นักธุรกิจเสนอปฏิรูปลดขนาดรัฐ - แปรรูปรสก.- หยุดแทรกแซงตลาด

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 3 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1664 ครั้ง

ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปประเทศภายใต้การกำกับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายภาคส่วนได้เสนอแนวทางการปฏิรูปจากมุมมองของตนเรื่อยมา โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาเรื่อง ‘Sustaining Thailand: ก้าวอย่างไรให้ประเทศไทยยั่งยืน’ ขึ้น ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จากการอภิปรายช่วงท้ายในหัวข้อ ‘รัฐไทยกับการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ’ บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านมุมมองของภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐที่สวนทางกับความเป็นไปของโลก

รัฐขยาย แต่ประสิทธิภาพต่ำ

ประเด็นที่บรรยงกล่าวถึงเป็นการเฉพาะคือการขยายตัวขึ้นมากของขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การขยายตัวดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องเกิดเป็นปัญหาด้านศักยภาพการแข่งขัน ข้อจำกัดด้านการเจริญเติบโต ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างขนานใหญ่

บรรยงอธิบายว่า เมื่อดูจากงบประมาณเปรียบเทียบกับจีดีพีของประเทศอาจเห็นว่ารัฐไทยไม่ได้มีการขยายตัวมาก เพราะงบประมาณของไทยก่อนวิกฤตเศรษฐกิจคิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของจีดีพี และเพิ่มเป็นร้อยละ 22-23 เท่านั้น แต่หากสำรวจรายละเอียดจะพบว่างบประมาณ 2.75 แสนล้านบาท ร้อยละ 78.7 เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งบรรยงประมาณว่าเท่ากับร้อยละ 17 ของจีดีพี ตัวเลขนี้เกิดเป็นคำถามถึงความมีประสิทธิภาพของรัฐ

รัฐวิสาหกิจไทยใหญ่เกินไป? ไร้ประสิทธิภาพหรือไม่?

การขยายขนาดของภาครัฐยังสะท้อนได้จากค่าใช้จ่ายและสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจไทย ในปี 2541 รัฐวิสาหกิจไทยไม่รวมสถาบันการเงินของภาครัฐมีค่าใช้จ่ายรวมกันเพียงร้อยละ 17 ของจีดีพี แต่ปี 2556 ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเป็น 4.66 ล้านล้านบาทหรือร้อยละ 42 ของจีดีพี

“คำถามคือรัฐวิสาหกิจไทยใหญ่ไปหรือเปล่า มีประสิทธิภาพหรือไม่ และคอร์รัปชั่นหรือไม่ เรามีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสามสี่แห่งหลังวิกฤต ตามนิยามของการแปรรูปคือการโอนจากรัฐไปเป็นของเอกชน แต่ของไทยไม่ใช่ ทุกอย่างยังอยู่ใต้กำกับของรัฐ กลายเป็นการกวาดต้อนทรัพยากรตลาดมาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เราจึงไม่ได้แปรรูปจริง”

ด้านสถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง ไม่รวมธนาคารกรุงไทย หลังวิกฤตเศรษฐกิจมีขนาดทรัพย์สินรวมกัน 4 แสนล้านบาทหรือร้อยละ 13 ของจีดีพี ขณะที่ปัจจุบันทรัพย์สินเพิ่มเป็น 4.77 ล้านล้านบาทเท่ากับร้อยละ 42 ของจีดีพี เช่นกัน คำถามที่ตามมาจากการขยายตัวของรัฐวิสาหกิจคือเรื่องประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาล ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อันนำมาซึ่งการรั่วไหลขนาดใหญ่

รัฐแทรกแซงตลาด-ภาคธุรกิจต้องหยอดทุกจุด

การขยายตัวข้างต้นแสดงให้เห็นบทบาทของรัฐที่พยายามทำหน้าที่แทนตลาด ซึ่งในทางสากลค่อนข้างได้ข้อสรุปตรงกันแล้วว่า รัฐไม่สามารถมีประสิทธิภาพเท่ากับภาคเอกชน สิ่งที่รัฐควรทำคือการสร้างกฎกติกาและกลไกที่จะเอื้อให้ตลาดทำหน้าที่

“แต่รัฐไทยค่อนข้างจะเข้าไปมีบทบาทแทนตลาด เช่น นโยบายจำนำข้าวชัดเจนที่สุด ตลาดมีอยู่แล้ว แต่เพื่อสนองนโยบายรัฐเข้าไปยึดตลาดมาทำเอง ซึ่งก็พิสูจน์ชัดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น”

บรรยงตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เวลาออกกฎหมายเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจเพิ่มที่จุดใดจุดหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าประเทศไทยค่อนข้างไปในทางเพิ่มกฎระเบียบ เพิ่มอำนาจให้แก่ภาครัฐ มากกว่าการกระจายอำนาจ

“ผมยกตัวอย่าง ถ้าใครทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะพบว่า มีกฎระเบียบประมาณ 200-300 ข้อที่ต้องปฏิบัติตาม มีหน่วยงานที่คอยดูแลทั้งหมดประมาณ 12 หน่วยงาน ทุกหน่วยงานต้องหยอดทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นไม่เดิน จะเห็นว่าพอมีอำนาจก็จะเกิดกระบวนการที่ไม่โปร่งใสทุกจุด”

ขณะที่รัฐขยาย ประสิทธิภาพกลับต่ำเมื่อเทียบกับเอกชน ยกตัวอย่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่มีผลิตภาพต่อพนักงานต่ำที่สุดในโลก ต่ำกว่าบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจเดียวกันอย่างเอไอเอส 15 เท่า ขาดทุนปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ใช้ทรัพยากรมหาศาล

เมื่อประสิทธิภาพต่ำ สิ่งที่เติบโตตามมาคือการคอร์รัปชั่น

ลดขนาดรัฐเท่ากับลดคอร์รัปชั่น

“วิธีลดคอร์รัปชั่นที่ดีที่สุดก็คือลดขนาดรัฐ แม้จะยังไม่แก้ไปทั้งหมด” บรรยง กล่าว

การปฏิรูปในมุมมองของบรรยงจึงต้องทำการลดขนาดของรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพ และป้องกันการรั่วไหล ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ หากแห่งใดที่ไม่ได้มีหน้าที่บทบาทแล้วก็ควรยุบ รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่มีความพร้อมก็ควรแปรรูปเป็นเอกชน ส่วนรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่เหลือ จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับปรุงด้านความโปร่งใส

หากลดขนาดรัฐและปรับปรุงรัฐวิสาหกิจได้ โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของตลาดให้มากขึ้น บรรยงเชื่อว่าจะลดการคอร์รัปชั่นลงได้ บรรยงอธิบายเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วทรัพยากรจะไหลไปยังภาคส่วนที่สามารถทำกำไรได้มาก ซึ่งภาคส่วนที่มีทรัพยากรไหลเข้าไปมากที่สุดก็คือภาคส่วนใดๆก็ตามที่สามารถคอร์รัปชั่นได้ (Corruptible) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคส่วนที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร ทั้งนี้การที่ประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาน้อย ก็เพราะการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเป็นสิ่งที่สามารถหาซื้อได้ เอกชนจึงไม่จำเป็นต้องทำการวิจัยและพัฒนา

“อาจจะมีข้อโต้แย้งได้อยู่บ้าง เพราะในหลายประเทศ รัฐเป็นผู้นำการพัฒนาตลอด เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ข้อถกเถียงของผมคือ บริบทของประเทศไทยในปัจจุบันน่าจะเลยจุดที่จะเป็นอย่างนั้นได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นได้ ต้องมีระบบราชการที่เข้มแข็ง แต่ระบบราชการของเราที่เคยมีเทคโนแครตเป็นแกนได้ถูกทำลายและไม่มีทางสร้างใหม่ได้อีกแล้ว”

กล่าวโดยสรุป ในฐานะภาคเอกชน บรรยงเห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหาเป็นเพราะมีภาครัฐที่ใหญ่เกินไป และแทรกแซงการทำหน้าที่ของตลาด ดังนั้น หากต้องการการปฏิรูป 3 สิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่งคือ ลดขนาดรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพ และป้องกันการรั่วไหล

อย่างไรก็ตาม บรรยงกล่าวทิ้งท้ายการเสวนาว่า ตนไม่เชื่อมั่นว่าจะเกิดการปฏิรูปที่แท้จริงได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: