ศธ.สั่งปรับบริษัทแท็บเล็ต ส่งมอบช้าเหนือ-ใต้-อีสาน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 3 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1337 ครั้ง

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) 1 นักเรียน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการจัดซื้อแท็บเล็ตเพื่อแจกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2556 โดยปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขคือ เรื่องที่บริษัทซึ่งประมูลแท็บเล็ตในโซน 1(ภาคกลางและภาคใต้) โซน  2 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อแจกให้นักเรียนชั้นป.1 และโซน 4 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของนักเรียนชั้นม.1 ยังไม่สามารถจัดส่งแท็บเล็ตให้แก่สถานศึกษาได้ตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาส่งผลให้เกิด ความเสียหายต่อนักเรียนและครูที่เสียโอกาสในการใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ขณะนี้ เข้าสู่ช่วงเวลาที่ต้องปรับบริษัทผู้ชนะการประมูลทั้ง 3 โซนเป็นรายวันแล้ว โดยโซน 1 (ภาคกลางและภาคใต้) โซน 2 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เริ่มปรับมาตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2556 และโซน 4 (เริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2556 ซึ่งในที่ประชุมมีมติให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการปรับให้เป็นไปตามประกาศและสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ออกไว้ และจากนี้หากบริษัทยังไม่จัดส่งของครบ 50 วัน จะให้เสียค่าปรับถึง 10 เปอร์เซนต์ ของวงเงินงบประมาณการจัดซื้อ ก็จะต้องมีการยกเลิกสัญญา ทั้งนี้ ในโซน 3 คณะกรรมการจัดซื้อฯ มีมติให้ยกเลิก และบริษัทผู้ประมูลได้ทำการยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ซึ่งกวพ.อ.ตอบมายังสพฐ.ว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กวพ.อ.เนื่องจากคำสั่งยกเลิกเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งผู้ขายจะต้องไปร้องต่อสพฐ. เพราะฉะนั้น ที่ประชุมจึงมอบให้ สพฐ. แจ้งไปยังผู้ขายว่าจะต้องดำเนินการอุทธรณ์ภายในกี่วัน

            “ยอมรับว่าวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำอยู่ โดยรวมแล้วมีความเสียหายมาก ซึ่งได้ให้ สพฐ.ไปรวบรวมข้อดีข้อเสียในการดำเนิน 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งวิธีการจัดซื้อทั้งแบบรวม แบ่งเป็นโซน แยกเป็นหน่วยงาน หรือเขตพื้นที่ รวมถึงทำอย่างไรให้แท็บเล็ตสามารถใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องที่สำคัญที่น่าเป็นห่วง เป็นเรื่องกฎระเบียบราชการที่มีอยู่ ยังไม่ค่อยคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดจากความล่าช้าแต่มักคำนึงถึงความเสียหายในทางป้องกันปัญหาการรั่วไหล หรือ การประมูลที่ไม่เป็นธรรมมากกว่าถือเป็นความเสียหายของระบบ ดังนั้น การจัดซื้อครั้งใหม่ควรพิจารณาถึงการแก้ปัญหาความล่าช้าให้ได้อย่างจริงจังด้วย เพราะเวลานี้ใกล้จะสิ้นปีการศึกษาแล้วเด็กยังไม่ได้รับแท็บเล็ตเลย” นายจาตุรนต์กล่าว

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารจากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: