บทวิเคราะห์ : รอยปริร้าวแห่ง  “นวสมัย”

กานต์ ยืนยง 3 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 1467 ครั้ง

ต่อให้เป็นใครคนใดที่แข็งแรงเหนือว่าบุคคลอื่น เขาผู้นั้นก็ยังต้องการเวลาพักผ่อนหลับนอน ในเวลานั้นก็อาจเป็นเวลาที่เขาต้องประสบเคราะห์ถูกทำร้ายจากคนที่อ่อนแอกว่าก็ได้ ดังนั้นเมื่อมนุษย์ได้พิจารณาเห็นความจริงจนตกลงปลงใจได้ว่า เขาไม่ควรอยู่ในสภาพการทำสงครามต่อกันอีก เขาก็จะกำหนดให้รัฐเป็นผู้ควบคุมและผูกขาดความรุนแรงนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้สภาพสังคมสมัยใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นมาได้ วัฒนธรรมสมัยใหม่ของมนุษยชาติก็สามารถก่อตัวและพัฒนาต่อไปได้ด้วยเหตุนี้

แต่ถามว่า สังคมสมัยใหม่ปราศจากความรุนแรงจริงหรือไม่ คำตอบคือไม่จริง หากแต่สังคมสมัยใหม่ปิดผนึกซ่อนเราจากให้ห่างไกลจากความรุนแรง ในด้านหนึ่งรัฐสมัยใหม่ ก็ยังมีการตัดสินลงโทษประหารชีวิต หรือทำสงครามกับรัฐอื่น อยู่บ่อยครั้ง บางทีความรุนแรงก็ปะทุขึ้นมาจากสังคมสมัยใหม่ก็ได้ทั้งจากสมาชิกในสังคมนั้นเอง หรือจากฝีมือสมาชิกที่มาจากสังคมอื่น อาทิเช่น การก่อเหตุของนายแอนเดอส์ เบห์ริง เบรวิก ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 76 ราย ทั้งในกรุงออสโล และที่เกาะอูเตอยา ประเทศนอร์เวย์ เมื่อปี 2554 หรือการก่อเหตุวินาศกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในวันเดียวกันถึง 2,996 คน

ขอบคุณภาพจาก Paula Bronstein

เหตุปะทะที่หลักสี่ เมื่อเย็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 หนึ่งวันก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เป็นเสมือนรอยปริร้าวบนพื้นผนังแห่งความมั่นคงของสังคมสมัยใหม่ เผยให้เห็นว่ากำลังทางการเมืองแบบใดที่ขับเคลื่อนอยู่หลังฉาก สังคมการเมืองไทยสมัยใหม่ที่ดูแสนจะสงบเป็นสุขปราศจากความรุนแรงนั้น

อันที่จริงการซ่อนอาวุธสงครามไว้ในถุงปุ๋ย การปิดบังอำพรางโฉมหน้าด้วยหมวกไหมพรม การป่าวร้องว่าขบวนการประท้วงดำเนินไปอย่างสันติวิธี ก็ยังเป็นความพยายามในการอำพรางโฉมหน้าพลังการเมืองอันจริงแท้นั้น ไว้ด้วยรูปโฉมของการเมืองสมัยใหม่ว่าเป็นการขับเคลื่อนที่ปราศจากความรุนแรง หากเกิดความรุนแรงขึ้นก็เป็นฝีมือของ “คนอื่น” หรือเป็นฝีมือของ “ฝ่ายตรงกันข้าม” นั่นแหละ ที่เป็นผู้ลงมือเสียเอง

คลิปรณรงค์ด้วยเหล่าเซเลปและการแสดงแฟชั่นโชว์ “วันปิคนิคแห่งชาติ” (National Picnic Day) ของกลุ่ม กปปส. ที่เวทีราชประสงค์ หรือการพยายามออกมาอธิบายและตอบโต้ของนักวิชาการ ยิ่งสะท้อนความจริงประกอบสร้างของกลุ่มการเมืองตามอุดมการณ์แบบหนึ่ง คนเหล่านี้มองข้ามความรุนแรงที่เกิดขึ้น บ้างก็ยักไหล่แล้วยอมรับอย่างแกน ๆ ว่า เป็นสิทธิในการตอบโต้เมื่อถูกกระทำจากฝ่ายตรงข้าม (นี่เป็นคำอธิบายแบบเดียวกันกับคำอธิบายของคนเสื้อแดง ต่อการปรากฎตัวของชายชุดดำที่สี่แยกคอกวัว)

ขอบคุณภาพจากเดลินิวส์

ในสังคมสมัยใหม่ ผู้คนรับทราบความเป็นจริงจากการบอกเล่าผ่านสื่อ โดยเหล่าบรรดา celebrity ผู้ประกาศข่าว ดารา ปัญญาชนสาธารณะที่ปรากฎตัวต่อสื่อ ยิ่งปรากฎตัวต่อสื่อมากเท่าไหร่ ยิ่งมีเรื่องร้อนแรงต้องใจสาธารณชนเท่าไหร่ อิทธิพลที่ celebrity เหล่านั้นจะสร้างอิทธิพลต่อสาธารณชนที่รับชมติดตามสื่อ ยิ่งมีสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ความจริงที่เกิดขึ้น จึงเป็นความจริงที่เกิดจากการบอกเล่าโดย celebrity ผ่านสื่อ ความจริงจากข้อเท็จจริงไม่สามารถมีอิทธิพลกับสาธารณชนได้อีกต่อไป เพราะความจริงจากข้อเท็จจริงต้องอาศัยเวลาและทรัพยากรในการสืบหา ติดตาม และค้นคว้าจึงจะได้มา ใครที่ทำงานเพื่อเสาะหาความจริงจึงเผชิญภาวะได้มาและเสียไป เขาอาจได้รับทราบความจริง แต่เขาก็จะเสียโอกาสที่จะนำความจริงนั้นไปสร้างอิทธิพลต่อสาธารณะ เพราะเมื่อความจริงนั้นถูกค้นพบ สถานการณ์ใหม่กว่าก็จะเกิดขึ้นแล้ว เหล่า celebrity ก็จะผูกขาดการตีความและนำเสนอความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก (bombardment) จากมุมมองตนนั้นผ่านสื่อและสร้างอิทธิพลต่อสาธารณชนต่อไปเรื่อย ๆ ในเมื่อความจริงไม่สามารถใช้ได้แล้ว ฝ่ายตรงข้ามก็จำต้องพัฒนากรรมวิธีการเดียวกันมาตอบโต้ ด้วยการสร้าง celebrity และสื่อของตน เพื่อกอปรสร้างความจริงอีกชุดเข้ายิงถล่มใส่สาธารณะเพื่อค้ำยันความชอบธรรมของตนเองเช่นเดียวกัน

คนในสังคมแบบนี้จึงถูกเปรียบเปรยว่า อาศัยอยู่ในโลกเสมือนจริง (simulacra) โลกเสมือนจริงนั้นสำหรับผู้รับสารแล้วอาจจะจริงเสียยิ่งกว่าจริง (hyperreality) ดังนั้น เขาจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรอคอยรับฟัง ข้อเท็จจริงที่ถูกสืบค้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาอีกต่อไป

ขอบคุณภาพจาก Paula Bronstein

ในด้านหนึ่ง กรอบวิเคราะห์แบบ postmodern จึงดูเสมือนหนึ่งว่า สามารถใช้ได้กับการวิเคราะห์สังคมแบบนี้ แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่สังคมนี้ยังไม่สามารถข้ามพ้นไปยังสังคมแบบสมัยใหม่ (modernity) พลังการเมืองที่แท้จริง ซึ่งต้องต่อสู้กันอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน (brutality) นั้น จึงเผยตัวออกมาตามรอยปริแยกในท่ามกลางการเคลื่อนตัวของสังคมไปสู่สังคมสมัยใหม่อยู่ทุกขณะ ดึงกระชากใครก็ตามที่สำเหนียกว่าสังคมนี้ยังไม่ได้เข้าสู่สังคมสมัยใหม่ตามอย่างนานาอารยะประเทศดังที่ควรเป็น

รอยปริร้าวแห่งสมัยใหม่นี้ จะดำเนินไปจนกระทั่ง ผลการต่อสู้ของสองฝ่ายจะถึงบทสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อนั้นสังคมถัดจากนั้นไปก็จะปิดผนึกความรุนแรงและพลังการเมืองที่แท้จริงให้พ้นไปจากสายตาของสาธารณะ

ในพริบตาที่สังคมนี้เดินทางไปถึงยุคแห่งสมัยใหม่นั้น ความเป็นสังคมที่พ้นจากยุคสมัยใหม่ก็จะบังเกิดขึ้นโดยฉับพลันจากชุดความจริงที่ถูกกอปรสร้างขึ้นโดย celebrity พร้อมทั้งกลบฝังความจริงที่เคยปรากฎตัวออกมาไปชั่วนิรันดร์

 

ขอบคุณภาพเหตุการณ์จาก : รอยเตอร์ เดลินิวส์ www.pantip.com Paula Bronstein และคลิปเหตุการณ์จาก www.youtube.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: