มีปรากฏการณ์หลายอย่างบ่งชี้ว่า รัฐบาลทักษิณได้พยายามเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน รวมถึงการใช้อำนาจข่มขู่คุกคามผ่านฝ่ายบริหารสื่อ เช่นกรณีการปกปิดข่าวการระบาดของไข้หวัดนก การเสนอข่าวรันเวย์ร้าวในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งสื่อมวลชนที่ขุดคุ้ยเสนอข่าวนี้  มีทั้งที่ถูกโยกย้ายตำแหน่งและไล่ออก การแทรกแซงโดยผ่านระบบทุน การโฆษณา การซื้อกิจการสื่อโดยทุนการเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการควบคุมเสรีภาพการสื่อสารของสื่อมวลชน
            นอกจากนี้ ยังมีการจัดการกับสื่อของรัฐด้วย หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้จัดระเบียบสื่อของรัฐใน 3 พื้นที่นี้ใหม่ รวมทั้งเข้มงวดการนำเสนอข่าวสารเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ผ่านสื่อของรัฐทุกประเภท โดยทักษิณ ชินวัตร ได้กำหนดนโยบายใหม่ให้กองทัพเรียกคืนสื่อของรัฐที่ให้สัมปทานแก่เอกชนทั้งหมด เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสลัทธิชาตินิยมขึ้นมา โดยหวังว่าจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้  พร้อมทั้งเปิดให้ใช้สื่อของรัฐเป็นเวทีในการตอบโต้สื่อและความเห็นด้านลบที่มีต่อรัฐบาล   การแบ่งแยกความคิดเช่นนี้  สร้างบรรยากาศการเผชิญหน้าขึ้นมาในสังคมไทยจนน่าวิตกว่าจะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง
            ในห้วงเวลาเหล่านี้  สื่อมวลชนต้องเผชิญกับการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยนักการเมืองและนักธุรกิจการเมือง  ด้วยเครื่องมือคือกฎหมายหมิ่นประมาท  สูงเป็นมูลค่านับร้อย ๆ ล้านบาทก็มี  ตลอดจนการใช้ช่องทางธุรกิจเข้ารุกซื้อหุ้นทั้งในและนอกตลาดกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ  ดังกรณี การเข้าถือหุ้นใหญ่ในไอทีวี ของบริษัทชินคอร์ป  การรุกซื้อหุ้นบริษัทมติชน โดยบริษัทแกรมมี่   การเข้าถือหุ้นในหนังสือพิมพ์เครือเนชั่น ของกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ และการถือหุ้นในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยกลุ่มจิราธิวัฒน์
            อย่างไรก็ดี ที่กล่าวมาเป็นส่วนของเหตุการณ์ที่สื่อเป็นฝ่าย”ถูกกระทำ”จากอำนาจรัฐและอำนาจทุน  แต่ในขณะเดียวกัน  สื่อมวลชนไทยเองก็ต้องเผชิญกับปัญหาภายในวิชาชีพอีกหลายประการ เช่น ขาดความรอบด้านในการเสนอข่าว ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงบางเรื่อง อย่างเช่น อ้างแหล่งข่าวว่ามีการตุนอาวุธปืนถึง  5,000  กระบอกไว้ก่อความไม่สงบในภาคใต้  หรือปล่อยให้นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร  ชี้นำสังคมในกรณีจะซื้อทีมฟุตบอลสโมสรลิเวอร์พูล ฯลฯ    และยังมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยการนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่ไม่เหมาะสมหลายกรณี ความไม่รอบคอบในการเสนอข่าว และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เป็นต้น
            ที่สำคัญยิ่งกว่านี้คือ สื่อมวลชนเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรกระทำหลายประการ  ไม่ใช่แต่เพียงในฐานะของสถาบันให้ข่าวสารเท่านั้น หากแต่ในฐานะของ”สถาบันการเรียนรู้”ของสังคม  เนื่องเพราะโลกที่เปลี่ยนไป  ได้ผลักดันให้สื่อก้าวข้ามจากการเป็นเครื่องมือสื่อข่าวสาร  ไปสู่การเป็นเครื่องมือการเรียนรู้นอกระบบการศึกษาด้วย และแม้แต่ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิต (Live Long Education)   รวมถึง การเป็นเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่ให้คุณให้โทษแก่ชีวิตผู้คนจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็น  OTOP หรือกองทุนหมู่บ้าน และนโยบายประชานิยมอีกมาก  ที่สื่อมวลชนรู้ดีถึงข้อมูลเบื้องลึกว่า  เป็นนโยบายที่ประสบความล้มเหลวและซ้ำเติมความทุกข์ยากแก่ประชาชนรากหญ้าอยู่ไม่น้อย  แต่สื่อก็ปล่อยให้รัฐบาลชี้นำทิศทางข่าว  โฆษณาความสำเร็จอย่างเกินจริงตลอดมา   หรือปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่สื่อมวลชนรู้ว่า  มีปัญหาจริง ๆ ในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงที่ผิดพลาด  การปฏิบัติงานที่ขาดความเป็นเอกภาพ  และแม้แต่รู้ว่าความสูญเสียในฝ่ายประชาชนนั้นเป็นวิกฤตทางลึกอย่างใด แต่ดูเหมือนสื่อเกือบทั้งหมดยังคงทำงานแต่เพียงการนำเสนอตัวเหตุการณ์รายวัน  ใคร ทำอะไร  ที่ไหน
            ในส่วนของสื่อโทรทัศน์  ซึ่งครองอิทธิพลต่อผู้รับสารสูงสุดในบรรดาสื่อมวลชนทั้งหมด  แม้โทรทัศน์บางสถานี  จะพยายามนำเสนอข่าวที่หลีกหนีแตกต่างไปกว่าช่องอื่นๆ  เช่น  การใช้เฮลิคอปเตอร์ติดตามทางอากาศ  การผลิตรายการที่อ้างว่า เป็นข่าวเชิงสารคดีที่เจาะลึกแบบสืบสวนสอบสวนกลับเป็นแต่เพียงการอวดอ้างแก่กลุ่มเป้าหมาย ถึงการลงทุนที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่ง  ด้วยเหตุผลด้านการตลาดเป็นสำคัญ   อย่างไรก็ดี  ปรากฏการณ์การลงทุนในงานข่าวเพื่อการแข่งขันในตลาดข่าวสารของโทรทัศน์นั้น  เป็นเครื่องสะท้อนว่า  ในความเป็นจริงแล้ว    โทรทัศน์สามารถลงทุนลงแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวสารที่มีคุณภาพได้  ขึ้นอยู่กับจุดยืนและปณิธานของสถานี  และปัญญาความสามารถของนักข่าวต่างหาก
            กล่าวโดยสรุป  เมื่อสื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม  ก็ย่อมไม่อาจแยกส่วนจากความเปลี่ยนแปลงใดๆในสังคม รวมถึงย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย   สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในบริบทที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน  ได้แก่  ความหลากหลายของระบบสื่อสารมวลชนของสังคม ด้วยเหตุปัจจัยด้านเทคโนโลยียุคใหม่  ที่นำมาซึ่งสื่อใหม่และช่องทางการสื่อสารอย่างใหม่มากมาย  ที่กระทบถึงพฤติกรรมการสื่อสารและการรับข่าวสาร  รวมถึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับประชาชนเปลี่ยนไปด้วย  สื่อกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลาง  ที่เป็นเครื่องมือการต่อรองของกลุ่มฝ่ายต่างๆไม่เว้นแม้จากภาคประชาชน  และด้วยความด้อยอำนาจกว่าของกลุ่ม/ภาคประชาชน  ย่อมนำมาซึ่งความคาดหวังเรียกร้องต่อสื่อในฐานะ”พื้นที่สาธารณะ”เพิ่มมากขึ้น  ประชาชนไม่เพียงแต่เป็นผู้เสพสื่ออีกต่อไป  หากแต่ยังต้องการจะเป็นผู้สื่อสารและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ของสื่อ  ตรวจสอบสื่อด้วยท่ามกลางข้อจำกัดและอำนาจคุกคามสื่อที่มีรอบด้าน  นี่จึงเป็นยุคสมัยแห่งการท้าทายสื่อมวลชนโดยแท้  ไม่แต่เพียงการรวมตัวกันเข้มแข้งภายในวิชาชีพเท่านั้น  หากแต่หมายถึง  การทบทวนบทบาททั้งในส่วนของวิชาชีพและในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาคพลเมือง   ที่มีมากกว่าประเด็นสิทธิเสรีภาพตามวิชาชีพ  แต่หมายรวมถึงการก้าวข้ามกระบวนทัศน์อย่างเก่าที่ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เอ่ยว่า “สื่อรวมกันใน paradigm เก่า  คือสู้กับรัฐไม่ได้สู้กับทุน  สู้เพื่อขยายเสรีภาพการทำงานของวิชาชีพตัวเอง  ไม่ใช่ขยายอำนาจของสังคม"
            กล่าวอีกนัยหนึ่ง  สื่อมวลชนทั่วทั้งโลกได้ก้าวข้ามจากการเป็นกลไกการให้ข่าวสารของสังคม มาสู่การเป็นสถาบันทางการเมืองและวัฒนธรรมในความหมายอย่างกว้าง  ดังที่ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตกุล  ย้ำว่า “ประชาธิปไตยทั้งโลก กลายเป็น  Media Democracy เพราะสื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นที่เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ประชาชนต้องได้ความจริง ที่ไม่ใช่การโฆษณา หรือการบิดเบือน แทรก แซง หรือเลือกเสนอเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาหรือถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจได้  ดังนั้นสื่อจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย”
 

           1.2  ปรากฏการณ์สื่อใหม่ (New Media)
            ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ได้กลายเป็นอำนาจนำที่กำหนดความเปลี่ยนแปลงแก่ทุกภาคส่วน  นอกเหนือไปจากการเป็นกลไกเอาชนะระยะทางและเวลา ที่ทำให้โลกทั้งโลก อภิวัฒน์ไปสู่ทิศทางเดียวกัน บทบาทของเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร  ยังนำมาซึ่งผลกระทบในระดับ ”การปฏิวัติ”  เป็น Digital Revolution ที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารและระบบการสื่อสารเชื่อมต่อ  ถูกเปลี่ยนไปเป็นภาษาและรูปลักษณ์อย่างใหม่  เช่น  คอมพิวเตอร์ ดาวเทียมสื่อสาร  อินเตอร์เน็ต  ใยแก้วนำแสง เคเบิ้ลทีวี  โครงข่ายโทรศัพท์  เป็นต้น  และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ”สื่อใหม่” หรือ New Media อันหมายถึงระบบการสื่อสารที่มีการเชื่อมต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ของเครือข่ายที่รวดเร็ว  ไร้พรมแดน  นำมาซึ่งกระบวนทัศน์ใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับข้อมูลข่าวสารหรือโลกรอบตัว  ที่ว่า “ข้อมูลข่าวสารคืออำนาจ”
            สื่อใหม่จึงมีผลกระทบท้าทายต่อ”สื่อดั้งเดิม”(Traditional Media) อันได้แก่  หนังสือพิมพ์ นิตยสาร  โทรทัศน์และวิทยุ  ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  เพราะสามารถตอบสนองผู้ใช้ / ผู้แสวงหาข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวดเร็ว  กว้างไกล  ทั้งในรูปแบบภาพเสมือนจริง  เสียง  แบบจำลองกราฟฟิค และปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล  อีกทั้งยังมีลักษณะ interactive เปิดโอกาสให้แก่การตอบสนอง  ในขณะที่สื่อดั้งเดิมมีข้อจำกัดเรื่องเนื้อที่การนำ เสนอ  และช่วงเวลาการออกอากาศ จนอาจกล่าวได้ว่าจำนวนผู้อ่านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ในช่วงอายุ 15-24 ปี  ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  ลดลงไปเป็นอันมาก  ถึงแม้งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้จะพบว่าผู้คนในวัย 35 ปีขึ้นไป  ยังคงมีพฤติกรรมการรับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ก็ตาม
            ความท้าทายของสื่อใหม่ จึงมิใช่แต่เพียงความเหนือกว่าในเชิงเทคโนโลยี  หากแต่เป็นความท้าทายในระดับกระบวนทัศน์  เนื่องเพราะสื่อดั้งเดิมนั้นเป็นพื้นที่ที่เปิดให้แก่”มืออาชีพนักสื่อสาร” (professional ) เท่านั้น  ในขณะที่สื่อใหม่เปิดพื้นที่ให้แก่คนธรรมดาสามัญ  ไปจนถึงเยาวชนสามารถมีบทบาทเป็นนักสื่อสารได้ด้วย  เมื่อเป็นเช่นนี้  นอกจากผู้รับสารคือผู้ส่งสาร ผู้อ่านคือผู้เขียนแล้ว  ผู้อ่านยังเป็นผู้กำหนด”ประเด็นสาธารณะ”ในพื้นที่สาธารณะอย่างใหม่นี้ด้วย 
            นอกจากนี้  สื่อใหม่อย่างหนังสือพิมพ์ แจกฟรี  ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านเฉพาะ  เช่น   แหล่งท่องเที่ยว-กิน-ดื่ม  ซึ่งพึ่งพารายได้จากโฆษณาเป็นหลักเสียยิ่งกว่าหนังสือพิมพ์ทั่วไป  ก็ได้กลายเป็นกลุ่มแข่งขันในส่วนแบ่งการตลาดโฆษณาของหนังสือพิมพ์แบบสื่อดั้งเดิมด้วย
            ผลกระทบจากสื่อใหม่ดังกล่าว นำมาซึ่งการปรับตัวในระดับต่าง ๆ กันของสื่อดั้งเดิม  ในประเทศไทย นับตั้งแต่การนำเทคโนโลยีสื่อสารมารับใช้งานการผลิตข่าว เช่น ในระดับนักข่าวที่ปรับเปลี่ยนวิธีการส่งข่าว ภาพ และเสียงแก่บรรณาธิการด้วย Email /IPAD/IPHONE  หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่จัดทำ Website ของตนผ่านสื่อออนไลน์   เพื่อดักจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และขยายช่องทางด้านธุรกิจการตลาด  และเสนอเนื้อหาที่หลากหลายจับใจชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น และแม้แต่การที่หนังสือพิมพ์บางฉบับ  ปรับวิธีการเขียนข่าวให้สั้น  กระชับ  อ่านจบในหน้าเดียว  เพื่อแข่งขันและตอบสนองพฤติกรรมผู้รับสารที่เปลี่ยนไปด้วยอิทธิพลของสื่อใหม่  ไปจนถึงการที่สื่อดั้งเดิมขยายกิจการไปสู่พื้นที่ของสื่อใหม่ เช่น การร่วมทุนหรือลงทุนข้ามสื่อระหว่าง นิตยสาร หนังสือพิมพ์  วิทยุและโทรทัศน์  หรือธุรกิจมัลติมีเดีย
            ปรากฏการณ์สื่อใหม่ที่มีอัตราเร่งในการขยายตัวอย่างรวดเร็วในห้วง 4- 5 ปีมานี้   นำมาซึ่งความวิตกของนักวิเคราะห์ซีกโลกตะวันตกว่า หนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่กำลังจะตายหรือไม่  แต่ผลสำรวจของบริษัทด้านหนังสือพิมพ์ 72 แห่งใน 45 ประเทศทั่วโลก  กลับบ่งชี้ว่า  ยอดการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์( circulation )โดยรวม ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์แจกฟรี (ข้อมูลปี 2549) ดังนั้น  เป็นไปได้ว่ายอดพิมพ์โดย รวมที่เพิ่มขึ้นนี้  มีนัยยะสำคัญอยู่ที่การเติบโตของหนังสือพิมพ์แจกฟรี   ซึ่งอาจอธิบายได้ต่อมาว่า  ธุรกิจหนังสือพิมพ์แบบสื่อดั้งเดิมนั้น  จะสามารถเติบโตต่อไปได้  ก็โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ 
            หนังสือพิมพ์ในโลกการแข่งขันกับสื่อใหม่  อาจจำเป็นต้องปรับตัวในยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ด้านคือ
• ด้านรูปแบบ  ด้วยขนาดที่เปิดอ่านง่าย  สะดวกแก่การพกพา  ปรับปรุงการออกแบบจัดหน้า  และบุคลิกหนังสือพิมพ์   ราคาถูกลง  เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจซื้อของตลาดใหม่ๆ
• ด้านเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ  ที่เน้นการรายงานที่ลุ่มลึก  เนื้อหารอบด้าน ถูกต้องเที่ยงตรง เข้าใจความต้องการของผู้อ่าน ตลอดจนเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายของตนได้อย่างแท้จริง  เปิดพื้นที่ที่มีลักษณะเป็น”สื่อสองทาง”ให้มากขึ้น
• ด้านเทคโนโลยีและบริการ  คือการขยายช่องทางการเข้าถึงแก่สาธารณะให้กว้างขึ้น   นอกเหนือจากการจัดทำหน้าหนังสือพิมพ์ on line  ยังอาจต้องคำนึงถึงการผลิต bi-product จากข่าวสารของตน  เช่น  การขาย clipping ข่าว  โดยอาศัยเครื่องมือด้านเทคโนโลยี  การแข่งขันด้านบริการที่รวดเร็วและคุ้มค่า
            อย่างไรก็ดี  การเกิดขึ้นของสื่อใหม่  นำมาซึ่งโอกาสใหม่และพื้นที่การสื่อสารสาธารณะอย่างใหม่แก่ผู้คนที่อยู่นอกธุรกิจสื่อด้วยเช่นกัน  เพราะสื่อใหม่เป็นนวัตกรรมที่มีคุณสมบัติบางประการที่สนับสนุน    ”สิทธิและเสรีภาพของการสื่อสาร “   กล่าวคือ
• Low Access Cost  ใช้ต้นทุนน้อยกว่าสื่อดั้งเดิม  จนแม้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็สามารถทำรายการวิทยุ / โทรทัศน์บนอินเตอร์เน็ตได้  สร้าง Web page, Weblog เองได้  ปลอดจากการผูกขาด
• Non professional  คนที่มีเครื่องมือ หรือ มือสมัครเล่นก็อาจเป็นผู้ผลิตได้  ไม่จำกัดการเข้าถึง และยังมีลักษณะแพร่กระจายในแนวราบ  คือ  สื่อสารถึงคนที่มีความสนใจคล้ายๆกัน จนอาจนำมาซึ่งชุมชนเสมือนหรือชุมชนไซเบอร์  ( Cyber Communities )
• Less Space / Time Constrained  ข่าวสารข้อมูลอยู่ในรูปของดิจิตอล  เก็บและรับข้อมูลได้ไม่จำกัด ผู้รับสารจะใช้เมื่อใดก็ได้ และไม่มีลำดับของเนื้อหาข้อมูล (Non-Linearity)  ตอบสนองการสืบค้นตามความสนใจ
• Distance Insensitive  ตอบสนองความต้องการและความสนใจอย่างไร้พรมแดน  ไม่จำกัดใกล้ไกล  และให้ผลตอบกลับที่รวดเร็ว(Immediately   feedback )
            ด้วยเหตุดังนั้น  สื่อใหม่จึงเป็นพื้นที่ใหม่แห่งเสรีภาพการสื่อสาร  ที่ยังไม่ได้ถูกควบคุม  ปิดกั้นหรือแทรกแซงโดยกลไกอำนาจแห่งรัฐมากนักและกลายเป็นทรัพยากรสำคัญของการสร้าง”สื่อทางเลือก” หรือ ”สื่อเสรี”  ( Alternative Media / Free Media ) แก่กลุ่ม / ภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวต้องการเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิ์มีเสียงในปัญหาของบ้านเมือง และเสรีภาพในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารตามเจตนารมณ์ของกลุ่มตน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประชาชนรู้  หรือรู้สึกว่ามีการปิดกั้นหรือชี้นำข้อมูล  และสื่อสารมวลชนที่มีอยู่ไม่สามารถทำความจริงให้ปรากฏ 
            จากการสำรวจเบื้องต้น โครงการวิจัยนี้พบว่า การเกิดขึ้นของสื่อใหม่ประเภท Website ข่าวสาร  ที่มีเจตนารมณ์ชัดเจนในด้าน”สิทธิการสื่อสาร”เพื่อการถ่วงดุลข่าวสารจากสื่อกระแสหลักและเพื่อความเป็นธรรมเชิงสังคม  ทั้งที่ปรากฏในประเทศแถบตะวันตกและภูมิภาคเอเชีย  ทั้งในประเทศเสรีประชาธิปไตยและประเทศที่การเมืองไม่โปร่งใส หรือมีปัญหาคอรัปชั่น จะพบ Website ข่าวสารในรูปลักษณ์หนังสือพิมพ์ on line จำนวนมาก  ทั้งนี้ เหตุปัจจัยสำคัญอาจเนื่องมาจากการเป็นเทคโนโลยีราคาถูก  และเป็น ทรัพยากรการสื่อสารที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาข้างต้น  ในที่นี้  ขอหยิบยกตัวอย่างบางตัวอย่างจากประเทศที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่ำ มีการคุกคามสื่อทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม   อาทิเช่น
• malaysiakini.com  ประเทศมาเลเซีย  ที่ชูคำขวัญ only the news that matters  เสนอข่าวเปิดโปงคอรัปชั่น  ความเคลื่อนไหวในการเมืองภาคประชาชน มีบทความ สัมภาษณ์ เป็นต้น  รูปลักษณ์เป็นหนังสือพิมพ์
• tehelka.com  ประเทศอินเดีย  จัดทำโดยอดีตนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพ  เสนอข่าวเชิงสืบสวนการคอรัปชั่น  และการติดตามนโยบายเพื่อคนจน
• irrawaddy.org  ข่าวสารสำหรับผู้พลัดถิ่นชาวพม่า  นำเสนอในรูปลักษณ์นิตยสารรายเดือน มีสำนักงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่  ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ
• publicintergrity.org  ระบุผู้จัดทำคือ International Consortium of Investigative Journalists  นำเสนอรายงานข่าวเชิงสืบสวนและบทความเกี่ยวกับสงครามอิรัก จากนักข่าวมืออาชีพของหนังสือพิมพ์ระดับโลกหลายฉบับ
• pcij.org  หรือ Philippine Center for Investigative Journalism เกิดจากการรวมตัวของนักข่าวมืออาชีพ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา  เพื่อรายงานข่าวเชิงสืบสวนโดยเฉพาะ  ซึ่งจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดต่อไปในหัวข้อที่ 4 ”บทเรียนจากกรณีศึกษา”
• ohmynews.com  ประเทศเกาหลีใต้  จัดทำเป็น 2 edition คือ  ohmynews.com เป็นภาษา อังกฤษ  และ ohmynews.org เป็นภาษาเกาหลี  นับเป็นหนังสือพิมพ์ online ที่น่าสนใจมาก ใช้แนวคิด citizen reporters หรือ people journalist  กล่าวคือมีการเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านหรือผู้รับสาร  กลายเป็นผู้ส่งสาร  ด้วยการส่งข่าว  บทความ  รายงานพิเศษ  ภาพข่าว  โดยมีบรรณาธิการหรือนักข่าวอาชีพตรวจแก้ ปรับปรุงให้ก่อนการตีพิมพ์  รวมถึงมีการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารให้แก่ people journalist และการให้ผู้สื่อข่าวประชาชนสร้าง Webblog เอง
            กล่าวสำหรับประทศไทย  ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา  การเมืองในบ่วงประชาธิปไตยตัวแทน ภายใต้นโยบายพัฒนาที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในภาคการเกษตร ยิ่งยากจนล้มละลาย  เผชิญความไม่เป็นธรรมในทุกระดับ   การคอรัปชั่นฉ้อโกงในหมู่นักการเมือง  ข้าราชการ  ความไม่โปร่งในในภาคธุรกิจเอกชนเหล่านี้  สร้างความคับข้องใจ  ความต้องการทางเลือกใหม่  และการรวมกลุ่มจัดตั้งตนเองในภาคประชาสังคม  เพื่อการต่อรอง  การแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูภูมิปัญญาและการผลักดันนโยบายสาธารณะ  กอรปกับกระแสโลกประชาธิปไตยและทุนเสรี  ตลอดจนเทคโนโลยีทางด้านข่าวสาร  ทำให้กลุ่ม / องค์กรภาคประชาชน  หันมาสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ๆ และช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ  ทั้งในรูปของสื่ออิเล็คโทรนิค อย่างเว็บไซต์ทางเลือก วิทยุชุมชนเคเบิ้ลทีวี.ท้องถิ่น  ตลอดจนสื่อเฉพาะกิจรูปแบบต่างๆ  อาทิ  หนังสือเล่ม  โปสเตอร์  จดหมายข่าว  นิทรรศการและกิจกรรมหลากหลาย ล้วนยืนอยู่บนเป้าหมายความต้องการที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพการสื่อสารเพื่อเผยแพร่เรื่องราว ปัญหา ทางออกและการเรียนรู้ของกลุ่ม/ภาคประชาชนเอง  รวมถึงการเฝ้าระวัง เปิดโปงและตรวจสอบนโยบายสาธารณะด้านต่างๆ โดยไม่หวังพึ่งข่าวสารจากสื่อมวลชนกระแสหลักแต่เพียงถ่ายเดียว
            ดังเช่น  การเกิดขึ้นของสื่อทางเลือกรูปลักษณ์ต่างๆ ในห้วง 5-7 ปีที่ผ่านมา  อันเป็นห้วงบรรยากาศทางการเมืองที่เหมือนเปิดกว้างแก่ทุกภาคส่วน  ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ2540  และรัฐบาลที่ผนึกรวมนักการเมืองกับธุรกิจเข้าอย่างแนบแน่น 
            ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้  หยิบยกเฉพาะจากภาคประชาสังคมที่มีจุดมุ่งหมายของการสร้างและการใช้สื่อ  โดยเน้นที่ สาร ( message)  และ สิทธิ( Rights) ในการสื่อสาร เพื่อการส่งเสริมความเข้มแข็งภายในภาคประชาสังคม   อาทิ  

• bannoktv.com โทรทัศน์บ้านนอก เป็นโทรทัศน์ชุมชน ซึ่งใช้เทคโนโลยีเครื่องส่งกำลังต่ำช่อง UHF ดำเนินการโดยมูลนิธิกระจกเงา  ในเขตพื้นที่ห้วยขม ตำบลแม่ยาวจังหวัดเชียงราย  เป็นรายการโทรทัศน์ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมผลิตรายการ  โดยเยาวชนและประชาชนชาวไทยภูเขาในพื้นที่  ออกอากาศเว้นวันอาทิตย์  ช่วงเวลา 19.30-20.00 น ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2545 เป็นต้นมา  นำเสนอเนื้อหาชุมชน  เช่น  ปัญหาคนไร้สัญชาติ  วัฒนธรรมประเพณีชาวไทยภูเขา  และการรณรงค์ใช้สิทธิตามมาตรา 40  ปัจจุบันยุติการออกอากาศชั่วคราว
• สำนักข่าวประชาธรรม / newspnn.net  ก่อตั้งปลายปีพ.ศ.2543  จากความร่วมมือของปัญญาชน นักกิจกรรมและนักพัฒนาเอกชน  โดยมีวัตถุประสงค์จะนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นข่าวจากชุมชนรากหญ้า เพื่อถ่วงดุลข่าวสารกระแสหลัก  ดำเนินงานผลิตในรูปแบบข่าวรายวันขาย และส่งตรงแก่สมาชิกหนังสือพิมพ์ระดับชาติบางฉบับ  ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนงานผลิตข่าวขายสมาชิกไปสู่การเป็น News on line  ชื่อ “Local Talk “  เปิดกว้างแก่สาธารณะและขายตรง
• เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น Head Line Channel  เกิดจากเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคอีสาน  และกลุ่มประชาคมสุขภาพ  นำเสนอรายงานพิเศษ  สารคดี  รายการสนทนาสถานการณ์  กิจกรรมเสวนาและเวทีภาคประชาชน  ออกอากาศในเขตจังหวัดอุบลราชธานี
• prachatai.com   เป็นหนังสือพิมพ์ on line ก่อตั้งโดยนายจอน  อึ๊งภากรณ์  นำเสนอข่าวสาร  รายวัน บทความ รายงานพิเศษ สารคดีและคอลัมน์ประจำ โดยมีวัตถุประสงค์จะเป็นทางเลือก ในการบริโภคข่าวสารที่เป็นธรรม  และมีนโยบายจะผลิตข่าวเชิงสืบสวนในอนาคต
• pantip.com  เป็นชุมชนเสมือนขนาดใหญ่  ที่เปิดช่องทางสื่อสารเป็นห้องสนทนาต่างๆ  อาทิ  ห้องราชดำเนินสำหรับคอการเมือง  ห้องเฉลิมกรุงสำหรับผู้ชื่นชอบดนตรี ละคร ศิลปะ  เป็นต้น  เป็นแหล่งรวมกระทู้และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์สังคมและการเมือง มีรายงานสรุปข่าวสั้นประจำวัน แนะนำสินค้าไอที  ข้อมูลเว็บและโทรศัพท์หน่วยงานต่างๆ
• budpage.com  เป็นจดหมายข่าว”เพื่อชีวิตและชุมชนชาวพุทธ” สำหรับคนรุ่นใหม่ จัดทำโดย”บ้านสายรุ้ง” สนับสนุนโดย สสส. เสนอข่าวสาร และบทความ  เช่น การดูแลความโกรธ  ชีวิตที่เป็นสุขในสังคมบริโภค ฯ   คอลัมน์ประจำ เช่น  การ์ตูนธรรมะ  แนะนำหนังสือ  ภาพประกอบสวยงามสดใส  เป็นแหล่งรวมอาสาสมัครและกิจกรรมส่งเสริมจิตสำนึกสาธารณะ
• midnightuniv.org  ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน  เป็นแหล่งรวมบทความวิชาการและ กึ่งวิชาการกว่า 1,400 ชิ้น  รายงานการเสวนา อภิปราย  และกิจกรรมของมหาวิยาลัยเที่ยงคืน  รวมถึงการนำเสนอเนื้อหาหลักสูตรทางเลือกต่าง ๆ  เป็นพื้นที่สังสรรค์ทางปัญญาของแวดวงวิชาการและการเคลื่อน ไหวจากภาคประชาชน 
            ในโลกของสื่อใหม่โดยเฉพาะช่องทางอินเตอร์เน็ต ยังมี website , webpage , webblog และข่าวสาร on line ที่ปรากฏตัวขึ้นใหม่ทุกวันอยู่มากมาย  ทั้งที่เป็นของบุคคล  ของราชการ  บริษัทเอกชนหรือธุรกิจ  และแม้แต่องค์กรพัฒนาเอกชน  มูลนิธิ  ฯ จัดทำขึ้น  ทั้งในลักษณะเน้นการสื่อสารภายในองค์กร ( in house communication ) และที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร  เพื่อสื่อสารการตลาด  เพื่อให้บริการ  หรือเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์

            อย่างไรก็ดี  มีข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์ของสื่อใหม่  ประเภทหนังสือพิมพ์หรือข่าวสาร on line มีส่วนอย่างสำคัญต่อพัฒนาการบางประการของวงการวิชาชีพสื่อ  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคข่าวสาร  และสะท้อนจุดเปลี่ยนของภาคประชาสังคม  กล่าวคือ
            1. วงการวิชาชีพ ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่  ที่ครองความได้เปรียบด้านความสะดวก  รวดเร็ว  การเข้าถึงผู้บริโภคกว้างขวาง  จนอาจมีผลกระทบต่ออนาคตของสื่อประเภทหนังสือพิมพ์  ดังนั้น ภายในทศวรรษนี้  อาจจะได้เห็นการปรับลดขนาดรูปเล่มของหนังสือพิมพ์การนำเสนอข่าวด้วยภาพมากขึ้น  การเคลื่อนตัวสู่ธุรกิจข่าวสั้นผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ  เช่น โทรศัพท์มือถือ / Ipad /  การขายข่าวและส่งข่าวตรงสู่สมาชิกด้วยระบบ on line และการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ on line ฉบับใหม่ๆ  แยกส่วนจากหนังสือพิมพ์กระดาษ
            2. โดยนัยนี้  อาจนำมาซึ่งการพัฒนาเชิงคุณภาพเพื่อการแข่งขัน หรืออาจนำมาซึ่งการลดทอนคุณภาพเนื้อหาลงก็ได้  เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมความด่วน  แนวโน้มที่อาจเป็นบวกหรือลบนี้  จึงสัมพัทธ์กับผู้บริโภคสื่อแต่ละกลุ่ม  เข้าข่าย”ตลาดเลือกสื่อ”  ไม่ใช่”สื่อเลือกตลาด”อีกต่อไป
            3. การเกิดขึ้นของสื่อทางเลือก  หรือ สื่อภาคประชาชนและวิทยุชุมชน  มีส่วนท้าทายต่อสถานะความเป็นมืออาชีพ (Professional ) และฐานคิดในการเสนอข่าวของสื่อมวลชน  จาก”การสื่อสารเพื่อการพัฒนา” ( Communication for Development )  ไปสู่แนวคิดการเป็น ”สื่อที่มีจิตสำนึก” (Concerned Journalism )   ด้วยการตระหนักว่า  ประชาชนมีทางเลือกการสื่อสารและเสพสาร ที่มากไปกว่าระบบสื่อสารมวลชนกระแสหลัก
            4.  ในภาคประชาสังคม  ก็ตระหนักรู้ถึงความสำคัญและอิทธิพลของการสื่อสาร  หลายส่วนก้าวข้ามจากการต่อสู้กับรัฐและทุน ไปสู่การสร้าง—การใช้--การขยายการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะ เพื่อเปลี่ยนความรับรู้ของสังคมและถ่วงดุลสื่อกระแสหลัก  ด้วยช่องทางต่างๆ หลากหลาย  โดยเฉพาะวิทยุชุมชน  ที่ขยายตัวก้าวกระโดดถึงเกือบ 2,000 สถานีในห้วงที่ผ่านมา (ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนกันยายน 2549)
            5. ประชาชนในระดับปัจเจก ที่เผชิญปัญหาความไม่เป็นธรรมหรือมีเรื่องอยากฟ้องร้อง  บอกกล่าว  หรือไม่พึงพอใจสื่อ  ต้องการมีสิทธิมีเสียง   ( Voice out ) มีจำนวนมากขึ้นทุกที  และโดยที่สื่อดั้งเดิมหรือสื่อกระแสหลัก  เป็นช่องทางแบบ one way communication  ในขณะที่สื่อใหม่เป็นช่อง ทางที่ให้เสรีภาพและเป็น two way communication  ให้การตอบสนองและการมีส่วนร่วมได้มากกว่า  นำมาซึ่ง active audience ที่ต้องการบทบาทเป็นผู้สื่อสารตามกระบวนทัศน์ใหม่ของ people journalism ขึ้นในสื่อ on line จำนวนมาก
            6.   อย่างไรก็ดี  “สื่อที่มีจิตสำนึก” ( concerned journalism )  และ “ประชาชนผู้ส่งสาร” ( people journalism)  ยังนับเป็นกระแสเล็กๆ เมื่อเทียบกับสื่อสารมวลชนกระแสหลัก  ที่ยังคงมีบทบาทเป็นเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์  และตอบสนองสังคมบริโภค  ทั้งนี้  ปรากฏการณ์กระแสเล็กๆเหล่านี้อาจพัฒนาก้าวหน้าหรือถดถอย  ตามปัจจัยด้านสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม

 1.3   ความสำคัญของข่าวสืบสวน

          ศ. นพ. ประเวศ  วะสี  นักคิดคนสำคัญ  ได้เขียนคำนำให้แก่หนังสือ ”ข่าวเจาะ”  ของเสนาะ สุขเจริญ  แห่งหนังสือพิมพ์ประชาชาติ  ลงวันที่ 29 เมษายน 2547    ว่า “การหยุดยั้งคอรัปชั่นที่ชะงัดที่สุด  คือการทำหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวนสอบสวน “ เพราะ “คอรัปชั่นไม่กลัวความเห็นแต่กลัวความรู้.. .สื่อมวลชนของเรา ยังขาดวัฒนธรรมและความสามารถในการรายงานแบบสืบสวนสอบสวน  จึงขาดพลังในการหยุดยั้งคอรัปชั่น  การรายงานเพียงการสัมภาษณ์ว่าใครมีความเห็น หรือใครทำอะไร ไม่มีพลังแห่งการใช้ความจริง เป็นเพียงความหวือหวา “

           เช่นกันกับที่  ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี  ผู้สื่อข่าวอาวุโสและอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยหลายสมัย (สถานะเมื่อปี 2550)  เขียนไว้ในเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “แนวคิดเบื้องต้นในการทำข่าวสืบสวน” ตีพิมพ์โดยสมาคมนักข่าว พ.ศ.2541  ตอกย้ำความ สำคัญของข่าวสืบสวนด้วยมุมมองทางวิชาชีพว่า 
          ข่าวสืบสวนมีความสำคัญหลัก 2  ส่วนคือ  สำคัญต่อสังคมส่วนรวม  และสำคัญต่อตัวหนังสือพิมพ์เอง  กล่าวคือ

       1) เป็นการคานอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆในสังคม  ถ้าหน่วยราชการ  หน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานไปโดยไม่มีการตรวจสอบ  หรือองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนั้น  สมรู้ร่วมคิดกับองค์กรบริหาร  ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าไม่ใช่หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
       2) เป็นการเปิดประเด็นใหม่ในเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง  เป็นการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ เช่น  ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าที่ที่เทศบาลซื้อไว้เพื่อทิ้งขยะนั้น เป็นเขตป่าสงวน หรือเป็นการซื้อมาโดยไม่ชอบธรรม
       3) ข่าวสืบสวนเป็นรายงานข่าวที่มีความลึกซึ้ง เป็นกลาง
       4) เป็นเครื่องมือในการแสวงหาข้อเท็จจริง  สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ  สิ่งที่ซ่อนเร้นปิดบังเป็นหน้าที่ของข่าวสืบสวนที่ต้องไปเจาะเอาความจริงนั้นออกมา
       5)  เป็นกลไกทางสังคมในการผดุงความถูกต้อง  ข่าวสืบสวนเป็นเครื่องมือในการเปิดโปงความไม่ถูกต้อง  ทำให้ความไม่ถูกต้องได้รับการแก้ไข
       6)  แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของข่าวสาร
       7)  เป็นการทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ของสื่อมวลชน
       8)  สร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กร(สื่อ)
       9)  ช่วยผลักดันยอดขาย  รวมถึงยอดโฆษณา

          ในขณะที่ ผศ.สุนิสา ประวิชัย  หัวหน้าศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์  สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ   ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นต่อ ”การทำหน้าที่ของสื่อหนังสือพิมพ์”  โดยสุ่มตัวอย่างประชาชนใน 25 จังหวัด ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป  จำนวน 2,708 คน  สรุปผลได้ว่า  ประชาชนส่วนใหญ่ คือ 62.3 % รับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ  โดย 3 ใน 4 ให้เหตุผลว่าต้องการรับข่าวสารที่หลากหลายครบถ้วน  อีก 1 ใน 4 ต้องการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสาร  โดยเปรียบเทียบกับฉบับอื่น  ซึ่งผู้ทำการสำรวจอ่านความหมายว่า  ประชาชนคาดหวังการรับข่าวสารจากสื่อหนังสือพิมพ์ในแง่ความถูกต้องเที่ยงตรง  และความลึกซึ้งของข้อมูลเรื่องราว
            นัยยะดังกล่าวนี้  ปรากฏในการให้สัมภาษณ์เชิงลึก ( In-depth Interview ) ของผู้ให้สัมภาษณ์จากแวดวงวิชาชีพแก่โครงการวิจัยนี้  ผู้บริหารหนังสือพิมพ์และนักวิชาการส่วนใหญ่มองว่า  ปัจจุบันนี้  สื่อ-วิทยุโทรทัศน์  มีบทบาทในด้านความเร็วในการให้ข่าวสารอยู่แล้ว  ดังนั้น  จุดแข็งและศักยภาพที่แท้จริงของหนังสือพิมพ์  จึงอยู่ที่ความสามารถในการให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน  ครบถ้วนและเชิงลึก 
            น่าสนใจว่า  สื่อหนังสือพิมพ์ที่เป็นยักษ์ใหญ่ของวงการ อย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  โดยมานิจ สุขสมจิตร  บรรณาธิการอาวุโส  ก็ยอมรับว่า “สื่อหนังสือพิมพ์จะมาทำอะไรแบบเดิมๆไร้แก่นสารอีกไม่ได้ เพราะผู้อ่านพัฒนาความรู้ขึ้นมาก  สื่อจะหยุดนิ่งไม่พัฒนาตนเองไม่ได้  ข่าวสาร ต้องลงราย ละเอียดลึก... “ (คอลัมน์”แมลงวันในไร่ส้ม” มติชนสุดสัปดาห์, มกราคม 2548)
            ที่กล่าวมานี้  คงยืนยันถึงความสำคัญของข่าวสืบสวน  ในฐานะรายงานข่าวที่สามารถทำความจริงให้ปรากฏ  ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีการค้น คว้า   สืบเสาะในเชิงลึกและรอบด้าน  ที่ไม่เพียงแต่จะมีผลในการพัฒนาศักยภาพของคนทำงานข่าวเอง หรือเป็นศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ   หากแต่เป็นทั้งความจำเป็นและความต้องการของสังคม

2.   งานสำรวจวรรณกรรม

      2.1   ขอบเขตการศึกษา

         ด้วยเหตุดังนั้น โครงการวิจัย ” แนวทางการทำให้เกิดการเสนอข่าวเชิงสืบสวนในสื่อหนังสือพิมพ์”   จึงเกิดขึ้น  เพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจชุดหนึ่ง  ที่จะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาความเป็นไปได้ในการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนในหนังสือพิมพ์ให้มีมากขึ้นและอย่างมีคุณภาพ  โดยสัมพันธ์กับการมีระบบสนับสนุน หรือกลไกการทำงานที่สร้างความเข้มแข็งยั่งยืน  ทั้งนี้  โจทย์สำคัญของโครงการวิจัยนี้  มี 2 ประเด็นหลักคือ
• อะไรคือปัญหาหรือเหตุปัจจัยของการนำเสนอหรือไม่นำเสนอข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์
  ( What is the problems )
• จะทำให้หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวเชิงสืบสวนให้มากขึ้นและอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร  ซึ่งรวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบ  ที่สอดคล้องกับบริบทของเหตุปัจจัยและมีความเป็นไปได้
  ( How to solve the problems 
)
            ซึ่งในกระบวนได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจนี้  โครงการวิจัยได้ดำเนินการดังนี้
1.   การสำรวจวรรณกรรม  ( Review Literature )   จากตำราวิชาการ   ทั้งภาษาไทยและภาษา ต่างประเทศ  เพื่อทำการศึกษากรอบทฤษฏี มาตรฐาน  ตลอดจนนิยามข่าวสืบสวนในเชิงวิชาการนิเทศศาสตร์ - วารสารศาสตร์   เพื่อใช้เป็นฐานความเข้าใจประกอบการวิเคราะห์ปัญหา   และเหตุ
ปัจจัย
2.   การสัมภาษณ์เชิงลึก ( In-depth  Interview ) บุคลากรดังนี้ 
• นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน 
• บรรณาธิการ / หัวหน้าข่าว
• เจ้าของสื่อ / ผู้บริหารสื่อ / ฝ่ายการตลาด
• ผู้สื่อข่าวรางวัลอิศรา อมันตกุล  และผู้สื่อข่าวรางวัลข่าวทุจริตเชิงสืบสวนยอดเยี่ยม
เพื่อตรวจสอบองค์ความรู้และฐานความเข้าใจเรื่องข่าวสืบสวนจากภาควิชาการและภาควิชาชีพใน
การประมวลปัญหาและเหตุปัจจัยของการนำเสนอ /  หรือไม่นำเสนอข่าวสืบสวน   ตลอดจนทัศนะความเข้าใจต่อปัญหา  และข้อเสนอด้านแนวทางแก้ไข

3.   การศึกษากรณีศึกษาในประเทศและต่างประเทศ  ( Case study ) เพื่อเจาะลึก  ประมวลบทเรียน  และความรู้   สำหรับการสังเคราะห์เป็นแนวทางและกลไกการแก้ปัญหาเชิงระบบ  ตลอดจนเปรียบเทียบกับบทเรียนในบริบทสังคมไทย ซึ่งโครงการวิจัยได้เลือกกรณีศึกษา“ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์”(Philippine Center for Investigative Journalism – PCIJ  ) และบทเรียนของ”ศูนย์ข่าวอิศรา”  จังหวัดปัตตานี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ในสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

4.  การประชุมระดมความคิด (Focus group)   ระหว่างนักวิชาการ   ผู้ทรงคุณวุฒิ   และนักวิชาชีพหรือผู้ให้สมภาษณ์ทั้งหมด   เพื่อระดมความคิดและทัศนะต่อทางออกและข้อเสนอการแก้ ไข   รวมถึงเป็นการตรวจสอบยืนยันความเป็นไปได้ของแนวทางที่เหมาะสม
5.  การวิเคราะห์ข้อมูลและสังเคราะห์ข้อเสนอ  ( Analysis )เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและสังเคราะห์ข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ
  
      2.2   นิยามศัพท์

              ราชบัณฑิตสถาน  ได้บัญญัติศัพท์ทางวารสารศาสตร์   Investigative  News  ว่า   “การรายงานข่าวแบบสืบสวน”     แต่ในวงการสื่อมวลชนทั่วไปมักเรียกว่า “ข่าวเจาะ” หรือ”ข่าวสืบสวนสอบสวน”  และ “ข่าวสืบสวน”
            อย่างไรก็ดี  ทัศนะจากนักวิชาชีพเห็นว่า  สมควรเรียกข่าวสืบสวนในภาษาอังกฤษที่ถูกต้องว่าInvestigative Report  หรือ   Investigative Journalism  เพราะข่าวสืบสวนเป็นมากกว่าความเป็นข่าวหรือ  news เนื่องจากข่าวสืบสวนต้องมีความต่อเนื่อง และการคลี่คลายประเด็น  ซึ่งบางครั้งอาจนำเสนอในรูปแบบงานเขียนอื่นที่ไม่ใช่ข่าวก็ได้  เช่น บทสัมภาษณ์  บทบรรณาธิการ  รายงานพิเศษ
            ข่าวเจาะ  หมายถึงข่าวที่ถูกรายงานอย่างเจาะลึก  (in dept reporting ) มีลักษณะแฉโพยข้อเท็จจริงที่ซุกซ่อนอยู่   ดังที่ โจเซฟ พูลิตเซอร์นักหนังสือพิมพ์ระดับปรมาจารย์ชาวอเมริกัน  ผู้ผลักดันข่าวสืบสวนและก่อตั้งรางวัลพูลิตเซอร์ บอกว่า เป็น“ข่าวที่ไม่ใช่เพียงสิ่งที่มองเห็น”   ความหมายดังกล่าวนี้น่าจะมาจากวิธีปฏิบัติในการหาข่าว  ที่มีลักษณะค้นหา  ขุดคุ้ยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ลึกไปกว่าตัวเหตุการณ์
            ข่าวสืบสวนสอบสวน บุญเลิศ ช้างใหญ่(คชายุทธเดช) ได้อธิบายคำว่า "สืบสวน" โดยยกตัวอย่างการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ที่จะต้องสืบสวนสอบสวน หาตัวคนร้ายหรือผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งในส่วนคนทำข่าวก็มีหน้าที่ขุดค้น สืบหาเปิดโปงพฤติการณ์อันมิชอบทั้งปวงที่เกี่ยว กับผลประโยชน์ส่วนรวมมาเสนอให้ประชาชนคนอ่านได้รับรู้ หนังสือพิมพ์มักจะถือเอาการทำข่าวเชิงสืบสวน โดยเฉพาะข่าวทุจริตคอรัปชั่น เป็นโอกาสพิสูจน์ฝีมือและอุดมการณ์ความสามารถของนักข่าวและทีมงานในกองบรรณาธิการ ซึ่งเมื่อเปิดข่าวใดขึ้นมาแล้วต้องเดินหน้าต่อไปแบบ"กัดไม่ปล่อย" แม้ว่าอาจเผชิญอันตรายหรืออุปสรรคหรืออาจได้รับการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อแลกกับการยุติข่าว

            ข่าวสืบสวน  มีความหมายเดียวกับข่าวสืบสวนสอบสวน  เพียงแต่เรียกให้สั้นกระชับขึ้น
            ข่าวที่ไม่เป็นข่าว (news that not make news )หมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  แต่นักข่าวไม่ทราบ หรือไม่เห็นความสำคัญที่จะนำมาเสนอ หรือเกิดจากทัศนคติของตัวนักข่าวในการตัดสินว่าข่าวนั้นไม่เป็นที่สนใจของกลุ่มลูกค้าตน เช่น ข่าวคนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ  เป็นต้น  หรือข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  พยายามปกปิดหรือปิดกั้นไม่ให้ปรากฏเป็นข่าว  ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นข่าวเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ด้อย โอกาส  การกระทำที่ฉ้อฉล ไม่ชอบธรรม  ข่าววิกฤตการณ์  ข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงและการคลัง   ข่าวที่ไม่เป็นข่าว จึงอาจเป็นแหล่งที่มาของข่าวสืบสวนด้วย
            จมูกข่าว (sense of news ) หมายถึง ความสามารถ  ประสบการณ์และความฉับไวในการมองว่าเหตุการณ์ใด/ปรากฏการณ์ใด  จะเป็นข่าวในความสนใจของผู้รับสารมากน้อยเพียงใด และข่าวหรือเหตุการณ์นั้น  ควรมีแง่มุมการนำเสนออย่างไรจึงจะน่าสนใจ นอกจากนี้ยังหมายถึงผัสสะ/ความ สามารถในการได้”กลิ่น”ผู้เกี่ยวข้องและความไม่ชอบมาพากลของเหตุการณ์
            หมากัดคนไม่เป็นข่าว – คนกัดหมาเป็นข่าว  หมายถึงเหตุการณที่ถือเป็นความปกติธรรมดาของข่าว เช่น“ผู้ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่หน้าทำเนียบรัฐบาล  มีจำนวนประมาณ100 คน“ ถือเป็นข่าวหมากัดคนคือ  คาดเดาได้ว่ามีความเดือดร้อนและเรียกร้องการแก้ไขปัญหา  เป็นอุบัติการณ์ซ้ำๆที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว  แตกต่างจากข่าวคนกัดหมา เช่น  ผู้ชุมนุมกว่าครึ่งหมื่นนำฝูงควายปิดล้อมทำเนียบ  ขู่ฆ่าตัวตายหมู่ หากรัฐไม่แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ”  เป็นเหตุการณ์ที่กระทบใจ  ผิดไปจากธรรมดา  คาดเดาการดำเนินเรื่องได้ยาก
            ตะกร้าข่าว   หมายถึงระบบกองบรรณาธิการข่าว  ที่องค์กรสื่อขนาดใหญ่ที่มีหนังสือพิมพ์ในเครือหลายฉบับ  จัดให้เป็นระบบการรวบรวมข่าวเหตุการณ์รายวันประเภทต่างๆ  เช่น  ข่าวทำเนียบ  ข่าวกระทรวง  ข่าวสิ่งแวดล้อม  ข่าวเศรษฐกิจ  โดยนักข่าวสายต่างๆทำหน้าที่ติดตาม  เขียนข่าวมาไว้ในตะกร้าข่าว  ให้หนังสือพิมพ์ในเครือหยิบใช้ได้ตามความต้องการ  ซึ่งนักข่าวที่ติดตามงานข่าวรายวันเหล่านี้เรียกว่านักข่าวจเร  และข่าวประเภทรายวันที่เกาะติดไปตามช่องทางข่าวต่างๆ  ซึ่งอาจมีทั้งข่าวแจกหรือแถลงข่าวจากหน่วยงานต่างๆ  เรียกอีกอย่างว่า ข่าว routine 
            ข่าวสีฟ   หมายถึงข่าว exclusive   ข่าวที่ได้รับจากแหล่งข่าวปิด หรือแหล่งข่าวชั้นสูงที่ยากแก่การเข้าถึง หรือแหล่งข่าวที่ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวคนนั้น / หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเป็นการเฉพาะเท่านั้น
            Hint ข่าว / Tip ข่าว   หมายถึง เบาะแส ร่องรอยของข่าว  ที่ทำให้นึกถึงบุคคลเกี่ยวข้อง  เหตุการณ์เกี่ยวข้องอื่นๆ  หรือหมายถึงข่าวที่นำ เสนอไปแล้วและมีผู้ให้ข้อมูล-เบาะแสเพิ่มเติม
            Human interest   ในทางวิชาการแปลความว่า “ความสนใจเยี่ยงมนุษย์”  ซึ่งหมายถึงเรื่องที่อยู่ในอารมณ์ความสนใจของผู้คนส่วนใหญ่หรืออยู่ในกระแสสถานการณ์  ตัวอย่างเช่นดารา หรือคนเด่นดังที่มีคนรู้จักมาก  แต่บางประเด็นซึ่งในสถานการณ์หนึ่ง  อาจไม่อยู่ในความสนใจของผู้อ่าน  แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่งก็อาจเป็นความสนใจหรือ human interest ได้  เช่น  กรณี IMF ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย
            ข่าว pool   หมายถึงข่าวรายวันที่ถูกรายงานในหนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมกันและเหมือนกัน  ซึ่งอาจเกิดจากการที่นักข่าวลอกข่าวกัน  หรือฝากทำข่าวหรือได้รับข่าวแจกเหมือนๆกัน
            ข่าวเดี่ยว  หมายถึง ข่าวสำคัญที่นักข่าวหรือหนังสือพิมพ์ได้ข่าวมาและนำเสนอแต่เพียงฉบับเดียว   ในอดีต  ข่าวเดี่ยวถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของข่าวเชิงสืบสวน
            ข่าวตาม  หมายถึง  ข่าวที่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งเปิดประเด็นหรือนำเสนอขึ้นมาแล้ว  ฉบับอื่นๆไปติดตามประเด็นข่าวเดียวกันนั้น  เพื่อนำเสนอแง่มุมอื่นๆที่แตกต่างต่อไป

        2.3   ทฤษฎี / องค์ความรู้ในเชิงวิชาการและวิชาชีพ

            โครงการวิจัยนี้   พบว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับการรายงานข่าวเชิงสืบสวนที่ผลิตโดยสถาบัน การศึกษาหรือภาควิชาการ  มีเป็นจำนวนน้อย  และเกือบทั้งหมดเป็นหลักทฤษฎีหรือตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนกระบวนวิชา“การสื่อข่าวขั้นสูง”ของสาขาวิชาการหนังสือพิมพ์  ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ     

            ในขณะเดียวกัน  โครงการวิจัยได้พบองค์ความรู้  เอกสาร  หลักฐาน  หนังสือเล่ม  ที่ผลิตโดยภาควิชาชีพ  ซึ่งมีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เป็นหลัก  โดยส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากหลักทฤษฎีวิชาการ  เพื่อใช้ในการฝึกอบรมนักข่าวบ้าง    เพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วไปบ้าง รวมถึงเอกสารความรู้ในรูปบทความ การถอดเทปสัมภาษณ์ การจัดทำกรณีศึกษา  เป็นต้น   ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้ที่กลั่นจากประสบการณ์ในอาชีพของนักข่าวอาวุโสจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการว่า  เป็นผู้มีใจรักการทำข่าวแนวสืบสวนและมีความชำนาญในงานข่าวประเภทนี้เป็นพิเศษ
            เพื่อเป็นการประมวลความรู้ความเข้าใจในหลักคิด  ทฤษฎี  และเทคนิควิธี  ตลอดจนทัศนะและปัญหาการทำงานข่าวเชิงสืบสวน  อันจะทำให้ผู้สนใจได้เข้าถึงตัวบ่งชี้และมิติต่างๆที่ทำให้งานข่าวเชิงสืบสวน ที่แม้จะมีความสำคัญมากมหาศาลดังที่กล่าวมาข้างต้น กลับถูกผลิตและนำเสนอสู่สังคมเป็นจำนวนน้อย หรือขาดพลังการสื่อสารเท่าที่ควร  ทั้งส่วนที่เกิดจากปัจจัยความรู้ความเข้าใจของตัวนักข่าวเอง และจากคุณลักษณะการทำงานข่าวสืบสวน  ที่มีมาตรฐานสูงกว่างานข่าวทั่วๆ ไป
            อนึ่ง  ตัวอย่างงานสำรวจวรรณกรรมที่ปรากฏต่อไปนี้  ได้ทำการเรียบเรียง  แปล (กรณีที่เป็นภาษาอังกฤษ)  และตัดต่อเนื้อความ โดยมิได้บิดเบือนเนื้อหาสาระเดิม หากแต่เพื่อมิให้เนื้อหาเอกสารแต่ละฉบับเกิดความซ้ำซ้อน เพื่อเป็นการเปิดมุมมองต่องานข่าวสืบสวนอย่างครอบคลุมรอบด้านเท่าที่จะเป็นไปได้  และเพื่อให้สาธารณะเกิดความเข้าใจต่อความยาก  ความสำคัญ  อันเป็นปัจจัยรากฐานของการเสนอหรือไม่เสนอข่าวประเภทนี้ในสื่อหนังสือพิมพ์

1)  สายศิริ ด่านวัฒนะ, รายงานวิทยานิพนธ์เรื่องการรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย 

     ( ปริญญานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ปีการศึกษา 2548 )


            วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีความสำคัญต่อโครงการวิจัยเป็นอย่างสูง  ในแง่ที่ได้ตั้งโจทย์ปัญหาเบื้องต้นของงานวิจัย  ไว้พ้องต้องกันกับโครงการวิจัยนี้บางประการ  ได้แก่ในส่วนของ
• ปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย
• รูปแบบการส่งเสริมสนับสนุนการรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน
• ข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย
           ซึ่งจะได้อ้างอิง-เปรียบเทียบต่อไปในบทที่ 3  “ประเด็นปัญหาและข้อวิเคราะห์ “ โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่เพียงขอบข่ายเนื้อหาโดยสังเขปของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ 
            ผลการวิจัยของสายศิริ  พบว่า  ข่าวเชิงสืบสวนแยกได้เป็น (1)  ข่าวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขุดคุ้ยเปิดโปงการกระทำผิดต่างๆ  ซึ่งมักเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น  (2)  ข่าวที่มุ่งอธิบาย ให้ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ  ทั้งสองลักษณะมีความยาก  ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมาก  จึงถือเป็นการรายงานข่าวชั้นสูง  มีคุณค่าและความสำคัญ 4 ระดับคือ คุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ  ต่อวิชาชีพหนังสือพิมพ์  ต่อองค์กรหนังสือพิมพ์  และต่อตัวนักข่าว  กระบวนการรายงานข่าวเชิงสืบสวนต่างจากการรายงานข่าวทั่วไป  ตรงที่จะต้องมีการวางแผนคล้ายคลึงกับการทำงานวิจัย  เริ่มตั้งแต่การสืบค้น  ค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานจากเอกสาร ( paper trail ) จากบุคคล ( human trail ) และข้อมูลอิเล็คทรอนิคส์ (  electronic trail )  การวิเคราะห์เรียบเรียง  ไปจนถึงการนำเสนออย่างต่อเนื่อง  และอาจมีการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อขยายประเด็นและสร้างแนวร่วม  ทำให้การรายงานข่าวมีพลังยิ่งขึ้น
            งานวิจัยพบว่า  ปัจจุบันมีการรายงานข่าวเชิงสืบสวนน้อยเกินไป  แต่มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพดีขึ้น  กล่าวคือ  มีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจน และมีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น หนังสือพิมพ์มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันในการทำข่าวเชิงสืบสวนมากขึ้นในบางกรณี  เพื่อสร้างผลกระทบจากการเสนอข่าวพร้อมๆกัน  และป้องกันการถูกคุกคามตอบโต้จากผู้เสียประโยชน์โดยลำพัง  แต่ในอีกด้านหนึ่งพบว่า  มีสภาพการแข่งขันกันในวงการหนังสือพิมพ์มากจนละเลยมารยาทหรือศักดิ์ศรีที่เคยยึดถือในอดีต  จึงมีการทำ”ข่าวตาม”มากกว่า”ข่าวเดี่ยว”   นอกจากนี้  การพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสาร  ทำให้เสน่ห์ของการรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ลดลง  เพราะข้อมูลข่าวสารถูกนำเสนอผ่านวิทยุ โทรทัศน์และสื่อประเภทอื่นที่รวดเร็วกว่า  จนอาจกล่าวได้ว่า  หมดยุคของการทำข่าวสืบสวนแบบ”พระเอกคนเดียว”ไปแล้ว
            ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรค  ได้แก่  ความยากของงานที่ต้องการทักษะ ความรู้และประสบการณ์สูงปัญหาความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง  ปัญหาด้านจิตสำนึก  อุดมการณ์และศักยภาพของนักข่าว  การที่นักข่าวมีภาระงานมาก  ไม่สามารถทุ่มเทให้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ปัญหาแบบแผนดั้งเดิมของการนำเสนอข่าวสารของหนังสือพิมพ์ที่เน้น”ข่าวขาย”  และปัญหาแบบแผนดั้งเดิมในการเปิดรับข่าวสารของประชาชนปัญหาองค์กรหนังสือพิมพ์ไม่มีระบบสร้างแรงจูงใจที่ชัดเจนสำหรับนักข่าวให้เป็น”มือข่าวเจาะ”  และการที่องค์กรวิชาชีพยังไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนที่ได้ผลและเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง
            การส่งเสริมสนับสนุน  ควรเริ่มที่ตัวนักวิชาชีพและผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์  ที่ต้องยึดมั่นในหน้าที่ของสื่อมวลชนร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก  กองบรรณาธิการต้องให้ความสำคัญเร่งสร้าง”มือข่าวเจาะ”รุ่นใหม่  และสร้างระบบจูงใจที่ดี  องค์กรหนังสือพิมพ์ต้องทบทวนการทำงานและระบบการจัดการให้เท่าทันกับเทคโนโลยี  และสภาพความซับซ้อนของปัญหาในสังคม  องค์กรวิชาชีพควรแสวงหาความร่วมมือจากภายนอก  เพื่อจัดระบบการส่งเสริมสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง  โดยคำนึงถึงความแตกต่างในแนวทางของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ  ทั้งนี้ในการวิจัยต่อไป  ควรขยายกลุ่มตัวอย่างให้ครอบคลุมทั้งนักวิชาชีพหนังสือพิมพ์  นักวิชาการ  ผู้ประกอบการและประชาชน  และควรวิจัยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นด้วย


2) ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์, อานุภาพแห่งความจริง, บทนำหนังสือ”ข่าวเจาะ”,พิมพ์ครั้งแรกกรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ openbook ,มิถุนายน 2548


            ประสงค์  ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานข่าวสืบสวนแห่งวงการหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน มีผลงานข่าวยอดเยี่ยมที่ได้รับรางวัลมากมาย  ข่าวเปิดโปงทุจริตคอรัปชั่น เช่น  กรณีเครื่องราช ฯ  และกรณีซุกหุ้นสร้างการเรียนรู้ในประเด็นความโปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อนแก่สังคมไทยเป็นอย่างมาก
            เขาพูดถึงกระบวนการหาข้อมูล-ข้อเท็จจริงที่ถูกซุกซ่อนไว้โดยจงใจหรือไม่ก็ตามว่า “ต้องใช้วิธีการที่ในวงการหนังสือพิมพ์เรียกว่า การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน  เพื่อให้ได้ข้อมูล- ข้อเท็จจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  แล้วนำมาวิเคราะห์  แยกแยะ  ปะติดปะต่อว่าตรงกับสมมุตติฐานหรือไม่  ถ้าไม่  ก็ต้องควรเปลี่ยนสมมุติฐานและทำการหาข้อมูลใหม่...
            การทำข่าวเชิงสืบสวน  มี 3 วิธีการหลักคือ 
1.  การติดตามข้อมูลด้วยเอกสาร (Paper trail )  หมายถึงการหาเอกสารเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลหลักฐานในการนำเสนอข่าว  ซึ่งข้อมูลประเภทนี้มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด  เป็นข้อมูลที่ผู้ถูกพาด พิงไม่สามารถปฏิเสธข้อเท็จจริงได้
2.   การติดตามข้อมูลบุคคล (Human Trail ) หมายถึงการติดตามข้อมูลบุคคลที่ตกเป็นข่าว  เช่น  การติดตามพฤติกรรมฐานะทางเศรษฐกิจ  แหล่งที่อยู่  ซึ่งการได้มามีหลายวิธี  ตั้งแต่การสะกดรอย  การหาข้อมูลจากคนใกล้ชิด  เพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริงบางอย่าง  เช่น คนที่ถือหุ้นหลายพันล้านบาท แต่กลับมีฐานะเป็นคนรับใช้
3.  การติดตามข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต (Electronics Trail ) หมายถึงการหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต หรือเว็บไซต์ต่างๆ  ซึ่งมีอยู่อย่างกว้างขวาง  วิธีนี้อาจต้องอาศัยความชำนาญ  และภาษาอังกฤษที่ยังเป็นอุปสรรคของนักข่าวไทย

 
3) เสนาะ สุขเจริญ, ข่าวสืบสวน, พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Open book, พฤศจิกายน 2549


            ข่าวเชิงสืบสวนแยกได้เป็น (1)  ข่าวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขุดคุ้ย  เปิดโปงการกระทำผิดต่างๆ  ซึ่งมักเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น  (2)  ข่าวที่มุ่งอธิบาย ให้ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ  ทั้งสองลักษณะมีความยาก  ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมาก  จึงถือเป็นการรายงานข่าวชั้นสูง  มีคุณค่าและความสำคัญ 4 ระดับคือ คุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ  ต่อวิชาชีพหนังสือพิมพ์  ต่อองค์กรหนังสือพิมพ์  และต่อตัวนักข่าว  กระบวนการรายงานข่าวเชิงสืบสวนต่างจากการรายงานข่าวทั่วไป  ตรงที่จะต้องมีการวางแผนคล้ายคลึงกับการทำงานวิจัย  เริ่มตั้งแต่การสืบค้น  ค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานจากเอกสาร ( paper trail ) จากบุคคล ( human trail ) และข้อมูลอิเล็คทรอนิคส์ (  electronic trail )  การวิเคราะห์  เรียบเรียง  ไปจนถึงการนำเสนออย่างต่อเนื่อง  และอาจมีการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อขยายประเด็นและสร้างแนวร่วม  ทำให้การรายงานข่าวมีพลังยิ่งขึ้น
              นอกจากนี้  ผู้เขียนเห็นว่า “องค์ประกอบสำคัญของผู้ที่จะเป็นนักข่าวสืบสวนคือ  ต้องมีใจเป็นธรรม  รักความถูกต้อง...ต้องกล้า – ที่จะเดินเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตราย  เพื่อล้วงความลับ  เอาข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริงออกมาตีแผ่  เช่น  เดินทางไปถ่ายภาพบ้านพักส่วนตัวนักการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ  ซึ่งบางครั้งอาจเผชิญสถานการณ์เฉพาะหน้า...ต้องดื้อ – ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ  ให้คิดว่าทำหน้าที่ต่อสู้กับ”ความไม่ถูกต้อง”มิใช่ต่อสู้กับ”คนไม่ถูกต้อง”  ฉะนั้นจะก้มหัวหรือยอมแพ้ในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้  และต้องมีวิญญาณเพชฌฆาต  - พูดให้แรงคือการเป็นนักล่าหัวมนุษย์ขี้โกง  อย่าใจอ่อนต่อผู้ฉ้อฉล  แม้จะได้ รับการหว่านล้อม  ต้องมีความอดทนสูง – หากต้องเปิดโปงพฤติกรรมมิชอบของคนที่อาจเป็นนักการเมืองนักธุรกิจ  สิ่งที่ต้องเผชิญอย่างแน่นอนคือแรงเสียดทานจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กร


4)  สมหมาย ปาริจฉัตต์ , ข่าวเจาะ-เจาะข่าว,  พิมพ์ครั้งที่ 3   กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สายธาร , 2543
             ปรมาจารย์อีกคนหนึ่งของวงการหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทมติชน  กล่าวถึงข่าวเจาะหรือข่าวสืบสวนสอบสวนว่า  “คือ ข่าวที่ได้มาด้วยการสืบค้นขุดเจาะเรื่องราวออกมาตีแผ่อย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งพบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามเหตุการณ์นั้นทุกประการ  นักข่าวต้องเป็นผู้ไปขุดคุ้ยมา ไม่ใช่เป็นข่าวที่มีอยู่แล้วนักข่าวเพียงแต่ไปรับเอามา
              การรายงานข่าวสืบสวนสอบสวน  หมายถึงข่าวที่ผู้สื่อข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวแรก (first source) ซึ่งเป็นต้นตอของเหตุการณ์ จนกระทั่งค้นพบข้อเท็จจริงอันเป็นความจริงแท้(real fact) แล้วนำมาตีแผ่จนสาธารณชนได้รับรู้อย่างถูกต้องกว้างขวาง...ข่าวสืบสวนสอบสวนต้องให้รายละเอียดในด้านลึกและด้านกว้างมากกว่าข่าวปกติ ใช้เวลาในการติดตามขุดเจาะและรายงานอย่างต่อเนื่องมากกว่า ผู้อ่านได้รับรู้  เกิดความคิดถึงสาเหตุของปัญหา การวิเคราะห์แง่มุมของข่าวที่เป็นระบบกว่า
              การทำข่าวสืบสวนจึงไม่ใช่แค่การสอบถามบุคคลซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างผิวเผิน หรือจากแหล่งข่าวในอีกระดับที่เป็นแหล่งข่าวชั้นสองหรือชั้นสาม เพราะจะทำให้ได้ข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เสี่ยงต่อการถูกเบี่ยงเบนประเด็น ข่าวสืบสวนสอบสวนจึงเป็นข่าวที่ยกระดับจากการรายงานข่าวปกติธรรมดา จนเป็นข่าวที่ทำให้เกิดการติดตาม เบื้องหลังที่ซ่อนอยู่หรือปิดบังเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม  ถูกนำมาเปิดเผย ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจนสามารถยุติการกระทำเรื่องนั้นได้ในที่สุด

ลักษณะข่าวสืบสวนสอบสวนที่ดี คือ
1.  มีความลึก คือได้สัมผัสถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มิใช่แค่ได้มาจากการบอกเล่าเท่านั้น และพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่หนังสือพิมพ์นำมารายงานกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นเรื่องเดียวกัน
2.  มีความกว้าง คือเกี่ยวข้องถึงบุคคล องค์กร มากกว่าข่าวปกติ เป็นข่าวที่คนส่วนใหญ่ในสังคมให้ความสนใจติดตาม
3.  มีความซับซ้อน คือมีประเด็นหรือแง่มุมของข่าวหลายประเด็น  หรือเกิดประเด็นขึ้นใหม่ตลอด
4.  มีความแรง คือมีพลังมากกว่าข่าวปกติ สะท้อนการต่อสู้ที่เอาจริงเอาจัง หนักแน่น น่าเชื่อถือมากกว่า ผลกระทบของข่าวจึงมีมากกว่าข่าวปกติ  คือกระทบเป็นวงกว้าง
5.  มีความต่อเนื่อง คือมีการติดตามและนำเสนอติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งไม่จำกัดแน่นอนว่าเป็นระยะ เวลาเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของข่าวว่ามีประเด็น (ความเคลื่อนไหวใหม่ที่เกิดขึ้น) มากน้อยแค่ไหน แต่ข่าวสืบสวนสอบสวนควรมีประเด็นมากกว่าปกติ ทำให้การติดตามรายงานข่าวต้องเกาะติดต่อเนื่อง เรียกว่ากัดไม่ปล่อย
6.  ควรเป็นข่าวเดี่ยว(exclusive) ที่ได้มานำเสนอฉบับเดียวก่อนใคร  หนังสือพิมพ์อื่นไม่มี  หรือมีก็เป็นการนำเสนอติดตามในภายหลัง
7.  มีลักษณะการเปิดโปง ขุดคุ้ยข้อเท็จจริง มีหลักฐาน เอกสาร ข้อมูลมายืนยันจนพิสูจน์ได้ชัดเจน สะท้อนการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม ไม่จำนนต่อการบิดเบือน ปิดกั้นข้อเท็จจริง
8.  มีบทสรุป คือ หลังจากข้อเท็จจริงถูกค้นพบและนำมาตีแผ่  ต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น เช่น มีการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด กฎระเบียบถูกปรับปรุง จนทำให้เกิดความโปร่งใสเปิดเผยในที่สุด
            เมื่อนำหลักการเรื่องการประเมินคุณค่าข่าว 10 ประการ มาพิจารณาได้แก่ ความสด immediacy ความใกล้ชิด proximity ความเด่น prominence ความผิดปกติ unusualness สิ่งที่มนุษย์สนใจหรือเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ human interest ความขัดแย้ง conflict ความลึกลับซับซ้อน suspense ความกระทบ กระเทือน consequence ความก้าวหน้า progress และเพศ sex   จะพบว่า ข่าวสืบสวนสอบสวนจะมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนมากกว่าข่าวปกติทั่วไป
              องค์ประกอบสำคัญของข่าวสืบสวนสอบสวนไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของข่าว แต่ขึ้นกับว่า ข่าวนั้นมีเงื่อนงำความผิดปกติ มีความเคลือบแคลงสงสัยถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของข่าวเพียงไร

ขั้นตอนการทำงานข่าวเชิงสืบสวน
1.  ระบบคิด มุมมองต่อข่าว จากความสังหรณ์ใจ(hunch)ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หรือได้ประเด็น (tip) หรือมีผู้ชี้เบาะแส (hint) จนทำให้เกิดความสงสัยว่า ความเป็นจริงของเหตุการณ์นั้นน่าจะเป็นอีกอย่าง                                                                                                                        2.  ตั้งสมมติฐานก่อนสืบ คือการวิเคราะห์เบื้องหลังเหตุการณ์นั้นเอง จัดลำดับความเป็นไปได้ และนำสมมติฐานนั้นไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ได้ประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมาอีก สามารถกำหนดเป้าหมายขั้นตอนการทำงานชัดขึ้น ว่าจะตั้งต้นติดตามประเด็นใดก่อน จะไปพบแหล่งข่าวใดก่อนหลัง
3.  เป้าหมายชัด วางแผนช่วย โดยการประสานแผนงานข่าวและแผนงานคน  จะให้ใครไปติดตามข้อเท็จจริงส่วนใด
4.  ความรู้เทคนิคมีความจำเป็น นำเสนอหลากหลาย เพราะความรู้เทคนิคเชิงวิชาการในเรื่องนั้นๆจะทำให้มีมุมมองข่าวกว้างขวางได้ประเด็นมากขึ้น ส่วนการนำเสนอควรให้ที่มาที่ไปของเหตุการณ์  ซึ่ง David Kaplan แนะนำลำดับขั้นตอนว่า จากประเด็นนำสืบ – ติดตามเบาะแส – ตั้งสมมติฐานในการสืบสวน – เรื่องใดที่มีคนทำแล้วควรเพิ่มเติมจากของเดิม – เสาะหาผู้เชี่ยวชาญ –หาเอกสาร หลักฐานสนับสนุน – สร้างแหล่งข่าว – สัมภาษณ์ – วิเคราะห์และลำดับเรื่อง – การเขียนและบรรณาธิกรณ์ – สอบทานข้อเท็จจริงและทบทวนข้อกฎหมาย  ทั้งนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องได้หลักฐานข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ถึงจะรายงานได้ เพราะข่าวสืบสวนสอบสวนทุกข่าว การได้ข้อมูลต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความลึกและผลกระทบของข่าวว่าเกี่ยวโยงไปถึงผู้ใด
5.  สำคัญต้องเรื่องจริง เงื่อนไขที่จะใช้ตัดสินใจว่าควรเริ่มต้นรายงานข่าวออกไปเมื่อใดขึ้นอยู่กับว่า ข่าวนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่  ประเด็นที่ได้มามีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด  จะติดตามข่าวต่อ ไปได้มากน้อย ช้าเร็วเพียงใด ซึ่งข่าวที่รายงานออกไปจะทำให้มีข่าวคืบหน้าใหม่ๆเข้ามาอีก ผู้เกี่ยวข้องด้านหนึ่งก็จะติดต่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม  ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็จะพยายามทำลายหลักฐานให้หมดไปโดยเร็ว ขณะที่การรายงานข่าวออกไปจะเป็นการกดดันให้ผู้รับผิดชอบรีบดำเนินการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การหาข้อมูลง่ายขึ้น
6.  แหล่งข่าว ต้องตรวจสอบข่าวที่ได้มาทุกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาด หรือตกเป็นเหยื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และความถูกต้องน่าเชื่อถือของข่าว

 

3.  ประเด็นปัญหาและข้อวิเคราะห์ : จากงานสัมภาษณ์เชิงลึก(In depth Interview) 

     3.1   ประเด็นปัญหาตามโจทย์วิจัย ( What is the problems ? )

           โครงการวิจัยนี้  เริ่มต้นจากความเห็นว่า  ข่าวสืบสวนเป็นพลังอำนาจของข่าวสารที่สามารถสร้างการเรียนรู้แก่สังคมได้ ซึ่งนักวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก็ยอมรับโดยดุษณี แต่เหตุใด ? หนังสือพิมพ์จึงเสนอข่าวเชิงสืบสวนและใช้กระบวนการการทำงานข่าวเชิงสืบสวนน้อย  แม้แต่ที่ปรากฏเป็นผลงานรางวัลข่าวยอดเยี่ยมนับแต่ปี พ.ศ.2515 เป็นต้นมา  ดังนั้น  จึงจำเป็นที่ต้องแสวงหาความรู้และข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่จะอธิบายปัญหานี้ว่า อะไรคือเหตุปัจจัยของการเสนอหรือ ไม่เสนอข่าวเชิงสืบสวน  เพื่อจะเป็นฐานความเข้าใจที่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องตรงจุด
            สมหมาย ปาริจฉัตต์  นักหนังสือพิมพ์อาวุโส  อธิบายถึง”ปัญหาที่ทำให้การทำงานข่าวเชิงสืบสวนลดลง” ไว้ในหนังสือ ข่าวเจาะ-เจาะข่าว ว่า

•  การที่ปริมาณข่าวสารมีมากขึ้น ทำให้กระแสข่าวประจำวันที่มีความหลากหลายดึงดูดความสนใจของผู้อ่านและนักข่าวให้กระจัดกระจายออกไป จนละเลยความลึกซึ้งของข่าวที่ควรจะขุดคุ้ยเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงความต้องการบริโภคข่าวของผู้อ่านมีมาก หนังสือพิมพ์ต้องการเสนอข่าวให้ครบถ้วนทุกข่าวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ป้องกันเพื่อไม่ให้ตกข่าว การแข่งขันเชิงปริมาณจึงทำให้การรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนถูกเบียดบัง
•  พฤติกรรมการฉ้อฉลของบุคคลสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ มีการโยงเครือข่ายออกไปนอกประเทศ  สื่อติดตามยากขึ้น
•  หนังสือพิมพ์ตกอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจเลือระหว่างรายได้จากการโฆษณาสินค้า  กับการเสนอข่าวที่กระทบกระเทือนธุรกิจของลูกค้ามากกว่าในอดีต
•  กฎหมาย  ระเบียบปฏิบัติของราชการไม่เอื้อต่อการแสวงหาข้อมูล
•  การฝึกอบรมบุคคลากรในกองบรรณาธิการมีไม่มากเท่าที่ควร
•  สำนึกและการปฏิบัติงานของผู้สื่อข่าว ที่ขาดการศึกษาค้นคว้า การเพิ่มพูนทักษะอย่างจริงจัง ไม่สามารถมองปัญหาอย่างวิเคราะห์เจาะลึกทั้งภาพรวมและระดับย่อย การคิดค้นแง่มุมใหม่ๆไม่เกิด ทำให้ขาดแคลนข่าวสืบสวนสอบสวน
•  อิทธิพลในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอิทธิพลท้องถิ่น
•  การบริหารงานภายในองค์กร ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวประเภทนี้เท่าที่ควร  เพราะเกรงว่าจะกระทบกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ การขาดระบบการรวบรวมข้อมูล การประสานงานระหว่างฝ่ายข่าวต่างๆ ไม่ดี
•  องค์กรวิชาชีพที่รวมตัวกันยังไม่ส่งเสริมสนับสนุนเท่าที่ควร
•  พื้นที่การนำเสนอข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์มีจำกัด แต่ปริมาณข่าวสารในแต่ละวันมีมาก
•  ระบบการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของราชการไม่พัฒนา ทำให้การแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ถูกถ้วนสมบูรณ์
      ในขณะที่ สายศิริ ด่านวัฒนะ  สรุปไว้ในรายงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องการรายงานข่าวเชิง
สืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย ในส่วนของ“ปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการราย งานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย”  ไว้โดยจำแนกเป็น
• ปัจจัยภายใน  ได้แก่
1) ความสนใจ  ความตั้งใจ  ความมุ่งมั่นในหน้าที่  ความรู้ความสามารถและทักษะทางวิชาชีพของตัวนักข่าว
2) ความมีจริยธรรม  อุดมการณ์แห่งวิชาชีพของนักหนังสือพิมพ์
3) การปลูกฝังบ่มเพาะจากสถาบันการศึกษา
4) นโยบายของกองบรรณาธิการ
5) ปัจจัยทางธุรกิจของหนังสือพิมพ์
6) แนวทาง  เป้าหมายของหนังสือพิมพ์แต่ละแห่ง
7) ปณิธานของเจ้าของหรือผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์
8) นโยบายและประสิทธิภาพระบบพัฒนาบุคลากรในองค์กรหนังสือพิมพ์
9) ประสิทธิภาพการบริหารงานกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
10) ระบบสร้างแรงจูงใจทางวิชาชีพ
11) ความเข้มแข็งขององค์กรวิชาชีพ
12) แบบแผนการทำข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทยยังเน้นแต่ประเด็นทุจริตคอรัปชั่นเท่านั้น

• ปัจจัยภายนอก ได้แก่
1) กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์
2) แหล่งข่าว
3) การตอบโต้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรายงานข่าวเชิงสืบสวน
4) พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของประชาชนและกระแสสังคม
5) การทำหน้าที่ของกลไกอื่นๆทางสังคม
            อย่างไรก็ดี   แม้ข้อสรุปนี้จะมีความสอดคล้องกับข้อค้นพบของโครงการอยู่ไม่น้อย   ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของปัญหา แต่ทว่า จากการสัมภาษณ์เชิงลึก(In Depth Interview) ของโครงการ  ยังได้พบประเด็นที่มีน้ำหนักแตกต่างกัน  รายละเอียดบางด้าน  และสถานการณ์ของวงวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่เปลี่ยนไป 
            ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการวิจัยขอสรุปประเด็น“เหตุปัจจัยของการเสนอหรือไม่เสนอข่าวเชิงสืบสวนของสื่อหนังสือพิมพ์ไทย” ( What is the problems ) ไว้ดังนี้

• เหตุปัจจัยด้าน คุณภาพคน-นักข่าว
• เหตุปัจจัยด้าน นโยบายกองบรรณาธิการและหนังสือพิมพ์
• เหตุปัจจัยด้าน อำนาจคุกคามและธุรกิจการตลาด
• เหตุปัจจัยด้าน ผู้รับข่าวสารและสังคม
• เหตุปัจจัยด้าน ระบบสนับสนุน

 

คุณภาพคน-นักข่าว

          เป็นไปได้ว่า “ภูมิศาสตร์ของสื่อที่เปลี่ยนไป”  ดังคำของ ภัทระ คำพิทักษ์  นายกสมาคมนักข่าวฯ ปี 2548-2549 ( สัมภาษณ์ 14 กันยายน 2549)  ซึ่งอธิบายสถานการณ์วงการสื่อหนังสือพิมพ์นับจากปี 2535 เป็นต้นมาว่า เป็นยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสื่อสาร  ทำให้วงการหนังสือพิมพ์เติบโตอย่างขนานใหญ่  มีนักข่าวใหม่ๆ ทั้งที่ไม่ได้จบการศึกษาสายวารสารศาสตร์-นิเทศศาสตร์  เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์มาก  เพราะผลผลิตนักข่าวที่มีอยู่ไม่เพียงพอ นักข่าวเหล่านี้...“ไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ การเพาะบ่ม...ทำให้ฐานของสื่ออ่อนแอลง”    หรือแม้บัณฑิตสาขาหนังสือพิมพ์ที่ก้าวเข้ามาสู่อาชีพนักข่าว ก็อาจมีข้อได้เปรียบแต่เพียงความรู้เชิงทฤษฎีและเทคนิคบางประการ เป็นภาระที่องค์กรหนังสือพิมพ์ต้องลงทุนหรือเอื้ออำนวย ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ   ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ ในภาวะของงานข่าวรายวันและการแข่งขันกันเองของหนังสือพิมพ์  และแม้ว่าองค์กรวิชาชีพอย่างสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ หรือสถาบันพัฒนาสื่อมวลชน  ซึ่งก่อตั้งขึ้นในชั้นหลังเพื่อทำหน้าที่นี้โดยตรง  ก็ยังไม่อาจเพาะบ่มนักข่าวที่มีคุณภาพพึงประสงค์ให้แก่สถานการณ์ที่เป็นจริงได้  เพราะเงื่อนไขปัจจัยที่จะทำให้นักข่าวคนหนึ่งมีอุดมคติ  เป็นผู้รอบรู้  มีจมูกข่าว  ช่างสังเกต  และมองมุมต่างๆของประเด็นข่าวหนึ่งๆให้รอบด้านได้  ต้องเกิดขึ้นจากสิ่งที่นักข่าวอาวุโสหลายคนย้ำว่า  เป็น learning by doing  คือการสั่งสมประสบการณ์

            ดังนั้น  นักข่าวที่สามารถตั้งคำถามกับเหตุการณ์  หรือจุดประเด็นความอยากรู้จนนำไปสู่การสืบ ค้นเจาะลึกประเด็น จนเกิดเป็นข่าวเชิงสืบสวนที่ดีได้นั้น จึงปรากฏกับนักข่าวระดับอาวุโสที่มีประสบการณ์งานข่าวไม่น้อยกว่า 10 ปีทั้งนั้น  ในขณะที่นักข่าวใหม่หรือนักข่าวปัจจุบันจำนวนหนึ่ง  ด้อยคุณภาพลงจนถูกขนานนามว่าเป็นนักข่าว drive A  คือลอกข่าวระหว่างกัน  หรือ ไม่ก็เขียนข่าวได้แต่เพียงการรายงานตัวอุบัติการณ์ว่า  ใคร  ทำอะไรเมื่อไหร่  ที่ไหน  อย่างไร
            ส่วนของสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตความรู้และนักวิชาชีพ  ก็กล่าวได้ว่า”มันเป็นปัญหาใหญ่ตั้งแต่วิชาสื่อข่าวเบื้องต้นมา  คนเรียนคนสอนก็ไม่ประสบความสำเร็จในการปลุกปั้นให้เป็นคนช่างคิด ภาษาดี เขียนดี  พอมาถึงการสื่อข่าวขั้นสูงมันก็เลยบินไม่ได้  เพราะข่าวขั้นสูงต้องให้ความลึกในแต่ละเนื้อ หาข่าว“ ( ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ ; สัมภาษณ์ 23 มิถุนายน 2549)   และ "อาจารย์ที่สอนมันแยกส่วน  ไม่ได้บูรณาการ  และที่สำคัญ  อาจารย์ที่สอนข่าวเบื้องต้นหรือข่าวขั้นสูง  หรือหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ  ก็ไม่ได้เชื่อมโยงการเรียนรู้กับปัญหาจริงๆในวิชาชีพ”   ซึ่งนี่อาจเป็นปัญหาระดับโครงสร้างและความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย  ที่เกิดขึ้นกับศาสตร์สาขาต่างๆ ไม่เฉพาะแต่วารสารศาสตร์-นิเทศศาสตร์
            ในขณะเดียวกัน ความสลับซับซ้อนทางสังคมและสถานการณ์รอบด้าน  ตลอดจนกลเกมการเมือง และโลกไร้พรมแดนที่ทำให้ปัญหาหนึ่งๆหรือเหตุการณ์หนึ่งๆ  อาจเกี่ยวข้องโยงใยไปถึงอำนาจเหนือรัฐและเหตุปัจจัยทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ  ก็ยิ่งเรียกร้องความสามารถใน การสื่อสารของนักสื่อสาร มวลชน  อย่างที่ แสงจันทร์ สีดำ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ผู้จัดการบอกว่า “ เราไม่ต้องการแค่นักข่าวที่จะรายงานว่าเกิดอะไรขึ้น  เราต้องการนักรัฐศาสตร์ที่เข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองที่ลึกซึ่ง  เราต้องการนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจว่า  ลดภาษี 5 บาทมันมีผลยังไงอย่างเป็นวงจร  เราต้องการนักข่าวเศรษฐกิจระดับนักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่แค่นักสื่อสารมวลชน ...ทุกวันนี้ข่าวต้องตอบคำถาม why ข่าวเศรษฐกิจก็มีมิติสิ่งแวดล้อม  หรือสังคม  วัฒนธรรม ทุกอย่างอยู่ในนี้หมด”
            ปัญหาคุณภาพนักข่าว  ยังนำมาซึ่งวัฒนธรรมในการทำงานหรือแบบแผนการทำงานข่าว  ที่”ข่าวบางข่าวไม่จำเป็นต้องมีเลย... เพียงแค่คุณเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ  มีการจัดการข่าว ทำงานหนักขึ้น  คุณก็จะได้พื้นที่การนำเสนอเพิ่มขึ้น”  ( ธนพล อิ๋วสกุล ; บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันสัมภาษณ์ 24 กรกฎาคม 2549) และ”อยากบอกว่า  ปัญหาใหญ่ที่หนังสือพิมพ์ไทยยังไม่ยอมรับตัวเองก็คือ  เรื่องความเป็นมืออาชีพของเขาในการทำข่าว เขาต้องมีการตรวจสอบข่าวมากกว่านี้  อบรมนักข่าวมากกว่านี้...บ้านเรามีปัญหาหลายอย่าง เช่น การพาดหัวที่เกินจริง ไม่ว่าหัวสีหรือหัวไม่สี  อีกอย่างคือ  ต้องให้นักข่าวกลับมาเขียนข่าวในออฟฟิศ  ไม่ใช่ส่งข่าวทางโทรศัพท์  คือนักข่าวต้องรับผิดชอบ  การเขียนคือทักษะการสื่อสารที่สูงสุด  มันต้องฝึก” ( ศิลป์ฟ้า ตันสราวุธ ; ผู้แทนองค์กร Inter News สัมภาษณ์ 8 สิงหาคม 2549) หรืออาจจะเป็นปัญหาอย่างที่ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี  นักข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น (สัมภาษณ์ 21 สิงหาคม 2549 ) สรุปว่า “วิกฤตเศรษฐกิจทำให้สื่อลดทอนพลังลงไปเยอะ...ในปีสองปีที่ผ่านมา  การทุ่มเทของสื่อในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเอาจริงเอาจังลดน้อยลงมาก  สื่ออาวุโสในวงการอาจจะล้มหายตายจากไปก็ได้” 
            เมื่อเป็นเช่นนี้  ข่าวเชิงสืบสวนซึ่งมีความยากในการได้มาซึ่งข้อมูลและความเข้าใจในข้อมูลและแง่มุมการนำเสนอ  จึงยิ่งเรียกร้องคุณภาพขั้นสูงจากตัวนักข่าว  อย่างชนิดคั้นหัวกะทิกันเลยทีเดียว  ซึ่งหากว่าองค์กรหนังสือพิมพ์ ไม่มีปณิธาน ไม่มีนโยบายการเสนอข่าวเชิงคุณภาพเสียแล้ว ก็จะไม่มีระบบสนับสนุน หรือสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นักข่าวอยากจะรายงานข่าวด้วยกระบวนการเจาะลึกได้เลย  ดังที่  ภัทระ คำพิทักษ์ เอ่ยว่า “การจัดการของวิชาชีพนี้มันตอบสนองโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไปไม่ทัน”


นโยบายกองบรรณาธิการและหนังสือพิมพ์
            นอกเหนือไปจากเหตุผลเรื่องข่าวเชิงสืบสวนมีความยาก  ต้องใช้เวลามาก  ต้องทำงานเป็นทีม  มีค่าใช้จ่ายสูง  และที่สำคัญคือ มักเป็นข่าวที่ต้องสืบเสาะ  แสวงหาข้อมูลหลักฐานจำนวนมาก  ทั้งเป็นข้อมูลข่าวสารที่แหล่งข่าวไม่ค่อยให้ความร่วมมือ  หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยากปกปิด  เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์ไม่เสนอข่าวเชิงสืบสวนหรือมีน้อย  ก็คือ  ข่าวสารรายวันมีจำนวนมาก หนังสือพิมพ์ต้องแข่งกันในเชิงปริมาณข่าว ไม่อยากตกข่าว นักข่าวที่มีอยู่ต้องติดตามเหตุการณ์รายวัน  ไม่สามารถสูญเสียกำลัง คนไปกับงานข่าวเชิงสืบสวน  เป็นต้น  แต่ทั้งนี้  เหตุผลดังกล่าวย่อมแยกไม่ออกจากปัญหาด้านคุณภาพคนหรือศักยภาพนักข่าว  อย่างที่ ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวาณิชย์  ซึ่งเคยมีบทบาทในสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (สัมภาษณ์ 15 กันยายน 2549) ยืนยันว่า “ปัจจัยเรื่องคุณภาพนักข่าวนี่สำคัญที่สุดนะ  พวก บ.ก.Commitment เชิงสังคมค่อนข้างดี get ประเด็นดี  แต่พอถึงระดับนักข่าว  ยังวิ่งไปวิ่งมาเขียนข่าวตามเหตุการณ์อยู่เลย”
            และแม้ว่าผู้บริหารหนังสือพิมพ์อย่าง เทพชัย หย่อง  แห่งเครือเนชั่น ( สัมภาษณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2549) จะ “สารภาพเลยนะครับว่ายังไม่พอแม้แต่ในเชิงปริมาณ  ทั้งๆที่เมืองไทยมีเรื่องเยอะมาก  ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ไทยมีเสรีภาพมากกว่าสื่ออื่นใดๆที่จะไปตามเจาะขุด  แต่ปรากฏว่าความพยายามนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว  ตามกระแสบ้าง  ความต่อเนื่องไม่มี  และคิดว่ายังไม่เห็นทิศทางระดับนโยบายที่ชัดเจนของสื่อทั้งหลาย”
            ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้ให้สัมภาษณ์หลายท่าน ที่ให้น้ำหนักสูงสุดแก่ปัญหานโยบายกองบรรณาธิการว่า  ขึ้นอยู่กับตัวบรรณาธิการหรือแนวทางหนังสือพิมพ์นั้นว่าเห็นความสำคัญและมีวัฒนธรรมการทำงานข่าวเชิงสืบสวนหรือไม่  นอกจากนี้  หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ยังมีทัศนะในการเสนอข่าวที่เป็นของตัวเอง  ไม่ทำ”ข่าวตาม”หรือไปขุดเจาะสืบสวนในประเด็นที่ฉบับอื่นนำเสนออยู่  ทั้งที่เกือบทุกประเด็นทุกเหตุการณ์ สามารถใช้กระบวนทำงานข่าวเชิงสืบสวนไปขุดคุ้ยเปิดเผยแง่มุมที่ลึกลง และนำไปสู่ประเด็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นได้
            ในหลายกรณี  ตัวนักข่าวเองอาจมีความสนใจหรือพบประเด็น  หรือมีศักยภาพที่จะทำข่าวเชิงสืบสวน แต่ไม่ได้รับโอกาสหรือถูกมอบหมายงานรายวันมากกว่า  บรรณาธิการซึ่งเป็นตัวตัดสินใจในการบริหารข่าวและการใช้เงินเพื่อการทำข่าว  จะเป็นผู้กำหนดทิศทางข่าว  โดยการอ่านอารมณ์ของสังคมและหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น  ดังนั้นทิศทางข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจึงอาจขึ้นอยู่กับทัศนคติและความสนใจของบรรณาธิการด้วยไม่มากก็น้อย  เพราะบางทีนโยบายจากฝ่ายบริหารอาจไม่ใช่อุปสรรคเลย  หากแต่”เป็นการบริหารความสำคัญของข่าวมากกว่า  คือไม่ใช่ฝีมือในการเจาะข่าว แต่เป็นความ สามารถในการบริหาร  การจัดสรรเวลาของตัวผู้บริหารข่าว  เวลาพูดถึงข่าวสืบสวน  ไม่อยากให้มองแค่ฝ่ายปฏิบัติคือนักข่าวเป็นหลักต้องมองระดับนโยบายว่าเขาบริหารอย่างไรให้ความสำคัญแค่ไหน  เพื่อให้การทำข่าวมีทรัพยากรและเวลาไปในการทำข่าวสืบสวน “
            เทพชัย หย่อง ยังยืนยันว่า “อันดับแรกผมคิดว่าเรื่องเงินงบประมาณ  ไม่ควรจะเป็นข้ออ้างของสื่อ  เพราะผมคิดว่ามันไม่ได้ใช้เงินมากขนาดนั้นผมว่าสื่อได้หมดเงินไปกับเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าการทำข่าวสืบสวนมาก  แล้วผมคิดว่าสื่อใหญ่ๆที่มีกำไรปีละเยอะๆ หรือสื่อหลักๆทั้งหลายก็มีกำไรพอ สมควร  เพราะฉะนั้น  ผมยืนยันว่ามันเป็นการจัดลำดับให้ความสำคัญมากกว่า  เพราะบางทีเราต้องยอม รับว่ามันโดนกระแสข่าวรายวันพาไป  ข่าวสืบสวนมันกลายเป็นเรื่องรอง” 
            ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์  มือข่าวเจาะอาวุโสได้ให้ความเห็นตรงกันในประเด็นนี้ว่า “ผมบอกได้เลยนะพวกหนังสือพิมพ์ชั้นแนวหน้าไม่ได้มีปัญหาเรื่องทุนในการทำ  แต่ปัญหาคือกระบวนวิธีคิด  ตั้งแต่ผล กระทบต่อธุรกิจ การจัดการในกองบก.  เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาใหญ่”
            นโยบายกองบรรณาธิการยังนำมาซึ่งการเกิดบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นักข่าวมีความสนใจและได้ฝึกฝนทำงานข่าวเจาะ  ดูได้จากกรณีหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้ชื่อว่า นำเสนอข่าวเชิงสืบสวนในประเด็นความไม่โปร่งใสต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน  จนได้ รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมอยู่เนืองๆ  ซึ่งพบว่าในกองบรรณาธิการ มีนักข่าวอาวุโสหลาย คนที่มีนิสัยการทำข่าวเชิงสืบ   บางคนเป็นวิทยากรฝึกอบรมงานข่าวเชิงสืบสวนให้นักข่าวใหม่  ในนามสมาคมนักข่าวฯ อีกด้วย   ข่าวสืบสวนหลายเรื่องจึงถูกจุดความสนใจขึ้นจากนักข่าวอาวุโสเหล่านี้  เช่น  กรณีการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบบนเกาะสมุย  ซึ่งก็จะมีการนำเสนอประเด็นและขอบข่ายข้อมูล  แหล่งข่าวและแผนการรายงานข่าวแก่ที่ประชุม  มีการ defend ข่าวเสมือนหนึ่งการเสนอหัวข้องานวิจัย  ซึ่งเมื่อบรรณาธิการเห็นชอบแล้วก็จะให้การสนับสนุนด้านเวลา  โดยให้นักข่าวเจ้าของประเด็นเกาะติดเรื่องนั้นและให้นักข่าวในพื้นที่คอยสนับสนุน  ด้วยบรรยากาศเช่นนี้  ย่อมทำให้นักข่าวอื่นๆได้เรียนรู้  ถึงคุณค่าความสำคัญของงานข่าวประเภทนี้  ตลอดจนได้ฝึกฝนด้านเทคนิควิธีการจากประสบการณ์ของรุ่นพี่  และยิ่งผลงานข่าวได้รับการกล่าวถึงหรือถึงขั้นได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยม  แรงบันดาลใจและการสั่งสมวัฒนธรรมการทำข่าวสืบสวนจึงเกิดขึ้น
            อย่างไรก็ดี  มีข้อน่าสังเกตว่า  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเป็นหนังสือพิมพ์ราย 3 วัน  ซึ่งอาจเป็นปัจจัยด้านที่เป็นคุณ  คือทำให้ไม่มีภาระกับงานข่าวรายวันมากเกินไป  มีเวลาติดตามประเด็นอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสการสะสมข้อมูล  วางแผนการนำเสนอ ได้มากกว่าหนังสือพิมพ์รายวัน
 

อำนาจคุกคามและธุรกิจการตลาด
            ถ้าพิเคราะห์จากความในใจของ เทพชัย หย่อง ที่ว่า “ 5 ปีของยุคทักษิณ  การเมืองเลวร้ายมากสื่อมวลชนก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการตรวจสอบทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ”    ก็จะเห็นถึง 2 ด้านของเรื่องดังกล่าวคือ  ปัญหาของการเมือง  กับ ปัญหาของสื่อมวลชน
            ในส่วนการเมือง  แก่นกลางของปัญหาอยู่ที่อำนาจการเมืองกับอำนาจธุรกิจ  ได้ผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในโครงสร้างของรัฐ   และผูกขาดชะตากรรมประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  “และเพื่อจะผูกขาด  ก็จะต้องผูกขาดเรื่องข้อมูลด้วย  เพราะฉะนั้นจะเห็นได้เลยว่าในยุคของธุรกิจการเมืองที่ผูกขาดข้อมูลข่าวสารมันเอียงข้างหรือเชื่อถือไม่ได้”  (ปรีดา เตียสุวรรณ; นักธุรกิจ สัมภาษณ์ 21สิงหาคม 2549) ข้อเท็จจริงนี้ประจักษ์แจ้งแก่ผู้รับข่าวสารระดับคุณภาพ  และ แก่ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชน  นับตั้งแต่การชี้นำข่าวจากผู้นำรัฐบาลในหลายกรณี  เช่น การกินไก่โชว์เพื่อเป็นข่าวกลบเกลื่อนความรุนแรงเรื่องไข้หวัดนก  การสร้างข่าวลวงเรื่องซื้อทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล ในคราวรัฐมนตรีถูกซักฟอกเรื่องทุจริต  ตลอดจนการใช้สื่อวิทยุ ในการตอบโต้แก้ต่างของผู้นำรัฐบาลชุดก่อน  ซึ่งเป็นการแทรกแซง ชี้นำสื่อ ที่อาจมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมและประชาชนทั่วไปไม่สามารถจะรู้เท่าทัน  ไปจนถึงการควบคุม  แทรกแซงด้วยอำนาจ  ความรุนแรงและวิธีการทางธุรกิจ อาทิ  การฟ้องหมิ่นประมาทนักหนังสือพิมพ์  การใช้อำนาจทางลับกดดันให้ยุติการเสนอข่าว  การยกเลิกโฆษณาของเครือข่ายธุรกิจ  ไปจนถึงการก่อม็อบข่มขู่องค์กรหนังสือพิมพ์  และสุดท้ายคือการสร้าง  ”สื่อเทียม”ของขุมข่ายการ เมือง ทั้งที่เป็นหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ขึ้นมาสร้างความสับสนขัดแย้งแก่วงการสื่อและประชาชน
            รายงาน”สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในรอบปี 2546 “ที่ศึกษารวบรวมโดย ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล และคณะ  กล่าวถึงการแทรกแซงแบบทับซ้อนและเบ็ดเสร็จ  ว่า  มีทั้ง

1)  การแทรกแซงเชิงโครงสร้าง  ซึ่งได้แก่  การเข้าซื้อหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน  โดยเครือข่ายธุรกิจที่โยงใยกับรัฐบาล ทั้งที่ซื้อผ่านระบบตลาดหุ้นและที่ใช้อำนาจกดดัน หรือผ่าน”นอมินี” ดังเช่นกลุ่มชินคอร์ป  ในไอทีวี  กลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจในเครือเนชั่น  และกลุ่มจิราธิวัฒน์ในเครือบางกอกโพสต์  และกรณี บมจ.แกรมมี่ ต้องการซื้อหุ้นใหญ่ ( take over ) เครือหนังสือพิมพ์มติชน  เป็นต้น  อันอาจมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์
            นอกจากนี้  มีการทำให้กลไกแห่งสิทธิเสรีภาพด้านข่าวสาร ด้อยประสิทธิภาพหรือไม่บังเกิดผลเช่น  ความล่าช้าของการปฏิรูปสื่อตามมาตรา 40,41  ความไม่มีประสิทธิภาพของ พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ
2)   การแทรกแซงเชิงเนื้อหา  เป็นผลโดยตรงมาจากการแทรกแซงเชิงโครงสร้าง  รวมถึงการต่อรองกดดันด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจโฆษณา เช่น การข่มขู่ถอนหน้าโฆษณาเพื่อแลกกับการยุติการเสนอข่าว การแทรกแซงผ่านฝ่ายบริหารให้ปลดนักหนังสือพิมพ์บางคน ย่อมนำมาซึ่งการ”เซนเซอร์ตัวเอง” หรือการเลือกที่จะเสนอหรือไม่เสนอข่าวที่อาจมีผลกระทบต่อรายได้และความมั่นคง   ทั้งนี้  ย่อมรวมถึงการชี้นำข่าวด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น
3)   การแทรกแซงผ่านความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม  ซึ่งรายงานนี้เห็นว่าเป็นส่วนที่ได้รับการตระหนักถึงน้อยที่สุด  เพราะผลจากการควบคุม แทรกแซง ย่อมทำให้เกิดการยอมรับหรือจำนน  จนนำมาซึ่งถ้อยคำว่า ”สื่อมวลชนเป็นธุรกิจต้องอยู่รอด”  มีผลกัดกร่อนอุดมการณ์ทางวิชาชีพไม่มากก็น้อย 
            ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล  ให้สัมภาษณ์แก่โครงการวิจัย วันที่ 7 สิงหาคม 2549  โดยชี้ให้เห็นความรุนแรงอีกแบบหนึ่ง ที่เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงการเมืองแบ่งฝ่ายของห้วงเวลาการขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรว่าเนื่องจากบรรยากาศการเมืองแบบเลือกข้าง และการแสดงจุดยืนเลือกข้างของหนังสือพิมพ์บางฉบับ ที่ทำให้คนอ่านหนังสือพิมพ์ต้องเลือกข้าง  อาจนำมาซึ่งสถานการณ์การใช้สื่อเป็นเครื่องมือแบ่งฝ่าย  ที่นำไป สู่การปะทะกันระหว่างอุดมการณ์  เหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นในยุครัฐบาลเผ่า ศรียานนท์  และยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  จนถึง 6 ตุลาคม 2519
            กล่าวสำหรับปัจจัยที่เป็นปัญหาของหนังสือพิมพ์  คือการที่หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยต้องอาศัยรายได้ 2 ใน 3 จากค่าโฆษณานี้เอง  ที่ทำให้เกิดความอ่อนแอและอ่อนไหวต่อเม็ดเงินเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่อำนาจรัฐที่ผนวกอำนาจทุน  ใช้กลอุบายด้านงบประมาณทั้งจากรัฐวิสาหกิจ กระทรวงทบวงกรม จัดซื้อสื่อซื้อหน้าโฆษณาหรือว่าจ้างทำการประชาสัมพันธ์  กล่าวกันว่า  หนังสือพิมพ์บางฉบับพึ่งรายได้จากโฆษณาที่สนับสนุนโดยเครือข่ายอำนาจเหล่านี้ถึง 70%
            ในขณะที่  ประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์  เห็นว่าปัญหานี้มีความแตกต่างกันในแต่ละองค์กร  "เช่น ไทยรัฐ ไม่น่ามีปัญหาเรื่องการต่อรองกับผู้ สนับสนุน  เพราะเขามีโฆษณาเยอะมาก  แต่ว่าองค์กรขนาดกลางอย่างมติชนก็ดี เนชั่นก็ดี หรือโพสต์ด้วย  น่าจะมีผลอยู่พอสมควร  อย่างล่าสุดเรื่องพืชสวนโลก  พอไปเล่นหนักๆเข้าเรื่องความไม่พร้อม  ความไม่ชอบมาพากล  มันมีโฆษณาอยู่เยอะ  มีสิทธิถูกถอด  อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของฝ่ายบริหาร  ถ้าเขาไม่มั่นคง  มีผลกระทบต่อกองบก.แน่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณเตือน หรืออย่างตอนที่กิจการโทรคมนาคมเฟื่องฟู ชินคอร์ป AIS เป็นเจ้าใหญ่อยู่  ผมว่าสื่อก็ต้องเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง  ความระมัดระวังเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสื่ออยู่แล้ว  แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากขึ้นหรือเปล่า... หรือตอนนี้ เราต้องยอมรับว่าองค์กรที่มีอิทธิพลสูงมากกับเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่จุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคหรือการกุศล  คือ  สำนักงานสลากกินแบ่ง  ที่มีเงินมหาศาลเป็นหมื่นๆล้าน  โดยที่ไม่ต้องผ่านวิธีการทางงบประมาณ  นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้สับสน  หนังสือพิมพ์อาจจะคิดว่าดี  ไม่ใช่การทุจริต  เวลาหนังสือพิมพ์มีกิจกรรมอะไรเขาก็มีส่วนสนับสนุน”
            ในส่วนขององค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์  ซึ่งมีการรวมตัวเป็นสมาคม สภาการ  สถาบันและชมรมต่างๆ  ดูเหมือนจะมีบทบาทปกป้องนักข่าวและองค์กรหนังสือพิมพ์จากปัญหาเหล่านี้ได้ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะหลายคนที่ทำหน้าที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพ  ไม่ได้มีอำนาจอยู่ในฝ่ายบริหารระดับสูงของหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ดี กล่าวได้ว่ายุคที่ผ่านมานี้ มีการรวมตัวของสื่อมวลชนโดย เฉพาะนักหนังสือพิมพ์  ในการแสดงจุดยืนต่อต้านการแทรกแซงครอบงำจากอำนาจรัฐ  อำนาจการเมืองตลอดจนการส่งสัญญาณเตือน การเสนอข้อเรียกร้องต่อสังคม และการตรวจสอบกันเอง มากที่สุดกว่าประวัติศาสตร์ครั้งใด ดังเห็นได้จากแถลงการณ์ร่วม  ต่อกรณีนักข่าวไอทีวีถูกปลดจากการเสนอข่าวเหตุการณ์ภาคใต้  กรณีการ take over   มติชน  กรณีปิดวิทยุชุมชน  กรณีม็อบคุกคามนสพ.คมชัดลึก  เป็นต้น  ไปจนถึงกิจกรรมเชิงสังคม  อย่างเวทีเสวนา  อภิปราย  การจัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพนักข่าวและการจัดตั้งกลไกใหม่ๆอย่างศูนย์ข่าวอิศรา  สถาบันข่าว  โดยหวังจะเป็นพลังในการเสริมความเข้มแข็งของวิชาชีพและเป็นการปฏิรูปสื่อด้วยตนเองอย่างเป็นปฏิบัติการ  
            อย่างไรก็ตาม  โครงการวิจัยนี้มีความเห็นว่า  บทบาทความเคลื่อนไหวเชิงสังคมที่ผ่านมาขององค์กรวิชาชีพ  ไม่ได้มีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายภายในขององค์กรหนังสือพิม  หรือไม่มีผลต่อการเสริมสร้างวัฒนธรรมการรายงานข่าวเชิงสืบสวน  อันเนื่องจากปัจจัยอุปสรรคที่พัวพันจนไม่อาจแก้ไขได้โดยง่ายประการหนึ่ง  กับอีกประการหนึ่งคือ  บทบาทความเคลื่อนไหวของสมาคมวิชาชีพหนังสือพิมพ์  มีความมุ่งเน้นในทางสื่อสารกับสังคมเพื่อภาพลักษณ์เสียมากกว่า
 
ผู้รับข่าวสารและสังคม
            ถ้าเราเชื่อในคำกล่าวที่ว่า ”สื่อสะท้อนสังคม-สังคมสะท้อนสื่อ” ก็จำเป็นต้องมองให้เห็นถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรค  ด้านคุณภาพและพฤติกรรมของผู้รับข่าวสาร  รวมถึงความต้องการในเชิงสังคมด้วย (demand)
            ซึ่งจากการสัมภาษณ์เชิงลึก นักหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า  ข่าวเชิงสืบสวนเป็น hard news หรือข่าวที่ทำยากอ่านยาก มีผู้อ่านจำนวนไม่มากที่ต้องการอ่าน เพราะสังคมบริโภคปัจจุบันผู้คนต้องการเสพข่าวสารแต่เพียงสั้นๆฉับไว  อย่างที่โทรทัศน์-วิทยุ  นำเสนอในลักษณะการเล่าข่าว  ทำให้ความจำเป็นในการอ่านยิ่งน้อยลง สอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าคนไทยอ่านหนังสือและข่าวสารน้อยมาก  เมื่อเทียบกับอัตราผู้รู้หนังสือ  หรืออย่างที่ สายศิริ ด่านวัฒนะ  วิเคราะห์ไว้รายงานวิทยานิพนธ์ว่า เทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว และ”สังคมผิวเผิน” ทำให้ข่าวสืบสวน”หมดเสน่ห์ลง”   แต่ขณะเดียวกัน นักหนังสือ พิมพ์อาวุโสอย่าง แสงจันทร์ สีดำ  กลับบอกว่า” คนต้องการ investigative ข่าวทั่วไปวิทยุโทรทัศน์มันตอบคำถามให้แล้ว หนังสือพิมพ์ต้องทำข่าวแบบนี้”  ซึ่งทางฟากของนักวิชาการ  ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ  ก็บอกเช่นกันว่า”ผมว่าไม่ใช่  ความเร็วของการรู้สถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบัน  แต่ไม่ได้หมายความว่า เทคโนโลยีจะทำให้ข่าวเชิงสืบสวนมีคนอ่านน้อยลง  ถ้าตราบใดที่สื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ยังให้ความสำคัญกับมัน  เพราะว่าทีวีก็เอาข่าวหนังสือพิมพ์ไปอ่านอยู่ดี”  เช่นกันกับ ผศ.มาลี บุญศิริพันธุ์ ที่บอกว่า “จะอ่านไม่อ่านไม่ใช่เรื่องของนักข่าว หน้าที่ของคุณคือทำอย่างไรให้เขาอ่าน  ยกเขาขึ้นมา”
            นักหนังสือพิมพ์มืออาชีพอีกส่วนหนึ่ง อย่างสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี  เห็นว่า “สังคมไทยให้คำจำกัดความเรื่องข่าวเจาะไปในมุมที่แคบมาก  มองแต่ปัญหาการคอรัปชั่น  แต่ว่าเรื่องอย่างข่าวสารพิษคลองเตยระเบิด มันเกี่ยวกับชีวิตคนเยอะแยะ... อันนี้มันมี implication มากกว่า  เป็นอีกมิติของเรื่องคอรัปชั่น  “ โดยนัยนี้ก็คือ  ข่าวเชิงสืบสวนสามารถหยิบยกประเด็นชีวิต  สีสันผู้คนหรือประเด็นทางวัฒนธรรม  สิ่งแวดล้อม  มานำเสนออย่างเจาะลึกรอบด้านให้น่าสนใจได้  ดังตัวอย่างที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเสนอข่าวเปิดโปงกรณีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ  ผ่าตัดไตคนไข้ไปขายแก่ผู้ป่วยรายอื่น ซึ่งเป็นข่าวที่ใช้กระบวนการทำงานแบบข่าวสืบสวนอย่างเห็นได้ชัด ให้อารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่าน  และเกิดผลกระทบทางสังคม ในทางทำให้เกิดการตรวจสอบ  เพิกถอนใบอนุญาตแพทย์  จนนำไปสู่ความตื่นตัวเรื่องการพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย เป็นต้น
            ดังนั้น  เมื่อมองจากมุมผู้รับข่าวสาร ซึ่งมีลักษณะ brand loyalty คือเลือกอ่านหรือซื้อหนังสือพิมพ์ในลักษณะลูกค้าประจำอยู่แล้ว  และในหลายข่าวหลายกรณี  ผู้อ่านก็อาจจะไม่รู้เลยว่ากำลังติดตามอ่านข่าวเชิงสืบสวนอยู่  จึงเป็นข้อคิดว่า  ข่าวสืบสวนที่มีผู้ต้องการอ่านนั้น  อาจมาจากองค์ประกอบด้านวิธีการนำเสนอ  ความสามารถในการคลี่คลายประเด็นและการรู้จักค้นหาตัวละครมาทำให้ข่าวนั้นมี”ชีวิต”ขึ้นมาก็เป็นได้   เพราะถึงที่สุดแล้ว คนอ่านหรือตลาดก็เป็นผู้เลือกสื่อที่เหมาะสมกับเขาเอง คนที่เลือกอ่านหนังสือ พิมพ์ไทยรัฐ  ย่อมจะเป็นคนละกลุ่มกับคนที่เลือกอ่าน หนังสือพิมพ์มติชน  หรือกรุงเทพธุรกิจ  หรือผู้จัดการ
            ปัจจุบัน  กระแสความสนใจข่าวสารในสังคมไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อันเนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เข้มข้น ก็ปรากฏให้เห็นเป็นความเปลี่ยนแปลงในสถานีโทรทัศน์หลายช่อง  ที่หันมาปรับปรุงรายการ”เล่าข่าว”จากหน้าหนังสือพิมพ์  ไปสู่การสร้างทีมผลิตข่าวเอง  แม้แต่สถานีโทรทัศน์ที่เคยเน้นรายการประเภทบันเทิง อย่างช่อง 3 ก็หันมาประกาศความเป็นเป็นสถานีข่าว  โดยอ้างว่าให้เวลาข่าว 50% ของเวลาออกอากาศทั้งหมด  ขณะที่ช่อง 9 หันมาร่วมมือกับเครือเนชั่น  เพื่อผลิตรายการข่าวชิงส่วนแบ่งการตลาดด้านข่าวสารกับช่องอื่นๆ  รวมทั้งไอทีวีที่ปรับผังรายการชูจุดขายข่าวที่เจาะลึกกับคนข่าวมืออาชีพ  ปรากฏการณ์นี้ อาจเป็นผลกระทบต่อสื่อหนังสือพิมพ์  ให้ต้องปรับตัวในการแข่งขันข้ามสื่อ  ไปสู่การเสนอเนื้อหาและคุณภาพที่แตกต่าง  นอกเหนือไปจากผลกระทบจากสื่อใหม่ประเภท on line ที่แม้แต่ Rupert Murdoch เจ้าพ่อวงการหนังสือพิมพ์โลก  ยังต้องออกมายอมรับว่า  สิ่งเหล่านี้มีผลถึงขั้นเปลี่ยนหนังสือพิมพ์ เพราะไม่เพียงจำนวนผู้อ่านที่ลดลงทุกปี  แต่สื่อ on line ยังหันมานำเสนอข่าวเจาะลึกเชิงสืบสวนด้วย  
            ในอีกด้านหนึ่ง  สำหรับหนังสือพิมพ์ที่มีการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวน บางครั้งก็พบว่าไม่สามารถเจาะลึกขุดค้น หรือรักษาข่าวสืบสวนนั้นไว้ในกระแสความสนใจได้  เนื่องจากไม่มีปฏิกิริยาจากสังคม หรือไม่มีองค์กรทางสังคมออกมาเคลื่อนไหวขานรับ  อันจะช่วยให้หนังสือพิมพ์มีแหล่ง ข่าวบุคคลและประเด็นนำเสนอต่อเนื่องได้  ข่าวสืบสวนหลายข่าวจึงต้องหลีกทางให้แก่ข่าวรายวันไปในที่สุด  ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่า  นักหนังสือพิมพ์หลายคนมักหยิบยกตัวอย่าง  กรณีทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุข  ที่มีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น 30 องค์กร  นำโดยนางรสนา โตสิตระกูล  ออกมามีส่วนร่วมในการจัดเวทีอภิปราย  แถลงการณ์ข้อเรียกร้อง  การฟ้องร้อง ปปช. เป็นต้น  ทำให้กระบวนการข่าวสืบสวนสามารถเดินไปได้เป็นเวลากว่าปี จนถึงที่สุดของข่าว คือการเอาคนผิดมาลงโทษ  ต่อเนื่องไปจนถึงประเด็นคุณภาพยาและหลักประกันสุขภาพ   ซึ่งจากจุดยืนของนักข่าว  ปัจจัยความตื่นตัวของผู้รับสารและปฏิบัติการจากภาคสังคมเช่นนี้ ไม่แต่เพียงเป็นกำลังใจในการทำงานหนักต่อไปของนักข่าวเท่านั้น  หากแต่เป็นตัวแปรสำคัญของข่าวสืบสวนที่ดี 
            ต่อปัญหานี้  คงปฏิเสธไม่ได้ว่า  ผู้รับข่าวสารในสังคมไทยจัดอยู่ในประเภท passive audience  ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนเกี่ยวเนื่องกับมิติทางวัฒนธรรม  การศึกษา สำนึกพลเมือง  รวมถึงการเมืองที่ไม่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพอีกด้วย

 

ระบบสนับสนุน
            ในที่นี้หมายถึง ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกองค์กรหนังสือพิมพ์ นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องคุณภาพนักข่าว  นโยบายกองบรรณาธิการ อำนาจคุกคาม  และผู้รับสาร  ดังที่กล่าวมาข้างต้น  เช่นที่ สายศิริ ด่านวัฒนะ  ให้ความเห็นว่า “ในความยากของเขาทั้งหมดทั้งปวง  มันคือเรื่องข้อมูล ความยากไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาไม่อยากทำ  แต่สิ่งที่เจอคือความยากในเนื้องาน ในเรื่องการหาข้อมูลนี่แหละ เป็นอุปสรรคอันดับแรกๆที่นอกเหนือจากไม่มีเวลาไม่มีความรู้” 
            ที่ผ่านมา  นักข่าวที่สนใจหรือพบประเด็นข่าวสืบสวน  มักจะต้องใช้ความพยายามสืบค้นข้อมูลหลักฐานเอาเอง  ยิ่งหากบรรณาธิการไม่มีนโยบายให้ทำ  นักข่าวอาจต้องทำงานหนักเป็นหลายเท่า คือทำงานข่าวรายวันด้วย  ติดตามประเด็นข่าวสืบสวนในความสนใจของตัวเองไปด้วย  ซึ่งหากเป็นประเด็นที่มีความยากเกี่ยวพันกับกฎหมายหรือเทคนิคต่างๆ โดยนักข่าวไม่มีความรู้ หรือไม่รู้จะไปหาความรู้จากไหน  ก็อาจทิ้งประเด็นข่าวสืบสวนไปกลางคัน  และแม้จากการสัมภาษณ์พบว่า องค์กรหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีระบบข้อมูลหรือห้องสมุด   แต่เนื่องจากประเด็นข่าวสืบสวนมักมีแง่มุมที่ซับซ้อน  เช่น  กรณีการขายหุ้นด้วยวิธีการนอกตลาดหุ้นและการตั้งบริษัทตัวแทนในการซื้อกิจการแบบไม่เสียภาษี  นักข่าวอาจต้องการผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ  แต่ในทางเป็นจริง  นักข่าวรุ่นใหม่ หรือแม้แต่รุ่นกลาง ก็อาจไม่มีสายสัมพันธ์กับแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเพียงพอ หรือในกระบวนการสืบเสาะหาข้อมูล ก็อาจพบการปกปิด ไม่ร่วมมือ หรือแม้แต่ถูกข่มขู่คุกคาม  และที่สำคัญคือ  ในท่ามกลางอุปสรรคเหล่านี้  อะไรคือแรงจูงใจที่นักข่าวคนหนึ่งอยากทำหน้าที่ขุดคุ้ยทำความจริงให้ปรากฏ ?
            หรือแม้แต่ในระดับท้องถิ่น  ซึ่ง stinger หรือผู้สื่อข่าวอิสระ นักข่าวส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น  ที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนและแหล่งข้อมูลใกล้ชิด  มองเห็นประเด็นปัญหาในพื้นที่ที่อาจเป็นข่าวเชิงสืบสวนระดับชาติได้  แต่อิทธิพลท้องถิ่นก็ดี  การขาดข้อมูลความรู้ก็ดี  อย่างที่ ประสาน สุขใส บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ (สัมภาษณ์10 กรกฎาคม 2549) เปิดใจว่า “ นักข่าวท้องถิ่นหลายคนมีศักยภาพที่จะทำข่าวเจาะ  แต่เขาไม่มั่นใจ  หนึ่ง- ต้องเสียงาน routine ที่ต้องทำแข่งกับเวลา  บางคนไม่จบ ป.ตรี  แต่ทำงานมา 10-20 ปี  มีข้อมูลเยอะ  แหล่งข่าวเยอะ  แต่พวกนี้โดยวิถีชีวิตของเขาแต่ละวัน  ต้องทำงานไม่น้อยกว่า 2-3 ชิ้น ส่งสื่อใหญ่  ไม่งั้นอยู่ไม่ได้  บางคนต้องทำวิทยุด้วย เคเบิ้ลด้วย  ปัจจุบัน รางวัลของสมาคม เป็น routine ผมได้รางวัลยอดเยี่ยมรางวัลชมเชยมากี่ทีแล้ว  เงินมันนิดเดียว  ถ้าคิดในแง่การลงทุนนะไม่มีใครทำหรอก  เขาทำเอาเกียรติยศคุณค่าทางใจ แล้วกรุงเทพฯได้ 5 หมื่น ต่างจังหวัดได้ 3 หมื่นตัวอย่างข่าวกล้ายางของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ  ลงทุนไปเท่าไหร่  ถ้ามองในแง่ระบบสนับสนุนมันไม่ได้ผลหรอก”  นอกจากนี้ ประสานเล่าถึงประเด็นข่าวหลายเรื่องที่หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้กำลังติดตามอยู่ และชี้ว่า “ ผมเคยคุยกับเพื่อนในหนังสือพิมพ์ส่วน กลาง  เรามีข้อมูลเรื่องนี้ให้คุณ  ช่วยตามหน่อย  เราไม่แข่งกัน เพราะขายคนละจุดกัน แต่ที่ผ่านมามันไม่เกิดมรรคผล เพราะมันไม่ใช่นโยบายของหนังสือพิมพ์  มันเป็น connection เป็นความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน  แต่ถ้าเป็นนโยบาย  ก็จะมีระบบมีช่องทางและสะพานเชื่อมกันให้ชัด  มีการสั่งการนักข่าวเลย  มีการ co. กันจริงๆ...ผมว่าเราจะเจอเรื่องดีๆที่ทำร่วมกันระหว่างหนังสือ พิมพ์ท้องถิ่นกับหนังสือพิมพ์ระดับชาติได้”
            กล่าวโดยสรุปคือ  ปัญหาและอุปสรรคของการทำงานข่าวสืบสวนนั้น  มีตั้งแต่เรื่องของตัวบุคคลศักยภาพของนักข่าว  วัฒนธรรมการทำงานแข่งขัน  ระดับคุณภาพและความเอาใจใส่ต่อการทำงาน  อุดมคติความมุ่งมั่นของนักข่าวเอง  ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจในงานข่าวเชิงสืบสวน  และแยกไม่ออกจากความสำคัญของนโยบายกองบรรณาธิการ  การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน  การมีระบบฝึกฝนหล่อหลอม   ตลอดจนปณิธานความเข้มแข็งขององค์กรหนังสือพิมพ์  ในการเผชิญกับอำนาจคุกคาม และความสามารถในการต่อรองกับธุรกิจการตลาด ในขณะเดียวกัน สังคมจะต้องเรียนรู้ถึงสิทธิการสื่อสาร  การรู้เท่าทันสื่อ  การใช้ระบบสื่อสารสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการทางสังคม  และสุดท้ายคือระบบสนับสนุนทั้งจากภายในและภายนอกระบบสื่อ


       3.2   ข้อวิเคราะห์ต่อทางออกของปัญหา  ( How to solve the problems ? )
               เพื่อจะวิเคราะห์ถึงทางออกต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว โครงการวิจัยนี้ ขออ้างอิงเบื้อง ต้นถึงข้อเสนอแนะบางประการจากรายงานวิจัยของ สายศิริ ด่านวัฒนะ  ในหัวข้อ “การรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย”   ที่ว่า
1.   สมาคมนักข่าวฯ ควรส่งเสริมการทำข่าวเชิงสืบสวนในประเด็นที่หลากหลาย  ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาสังคมให้มากขึ้น  เช่น การจัดประกวดข่าวเชิงสืบสวนในประเด็นการทุจริต  โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ข่าวเชิงสืบสวนในประเด็นการทุจริต กับข่าวเชิงสืบสวนในประเด็นเชิงสังคม  ซึ่งจะทำให้การรับรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ผ่านกิจกรรมการสื่อสารดังกล่าว
2. เผยแพร่และส่งเสริมให้ใช้คำว่า ”ข่าวเชิงสืบสวน” ให้แพร่หลายทั้งในแวดวงวิชาการ สถาบัน การศึกษาและวิชาชีพ
3.  ควรมีการศึกษาถึงขนาดและผลกระทบของปัญหา  เพื่อนำผลการศึกษาเป็นข้อมูลหลักฐาน(evidence)  ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างจริงจัง
4.  องค์กรหนังสือพิมพ์ควรปรับวิธีการบริหารจัดการให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงภายนอก
5.  หนังสือพิมพ์ควรผนึกกำลังกันในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยมีการศึกษา ถึงสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสม
6. สมาคมนักข่าวฯควรผลักดันประเด็นให้เข้าสู่ความสนใจของผู้บริหารองค์กรหนังสือพิมพ์  และเพื่อเพิ่มความหลากหลายในรูปแบบการส่งเสริมสนับสนุน โดยการพัฒนารูปแบบร่วมกันกับองค์กรหนังสือพิมพ์แต่ละแห่ง  และองค์กรวิชาการหรือฝ่ายอื่นๆในสังคม  และควรมีการศึกษารูปแบบการส่งเสริมสนับสนุนในต่างประเทศ  และสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อปรับใช้ในสังคมไทย
7.  การส่งเสริมสนับสนุนการรายงานข่าวเชิงสืบสวน  ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจและเข้าใจง่ายด้วย  นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะในการทำข่าว
            โดยสายศิริ สรุปว่า... ข้อเสนอแนะและความคาดหวังของนักหนังสือพิมพ์รวมทั้งนักวิชาการต่อแนวทางการส่งเสริมสนับสนุน มีทิศทางที่เปิดรับ และแสวงหาการสนับสนุนจากภาคสังคมมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  ต้องเริ่มต้นด้วยความร่วมมือกันของผู้ประกอบการและนักวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นเบื้องต้น  นั่นหมายถึง  การส่งเสริมสนับสนุนจะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือ  ทั้งภายในและภายนอก  อีกทั้งต้องคำนึง ถึงความแตกต่างหลากหลายในแนวทาง  เป้าหมาย  ของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ รูปแบบการส่งเสริมสนับสนุนอาจต้องมีทั้งแบบรวมศูนย์ และแบบเฉพาะ เจาะจง ( segmentation ) สำหรับแต่ละแห่ง   อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า  ทิศทางการพัฒนานั้นต้องมุ่งการพัฒนาอย่างเป็นระบบที่ต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน  และต้องมีการทำงานเชิงวิชาการมากขึ้น  โดยกลไกที่จะดำเนินการ  ควรมีสถานะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมหรือสื่อมวลชนที่เป็นอิสระ 
            ในขณะที่  ชวรงค์  ลิมปัทมปาณี อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ หลายสมัย  ก็มีข้อเสนอในฐานะนักวิชาชีพ โดยมองจาก “บทบาทของสื่อหนังสือพิมพ์ต่อการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น : การวิเคราะห์เนื้อหาจากข่าวประกวดของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล” พ.ศ.2542    ว่า
1.   ภาคส่วนอื่นๆของสังคม  ควรเข้ามาให้การสนับสนุนการประกวดข่าวในลักษณะนี้อย่างจริงจังมากขึ้น  โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายสมาคมวิชาชีพแต่เพียงฝ่ายเดียว
2. ในการผลักดันให้สื่อหนังสือพิมพ์หันมาเสนอข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนมากขึ้นนั้น  ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมไทย  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติและภาคประชาชน  สามารถเข้ามามีส่วนกระตุ้นการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ได้อีกทางหนึ่ง  ดังจะเห็นได้จากในกรณีของการเปิดโปงทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุข และการเปิดโปงการทุจริตงบประมาณ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เป็นต้น
3.  ควรมีการส่งเสริมให้หนังสือพิมพ์ใช้แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อในข่าวที่นำเสนอให้น้อยที่สุด  เพื่อ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับข่าวที่นำเสนอ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาเชิงจริยธรรมอันเนื่องมา จากการใช้แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อนั่นเอง
4. ควรมีการส่งเสริมให้นักข่าวและบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ให้มากขึ้น  โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับแหล่งข่าว  ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมตามมาได้เช่นกัน
5. ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวการเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นหรือการฉ้อ ราษฎร์บังหลวงให้ถึงที่สุด  จนถึงขั้นสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้  ไม่เช่นนั้น  การราย งานข่าวเชิงสืบสวนในประเทศไทย  จะส่งผลกระทบไม่มากต่อการลดหรือแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นในสังคมไทย
            รายงานของชวรงค์  สรุปว่า  การประกวดข่าวยอดเยี่ยม  เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของการส่ง เสริมและสนับสนุนการรายงานข่าวเชิงสืบสวน  ยังมีข้อเสนอแนะอื่นๆ  ที่นำเสนอในการสัมมนาเชิงปฏิบัติ การการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน  ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23-25 มิถุนายน 2542  ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งที่ประชุมอันประกอบด้วยนักข่าวอาชีพ  มีข้อเสนอให้ดำเนินการดังนี้
• การให้ทุนสนับสนุนการทำข่าวเชิงสืบสวนแก่นักข่าวหรือบรรณาธิการ
• การจัดอบรมด้านการทำข่าวเชิงสืบสวนแก่นักข่าวให้สม่ำเสมอ
• การจัดทำคู่มือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการแก่นักข่าว
• การรวมกลุ่มของนักข่าวเชิงสืบสวน  เป็นต้น
            ทั้งหมดที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่า  ทั้งคนในวงการวิชาชีพและคนนอกวงการที่สนใจบทบาทของ สื่อมวลชน ยอมรับถึงปัญหาและจุดอ่อน ที่ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างมีพลังได้  และแม้แต่ตระหนัก ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการผลักดันร่วมมือจากภาคประชาสังคมและภายนอกสื่อรวมถึงการสร้างกลไกให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นจริง  อย่างไรก็ดี  รายงานวิจัยที่อ้างมาข้างต้น ยังมีข้อเสนอที่ให้น้ำหนักแก่แง่มุมของ what to do มากกว่า how to do ซึ่งหมายถึงการศึกษาและค้นหาความเป็นไปได้ของตัวเครื่องมือ  ระบบ  กลไกและองค์กรหรือสถาบันที่จะมีบทบาทต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมา
            โครงการวิจัย  จึงจะขอขยายความในส่วนของข้อวิเคราะห์ต่อทางออกของปัญหา  โดยอาศัยเค้าโครงประเด็นด้านอุปสรรคของการทำงานข่าวเชิงสืบสวน  ในส่วนของ 
• คุณภาพคน-นักข่าว
• นโยบายกองบรรณาธิการ
• ผู้รับข่าวสารและสังคม
• ระบบสนับสนุน
            ทั้งนี้  จะละเว้นในส่วนของปัญหาด้าน “อำนาจคุกคามและธุรกิจการตลาด”  เพราะเป็นประเด็นที่มีขนาดของปัญหากว้างใหญ่ซับซ้อนเกินไป อันจะทำให้ทางออกของเรื่องนี้ มีลักษณะเป็นอุดมคติหรือข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นจริงในที่สุด 

คุณภาพคน-นักข่าว
            สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี  ตอบคำถามโครงการวิจัยที่ว่า”นักข่าวคนหนึ่งจะพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพ และศักยภาพ   ต้องการปัจจัยสนับสนุนอะไรบ้างทั้งจากภายในองค์กรและภายนอก”  ดังนี้
            “เอาจากภายในตัวเองก่อน ผมว่าต้องเริ่มจากการเป็นคนมุ่งมั่นพอสมควรที่จะผลักดัน เรื่องใดเรื่องหนึ่ง  หรือเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญ มีความหมาย... อย่างที่สองคือเขาต้องมีความรู้พอประมาณ หรือรักการเรียนรู้ เพราะการเขียนข่าวให้ดี ก็แปลว่าเราต้องมีความรู้ในการเขียนด้วย  เรื่องบางเรื่องเราอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะคนเขียนไม่รู้เรื่อง  อันนี้ผมว่าเป็นปัญหาของนักข่าวไทยมากนะ เรื่องทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ถอดด้ามหรอก เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความรู้หรือหาความรู้บ้าง แม้แต่เรื่องอาชญากรรม ก็มีpattern ของมัน  หรือกฎหมายก็ควรรู้บ้าง... ทีนี้ในส่วนขององค์กร  มีส่วนสำคัญมากในการช่วยให้นักข่าวดีหรือไม่ดี  ถ้าบรรณาธิการมัวแต่วันนี้มีข่าวอะไรแค่นั้น มันก็จบ  แต่ถ้ามีทิศทางว่าหนังสือพิมพ์ของเราต้องการเปิดโปงเรื่องนี้  อยากให้สังคมรับรู้เรื่องนี้ถึงรากถึงแก่น  บางเรื่องมันยาก บางทีนักข่าวไม่มีความเข้าใจ  บางทีถูกกีดกัน จากเจ้าของเรื่อง จากคนที่เสียผลประโยชน์  นักข่าวก็ไปไม่รอด  อันนี้องค์กรต้องช่วยมากๆ  ช่วย guide ทิศทาง  ช่วย data base … ถ้าสำนักงานมี data base ก็ช่วยได้มาก  แต่แรงผลักดันอันดับหนึ่งต้องมาจากตัวนักข่าว"
            นัยยะสำคัญของคำอธิบายนี้ก็คือ 
1.  ระบบการกลั่นกรองคนเข้าสู่อาชีพขององค์กรหนังสือพิมพ์  แม้ว่าในยุคหลังขององค์กรหนังสือ พิมพ์ จะมีผู้เข้าสู่อาชีพนักข่าวจากหลากหลายสาขาการศึกษา ไม่เฉพาะด้านวารสารศาสตร์-นิเทศศาสตร์ แต่หากองค์กรหนังสือพิมพ์มีระบบการสัมภาษณ์  การคัดกรองบุคคล  หรือให้ความสำคัญกับขั้น ตอนการกลั่นกรองนี้   เช่น  มีคณะกรรมการ  มีการสอบคัดเลือก  หรือมีการทดสอบแนวคิดและจริยธรรม  ความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัว  ก็อาจทำให้องค์กรหนังสือพิมพ์สามารถกลั่นกรองคุณภาพคนที่จะมีผลต่อคุณภาพข่าวได้ในระดับหนึ่ง
2.   เมื่อบุคคลเข้าสู่อาชีพนักข่าวแล้ว  องค์กรหนังสือพิมพ์มีระบบการเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน เช่น การมีพี่เลี้ยงหรือนักข่าวรุ่นพี่ที่ให้คำปรึกษา กำกับดูแลการทำงานให้เกิดการ learning by doing  นอกเหนือไปจากสายบังคับบัญชาของหัวหน้าโต๊ะข่าวหรือบรรณาธิการ   เพราะหากปล่อยให้นักข่าวใหม่ไปเรียนรู้เอง  นอกจากมีผลกระทบต่อคุณภาพผลงานแล้ว  ยังอาจทำให้เกิดการบ่มเพาะนิสัยการทำงานตามความเคยชิน  และไม่อยากเรียนรู้ต่อไป   ระบบพี่เลี้ยง ( mentoring )  ยังอาจช่วยลดภาระแก่บรรณาธิการข่าว  และอาจทำให้เกิดการบ่มเพาะวัฒนธรรมการรายงานข่าวเชิงสืบสวนขึ้นได้
3.   สืบเนื่องจากประเด็นที่ 2  โครงการวิจัยนี้มีข้อสังเกตว่า  องค์กรหนังสือพิมพ์เป็นองค์กรประกอบการที่ให้ความสำคัญกับงาน HR. หรือ Human Resources  ภายในองค์กรเองน้อยมาก  ซึ่งอาจสัมพันธ์กับทัศนคติว่า หนังสือพิมพ์เป็น professional  คืออาชีพของผู้เชี่ยวชาญงานอยู่แล้ว เมื่อพ้นจากยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช / นสพ.สยามรัฐ  จนถึงยุคเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/หนังสือพิมพ์มติชน  และสนธิ ลิ้มทองกุล / นสพ.ผู้จัดการ แล้ว  ภายหลัง 2535 เป็นต้นมา  องค์กรหนังสือพิมพ์ดูเหมือนจะพึ่งพิงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านงานข่าว จากสมาคมนักข่าวฯ เป็นหลัก แต่ทั้งนี้งานพัฒนาบุคลากร  ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะด้านทักษะความรู้ในงานสื่อหนังสือพิมพ์เท่านั้น  หากยังหมายรวมการเสริมสร้างความรอบรู้  ทักษะสากลอย่างภาษา อังกฤษ เป็นต้น  รวมถึงการยกระดับการศึกษาในเชิงคุณวุฒิพิเศษ เช่น กฎหมาย  หรือ  IT.
            อนึ่ง  ในส่วนของหนังสือพิมพ์ที่มีการเสนอข่าวเชิงสืบสวน  ดูเหมือนจะมีพัฒนาการเชิงคุณภาพโดยรวมในแง่ของกระบวนการทำงาน  กลวิธีการนำเสนอ  อย่างที่ ธีรเดช เอี่ยมสำราญ ได้ ตั้งข้อสังเกตว่า  “ผมว่าข่าวสืบสวนในช่วงหลังนี้  มันไม่เหมือนช่วงแรกๆ คือช่วงแรกๆนี่ได้มาวันนี้แล้วเล่นกันวันนี้  พรุ่งนี้ค่อยหาทางเจาะต่อ  แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป  ต้องมีข้อมูล  ต้องเห็นภาพเกือบ 80-90% แล้วค่อยเล่น  อาจจะสลับข้อมูลก่อนหลัง  แล้วก็เสนอไปต่อเนื่อง  เรามีเทคนิควิธีหรือมีการวางแผนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน... ส่วนหนึ่งได้จากตัวประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาเรื่อยๆ  พอเราทำข่าวสืบสวนมาระดับหนึ่ง  เราก็เริ่มรู้ถึงจุดอ่อน  แล้วก็เริ่มทำอะไรเป็นระบบขึ้น  มีองค์ประกอบของข่าวครบมากขึ้น"
            แต่ทั้งนี้  เป็นที่น่าสนใจว่า  พัฒนาการของคุณภาพการทำงานข่าวเชิงสืบสวนนี้  เกิดขึ้นกับองค์กรหนังสือพิมพ์ที่มีนโยบายด้านงานข่าวสืบสวน จึงมีนักข่าวที่มีใจรักงานข่าวสืบสวนอยู่ กับองค์กรเป็นเวลายาวนาน เพียงพอที่จะเกิดการสั่งสมประสบการณ์ความรู้ แต่ทว่าประสบการณ์ความรู้เหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกถอด / สังเคราะห์  หรือบันทึกไว้เป็นบทเรียนของส่วนรวมที่ส่งทอดแก่กันได้


นโยบายกองบรรณาธิการ
            ในความเป็นจริง คุณภาพของตัวนักข่าวแยกไม่ออกจากคุณภาพของบรรณาธิการและ นโยบายกองบรรณาธิการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำงานข่าวเชิงสืบสวน  อย่างที่ บก.อาวุโส  ประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์  บอกว่า “  ก่อนจะเลือกเรื่อง  คือคุณภาพนักข่าวเลยเป็นด่านแรก และคุณภาพนักข่าวอยู่ที่การฝึกฝนของกอง บก.  การฝึกฝนตามธรรมชาติด้วย ... 2. กระบวนการ คือคุณได้รับการสนับสนุนจากกอง บก. หรือเพื่อนๆ  คนเดียวไม่สามารถทำงานเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงานได้  ต้องความเห็นตรงกันทั้งนักข่าวและกอง บก.  ถ้าเรื่องที่ทำเป็นเรื่องสำคัญ  กองบก.ต้องให้ความสนใจสูงกระบวนการจัดการในกองบก.สำคัญมาก  เพราะเราไม่มีโต๊ะข่าว war room เหมือนในอเมริกา  เราไม่มีกองข่าวสืบสวนสอบสวน”
            น่าสนใจว่าบรรยากาศการทำงานอย่างที่ ธีรเดช เอี่ยมสำราญ  นสพ.ประชาชาติธุรกิจ  เล่าให้ฟังนั้น  จะเกิดขึ้นได้อย่างไร “...หัวหน้าข่าวทุกโต๊ะ เรามีประชุมข่าวช่วงบ่ายสองของเกือบทุกวัน ใครมีประเด็น  มีโพยอะไรก็เสนอตูมเลย  นี่ประเด็นเป็นอย่างนี้ๆ เราจะเสนออย่างนี้ๆ  เราก็จะระดมความคิดกันให้ชัดเจนว่าข่าวนี้จะเล่นยังไง step เป็นยังไง  หนึ่ง-สอง-สาม-สี่”
           ข้อวิเคราะห์จากประเด็นปัญหานี้คือ
1.   นโยบายกองบรรณาธิการย่อมมาจากนโยบายฝ่ายบริหารหนังสือพิมพ์  ในกรณีองค์กรหนังสือ
พิมพ์ขนาดใหญ่  บรรณาธิการบริหารหรือบรรณาธิการข่าว  จะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องทิศ ทางข่าว  การนำเสนอในแต่ละวัน  ตลอดจนการบริหารนักข่าวและบริหารงบประมาณการทำงานข่าว  แต่ในกรณีหนังสือพิมพ์ขนาดกลางหรือขนาดเล็ก  ผู้บริหารหนังสือพิมพ์มักเป็นบุคคลเดียว กับบรรณาธิการข่าว  
            ดังนั้น  การผลักดันความสำคัญของข่าวเชิงสืบสวน  จะต้องเริ่มต้นจากโครงสร้างส่วนนี้และบุคลากรระดับนี้   อย่างที่ ขรรค์ชัย บุนปานผู้บริหารระดับสูงของเครือมติชน (สัมภาษณ์ 9 พฤศจิกายน 2549) ให้คำแนะนำว่า “ต้องเอาตัวปฏิบัติเอางานเป็นตัวตั้ง  แล้วอย่าลืมอย่างบทเรียนของศูนย์ข่าวอิศราเอาตัวใหญ่ๆลงไป  อัตตาแตก  บางคนคิดว่าตัวเป็นดาวฤกษ์ ทำอะไรก็ได้ ถูกลดบทบาทเป็นดาวพระเคราะห์  ยุ่งเลย  หารู้ไม่ว่าเป็นดาวฤกษ์เพราะเวทีเพราะที่บางแห่งเท่านั้น  ปัญหาพวกนี้เป็นตัวแปร  บางคนอยู่ใกล้อำนาจพักเดียวเจ๊งเลย  บางคนอยู่ใกล้เงินพักเดียวเจ๊งเลย...ถ้าเริ่มต้นอย่างนี้พี่เห็นด้วย  วางคนให้ถูกแนวถูกลำดับก็แล้วกัน “
2.  การแก้ปัญหานี้เกี่ยวพันกับการจัดโครงสร้างขององค์กรหนังสือพิมพ์และเชื่อมโยงถึงพรบ.การปฏิรูปสื่อ  ก็คือมีความจำเป็นอย่างที่ศิลป์ฟ้า ตันสราวุธ บอกว่า” ถ้าเรามีการแยกนโยบายที่ชัดเจนระหว่างกองบก.กับภาคบริหารจัดการหนังสือพิมพ์  ผมว่าการทำงานจะโปร่งใสและนักข่าวทำงานได้อย่างสบายใจ  แต่บ้านเรา  การบริหารจัดการกับกองบก.มันแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ  บางทีคนที่เป็นจ้าของหนังสือพิมพ์มานั่งในกองบก. มากำหนดทิศทางข่าว  บ้านอื่นไม่เป็นกันนะครับ”   และเนื่องจากองค์กรหนังสือพิมพ์นั้น  เป็นอย่างที่ ภัทระ คำพิทักษ์  ว่า “มันเป็นอาชีพพิเศษ  มันอาศัยการจัดการไปพร้อมๆกับความสำนึกของวิชา ชีพ  จะเอาคนนอกมาบริหารกองบก.เลยก็ไม่ได้ จะเอาคนในกองบก.บางทีมันก็ไม่ช่ำชองเรื่องธุรกิจ... ในมุมมองของผมคิดว่ามันเป็นปัญหา”
3.   ดังนั้น  แม้องค์กรหนังสือพิมพ์จะมีนโยบายหรือเห็นความสำคัญของข่าวสืบสวน  แต่ในทางปฏิบัติ  ก็อาจไม่มีอิสระเต็มที่ในการขุดค้นประเด็นข่าวสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับผู้มีผลประโยชน์  ซึ่งอาจกระทบต่อธุรกิจการตลาด  การแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องอาศัยมาตรการหรือข้อกฎหมายบางอย่าง  อันเกี่ยวกับการร่าง พรบ.ปฏิรูปสื่อในห้วงเวลานี้ด้วย  กล่าวคือ การออกกฎหมายประกอบมาตรา 41 ระบุให้องค์กรหนังสือ พิมพ์ต้องแยกฝ่ายบริหารกับกองบรรณาธิการ  ห้ามเจ้าของแทรกแซงงานวิชาชีพของกองบรรณาธิการ  ห้ามนักการเมืองและ สส.ถือหุ้นในธุรกิจสื่อ  เป็นต้น

ผู้รับข่าวสารและสังคม
            กล่าวได้ว่า  ความเข้มแข็งเติบใหญ่ของกลุ่มภาคประชาสังคม  ที่สร้างปฏิบัติการและความเคลื่อน ไหวในเชิงการตรวจสอบนโยบายสาธารณะ การเรียกร้องสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมือง  การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและการคุ้มครอง  การเสนอทางเลือกในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ฯ  เหล่านี้ล้วนเป็นกระแสความเคลื่อนไหวที่มีตัวเหตุการณ์  มีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำที่สามารถเป็น”ข่าว”ได้ทั้งสิ้น   ดังนั้น  หากประชาชนผู้รับสารและกลุ่มภาคประชาสังคม  มีความเข้าใจถึงธรรมชาติของความเป็นข่าว  และวัฒนธรรมการสื่อข่าวของสื่อมวลชน ก็จะสามารถใช้สื่อเป็น”ช่องทาง” การสื่อสารสาธารณะ  ที่ทำให้สื่อเป็นสมบัติส่วนรวม  เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีข่าวสารของคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างสมดุล อันนำไปสู่การสำนึกของความเป็น   ”เรา” ที่เป็นพื้นฐานสำคัญแก่การแก้ไขปัญหา
            ซึ่งในปัจจุบัน  ก็มีภาคประชาสังคมหลากหลายกลุ่ม  ที่สร้างปฏิบัติการในเชิงของการส่งเสริมการเรียนรู้เท่าทันสื่อ (media literacy)  การรณรงค์ในระดับนโยบายด้านการปฏิรูปสื่อ  (media advocacy) และการผลักดันเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพสื่อ  ตัวอย่างเช่น
• โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ ( Media Monitor )   เป็นโครงการที่ติดตามบทบาทการทำงานของสื่อ
ทั้งโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ โดยนำเสนอเป็นเวทีสาธารณะและเป็นข่าว เช่น  รายงานการโฆษณา
บอลโลกที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมพนันบอล รายงานการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านระบบ SMS. ทางโทรทัศน์  ที่ทำให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล  หรือรายงานปริมาณและคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน  เป็นต้น  นำไปสู่การกระตุ้นสังคมและเวทีระดมความร่วมมือในการแก้ ปัญหาพนันบอล โฆษณาเหล้า  อย่างต่อเนื่องต่อไป
• เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคต่างๆ   ที่นอกจากจะส่งเสริมหรือผลิตสื่อทางเลือกในรูปแบบที่หลาก
หลายทั้งหนังสือพิมพ์ทางเลือก  วิทยุชุมชน  ฯ  ยังมีกิจกรรมที่มุ่งแสวงหาความร่วมมือจากสื่อกระแสหลักเช่น  การให้ข้อมูลข่าวสารอีกด้านหนึ่ง  และการจัดเชิญนักข่าวเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่  ซึ่งมีผลทำให้นักข่าวจำนวนหนึ่งปรับเปลี่ยนทัศนะความเข้าใจ  เข้ามาเป็นพันธมิตรและเปิดพื้นที่นำเรื่องราวไปสื่อสารให้  แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เครือข่ายด้านการสื่อสารภาคประชาสังคมเหล่านี้  พัฒนาทักษะความชำนาญและการขยายเครือข่ายกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ  จนน่าจะมีนัยยะที่ส่งผลในเชิงผลักดันการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสื่อกระแสหลักด้วย
• สถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(สสมท.) เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการด้าน
นิเทศาสตร์-วารสารศาสตร์  ที่แสดงจุดยืนมีส่วนร่วมต่อการปฏิรูปสื่อ  โดยใช้บทบาทนัก วิชาการในการส่งสัญญาณเตือนภัยการคุกคามสื่อ  การผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ มวลชน  การเผยแพร่แนวคิดการตรวจสอบสื่อจากภาคสังคม  เป็นต้น
            ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังขยายตัว  เป็นความตื่นตัวและการตรวจสอบสื่อที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่  ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล  สรุปว่า “ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการปฏิรูปสื่อ  ที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากขึ้น  ซึ่งกระแสนี้มันมาพร้อมกับการจับมือร่วมกันของทั้งสามภาค  ทั้งวิชาการ  ภาคประชาชนที่เป็นผู้บริโภคสื่อ  แล้วก็ภาคนโยบายบางส่วน “
            คำถามสำหรับประเด็นปัญหาและปรากฏการณ์นี้คือ การทำให้กลุ่ม -องค์กรภาคสังคมเหล่านี้ สามารถเชื่อมประสานความร่วมมือและทิศทางการเคลื่อนไหว  ทั้งในเชิงร่วมมือสนับสนุนสื่อคุณภาพ ขณะเดียวกันก็รู้เท่าทัน คัดค้านตรวจสอบสื่อด้อยคุณภาพอย่างมีพลัง เป็น balance factor   ได้อย่างไร ?


ระบบสนับสนุน
            จากการประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับคน องค์กรสื่อและภาคสังคมการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ  จะต้องคำนึงถึงวิธีคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างไปในแต่ละองค์กร  ตลอดจนการปรับแก้จากระดับเล็กๆ นามธรรม  ไปสู่ระดับใหญ่เชิงโครงสร้าง  จนถึงวงล้อมด้านนอกสุดคือ สังคม   ซึ่งโครงการวิจัยขอเสนอข้อวิเคราะห์  ดังนี้
1.  ในส่วนของนักข่าวเชิงสืบสวน  ซึ่งที่ผ่านมาแม้ทางองค์กรวิชาชีพ  คือสถาบันพัฒนาสื่อมวลชน  ในสมาคมนักข่าวฯ  ได้จัดการฝึกอบรมพัฒนาทักษะงานข่าวเชิงสืบสวนโดยตรงมาแล้วหลายรุ่นทั้ง แก่หนังสือพิมพ์ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น  แต่โครงการวิจัยมีความเห็นว่า การฝึกอบรมยังไม่มีจุดเน้นด้านการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องขยายความเข้าใจใหม่ๆ แก่นักข่าวเชิงสืบสวนรุ่นใหม่ในเรื่องดังนี้
• โครงการวิจัยนี้พบว่า  ในการทำข่าวเชิงสืบสวน  มีอยู่ 2 กระบวนการคือ  การเปิดประเด็นจากตัวเหตุการณ์  แล้วขุดเจาะไปเรื่อยๆให้ถึงความเชื่อมโยงและปัญหาเบื้องหลัง  กับวิธีเชิงวิชา การ  คล้ายการตั้งประเด็นงานวิจัยคือ  เริ่มจาก generic issue  ก่อน (ดูรายละเอียดในหัวข้อที่ 7 ภาคผนวก)  ดังที่ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์  ให้ความเห็นพ้องว่า  “ มันทำได้สองแบบ  แต่นักข่าวเคยชินกับการจับปรากฏการณ์มากกว่า  คือรอให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน  แล้วค่อยดูว่าปรากฏการณ์นั้นมีอะไรผิดปกติ  ซึ่งคนอื่นอาจมองไม่เห็น  อย่างเช่นกรณีที่ผมทำมาตลอด ก็เป็นการไปหาสิ่งผิดปกติจากปรากฏการณ์  แล้วไปตามหาหลักฐาน  แต่อย่างที่งานวิจัยบอก  มันก็เป็นวิธีคิดอีกอันหนึ่ง  ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างใหม่สำหรับนัก ข่าวไทย  คือคิดจากนโยบายใหญ่ประเด็นใหญ่อันหนึ่ง  แล้วค่อยๆค้นหาความผิดปกติ  ก่อรูปอธิบายสิ่งที่พบมาทั้งหมด  แล้วจับนโยบายมาชำระทีละเรื่อง คว้านลึกลงไป  มันก็เป็นไปได้ทั้งสองแบบ”
• ข่าวสืบสวนอาจไม่จำเป็นต้องเปิดประเด็นด้วยข่าวหน้าหนึ่ง  เช่น  อาจเริ่มจากรายงานพิเศษหรือบทสัมภาษณ์หน้าใน  ดังที่ สายศิริ ด่านวัฒนะ ยืนยันว่า “มันไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวหน้าหนึ่ง มันอาจจะเป็น สกู๊ปครึ่งหน้า เล่นไปเรื่อยๆต่อเนื่องและลึกลงไปเรื่อยๆ  มันจะมีผลกระทบแน่นอน  เพียงแต่ว่ายังไม่เห็นมีใครลองทำเลย  จริงๆแล้ว resource ไม่ได้ขาดแคลน”
            ทั้งนี้  จะช่วยสร้างเสริมความมั่นใจให้นักข่าวเชิงสืบสวนในช่วงเริ่มต้น   กับทั้งจะทำให้มีเวลาขบคิด  ทำความเข้าใจประเด็น  หรือแม้แต่มองเห็นช่องทางการสืบเสาะจากความเห็นของบทความหรือบุคคลผู้ให้สัมภาษณ์  จนนำมาสู่ข้อมูลอื่นๆ
2.   ในส่วนขององค์กรสื่อ  นอกจากข้อเสนอเรื่องการออกกฎหมายประกอบมาตรา 41 เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจและบทบาทฝ่ายบริหารจัดการออกจากกองบรรณาธิการ  โดยหวังว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการเสริมสร้างความเป็นอิสระในการเสนอข่าวแก่กองบรรณาธิการ ยังอาจต้องมี การระบุไปถึงการห้ามไม่ให้องค์กรหนังสือพิมพ์เลิกจ้างหรือไล่ออกนักข่าว ที่หากมีหลักฐานว่ามิได้กระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพด้วย รวมถึงคุ้มครองด้านกฎหมายฟ้องร้องหมิ่นประมาทนักข่าวและหนังสือพิมพ์  ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคามหนังสือพิมพ์ในห้วงหลายปีมานี้  ดังที่ ศิลป์ฟ้า   ตันสราวุธ  ระบุว่า“ตอนนี้  ในบ้านเรามีกฎหมายหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญา  ซึ่งหลายๆประเทศในโลกเขาไม่เอาเป็นความผิดทางอาญา แต่ฟ้องทางแพ่ง  และไม่ควรมีโทษจำคุก”
3. ทางด้านนโยบายกองบรรณาธิการ  ซึ่งมักให้ความสำคัญและทุ่มเททรัพยากรไปในงานข่าวราย วันนั้น  หากผู้บริหารหนังสือพิมพ์  ดังเช่น กรณีเครือเนชั่น  เครือมติชน  ซึ่งโครงการวิจัยนี้พบว่ามีนโยบายที่จะรายงานข่าวประเภทนี้อยู่แล้ว   หากสามารถจะผลักดันให้เกิด”โต๊ะข่าวสืบสวน”   หรือ "ทีมข่าวสืบสวน” ขึ้นในองค์กร  ก็อาจเป็นทีมความชำนาญที่ทำงานข่าวเชิงสืบสวนโดยเฉพาะเพื่อป้อนแก่หนังสือพิมพ์ในเครือได้  โดยไม่เป็นภาระแก่งานข่าวรายวันและการลงทุน
4.  องค์กรวิชาชีพอย่างสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งจัดโครงการประกวดข่าวยอดเยี่ยมมาเป็นเวลายาวนาน  อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้รางวัล โดยเปิดให้มีรางวัลข่าวสืบสวนยอดเยี่ยมหลากหลายประเภทมากขึ้น  ดังข้อเสนอของ สายศิริ ด่านวัฒนะ  รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ภาคสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการตัดสินรางวัล 
            นอกจากนี้  อาจจำเป็นต้องยกระดับเงินรางวัลเพื่อเสริมแรงจูงใจให้มากขึ้น  โดยอาจระดมการสนับสนุนจากองค์กรกึ่งรัฐ  ภาคธุรกิจ  และภาคสังคมด้วย  ตลอดจนการทำให้เกิดการต่อยอดขยายผลผลงานรางวัลข่าวยอดเยี่ยม  ให้สังคมทั่วไปได้รับรู้โดยกว้างขวาง  เช่น  การแปรรูปเป็นผลงานเผยแพร่รูปแบบต่างๆ  การจัดกิจกรรมรณรงค์และเชิดชูเกียรติ การส่งต่อผลงานรางวัลเป็นเอกสารเพื่อประกอบการศึกษา ในสถาบันการศึกษา ด้านนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์  ซึ่งปัจจุบันพบว่า  สมาคมนักข่าวฯได้ดำเนินการในส่วนของการเชื่อมต่อสถาบันการศึกษาบ้างแล้ว
5. ควรมีการศึกษาคิดค้นการสร้างแรงจูงใจให้นักข่าวยกระดับคุณภาพ  ในแนวทางต่างๆ เช่น  ทุนการ ศึกษาเพื่อการศึกษาต่อในระดับปริญญาที่นักข่าวสนใจ  เพื่อยกระดับคุณวุฒิความรู้  หรือกองทุนศึกษาดูงานพิเศษทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เป็นต้น
6. ในส่วนของภาคสังคม  อาจต้องมีองค์กรที่เป็นกลไกประสาน ในการระดมทุนจากภาคสังคม  เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการทำงานข่าวเชิงสืบสวน  หรือกองทุนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นต้น  ซึ่งโครงการวิจัยทราบว่า  ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  นักวิชาการอาวุโส  ได้ดำริแนวคิดนี้และกำลังเป็นแกนกลางการดำเนินงานร่วมกับทางสมาคมนักข่าวฯ อยู่
      ความเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้   ทางโครงการวิจัยได้ประมวล และวิเคราะห์ไว้ใน บทที่ 5 ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหา    ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอีกครั้งหนึ่ง

แผนภาพ :  แสดงข้อสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา

 

 

4.  บทเรียนจากกรณีศึกษา


      4.1  บทเรียนต่างประเทศ  :   กรณีศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์  (Philippine Center for Investigative Journalism – PCIJ. )
             โครงการวิจัย  ได้คัดเลือกกรณีศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ เป็นกรณีศึกษา  เนื่องจากพบว่า  ทั้งวงการวิชาชีพและวิชาการสื่อในประเทศไทย  เอ่ยอ้างถึงศูนย์ฯแห่งนี้มากในแง่อุดมการณ์การทำงานข่าวเชิงลึกอย่างมืออาชีพ  และแรงบันดาลใจต่อผลงานที่สามารถนำความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในประเทศฟิลิปปินส์  อีกทั้ง ศูนย์ฯนี้ได้ดำเนินงานมาถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนาน 18 ปีแล้ว ย่อมมีบทเรียนที่ตกผลึกทั้งด้านความสำเร็จและล้มเหลว  ที่สามารถให้การเรียนรู้และเป็นแนวทางแก่การแก้ไขปัญหาตามโจทย์วิจัยของโครงการวิจัยได้
            ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์เบื้องต้น บุคคลสำคัญที่ก่อตั้งศูนย์ฯมาแต่ต้นในฐานะ Executive Director คือ Ms. Sheila  Coronel  ในโอกาสที่เธอเดินทางมาร่วมประชุมสื่อมวลชนนานาชาติ  ที่กรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ 24  กรกฎาคม 2549  ดังรายละเอียดการถอดเทปสัมภาษณ์ ในบทที 7 ภาคผนวก  รวมทั้งได้เดินทางไปสังเกตการณ์การทำงานและสัมภาษณ์อดีตผู้ก่อตั้ง กรรมการบริหารชุดปัจจุบัน  และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆยังที่ทำการศูนย์ฯ ณ ที่ตั้ง 3 rd Floor Criselda II Building , 107 Scout de Guia,  Quezon City 1104. .ระหว่างวันที่  25 – 29 พฤศจิกายน 2549
      ทั้งนี้  ผู้ให้สัมภาษณ์มีรายนาม  ดังนี้
• Ms.  Sheila  S. Coronel   >   ผู้ร่วมก่อตั้งและ Executive Director  ปัจจุบันลาออกไปเป็นอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
• Ms. Marites  Danguilan  Vitug  >  ผู้ร่วมก่อตั้ง  ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการและเจ้าของนิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายปักษ์ชื่อ NEWS BREAK 
• Mr. Howie  Severino > ผู้ร่วมก่อตั้ง ปัจจุบันเป็นนักข่าวอาวุโสของสถานีโทรทัศน์ GMA Network  และยังคงทำงานข่าวเชิงสืบสวนให้ PCIJ. ในลักษณะ freelance
• Ms. Vinia M. Datinguinoo  >  เป็นหัวหน้าทีมวิจัยและรักษาการ Director ระยะหนึ่ง  ปัจจุบันลาออกไปแล้ว
• Mr. Alecks P. Pabico  >  เป็น Online Manager ปัจจุบันเป็น Office Director  และรับผิดชอบงานด้านการฝึกอบรม
         อนึ่ง  กรณีศึกษาศูนย์ข่าวนี้   รศ.ดร. อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์    จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาในแง่มุมของ "สื่อและสิทธิการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์”  เมื่อ พ.ศ.2548 นอกจากนี้  นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในเครือข่ายสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้เคยเดินทางไปทัศนะศึกษาหลายชุด  แต่ไม่ปรากฏเอกสารรายงาน
(1)   ความเป็นมาและการดำเนินงาน
            ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ Philippine Center for Investigative Journalism (PCIJ) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1989 ( พ.ศ.2532 )  โดยนักสื่อสารมวลชนระดับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชั้นนำ 9 คน ที่แยกตัวออกมาจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่  นำโดย ชีลา โคโรเนล (Sheila Coronel)  ด้วยแนวคิดที่เชื่อในเรื่อง “การเสนอข่าวที่แตกต่างและการขุดคุ้ยหาความจริง” เนื่อง จากเห็นว่าสื่อมวลชนเป็นสถาบันที่มีความ สำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบและเสริมสร้างประชาธิปไตย นักหนังสือพิมพ์กลุ่มนี้ ต้องการเห็นสื่อมวลชนมีบทบาทในการจุดชนวนประเด็นโต้แย้งต่างๆ ในสังคม เพื่อนำไปสู่ข้อยุติที่จะยังประโยชน์แก่สาธารณะ ศูนย์ฯนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนให้สาธารณชนได้รับข้อมูลข่าวสารเชิงลึก และความคิดเห็นที่รอบด้าน เพื่อให้สาธารณชนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในฐานะที่เป็นประชาชนที่รอบรู้ นอกจากนี้ นักหนังสือพิมพ์มืออาชีพกลุ่มนี้ยังหวังว่า ศูนย์ฯ จะมีส่วนผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการเจาะข่าวเชิงลึกของนักสื่อสารมวลชนฟิลิปปินส์  “ to go beyond day-to-day reportage"
           ผลงานในช่วงแรกของศูนย์ ฯ หลายเรื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เช่น การรายงานข่าวในปี 1990 เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลซึ่งทำลายสภาพแวดล้อมของแหล่งปะการังในทะเลซูลู ส่งผลให้กองทัพเรือต้องเข้าไปควบคุมดูแลพื้นที่ฟาร์ม และรัฐบาลออกมาตรการยกเลิกการให้สิทธิทำฟาร์มสาหร่ายในบริเวณนั้น
           การรายงานข่าวเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารคำพิพากษา ของผู้พิพากษาอาวุโสในศาลสูงเมื่อปี 1993 ที่ให้สิทธิแก่บริษัท พีแอลดีที. เหนือ บริษัท อีสเทิร์นเทเลคอม ซึ่งเป็นคู่แข่งในการเป็นเกตเวย์ด้านโทรคมนาคม การเปิดเผยข้อมูลของศูนย์ฯ ครั้งนั้น ทำให้ผู้พิพากษาฮูโก กูเทีย เรซ   ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งหลังจากเสนอข่าวเพียง 4 วัน
           ส่วนผลงานที่ทำให้ศูนย์ฯ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ การเปิดโปงความร่ำรวยผิดปกติของประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราด้า ในรายงานข่าว 8 ชิ้น ที่เผยแพร่ในปี 2000 ถูกนำเสนอในหนังสือพิมพ์ระดับชาติ และท้องถิ่นรวม 17 ฉบับ  รวมถึงตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือนของศูนย์ฯ ชื่อ i Report  สุดท้ายนำไปสู่การเสนอญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดยวุฒิสภา แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ยอมชี้ความผิด ทำให้ประชาชนฟิลิปปินส์หลายล้านคนออกมาแสดงพลังโดยการเดินขบวนขับไล่ประธานาธิบดีครั้งใหญ่  ในเดือนมกราคม 2001
           แนวทางการทำงานของศูนย์ฯ  ที่ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การสืบค้นข้อมูลเชิงลึกในลักษณะเดียว กับการทำงานวิจัย   เพื่อให้ได้หลักฐานข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้  ทำให้รายงานบางเรื่อง ต้องใช้เวลาติดตามและรวบรวมข้อมูล ยาวนานกว่า 1 ปี  ผลจากการทุ่มเทและประสบการณ์ของทีมงานมืออาชีพ  ทำให้รายงานข่าวของศูนย์ฯได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมมากมาย  เป็นแรงบันดาล ใจให้เกิดการรวมกลุ่มทำงานข่าวเชิงสืบสวนในลักษณะต่างๆในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น  รวมถึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจแก่นักวิชาการด้านสื่อ  ดังตัวอย่างรายงานวิจัยเรื่อง “สื่อและสิทธิการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์”  โดย  อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์  ที่กล่าวแล้ว
            ปี 1994  ศูนย์ฯ ได้ริเริ่มจัดการอบรมทักษะการรายงานข่าวเชิงสืบสวน  ให้แก่นักข่าวจากหนังสือพิมพ์อื่นๆ ในประเทศ นำมาซึ่งการจัดตั้งหน่วยงานฝึกอบรมTraining Desk ขึ้นและ  กระทั่งขยายบทบาทไปสู่การจัดอบรม-สัมมนาแก่นักหนังสือพิมพ์ในภูมิภาคเอเชียด้วย  หลักสูตรการฝึกอบรมอันโดดเด่นของศูนย์ฯ  ได้แก่ ทักษะการรายงานข่าวเชิงสืบสวน  การรายงานข่าวเลือก ตั้ง  การายงานข่าวทุจริตคอรัปชั่น  การรายงานข่าวสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  รวมถึงการผลิตหนังสือชุดความรู้และประสบการณ์งานข่าวเชิงสืบสวนจำนวนมาก  จนถึงปัจจุบัน ที่ศูนย์มีการปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงสร้าง กิจกรรมการฝึกอบรมก็ยังคงเป็นบทบาทหลักของศูนย์ฯ ที่สร้างรายได้พอควรแก่การพึ่งตนเอง 
            ผลงานข่าวสืบสวนของศูนย์ฯ นอกเหนือจากที่ส่งตรงผ่านระบบอินเตอร์เน็ตถึงสมาชิก หนังสือพิมพ์  และสมาชิกอุปถัมภ์แล้ว  ยังนำเสนออยู่ในเว็บไซต์ของศูนย์ฯ www.pcij.org ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษา ปัญญาชนของฟิลิปปินส์  ศูนย์ฯยังได้จัดทำระบบฐานข้อมูล ( database) ทั้งที่เป็นสถิติ ตัวเลขเศรษฐกิจ ข้อมูลบุคคล รายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ทะเบียนธุรกิจ  ข้อมูลส่วนราชการ  ทั้งระดับชาติและท้องถิ่นประกาศและกฎหมาย   งบประมาณแผ่นดินและงบกระทรวง  รายงานการประชุมสภา  ประวัตินักการเมือง / นักการทหารและรายการทรัพย์สิน สาแหรกความสัมพันธ์ของกลุ่มทุน-ธุรกิจ ตลอดจนรายงานการวิจัยโพลล์ ฯลฯ  และข้อมูลนับพันรายการ  ไว้ใน www.i-site.ph เพื่อให้สาธารณะเข้าถึงได้ทั่วไปในลักษณะ one stop portal ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
            นอกจากนี้  ทางศูนย์ฯ ได้ขยายช่องทางการสื่อสารไปสู่รายการวิทยุ  ด้วยการเช่าเวลาออกอากาศและทดลองผลิตรายการข่าวทางโทรทัศน์  แต่ต่อมายกเลิกไป  ด้วยบทเรียนความไม่พร้อมและงานที่เกินกำลัง  คงเหลือแต่รายการวิทยุ  ซึ่งยังคงเป็น Broadcast Desk ในโครงสร้างปัจจุบัน
            ศูนย์ฯ ยังได้ริเริ่ม Reporting Fellowship แก่ผู้สนใจจะทำข่าวเชิงสืบสวน  ไม่จำกัดว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์อาชีพ  นักศึกษา หรือผู้สนใจทั่วไป  โดยการมอบทุนสนับสนุนเป็นจำนวนเงิน  P 50,000 – P 100,000  (เปโซ )  ผู้สมัครเข้ารับทุนจะต้องเสนอเอกสารโครงการ ( proposal ) ที่แสดงถึงความสำคัญของประเด็นที่จะทำ ขอบข่ายของประเด็น กลวิธีการหาข้อมูลและแนวทาง  การนำเสนอ  ตลอดถึงงบ ประมาณ ซึ่งศูนย์ฯจะมีกรรมการคอยติดตามและประเมินผลงาน  โดยผลผลิตข่าวที่ได้ จะเป็นลิขสิทธิ์ของศูนย์ฯ ซึ่งอาจใช้ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม หรือส่งให้บริการแก่สมาชิก กิจกรรมนี้นับเป็นกุศโลบายการเพิ่มผลผลิตข่าวสืบสวน  เป็นแรงจูงใจแก่ผู้สนใจและเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมการทำข่าวเชิงลึกตามจุดยืนของศูนย์ฯ 

(2)   รูปแบบองค์กร  โครงสร้างและแหล่งที่มาของรายได้
            ศูนย์ข่าว PCIJ. เป็นองค์กรสื่อที่ทำงานอย่างอิสระในลักษณะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร  (non-profit media agency) แตกต่างจากสื่อมวลชนกระแสหลักที่เป็นองค์กรประกอบธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร ดังนั้นศูนย์ฯจึงสามารถขุดคุ้ยความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนักการเมืองและข้าราชการ  ได้อย่างไม่ต้องหวั่นเกรงปัญหาด้านธุรกิจหรืออิทธิพลใดๆ
            จากอดีตถึงปลายปีพ.ศ.2549 ศูนย์ฯแบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ ได้แก่ กองบรรณาธิการ นิตยสาร ฝ่ายสื่ออินเตอร์เน็ต ฝ่ายสื่อกระจายเสียง ฝ่ายฝึกอบรม ฝ่ายข้อมูลและห้องสมุด ฝ่ายการตลาด และฝ่ายสำนัก งาน  รวมบุคลากรทั้งสิ้น 12-14 คน  โดยยังมีนักข่าว Freelance ที่รับงานข่าวสืบสวนเป็นรายชิ้นด้วย
            ที่ผ่านมา  รายได้หลักของศูนย์ฯ มาจากการสนับสนุนของแหล่งทุนต่างๆ เช่น องค์กรทุน (funding agency) ผู้อุปถัมภ์(patron) สมาชิก(member) ของนิตยสาร I Report  ราย 3 เดือนและรายได้จากการผลิต-จำหน่ายหนังสือเล่ม ( pocket book) ชุดความรู้ด้านงานข่าวสืบสวน  หรือรวมเล่มประเด็นข่าวที่สิ้นสุดแล้ว  ทั้งนี้ ตลอด 18 ปีที่ดำเนินงานมา ศูนย์ฯได้เสนอข่าวสืบสวนสอบสวนไปแล้วกว่า 200 เรื่อง หนังสือ 30 เล่ม สารคดีโทรทัศน์ 7 เรื่อง  รวมถึง www.pcij.org ที่มีผู้รู้จักกว้างขวางทั่วประเทศ
            วิธีการระดมทุนคือ ศูนย์ฯจะเขียนโครงการเสนอขอความสนับสนุนจากแหล่งทุนระหว่างประเทศ ต่าง ๆ แยกตามประเด็นความสนใจของแหล่งทุน     อาทิ  Toyota Foundation ,  Free Voice Nether-lands , Open Society , UNDP, Asia Foundation , British Council   โดยศูนย์ฯ ชูจุดขายว่า  ข่าวสืบสวนเป็น rights to know และเป็น important  part of Democracy
            ในส่วนของผู้อุปถัมภ์ ( patron)ซึ่งจำแนกเป็น Gold อัตรา 10,000 เปโซ /  Silver อัตรา 5,000     เปโซ  และ Bronze 3,000 เปโซ นั้นหมายถึงผู้บอกรับเป็นสมาชิกข่าวสืบสวนโดยตรง ซึ่งประกอบด้วยหนังสือพิมพ์ระดับชาติบางฉบับ  อย่าง  มะนิลาไทม์ , เดอะสตาร์, เอนไควเรอร์ ฯ  และองค์กรธุรกิจบางแห่ง  องค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่ง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะส่งข่าวหรือข้อมูลดิบตรงถึงผู้อุปถัมภ์ อัตราที่แตกต่างกันหมายถึงสิทธิที่แตกต่าง ในการได้รับบริการสืบค้นข้อมูลและจำนวนหนังสือและสื่อในเครือที่ศูนย์ฯ ผลิตขึ้น    ปัจจุบัน   จำนวนผู้อุปถัมภ์ลดน้อยลงมาก  อันเนื่องจากหนังสือพิมพ์ระดับชาติหลายฉบับหันมาทำงานข่าวเชิงสืบสวนเอง 

(3)   ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ
            สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  ทั้งจำนวนผู้อุปถัมภ์ที่ลดลงและพฤติกรรม ผู้รับสารที่หันไปสู่สื่อใหม่มากขึ้น รวมถึงความเปลี่ยน แปลงด้านบุคลากรภายใน เช่น  ผู้ก่อตั้งและกำลังหลักหลายคนลาออกไปสู่งานอื่น  ทางศูนย์ฯจึงปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงาน  ปรับลดขนาดองค์กรลงเหลือบุคลากรประจำ 5 คน  และขับเคลื่อนองค์กรสู่ทิศทางใหม่เป็น Multimedia  เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนรุ่นใหม่  ทั้งยังเป็นการลงทุนที่น้อยลง คุ้มค่ามากขึ้น
            ปัจจุบัน  โครงสร้างใหม่ของ PCIJ. แบ่งออกเป็น 5 ฝ่ายคือ Board of Director + Executive Director (ยังคงมีผู้ก่อตั้งหลายคนร่วมเป็นที่ปรึกษาอยู่ในบอร์ด) Multimedia Desk, Training Desk , Research and Investigation  และ  Marketing

(4)   บทเรียนที่น่าสนใจ
            กล่าวได้ว่า PCIJ.เป็นองค์กรมืออาชีพที่จุดกระแสงานข่าวเชิงสืบสวนในภูมิภาคเอเชีย  ทั้งยังเป็นองค์กรมีชีวิตที่ปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ได้อย่างน่าสนใจ  แม้ว่าโครงสร้างทางการเมืองและบริบทสังคมฟิลิปปินส์จะแตกต่างไปจากไทย ด้วยประวัติศาสตร์ชนชาติที่ผ่านการต่อสู้กับมหาอำนาจชาติแล้วชาติเล่า การตกเป็นอาณานิคมของสเปนและการเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกามายาว นาน  อาจนำมาซึ่งความตื่นตัวและความสนใจทางการเมือง  การลุกขึ้นสู้กับการกดขี่และความไม่ยุติธรรม รวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะเล็กเกาะน้อยและความยากจน  ทำให้เกิดขบวนการทางการเมืองต่างๆ ในฟิลิปปินส์ที่ไม่เป็นเอกภาพ  จึงดูเหมือนว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งของการทำงานตามวิชาชีพสื่อของPCIJ. เกิดจากบรรยากาศทางการเมืองที่มีลักษณะ เฉพาะของฟิลิปปินส์  แต่ไม่ว่าอย่างไร  PCIJ. ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า  สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่ไม่อาจแยกตัวออกจากส่วนอื่นๆของสังคม  โลกที่เปลี่ยนไปนำมาซึ่งบทบาทที่เปลี่ยนไปของสื่อมวลชน  ที่ต้องทำหน้าที่เสนอความจริงและเป็นกลไกข่าวสารที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย  มากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา  อีกทั้งเป็นการยืนยันว่า  อุดมการณ์และการพึ่งตนเองของวิชาชีพนี้  เป็นสิ่งที่เป็นจริงได้
            ข้อสังเกตต่อกรณีศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ ที่อาจเป็นบทเรียนแก่การก่อเกิดกลไกการทำงานข่าวเชิงสืบสวนในประทศไทย  มีดังนี้
1.   ความเป็นมืออาชีพ (professional )หรือความรู้ความเชี่ยวชาญในงานข่าวเชิงสืบสวน  นับเป็น เงื่อนไขสำคัญที่สุดของการจัดตั้งองค์กรประเภทนี้  ดังเห็นได้ว่า  ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ฯล้วนเป็นนักข่าวอาวุโสที่เคยทำงานข่าวเชิงสืบสวนมาแล้ว และมองเห็นข้อจำกัดภายในองค์กรสื่อของตน  ความเป็นมืออาชีพ ในที่นี้ ย่อมหมายรวมถึงความน่าเชื่อถือของผลงาน ที่จะทำให้เกิดตลาด-ความต้องการขึ้นด้วย  ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่า ตลอดระยะการดำเนินงานของศูนย์ฯ  ศูนย์ฯต้องชูจุดขายในเรื่อง”คน”ที่เป็นมืออาชีพ 
2.   ความเป็นอิสระ  ศูนย์ฯ นี้ตระหนักถึงแรงกดดันภายในกองบรรณาธิการที่มักเกิดขึ้นในสื่อ รวมถึงอิทธิพลจากภายนอกทั้งทางการเมืองและทางธุรกิจ ศูนย์ฯจึงจัดองค์กรในรูป NGO.  (non profit organization )  เพื่อการระดมทุนจากแหล่งทุนที่ไม่มีเงื่อนไขรบกวนแนวนโยบาย  และหวังว่าการพึ่งตัวเองได้ทางเศรษฐกิจ  จะทำให้มีเสรีภาพในการทำงานตามสมควร ความเป็นอิสระนี้ยังหมาย ถึง การหลุดพ้นไปจากกรอบคิดและความเคยชินในการทำงานแบบเดิม หากแต่กล้าที่จะขุดคุ้ยค้นหาความจริงอย่างถึงที่สุด   ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา  นับว่าศูนย์ฯ ประสบผลสำเร็จตรงจุดนี้
            อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า การติดต่อประสานงานกับแหล่งทุนระหว่างประเทศได้กว้างขวางนั้น  เนื่องจากการใช้ภาษาอังกฤษในระดับดีของประชาชนฟิลิปปินส์  เป็นโอกาสและปัจจัยเกื้อหนุน
3.  การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ นอกเหนือไปจากการระดมทุนโดยการเขียนโครงการอย่างสม่ำเสมอ  และมีผลงานเป็นที่เชื่อถือแก่แหล่งทุน  ศูนย์ฯ ยังพยายามสร้างตลาดใหม่และสร้างมูลค่า เพิ่มแก่สินค้าข่าวสืบสวนของตน โดยการแปรรูปต่อยอดผลงานเหล่านั้นเป็น  หนังสือเล่ม  นิตยสารราย 3 เดือน รายการวิทยุ  และสื่อประเภท non book   ก่อเกิดรายได้เพิ่มและขยายตลาดออกไป
            จากการสัมภาษณ์พบว่า ศูนย์ฯมีวิสัยทัศน์ทางการตลาดที่เปิดกว้าง  กล่าวคือ  ไม่ปฏิเสธการตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็มีความชัดเจนในการรักษาอุดม การณ์ตามวิชาชีพไว้ ทั้งนี้  อาจมีปัจจัยด้านบุคลิกภาพและความสามารถอันโดดเด่นของผู้นำองค์ กรคือ Sheila Coronel  ซึ่งเป็นทั้งนักบริหารจัดการและนักหนังสือพิมพ์
4.   การเคลื่อนไหวเชิงสังคม  ความมุ่งหวังของผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ฯคือ  การเสริมสร้างวัฒนธรรมการรายงานข่าวเชิงสืบสวน  ดังนั้น กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ศูนย์ฯดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นคือ  การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักข่าว  ทั้งในระดับท้องถิ่น  ระดับชาติและในภูมิภาคเอเชีย  การฝึกอบรมนี้แท้จริงจึงเป็นการขยายแนวคิด  สร้างคนรุ่นใหม่ และสร้างความยอมรับ ( recognition )  ผลจากการทำงานฝึกอบรมมายาวนาน  ศูนย์ฯสามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมนี้  และทำให้เกิดนักข่าวที่มีอุดมคติและทักษะการรายงานข่าวเชิงสืบสวนมากขึ้นๆ   ขยายไปสู่หนังสือพิมพ์ระดับชาติที่ไม่เคยทำงานข่าวเชิงสืบสวนมาก่อน
            นอกจากนี้  การให้ทุนสนับสนุน Reporting Fellowship แก่นักข่าวและผู้สนใจทั่วไป ยังเป็นกิจกรรมเชิงสังคมที่ทำให้เพิ่มจำนวนนักข่าวประเภทนี้  อีกทั้งได้ผลงานข่าวที่มีคุณภาพและความหลากหลายเพิ่มขึ้น 
5.  ความสามารถในการปรับตัว   กลุ่มผู้ก่อตั้งที่ทำงานหนักมาระยะเวลายาวนาน  ส่วนหนึ่งพบความจำเป็นในชีวิตที่ต้องจากไปสู่งานอื่น  รวมทั้งปัจจัยที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่องค์กร  และการเกิดขึ้นของช่องทางสื่อใหม่ ๆ   กลุ่มผู้ก่อตั้งทั้งหมดจึงเห็นพ้องต้องกันในการปรับทิศทางองค์กรกันใหม่  โดยได้ทยอยยุติผลผลิตของศูนย์ฯ ที่ไม่สร้างรายได้และเป็นภาระแก่การลงทุน  ทั้งนิตยสารราย 3 เดือน  และรายการวิทยุ   ลดขนาดองค์กร  และย้ายฐานการทำงานเข้าสู่ Multimedia
            ทั้งหมดนี้มาจากวิสัยทัศน์  และการวิเคราะห์สถานการณ์การทำงานอย่างรู้เท่าทัน   ดังที่ Ms. Marites Danguilan Vitug  หนึ่งในผู้ก่อตั้ง  ให้สัมภาษณ์ว่า“ We are the Victims of our own success” เธอหมายความว่า    เพราะศูนย์ฯทำงานข่าวสืบสวนไปพร้อมๆกับการเคลื่อนไหวผลักดันให้นักวิชาชีพสื่อตระหนักในความสำคัญของงานข่าวสืบสวน  และสร้างการเรียนรู้แก่ผู้เสพข่าวสารมาเป็นเวลายาวนาน จนก่อเกิดวัฒนธรรมการรายงานข่าวเชิงสืบสวนขึ้นแล้วในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ  ถึงวันนี้  หน้าที่ดังกล่าวของศูนย์ฯ ต่อกลุ่มเป้าหมายสื่อจึงหมดความจำเป็นลง
            อย่างไรก็ดี  ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ หรือ PCIJ .ในวันนี้  ก็ยังคงยืนหยัดอยู่บนเส้นทางการรายงานข่าวเชิงสืบสวน  แม้จะเปลี่ยนสนามรบไปสู่คนรุ่นใหม่และช่องทางใหม่

4.2   บทเรียนในประเทศ : กรณีศูนย์ข่าวอิศรา ในสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
            การเกิดขึ้นของ”ศูนย์ข่าวอิศรา”  ภายใต้โครงการสื่อสันติภาพ : โต๊ะข่าวภาคใต้  ซึ่งเป็นความร่วม มือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  กับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้  และเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้  เพื่อเกาะติดรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยนำเสนอข่าวผ่านเว็บไซต์ http://www.tjanews.org  นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สื่อมวลชนจากส่วนกลาง ได้เข้าไปคลุกคลีในพื้นที่ปัญหาและทำงานในลักษณะกองบรรณาธิการร่วมที่ข้ามพ้นสังกัดของหนังสือพิมพ์ และมีการหมุนเวียนนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ลงปฏิบัติงานในพื้นที่  ทำให้เกิดการเรียนรู้ถึงรากเหง้าของปัญหาและสามารถรายงานข่าวในเชิงคุณภาพมากขึ้น หนังสือพิมพ์ทั่วไป ก็สามารถหยิบใช้ผลผลิตข่าว รายงานพิเศษ หรือบทสัมภาษณ์ไปใช้ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ของตนได้
            ที่สำคัญไปกว่าปรากฏการณ์นี้คือ  การแสดงจุดยืนและจริยธรรมตามอาชีวะปฏิญาณของวิชาชีพสื่อมวลชน  ในฐานะสถาบันทางสังคมที่ต้องรับผิดชอบ  และมีส่วนร่วมต่อวิกฤตการณ์ของชาติบ้านเมือง โดยการทำหน้าที่แสวงหาข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริง นำไปสู่ความรับรู้ที่ถูกต้องของประชาชน   เพื่อเป็นฐานรองรับการแก้ไขปัญหาในที่สุด
(1)   จุดแข็งและจุดอ่อน
            ด้วยเนื้อหาและประเด็นข่าวที่แตกต่างไป  โดยการเสนอแง่มุมทางวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวไทยมุสลิมอย่างละเอียดอ่อนมากขึ้น  ศูนย์ข่าวอิศราจึงอยู่ในความสนใจของภาคประชาสังคมและนัก วิชาการ  ในแง่ที่อาจเป็น”ต้นแบบ”ขององค์กรสื่อเพื่อสันติภาพ   ดังผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ศูนย์ข่าวอิศรากับความเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ” ในชุดโครงการวิจัยเทคโนโลยีสาร สนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ โดย วลักษณ์กมล  จ่างกมล  รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  และคณะ  ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
            ผลการศึกษาชิ้นนี้ชี้ว่า  จุดแข็งของศูนย์ฯ ประกอบด้วยการให้ความสำคัญกับความเป็น”เครือข่าย” ระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์  วิทยุกระจายเสียง  โทรทัศน์ท้องถิ่น  องค์กรภาคประชาชน  นักวิชาการและองค์กรอิสระแขนงต่างๆ  ทำให้ภารกิจของศูนย์ข่าวอิศราได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี  นอกจากนี้  การบริหารองค์กรที่เน้นความไม่เป็นทางการ  ทำให้เกิดบรรยากาศความร่วมมือของบุคลากรที่มาจากหลากหลายองค์กร  มีนโยบายการนำเสนอข่าวที่มุ่งเน้นการสร้างสันติสุขอย่างชัดเจน  รวมทั้งมีบุคลากรอาชีพที่ไม่ยึดติดกับสังกัดเดิมของตน ทำให้ขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ    การทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนจากส่วนกลาง กับสื่อมวลชนท้องถิ่น  ยังทำให้เกิดการเรียนรู้และแบ่งปันข้อมูล ความชำนาญแก่กันได้อย่างดี 
            อย่างไรก็ตาม  ผู้ศึกษาพบว่ามีบางประเด็นปัญหาที่ต้องปรับปรุงต่อไป  ซึ่งประกอบไปด้วยการที่ศูนย์ข่าวอิศรามีสถานะเป็นเพียงโครงการหนึ่งภายใต้สมาคมนักข่าวฯ  ซึ่งต้องหางบประมาณมาสนับสนุนจากแหล่งอื่น  อาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืน  อันอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากแหล่งทุนได้รูปแบบการบริหารอย่างไม่เป็นทางการนั้น  ก็อาจนำไปสู่ปัญหาด้านการบริหารงาน  เนื่องจากไม่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่และขอบเขตภาระงานของบรรณาธิการอย่างชัดเจน  ส่งผลให้บรรณาธิการขาดอำนาจและไม่สามารถกำกับดูแลการทำงานของบุคลากรและผู้สื่อข่าวได้อย่างเต็มที่  การบริหารการเงินยังไม่เป็นระบบและขาดการตรวจสอบที่ชัดเจน
            สิ่งที่ควรพิจารณาปรับปรุงอีกประเด็นหนึ่ง คือ การพึ่งพิงบุคลากรจากส่วนกลางมากเกินไป  ทำให้ในบางขณะที่ผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางลดลงเพราะติดภารกิจอื่น  ส่งผลให้จำนวนผลงานข่าวลดลงไปด้วยขณะเดียวกัน การสลับสับเปลี่ยนบรรณาธิการ ก็ทำให้แนวทางการกำกับ ดูแลงานข่าวแตกต่างกันออกไปการแก้ปัญหานี้อาจทำได้โดยการพัฒนาบทบาทและศักยภาพของนักข่าวท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยในอนาคต อาจต้องคำนึงถึงการให้ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นมีบทบาทเต็มที่  และให้ผู้สื่อข่าวส่วนกลางหรือบุคลากรจากสมาคมนักข่าวฯ  ทำหน้าที่กำกับดูแลระดับนโยบายก็พอ  หรืออาจส่งบุคลากรมาปฏิบัติงานในพื้นที่ในกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น
            ด้านการเป็นที่รู้จักและเข้าถึงนั้น  ผลการศึกษาชี้ว่า ศูนย์ข่าวอิศรายังไม่สามารถเป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้  เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของศูนย์ข่าวอิศรา จึงควรให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์กร  เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้ช่องทางนี้เป็นเวทีสาธารณะมากขึ้น  ขณะเดียวกันก็จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารจากพื้นที่อย่างต่อเนื่องเจาะลึกมากขึ้น
            สำหรับช่องทางสื่อสาร  ซึ่งมี www.tjanews.org เพียงช่องทางเดียว  ทำให้มีข้อจำกัดที่ประชาชนระดับรากหญ้าไม่สามารถเข้าถึง  ดังกรณีตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงที่บ้านละหาน  และตันหยงลิมอประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนกระแสหลักในส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ  โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์   ศูนย์ข่าวอิศราจึงอาจจำเป็นต้องขยายช่องทางการสื่อสารไปสู่สื่อประเภทอื่น  โดยเฉพาะวิทยุกระจายเสียงที่เข้าถึงประชาชนพื้นที่ได้มากกว่า  นอกจากนี้  จากการศึกษาความคิด เห็นของประชาชนที่ได้รับข่าวสารจากศูนย์ข่าวอิศรา  พบว่า  รูปแบบการนำเสนอข้อมูลของศูนย์ข่าวอิศรายังไม่มีการเจาะลึกสืบสวนสอบสวนเท่าที่ควร  อีกทั้งยังเป็นแง่มุมที่ไม่แตกต่างไปจากสื่อมวลชนกระแสหลักมากนัก สื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นยังให้ความสำคัญและความร่วมมือ ในการนำผลงานข่าวของศูนย์ข่าวอิศราไปเผยแพร่ไม่มากนัก  คือพบว่ามีจำนวนผลงานประมาณร้อยละ 50 เท่านั้นที่ถูกเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก 

            นอกจากนี้ผลงานที่ถูกนำไปใช้  ก็มักเป็นสกู๊ปข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว  มากกว่ารูปแบบข่าว  ทำให้ข่าวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้  ยังคงมีรูปแบบเดิมที่มุ่งนำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรง  มากกว่าการพยายามอธิบายปรากฏการณ์
            ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสของศูนย์ข่าวอิศรา ในการเป็นสถาบันข่าวที่เป็นที่ยอม รับ  เพราะสังคมไทยให้ความหวังและตระหนักถึงความ สำคัญของสถาบันสื่อมวลชน  อีกทั้งกระแสการปฏิรูปสื่อ  จะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ศูนย์ข่าวอิศราได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมากขึ้นในอนาคต จนถึงอาจเกิดการระดมทุนเพื่อทำให้เกิด”สื่อสาธารณะเพื่อสันติภาพ”ต่อไป
            อนึ่ง  ในส่วนของโครงการวิจัยนี้พบว่า  นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานศูนย์ข่าวอิศรา  มีความเห็นแย้งต่อรายงานของอาจารย์ วลักษณ์กมล จ่างกมล  ในประเด็นที่กล่าวว่า  ศูนย์ข่าวอิศราเข้าไม่ถึงประชาชนในพื้นที่  ว่าเนื่องเพราะศูนย์ข่าวอิศรามีความประสงค์จะรายงานข่าวจากพื้นที่เพื่อ”สื่อมวลชน”เองเป็นสำคัญ  ต่างหาก

(2)   ความเป็นมา  รูปแบบองค์กรและการดำเนินงาน
            จากจุดเริ่มต้น  ที่กรรมการจำนวนหนึ่งของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้ประชุมหารือกันถึงสถานการณ์การคุกคาม แทรก แซงสื่อ ภายใต้เครือข่ายการเมืองของรัฐบาลทักษิณ นำมาซึ่งแนวคิดที่จะปฏิรูปภารกิจของสมาคมฯ เพื่อการทำหน้าที่อย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะปากเสียงของสังคม ในขณะสื่อมวลชนกำลังเผชิญกับโจทย์ใหม่ๆ และคำถามเรื่องสื่อมีส่วนขยายความรุนแรงขัดแย้งในสถานการณ์ภาคใต้ นี่คือที่มาของการผนึกกำลังสื่อจากค่ายต่างๆมาทำงานร่วมกัน ภายใต้ชื่อ”โครงการสื่อสันติภาพ-โต๊ะข่าวภาคใต้” ซึ่งต่อมาใช้ชื่อ”ศูนย์ข่าวอิศรา”เพื่อรำลึกถึง อิศรา อมันตกุล ชาวไทยมุสลิม อดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นแรงบันดาลใจ
            คณะทำงานในช่วงแรก ต้องประสานความเข้าใจและความร่วมมือจากส่วนต่างๆ ทั้งภายในวิชาชีพสื่อและภายนอก  เน้นการสร้างความเข้าใจกับนักข่าวในพื้นที่จำนวนมาก  มีการนำนักข่าวจากส่วนกลางลงปฏิบัติงานข่าว สัมผัสพื้นที่จริง เพื่อเรียนรู้การสื่อข่าวที่มีลักษณะอ่อนไหว ด้านความมั่นคงและความขัดแย้งเชิงเชื้อชาติ  ในขณะเดียวกัน  ก็เดินสายเข้าพบขอคำแนะนำจากบรรณาธิการอาวุโสและผู้หลักผู้ ใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์ ในที่สุด ได้เกิดฉันทามติร่วมในการจัด ส่งนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เข้าร่วมงาน
            ศูนย์ข่าวอิศรา ได้รับความร่วมมือด้านที่ตั้งสำนักงานจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   วิทยาเขตปัตตานี  และมีผลผลิตข่าวครั้งแรก  วันที่ 29 สิงหาคม 2548  ผ่าน www.tjanews.org  ภายใต้แนวคิดที่มุ่งจะ”อธิบาย”ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  มากกว่าการ”รายงาน”เหตุการณ์  และเพื่อทำเรื่อง      ”เงียบ”ให้สังคม”ได้ยิน”  อันจะนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกัน
            การจัดองค์กรอย่างไม่เป็นทางการของศูนย์ข่าวอิศรา  ซึ่งงานวิจัย”ศูนย์ข่าวอิศรากับความเป็นสื่อสันติภาพ” ของ วลักษณ์กมล จ่างกมล  ชี้ว่าเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนนั้น  แท้จริงอาจจะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของโครงการความร่วมมือจากความหลากหลาย  ซึ่งเหมาะแก่สถานการณ์ที่พลิกผัน 

             จะเห็นได้ว่า  ศูนย์ข่าวอิศรา มีบทบาทที่ก้าวหน้าไปกว่าความเป็นองค์กรผลิตข่าวสาร   หากแต่เป็นองค์กรการเรียนรู้  หรือ training ground    ( อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สัมภาษณ์วันที่ 4 กรกฎาคม 2549)  แก่เครือข่ายที่มีความชำนาญต่างๆ กัน รวมถึงเกิดการถ่ายทอดความรู้ความชำนาญ  ตลอดจนอุดมการณ์ของงานข่าว ไปสู่นักศึกษาทางด้านสื่อสารมวลชนที่เข้ามาอาสาสมัครและฝึกงานด้วย  สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  จึงอยู่ที่ความสามารถในการประสานความร่วมมือ และการเคลื่อนไหวทางความคิดของเครือข่ายศูนย์ข่าวอิศรา
            นอกเหนือไปจากการประชุมนักข่าว การติดตามเหตุการณ์ และการสื่อข่าวในพื้นที่เช่นเดียวกับกองบรรณาธิการข่าวทั่วไปแล้ว ศูนย์ข่าวอิศรายังมีการจัดประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ ร่วมกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ รวมถึงปัญญาชนไทยมุสลิมในพื้นที่  เพื่อยกระดับมุมมองข่าวที่รอบด้านขึ้น 

(3)  บทเรียนและอนาคต
            จนถึงวันนี้  ที่ศูนย์ข่าวอิศราได้พัฒนามาสู่ สถาบันข่าว และปรับเปลี่ยนช่องทางข่าวสารไปสู่ on line เพื่อให้สาธารณะเข้าถึงโดยกว้างขวาง  แต่บทเรียนการก่อเกิดของศูนย์ข่าวอิศรา  ที่น่าจะเป็นแนวทางแก่ข้อเสนอของโครงการวิจัยนี้  คือ
1.  การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ  คณะทำงานต้องทำงานอย่างหนัก ในการติดต่อขอพูดคุย เพื่ออธิบายถึงความตั้งใจและแนวคิดกับบุคลากรจำนวนมาก นับตั้งแต่นักข่าว  บรรณาธิการ  ไปจนถึงผู้บริหารระดับ สูงและเจ้าของหนังสือพิมพ์  รวมทั้งนักคิดนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะ  จนได้แนวทางการทำงานที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ   ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวนี้  ส่วนที่เป็นงานยากที่สุดคือการสื่อสารความเข้าใจ  ให้คนจำนวนมากเห็นพ้องต้องกัน  จนเกิดเป็น”เจตนาร่วมประโยชน์ร่วม”ขึ้นได้   องค์ประกอบส่วนหนึ่ง อาจเกิดจากสถานการณ์ความรุนแรงเชิงประจักษ์ของภาคใต้  และอีกส่วนหนึ่งจากจิตสำนึกความเป็นนักหนังสือ พิมพ์ด้วยกัน  ที่ทำให้เกิดการสื่อสารด้วยชุดความคิด และชุดภาษาเดียวกันอย่างได้ผล  รวมถึง”ท่าที”ที่เหมาะสมของคณะทำงาน ซึ่งคำนึงถึงอาวุโสของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับต่างๆ
2.   เจตนาร่วมประโยชน์ร่วม  ผลจากการสื่อสารสร้างความเข้าใจ จึงก่อให้เกิด”ชุมชนโดยเจตนา” ขึ้นในรูปของโครงการสื่อสันติภาพหรือศูนย์ข่าวอิศราตั้งแต่ระดับผู้บริหารหนังสือพิมพ์  นักข่าวและผู้สื่อข่าวท้อง ถิ่น  ตลอดจนนักวิชาการ  ผู้นำชาวบ้านในพื้นที่  ที่ต่างเห็นถึงความจำเป็นถึงที่สุดของการเกิดกลไกข่าวสารอย่างศูนย์ข่าวอิศรา ในสถานการณ์อันไม่ปกตินี้  กล่าวสำหรับนัก หนังสือพิมพ์ผู้เกี่ยวข้อง  พวกเขาตระหนักถึงขั้นที่เห็นว่า  นี่เป็นการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและเสรีภาพในงานข่าว  ที่แยกไม่ออกจากการสร้างสันติสุขของสังคม   นอกเหนือจากนี้  หนังสือพิมพ์ที่ร่วมส่วนอยู่ในฉันทามตินี้  รู้ดีว่า  ในความเป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติ  ทุกฉบับต่างมีข้อจำกัดในการเข้าใจและเข้าถึงแหล่งข้อมูลในระดับพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้  รวมถึงความจำกัดในการทุ่มเทคนและทรัพยากรเพื่อเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นการเกิดมีศูนย์ข่าวอิศรา  จึงเปรียบเหมือนการมี “ตัวช่วย - helper cell “ (ประเวศ  วะสี ,สัมภาษณ์วันที่ 8 สิงหาคม 2549) ที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย  ทำให้เกิด”ตะกร้าข่าว”หรือ”ถังข่าว”สถานการณ์ชายแดนใต้  ที่สามารถหยิบใช้ได้โดยสะดวก  หรือแม้แต่หากหนังสือพิมพ์ฉบับไหน  ประสงค์จะเจาะลึกข้อมูลนอกเหนือไปจากที่ได้จากตะกร้าศูนย์ข่าวอิศราแล้ว ก็ยังมีต้นทุนนักข่าว  แหล่งข้อมูล และความเข้าใจในระดับพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน 
3.  เครือข่าย  คน  และความชำนาญ  จากปัจจัยความสามารถในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ  จนก่อเกิด agenda ร่วม  ได้นำมาซึ่งความปรารถนาจะมีส่วนร่วมในกลไกข่าวสารเพื่อสร้างสันติสุขนี้  ของผู้คนที่หลากหลาย รวมถึงความจำเป็นในระดับพื้นที่ที่ศูนย์ข่าวอิศราต้องประสานความร่วมมือ ทั้งจากนักข่าวอิสระในท้องถิ่น  สมาคมนักข่าวภาคใต้  เครือข่ายบรรณาธิการภาคใต้  วิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่น  วิทยุชุมชน  ผู้นำศาสนา  องค์กรพัฒนา นักวิชาการ ฯ  เพื่อจะคลี่คลายและเข้า ถึงความซับซ้อนของเหตุการณ์   ทำให้เกิดโยงใยของเครือข่ายนักข่าว  อาสาสมัคร  แหล่งข้อมูลและผู้ร่วมงานในระดับพื้นที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง  นอกเหนือไปจากโยงใยเครือข่ายระดับบนที่เกาะเกี่ยวอยู่กับกองบรรณาธิการร่วมจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ  ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงแหล่งทุน อันได้แก่  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และปัญญาชนสาธารณะจำนวนหนึ่งอีกด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือ ข่ายของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นบุคลากรมืออาชีพที่มีความชำนาญในงานข่าวอยู่แล้ว  เกิดการแลกเปลี่ยน  ถ่ายเทข้อมูล-ความชำนาญกับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จากส่วนกลางในการสื่อข่าวสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ น่าจะได้มีการถอดสังเคราะห์ขึ้นไว้เป็นบทเรียนหรือชุดความ รู้  เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะต่อไป
4.  เรียนรู้ได้ปรับตัวได้ แม้ว่าศูนย์ข่าวอิศราจะมีจุดอ่อนจุดแข็งและปัญหาในการทำงานนานัปการ รวมถึงความไม่เชี่ยวชาญในงานด้านบริหารจัดการ  และความอ่อนด้อยด้านระบบฐานข้อมูล  (มูฮัมหมัดอายุป ปาทาน ,บรรณาธิการบริหารศูนย์ข่าวอิศรา, สัมภาษณ์วันที่ 12 กรกฎาคม 2549) แต่ในสถานการณ์ของงานข่าวที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วและข้อวิพากษ์วิจารณ์จากเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย  ก็ทำให้ศูนย์ข่าวอิศรา ต้องปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังนั้น  ในวันนี้  ศูนย์ข่าวอิศราจึงยกระดับองค์กรขึ้นสู่ความมั่นคงอีกระดับหนึ่ง  โดยเป็น”สถาบันข่าว”  ภายใต้สมาคมนักข่าวนักหนังสือ พิมพ์ฯ  และขยายบทบาทการเสนอข่าวสาร on line โดยมี head line ภาษาอังกฤษและภาษามลายู เพื่อจะสื่อสารกับประชาชนในวัฒนธรรมเฉพาะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  มีการปรับเปลี่ยนตัวบรรณาธิการและเน้นการทำงานที่เจาะลึกในเชิงการวิเคราะห์สถานการณ์จากสถิติเหตุการณ์  มีบทความและความคิดเห็นจากฝ่ายความมั่นคงและราชการ นักวิชาการระดับชาติ มากขึ้น  รวมถึงการหลีกเลี่ยงจุดอ่อนที่หนังสือพิมพ์ส่วน กลาง  ไม่หยิบใช้ข่าวสารจากตะกร้าของศูนย์ข่าวอิศรา เพราะไม่ต้องการเสนอข่าวที่ซ้ำเหมือนกับฉบับอื่น ไปสู่การทุ่มเทพัฒนางานข่าว online ทางเว็บไซต์
            อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหา  ย่อมแยกไม่ออกจากปัจจัยการมีเครือข่ายผู้ เกี่ยวข้องที่หลากหลาย  การมีเป้าหมายการทำงานเพื่อส่วนรวมที่ชัดเจน และความรู้ความเข้าใจ  ตลอดจนความละเอียดอ่อนรู้เท่าทันปัญหาขององค์กร
5.  การสนับสนุนจากภาคสังคม  หากสถาบันข่าวสามารถรักษาเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร  และคุณภาพการทำงานต่อไป นอกจากจะเป็น”ห้องเรียน” การทำงานข่าวเชิงปฏิบัติการแก่คนในวิชาชีพเอง  สิ่งที่ควรคำนึงต่อไปคือ  ทำอย่างไรจึงจะทำให้สาธารณะทั่วไป  ได้รับรู้ถึงบทบาทสำคัญและการมีอยู่ของสถาบันข่าว  อันอาจนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางขึ้น  ดังกรณีการเกิดผู้สื่อข่าวชาวบ้านในแนวคิด people journalist อย่าง ohmynews.com ของเกาหลีใต้  ไปจนถึงการระดมทุนสนับสนุนจากภาคสังคม  ที่จะประกันความยั่งยืนแก่สถาบันข่าวได้ในที่สุด
            น่าสนใจว่า บทบาทของศูนย์ข่าวอิศราจนถึงสถาบันข่าว  เป็นกลไกที่งอกเงยขึ้นมาจาก องค์กรวิชาชีพเอง  นอกเหนือไปจากสถาบันพัฒนาสื่อมวลชน ( Press Development Institute of Thailand    – PDIT)  และโต๊ะข่าวการเมือง  ภายใต้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ที่พยายามทำหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพและขยายบทบาท”สื่อที่มีจิตสำนึก” concerned journalist   ข้ามพ้นจากการเป็นเพียงผู้รายงานข่าว (reporter) อันเป็นกระแสที่น่าชื่นชมของสื่อมวลชนไทยบางส่วนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา   แม้ว่าถึงวันนี้  สถาบันข่าวอิศราจะยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับองค์กร  ที่อาจควบรวมกับบทบาทของสถาบันพัฒนาสื่อมวลชน (PDIT.) หรือไม่ก็ตาม
            ดังนั้น  เป็นไปได้หรือไม่ว่า  บทเรียนบางประการของการก่อเกิดศูนย์ข่าวอิศรา และบทเรียนจากศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์(PCIJ.) จะสามารถหลอมรวมขึ้นเป็นแนวทางอย่างใหม่ในการทำงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน  ที่จะสร้างการเรียนรู้แก่สังคมไทยได้มากกว่าข่าวสารรายวัน  

   

5.   ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหา
            ในการสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งครอบคลุมทั้งนักข่าวระดับกลาง  นักหนังสือพิมพ์อาวุโส  ผู้บริหารหนังสือพิมพ์  นักคิด  นักวิชาการ และนัก หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนั้น  หลายท่านได้ให้ข้อเสนอ แนะจากบทบาทและประสบการณ์วิชาชีพ  ต่อการแก้ไขปัญหาตามโจทย์วิจัยนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะเป็นแนวคิดและความเป็นไปได้จากตัวปฏิบัติและคนวงในเอง  เมื่อผสานกับมุมมองจากนักคิดนักวิชาการ  และการประมวลวิเคราะห์แล้ว  โครงการวิจัยเห็นว่า  มีทางออกการแก้ไขปัญหาทั้งในระสั้นและระยะยาว  ที่เป็นนวัตกรรมจากการมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย และมีแนวโน้มการปฏิบัติได้จริงค่อนข้างสูง
            เริ่มต้นจากคำแนะนำของผู้บริหารระดับสูง  เครือหนังสือพิมพ์มติชน  อย่าง ขรรค์ชัย  บุนปาน ที่ชี้ถึงกระบวนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมว่า “ก็ต้องสร้างความกระจ่างในความสำคัญของเรื่องนี้  เป็นการไปต่อไปเติมไฟให้ฉบับต่างๆ  จุดประกายปัญญาให้เขา  ไม่ใช่การบอกว่าเอ็งต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้... อาจจะมีองค์กรอีกอันหนึ่งอย่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน  ทำปรากฏการณ์ให้เห็นเลยว่าถ้าทำเรื่องอย่างนี้แล้ว ผลดีมันเป็นอย่างไร  หนึ่ง-สอง-สาม  เอาผลกระทบเอาเครื่องชี้วัดมาบอก  มันก็จะกระตุ้นสื่อให้ทำ  ไม่ใช่การบังคับ ไม่งั้นจะไม่ได้รับความร่วมมือเลย  ต้องเป็นการไปด้วยกัน  ชี้ให้เห็นเหตุผลความจริง... แล้วไม่ใช่แต่เฉพาะสื่อ  พวกองค์กรตรวจสอบทุจริตน่ะ  ก็ต้องกระตุ้นให้คึกคักกว่านี้  ดูสิปฏิรูปการเมืองยังหันรีหันขวางอยู่เลย  ทำยังไงที่จะตีวงกว้าง  ทำให้เกิดสำนึกกว้างขวาง  ใครทำอะไรได้ก็ลงมือทำเลย”
            และ ผศ.ดร.วิลาสินี  พิพิธกุล ที่ให้แง่คิดว่า  “ ไม่ใช่สมาคมนักข่าวเป็นเจ้าขององค์กรเดียว  แต่อยากเห็นการ co-operate กับสถาบันวิชาการด้วย  แล้วมองเป็นกระบวนการขยายงาน  จับมือกัน  ศูนย์ข่าวเจาะอาจเป็นตัว generate ประเด็น  การดึงนักข่าวเข้ามาทำงานร่วมกัน  ขณะเดียวกันมีสถาบันวิชาการที่คุณอยากทำงานด้วย  เป็นตัวถอดบทเรียนหรือทำวิจัยติดตาม case by case แล้วเอาตัวบทเรียนนี่มาพัฒนาต่อ  ในเชิงสร้างกฎเกณฑ์สร้างงานวิชาการ  อะไรก็แล้วแต่  ส่งต่อให้สถาบันพัฒนาสื่อ PDIT. ทำเรื่อง training  มองกันเป็นระบบแบบนี้เลย”
            ในขณะที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  ประสาน สุขใส  เสนอว่า “ลองให้เขาทำแผนเสนอมาสิ  แล้วมีเงินค่าใช้จ่ายตามจริงให้  มีกองทุนใหญ่ๆสิ  ผมจะทิ้งนักข่าวให้ทำข่าวเจาะทั้งปีเลย  ผมเชื่อว่าจะเกิดเยอะแยะ  แม้แต่จะจ้างนักข่าวใหม่มาทำข่าว routine ยังได้เลย  ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของหนังสือพิมพ์เองด้วย  สมาคมฯลองให้ทำแผนงบประมาณมาสิ  แล้วมีระบบติดตามประเมินผลจริง”
            ส่วน ประกิต หลิมสกุล  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จุดประกายว่า “ เราต้องตั้งคำถามว่า  สื่อหนังสือพิมพ์ความแหลมคมมันอยู่ตรงไหน  วันข้างหน้า สื่อโทรทัศน์วิทยุจะมาแย่งไป  เราจะทำยังไงให้มันมีกระบวน การคิดและการพัฒนาเกิดขึ้น... งานวิจัยตั้งแนวคิดมาแบบนี้มันตรงกับความคิดผม  คือต้องรื้อระบบแล้วมีคนกลาง...”
            เช่นกับที่ จีรนุช เปรมชัยพร  ผู้จัดการหนังสือพิมพ์ on line ประชาไท เสนอให้มีการสนับสนุนงานข่าวสืบสวน  ในเรื่องของศูนย์ข้อมูล  “จริงๆเรามีข้อมูลค่อนข้างจำกัด  ถ้าจะทำจริง  ต้องให้สามารถดึงข้อมูลได้มากกว่านี้ แล้วมีการต่อเชื่อมไปถึงแหล่งข้อมูลทั้งหลาย ที่ไม่ใช่แค่เอกสาร แหล่งข้อมูล  บุคคล  ความคล่องตัวในการทำ  หรือว่ามีคนที่เป็นเหมือนที่ปรึกษาในการมองประเด็นเหล่านี้ด้วย”
      5.1   แนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น   โครงการวิจัยจึงขอประมวลเป็นข้อเสนอ  ดังนี้
                1.   จัดตั้งแผนงาน  โครงการ  หรือศูนย์ 
           โดยแผนงาน โครงการ หรือศูนย์นี้มีบทบาทในการสร้าง”ข้อตกลงร่วม”การนำเสนอข่าวเชิงสืบสวน  ( Investigative Report Consensus )  ในหนังสือพิมพ์ระดับชาติและระดับท้องถิ่น  จำนวนรวมสัก 6 ฉบับ ซึ่งในกระบวนให้ได้มาซึ่งฉันทามติหรือ commitment  นี้  อาจต้องใช้แนวทางทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ( action research ) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัย  นักหนังสือพิมพ์อาวุโส  นักคิดนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ  ซึ่งหมายถึงกระบวนการประชุม  หารือ  การปรับทัศนคติ  ไปสู่ความเข้าใจร่วมและความต้องการร่วม  จนก่อเกิดเป็นข้อตกลงการเสนอข่าวสืบสวน  กระบวนการสร้างความเข้าใจนี้ ควรจัดให้มีขึ้นหลายระดับ ตั้งแต่ตัวนักข่าวเชิงสืบสวน  นักหนังสือพิมพ์อาวุโส  บรรณาธิการข่าว และสมาคมวิชาชีพ  ซึ่งในขั้นตอนการสร้างข้อตกลงร่วมนี้  น่าจะเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุด
           ศ.นพ. ประเวศ วะสี (สัมภาษณ์วันที่ 8 สิงหาคม 2549) ได้ให้ข้อเสนอแนะการจัดตั้งเป็น “ศูนย์ส่งเสริมงานข่าวสืบสวน”   เพื่อสื่อความหมายภารกิจให้ชัดเจนแก่สาธารณะ
             2.   เป้าหมาย
           แผนงาน  โครงการ  หรือศูนย์นี้  ดำเนินการแสวงหาข้อตกลงร่วมจากหนังสือพิมพ์เป้าหมาย 6 ฉบับ  ไปพร้อม ๆ กับการดำเนินงานจัดหาทุนหรืองบประมาณการสนับสนุนในรูปของGrant  Support หรือเงินให้เปล่าแก่หนังสือพิมพ์ในข้อตกลง  โดยมีการทำสัญญาการทำงานที่ระบุระยะเวลา 1 ปี  ที่ให้อิสระอย่างเต็มที่แก่หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ  ในการนำเสนอข่าวสืบสวนที่มีเป้าหมายมีประเด็น (Theme)เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ  ซึ่งหนังสือพิมพ์  แต่ละฉบับจะนำเสนอไปตามแนวทางนำเสนอ (Style) ของตน  โดยอาจเลือกเหตุการณ์หรือประเด็นย่อยให้เหมาะ สมกับกลุ่มผู้อ่านของตน หรือ brand loyalty ทั้งนี้  จะทำให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีประเด็นข่าวสืบสวนของตนเอง  เป็นผลงานของหนังสือพิมพ์เอง โดยไม่ซ้ำเหมือนและไม่เกิดการแข่งขัน
           3.  การจัดการ  และการประเมินผล
            แผนงาน โครงการ หรือศูนย์นี้ อาจจัดตั้งโดยเป็นอิสระ  หรือเป็นโครงการความร่วม มือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีแผนจะสนับสนุนโครงการลักษณะนี้อยู่แล้ว  กับทั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดคณะกรรมการกำกับดูแลงบประมาณและการติดตามผลงาน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและโปร่งใส ทั้งนี้  จัดให้มีผู้รับผิดชอบ  ประสานงานและติดตามการดำเนินงาน
            ในส่วนการติดตามผลงาน  อาจใช้วิธีการประเมินภายนอก หรือ out source มีกรรมการทรงคุณ วุฒิที่มาจากส่วนของผู้รับผิดชอบโครงการ  นักวิชาชีพ  นักวิชาการ  เป็นต้น  ซึ่งในการติดตามผลงานนี้ มีเป้าหมายมุ่งการให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่เป็นจริง  และการใช้งบประมาณที่ตรวจสอบได้  แต่ไม่มีเป้าหมายด้านการตรวจวัดคุณภาพข่าวหรือควบคุมการทำงานข่าว
          4.   ระบบสนับสนุน
           จากข้อเสนอแนะของหลายฝ่าย  แผนงาน โครงการ หรือศูนย์นี้  น่าจะดำเนินงานด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูล ( data base ) เพื่อสนับสนุนงานข่าวเชิงสืบสวนโดยเฉพาะ  ซึ่งข้อมูลที่พึงมี  ได้แก่  บัญชีทรัพย์สินนักการเมือง  สาแหรกความสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจ /และหรือกลุ่มการเมือง  ข้อมูลโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐและธุรกิจเอกชน  ข้อตกลงทางการค้าและการทูตระหว่างประเทศ  ข้อมูลสถานการณ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โครงการการลงทุนจากต่างประเทศ  รายงานการประชุมสภา  มติ ครม.ต่างๆ  ข้อมูลกฎหมายสำคัญ  ข้อมูลหน่วยราชการ  ข้อมูลการใช้งบประมาณ งานความมั่นคงที่เปิดเผยได้ ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯลฯ  เพื่อให้เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่อำนวยความสะดวกแก่งานข่าวเชิงสืบสวนโดยตรง  เนื่องจากที่ผ่านมา  ข้อมูลเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน  เป็นปัญหาแก่การติด ตามสืบค้นงานด้านฐานข้อมูลนี้ ควรดำเนินการไปพร้อมๆกับการดำเนินงานข่าวสืบสวน  เนื่องจากต้องใช้เวลาในการค้นคว้า  สะสมข้อมูลจำนวนมาก
           นอกเหนือจากนี้ ผลงานข่าวสืบสวนดีเด่นของหนังสือพิมพ์ที่เข้าร่วมในข้อตกลง  จะได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมพิเศษ   ภายใต้ความร่วมมือด้านเงินรางวัลจากโครงการ  ร่วมกับสมาคมนักข่าวฯ อีกด้วย รวมถึงการจัดกิจกรรมเชิงสังคมเพื่อยกย่องผลงานข่าว และกระตุ้นสาธารณะให้กว้างขวาง  อีกทั้งจัดให้มีการตีพิมพ์หนังสือเล่มหรือเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นๆ
            อนึ่ง  เนื่องจากแผนงาน  โครงการ  หรือศูนย์นี้   เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research ) ดังนั้น การวิจัยท่ามกลางการดำเนินงาน  เพื่อให้ได้มาซึ่งชุดความรู้ที่จะอธิบายผลลัพธ์และบทเรียน  จึงต้องการทำงานดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการดำเนินงานด้านอื่นๆด้วย 

 

**************************************************************************************************************

บรรณานุกรม

1. คู่มือนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ; เอกสารรายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น , สิงหาคม 2541
2. เจาะข่าวนโยบายสาธารณะ : โครงการพัฒนาผู้สื่อข่าวในการทำงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนด้านนโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี, สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย  ,ภายใต้แผนงานนโยบายสาธารณะของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ,สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ , กรกฎาคม 2549
3. ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ; ศ.ดร., ”สื่อกับการเมือง” ปาฐกถาประจำปี 2549 มูลนิธิอิศรา
อมันตกุล  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
4. ประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์ , เอกสารการบรรยายเรื่อง “เทคนิควิธีในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน” , สำนักข่าวประชาธรรม, ธันวาคม 2546
5. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ; ดร., บทความ “ปัญหาเสรีภาพสื่อมวลชนยุค Media Democracy : อิสระจากรัฐและทุน” , หนังสือครบรอบ 9 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, 2549
6. ประวิตร  โรจนพฤกษ์ , สื่อเสรีมีจริงหรือ : บทเรียนประชาธิปไตยและวัฒนธรรมสื่อไทย , สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง , สิงหาคม 2545
7. วิลาสินี พิพิธกุล ; ผศ.ดร. และคณะ , รายงาน”สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในรอบปี 2546 “ จัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ Southeast Asian Press Alliance , พฤษภาคม 2547
8. วลักษณ์กมล จ่างกมล , รายงานกรณีศึกษาศูนย์ข่าวอิศรากับความเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ
ในชุดโครงการวิจัยเรื่อง”เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ” สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ , 2549
9. สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ ; ผศ. , หลักการสื่อสารมวลชน ,โครงการพัฒนาตำราและเอกสารประกอบการเรียนการสอน  โครงการจัดตั้งคณะนิเทศศาสตร์  ภาควิชานิเทศศาสตร์     มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา , มีนาคม 2549
10. สมหมาย  ปาริจฉัตต์ , ข่าวเจาะ-เจาะข่าวหนังสือพิมพ์ไทย : คู่มือทำข่าวฉบับประสบการณ์วิทยา , สำนักพิมพ์สายธาร ,ตุลาคม 2543
11. เสนาะ  สุขเจริญ , ข่าวสืบสวน , สำนักพิมพ์ open books , พฤศจิกายน 2549
12. สายศิริ  ด่านวัฒนะ , วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต “การรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย”  , มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ปีการศึกษา 2548
13. อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์ ; รศ.ดร. , สื่อมวลชนในยุคปฏิรูป , โครงการจัดพิมพ์คบไฟ ,2545

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: