บูฆู : สันติภาพในร้านหนังสือ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 4 เม.ย. 2557


1.ปัตตานี...ยังไม่มีเสียงระเบิด

ผมย่ำเท้าอยู่ในตัวเมืองปัตตานีด้วยภารกิจจำเป็นบางประการที่ได้รับมอบหมายแบบปัจจุบันทันด่วนและหลบเลี่ยงไม่ได้ สารภาพตามตรง ผมไม่ได้มีความปรารถนาเหมือนนักข่าวจำนวนมากที่อยากลงไปสัมผัสพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลัว-นั่นหนึ่งล่ะ และสอง-ผมเชื่อว่ามีนักข่าวที่มีความรู้ ความสามารถ และเกาะติดสถานการณ์อยู่ไม่น้อยแล้ว ผมไม่ควรลงไปเกะกะ

แต่ไหนๆ ก็มาถึงปัตตานีแล้ว เมื่อว่างเว้นจากภารกิจ ผมตามหาร้านหนังสือแห่งหนึ่งในเมืองปัตตานีที่รู้จักผ่านโลกโซเชียล มิเดีย เป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่เลือกขายหนังสือนอกกระแส และเพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่ก็พานพบคำรามของระเบิดอยู่บ้าง โชคดีที่วันนั้น ปัตตานี...ยังไม่มีเสียงระเบิด

2.บูฆู : หนังสือ แมว และผู้หญิงสองคน

บูฆูเป็นภาษามลายู-มาเลย์ (ทางอินโดนีเซียก็ใช้คำนี้) แปลว่า หนังสือ มันมาจากคำว่า Book ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

เดินเข้าไปในตรอกเล็กกว้างเท่ากับรถยนต์หนึ่งคัน ไม่ไกล จะพบบ้านหลังน้อย ทาสีขาว และหนังสือวางเรียงราย หนังสือส่วนใหญ่เนื้อหาค่อนข้างหนัก ว่ากันตั้งแต่พุทธวัชรญาณ งานวิจัย วรรณกรรม บทกวี จนถึงสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เหมาะแก่หนอนคอแข็ง แต่ทางร้านจะค่อนข้างระวังและหลีกเลี่ยงหนังสือที่มุ่งสร้างความเกลียดชัง หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์แบบฉาบฉวย อ้างอิงลอยๆ ไม่มีหลักฐาน หรือเป็นการโจมตีกันทางการเมือง

ภายในร้านมีเก้าอี้และห้องกว้าง เบาะรองนั่งสำหรับอ่านหนังสือ และแมวอีกสามสี่ตัวเดินไปมา บ้างก็ยึดครองเบาะรองนั่งเป็นเตียงนอน มวลอากาศในร้านสมกับเป็นร้านหนังสือ

ผู้หญิงคนหนึ่ง-ดาราณี ทองศิริ อดีตผู้ช่วยในร้านหนังสือก็องดิดต์ เธอไม่เคยคิดว่าจะต้องลงมาอยู่อาศัยที่ปัตตานี มีแต่ความรู้สึกว่าอยากจะเปิดร้านหนังสือเป็นของตัวเองเสียที เมื่อผู้หญิงอีกคนหนึ่ง-อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชักชวนดาราณีให้มาอยู่ชายคาเดียวกัน เธอทั้งสองจึงสานฝันร้านหนังสือด้วยกัน

ผมคิดในใจ อะไรดลใจให้มาเปิดร้านหนังสือใน ‘ปัตตานี’

3.บนถนนสามัคคี สาย ข.

            “เราน่ะรู้อยู่แล้วว่าที่นี่มีปัญหา ก่อนหน้านั้นเราเห็นแต่จากสื่อนะว่ามันมีความรุนแรง ไม่เคยนึกเหมือนกันว่าจะลงมาอยู่นี่ ไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ากลัวด้วยซ้ำ พอเรารู้จักพี่เขา เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ มันไม่เคยอยู่ในหัวมาก่อนก็จริง แต่เราก็ไม่ได้มีความกลัวถึงขนาดจะอยู่ไม่ได้ ตอนมาหาทำเลก็รู้สึกว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เห็นในสื่อ ในเมืองก็มีเหตุการณ์บ้าง แต่คนยังคงใช้ชีวิตกัน เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้น่ากลัวตลอดเวลา” ดาราณี เล่าถึงปัตตานีที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาอยู่ร่วมกัน

ร้านหนังสือในปัตตานีมีอยู่หลายร้าน แต่โดยมากเป็นร้านหนังสือทั่วไป ไม่ก็ขายหนังสือที่ว่าด้วยศาสนาอิสลามโดยเฉพาะ บูฆูจึงเป็นร้านหนังสือนอกกระแสร้านแรกในปัตตานี

ดาราณี ทองศิริ

            “ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องจำนวนลูกค้า คิดแค่ว่ายังไงก็ต้องลงมาอยู่นี่อยู่แล้ว เพราะพี่อันต้องมาทำงานที่นี่ พอเราออกจากร้านหนังสือมา เราก็ต้องหางานทำ เราสองคนเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบบรรยากาศร้านหนังสือ และเราก็อยากใช้ชีวิตอยู่ในร้านหนังสือแบบนี้ จะมีลูกค้าหรือไม่มีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือไม่ได้คิดว่าจะต้องมีหรือไม่มีลูกค้า แต่เราอยู่ของเราเองและเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า ในชุมชนทุกที่จะต้องมีคนอ่านหนังสือไม่มากก็น้อย ยังไงก็ต้องมีสักคนที่มาเป็นลูกค้า ไม่ได้คิดไปไกลว่ามันจะอยู่ได้ดีหรือไม่ดี แต่คิดแค่ว่ายังไงเราก็ต้องเช่าบ้าน เช่าบ้านและทำร้านไปด้วย มันก็ไม่ต้องการกำรี้กำไรอะไรมาก เหมือนเราต้องเช่าบ้านอยู่แล้ว เราก็ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ของเราไป”

ศูนย์ข่าว TCIJ : รายได้จากร้านหนังสือในเมืองปัตตานีพออยู่พอกินหรือเปล่า?

            “มันครอบคลุมค่าใช้จ่ายในร้าน แต่ไม่ทำกำไร กำไรก็น้อยมาก คุณไม่สามารถใช้ชีวิตหรือดำรงชีพอยู่ได้ด้วยเงินจากร้านหนังสือ คุณต้องมีงานประจำอย่างอื่น อย่างพี่อันก็มีงานประจำเป็นอาจารย์ ส่วนเราเงินที่ได้มา ส่วนใหญ่คือกินใช้อยู่ในบ้าน รับงานนอกบ้าง เขียนบทความบ้าง คนที่จะอยู่ได้จากร้านหนังสืออย่างเดียวต้องไม่มีภาระอะไรเลย ไม่มีค่าเทอมลูก ไม่ต้องผ่อนรถ ถึงจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีค่าเช่าเลยนะ เราคิดว่าได้กำไร อย่างของเราต้องจ่ายค่าเช่า กำไรก็ลดลง แต่เท่าที่เราอยู่ร้านหนังสือมาสองสามร้าน ต่อให้เป็นร้านที่เน้นขายอย่างเดียวเลยนะ ไม่เน้นแบบเรา ก็อยู่ยาก กำไรมันน้อย ร้อยหนึ่ง ร้านหนังสือได้ยี่สิบห้าบาท น้อยนะกว่าจะเก็บค่าเช่าร้านได้ ไม่โรแมนติกแน่นอน จะโรแมนติกก็ต่อเมื่อคุณพอใจกับชีวิต ณ ปัจจุบันของคุณ แล้วยินดีที่จะอยู่ในร้านหนงสือที่ทำกำไรอันน้อยนิด อันนี้จะโรแมนติกได้”

เดิมทีร้านหนังสือบูฆูไม่ได้ตั้งอยู่ ณ ที่ที่อยู่ปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่ใกล้ๆ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดอยู่ปีครึ่งจึงย้ายมาอยู่ถนนสามัคคี สาย ข. สามเดือนแรกของบูฆู เงียบเหงา ไร้คนรู้จัก หลังจากนั้นจึงค่อยๆ กระเตื้องขึ้นจากการบอกปากต่อปากของอาจารย์มหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ และนักกิจกรรมในพื้นที่

อันธิฌา แสงชัย

นอกจากจะขายหนังสือ บูฆูยังจัดกิจกรรมเป็นระยะ ๆ ทั้งจัดฉายหนัง จัดเสวนาเกี่ยวกับการอ่าน จนเป็นที่รู้จักของบรรดาหนอนๆ ในปัตตานีมากขึ้นตามลำดับ เมษายน 2556 จึงย้ายมาอยู่ที่ใหม่ พร้อมๆ กับที่วงเจรจาค่อยๆ ก่อตัวขึ้น บูฆูแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่กลางสำหรับการสนทนาว่าด้วยสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปโดยปริยาย

            “พอมาเปิดที่นี่มันพลิกเลยนะ ที่เดิมยังชิลๆ อยู่ เหมือนอยู่บ้านตัวเอง วันไหนมีลูกค้าก็มี วันไหนไม่มีลูกค้าก็โอเค ทำงานอย่างอื่นไป แต่ตั้งแต่มาเปิดที่นี่ ลูกค้ามีทุกวันและเยอะขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้มันกลายเป็นร้านหนังสือที่มีคนรู้จักค่อนข้างเยอะแล้ว เยอะจนตอนแรกก็รู้สึกว่ามันเยอะเกินไปด้วยซ้ำ เหนื่อย ตอนนี้เลยต้องจ้างเด็กมาช่วย”

ความเชื่อลึก ๆ ของดาราณีถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง ในทุก ๆ ที่ จะมากหรือน้อย ย่อมมีคนอ่านหนังสือเสมอ แถมยังอ่านแต่เรื่องหนักๆ ทั้งวรรณกรรม การเมือง สังคม โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ แต่ต้องหมายเหตุตรงนี้ว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงมี แต่ไม่มาก ดูเหมือนว่าศาสนาและวัฒนธรรมจะขีดเส้นให้ผู้หญิงมุสลิมอ่านหนังสือศาสนาเป็นหลัก เพียงส่วนน้อยที่ฉีกออกมาอ่านเรื่องหนัก ๆ

            “การอ่านของผู้หญิงที่นี่มีปัญหาเยอะค่ะ มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี และเป็นเรื่องปกติของเขาที่จะไม่พูด ในวงของผู้ชายจะต้องให้ผู้ชายพูดก่อนหรือบางทีจะไม่แสดงความเห็นอะไรเลย มันเป็นอะไรที่สืบทอดมายาวนาน แต่เราเชื่อว่าผู้หญิงเขาอ่านนะ เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏตัวตามร้านหนังสือเท่าไหร่ แต่ผู้หญิงที่เห็นชัด ที่อ่านหนักๆ เป็นผู้หญิงที่มีการศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรม นักวิจัย หรือผู้หญิงที่มีสามีเป็นนักกิจกรรม เขาก็จะมาด้วยกัน แต่ถ้าเป็นทั่วๆ ไป เด็กๆ วัยรุ่นยังไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่”

4.โลกนอกร้านหนังสือ

โลกในร้านหนังสือบูฆู สงบ นิ่ง และดูอบอุ่น แต่โลกนอกร้านหนังสือยังคุกรุ่นด้วยความรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ ก่อนมาปักหลักที่ปัตตานี สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในความนึกคิดของดาราณีถูกกล่อมเกลาผ่านสื่อเป็นหลัก คือมีโจรที่ไม่ใช่คนไทยสู้กับรัฐไทย แต่เมื่อต้องมาอยู่ในพื้นที่ปัญหา ใกล้ชิดกับความขัดแย้ง ดาราณีเริ่มเข้าใจความคิดของทั้งสองฝ่าย เห็นทั้งสองมุม

            “ใช่ว่าเราจะสามารถเทคไซด์ไปข้างหนึ่งได้แบบสุดโต่ง แม้ว่าเราจะมีมุมมองที่ค่อนข้างแอนตี้ทหารกับกองทัพ แต่บางอย่างมันต้องแยก เพราะการกระทำของมลายูมุสลิมบางคนก็สุดโต่ง เลือกใช้วิธีที่รุนแรง ซึ่งเราไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องแยกการกระทำของรัฐที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนหรือหลายคนกระทำต่อชาวมลายูที่นี่”

มุมมองที่เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นในร้านหนังสือของเธอนั่นเอง บูฆูมิใช่แค่ร้านหนังสือ แต่เป็นพื้นที่กลางสำหรับการแสดงความคิดเห็นผ่านการจัดเสวนาที่เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ

การเสวนาเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของดาราณีและอันธิฌาที่จะหยิบใช้มิติทางวัฒนธรรมเพื่อช่วยลดความรุนแรงและสร้างกระบวนการสันติภาพ อันธิฌาเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า ในพื้นที่ของวรรณกรรมและศิลปะคือพื้นที่พิเศษที่ช่วยให้คนหันมาพูดจากันด้วยอารมณ์พิเศษ และบูฆูวางบทบาทตนเองเป็นพื้นที่พิเศษนั้น

ทว่า ยิ่งพาตัวเองเข้ามาขลุกกับวงพูดคุย บูฆูกลับกลายเป็นแหล่งซ่องสุมในสายตาของรัฐ ถึงขนาดมีทหารมาถ่ายรูป ขอเบอร์โทรศัพท์ แฝงตัวเข้ามาในงานเพื่อถ่ายรูปคนเสวนาเอาไปทำเพจป้ายสี เชื่อมโยง ตัดต่อรูป ในเว็บไซต์เว็บหนึ่งที่มักจะนำภาพของคนที่ทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ เอ็นจีโอ ที่ดูเหมือนจะเอนเอียงทางฝั่งชาวมลายู เอาไปเขียนโจมตีว่าสนับสนุนโจรหรือได้รับเงินมาสร้างความแตกแยก

5.ความเข้าใจ

อันธิฌา บอกเล่าความรู้สึกนึกคิดว่า

            “สิ่งที่รู้สึกติดค้างมาตลอดคือเราอยากมีเพื่อนเป็นทหารบ้าง เราอยากเข้าใจมุมมองของฝ่ายรัฐ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง เราเข้าใจชาวบ้าน เข้าใจเอ็นจีโอ เข้าใจภาคประชาสังคม เข้าใจผู้ที่เป็นตกเป็นเหยื่อ เราไม่ได้คิดว่าจะเข้าใจคนที่อยู่ในฝ่ายของบีอาร์เอ็น แต่เราคิดว่ามองเห็นประเด็นของเขาบางเรื่อง สำหรับทางฝ่ายรัฐ เรามองเห็นเขาเป็นอะไรที่แข็งตัวมากๆ เพราะเวลาที่เรานึกถึงรัฐ เราก็จะเห็นแต่อุดมการณ์ที่มาเป็นก้อนๆ แต่เราขาดมิติของการทำความเข้าใจในเชิงรายละเอียด คนที่เขาทำหน้าที่อยู่ที่นี่ ระดับล่าง ระดับสูง เขามองเรื่องนี้อย่างไร เพราะหลายครั้งที่เราเห็น เรารู้สึกว่ามันไม่จบแน่ ถ้ายังคงมีวิธีการคิดแบบที่เขายังทำอยู่ในปัจจุบัน เราก็อยากทำความเข้าใจฝ่ายรัฐบ้าง แต่ไม่มีเพื่อนเป็นทหารเลย มีเพื่อนที่เป็นทหาร แต่เขาก็เลิกคบเราไปหมดตั้งแต่เราสนใจประเด็นนี้

            “วิธีการทำงานชุมชนของทหาร เราก็มองว่าแปลกๆ เช่น ช่วงที่จัดงานวันเด็กก็ให้เด็กประกวดร้องเพลงชาติ เราว่ามันเป็นวิธีที่แปลกในการเข้าถึงชุมชน มันเป็นวิธีการเข้าถึงชุมชนแบบที่ไม่เข้าใจชุมชน และเขาก็พยายามจะฉายภาพว่าทหารทำในสิ่งที่ดีงาม ไม่ใช่การปราบปรามความรุนแรง แต่เรารู้สึกว่าหลายเรื่องที่เป็นภารกิจของเขา มันขัดแย้งกันเอง เป็นสิ่งที่เราวิจารณ์เขาไป เช่น ฝ่ายหนึ่งต้องการเห็นกระบวนการสันติภาพ แต่อีกฝ่ายก็ยังมีปฏิบัติการที่ดูแล้วน่าจะสร้างความรุนแรงมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ไปช้ากว่านโยบาย หรือวิธีการเจรจาด้วยสันติอาจจะยังไม่เป็นนโยบายด้วยซ้ำ จึงเกิดภาพที่หน่วยงานนี้ทำเรื่องหนึ่ง อีกหน่วยงานก็ทำอีกเรื่องหนึ่ง ดูไม่ไปในขบวนเดียวกัน เราจึงไม่รู้จะแก้ปัญหาได้ยังไง”

6.เสรีภาพในร้านหนังสือ

ถ้ามีทหารมาขอใช้พื้นที่เปิดวงเสวนา ร้านบูฆูจะยินยอมให้ใช้สถานที่หรือเปล่า?

อันธิฌา-“ให้สิ คุณจะมาเสนอความเห็นอะไร ยินดีเลย”

ดาราณี-“เราคิดว่าต้องมีเงื่อนไขนะ คงจะดูว่าคุณมาในลักษณะแบบไหน คุกคามประชาชนหรือเปล่า ถือปืนมาหรือเปล่า แล้วใครจะมาฟังคุณ เพราะถ้าทหารจะมาขอใช้พื้นที่ เราจะไม่ให้เอาอาวุธเข้ามาเลย ต้องเป็นเขตปลอดอาวุธ คุณจะเข้ามาจัดงานเสวนาในร้านหนังสือ คุณต้องใช้ปัญญา ไม่ควรพกอาวุธเข้ามา ถ้าจะเอาอาวุธเข้ามา เราจะไม่ให้จัด นี่คือเงื่อนไข คุณต้องมาตัวเปล่า แต่ถ้าเขามาในหัวข้อว่าควรจะภักดีต่อรัฐไทยอย่างไร ก็โอเคนะ ถ้าคุณอยากจะพูดในสิ่งที่คุณคิดและคนเขาฟังคุณ คุณก็มีสิทธิ์พูด มันเป็นเสรีภาพในการเสนอความคิดอยู่แล้ว แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วย”

อันธิฌา-“มีคนถามว่า ถ้าให้เอ็นจีโอหรือนักกิจกรรมจัดบ่อยๆ ก็มักจะเป็นข้อมูลฝั่งเอ็นจีโอด้านเดียว แต่เราคิดว่าสมดุลตรงนี้มันยากนิดหนึ่ง เพราะในชีวิตประจำวันนอกร้านหนังสือคุณโดนป้อนข้อมูลชุดหนึ่งอยู่แล้ว และเยอะด้วย มันน่าจะเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นข้อมูลกระแสหลักของรัฐ มีสถานีวิทยุ มีทุน มีทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสร้างเสริมอุดมการณ์ บอกตรงๆ นะคะ แม้แต่โรงเรียนอนุบาลก็เป็นพื้นที่ของรัฐ สิ่งที่เขาพูดกับเด็กอายุสองสามขวบ มันเป็นชุดอุดมการณ์ของรัฐทั้งนั้น แล้วข้อมูลที่จะโต้แย้งก็หาได้น้อยเหลือเกินในพื้นที่ทางสังคม ดังนั้น นี่คือการรักษาสมดุลของเรา เรามองอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่ข้อมูลกระแสรองสามารถพูดออกมาได้ มันน้อยอยู่แล้ว มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนกลุ่มหนึ่งถึงเห็นคุณค่าของพื้นที่ลักษณะนี้ แต่สิ่งที่เป็นจุดยืนของร้านเราคือไม่ยอมรับความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย”

ดาราณี-“เราเป็นจุดเล็กๆ ในสังคมที่พูดแต่ข้อมูลกระแสหลักเท่านั้นเอง เพราะถ้าไปดูปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐ จะเห็นว่ามีเต็มไปหมด และพูดได้อย่างถูกต้อง พูดได้อย่างที่ไม่มีใครจัดการได้ ขณะที่กลุ่มแบบนี้ ร้านแบบนี้ หรือเพจที่จะพูดคุยเรื่องราวของคนมลายู หรือคนที่มีปัญหากับรัฐไทย มีน้อยมาก แล้วเวลาพูดที ก็จะมีคนออกมาต่อต้าน ทำไมให้ท้ายโจร แบ่งแยกดินแดนเหรอ คือคุณไม่ได้สามารถพูดได้อย่างเสรี ต่างกับรัฐไทยที่จะพูดอะไรก็ได้”

7.สันติภาพในร้านหนังสือ

ถึงตอนนี้ บูฆูแปรสภาพเป็นอีกดินแดนหนึ่งที่พยายามเต็มที่มิให้ความรุนแรงย่างกรายเข้ามา โดยมีกองทัพหนังสือเป็นกั้นอยู่ตรงกลาง ก็ไม่รู้ว่าเป็นคำถามที่โรแมนติกเกินไปและไร้เดียงสาเกินควรหรือไม่ แต่ผมถามออกไปว่า การอ่านจะช่วยให้เกิดสันติภาพได้หรือเปล่า?

ดาราณีตอบโดยไม่ลังเลว่า ได้แน่นอน

            “แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ ตัวอย่างชัด ๆ เลย เมื่อก่อนมีกลุ่มนักศึกษาไฟแรงที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้และถูกจับกุม แน่นอนว่าคงมีบางคนที่ไปทางขบวนการหรือความรุนแรง แต่หลายๆ คนก็กลับมาสู้ด้วยแนวทางสันติวิธีด้วยการอ่าน การทำงานเรื่องหนังสือ อย่างกรณีของอันวาร์ก็ชัดมาก (นายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ  หรืออันวาร์ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมด้วยสันติวิธี ตั้งแต่ปี 2549–ปัจจุบัน ที่ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 12 ปี) เพราะตอนเขาเป็นนักศึกษา เขาออกมาประท้วง เรียกร้อง  เข้าใจว่าหลังจากที่เขาผ่านประสบการณ์ตรงมาเรื่อย ๆ เขาเริ่มอ่านหนังสือ เขามีข้อมูลจากหลายแหล่งที่ทำให้เขารู้ว่า วิธีการต่อสู้กับรัฐสามารถต่อสู้ผ่านบทกวีได้ ใช้ปากกาสู้กับรัฐได้ ทำสำนักพิมพ์บุหงารายาบุ๊ค นี่เป็นกรณีหนึ่งที่คิดว่าการอ่านเปลี่ยนคนได้”

ส่วนคำตอบของอันธิฌาก็ไปในทำนองเดียวกัน...

            “เรามองว่าที่นี่มีปัญหาหลายซับหลายซ้อน ต่อให้ไม่มีปัญหากับรัฐ ที่นี่ก็ใช่ว่าจะปราศจากความรุนแรง ที่นี่ก็มีความรุนแรงในแบบของตัวเอง แล้วก็เรื่องภายในโครงสร้างสังคมของเขา ภายในโครงสร้างนี้ก็มีการกดขี่ ความไม่เป็นธรรม มีปัญหาของเขาเอง พอมีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นมันก็ทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังพูดถึงและพยายามแก้ปัญหา มันคือความรุนแรงแบบซึ่งหน้า แต่จริงๆ แล้วมันยังมีความรุนแรงที่ซับซ้อน เป็นเรื่องใหญ่ด้วย และลึกลงไปอีกหลายชั้นมาก

            “การที่คนอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ได้แค่แก้ปัญหาความรุนแรงแบบซึ่งหน้า แต่มันจะไปแก้ความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรมและพหุวัฒนธรรม ที่มันเป็นโครงสร้างที่ซ้อนเข้าไป เพราะการอ่านทำให้เราเห็นความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในโลกของวรรณกรรมหรือในโลกของเรื่องเล่าที่มันเห็นมิติของความเป็นอื่น ความเป็นคนอื่นต่างๆ นานา ที่ตัวเองก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นอื่น และความเป็นอื่นที่คนอื่นก็เจ็บปวดรวดร้าวเหมือนกันว่ามันมีการเผชิญหน้ากันยังไง การอ่านจะทำให้เราเข้าใจความแตกต่างได้ดีขึ้น เชื่อว่าสุดท้ายจะช่วยให้ความรุนแรงในระดับต่างๆ ลดลง อย่างน้อยก็ไม่ปะทะกัน”

    การสนทนาจบลง อันธิฌาต้องออกเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ขณะที่ผมยังต้องเตร็ดเตร่อยู่ในปัตตานีต่ออีกหนึ่งวัน

ผมเดินวนอยู่ในร้านบูฆูหลายรอบ มองหาหนังสือเล่มที่ถูกใจ สลับกับการกลั่นแกล้งแมวที่กำลังนอนหลับ ในห้วงคิดคำนึง คำถามสุดท้ายยังดังก้อง การอ่านจะช่วยให้เกิดสันติภาพจริงหรือ? ผมไม่กล้าตอบแบบฟันธงเช่นเธอทั้งสองคน แต่เท่าที่นึกออก อย่างน้อยที่สุด ณ ขณะที่เราอ่านหนังสือ คงเป็นไปได้ยากถึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหยิบอาวุธขึ้นมาประหัตประหารหรือทำร้ายใคร

...สันติภาพในร้านหนังสือ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: